กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
พฤษภาคม 2565
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
space
space
14 พฤษภาคม 2565
space
space
space

ความรู้และที่มาของความรู้



170ความรู้และที่มาของความรู้


   ความรู้ที่ได้มาจากการรับรู้ทางอายตนะโดยทั่วไป หรือ ตามปกติธรรมดาในชีวิตประจำวันนั้นอาจกล่าวได้ว่า ยังไม่เป็นความรู้ที่เป็นระบบ เพราะยังมีลักษณะเป็นความรู้ที่กระจัดกระจาย แล้วแต่ว่าจะได้เห็นได้ฟังอะไร  แล้วก็จำไว้หรือบันทึกไว้เป็นเรื่องเท่านั้น  ยังไม่มีการนำเอาสิ่งที่จำไว้นั้นมาจัดให้เป็นระบบ   ฉะนั้น   ความรู้ในระดับนี้จึงยังไม่เป็นความรู้ที่แท้จริง  ในพระพุทธศาสนาถือว่าความรู้ที่ได้จากการรับรู้ทางอายตนะตามปกติธรรมดาทั่วไป คน กับ สัตว์ก็มีพอๆ กัน เพราะสัตว์ก็มีอายตนะเช่นเดียวกับคน และสัตว์บางชนิด  อาจจะมีอายตนะบางอย่างดีกว่าคนด้วยซ้ำ


   ความรู้ในความหมายของ "ความรู้" ที่แท้จริง หรือความรู้ที่เป็นระบบนั้น พระพุทธศาสนาแสดงว่าเกิดขึ้นหรือได้มา ๓ วิธี หรือ ๓ แหล่งด้วยกัน คือ

    สุตะ    การฟัง    หมายถึงกระบวนการศึกษา หรือ การเรียนรู้ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวานี้ก็อาศัยกระบวนการรับรู้ของอายตนะนั่นเองในการเรียนรู้ หรือ ศึกษาเรื่องราวต่างๆ แต่มิใช่เป็นเพียงการรับรู้   แต่มีการเรียนรู้สิ่งที่รับรู้นั้นอย่างเป็นระบบ  ดังที่ท่านแสดงไว้ว่า "พหุสฺสุโต สุตธโร สุตสนฺนิจโย" (องฺ.ปญฺจก. 22/87/129)   ความว่า  "ฟังมาก   ทรงจำสิ่งที่ได้ฟัง  สั่งสมสิ่งที่ได้ฟังนั้นไว้" ซึ่งหมายความว่า  ต้องมีการเรียนรู้แล้วจดจำไว้ และจดจำไว้อย่างเป็นระบบนั่นเอง  ฉะนั้น ความรู้ในระดับนี้  จึงมีลักษณะเป็น การรู้จำ หรือว่ารู้แล้วจำไว้ (สัญญา)  เรียกว่า สุตมยปัญญา

    จินตา    การคิด หมายถึงกระบวนการของการคิด หรือการใช้เหตุผล  เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องมาจากสุตะนั่นเอง ซึ่งหมายความว่า การเรียนรู้ในระดับนี้ ไม่หยุดอยู่เพียงแค่จำสิ่งที่เรียนรู้ไว้เท่านั้น  แต่นำเอาสิ่งที่จำไว้นั้นเข้ามาสู่กระบวนการของการคิด หรือการใช้เหตุผลอีกทีหนึ่ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจ หรือรู้ความหมายของสิ่งนั้นชัดเจนยิ่งขึ้น  ดังที่ท่านแสดงไว้ว่า "พหุสฺสุตา ธตา วจสา ปริจิตา มนสานุเปกฺขิตา ทิฏฺฐิยา สุปฺปฏิวิทฺธา" (องฺ.ปญฺจก.22/87/129)  ความว่า  "ฟังมาก จำได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยทิฏฐิ (คือ เข้าใจทะลุปรุโปร่ง)"  ความรู้ในระดับนี้  จึงมิใช่เพียงจำได้เท่านั้น   แต่มีความเข้าใจในสิ่งที่จำได้นั้นอย่างทะลุปรุโปร่ง  ฉะนั้น  ความรู้ในขั้นนี้จึงมีลักษณะเป็นความเข้าใจที่ได้จากการคิดหรือการใช้เหตุผล  ความรู้ที่ได้จากการคิดจึงอาจมีความหมาย   มีความละเอียดมากไปกว่าความรู้ที่ได้จากตามอง หูฟัง เท่านั้น  เพราะจิตอาจจะสร้างความรู้เข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่ตามองไม่เห็น  หูฟังไม่ได้ยินด้วยการคิด หรือการใช้เหตุผลก็ได้ ฉะนั้น ความรู้จากแหล่ง คือ จินตา จึงเป็นความรู้ที่ละเอียดอ่อน หรือประณีตขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง และความรู้ลักษณะนี้  จะถูกประมวลไว้ในจิต   ในแบบที่เรียกว่า ทิฏฐิ  (ความเข้าใจ ความเห็น ความเชื่อ) เรียกว่า จินตามยปัญญา

   ภาวนา     การเจริญ  การทำให้มีขึ้น หรือ การพัฒนา หมายถึงกระบวนการของการพัฒนาจิตหรืออบรมจิต  เพื่อทำจิตให้สงบนิ่ง  พร้อมทั้งกำจัดหรือขับไล่สิ่งที่ทำให้จิตเศร้าหมอง คือ กิเลสออกไปจากจิต  จิตก็สงบใสบริสุทธิ์ ปัญญาญาณ หรือ ความสามารถในการหยั่งรู้ก็เกิดขึ้น ความรู้ที่ได้จากการหยั่งรู้หรือได้จากญาณนี้   พระพุทธศาสนาถือว่า  เป็นความรู้ที่ถูกต้องหรือตรงตามความเป็นจริง เพราะการรู้ด้วยญาณนั้น พระพุทธศาสนาถือว่าเป็นการรู้สิ่งนั้นๆ ตามที่เป็นจริง ดังพุทธพจน์ว่า สมาหิเต จิตฺเต ธมฺมา ปาตุภวนฺติ   ความว่า   เมื่อจิตเป็นสมาธิ ความจริงย่อมปรากฏ (สํ.สฬา.18/144/98) หรือ ที่เรียกสั้นๆว่า ยถาภูตญาณทัสสนะ (สํ.นิ.16/69/37) แปลว่า  เห็นด้วยญาณตามความเป็นจริง   ความรู้ในระดับนี้   จึงเป็นความรู้ที่ไม่ขึ้นอยู่กับตัวกลาง หรือสิ่งใดๆ แต่เป็นการรู้ตรงของจิต   มีลักษณะเป็นการหยั่งรู้  (ญาณ) หรือเป็นความรู้ระดับเหนือประสบการณ์และเหนือเหตุผล เรียกว่า ภาวนามยปัญญา


   สรุปได้ว่า   พระพุทธศาสนาถือว่าแหล่งที่มาของความรู้ของมนุษย์มี ๓ คือ

    ๑) อายตนะ หรือ ประสาทสัมผัส ๖ ซึ่งให้ความรู้ในระดับสามัญธรรมดาทั่วไป เป็นความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางวัตถุ หรือ ความรู้เกี่ยวกับโลกทางวัตถุ (สุตมยปัญญา)
   
    ๒) การคิด หรือ การใช้เหตุผล ซึ่งให้ความรู้ในลักษณะเป็นความเข้าใจ ซึ่งอาจจะเป็นความเข้าใจเกี่ยวกับวัตถุ หรือ ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องที่มิใช่ปรากฏกาณ์ทางวัตถุก็ได้ เป็นความรู้ที่กว้างไกลไปกว่าความรู้ระดับแรก (จินตามยปัญญา)

    ๓) ญาณ หรือ  ความหยั่งรู้ของจิต  ซึ่งให้ความรู้ที่มีลักษณะเป็นการเห็นสิ่งนั้นๆ อย่างทะลุปรุโปร่ง หรือ อย่างแจ่มแจ้งครบถ้วนด้วยจิตโดยตรง ซึ่งที่จิตเห็นหรือหยั่งรู้ดังกล่าวนี้อาจจะเป็นเรื่องของวัตถุหรือเป็นเรื่องของอวัตถุก็ได้ (ภาวนามยปัญญา)


    แหล่งความรู้ทั้ง ๓ ดังกล่าวนี้  พระพุทธศาสนาถือว่า อายตนะ เป็นแหล่งความรู้ที่มีคุณภาพต่ำสุด เพราะอายตนะรับรู้ได้เฉพาะลักษณะหรืออาการแบบหยาบๆ ของวัตถุที่ปรากฏออกมาให้อายตนะ เช่น ตา หู เป็นต้น  สัมผัสได้เท่านั้น   เช่น   ตาเรามองเห็นลักษณะการเปลี่ยนแปลงของวัตถุ (อนิจจลักษณะ)  แต่มองไม่เห็นตัวความเปลี่ยนแปลง หรือ กระบวนการของการเปลี่ยนแปลงว่าเป็นไปอย่างไร (อนิจจตา) เช่นเดียวกับเรามองเห็นวัตถุ  แต่มองไม่เห็นองค์ประกอบขั้นต้นของวัตถุที่เรียกว่าปรมาณู  ว่าเป็นอย่างไร  เป็นต้น


    การคิด หรือ  การใช้เหตุผล  เป็นแหล่งความรู้ที่ให้ความรู้ขั้นละเอียดขึ้น  อาจจะทำให้เรารู้ความจริงเกี่ยวกับบางสิ่งบางอย่างที่ตามองไม่เห็นได้  เช่น  เรามองเห็นน้ำ แต่มองไม่เห็นพลังยึดเกาะของน้ำที่เรียกว่า อาโปธาตุ อันเป็นพลังที่ทำให้ธาตุอื่นๆ ยึดติดกันอยู่ได้ แต่ว่า เราอาจเข้าใจถึงภาวะหรือความมีอยู่ของอาโปธาตุหรือพลังยึดเกาะดังกล่าวได้ด้วยการใช้เหตุผล เรามองเห็นวัตถุต่อวัตถุกระทบกันหรือติดกัน แต่เรามองไม่เห็นพลังดึงดูดที่วัตถุมีต่อวัตถุ แต่เรารู้ว่าพลังดึงดูดมีอยู่ก็ด้วยการใช้เหตุผล เป็นต้น


    แต่พระพุทธศาสนา  ก็ถือว่า  การคิดหรือการใช้เหตุผลนั้นอาจจะถูกหรืออาจจะผิดก็ได้ ดังที่ท่านแสดงว่า สุตกฺกิตมฺปิ โหติ ทุตฺตกฺกิตมฺปิ โหติ ตถาปิ โหติ อญฺญถาปิ โหติ. (ม.ม.13/306/303)    ความว่า    สิ่งที่คิดอย่างดีแล้วก็ตาม หรือ ว่าคิดไม่ดีก็ตาม ก็อาจจะถูกก็ได้   อาจจะผิดก็ได้.   ทั้งนี้   เพราะการคิดหรือการใช้เหตุผล   ก็คือการคาดคะเน หรือ คาดเดานั่นเอง


    แหล่งความรู้ทั้ง ๒ คือ อายตนะ กับ การใช้เหตุผล พระพุทธศาสนาจึงถือว่า ยังไม่อาจให้ความรู้ที่ถูกต้องตามเป็นจริง

    ญาณ หรือ ความหยั่งรู้   เป็นแหล่งความรู้ขั้นสูงสุด  ซึ่งสามารถให้ความรู้ได้อย่างถูกต้องตรงตามเป็นจริง เพราะการรู้ด้วยญาณนั้น  มีลักษณะเป็นการรู้อย่างฉับพลัน และเป็นการรู้สิ่งนั้นๆ อย่างครบถ้วนหรือรอบด้าน  เป็นการรู้ชนิดที่ไม่ถูกจำกัดด้วยมิติแห่งกาละเทศะ  ฉะนั้น  พระพุทธศาสนาจึงถือว่าความรู้จากญาณ หรือโดยญาณเท่านั้น  จึงเป็นความรู้ที่ถูกต้องตามจริง (ยถาภูตญาณทัสสนะ)

    แหล่งความรู้ประเภทญาณนี้สามารถให้ความรู้ที่ถูกต้องได้  ทั้งเรื่องของวัตถุ และเรื่องของอวัตถุ แม้เรื่องของวัตถุบางอย่างบางระดับก็อยู่นอกเหนือวิสัยของประสาทสัมผัสทางกาย  จำต้องใช้ญาณจึงจะรู้ได้   ดังเช่นเรื่องสสารในระดับละเอียดอ่อน  คือ  ปรมาณู   พระพุทธศาสนาก็แสดงว่าเป็นวิสัยของญาณชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ทิพพจักขุ เท่านั้น เรื่องของกรรมและการให้ผลของกรรมก็เป็นวิสัยของญาณ เรื่องของความเป็นจริงของการเวียนว่ายตายเกิดก็เป็นวิสัยของญาณ เป็นต้น
 


Create Date : 14 พฤษภาคม 2565
Last Update : 14 พฤษภาคม 2565 22:26:05 น. 0 comments
Counter : 322 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space