Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2556
 
12 กุมภาพันธ์ 2556
 
All Blogs
 

อริยสัจจากพระโอษฐ์ .. ตรัสถ้อยคำโดยโวหารโลก แต่มิได้ทรงยึดถือ

.




โปฏฐปาทะ !
การได้อัตตาเฉพาะอย่าง ๓ อย่างเหล่านี้ มีอยู่ คือ ..
- การได้อัตตาเฉพาะอย่าง ชนิดหยาบ,
- การได้อัตตาเฉพาะอย่าง ชนิดสำเร็จด้วยใจ,
- การได้อัตตาเฉพาะอย่าง ชนิดไม่มีรูป.

โปฏฐาปาทะ !
- การได้อัตตาเฉพาะอย่าง ชนิดหยาบ เป็นอย่างไรเล่า ?
ชนิดหยาบ คือ อัตตาที่มีรูป ประกอบด้วยมหาภูตสี่ มีกวฬีการาหารเป็นภักษา.

- การได้อัตตาเฉพาะอย่าง ชนิดสำเร็จด้วยใจ เป็นอย่างไรเล่า ?
ชนิดสำเร็จด้วยใจคือ อัตตาที่มีรูป สำเร็จด้วยใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง.

- การได้อัตตาเฉพาะอย่าง ชนิดไม่มีรูป เป็นอย่างไรเล่า ?
ชนิดไม่มีรูปคือ อัตตาอันหารูปมิได้ สำเร็จด้วยสัญญา.

(ต่อจากนี้ได้ทรงแสดงการละและอานิสงส์แห่งการละซึ่งอัตตาทั้งสามนั้น ในลักษณะที่น่าสนใจอย่างยิ่ง แล้วทรงผันไปตรัสกะจิตตหัตถิสารีบุตรผู้นั่งอยู่ด้วยกันกับโปฏฐปาทะ ว่า :-)

จิตตะ !…
สมัยใด การได้อัตตาเฉพาะอย่างชนิดหยาบ สมัยนั้นไม่ถึงซึ่งการนับว่าได้อัตตาเฉพาะอย่างชนิดสำเร็จด้วยใจ และชนิดไม่มีรูป. คงได้แต่อัตตาชนิดหยาบอย่างเดียวเท่านั้น.

จิตตะ !
สมัยใด มีการได้อัตตาเฉพาะอย่างชนิดสำเร็จด้วยใจ สมัยนั้น ไม่ถึงซึ่งการนับว่าได้อัตตาเฉพาะอย่างชนิดหยาบและชนิดไม่มีรูป, คงได้แต่อัตตาชนิดสำเร็จด้วยใจอย่างเดียวเท่านั้น.

จิตตะ !
สมัยใด มีการได้อัตตาเฉพาะอย่างชนิดไม่มีรูป สมัยนั้น ไม่ถึงซึ่งการนับว่าได้อัตตาเฉพาะอย่างชนิดหยาบ และชนิดสำเร็จด้วยใจ, คงได้แต่อัตตาชนิดไม่มีรูปอย่างเดียวเท่านั้น.

จิตตะ !
เปรียบเหมือน นมสดจากแม่โค นมส้มจากนมสด เนยข้นจากนมส้ม เนยใสจากเนย หัวเนยใสจากเนยใส.

สมัยใดเป็นนมสด สมัยนั้นไม่ถึงซึ่งการนับว่า นมส้ม เนยข้น เนยใส หัวเนยใส, คงนับว่าเป็นนมสดอย่างเดียวเท่านั้น.

สมัยใดเป็นนมส้ม สมัยนั้นไม่ถึงซึ่งการนับว่าเป็น นมสด เนยข้น เนยใส หัวเนยใส, คงนับว่าเป็นนมส้มอย่างเดียวเท่านั้น.

สมัยใดเป็นเนยข้น สมัยนั้นไม่ถึงซึ่งการนับว่าเป็น นมสด นมส้ม เนยใส หัวเนยใส, คงนับว่าเป็นเนยข้นอย่างเดียวเท่านั้น.

สมัยใดเป็นเนยใส สมัยนั้นไม่ถึงซึ่งการนับว่าเป็น นมสด นมส้ม เนยข้น หัวเนยใส. คงนับว่าเป็นเนยใสอย่างเดียวเท่านั้น.

สมัยใดเป็นหัวเนยใส สมัยนั้นไม่ถึงซึ่งการนับว่าเป็น นมสด นมส้ม เนยข้น เนยใส, คงนับว่าเป็นหัวเนยใสอย่างเดียวเท่านั้น;

ฉันใดก็ฉันนั้น.

จิตตะ !
อัตตา ๓ ชนิดเหล่านี้แล เป็น ..
- โลกสมัญญา
- โลกนิรุติ
- โลกโวหาร
- โลกบัญญัติ
ที่ตถาคตก็ กล่าวอยู่อย่างชาวโลก แต่มิได้ยึดถือความหมายอย่างชาวโลก, ดังนี้.
.
.
.
สี. ที. ๙/๒๔๑, ๒๔๗/๓๐๒, ๓๑๒


หมายเหตุ จขบ

ตรงนี้เป็นประเด็น ภาษาคน ภาษาธรรม ..

และด้วยเรื่องของโลกสมัญญา โลกโวหาร โลกบัญญัติ นี้เองที่สอดแทรกอยู่ในคำสอนทั้งขั้นโลกียธรรม และทั้งขั้นโลกุตรธรรม .. ที่ผู้บัญญัติย่อมเข้าใจได้ดีถึงความหมายที่แท้จริง แต่ผู้ศึกษาตามต่อมาในภายหลังนั้น เป็นไปได้ที่จะไม่ได้เข้าใจถ่องแท้ .. จึงตีความโลกบัญญัติ โลกโวหาร เป็นแบบโลกๆเสียทั้งสิ้น ..

เมื่อเข้าใจไม่ได้ ก็ยึดถือตามความเข้าใจของตน ก็แตกเป็นนิกายต่างๆ .. โดยลืมเลือน"หลักใหญ่ใจความของพุทธธรรม" เสียสิ้น .. เพราะตีความเอาตามตัวอักษรที่บัญญัติไว้แบบ ..

- โลกสมัญญา
- โลกนิรุติ
- โลกโวหาร
- โลกบัญญัติ

เป็นต้นว่า "ความไม่มีตัวตนให้จับยึด ให้ยึดมั่นถือมั่น เพราะทุกอย่างล้วนเป็นเพียงปัจจยาการ ประชุมกันขึ้นมาเป็นภาวะหนึ่งๆชั่วครั้งชั่วคราว เท่านั้น .."

ทางเถรวาทเราใช้คำนี้ .. บัญญัติว่า "อนัตตา" มาจาก อ-อะ แปลว่าไม่ + อัตตา แปลว่า ตัวตน .. สนธิ กันได้เป็น อ+อัตตา=อนัตตา แปลว่าไม่มีอัตตา

ทางมหายานเขาใช้คำนี้ .. สูญ (บาลี-สุญญ, สันสกฤต-ศูนย์) หมดไป หายไป ก็นำมาใช้บัญญัติคำนี้เหมือนกันคือ สุญญ+อัตตา = สุญญตา แปลว่า อัตตาหายไป หมดไป ความว่างเปล่าจากอัตตา คือ ไม่มีอัตตา

ทางสันติอโศกพยายามใช้คำนี้ .. เนื่องจาก คำว่า นิร ก็แปลว่าไม่ จึงมีบางคนพยายามบัญญัติคำของตนขึ้นมาใหม่ เป็น นิร+อัตตา = นิรัตตา แปลว่า ไม่มีอัตตา

ยกมาเพียงคำเดียวให้เห็น .. นี่คือตัวอย่างของการสอน โลกุตรธรรม ที่จำต้องใช้ โลกบัญญัติ ให้คนเข้าใจได้ ..

เมื่อผ่านกาลเวลายาวนาน .. หลักธรรมจำนวนมาก จึงฟั่นเฝือ บิดเบือน เพราะขาดความใคร่ครวญในการใช้หลักการใหญ่ไว้ตรวจสอบ

ในวิสุทธิมรรค คำว่า "ปฏิสนธิวิญญาณ" จึงแทรกเข้ามาอธิบาย ปฏิจจสมุปบาท

ในลัทธิธรรมกาย คำว่า "อายตนนิพพาน" จึงแทรกเข้ามาเพื่ออธิบายความเป็นตัวตนให้ยึดมั่นถือมั่นของภาวะ นิพพาน ในฐานะภาวะเสมือนสวรรค์ที่ตั้งรอให้ไปถึง

โลกโวหาร จำนวนมากแฝงอยู่ในอุบายธรรม .. ที่เมื่อผ่านกาลเวลายาวนาน คนที่เข้าใจได้ล้มตายหมดสิ้น .. คนรุ่นหลังที่เข้าใจไม่ได้ก็ตีความบิดเบี้ยวไปตามความหมายของ"คำ" .. จนเรื่องฤทธิ์ ปาฏิหารย์ ค่อยๆแทรก ปลอมปน เข้ามาเต็มไปหมด

หลักการใหญ่ของพุทธธรรม จึงต้องแม่น และหนักแน่นเพียงพอ จึงสามารถใช้กรองขยะออกไปจากจิตได้




 

Create Date : 12 กุมภาพันธ์ 2556
0 comments
Last Update : 12 กุมภาพันธ์ 2556 7:10:22 น.
Counter : 1358 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


สดายุ...
Location :
France

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 151 คน [?]









O ใช่แน่หรือ ? .. O






O หรือธรรมชาติผ่านเวียน .. คอยเปลี่ยนโลก ?
ทั้งสุขโศกเร่งรุดยากหยุดไหว
หรือกำหนดยุดยื้อจากมือใด
จัดการให้แปลกแยกได้แทรกตัว
O หรือพบกันครั้งแรก, ความแตกต่าง
ถูกบ่มสร้างเหมาะควรอย่างถ้วนทั่ว
แต่ตา-รูป .. สบกัน, ที่สั่นรัว-
แรกที่หัวใจคน .. เริ่มอลเวง
O ละห้อยเห็นในยามห่างนามรูป
แต่ละวูบเนรมิตคอยพิศเพ่ง
งามทุกงามจารจรดเยี่ยงบทเพลง
พร้องบรรเลงด้วยมือช่วยยื้อยุด
O ย่อมเป็นมือสร้างเหตุแทรกเจตนา
ผ่านรูปหน้าอำนวยเข้าฉวยฉุด
ร้างไร้ความกริ่งเกรง, หากเร่งรุด
แทรกลงสุดหัวใจเพื่อไขว่คว้า
O แน่นอนว่ายากเว้น .. อยากเห็นรูป
และชั่ววูบวาบเดียวที่เหลียวหา
หวังทุกหอมรินไหลผ่านไปมา
ทั้งหางตาที่ชม้อยเหลือบคอยปราย
O โลกย่อมงามพร่างแพร้วเมื่อแผ้วผ่าน
ด้วยอ่อนหวานอ่อนโยนที่โชนฉาย
แม้นมิอาจโยกคลอนให้ผ่อนคลาย
ก็อย่าหมายโยกคลอนให้ผ่อนลง
O จะกี่ครั้งกี่ครา, ความอาวรณ์
เวียนรอบตอนจับจูงจนสูงส่ง
ด้วยรูปนามเทียบถวัลย์อย่างบรรจง
แตะแต้มลงผ่านจริตจนติดตรึง
O ความรู้สึกในอกย่อมยกตัว
หวานถ้วนทั่ว, รสประทิ่น, ถวิลถึง
เหมือนรุมล้อมหยอดย้ำลงคำนึง
ให้เสพซึ้งรสงามของ .. ความรัก
O วัฏฏจักรแห่งธรรม .. ย่อมย่ำผ่าน
เข้าขัด-คาน จับจูงความสูงศักดิ์
ของอาวรณ์หลบเร้น เพื่อเว้นวรรค
ที่เข้าทักทายทั่วทั้งหัวใจ
O หรือแท้จริงตัวตนถูกค้นพบ
การบรรจบ .. รูป-จริต แล้วพิสมัย
ปรารมภ์ของฝั่งฝ่าย .. นั้น-ฝ่ายใด
เพิ่งยอมให้เรื่องเฉลย .. ยอมเผยความ ?



Friends' blogs
[Add สดายุ...'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.