กรมการท่องเที่ยวผนึกจุฬาฯ พัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวย่านเมืองเก่ากรุงรัตนโกสินทร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับมอบหมายจากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้ดำเนินการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำเส้นทางท่องเที่ยว Sense of Rattanakosin เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567 ภายใต้โครงการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวย่านเมืองเก่ากรุงรัตนโกสินทร์ (Sense of Rattanakosin) โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติรัตน์ ปั้นบำรุงกิจ เป็นหัวหน้าโครงการ ทั้งนี้รศ. ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , นางณัฏฐิรา แพงคุณ รองอธิบดีกรมการท่องเที่ยว , นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ ส.ส. กรุงเทพในเขตพื้นที่ดังกล่าว (เขต1) , นายกิตติ พรศิวะกิจ กรรมการททท.และประธาน Smart Tourism สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย , นางญาธิภา สิงห์สุวรรณ รักษาการผอ.ส่วนการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร เข้าร่วมด้วย โดยมีผู้แทนจากภาครัฐ เอกชน ประชาคมในพื้นที่ สมาคมท่องเที่ยวสื่อมวลชน เข้าร่วมกว่า 100 คน โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษา สำรวจ และออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวภายในพื้นที่ข้อมูลย่านเมืองเก่ากรุงรัตนโกสินทร์ที่สอดคล้องกับประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของมนุษย์ รวมถึงการออกแบบนวัตกรรม เทคโนโลยี หรือการจัดสรรองค์ประกอบในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมเส้นทางการท่องเที่ยวภายในกรุงรัตนโกสินทร์ และสืบสานสู่คนรุ่นหลังอย่างยั่งยืน ทีมนักวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวโดยใช้องค์ความรู้ด้านภูมิศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาษาศาสตร์ และการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ในการออกแบบเส้นทางและโปรแกรมท่องเที่ยวให้ผู้มาเยี่ยมเยือนให้ได้รับอรรถรส อารมณ์ ความรู้สึก และประสบการณ์อย่างลึกซึ้ง ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า รวมถึงการใช้นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีในการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่สะท้อน sense of Rattanakosin การนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวตามแนวคิดเปิดมิติการเดินทางผ่านผัสสะรัตนโกสินทร์ (Sense of Rattanakosin) ดังนี้
1 ดวงหทัยรัตนโกสินทร์ (Heart of Rattanakosin) เส้นทางท่องเที่ยวที่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของกรุงรัตนโกสินทร์ผ่านสถานที่สำคัญที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์แห่งยุคสมัย สถานที่ของความภาคภูมิใจของคนไทยที่อยู่ภายใต้ร่มพระบารมีของสถาบันกษัตริย์ อันนำมาสู่ความเจริญรุ่งเรืองของประเทศให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ รวมถึงมรดกศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่ายิ่ง เส้นทางนี้นำเสนอโดย ผศ.ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ ตัวอย่างเส้นทาง เช่น เริ่มต้นที่ นิทรรศรัตนโกสินทร์ แล้วออกท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ และมี Theme ต่างๆ เช่นวัดสระเกศ เรื่องเล่าเขย่ากรุง , วัดเทพธิดาราม ตามรอยสุนทรภู่ และตามหาอับเฉาจีนแต่งชุดไทย ,วัดสุทัศน์ฯ ของดี 9 สิ่ง ,ชุมชนตรอกศิลป์ ละครชาครี ,วัดราชบพิธ กระเบื้องสวย Art Style , วัดราชประดิษฐ์ฯ เครื่องแขวน งานชาววัง , ท่าเตียน ตึกแถว 55 คูหา ,วัดพระเชตุพนฯ สมบัติวัดโพธิ์ และเจดีย์ 99 องค์ ฯลฯ 2 สัมผัสถิ่นความหลากหลาย (Touch of diversity) เป็นการรวมกลุ่มความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่เมืองเก่ารัตนโกสินทร์ ทำให้เห็นความเป็นเอกลักษณ์ที่อยู่บนความแตกต่าง ความสามัคคี ที่ทุกชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เส้นทางนี้นำเสนอโดย ผศ.ดร.พันธุมดี เกตะวันดี เช่น วัดเทพมณเฑียร พิธีอารตีไฟ ,วัดซิกข์ศรีคุรุสิงห์สภา ฟังบทสวนกีรตัน , พาหุรัด ขนมบูชาเทพ , คลองโอ่งอ่าง ชมฝาท่อ และเรื่องราวจีนแต้จิ๋ว ฯลฯ 3 ลมหายใจแห่งเจ้าพระยา (Life of Chaophraya) สะท้อนถึงสังคมชาวน้ำ มีแม่น้ำเป็นสัญลักษณ์ของรัตนโกสินทร์และความผูกผัน สถานที่ท่องเที่ยวในเส้นทางนี้จึงเน้นถึงความเชื่อมโยงแห่งสายน้ำที่นำพาให้ทุกชีวิต ได้เติบโต มีพัฒนาการ มีการติดต่อและรับวัฒนธรรมจากพื้นที่ภายนอก ผ่านสายน้ำ เส้นทางนี้จะให้ความมีชีวิตชีวา ของผู้คนในกรุงเก่ารัตนโกสินทร์ เส้นทางนี้นำเสนอโดย ผศ.ดร.ปริญญ์ เจียรมณีโชติชัย เช่นเสน่ห์บางลำพู สวนสันติชัยปราการ ,พายเรือในคลอง 2 ป้อม จากป้อมพระสุเมรุสู่ป้อมมหากาฬ , ชมพระทองคำ วัดหงส์รัตนาราม เที่ยวชุมชนกุฎีจีน เป็นต้น
รวมถึงยังมีการใช้นวัตกรรมต่างๆ เช่น พอดแคสต์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว แผนที่ล่าสมบัติ เกมมิฟิเคชั่นส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นต้น โดยจากการระดมความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมและประชาคมในพื้นที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะทำการปรับข้อมูลต่างๆ ให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะ และนำส่งรายงานต่อกรมการท่องเที่ยวต่อไป
Create Date : 28 ตุลาคม 2567 |
Last Update : 28 ตุลาคม 2567 18:00:58 น. |
|
0 comments
|
Counter : 207 Pageviews. |
|
|
|
|
| |