กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
พฤษภาคม 2565
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
space
space
13 พฤษภาคม 2565
space
space
space

เครื่องมือในการรับรู้ของคน


ความรู้ในพุทธปรัชญา


170เครื่องมือในการรับรู้ของมนุษย์

   พระพุทธศาสนาแสดงว่า มนุษย์ประกอบด้วยธาตุหรือองค์ประกอบขั้นมูลฐาน ๖ อย่าง คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาส และวิญญาณธาตุ โดย ๔ ธาตุแรกเป็นธาตุทางสสาร หรือ รูปธาตุ ส่วน ๒ ธาตุสุดท้ายเป็นอรูปธาตุหรือนามธาตุ เฉพาะวิญญาณเป็นธาตุที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถรู้ได้

   จากธาตุหรือองค์ประกอบขั้นมูลฐาน ๖ อย่าง ดังกล่าวนี้เองที่ได้ก่อให้เกิดประสาทรับรู้ ๖ ชนิด ขึ้นในร่างกายของมนุษย์ ซึ่งพระพุทธศาสนาเรียกว่า อายตนะ ๖ (มีความหมายว่าที่ต่อ) คือ

- จักขวายตนะ ได้แก่ ประสาทตา

- โสตายตนะ ได้แก่ ประสาทหู

- ฆานายตนะ ได้แก่ ประสาทจมูก

- ชิวหายตนะ ได้แก่ ประสาทลิ้น

- กายายตนะ ได้แก่ ประสาทกายหรือผิวหนัง

- มนายตนะ ได้แก่ ประสาทใจ    (ธาตุวิภังคสูตร - ม.อุ.14/680/436)


   ตามคำสอนของพระพุทธศาสนา  มนุษย์มีประสาทรับรู้ ๖ มิใช่ ๕ อย่างที่เชื่อถือกันทั่วไป โดย ๕ อย่างแรกเรียกรวมได้ว่า   ประสาทสัมผัสทางกาย หรือ ประสาทกาย  ส่วนอย่างสุดท้าย (มนะ) เรียกได้ว่า ประสาทสัมผัสทางใจหรือประสาทใจ

   ในมหาหัตถิปโมทสูตร (ม.ม. 12/346/358) อธิบายกระบวนการรับรู้หรือการเกิดของวิญญาณ (ความรู้) ไว้ย่อๆ ว่า เมื่อจักษุประสาท ไม่เสียหาย   มีรูปเข้ามาสู่คลองจักษุ และจิตกำหนด (หรือเอาใจใส่)   การกระทบกันของรูปและจักษุนั้น   วิญญาณ   คือความรู้แต่จักษุและรูปนั้น ย่อมเกิดขึ้น ในกรณีของโสตประสาท   ฆานประสาท  ชิวหาประสาท   และกายประสาท   ก็เช่นเดียวกัน


   ข้อความในพระสูตรดังกล่าวข้างต้นแสดงว่าในการรู้รับสิ่งต่างๆ ของมนุษย์นั้น ประสาทสัมผัสทั้ง ๖ อย่างต้องทำงานร่วมกันจึงจะเกิดการรู้ หรือ การรับรู้ที่ชัดเจน กระบวนการทำงานของประสาทสัมผัสทั้ง ๖ แบ่งได้เป็น ๒ ขั้นตอน

    ขั้นตอนแรก   ประสาททางกาย   (เช่น ตา)   กระทบหรือสัมผัสกับวัตถุภายนอก (คือวัตถุที่ถูกมอง) ก่อให้เกิดความรู้สึกขั้นต้น เรียกว่า ความรู้สึกทางตา (จักขุวิญญาณ) กระบวนการขั้นตอนนี้ (วัตถุ +ตา = จักขุวิญญาณ)   รวมเรียกว่า ผัสสะ คือ ความรู้สึกกระทบหรือความรู้สึกสัมผัส

   ขั้นตอนที่สอง   ผัสสะหรือความรู้สึกที่กระทบนั้นไหลไปสู่ประสาทใจ (คือ มนะ) หรือใจรับรู้ผัสสะนั้นจึงเกิดเป็นการรับรู้ขั้นที่สอง คือ รู้ทางใจ มโนวิญญาณ คือ การรู้ทางใจเป็นความรู้ที่ชัดเจน ถ้าเป็นการทำงานร่วมกันของประสาทตา และประสาทใจ   ก็ก่อให้เกิดการรู้ คือ การเห็นที่ชัดเจน ซึ่งเรียกว่า   เป็นความรู้ทางตา.    ในกรณีของประสาทสัมผัสอื่นๆ ก็ทำนองเดียวกัน



   ในคัมภีร์ชั้นหลังของพระพุทธศาสนา ได้อธิบายกระบวนการในการรับรู้ของประสาทสัมผัสทั้ง ๖ อย่างละเอียดออกไปอีกว่า ต้องประกอบด้วยองค์ประกอบอย่างไรบ้าง ดังนี้


(รูป) วัตถุ +แสงสว่าง + จักขุ + มนสิการ = เห็น

เสียง + อากาศ + โสตะ + มนสิการ = ได้ยิน

กลิ่น + วาโย + ฆานะ + มนสิการ = ได้กลิ่น

รส + อาโป + ชิวหา + มนสิการ = รู้รส

(โผฏฐัพพะ) วัตถุ + ปฐวี + กาย + มนสิการ = รู้สึก กระทบ

(ธัมมารมณ์) อารมณ์ + หทัยวัตถุ + มนะ + มนสิการ = รู้   (อัฏฐสาลินี.340)


   จากคำอธิบายเรื่องกระบวนการในการทำงาน หรือ ในการรับรู้ของประสาทสัมผัสทั้ง ๖ ของมนุษย์ดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นประเด็นสำคัญในการรับรู้ของมนุษย์ตามคำสอนของพระพุทธศาสนาหลายประเด็น คือ

   (๑) ประสาทรับรู้ของมนุษย์ มีทั้งประสาททางกายหรือทางวัตถุ และประสาททางใจ หรือ ประสาททางจิต

   (๒) ประสาทรับรู้ทางกาย หรือ ทางวัตถุแต่ละอย่างทำหน้าที่รับรู้เฉพาะอย่างหรือเฉพาะเรื่อง โดยไม่สับสนกันและทำหน้าที่แทนกันไม่ได้ และรับรู้ได้เฉพาะเรื่องที่เป็นวัตถุด้วยกันเท่านั้น

  (๓) ประสาทรับรู้ทางใจ (มนะ) เป็นศูนย์รวมของการรับรู้จากประสาททางกายทุกอย่าง และเป็นตัวทำหน้าที่รับรู้ขั้นสุดท้ายหรือกล่าวได้ว่าเป็นตัวทำหน้าที่รู้ที่แท้จริง ดังที่ท่านอธิบายไว้ในวิสุทธิมรรคว่า บุคคลย่อมเห็นด้วยจิตโดยมีจักษุประสาทเป็นฐาน  (วิสุทธิ.1/24)

  (๔) การรับรู้ของประสาทสัมผัสแต่ละอย่างนั้นมีกระบวนการเหมือนกันแตกต่างกันเฉพาะองค์ประกอบ ปลีกย่อย หรือ ตัวกลางที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างวัตถุภายนอก กับ ประสาทสัมผัสเท่านั้น


   กระบวนการในการรับรู้ของประสาทสัมผัสทั้ง ๖ ตามคำสอนของพระพุทธศาสนาดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ประสาทสัมผัสทางกาย  ก็มีความสามารถรับรู้วัตถุภายนอกได้ระดับหนึ่ง คือ ระดับผัสสะ ซึ่งเป็นความรู้หรือเป็นความรู้สึกเพียง "รับรู้การกระทบ หรือ รู้สึกว่า มีอะไรมากระทบ" เท่านั้น ยังเป็นการรับรู้หรือความรู้ที่เลือนลางไม่ชัดเจน ฉะนั้น ลำพังการทำงานของประสาทสัมผัสทางกาย จึงไม่อาจให้เกิดความรู้ที่ชัดเจนใดๆ แก่มนุษย์ได้


   ประสาทสัมผัสที่เป็นตัวตัดสินความรู้ หรือ เป็นตัวให้ความรู้ที่ชัดเจนแก่มนุษย์ ก็คือ ประสาทใจ (มนะ) โดยประสาทใจจะทำหน้าที่รับผัสสะ หรือ ข้อมูลจากกระบวนการทางประสาทสัมผัสทางกายมาคิดอีกทีหนึ่ง จึงทำให้เกิดความรู้ หรือ การรับรู้ที่ชัดเจนขึ้น กล่าวคือ ถ้าเป็นการรับรู้ทางตา ก็เกิดการมองเห็นที่ชัดเจน หรือ รู้ว่าเห็นอะไร ถ้าเป็นการรับรู้ทางหู ก็เกิดการได้ยินที่ชัดเจน หรือ รู้ว่าได้ยินเสียงอะไร เป็นต้น


   คำสอนของพระพุทธศาสนาในเรื่องนี้ แสดงให้เห็นว่า ประสาทสัมผัสทั้ง ๒ ระบบของมนุษย์ (ประสาทกาย - ประสาทใจ) ทำงาน อยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะหลับหรือตื่น เพราะธรรมชาติของประสาทกาย ก็คือ ทำหน้าที่รับรู้การกระทบของวัตถุภายนอกที่มากระทบตัวมนุษย์ในทาง (ทวาร) ต่างๆ คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนัง (กาย) ซึ่งการกระทบดังกล่าวก็จะก่อให้เกิดความรู้สึกไปตามลักษณะของการกระทบ เช่น ถ้าเข้ามากระทบทางตา ก็เกิดความรู้สึกเห็น (จักขุวิญญาณ) ถ้าเข้ามากระทบหู ก็เกิดความรู้สึกได้ยิน (โสตวิญญาณ) เป็นต้น


   ฉะนั้น ประสาทสัมผัสทั้ง ๖ พระพุทธศาสนาจึงเรียกว่า "อายตนะ" คือ เป็นจุดต่อหรือเป็นจุดที่ทำให้มนุษย์ติดต่อหรือรับรู้โลกภายนอก บางทีเรียกว่า "ทวาร" คือ ทาง หรือ ช่องที่สิ่งภายนอกจะเข้ามากระทบหรือเข้ามาติดต่อกับชีวิตมนุษย์ เช่น ตา ก็เรียกว่า จักขุทวาร = ทางตา หรือ ช่องตา บางทีเรียกว่า "อินทรีย์" ซึ่งมีความหมายว่า สามารถ หรือทำหน้าที่ เช่น จักขุนทรีย์ ก็คือ ประสาทสัมผัสที่สามารถเห็นหรือทำหน้าที่เห็นเท่านั้น มนินทรีย์ ก็คือ ประสาทสัมผัสที่สามารถคิด สามารถรู้ หรือ ทำหน้าที่คิดทำหน้าที่รู้เท่านั้น เป็นต้น


   แต่การทำงานของประสาทสัมผัสทั้งสองระบบนี้ จะก่อให้เกิดเป็นความรู้ขึ้นก็ต่อเมื่อต้องทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะประสาทใจ (มนะ) จะต้องร่วม หรือ รับรู้การทำงานของประสาทกายด้วย จึงจะเกิดเป็นการรับรู้ที่ชัดเจนขึ้น ดังที่อธิบายมาแล้วในตอนต้น


   ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือ กระบวนในการรับรู้โลกภายนอก หรือ กระบวนการในการติดต่อกับโลกภายนอกของมนุษย์ ตามหลักของพระพุทธศาสนา ซึ่งในขั้นนี้เป็นเพียงแสดงให้เห็นว่า มนุษย์รับรู้หรือติดต่อกับโลกภายนอกได้อย่างไร เป็นกระบวนการของการรับรู้ที่ปรากฏแก่มนุษย์ทุกคน เป็นการรับรู้ทั่วไป หรือ การรับรู้แบบพื้นๆ ยังไม่ถึงขั้นเป็น "ความรู้" ตามความหมายของคำว่า "ความรู้" ซึ่งเป็นสิ่งที่จะนำมนุษย์ไปสู่ความจริง หรือ ทำให้มนุษย์รู้จักโลกได้อย่างแท้จริง.


อายตนะ

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=samathijit&month=11-04-2021&group=8&gblog=1


Create Date : 13 พฤษภาคม 2565
Last Update : 13 พฤษภาคม 2565 9:24:23 น. 0 comments
Counter : 381 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space