กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
พฤษภาคม 2565
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
space
space
9 พฤษภาคม 2565
space
space
space

แทรกเสริม

แทรกเสริมความเข้าใจสองหัวข้อล่าง



170เชื่ออย่างไรผิดหลักกรรม

    มีลัทธิมิจฉาทิฏฐิ เกี่ยวกับสุข-ทุกข์ และความเป็นไปในชีวิตของมนุษย์อยู่ ๓ ลัทธิ ซึ่งต้องระวังไม่ให้เข้าใจสับสนกับหลักกรรม คือ

   ๑. ปุพเพกตเหตุวาท   การถือว่าสุขทุกข์ทั้งปวง เป็นเพราะกรรมเก่า  เรียกสั้นๆว่า ปุพเพกตวาท

   ๒. อิสสรนิมมานเหตุวาท   การถือว่าสุขทุกข์ทั้งปวง   เป็นเพราะการบันดาลของเทพผู้เป็นใหญ่ เรียกสั้นๆว่า อิศวรกรณวาท หรืออิศวรนิรมิตวาท

   ๓. อเหตุอปัจจยวาท   การถือว่าสุขทุกข์ทั้งปวง เป็นไปสุดแต่โชคชะตาลอยๆ ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย หรือเรียกสั้นๆว่า อเหตุวาท



ทั้งนี้ตามพุทธพจน์ที่ว่า

   “ภิกษุทั้งหลาย   ลัทธิเดียรถีย์ ๓ ระบบเหล่านี้   ถูกบัณฑิตไต่ถาม ซักไซ้ไล่เลียงเข้า ย่อมอ้างการถือสืบๆกันมา ยืนกรานอยู่ในหลักอกิริยา (การไม่กระทำ) คือ

   ๑. สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง   มีวาทะ มีทิฐิอย่างนี้ว่า สุขก็ดี  ทุกข์ก็ดี  มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ที่คนเราได้เสวย  ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นเพราะกรรมที่กระทำไว้ในปางก่อน (ปุพฺเพกตเหตุ)

   ๒. สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะ มีทิฐิอย่างนี้ว่า สุขก็ ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ที่คนเราได้เสวย ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นเพราะการบันดาลของพระผู้เป็นเจ้า (อิสฺสรนิมฺมานเหตุ)

   ๓. สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะ มีทิฐิอย่างนี้ว่า สุขก็ ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตามที่คนเราได้เสวย ทั้งหมดนั้นล้วนหาเหตุหาปัจจัยมิได้ (อเหตุอปจฺจย)

   “ภิกษุทั้งหลาย   บรรดาสมณพราหมณ์ ๓ พวกนั้น  เราเข้าไปหา (พวกที่ ๑) แล้ว ถามว่า “ทราบว่า ท่านทั้งหลายมีวาทะ   มีทิฐิอย่างนี้...จริงหรือ ?”   ถ้าสมณพราหมณ์เหล่านั้น  ถูกเราถามอย่างนี้แล้ว รับว่าจริง เราก็กล่าวกะเขาว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านก็จักต้องเป็นผู้ทำปาณาติบาต เพราะกรรมที่ทำไว้ปางก่อนเป็นเหตุ   จะต้องเป็นผู้ทำอทินนาทาน เพราะกรรมที่ทำไว้ปางก่อนเป็นเหตุ จะต้องเป็นผู้ประพฤติอพรหมจรรย์....เป็นผู้กล่าวมุสาวาท...ฯลฯ เป็นผู้มีมิจฉาทิฐิ เพราะกรรมที่ทำไว้ปางก่อนเป็นเหตุน่ะสิ”

   “ภิกษุทั้งหลาย   ก็เมื่อบุคคลมายึดเอากรรมที่ทำไว้ในปางก่อนเป็นสาระ   ฉันทะก็ดี ความพยายามก็ดีว่า “สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ”   ก็ย่อมไม่มี   เมื่อไม่กำหนดถือเอาสิ่งที่ควรทำ และสิ่งไม่ที่ควรทำ โดยจริงจังมั่นคง ดังนี้ สมณพราหมณ์พวกนี้ ก็เท่ากับอยู่อย่างหลงสติ ไร้เครื่องรักษา จะมีสมณวาทะที่ชอบธรรมเฉพาะตนไม่ได้ นี้แลเป็นนิคหะอันชอบธรรมอย่างแรกของเราต่อสมณพราหมณ์ ผู้มีวาทะ มีทิฐิ อย่างนี้”

   “ภิกษุทั้งหลาย   บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น   เราเข้าไปหา (พวกที่ ๒ ) กล่าวกะเขาว่า ท่านจักเป็นผู้ทำปาณาติบาต ก็เพราะการบันดาลของพระผู้เป็นเจ้าเป็นเหตุ จักเป็นผู้ทำอทินนาทาน...ประพฤติอพรหมจรรย์...กล่าวมุสาวาท...ฯลฯ เป็นผู้มีมิจฉาทิฐิ ก็เพราะการบันดาลของพระผู้เป็นเจ้าเป็นเหตุน่ะสิ”

   “ภิกษุทั้งหลาย   ก็เมื่อบุคคลมายึดเอาการบันดาลของพระผู้เป็นเจ้าเป็นสาระ ฉันทะก็ดี ความพยายามก็ดีว่า “สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ”  ก็ย่อมไม่มี ฯลฯ

   "ภิกษุทั้งหลาย  บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น  เราเข้าไปหา (พวกที่ ๓ ) กล่าวกะเขาว่า “ท่านก็จักเป็นผู้ทำปาณาติบาต  โดยไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย จักเป็นผู้ทำอทินนาทาน...ประพฤติอพรหมจรรย์...กล่าวมุสาวาท...ฯลฯ  เป็นผู้มีมิจฉาทิฐิ  โดยไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยน่ะสิ”

   “ภิกษุทั้งหลาย   ก็เมื่อบุคคลมายึดเอาความไม่มีเหตุไม่มีเป็นสาระ  ฉันทะก็ดี  ความพยายามก็ดีว่า  “สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ”   ก็ย่อมไม่มี ฯลฯ” (ม.อุ.14/2/1)



โดยเฉพาะลัทธิที่ ๑ คือ ปุพเพกตวาทนั้น เป็นลัทธิของนิครนถ์ ดังพุทธพจน์ว่า

   "ภิกษุทั้งหลาย   สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะ มีทิฐิอย่างนี้ว่า “สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใด ที่บุคคลได้เสวย ทั้งหมดนั้น เป็นเพราะกรรมที่ตัวทำไว้ในปางก่อน โดยนัยนี้ เพราะกรรมเก่าหมดสิ้นไปด้วยตบะ ไม่ทำกรรมใหม่ ก็จะไม่ถูกบังคับต่อไป เพราะไม่ถูกบังคับต่อไป ก็สิ้นกรรม เพราะสิ้นกรรม ก็สิ้นทุกข์ เพราะสิ้นทุกข์ ก็สิ้นเวทนา เพราะสิ้นเวทนา ก็จักเป็นอันสลัด ทุกข์ให้หมดสิ้น ภิกษุทั้งหลาย พวกนิครนถ์มีวาทะอย่างนี้”

นอกจากนี้ มีพุทธพจน์ตรัสย้ำความอันเดียวกัน ก็มีว่า

   “ดูกรสิวกะ   เวทนาบางอย่างเกิดขึ้น  มีดีเป็นสมุฏฐานก็มี ฯลฯ เกิดจากความแปรปรวนแห่งอุตุก็มี...เกิดจากการบริหารตนไม่สม่ำเสมอก็มี...เกิดจากถูกทำร้ายก็มี...เกิดจากผลกรรมก็มี ฯลฯ สมณพราหมณ์เหล่าใด   มีวาทะมีความเห็นอย่างนี้ว่า   “บุคคลได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดี   เวทนานั่นเป็นเพราะกรรมที่ทำไว้ปางก่อน”  ฯลฯ  เรากล่าวว่า เป็นความผิดของสมณพราหมณ์เหล่านั้นเอง” (สํ.สฬ.18/427/284)

   
   พุทธพจน์เหล่านี้   ป้องกันความเห็นที่แล่นไปไกลเกินไป หรือเลยเถิด จนมองเห็นความหมายของกรรมแต่ในแง่กรรมเก่า กลายเป็นคนนั่งนอนรอคอยผลกรรมเก่า  สุดแต่จะบันดาลให้เป็นไป ไม่คิดแก้ไขปรับปรุงตนเอง   กลายเป็นความเห็นผิดอย่างร้ายแรง ตามนัยพุทธพจน์ที่กล่าวมาแล้ว

   นอกจากนั้น จะเห็นได้ชัดด้วยว่า ในพุทธพจน์นี้ พระพุทธเจ้าทรงถือความเพียรพยายามเป็นเกณฑ์ตัดสินคุณค่าทางจริยธรรมของหลักกรรม และคำสอนเหล่านี้ทั้งหมด

   พุทธพจน์เหล่านี้ มิได้ปฏิเสธกรรมเก่า เพราะกรรมเก่าก็ย่อมมีส่วนอยู่ในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย และย่อมมีผลต่อปัจจุบัน สมกับชื่อที่ว่าเป็นเหตุปัจจัยด้วยเหมือนกัน แต่มันก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยอยู่นั่นเอง ไม่ใช่อำนาจนอกเหนือธรรมชาติอะไรที่จะไปยึด ไปหมายมั่นฝากโชคชะตาไว้ให้ ผู้เข้าใจปฏิจจสมุปบาท รู้กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยดีแล้ว ย่อมไม่มีปัญหาในเรื่องนี้

   เหมือนกับการที่ใครคนหนึ่งเดินขึ้นตึก ๓ ชั้น ถึงชั้นที่สามแล้ว ก็แน่นอนว่า การขึ้นมาถึงที่นั่นของเขาต้องอาศัยการกระทำ คือ การเดินที่ผ่านมาแล้วนั้น จะปฏิเสธมิได้ และเมื่อขึ้นมาถึงที่นั่นแล้ว การที่เขาจะเหยียดมือไปแตะพื้นดินข้างล่างตึก หรือจะนั่งรถเก๋งไปมาบนตึกชั้นสามเล็กๆ เหมือนอย่างบนถนนหลวง ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ และข้อนี้ก็เป็นเพราะการที่เขาขึ้นมาบนตึกเหมือนกัน ปฏิเสธไม่ได้ หรือเมื่อเขาขึ้นมาแล้ว จะเมื่อยหมดแรง เดินต่อ ขึ้นหรือลงไม่ไหว นั่นก็ต้องเกี่ยวกับการที่ได้เดินขึ้นมาแล้วด้วยเหมือนกัน ปฏิเสธไม่ได้

   จะเห็นว่า การมาถึงที่นั่นก็ดี การทำอะไรๆได้ในวิสัยของที่นั่นก็ดี การที่อาจจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับอะไรต่ออะไรในที่นั่นอีก ในฐานะที่ขึ้นมาอยู่กับเขา ณ ที่นั่นด้วยก็ดี ย่อมสืบเนื่องมาจากกรรมเก่า คือ การที่ได้เดินมานั้นด้วยแน่นอน แต่การที่เขาจะทำอะไรบ้าง ทำสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้องที่นั่นแค่ไหนเพียงไร ตลอดจนว่าจะพักเสียก่อนแล้วเดินต่อ หรือเดินกลับลงเสียจากตึกนั้น ย่อมเป็นเรื่องที่เขาจะคิดตกลงทำเอาใหม่ ทำได้ และได้ผล ตามเรื่องที่ทำนั้นๆ แม้ว่าการเดินมาเดิมยังอาจมีส่วนให้ผลต่อเขาอยู่ เช่น แรงเขาอาจจะน้อยไป ทำอะไรใหม่ได้ไม่เต็มที่ เพราะเมื่อยเสียแล้ว ดังนี้เป็นต้น ถึงอย่างนั้น ก็เป็นเรื่องของเขาอีกที่ว่า จะยอมแพ้แก่ความเมื่อย หรือว่าจะคิดแก้ไขอย่างไร ทั้งหมดนี้ ก็เป็นเรื่องของกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยทั้งนั้น โดยนัยดังที่ได้กล่าวมา จึงควรเข้าใจกรรมเก่าเพียงเท่าที่มันเป็นตามกระบวนการของมัน

   ในทางจริยธรรม ผู้เข้าใจปฏิจจสมุปบาท  ย่อมถือเอาประโยชน์จากกรรมเก่าได้  ในแง่เป็นบทเรียน เป็นความตระหนักแน่นเหตุผล เป็นความเข้าใจตนเอง และสถานการณ์ เป็นความรู้พื้นฐานปัจจุบันของตน เพื่อประกอบการวางแผนทำกรรมปัจจุบัน และหาทางแก้ไขปรับปรุงเพื่อผลดีในอนาคตต่อไป


Create Date : 09 พฤษภาคม 2565
Last Update : 9 พฤษภาคม 2565 16:41:31 น. 0 comments
Counter : 352 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space