กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
 
เมษายน 2565
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
space
space
29 เมษายน 2565
space
space
space

พระพุทธเจ้าสอนอย่างไร



170พระพุทธเจ้าสอนอย่างไร

   ลักษณะ และวิธีสอนของพระพุทธเจ้าปรากฏอยู่ในพระสูตรต่างๆ หลายพระสูตร ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พระพุทธองค์ทรงมีวิธีการสอนหลายวิธีตามความเหมาะสมแก่บุคคลผู้รับการสอน เช่น สอนด้วย

วิธีเทศนา

วิธีสนทนา

วิธีอุปมาอุปไมย

วิธีเล่าเรื่องสาธก (ชาดก)

วิธีใช้อุปกรณ์

วิธีใช้เหตุการณ์จริง

วิธีแสดงฤทธิ์ เป็นต้น

  แต่ทุกวิธีการดำเนินไปภายใต้หลักการสำคัญ ๓ ประการ ดังปรากฏในโคตมสูตร คือ

๑.สอนเพื่อให้ผู้ฟังรู้ยิ่งเห็นจริงในสิ่งที่ควรรู้ (อภิญญาย)

๒.สอนอย่างมีเหตุผล เพื่อให้ผู้ฟังไตร่ตรองเห็นตามได้ (สนิทาน)

๓.สอนในสิ่งที่ผู้ฟังสามารถนำไปปฏิบัติ และได้รับผลจริงตามควรแก่การปฏิบัติ (สัปปาฏิหาริยะ)

  หลักการสำคัญ ๓ ประการนี้ จึงถือได้ว่าเป็นหลักการสอน หรือปรัชญาการสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งใช้เป็นหลักในการสอนของพระองค์มาโดยตลอด และถือได้ว่าเป็นหลักการสอนของพระพุทธศาสนาโดยทั่วไปด้วย (องฺ.ติก.20/565/356)

  จะเห็นได้ว่า หลักการสอนของพระพุทธเจ้าดังกล่าวนี้ ไม่ได้เน้นเรื่องศรัทธาหรือความเชื่อ แต่เน้นเรื่องความรู้ความเข้าใจ เน้นเรื่องเหตุผล และเน้นเรื่องการปฏิบัติได้จริง หลักการดังกล่าวนี้ โดยใจความ ก็คือ

- สอนให้รู้

- สอนให้คิด

- สอนให้ทำ

  ในบางพระสูตร  ก็จะพบว่าพระพุทธองค์ทรงสอนโดยเน้นการใช้เหตุผล กล่าวคือทรงแนะให้ผู้ฟังใช้ปัญญาพิจารณาสิ่งที่ทรงสอนว่ามีความเป็นจริงอย่างไร ดังเช่น ในอปัณณกสูตร (ม.ม.13/103/100) ซึ่งมีใจความสำคัญคือ

   ๑. ทรงแนะว่า แม้จะไม่นับถือใครเป็นศาสดา ก็ควรจะมีหลักปฏิบัติอันไม่ผิดเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต  เพื่อความสุขของชีวิต
   
   ๒.ทรงแนะว่า เรื่องกรรมและเรื่องโลกหน้านั้น  เมื่อพิจารณาด้วยผลเหตุแล้วก็จะเห็นได้ว่า

   - ถ้าการทำชั่ว ไม่มีผลจริง และโลกหน้าก็ไม่มีจริง คนทำชั่วแล้วตายไปก็ไม่ได้ไม่เสีย เท่ากับเสมอตัว

   - ถ้าการทำชั่วมีผลจริง และโลกหน้ามีจริง คนทำชั่วแล้วตายไปก็มีหวังไปทุคติ เท่ากับเสีย หรือขาดทุน

  - แม้การทำชั่วไม่มีผลจริง และโลกหน้าไม่มีจริง คนทำชั่วก็ยังเป็นที่นินทาของคนทั่วไปในโลกนี้ เท่ากับเสียหรือขาดทุนอยู่ดี

  - ถ้าการทำดี ไม่มีผลจริง และโลกหน้าไม่มีจริง คนทำชั่วแล้วตายไปก็ไม่ได้ไม่เสีย เท่ากับเสมอตัว

  - ถ้าการทำดี มีผลจริง และโลกหน้ามีจริง คนทำดีแล้วตายไป ย่อมมีหวังไปสุคติ เท่ากับได้หรือมีกำไร

  - แม้การทำดี  ไม่มีผลจริง  และโลกหน้าไม่มีจริง  คนทำดีก็ยังเป็นที่สรรเสริญของคนทั่วไปในโลกนี้ เท่ากับยังได้หรือยังมีกำไร

  โดยใจความ   ก็คือ เรื่องกรรมและเรื่องโลกหน้านั้น หากพิจารณาด้วยเหตุผลก็จะเห็นได้ว่า การดำเนินชีวิตโดยมีความเชื่อเรื่องกรรมและเรื่องโลกหน้าเป็นหลัก มีแต่เสมอตัว กับ ได้กำไร

  ส่วนการดำเนินชีวิตโดยไม่มีความเชื่อเรื่องกรรมและเรื่องโลกหน้าเป็นหลัก มีแต่เสมอตัว กับ ขาดทุน

  ๓. ทรงชี้ให้เห็นว่า คนที่ไม่เชื่อเรื่องกรรม และเรื่องโลกหน้านั้น มีแนวโน้มไปทางชอบทำชั่วมากกว่าชอบทำดี   ส่วนคนที่มีความเชื่อเรื่องกรรมและเรื่องโลกหน้านั้น มีแนวโน้มไปทางชอบทำดีมากกว่าชอบทำชั่ว

  ในประเด็นนี้ เท่ากับชี้ให้เห็นว่า เรื่องกรรมนั้นเป็นพื้นฐานของเรื่องศีลธรรม คนที่ไม่เชื่อเรื่องกรรม  จึงมักเป็นคนไม่มีศีลธรรม  กล่าวได้ว่า  หลักกรรมเป็นภาคทฤษฎีของศีลธรรม ส่วนศีลธรรมเป็นภาคปฏิบัติของหลักกรรม

  ๔. ทรงแสดงให้เห็นว่า เรื่องกรรม เรื่องโลกหน้า และเรื่องกุศลกรรมบถ ๑๐  (คือกายสุจริต ๓ วจีสุจริต ๔ มโนสุจริต ๓ ซึ่งโดยใจความก็คือ เรื่องศีลธรรม) นั้น เป็นหลักปฏิบัติที่ช่วยทำให้เราอุ่นใจได้ว่า ชีวิตนี้จะไม่ขาดทุน เรียกว่า อปัณณกธรรม และเป็นหลักปฏิบัติที่เป็นสากล ไม่ว่าใครจะนับถือหรือไม่นับถือศาสนาอะไร เมื่อปฏิบัติแล้ว ย่อมได้รับผลเหมือนกัน

  กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ   การสอนของพระพุทธองค์   มิได้มุ่งให้คนมานับถือพระองค์ว่า เป็นศาสดาหรือเป็นผู้วิเศษที่จะช่วยบันดาลสิ่งทั้งหลายให้แก่ผู้นับถือ   แต่มุ่งให้ผู้ฟังหรือผู้รับการสอนจากพระองค์ได้รับประโยชน์จากคำสอนของพระองค์ หรือนำเอาคำสอนของพระองค์ไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สุขแก่ชีวิต   โดยคนเหล่านั้นจะนับถือพระองค์ว่าเป็นศาสดาของเขาหรือไม่ไม่สำคัญ ดังจะเห็นได้จากข้อความในตอนต้นของอปัณณกสูตรดังกล่าวมานี้เป็นตัวอย่าง

  การสอนของพระพุทธองค์ในลักษณะดังกล่าวนี้   ในบางพระสูตรพระองค์ก็ประกาศไว้อย่างชัดเจน ดังเช่นในพรหมจริยสูตร ที่ได้ตรัสไว้ว่า

  พรหมจรรย์นี้   เรามิได้ประพฤติเพื่อหลอกลวงคน   เพื่อเรียกร้องให้คนมานับถือ เพื่ออานิสงส์ คือ ลาภ สักการะ และความสรรเสริญ   เพื่อความเป็นเจ้าลัทธิ  เพื่อหักล้างลัทธิอื่น  เพื่อให้คนเห็นว่าเป็นผู้วิเศษ   ที่แท้พรหมจรรย์นี้   เราประพฤติเพื่อความสำรวม   เพื่อลดละกิเลส  เพื่อคลายความกำหนัดยินดี เพื่อความดับทุกข์   (องฺ.จตุกฺก.21/25/33)

   พระพุทธพจน์ในพระสูตรนี้   นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงหลักการสอนอย่างกว้างขวางที่สุดของพระองค์แล้ว ยังเท่ากับเป็นการประกาศท่าทีหรือหลักการในการประกาศศาสนาของพระพุทธศาสนาเป็นส่วนรวมด้วย

  และจากท่าทีหรือหลักการของพระพุทธองค์ดังกล่าวนี้เอง  ที่ได้กลายมาเป็นลักษณะของพุทธศาสนิกชนโดยรวมนับแต่อดีตจนปัจจุบันด้วย  ดังจะเห็นได้ว่าการเผยแผ่หรือสั่งสอนพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชน ไม่ว่าในที่ใดไม่นิยมที่จะกระทบกระทั่งหรือเบียดเบียนศาสนาอื่น


   ในบางพระสูตรแสดงให้เห็นว่า   แม้ว่าพระพุทธองค์จะทรงพระศาสนาด้วยท่าทีดังกล่าวมาแล้วข้างต้น   แต่ยังมีบางคน (โดยเฉพาะนักบวชบางลัทธิในขณะนั้น)  มองดูการสั่งสอนพระศาสนาของพระพุทธองค์ว่า เป็นการพยายามลบล้างลัทธิศาสนาอื่น พยายามแย่งศาสนิกจากลัทธิศาสนาอื่น   เป็นต้น   ดังปรากฏในอุทุมพริกสูตร พระพุทธองค์จึงได้ตรัสอธิบายแก้ความเข้าใจผิดของคนเหล่านั้น ใจความว่า

   เรามิได้สอนเพราะอยากได้อันเตวาสิก (คือ ศิษย์) เพราะอยากให้ท่านละทิ้งอุเทศ (คือ ลัทธิเดิม) ของท่าน  เพราะอยากให้ท่านละทิ้งอาชีวะเดิมของท่าน  เพราะอยากให้ท่านตั้งอยู่ในอกุศลธรรม เพราะอยากให้ท่านตกไปจากกุศลธรรม    แต่เราสอนเพื่อว่าท่านจะได้ละอกุศลธรรมที่ให้ผลเป็นทุกข์ที่ท่านยังละไม่ได้   เพื่อว่าท่านจะได้เจริญมรรคปัญญาและผลปัญญาให้บริบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไปด้วยปัญญาของตนเอง  (ที.ปา.11/31/90)

   พระพุทธพจน์ดังกล่าวนี้   เป็นการย้ำให้เห็นถึงลักษณะและวิธีสอนของพระพุทธองค์ว่า มิได้มุ่งหักล้างหรือรุกรานใคร   แต่ทรงมุ่งเพียงเพื่อให้ผู้รับการสอนได้ประโยชน์จากคำสอนของพระองค์ หรือนำเอาสิ่งที่่พระองค์สอนไปใช้ให้เป็นประโยชน์เพื่อตัวเขาเองเท่านั้น โดยที่คนเหล่านั้น จะนับถือหรือไม่นับถือพระองค์ มิใช่ประเด็นสำคัญ

   จากที่กล่าวมาตั้งแต่ต้น   สรุปได้ว่าหลักการสอนของพระพุทธเจ้า ก็คือ ทรงเลือกสอนเฉพาะสิ่งที่จริงและมีประโยชน์ ตามความเหมาะสม โดยมุ่งประโยชน์ของผู้รับการสอนเป็นสำคัญ ด้วยการสอนให้รู้ สอนให้คิด และสอนให้ทำ เพื่อเขาจักได้ละสิ่งที่ควรละ เจริญสิ่งที่ควรเจริญ ได้ด้วยปัญญาความสามารถของตัวเขาเอง

 


Create Date : 29 เมษายน 2565
Last Update : 29 เมษายน 2565 10:29:33 น. 0 comments
Counter : 266 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space