สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับภาคเอกชน บริษัท เวรียนส์ แอนด์ พาร์ทเนอส์ จำกัด จัดงาน Creative Economy Forum Thailand 2022 ภายใต้หัวข้อการเสวนา “เศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยก้าวไปด้วยเทคโนโลยี ท่ามกลางโรคระบาดอุบัติใหม่” ณ TCDC กรุงเทพฯ เพื่อส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ ในการผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยให้ก้าวหน้า พร้อมสร้างแรงบันดาลใจแก่ประชาชนคนไทยให้มีส่วนร่วมคิด ร่วมพัฒนา “Soft Power” เพื่อส่งออกเป็นสินค้าที่น่าภาคภูมิใจสู่สายตาคนทั้งโลก
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวเปิดงานด้วยการฉายภาพรวมให้เห็นถึงความสำคัญของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา โดยประเทศต่าง ๆ ได้นำมาใช้เป็นกลไกผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยการต่อยอดสร้างสรรค์ทุนทางวัฒนธรรมให้ทันสมัย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและความแตกต่างให้แก่สินค้าและบริการ รวมทั้งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้าง Soft Power เพื่อใช้ส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีนานาชาติ ดึงดูดการท่องเที่ยวและส่งเสริมการส่งออก
ปัจจุบัน CEA ได้เร่งเดินหน้าการผลักดันยุทธศาสตร์ “Soft Power” และมาตรการที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับองค์กรเอกชนหลายแห่ง หลายสาขา เพื่อส่งเสริมภาคธุรกิจ SMEs และผู้เล่นสำคัญรายใหญ่ ในการนำทรัพยากรเชิงวัฒนธรรมที่มีศักยภาพของประเทศมาพัฒนาต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์เอไอ รวมถึงเมตาเวิร์สที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมระบบนิเวศ และเตรียมพร้อมผู้ประกอบการด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้สามารถพัฒนาหรือตามเทคโนโลยีของโลก เพื่อส่งออกคอนเทนต์ไทยไปสู่ตลาดอาเซียนและตลาดโลก
อนาคตอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยหลังโควิด-19 และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่า แม้ไทยไม่ได้เป็นชาติมหาอำนาจเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา จีน และรัสเซีย ที่มีทั้ง Hard Power และ Soft Power แต่ไทยมีต้นทุนวัฒนธรรมจำนวนมาก ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดได้หลายรูปแบบ และอธิบายเพิ่มเติมว่า Thailand’s Soft Power นั้นมีฐานรากมาจาก DNA ของความเป็นไทย (Thainess) ใน 5 มิติ คือ คนไทยเป็นคนสนุกสนาน (Fun) มีวัฒนธรรมที่เปี่ยมรสชาติ (Flavoring) ชอบสร้างสีสันเติมเต็มกัน (Fulfilling) มีความยืดหยุ่น (Flexible) และเป็นมิตร (Friendly) และถูกเสริมด้วยความหลากหลายเชิงชีวภาพและความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม สะท้อนความเป็นไทยที่โดดเด่น เป็น “Soft Power” ที่สามารถสร้าง “คุณค่า” และ “มูลค่า” ในตัวเอง จึงเป็นขุมทรัพย์สำคัญในการสร้างความมั่งคั่ง ผ่านการผสมผสาน Place x People x Product
ในอนาคต ดร.สุวิทย์ มองว่า “Soft Power ต้องเป็นส่วนผสมระหว่าง High Tech กับ High Touch โดยนำพลังของเยาวชนมาเป็นผู้นำการขับเคลื่อน Soft Power ในมิติต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม ประเทศไทยมีศักยภาพอยู่แล้ว สามารถเป็น Creative Hub ของอาเซียนได้ ประเด็นสำคัญคือภาครัฐต้องกล้าคิด กล้าทำ มีนโยบายและยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เอาจริงเอาจังอย่างต่อเนื่อง มีการผนึกกำลังกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเข้มแข็ง การลงทุนและการสร้างงานขนาดใหญ่ หากดำเนินการตามนี้ไม่เกิน 5-10 ปี จะเห็นการพลิกโฉมอย่างมีนัยยะที่เกิดจาก Soft Power อย่างแน่นอน”
ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ให้เห็นภาพว่า โลกใหม่หลังโควิด-19 ประกอบด้วย 3 โลก คือ โลกเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy), โลกเศรษฐกิจใส่ใจ (Care Economy) และโลกเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เมื่อเทรนด์โลกเปลี่ยนไป ความต้องการทักษะแรงงานก็เปลี่ยนไป งานที่มีความต้องการสูงและรายได้ดีก็ยิ่งต้องการทักษะที่หลากหลาย จะเห็นได้ว่างานและทักษะในโลกใหม่จะมีความหลากหลายซับซ้อน นอกจากรู้ลึกและกว้างแล้ว ยังต้องสามารถเชื่อมโยง บูรณาการได้ เก่งทั้งวิเคราะห์และสังเคราะห์
ด้าน ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA ถ่ายทอดมุมมองว่าประเทศไทยมีมรดกและทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลายและสามารถแข่งขันได้ ที่ผ่านมามีการนำทุนทางสังคมและวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจผ่าน 15 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยในปี 2563 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยมีมูลค่าสูงถึง 1.19 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 7.58% ของ GDP ประเทศไทย และมีอัตราการจ้างงานสูงถึงกว่า 9 แสนคน
ผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในไทย พบว่าส่งผลให้นิติบุคคลสร้างสรรค์ไทยจำนวน 79,096 ราย มีผลประกอบการลดลง จำนวนธุรกิจที่มีความสามารถในการทำกำไรก็ลดต่ำลงด้วยเฉลี่ย 17.1% ธุรกิจที่ขาดทุนมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นถึง 14% โดยกลุ่มมีกำไร ได้แก่ งานฝีมือและหัตถกรรม อาหารไทย ดิจิทัลคอนเทนต์ ส่วนกลุ่มเฝ้าระวัง ได้แก่ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ภาพยนตร์ ดนตรี ทัศนศิลป์ แพทย์แผนไทย
สิ่งที่ CEA จะทำต่อไป คือการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการสร้าง Soft Power โดยเน้นการพัฒนาบุคลากรสร้างสรรค์ (Creative People) การเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ธุรกิจสร้างสรรค์ (Creative Business) การพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Place) รวมทั้งเตรียมความพร้อมปรับตัวเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในระยะยาว ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาทักษะดิจิทัล การนำเทคโนโลยีและเครื่องมือดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้ธุรกิจ นอกจากนี้ ยังผลักดันกระบวนการด้านทรัพย์สินทางปัญญาและสร้างระบบฐานข้อมูลอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อเชื่อมต่อกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล และเป้าหมาย SDGs ของสหประชาชาติ
“เราต้องการผลักดันเมืองไทยให้เป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในระดับโลก เราสำรวจว่าไทยมีศักยภาพด้านใดมากที่สุด และพยายามติดต่อกับผู้เล่นในตลาดโลกเพื่อส่งออก เรามียุทธศาสตร์ชาติสร้างความสามารถในการแข่งขัน เราจะสร้างคน สร้างธุรกิจ และสร้างย่านสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดการยกระดับอัตลักษณ์ไทย ตลอดจนผลักดันยุทธศาสตร์ Soft Power ให้เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการพื้นฟูเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ต้องคำนึงถึงความต้องการของตลาดสากล ที่ต้องขายได้และขายดี”
เศรษฐกิจสร้างสรรค์กับการขับเคลื่อนภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการเวทีนี้สะท้อนให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม รวมทั้งความสามารถในการเพิ่มมูลค่าแก่ภาคการท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทย ผ่านมุมมองของผู้บริหารจาก 3 องค์กรชั้นนำ ได้แก่ คุณศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คุณสุวรรณี สุวรรณแสงโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่ บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ตาชำนิ จำกัด (มหาชน) และคุณธีรทัศน์ กรุงแก้ว ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์และบริหารการลงทุน บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)
โดยแขกร่วมเสวนาทุกคนเห็นตรงกันว่า ทักษะในเรื่องความคิดสร้างสรรค์นั้นจำเป็นกับการขับเคลื่อนธุรกิจ องค์กรทั้งสามแห่งนี้มีวัฒนธรรมองค์กรที่รวมเรื่องความคิดสร้างสรรค์และพยายามขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริง ผ่านการสร้างสภาพแวดล้อมในองค์กรให้คนกล้าคิด กล้าทำ โดยคนสำคัญในการสร้างให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ก็คือผู้นำ ซึ่งต้องเปิดกว้าง ให้โอกาส และรับฟังความคิดเห็น
ขณะเดียวกันในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งมีแนวโน้มจะเข้ามาเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตและการทำธุรกิจทั้งภาคการผลิต การค้า และบริการ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีบล็อกเชน เอไอ เมตาเวิร์ส อีวี แต่ละองค์กรก็ต้องมองหาวิธีทำอย่างไรจะนำเทคโนโลยีมาใช้และสร้างมูลค่าเพิ่มให้องค์กรหรือแบรนด์ได้
นวัตกรรมและเทคโนโลยีสู่การยกระดับอัตลักษณ์พื้นถิ่นให้เป็น Soft Powerปิดท้ายงานเสวนาด้วยหัวข้อ “นวัตกรรมและเทคโนโลยีสู่การยกระดับอัตลักษณ์พื้นถิ่นให้เป็น “Soft Power” ที่ได้นักสร้างสรรค์ด้านต่าง ๆ ของประเทศไทย ได้แก่ ดร. ศรุต วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะ ประเทศไทย ลาว และกัมพูชา บริษัท เน็ตฟลิกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด คุณทิฆัมพร ภูพันนา นักสร้างสรรค์ตัวแทนกลุ่มหมอลำโฮโลแกรม ดร. กรกต อารมย์ดี เจ้าของแบรนด์ KORAKOT งานหัตถกรรมดีไซน์ คุณลักษมณ์ เตชะวันชัย ผู้อำนวยการด้านเทคโนโลยี บริษัท มวยไทย ไอ.กล้า จำกัด และรองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย และ คุณสุทธิพงษ์ สุริยะ ผู้สร้างแบรนด์ Karb Studio และผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ มาให้ความรู้และมุมมองเกี่ยวกับการประยุกต์ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อใช้ร่วมกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับภูมิภาคไปสู่ระดับชาติ และช่วยผลักดัน Soft Power ไปสู่ระดับโลก
เห็นได้ชัดว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มี “Local Content” ที่เด่นชัดในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านศิลปวัฒนธรรม หัตถกรรม สถาปัตยกรรม อาหาร อุตสาหกรรมบันเทิง ดนตรี ภาพยนตร์ ตลอดจนกีฬาแบบไทย ๆ อย่างมวยไทย สิ่งเหล่านี้นับเป็น “ต้นทุนทางวัฒนธรรม” ของชาติที่ควรเร่งส่งเสริมให้เกิดการส่งออกแบบแพร่หลายในต่างประเทศ ซึ่งเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญมากต่อการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย สื่อภาพยนตร์ ซีรีส์ สามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการท่องเที่ยว การบริโภคสินค้าและบริการ การลงทุน หรือการพัฒนาแรงงานท้องถิ่นได้
การจะผลักดัน Local Content สู่การเป็น Soft Power ของประเทศได้ ภาครัฐต้องจริงใจในการให้สนับสนุนผ่านการจัดทำนโยบายที่มีความต่อเนื่องสม่ำเสมอ มีการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐกับเอกชนอย่างแนบแน่น โดยมีเจ้าภาพหลักอย่าง CEA ซึ่งบทบาทสำคัญในฐานะผู้ขับเคลื่อนกระบวนการ Soft Power ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเป็นตัวกลางเชื่อมโยงภาคส่วนต่าง ๆ ให้เห็นมูลค่าของการส่งออก Soft Power ในภาพเดียวกัน