กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
พฤษภาคม 2565
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
space
space
7 พฤษภาคม 2565
space
space
space

เจริญสมาธิตามวิมังสา




    ๔. วิมังสา    ความสอบสวนไตร่ตรอง   ได้แก่   การใช้ปัญญาพิจารณาหมั่นใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผลและตรวจสอบข้อยิ่งหย่อน เกินเลย บกพร่อง หรือขัดข้อง เป็นต้น ในกิจที่ทำ รู้จักทดสอบ และคิดค้นหาทางแก้ไขปรับปรุง 

   ข้อนี้เป็นการใช้ปัญญาชักนำสมาธิ ซึ่งจะเห็นได้ไม่ยาก  คนมีวิมังสา  ชอบคิดค้นหาเหตุผล ชอบสอบสวนชอบทดลอง เมื่อทำอะไร ก็คิดพิจารณาทดสอบไป เช่น คิดว่า ผลนี้เกิดจากเหตุอะไรทำไมจึงเป็นอย่างนี้ ผลคราวนี้เกิดจากปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบเหล่านี้เท่านี้  ถ้าชักองค์ประกอบนี้ออกเสีย จะเป็นอย่างนี้   ถ้าเพิ่มองค์ประกอบนี้เข้าไปแทน จะเกิดผลอย่างนี้ ลองเปลี่ยนองค์ประกอบนั้นแล้ว ไม่เกิดผลอย่างที่คาดหมาย เป็นเพราะอะไร จะแก้ไขที่จุดไหน ฯลฯ

    ในการปฏิบัติธรรม วิมังสกชนก็ชอบพิจารณาใคร่ครวญสอบสวน เช่นว่า ธรรมข้อนี้ๆ มีความหมายอย่างไร มีความมุ่งหมายอย่างไร ควรใช้ในโอกาสอย่างใด ควบคู่สัมพันธ์กับข้อธรรมอื่นข้อใด ปฏิบัติธรรมคราวนี้ ไม่ค่อยก้าวหน้า อินทรีย์ใดอ่อนไป ควรใช้วิธีอย่างใด ควรเน้นความหมายด้านไหน เป็นต้น

   การคิดหาเหตุผลตรวจตรองสอบสวนทดลองอย่างนี้ ย่อมช่วยรวมจิตให้คอยกำหนดและติดตามเรื่องที่พิจารณาติดแจตลอดเวลา เป็นเหตุให้จิตแล่นดิ่งแน่วไปกับเรื่องที่พิจารณา ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก และมีกำลัง   เรียกว่า   เป็นวิมังสาสมาธิ ซึ่งก็จะมีปธานสังขาร คือความเพียรสร้างสรรค์เกิดมาด้วย เช่นเดียวกับสมาธิข้ออื่นๆ

 

   ความจริง อิทธิบาท ๔ อย่างนี้  เกื้อหนุนกัน และมักมาด้วยกัน เช่น เกิดฉันทะ มีใจรักแล้ว ก็ทำให้พากเพียร เมื่อพากเพียร ก็เอาใจจดจ่อใฝ่ใจอยู่เสมอ และเปิดช่องให้ใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรอง แต่ที่แยกเป็นแต่ละข้ออย่างนี้ ก็ด้วยถือเอาภาวะที่เด่นเป็นใหญ่เป็นตัวนำ เป็นตัวชักจูงข้ออื่นๆ ในแต่ละกรณี  เช่นว่า

   เมื่อฟังธรรมด้วยกัน   คนหนึ่งชอบศึกษาธรรม ฟังด้วยความรักความพอใจในธรรม อยากรู้อยากเข้าใจธรรมให้ยิ่งๆขึ้นไป (หรือแม้เพียงแต่ชอบใจธรรมที่แสดงในคราวนั้น หรือชอบผู้แสดงธรรมคราวนั้น) จึงฟังด้วยจิตใจแน่วแน่ ก็มีฉันทะ เป็นตัวเด่น ชักนำสมาธิ และกุศลธรรมอื่นๆ

   อีกคนหนึ่ง มีนิสัย หรือแม้แต่มีความรู้สึกเกิดขึ้นในขณะนั้นว่า เมื่อพบอะไรที่ควรทำ ก็ต้องสู้ ต้องเอาชนะ ต้องเข้าเผชิญ และต้องทำให้สำเร็จ จึงฟังด้วยความรู้สึกว่าเป็นสิ่งท้าทาย จะต้องพยายามเข้าใจให้ได้ ก็มีวิริยะ เป็นธรรมเด่น

    อีกคนหนึ่ง มีนิสัยเอาใจใส่รับผิดชอบ ไม่ว่าอะไรที่ตนเกี่ยวข้อง ก็จะต้องใส่ใจเอาจิตจดจ่อติดตาม จึงตั้งใจฟัง เอาจิตติดตามเนื้อความนั้น ก็มีจิตตะ เป็นใหญ่

   อีกคนหนึ่ง คิดจะตรวจสอบว่า ธรรมที่แสดงนั้น จริงหรือไม่ ดีหรือไม่ หรือจะค้นหาเหตุผลในธรรมที่ฟัง ฟังไปก็คิดใคร่ครวญพิจารณาสอบสวนไป ใจจึงแน่วแน่อยู่กับธรรมที่ฟัง ก็มีวิมังสา เป็นใหญ่

   ด้วยเหตุนี้   บางแห่งท่านจึงเรียกอิทธิบาท ๔ นี้ว่า   เป็นอธิบดีหรืออธิปไตย ๔ (อภิ.สํ.34/193/79 ฯลฯ)   โดยกำหนดเอาภาวะที่เป็นใหญ่   เป็นหัวหน้า   ในกรณีนั้นๆ



   สาระของการสร้างสมาธิตามหลักอิทธิบาท ก็คือ เอางาน สิ่งที่ทำ หรือจุดหมายที่ต้องการ เป็นอารมณ์ของจิต  แล้วปลุกเร้าระดมฉันทะ วิริยะ จิตตะ หรือวิมังสา  เข้านำหนุน สมาธิก็เกิดขึ้น และมีกำลังแข็งกล้า ช่วยให้ทำงานอย่างมีความสุข และบรรลุผลสำเร็จด้วยดี

   โดยนัยนี้ ในการปฏิบัติธรรมก็ดี ในการเล่าเรียนศึกษา หรือประกอบกิจการงานอื่นใดก็ดี  เมื่อต้องการสมาธิ   เพื่อให้กิจที่ทำนั้นดำเนินไปอย่างได้ผลดี  ก็พึงปลุกเร้าและชักจูงอิทธิบาท ๔ อย่างนี้ ให้เกิดผลเป็นองค์ธรรมเด่นขึ้นมาสักข้อหนึ่ง แล้วสมาธิ ความสุขสบายใจ และการทำงานที่ได้ผล ก็เป็นอันหวังได้เป็นอย่างมากว่าจะเกิดมีตามมาเอง พร้อมกันนั้น การฝึกสมาธิ หรือการปฏิบัติธรรมส่วนหนึ่ง ก็จะเกิดมีขึ้นในห้องเรียน ในบ้าน ในทุ่งนา ในที่ทำงาน และในสถานที่ทุกๆแห่ง



   ตัวอย่างเช่น   เมื่อจะสอนวิชาใดวิชาหนึ่ง หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ครูก็ทำตนเป็นกัลยาณมิตร โดยอาจชี้แจงให้นักเรียนเห็นคุณค่าความดีของวิชานั้น หรือเรื่องราวนั้น ให้มองเห็นว่า วิชานั้นมีประโยชน์อย่างไร อาจเป็นประโยชน์ของตัวผู้เรียนเองเกี่ยวกับการหางานทำ การได้รับผลตอบแทน หรือความเจริญก้าวหน้าในชีวิต เป็นต้น (ใช้โลภะ เป็นปัจจัยแก่ฉันทะ) ก็ได้ หรือถ้าจะให้ดี ควรเป็นประโยชน์ของส่วนรวม เช่น ความเกื้อกูลแก่เพื่อนมนุษย์ (ฉันทะบริสิทธิ์) ก็ได้ จนทำให้นักเรียนเกิดความรักความพอใจ อยากเรียนเพราะอยากรู้วิชานั้น นี่เรียกว่าปลุก ฉันทะ ให้เกิดขึ้น

   อีกอย่างหนึ่ง อาจพูดปลุกเร้าในแง่ที่เป็นสิ่งท้ายทายสติปัญญาความสามารถ กระตุ้นความเข้มแข็งคึกคักที่จะเรียน หรือกล่าวถึงตัวอย่างการกระทำสำเร็จของผู้อื่น ให้เกิดกำลังใจสู้ เป็นต้น เรียกว่า ปลุกเร้า วิริยะ ขึ้น

   อีกอย่างหนึ่ง  อาจพูดปลุกเร้าในแง่ความรู้สึกเกี่ยวกับหน้าที่ หรือความรับผิดชอบ ให้เห็นความเกี่ยวข้องและความสำคัญของเรื่องนั้น  ต่อชีวิต หรือต่อสังคม เช่น เรื่องเกี่ยวกับภัยอันตราย และความปลอดภัย เป็นต้น ซึ่งแม้นักเรียนจะมิได้ชอบ  มิได้รักเรื่องนั้น  แต่ก็จะเอาใจใส่ตั้งจิตจดจ่อเรียนอย่างแน่วแน่ เรียกว่า ทำให้เกิด จิตตะ

   อีกอย่างหนึ่ง ครูอาจสอนตามแนวของการสำรวจตรวจสอบสืบสวนทดลอง หรือค้นคว้าหาเหตุผล เช่น ตั้งเป็นปัญหา หรือคำถาม เป็นต้น ซึ่งทำให้นักเรียนต้องใช้วิมังสา นักเรียนก็จะเรียนอย่างมีสมาธิได้เหมือนกัน เรียกว่าใช้วิธีวิมังสา

   ยิ่งถ้าครูจับหลักลักษณะนิสัยของนักเรียนได้  แล้วปลุกเร้าอิทธิบาทข้อที่ตรงกับลักษณะนิสัยอย่างนั้น ก็ยิ่งดี หรืออาจปลุกอิทธิบาทหลายๆข้อ ไปพร้อมกันก็ได้

   ในขณะเดียวกัน  ผู้เรียน หรือผู้ทำงานที่ฉลาด  ก็อาจใช้โยนิโสมนสิการปลุกเร้าอิทธิบาทขึ้นมาใช้สร้างผลสำเร็จได้ด้วยตนเอง


เอาพอเห็นเค้าเท่านี้ (769) 




 

Create Date : 07 พฤษภาคม 2565
0 comments
Last Update : 18 มกราคม 2567 17:39:33 น.
Counter : 266 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space