การบินไทย-แอร์เอเชียประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2565 รายได้โตต่อเนื่อง
การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ประจำปี 2565 มีรายได้รวม 21,526 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 282% ด้านไทยแอร์เอเชียเผยผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ปี 2565 รายได้เพิ่มขึ้น 157% บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ประจำปี 2565 โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวรวม 21,526 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 282% จากระดับ 5,635 ล้านบาทในปี 2564 โดยรายได้จากการขนส่งเพิ่มขึ้น 619.3% สู่ระดับ 19,803 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากปริมาณการผลิตและการขนส่งที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวอยู่ในระดับ 22,825 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 126.3% จากปี 2564 จากค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่แปรผันตามปริมาณการผลิตและ/หรือปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานที่ราคาเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อน 104.1% ทำให้รายจ่ายน้ำมันขึ้นมาสู่ระดับ 8,946 ล้านบาท คิดเป็น 39.2% ของรายจ่ายดำเนินงานทั้งหมด ขณะที่ค่าใช้จ่ายบุคลากรลดลงจากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการและการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่อง เป็นผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยขาดทุนจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 1,299 ล้านบาท ซึ่งลดลงมากจากปีก่อนที่ขาดทุน 4,449 ล้านบาท สำหรับผลการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน ภาษี และค่าเสื่อม(EBITDA) นั้น EBITDA หลังหักค่าเช่าเครื่องบินมีกำไรจำนวน 168 ล้านบาทในไตรมาส 2 ของปี 2565 เทียบกับการขาดทุน 9,212 ล้านบาทในปี 2564 นับเป็นไตรมาสแรกหลังเข้าแผนฟื้นฟูที่ EBITDA หลังหักค่าเช่าเป็นบวกในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินจำนวน 3,102 ล้านบาท มีรายได้สุทธิจากรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวรวม 1,982 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ การปรับโครงสร้างองค์กร และโครงสร้างค่าตอบแทนบุคลากร รวมถึงกำไรจากการขายเงินลงทุนและทรัพย์สิน ถึงแม้จะมีผลขาดทุนจากด้อยค่าของสินทรัพย์ และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยขาดทุนสุทธิจำนวน 3,213 ล้านบาท เทียบกับกำไรสุทธิ 23,326 ล้านบาทในปี 2564 เนื่องจากในไตรมาส 2 ของปี 2564 มีรายได้จากรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิ 27,100 ล้านบาท การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินจากการทยอยผ่อนคลาย ยกเลิกมาตรการควบคุมและจำกัดการเดินทางของประเทศต่างๆ ทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 เป็นต้นมา เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้รายได้จากกิจกรรมขนส่งของบริษัทฯ เติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีผลการดำเนินงานที่ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 บริษัทฯและบริษัทย่อย มีปริมาณการผลิตผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 366.6% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้นถึง 1,766.9% มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 60.3% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 15.1% มีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 2.01 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 570% มีปริมาณการผลิตด้านการขนส่งสินค้า (ADTK) สูงกว่าปีก่อน 384.4%ปริมาณการขนส่งสินค้า (RFTK) สูงกว่าปีก่อน 241.5% อัตราส่วนการขนส่งสินค้า (Freight Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 69.0% นอกจากนั้น จากแนวโน้มปริมาณการเดินทางและขนส่งที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ยปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับ 77.7% ทำให้รายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าของบริษัทฯ และบริษัทย่อย เพิ่มขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 10,000 ล้านบาท ด้วยสัดส่วนการขนส่งผู้โดยสารกว่า 30% ของจำนวนผู้โดยสารเข้า-ออกประเทศไทยทั้งหมด ส่งผลให้เงินสดคงเหลือของบริษัทฯ และบริษัทย่อย เพิ่มขึ้นจาก5,515 ล้านบาท เมื่อปลายปี 2564 สู่ระดับ 13,474 ล้านบาท ณ สิ้นงวดครึ่งปีแรกของปี 2565 ด้านบมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บจ.ไทยแอร์เอเชีย (TAA) เผยผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ปี 2565 มีรายได้รวม 2,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 157% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หนุนจากการฟื้นตัวที่โดดเด่นของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยปริมาณที่นั่งกลับมากว่า 33% ของช่วงก่อนโควิด-19 จากทั้งการเติบโตในตลาดภายในประเทศ เเละเส้นทางระหว่างประเทศที่เริ่มกลับมาให้บริการเพิ่มขึ้น โดยได้รับการตอบรับที่ดีจากทั้งตลาดอินเดีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ อย่างไรตาม ราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนหลักของสายการบินเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากอุปสงค์การใช้น้ำมันที่เร่งตัวสูงกว่าอุปทานในตลาดโลกที่ตึงตัว ค่าบำรุงรักษาเครื่องบิน และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ AAV มีผลขาดทุน 4,724 ล้านบาทในไตรมาสนี้ ตลอดไตรมาสที่ 2 ปี 2565 TAA ขนส่งผู้โดยสารรวม 1.68 ล้านคน เพิ่มขึ้น 133% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 75% เพิ่มขึ้น 14 จุด อีกทั้งราคาค่าโดยสารเฉลี่ยขยายตัว 17% มาอยู่ที่ 1,317 บาท จากความต้องการท่องเที่ยวที่คงค้างมาตั้งแต่ปีก่อนและค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลิงในเที่ยวบินระหว่างประเทศ ในขณะที่รายได้บริการเสริมต่อผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 21% มาอยู่ที่ 285 บาท หนุนจากค่าบริการฝากสัมภาระใต้ท้องเครื่องและค่าธรรมเนียมการชำระเงินที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่อัตราความตรงต่อเวลาอยู่ที่ 96% โดยมีจำนวนเครื่องบินปฏิบัติการเฉลี่ยอยู่ที่ 24 ลำ ณ สิ้นสุดไตรมาส เพิ่มขึ้นจาก 15 ลำในช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยอัตราการใช้งานเครื่องบินที่ 8.0 ชั่วโมงต่อวัน เพิ่มขึ้นจาก 6.1 ชั่วโมงต่อวัน ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเครื่องบินที่เหลือมีเเผนสำหรับการรองรับปริมาณผู้โดยสารในครึ่งปีหลังต่อไป ในขณะที่ภาพรวมครึ่งปีเเรกของปี 2565 AAV มีรายได้รวม 4,628 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 90% และมีผลขาดทุน 7,094 ล้านบาท จากปัจจัยด้านราคาน้ำมัน ค่าบำรุงรักษาเครื่องบิน และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง โดยขนส่งผู้โดยสารรวม 3.14 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่า 84% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้อัตราขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 74% นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น และ บจ.ไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มผ่อนคลาย และประเทศต่างๆ เริ่มเปิดประเทศเต็มที่ อีกทั้งล่าสุดทางการอนุญาตให้สายการบินให้บริการอาหารและเครื่องดื่มในเที่ยวบินภายในประเทศแล้ว ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีและเป็นโอกาสของ TAA ในการกลับมาสร้างรายได้ที่เเข็งเเกร่ง โดยเฉพาะตลาดระหว่างประเทศที่จะเน้นมากขึ้น ซึ่งสิ้นสุด ณ ไตรมาสนี้ TAA กลับมาให้บริการแล้ว 19 เส้นทาง สู่ 8 ประเทศ คือ อินเดีย มัลดีฟส์ กัมพูชา เวียดนาม ลาว สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยในครึ่งปีหลัง TAA ตั้งเป้าหมายในการเปิดบินสู่ประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งเเรก ที่เมืองฟุกุโอกะ รวมทั้งประเทศเนปาลเเละบังกลาเทศ ถือเป็นการเปิดตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ “ปัจจุบันบริษัทยังคงได้รับการสนับสนุนจากตลาดการเงินต่อเนื่อง ทำให้บริษัทมีสภาพคล่องเพียงพอสำหรับการดำเนินธุรกิจซึ่งกำลังกลับมาเติบโตอีกครั้ง สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่น รากฐานและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งความร่วมมือจากพนักงาน Allstars ทุกคน ซึ่งต่อจากนี้เราวางกลยุทธ์ในการเเสวงหาทุกโอกาสเพื่อเพิ่มกระเเสเงินสดระยะสั้น ควบคู่กับแผนการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว สำหรับช่วงที่เหลือของปีนี้ เราคาดว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมจะดีต่อเนื่อง และ AAV น่าจะมีผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังที่ดีที่สุดในรอบ 3 ปี” นายสันติสุขกล่าว ในครึ่งปีหลังนี้ TAA พร้อมกลับมาทำเเคมเปญการตลาดเชิงรุกเต็มที่ ทั้งการตอกย้ำคุณภาพของแบรนด์ที่สร้างความเเตกต่างจากคู่เเข่ง ด้วยมาตรฐานความปลอดภัยเเละความตรงต่อเวลา ผ่านเเคมเปญ “ขอใส่ใจให้หายคิดถึง” การสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจจากสินค้าบริการที่หลากหลายของ airasia Super App การทำเเคมเปญต่อเนื่องร่วมกับภาครัฐเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศกับโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4 ส่วนขยาย” รวมทั้งการจัดโปรโมชันที่ร้อนเเรงตลอดครึ่งปีหลัง โดยเน้นในตลาดเส้นทางระหว่างประเทศที่คาดว่าจะสามารถสร้างผลกำไรได้ดีต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ทั้งนี้ ตลอดปี 2565 บริษัทตั้งเป้าผู้โดยสารอยู่ที่ 10 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าจากปีก่อนที่ขนส่งผู้โดยสาร 2.93 ล้านคน พร้อมทั้งตอกย้ำความเป็นผู้นำสายการบินราคาประหยัดสำหรับคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยมีความพร้อมให้บริการด้วยเครื่องบินปฏิบัติการจำนวน 43 ลำ จากฝูงบินทั้งหมดจำนวน 53 ลำ ณ ปลายปีนี้
Create Date : 15 สิงหาคม 2565 |
Last Update : 15 สิงหาคม 2565 17:23:44 น. |
|
1 comments
|
Counter : 712 Pageviews. |
|
|
|
|
| |