Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2553
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
22 ตุลาคม 2553
 
All Blogs
 
กระบวนธรรมของจิต ในการเกิดขึ้น และดับไปแห่งทุกข์



มีพุทธพจน์ ตรัสไว้ว่า

ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม
ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท

(มชฺฌิมนิกาย มูลปณฺณาสก ๑๒/๓๔๖/๓๕๙)


มีพุทธพจน์ตรัสเตือนไว้ ไม่ให้ประมาท หลักปฏิจจสมุปบาทนี้
ว่าเป็นหลักเหตุผลที่เข้าใจง่าย, เพราะมีเรื่องที่พระอานนท์
เข้าไปกราบทูลพระองค์ และพระองค์ได้ตรัสตอบ มีความดังนี้
"น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาเลย พระเจ้าข้า, หลักปฏิจจสมุปบาทนี้
ถึงจะเป็นธรรมลึกซึ้ง และปรากฏเป็นของลึกซึ้ง
แต่ก็ยังปรากฏแก่ข้าพระองค์ เหมือนเป็นธรรมง่ายๆ"
"อย่ากล่าวอย่างนั้น อย่ากล่าวอย่างนั้น อานนท์,
ปฏิจจสมุปบาทนี้ เป็นธรรมอันลึกซึ้ง และปรากฏเป็นของลึกซึ้ง
เพราะไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่แทงตลอด หลักธรรมข้อนี้แหละ
หมู่สัตว์นี้จึงวุ่นวายเหมือนเส้นด้ายที่ขอดกันยุ่ง......ฯลฯ."
(สํ.นิ. ๑๖/๒๒๔-๕/๑๑๐-๑)


เป็นปรมัตถธรรมอันแสดงกระบวนการของจิต ในการเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ และการดับไปแห่งกองทุกข์ ว่าเกิดมาแต่เหตุอันใด มาเป็นปัจจัยกันอย่างใด และแสดงความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยนั้นๆอันเป็นปัจจัยแก่กันและกัน สืบต่อกันจนเกิดขึ้นเป็นวงจรต่อเนื่องของความทุกข์ที่เผาลนสรรพสัตว์มาตลอดกาลนาน, ดังนั้นเมื่อเกิดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งก็จักมีคุณอนันต์ เป็นสัมมาญาณอันช่วยให้การปฏิบัติเพื่อการดับไปแห่งทุกข์ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว เพราะเมื่อรู้เท่าทันและเข้าใจถึงเหตุได้อย่างแจ่มแจ้ง ก็สามารถดับทุกข์ที่เหตุนั้นได้โดยตรงและถูกต้องอย่างปรมัตถ์ จึงย่อมไม่ดำเนินออกไปผิดลู่แนวทาง อันย่อมบังเกิดผลขึ้นตามหลักอิทัปปัจจยตาอันดำเนินอยู่ในปฏิจจสมุปบาท คือเมื่อเหตุดับ ผลอันคือความทุกข์ก็ต้องดับไปด้วย ไม่สามารถก่อตัวเป็นความทุกข์ชนิดอุปาทานทุกข์อันร้อนรุ่มเผาลนทั้งจิตและกายขึ้นมาได้

ปฏิจจสมุปบาท เป็นธรรมอันลึกซึ้ง ที่พระองค์ท่านทรงตรัสไว้เมื่อตอนตรัสรู้ว่า ธรรมอันยากและลึกซึ้งมีเพียง ๒ คือ ปฏิจจสมุปบาท และ นิพพาน, ปฏิจจสมุปบาทเป็นธรรมที่เปิดเผยกระบวนธรรมของจิตอันแสนละเอียดอ่อนลึกซึ้งของมวลมนุษย์ทั้งปวงในการเกิดขึ้นแห่งทุกข์, คุณประโยชน์มิใช่อยู่ที่การจดจําวงจรที่เป็นเหตุปัจจัยกันได้อย่างคล่องแคล่ว แต่จักต้องพิจารณา(โยนิโสมนสิการ)ให้เห็นด้วยปัญญาจักขุอันคือปัญญา(สัมมาญาณ)เท่านั้น เพื่อให้เข้าใจถึงสภาวธรรมหรือธรรมชาติของกระบวนการทํางานของจิตอันต้องเป็นไปเช่นนี้เองเป็นธรรมดา จึงยังผลให้เกิดความทุกข์หรือก็คืออุปาทานทุกข์ขึ้นนั่นเอง จึงจักเกิดประโยชน์อันสูงสุดขึ้นได้ จึงมิใช่การเห็นเข้าใจโดยการน้อมเชื่อด้วยอธิโมกข์ หรือท่องจำอย่างคล่องแคล่วแต่ฝ่ายเดียว, แต่ต้องเป็นการเห็นที่หมายถึงความเข้าใจที่ประกอบด้วยปัญญา ที่ประกอบด้วยเหตุผลเท่านั้น คือ เห็นเข้าใจในการเกิด - ดับของเหตุปัจจัยต่างๆ อันเป็นไปตามสภาวธรรมชาติอันก่อให้เกิดทุกข์ขึ้นอย่างแจ่มแจ้ง อันจักยังผลให้เข้าใจในหลักอิทัปปัจจยตา อริยสัจอันมี ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค เข้าใจพระไตรลักษณ์ สติปัฎฐาน ๔ ได้อย่างถูกต้องถ่องแท้ เพราะเป็นผู้ที่มีดวงตาเห็นธรรมแล้วสมดังพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ "ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม" ตลอดจนใช้แก้ปัญหาต่างๆที่ก่อให้เกิดความทุกข์ได้อย่างมหาศาลเกินความคาดคิด นอกจากทำให้รู้ในเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดความทุกข์อย่างแจ่มแจ้งแล้ว เมื่อโยนิโสมนสิการจนเกิดธรรมสามัคคีอันแจ่มแจ้งแล้ว ย่อมทำให้เกิดนิพพิทาญาณความหน่ายจากการไปรู้ความจริงในเวทนา,ในการเวียนว่ายตายเกิดในภพชาติอันแสนเร่าร้อนเผาลนเป็นทุกข์ ฯ. เมื่อเกิดนิพพิทาความหน่ายจึงคลายกำหนัดหรือตัณหา จึงย่อมจางคลายจากทุกข์ได้ตามฐานะอันควรแห่งตน ไปจนถึงการดับสนิทไปแห่งทุกข์อันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของมวลมนุษย์ชาติ



ปฏิจจสมุปบาท มงกุฎแห่งธรรม

แก่นธรรมของธรรมทั้งหลายทั้งปวง
เพราะหลักธรรมทั้งหลายทั้งปวงล้วนดำเนินแอบแฝงอยู่ในปฏิจจสมุปบาทล้วนสิ้น แล้วจำแนกแตกธรรมในภายหลัง เพื่อโปรดเวไนยสัตว์ไปตามจริต สติ ปัญญา ฯ


วงจรปฏิจจสมุปบาท
ดังมีองค์ธรรม ที่ดำเนินเป็นเหตุปัจจัย สืบเนื่องสัมพันธ์กัน โดยย่อดังนี้

ประกอบด้วย ๑๒ องค์ธรรม เป็น ๑๑ องค์แห่งเหตุปัจจัย

๑. อวิชชาร่วมกับอาสวะกิเลสเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร
อวิชชา ความไม่รู้ตามความเป็นจริงแห่งธรรม ร่วมด้วยอาสวะกิเลสที่สั่งสมจดจำ จึงเป็นปัจจัยแก่กันและกัน จึงมี สังขารกิเลสเกิดขึ้น

๒. สังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ
สังขาร สิ่งปรุงแต่งทางใจ ตามที่เคยสั่งสม,อบรม,ประพฤติ,ปฏิบัติไว้แต่อดีต(อาสวะกิเลส)จึงทำให้เกิดการกระทําทางกาย,วาจา,ใจ เป็นปัจจัย จึงมี วิญญาณ ขึ้นรับรู้ อันเป็นไปตามธรรมของชีวิต

๓. วิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนาม-รูป
วิญญาณ กระบวนการรับรู้ของเหล่าอายตนะหรือทวารทั้ง ๖ ของชีวิต จึงรับรู้ในสังขารที่เกิดขึ้นนั้น เป็นปัจจัย จึงมี นาม-รูป

๔. นาม-รูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
นาม-รูป ทำให้รูปนามหรือขันธ์๕ที่มีอยู่แล้ว แต่นอนเนื่อง ครบองค์ของการทำงานตามหน้าที่ตนคือตื่นตัว เป็นปัจจัย จึงมี สฬายตนะ

๕. สฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
สฬายตนะ ตา,หู,จมูก,ลิ้น,กาย,ใจ เข้าทำงานตามหน้าที่แห่งตน เนื่องเพราะนาม-รูปครบองค์ตื่นตัวแล้ว เป็นปัจจัย จึงมี ผัสสะ

๖. ผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
ผัสสะ การประจวบกันของสฬายตนะ(อายตนะภายใน) & สังขาร(อายตนะภายนอก) & วิญญาณ ทั้ง๓ เป็นปัจจัย จึงมี เวทนา

๗. เวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
เวทนา การเสวยอารมณ์หรือความรู้สึกรับรู้ที่เกิดจากการผัสสะ เป็นสุขเวทนาบ้าง, ทุกขเวทนาบ้าง, อทุกขมสุขบ้าง เป็นปัจจัย จึงมี ตัณหา

๘. ตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
ตัณหา กามตัณหาในรูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส, ภวตัณหา-ความอยาก, วิภวตัณหา-ความไม่อยาก เป็นปัจจัย จึงมี อุปาทาน

๙. อุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
อุปาทาน ความยึดมั่น,ความถือมั่นในกิเลสหรือความพึงพอใจในตน,ของตนเป็นหลักสำคัญ เป็นปัจจัย จึงมี ภพ

๑๐. ภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
ภพ สภาวะของจิต หรือบทบาทที่ตกลงใจ อันเป็นไปตามอิทธิพลที่ได้รับจากอุปาทาน เป็นปัจจัย จึงมี ชาติ

๑๑. ชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา-มรณะ พรั่งพร้อมด้วย โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส หรืออาสวะกิเลสนั่นเอง
ชาติ อันคือ ความเกิด จึงหมายถึง การเริ่มเกิดขึ้นของกองทุกข์หรืออุปาทานทุกข์ ตามภพหรือสภาวะ,บทบาทที่ตกลงใจเลือกนั้น เป็นปัจจัยจึงมี ชรา-มรณะพร้อมทั้งอาสวะกิเลส

ชรา-มรณะ พร้อมทั้ง อาสวะกิเลส เมื่อมีการเกิด(ชาติ)ขึ้น ก็ย่อมมีการตั้งอยู่ระยะหนึ่งแต่อย่างแปรปรวน(ชรา) แล้วดับไป(มรณะ)เป็นธรรมดา ดังนี้

ชรา - ความเสื่อม ความแปรปรวน จึงหมายถึง ความแปรปรวนความผันแปร ความวนเวียนอยู่ในกองทุกข์ อันคือการเกิดอุปาทานขันธ์ ๕ ขึ้นและเป็นไปอย่างวนเวียนซํ้าซ้อน และเร่าร้อนเผาลนกระวนกระวายอย่างต่อเนื่อง

มรณะ - การดับ การตาย จึงหมายถึง การดับไปของทุกข์นั้นๆ อันพรั่งพร้อมกับการเกิดขึ้นเป็นอาสวะกิเลส - อันคือความจำ(สัญญา)ได้ในสิ่งที่ทำให้จิตขุ่นมัวหรือกิเลส ที่เกิดขึ้น จึงเป็นความจำเจือกิเลสที่อยู่ในสภาพนอนเนื่อง แอบหมักหมมหรือสร้างรอยแผลเป็นอยู่ในจิตหรือความจำ อันจักยังผลให้เกิดเป็นทุกข์ขึ้นอีกในภายภาคหน้าอย่างแน่นอน กล่าวคือ

อาสวะกิเลส - ความจำเจือกิเลสที่ตกตะกอนนอนก้น นอนเนื่องอยู่ในจิต ซึ่งเมื่อผุดขึ้นมาเองโดยธรรมชาติ หรือเกิดแต่เจตนาขึ้น หรือเกิดแต่การกระตุ้นเร้าของการกระทบสัมผัส(ผัสสะ)กับอารมณ์ใดก็ตามที ก็จะไหลไปซึมซาบย้อมจิต ซึ่งจะไปเป็นเหตุปัจจัยร่วมกับอวิชชาอีกครั้ง ดังเหตุปัจจัยแรก ดังนี้

๑. อวิชชาร่วมกับอาสวะกิเลสเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร

จึงหนุนเนื่องขับดันวงจรของความทุกข์ให้ดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายต่อไปในภายภาคหน้า จึงก่อให้เกิดการเวียนว่ายตายเกิดในกองทุกข์ หรือสังสารวัฏไม่รู้จักจบสิ้นไปตลอดกาลนาน


อาสวะกิเลส

อาสวะกิเลส เป็นผลพวงหรือผลงานที่เกิดขึ้นเองโดยธรรม(ธรรมชาติ) จะไม่ให้เกิด ไม่ให้มีก็ไม่ได้ เพราะเป็นสัญญาความจำชนิดหนึ่งจึงทำงานโดยธรรมของชีวิต อันเป็นขันธ์หนึ่งใน ๕ ของชีวิต(เบญจขันธ์หรือขันธ์ ๕) เพียงแต่เฉพาะเจาะจงไปว่า เป็นสัญญาหรือความจำที่เจือกิเลส ชนิดที่นอนเนื่อง ที่พร้อมที่จะซึมซาบย้อมจิต เมื่อกระทบกับอารมณ์ หรือก็คือความจำ(สัญญา)ที่แฝงหรือประกอบด้วยกิเลส พระองค์ท่านจำแนกออกเป็น โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส

โสกะ - ทำให้เกิดกิเลสสิ่งขุ่นมัวที่นอนเนื่องหมักหมมอยู่ในจิต อันเกิดจาก ความโศก, ความเศร้าใจ, ความแห้งใจ จากความทุกข์กระทบ เช่น ความเสื่อม ความสูญเสีย เช่น เสื่อมทรัพย์ เสื่อมยศ เสื่อมลาภ เสื่อมญาติ เสื่อมสุข เสื่อมสรรเสริญ ฯลฯ อันจักยังให้เกิดองค์ธรรมสังขาร(สังขารกิเลส)ต่างๆนาๆขึ้นในภายหน้า คือ เกิดการกระทำต่างๆทั้งทางกาย วาจา และใจ ในภายหน้าที่จะก่อให้เป็นทุกข์ขึ้นอีก

ปริเทวะ - ทำให้เกิดกิเลสสิ่งขุ่นมัวที่นอนเนื่องหมักหมมอยู่ในจิต อันเกิดจากความจำได้ในทั้งสุขและทุกข์แต่อดีต จึงมีความครํ่าครวญ รํ่าไร รําพัน อาลัย คํานึงถึง คิดถึง คือการโหยหาในสุข ในสิ่งที่ชอบ ในสิ่งที่รัก ในเพศสัมผัส ในรสชาดอาหาร ในความสุข สนุกแต่ในอดีต ฯลฯ. ปริเทวะจึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าสุขก็คือทุกข์อย่างละเอียด, หรือการครํ่าครวญในทุกข์ คือพิรี้พิไร ครํ่าครวญ บ่นถึงทุกข์ สิ่งที่ไม่ชอบ ที่เกลียด อันได้เคยเกิด เคยมี เคยเป็นทุกข์แต่ในอดีต, อันยังให้เกิดสังขารปรุงแต่งต่างๆนาๆที่เป็นสังขารกิเลสอันก่อทุกข์ในภายหน้า

ทุกข์ - ทำให้เกิดกิเลสสิ่งขุ่นมัวที่นอนเนื่องหมักหมมอยู่ในจิต อันเกิดมาจาก ความทุกข์อันเกิดมาแต่กาย เสวยอารมณ์อันไม่ดีที่เกิดแต่กายสัมผัส เช่นความป่วยไข้ ความเจ็บปวด ความกลัว ความกังวลในความเจ็บ ป่วยไข้ต่างๆนาๆ กลัวความแก่อันเกิดแต่กาย กลัวความตาย อันยังให้เกิดสังขารปรุงแต่งต่างๆนาๆที่จะก่อให้เป็นทุกข์ในภายหน้า

โทมนัส - ทำให้เกิดกิเลสสิ่งขุ่นมัวที่นอนเนื่องหมักหมมอยู่ในจิต อันเกิดมาจาก ความทุกข์ใจอันเกิดมาแต่ความไม่สําราญทางจิต, ทุกข์อันเกิดแต่ใจ, เสวยอารมณ์อันไม่ดีที่เกิดแต่ใจ(มโนสัมผัส) ความไม่ได้ตามปรารถนา ความคิดนึกปรุงแต่งฟุ้งซ่าน อันยังให้เกิดสังขารปรุงแต่งต่างๆนาๆที่จะก่อให้เป็นทุกข์ในภายหน้า

อุปายาส - ทำให้เกิดกิเลสสิ่งขุ่นมัวที่นอนเนื่องหมักหมมอยู่ในจิต อันเกิดมาจาก ความขุ่นข้อง, ความคับแค้น, ความขัดเคืองใจ, อาฆาตพยาบาท, ความกลัว, ความไม่ได้ดังใจ อันเป็นกิเลสสิ่งขุ่นมัวที่หมักหมมไว้(อาสวะกิเลส) อันยังให้เกิดองค์ธรรมสังขารปรุงแต่งต่างๆนาๆที่จะก่อให้เป็นทุกข์ในภายหน้า

อาสวะกิเลสอันจักต้องเกิดร่วมด้วยกับชรา-มรณะทุกครั้งทุกทีอันเป็นไปตามธรรมหรือสภาวธรรม(ธรรมชาติ)อันยิ่งใหญ่ของชีวิต เป็นผลข้างเคียงอันต้องพึงเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เพราะเป็นความจําของชีวิต(สัญญา)อย่างหนึ่ง อันเป็นหนึ่งในขันธ์ ๕ นั่นเอง แต่เมื่อร่วมด้วยกับอวิชชาจึงเป็นปัจจัยให้เกิดแรงหนุนเนื่องขับดันให้วงจรปฏิจจสมุปบาทหรือวงจรของทุกข์ดําเนินต่อเนื่อง จึงเป็นปัจจัยให้เกิด ....สังขารการกระทำต่างๆ..... .....เป็นไปตามวงจรปฏิจสมุปบาทอย่างต่อเนื่อง อย่างไม่รู้จักจบสิ้น, จึงเป็นแรงหนุนเนื่องให้วงจรของทุกข์เกิดการหมุนเวียนอย่างต่อเนื่องเป็นภวจักรหรือวงจรแห่งสังสารวัฏ อันคือการเวียนว่ายตายเกิดในภพในชาติตั้งแต่อดีตชาติจวบจนปัจจุบันชาตินี้ และจะยังคงหมุนเวียนสืบเนื่องต่อไปอีกเช่นนี้ต่อไปในภายภาคหน้า

เหล่านี้คืออาสวะกิเลส คือกิเลสหมักหมมที่นอนเนื่องอยู่ ซึ่งจักไหลซึมซ่านไปย้อมจิตเมื่อประสบอารมณ์ต่างๆ ซึ่งต้องเกิดร่วมมาด้วยกับชรา-มรณะทุกครั้งทุกทีไปโดยธรรมชาติ ซึ่งจักเป็นเหตุปัจจัยให้จิตขุ่นมัวเศร้าหมองเพราะความจำแต่อดีตที่แฝงกิเลส ไปเป็นปัจจัยที่ กระตุ้น เร่งเร้า เป็นรากเหง้า หรือเชื้อทุกข์ หนุนเนื่องขับดันให้ดำเนินไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาท กล่าวคือเป็นเหตุปัจจัยร่วมกับ อวิชชา จึงยังให้เกิดหรือมี สังขาร คิด,พูด,กระทำ ตามที่ได้เคยสั่งสม อบรมไว้ขึ้นใหม่อีกต่อไปเรื่อยๆ ......เป็นวงจรใหม่ของทุกข์ เป็นแรงหนุนให้หมุนเวียนต่อเนื่อง ถ้าพิจารณาโดยละเอียดโดยการย้อนระลึก ดังเช่น ลองสังเกตุหรือย้อนระลึกดูอดีต เมื่อเกิดอารมณ์โกรธขึ้นอย่างรุนแรง จะเห็นว่า สักระยะหนึ่งความโกรธก็จะค่อยๆดับไป แต่ในช่วงแรกนั้นอารมณ์ยังขุ่นมัว กรุ่นๆ หงุดหงิด ฟุ้งซ่าน รำคาญใจกินเวลาอีกนาน (ยังมีอาการออกมาใหัรู้เพราะทุกข์ยังไม่ดับสนิทคือยังเกิดทุกข์อุปาทานขันธ์๕ปรุงแต่งต่างๆนาๆ ที่ เกิดๆ ดับๆ ในชรา(การเปลี่ยนแปลง,การแปรปรวน) กล่าวคือยังเกิดความคิดนึกปรุงแต่งในเรื่องนั้นเป็นช่วงๆหรือตลอดเวลา จนเวลาผ่านไปจนทุกข์นั้นได้ดับแล้ว(มรณะ) จิตราบเรียบไม่เป็นทุกข์ไม่ครุ่นคิดคำนึงถึงทุกข์นั้นอีกแล้ว, แต่เมื่อมีใครพูดถึงคือเข้าทางอายตนะ(หู) หรือเกิดสังขารคิดคือนึกคิดตามที่สั่งสมหรือตามประสบการณ์ในเรื่องทุกข์ดังกล่าวผุดขึ้นมา ความทุกข์เรื่องนั้นเกิดขึ้นใหม่ได้อีกทันที เหตุเนื่องเพราะอาสวะกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตอันคือเหล่า โสกะ-หดหู่ใจ เสียใจ, ปริเทวะ-คร่ำครวญ โหยหา อาลัย, ทุกข์-ทุกข์ทางกาย, โทมนัส- ทุกข์ใจ ทุกข์อันเกิดแก่ใจ, อุปายาส - ขุ่นข้อง คับแค้นใจ เมื่อถูกกระตุ้นเร้าหรือเจตนาขึ้นมาก็ตามที เมื่อเกิดขึ้นหรือผุดขึ้นแล้วก็จะเป็นเหตุปัจจัยแก่กันและกันร่วมกับอวิชชา คือ เกิดการทำงานขึ้นทันที เกิดการดําเนินไปตามวงจรของการเกิดขึ้นแห่งทุกข์อีกครั้ง, อาสวะกิเลสเป็นกิเลสที่ละเอียดมากแทบไม่รู้ตัวว่ามีอยู่ กำจัดได้ยากต้องใช้อาสวักขยญาณอันเป็นญาณหรือปัญญาญาณหรือความรู้ความเข้าใจ(ญาณ)ที่เกิดในขั้นสุดท้ายเท่านั้น ที่จักกำจัดอาสวะกิเลสเป็นการสิ้นไปอย่างถาวร กลายเป็นเพียงสัญญา(ความจำได้หมายรู้)ที่ไม่ร้อยรัดด้วยกิเลสตัณหาอีกต่อไป

ข้อสังเกตุเพื่อการโยนิโสมนสิการปฏิจจสมุปบาทนี้ จะพบความจริงว่าทุกครั้งทุกทีที่มีไม่ว่าจะเป็นทุกข์หรือสุขทางโลกๆก็ตามที เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปอยู่ตลอดเวลานั้น จะมีอาสวะกิเลสเกิดขึ้นร่วมด้วยทุกครั้งทุกทีไป หมายความว่าในทุกขณะจิตของปุถุชนที่ล้วนยังมีทุกข์และสุขเกิดๆดับๆอยู่เนืองๆนั้น ก็ย่อมมีอาสวะกิเลสสั่งสม หมักดอง นอนเนื่อง ซึมซ่าน ย้อมจิตเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน เป็นธรรมดาและจะห้ามไม่ให้เกิดไม่ให้มีก็ไม่ได้ และเป็นไปโดยไม่รู้ตัวด้วยอวิชชาอีกด้วย และในแนวทางปฏิจจสมุปบาทท่านจัดชรา-มรณะและอาสวะกิเลสว่าเป็น สมุทัยเหตุแห่งทุกข์ คือเป็นแหล่งพลังสำคัญในการกระตุ้นหรือขับเคลื่อนวงจรการเกิดขึ้นของทุกข์ให้เคลื่อนหมุนเวียนเป็นวงจรไปตลอดกาลนาน (อ่านรายละเอียดของอาสวะกิเลสเพิ่มเติมภายหลังได้ที่นี่อาสวะกิเลส และสัญญา)


การเกิดขึ้นแห่งทุกข์

ปฏิจจสมุปบาท เป็น "ปฎิจจสมุปบันธรรม" อันคือ ธรรมหรือสิ่งที่เกิดแต่เหตุปัจจัยมาประชุมเป็นปัจจัยแก่กันและกัน ปัจจัยในปฏิจจสมุปบาท หมายถึง เหตุหรือสิ่งที่จําเป็นต้องมี เพื่อยังให้เกิดอีกสิ่งหนึ่ง, อุปมาดั่งเมล็ดพืชที่จะงอกงามขึ้นได้ จําเป็นต้องมีเหตุอันคือดินและนํ้า เป็นปัจจัยในการงอกขึ้นเป็นต้นฉันใด, เหตุแห่งทุกข์ทั้งหลายจึงเปรียบได้ดั่งเมล็ดพืช อันจึงจําต้องอาศัยเหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยดังที่แสดงในวงจรปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเปรียบได้ดังดินและนํ้า มาเป็นปัจจัยจึงจักเติบโตขึ้นเป็นความทุกข์ได้ฉันนั้น เมื่อโยนิโสมนสิการโดยแยบคาย จะพบว่าเมื่อเมล็ดพืช ขาดเหตุปัจจัยคือดินและนํ้า ย่อมไม่สามารถงอกเป็นต้นได้ฉันใด เหตุแห่งทุกข์ก็เช่นกันฉันนั้น จึงทําให้เหตุแห่งทุกข์นั้นแม้ยังคงมีอยู่ เฉกเช่นเมล็ดพืชที่ย่อมมีอยู่อันเป็นไปตามธรรม(ธรรมชาติ) แต่เมื่อขาดเหตุปัจจัยอันคือดินและนํ้าย่อมไม่สามารถเจริญเติบโตขึ้นได้ ความทุกข์ก็เป็นเฉกเช่นนั้น เมื่อขาดเหตุปัจจัยย่อมไม่สามารถเติบโตกลับกลายไปเป็นความทุกข์ที่เร่าร้อนเผาลนๆได้(ทุกข์อุปาทาน), จึงเกิดขึ้นและเป็นไปดังคํากล่าวของพระอริยะเจ้า

เหตุแห่งทุกข์นั้นมีอยู่ แต่ไม่มีผู้รับผลทุกข์นั้น

หรือ

เหตุแห่งทุกข์นั้นยังคงมีอยู่เป็นธรรมดา เพราะเป็นสภาวธรรม(ธรรมชาติ) แต่ทําให้เป็นอุปาทานทุกข์ไม่ได้

ขณะอ่านต้องการดูวงจรปฏิจจสมุปบาทประกอบการพิจารณาให้คลิกที่ มุมขวาล่างของจอภาพ

อ่านครั้งละสั้นๆแต่ละองค์ธรรมก็ได้ แต่พิจารณาหลายๆสิบครั้งแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้กระจ่าง สว่าง

และคิดพิจารณา(ธัมมวิจยะ) ไล่ลําดับกระบวนธรรม แบบหาเหตุหาผล

ให้เห็นสภาวธรรม(ธรรมชาติ)ของกระบวนจิตทั้งหมด จึงจักเกิดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง

การอ่านแม้ด้วยความเพียร แล้วเกิดความเข้าใจในช่วงแรกๆ จักยังเป็นความเข้าใจในแบบทางโลกๆ

อันจักยังมิสามารถหยั่งลงสู่แก่นของธรรมได้จริงๆ

ต้องโยนิโสมนสิการเท่านั้นจึงจะบังเกิดความเข้าใจในสภาวธรรมได้จริง

จนเข้าใจว่ามันเกิดขึ้นและเป็นไปเยี่ยงนั้นด้วยเหตุด้วยผลจริง ด้วยตนเองในทุกองค์ธรรม

ไม่ใช่การท่องจำหรือจดจำได้ อย่างคล่องแคล่วในองค์ธรรมต่างๆ

และต้องไม่ใช่ด้วยการน้อมเชื่อด้วยอธิโมกข์ในข้อเขียน หรืออธิโมกข์ในพระศาสนาหรือองค์พระศาสดา

การทํางานของจิตตามวงจรปฏิจจสมุปบาท การเกิดขึ้นแห่งทุกข์ จึงดำเนินเกิดขึ้นและเป็นไปดังนี้

แสดงวงจรปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายสมุทยวาร เป็นลำดับขั้น



//www.nkgen.com/patitja1.htm



Create Date : 22 ตุลาคม 2553
Last Update : 22 ตุลาคม 2553 21:43:12 น. 1 comments
Counter : 1138 Pageviews.

 
สาธุกับธรรมคะ


โดย: กิ่งไม้ไทย วันที่: 28 ตุลาคม 2553 เวลา:21:40:32 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สดายุ...
Location :
France

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 151 คน [?]









O ใช่แน่หรือ ? .. O






O หรือธรรมชาติผ่านเวียน .. คอยเปลี่ยนโลก ?
ทั้งสุขโศกเร่งรุดยากหยุดไหว
หรือกำหนดยุดยื้อจากมือใด
จัดการให้แปลกแยกได้แทรกตัว
O หรือพบกันครั้งแรก, ความแตกต่าง
ถูกบ่มสร้างเหมาะควรอย่างถ้วนทั่ว
แต่ตา-รูป .. สบกัน, ที่สั่นรัว-
แรกที่หัวใจคน .. เริ่มอลเวง
O ละห้อยเห็นในยามห่างนามรูป
แต่ละวูบเนรมิตคอยพิศเพ่ง
งามทุกงามจารจรดเยี่ยงบทเพลง
พร้องบรรเลงด้วยมือช่วยยื้อยุด
O ย่อมเป็นมือสร้างเหตุแทรกเจตนา
ผ่านรูปหน้าอำนวยเข้าฉวยฉุด
ร้างไร้ความกริ่งเกรง, หากเร่งรุด
แทรกลงสุดหัวใจเพื่อไขว่คว้า
O แน่นอนว่ายากเว้น .. อยากเห็นรูป
และชั่ววูบวาบเดียวที่เหลียวหา
หวังทุกหอมรินไหลผ่านไปมา
ทั้งหางตาที่ชม้อยเหลือบคอยปราย
O โลกย่อมงามพร่างแพร้วเมื่อแผ้วผ่าน
ด้วยอ่อนหวานอ่อนโยนที่โชนฉาย
แม้นมิอาจโยกคลอนให้ผ่อนคลาย
ก็อย่าหมายโยกคลอนให้ผ่อนลง
O จะกี่ครั้งกี่ครา, ความอาวรณ์
เวียนรอบตอนจับจูงจนสูงส่ง
ด้วยรูปนามเทียบถวัลย์อย่างบรรจง
แตะแต้มลงผ่านจริตจนติดตรึง
O ความรู้สึกในอกย่อมยกตัว
หวานถ้วนทั่ว, รสประทิ่น, ถวิลถึง
เหมือนรุมล้อมหยอดย้ำลงคำนึง
ให้เสพซึ้งรสงามของ .. ความรัก
O วัฏฏจักรแห่งธรรม .. ย่อมย่ำผ่าน
เข้าขัด-คาน จับจูงความสูงศักดิ์
ของอาวรณ์หลบเร้น เพื่อเว้นวรรค
ที่เข้าทักทายทั่วทั้งหัวใจ
O หรือแท้จริงตัวตนถูกค้นพบ
การบรรจบ .. รูป-จริต แล้วพิสมัย
ปรารมภ์ของฝั่งฝ่าย .. นั้น-ฝ่ายใด
เพิ่งยอมให้เรื่องเฉลย .. ยอมเผยความ ?



Friends' blogs
[Add สดายุ...'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.