happy memories
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2556
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
5 ธันวาคม 2556
 
All Blogs
 
ตามรอยพระบาทสู่ "วัยเยาว์ของพระเจ้าอยู่หัว" (๑)







อาศิรวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๖


โอมศิระประณพน้อมมหาบพิตร

องค์เอกธรรมทศพิธพิสิฐศันสน์

ด้วยเดชะพระบารมีทวีวัน

ทั่วเขตขัณฑ์ไทยเขษมเปรมปรีดา

ลุแปดสิบหกพระพรรษฉัตรมาศ

สรวมอำนาจเทพเทวัญทุกชั้นฟ้า

ถวายพระพรเถลิงบุญสุนทรา

แด่ พ่อ ปวงประชาทรงพระสำราญเทอญ


ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมของเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก
ศากุน กาญจนประดิษฐ์ ร้อยกรองถวาย




เพลงพระราชนิพนธ์ แสงเทียน




เฮ้อออ นึกว่าจะอัพบล็อกถวายพระพรไม่ทันซะแล้ว ทุกปีในวันเฉลิมฯ ของทั้งสองพระองค์จะตั้งใจเลยว่าต้องเขียนบล็อกถวายพระพร ปีนี้เป็นโอกาสอันสำคัญ ขออนุญาตจัดเต็ม ไม่ได้อัพแค่บล็อกเดียว มีเรื่องที่อยากจะอัพตั้งแต่ปีที่แล้วแต่ไม่มีเวลาเขียน มารวบยอดอัพให้อ่านปีนี้ เป็นเรื่องน่าสนใจที่คิดว่าคงถูกใจเพื่อน ๆ แน่ บล็อกแรกอัญเชิญพระราชประวัติเมื่อครั้งในหลวงทรงพระเยาว์ที่อ่านเจอในสกุลไทย เนื้อหามีทั้งหมด ๓ ตอน ผู้เขียนเดินทางไปตามรอยพระบาทราชสกุลมหิดลเมื่อครั้งที่ประทับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ค้นคว้าแบบละเอียดละออ พร้อมพระบรมฉายาลักษณ์และภาพถ่ายที่หาชมได้ยาก แต่ละตอนค่อนข้างยาวมาก แต่เรื่องเกี่ยวกับในหลวงแล้ว เพื่อน ๆ คงเหมือนเรา ที่อ่านได้ไม่เคยเบื่อเลยค่ะ


เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ขอน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อม ขอถวายพระพรชัยมงคล ถวายเป็นราชสักการะ ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย พระสยามเทวาธิราช เทวาภินิหารทั้งปวง ได้โปรดอภิบาล ดลบันดาลให้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงพระเกษมสำราญ มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน ปราศจากโรคาพยาธิภัยพิบัติ ขอจงทรงพระเจริญ ถึงพร้อมด้วยจตุรพิธพรชัยทุกประการเทอญ



ฑีฆายุโก โหตุ มหาราชา
ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

ข้าพพระพุทธเจ้า บล็อกเกอร์ไฮกุ





ช่วงนี้เป็นวันเฉลิมฯ มีทั้งงานที่จัดเฉลิมฉลองและงานิทรรศการอยู่หลายงาน คลิกเข้าไปตามข่าวได้ที่นี่ค่ะ

เสพงานศิลป์ ๖๘
เสพงานศิลป์ ๖๙



บล็อกเสพงานศิลป์ล่าสุด

เสพงานศิลป์ ๗o



บล็อกผ่านตามาตรึงใจของคุณปอนวันอาทิตย์ที่ผ่านมาค่ะ

สายหมอกและดอกไม้














เยือนสวิส ย้อนวันวาน
ตามรอยพระบาทสู่ "วัยเยาว์ของพระเจ้าอยู่หัว"
(๑)
เขียนโดย พิชามญชุ์



เปียโนไม้สีน้ำตาลยี่ห้อ Carl Hards, Stuttgart หลังนี้ยังคงความคลาสสิคงดงามด้วยเนื้อไม้ที่วาววับจากการดูแลรักษาอย่างดี แม้จะมีอายุไม่ต่ำกว่า ๙o ปีแล้ว ครั้งหนึ่งเปียโนหลังนี้ได้ถูกขายให้แก่ร้านเปียโนของครอบครัว Laurent ในเมืองโลซานน์ เพื่อจะพบว่านี่คือเปียโนที่มีคุณค่า และมีความหมายอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยและคนไทย





พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อทรงพระเยาว์
ที่สถานรับเลี้ยงเด็กชอง โซเลย์ หลังจากเสด็จถึงเมืองโลซานน์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖



เป็นไปได้ว่าบทเพลงพระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เราเคยได้ยินได้ฟังตั้งแต่เกิดจนถึงบัดนี้ อาจมีต้นกำเนิดจากเปียโนหลังนี้...


ข้อความภาษาฝรั่งเศสที่ปรากฏอยู่ด้านในฝาครอบเปียโนหลังนี้มีความหมายว่า


"เปียโนหลังนี้อยู่ในถิ่นพำนักของกษัตริย์แห่งสยาม ตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๔๗๗ ถึงเดือนกรกฎาคม ๒๔๗๘"


ข้อความตรงนี้ตรงกับหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งซึ่งเป็นภาพของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อทรงพระเยาว์ ทรงฉายกับเปียโนหลังนี้ปรากฎในหนังสือ "เจ้านายเล็ก ๆ ยุวกษัตริย์" ที่ระบุไว้ว่า ในปีนั้นมีข่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ หนังสือพิมพ์ในสวิตเซอร์แลนด์ลงข่าวว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล (พระยศขณะนั้น) อาจจะเป็นผู้สืบราชสมบัติต่อไป ทำให้นักหนังสือพิมพ์ได้พยายามสืบเสาะหาว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ประทับอยู่ที่ใดในสวิตเซอร์แลนด์ จนกระทั่งสืบพบและขอประทานพระอนุญาตฉายพระรูป โดยฉายขณะที่ประทับทรงเปียโน ภาพถ่ายนี้ฉายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ โดยช่างภาพของหนังสือพิมพ์จากลอนดอน





เปียโนยี่ห้อ Carl Hardt, Stutgart
ซึ่งในปัจจุบันบริษัทนี้เลิกผลิตเปียโนไปแล้ว



เปียโนหลังนี้จึงถือได้ว่าเป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและพระอนุชา (พระยศในขณะนั้นของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช) ได้ทรงศึกษาในขณะทรงพระเยาว์ เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ ๙ และ ๗ พรรษาตามลำดับ ต่อมาร้านเปียโนของครอบครัว Laurent ในเมืองโลซานน์ได้รับซื้อเปียโนหลังนี้เอาไว้ เมื่อเจ้าของร้านสำรวจสภาพการใช้งานก็พบข้อความขีดเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสอยู่ด้านในฝาครอบ ครอบครัว Laurent จีงได้นำมามอบให้สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบิร์น เมื่อวันที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔o และเก็บรักษาไว้ที่นั่นจนบัดนี้


ปัจจุบันเปียโนยี่ห้อนี้เลิกผลิตไปนานแล้ว แต่เปียโนหลังนี้ยังอยู่ และเป็นเสมือนจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งในร้อยพันเรื่องราวของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมาชิกในราชสกุลมหิดลเมื่อครั้งที่ประทับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ เวลาอาจจะผ่านไปเนิ่นนาน แต่เรื่องราวเหล่านี้ยังคงอยู่...อยู่ที่เปียโนหลังนี้ บนถนนหนทาง ตึกรามบ้านช่องที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นฉากชีวิตเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อหลายสิบปีล่วงมาแล้ว...





ข้อความภาษาฝรั่งเศสที่ปรากฏอยู่ด้านในฝาครอบเปียโน
ที่ทำให้ทราบภูมิหลังของเปียโนหลังนี้



"สยามนิทรรศรัชมงคล"
"ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท" ในสวิตเซอร์แลนด์



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ชื่อว่าเป็น "นักเรียนเก่า" สวิตเซอร์แลนด์ เพราะเหตุว่าได้ประทับและทรงศึกษาอยู่ที่นี่นานนับสิบปี คือตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๗๖-๒๔๙๔ ตลอดระยะเวลาที่ประทับที่สวิตเซอร์แลนด์ ได้ทรงเข้าเรียนในหลักสูตรเดียวกันกับนักเรียนสวิสทั่วไป ซึ่งต้องศึกษาทั้งวิชาการและวิชาชีพ เช่น ช่างไม้ เป็นต้น และเมื่อทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถในหลายด้าน ทั้งในด้านดนตรี กีฬา การศึกษา การชลประทาน ฯลฯ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนาโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ที่ได้ทรงส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทยได้เรียนรู้เพื่อพัฒนาอาชีพ สามารถเลี้ยงชีพ พึ่งพาตนเองได้ อันเป็นที่มาของ "แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง" ที่จะสร้างความสุขอันยั่งยืนแก่คนไทยทั้งชาติหากศึกษาให้ถ่องแท้และนำไปปฏิบัติ





เปียโนที่รัชกาลที่ ๘ และรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงศึกษาในขณะทรงพระเยาว์



อาจกล่าวได้ว่าประเทศสวิสเซอร์แลนด์แห่งนี้มิใช่มีเพียงทิวทัศน์ที่งดงามชวนฝันเท่านั้น แต่เป็นสถานที่หนึ่งที่ได้บ่มเพาะพระราชจริยาวัตรอันงดงามของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่เช่นทุกวันนี้


จุดเริ่มต้นของก้าวแรกในการตามรอยพระบาทฯ ในครั้งนี้คือกิจกรรม สยามนิทรรศรัชมงคล ซึ่งเป็นกิจกรรมพิเศษที่ สมาคมนักเรียนเก่าสวิสส์ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงสงขลานครินทร์ และสถานทูตสมาพันธรัฐสวิสในประเทศไทย ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุ ๘๔ พรรษา และครบรอบ ๘o ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและสมาพันธ์สวิส จุดเด่นที่สำคัญประการหนึ่งของกิจกรรมในครั้งนี้คือ นิทรรศการตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องพระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ขณะประทับอยู่ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ร่วมกับพระบรมราชชนนี พระบรมเชษฐา และพระเชษฐภคินี คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงสงขลานครินทร์ โดยการนำภาพเก่าของสถานที่ที่เคยประทับหรือเสด็จประพาสเปรียบเทียบกับภาพของสถานที่เหล่านั้นในปัจจบัน โดยจัดแสดงไปแล้วเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านไปที่ห้างสยามพารากอน





พระบรมฉายาลักษณ์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
กับเปียโน ฉายพระรูปโดยช่างภาพของหนังสือพิมพ์จากลอนดอน



นอกจากการจัดแสดงนิทรรศการในประเทศไทยแล้ว สมาคมนักเรียนเก่าสวิสส์ นำโดย กอบลาภ โปษะกฤษณะ นายกสมาคมฯ ได้นำ "สยามนิทรรศรัชมงคล สัญจร" นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปจัดแสดงที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ งานไทย เฟสติวัล ๒๕๕๖ ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบิร์น และสถานเอกอัครราชทูตถาวรประจำองค์การสหประชาชาติ ณ กรุงเจนีวา และวัดศรีนครินทรวราราม เมืองเกรทเซ่นบาค เพื่อให้คนไทยในสวิตเซอร์แลนด์ได้รับรู้ถึงเรื่องราวอันทรงคุณค่านี้


การจัดทำ นิทรรศการตามรอยเบื้องพระยุคลบาท นี้ใช้เวลาเดินทางอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ประมาณ ๒ สัปดาห์ เพื่อเก็บรายละเอียดต่าง ๆ ซึ่งก็ประจวบเหมาะกับที่คุณกอบลาภนั้นเคยเป็นนักเรียนเก่าสวิส และเป็นนักเรียนในความดูแลของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงสงขลานครินทร์ ในเวลานั้นจึงได้มีโอกาสรับทราบข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์และเอื้อต่อการทำงานนี้เป็นอย่างมาก





สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงสงขลานครินทร์
และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อยังทรงพระเยาว์ขณะประทับที่สถานรับเลี้ยงเด็กชอง โซเลย์



"ตอนสมัยเป็นนักเรียน ดิฉันเป็นนักเรียนที่อยู่ภายใตการปกครองของ สมเด็จกรมหลวงฯ เพราะว่าทางคุณลุงเป็นแพทย์ประจำพระองค์ มาวันแรกท่านก็ไปเยี่ยม สมเด็จย่าท่านก็โปรดให้ไปรับประทานอาหารกลางวันด้วยในวันเสาร์อาทิตย์ บางทีสมเด็จพระพี่นางก็พาออกไปข้างนอก ทำให้เรารู้ว่าท่านเสด็จฯ ไปไหนบ้าง สมเด็จย่าท่านก็เคยเล่าว่าสมัยยังสาว ฉันก็พาทั้งสามพระองค์มาเล่นสกีที่นี่ ก็เลยทำให้การตามรอยพระบาทฯ เพื่อทำงานนิทรรศการในครั้งนี้ทำได้ง่ายขึ้น ใช้เวลา ๒ อาทิตย์เต็ม ๆ ทำกันเต็มที่เลย โดยไปตามสถานที่ต่าง ๆ ที่เคยเสด็จฯ ไป


การทำงานนี้และการเป็นนายกสมาคมนักเรียนเก่าสวิสส์ถือว่าเป็นเรื่องที่ฝังใจมานานว่า ที่ดิฉันเรียนหนังสือได้เพราะ สมเด็จพระพี่นางฯ เมื่อดิฉันมาเรียนที่สวิส ท่านก็ให้ความเป็นกันเองมาก เป็นทั้งครู ทั้งผู้ปกครอง ท่านจะเอาาพระทัยใส่เราว่าต้องทำตัวยังไง อยู่โรงเรียนเรียนหนังสือไปถึงไหนแล้ว ท่านจะสอนทุกอย่างเพราะพ่อแม่ไม่ได้มาอยู่กับเรา พอดิฉันไปเรียนที่มหาวิทยาลัยซอร์บอน ปารีส ท่านก็เสด็จฯ ไปหา เราก็ไม่อยู่ เสด็จฯ ไปหลายหนเราก็ไม่อยู่ ตอนหลังเราสอบตก ท่านก็มีพระหัตถเลขาไปว่าสมควรแล้ว เรียนไม่จบก็กลับบ้านไป อายคน ทำให้เกิดฮึดขึ้นมาว่าเราจะต้องเรียนให้จบให้ได้ ดิฉันจึงสำนึกในพระคุณของพระองค์ท่านเสมอว่า ถ้าไม่ใช่เพราะท่านเราก็คงจะเรียนไม่จบ"






ทะเลสาบเลมองในปัจจุบัน
ภาพจาก vacationzone.co.th



นิทรรศการนี้ทางสมาคมจะมอบให้แก่สถานทูตไทยในสวิสเซอร์แลนด์ เพื่อเผยแพร่ต่อไปแม้เสร็จสิ้นงานแล้ว เพื่อที่ว่าคนไทยหรือชาวต่างชาติที่ได้ดูจะได้ทราบถึงข้อมูลดังกล่าว และหากสินใจที่จะศึกษา นิทรรศการนี้ก็จะไม่ใช่เพียงเนื้อหาบนบอร์ดและภาพถ่ายเท่านั้น แต่จะเป็นเหมือนไม้ขีดไฟที่จุดประกายให้คนไทยในสวิตเซอร์แลนด์ได้ศึกษาพระราชประวัติของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างถ่องแท้ผ่านสถานที่ต่าง ๆ เกี่ยวกับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในสวิสเซอร์แลนด์ ดังที่คุณกอบสุขได้กล่าวสรุปไว้ว่า


"ดิฉันเชื่อว่าประวัติศาสตร์ไม่มีทางลบเลือน เพราะโรงเรียนที่ท่านเรียนก็ยังมีให้เห็น สถานีรถไฟ และที่ต่าง ๆ ที่เคยประทับ ส่ิงที่เราทำนี้ก็เพื่อให้คนไทยในต่างแดนได้เข้าใจว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยอยู่ที่นี่ และใช้ชีวิตอย่างไร คนทั่วไปมักคิดว่า พระเจ้าอยู่หัว พระพี่นาง สมเด็จย่า มาอยู่ที่นี่แล้วสบาย แต่นิทรรศการนี้จะได้เห็นเลยว่า ๑๑ ขวบท่านก็ถูบ้านเอง ปลูกผักเอง รดน้ำต้นไม้เอง อย่างเจ้าอิหร่านที่มาอยู่ที่นี่ มีคนใช้ประมาณ ๕o คน แต่ของเราแทบไม่มีเลย สมเด็จย่าท่านเคยให้ดิฉันและนักเรียนไทยไปทานกลางวันด้วย ท่านก็บอกว่าอันนี้เอามาจากเมืองไทย ลำบาก กินให้หมด อันนี้เป็นสิ่งที่เราอยากบอกให้คนรู้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เติบโตมาอย่างไร ท่านโตมาอย่างธรรมดา ด้วยความสามารถของท่านเองแล้วท่านก็เอาทุกอย่างไปสอนคนไทยเพื่อให้ประเทศไทยเจริญ นี่คือความคิดรวบยอดที่เราอยากจะสื่อสารผ่านนิทรรศการนี้"





ทั้งสามพระองค์ประทับพักผ่อนพระอริยาบทที่ริมทะเลสาบเลอมอง



ทะเลสาบเลอมอง (Lac Leman) ในหน้าร้อนมีแสงแดดเจิดจ้าและท้องฟ้ากระจ่างใส ภูเขาสูงใหญ่เป็นฉากหลังอันงดงามของทะเลสาบสีน้ำเงินใส ดูนิ่งสงบงดงามไปทั่วทุกหนแห่งเหมือนว่าเวลาไม่ได้เคลื่อนคล้อยไปเลย บรรยากาศริมทะเลสาบในวันนี้คงไม่แตกต่างกันนักกับเมื่อหลายสิบปีก่อน ที่เจ้านายในราชสกุลมหิดลทั้งสี่พระองค์ได้ทรงใช้เวลาพักผ่อนหย่อนใจอยู่ริมทะเลสาบแห่งนี้ปะปนกับชาวสวิสโดยทั่วไป


หนังสือพระราชนิพนธ์ "แม่เล่าให้ฟัง" พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงสงขลานครินทร์ ตอนหนึ่งระบุว่า เมื่อยังทรงพระเยาว์ในหลวงรัชกาลที่ ๘ และรัชกาลที่ ๙ จะทรงเล่าเรือใบและกรรเชียงเรือเล่นในทะเลสาบแห่งนี้ในช่วงฤดูร้อน






ทะเลสาบเลอมองเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ ที่ครอบคลุมพื้นที่ในหลายเมืองของประเทศสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส โดยเฉพาะ เมืองโลซานน์ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของเจ้านายในราชสกุลมหิดล ในหลายช่วงเวลาด้วยกัน ช่วงเวลาแรก คือเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ หลังจาก สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ ทรงอภิเษกสมรสกับ หม่อมสังวาลย์ ได้ทรงแวะเยี่ยมชมเมืองโลซานน์ในระหว่างที่เสด็จฯ เข้าร่วมการประชุมและดูงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ยุโรป


ช่วงที่สอง คือเมื่อ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ ต้องเสด็จฯ กลับประเทศไทยเพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่หม่อมสังวาลย์ซึ่งเพิ่งประสูติพระโอรส (หม่อมเจ้าอานันทมหิดล) ที่เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ และไม่ทรงแข็งแรงพอที่จะตามเสด็จฯ จึงเสด็จฯ พร้อมด้วยพระโอรส-ธิดาไปประทับที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์เป็นการชั่วคราว ในครั้งนั้นหม่อมสังวาลย์ได้เสด็จฯ ไปพักที่ปารีสก่อน และได้นำพระธิดาและพระโอรสไปฝากไว้ที่สถานรับเลี้ยงเด็ก ชอง โซเลย (Champ Soleil)






หลังจากเสร็จงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ ได้เสด็จฯ ไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อทรงศึกษาต่อ หลังจากนั้นหม่อมสังวาลย์ได้มีพระประสูติกาลพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช ใน พ.ศ. ๒๔๗o


ช่วงเวลาที่สาม ที่เสด็จฯ ไปประทับที่เมืองโลซานน์คือช่วงที่ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ ทรงสำเร็จการศึกษาจากสหรัฐอเมริกาแล้วจะเสด็จฯ กลับเมืองไทยเป็นการถาวร โดยก่อนจะเสด็จฯ กลับนั้น ได้ทรงแวะเมืองโลซานน์อีกครั้ง ระหว่างนั้นพระโอรส-ธิดาทั้งสามพระองค์ได้เสด็จฯ ไปประทับที่สถานรับเลี้ยงเด็ก ชอง โซเลย์ (Champ Soleil) อีกครั้ง






สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้ากัลยาณิวัฒนา ได้ทรงเล่าถึง สถานรับเลี้ยงเด็กชอง โซเลย์ ว่า ได้เสด็จฯ ไปประทับที่ซอง โชเลย์แห่งนี้ ๓ ครั้ง ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.​ ๒๔๖๘ ระหว่างที่พระบรมราชชนกเสด็จฯ กลับประเทศไทยเพื่อไปถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงเล่าว่าเมื่อเสด็จฯ ไปประทับครั้งแรกว่า "…แม่คงนึกได้ว่าทูลหม่อมฯ เคยรับสั่งว่า ดร.ฟรานซิส แชร์ ชาวอเมริกัน ที่เคยเป็นที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศไทย ได้เล่าถวายว่าที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีสถานที่รับเลี้ยงเด็กแห่งหนึ่งชื่อว่า ชอง โซเลย์ ดร.แชร์เองเคยนำลูกไปพักที่นั่น จึงทราบว่าเขาดูแลเด็กอย่างถูกอนามัยเพราะเจ้าของเป็นแพทย์ แม่จึงตัดสินใจว่าจะพาลูกไปฝากที่สถานที่แห่งนี้..."






ครั้งที่สองที่เสด็จฯ ไปประทับที่ ชอง โซเลย์ คือเมื่อพระบรมราชชนกทรงสำเร็จการศึกษาแล้วและเสด็จฯ กลับเมืองไทยเป็นการถาวร แต่จะทรงพักผ่อนและติดต่องานต่าง ๆ ที่ยุโรปก่อน โดยได้ทรงแวะที่เมืองโลซานน์ก่อนเพื่อส่งพระโอรส-ธิดาทั้งสามพระองค์ไปประทับที่ชอง โซเลย์


"แล้วลูก ๆ ทั้งสามคนก็ถูกส่งไปอยู่ชอง โซเลย์ พร้อมทั้งแหนนด้วย ทูลหม่อมฯ และแม่จึงสามารถเดินทางไปประเทศต่าง ๆ อย่างสะดวกแต่เสด็จฯ มาเยี่ยมลูก ๆ บ้าง"





พระบรมฉายาลักษณ์นี้ถ่ายที่ร้านเดอ ยอง ในวันครบรอบวันประสูติ ๓ พระชันษา ของ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ ๒o กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๑



ช่วงเวลาที่สี่ เป็นช่วงเวลาที่ยาวนานที่สุดที่ครอบครัวมหิดลได้ประทับอยู่ที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยเสด็จฯ ถึงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ เมืองโลซานน์เมื่อ ๘o ปีที่แล้วเป็นเมืองสงบ อากาศดี มีภูมิประเทศงดงาม แวดล้อมด้วยทะเลสาบและเทือกเขาสูงตระหง่าน บ้านเรือนสร้างอยู่บนเนินเขาลดหลั่นลงไป เป็นเมืองที่เหมาะสมทุกประการสำหรับเจ้านายในราชสกุลมหิดลที่จะได้ทรงศึกษาเล่าเรียนและรักษาพระพลานามัย


"น้องชายคนโตไม่แข็งแรง แม่เลยคิดว่าควรไปอยู่ต่างประเทศที่มีอากาศสบาย ๆ เสด็จลุงทรงแนะให้ไปสวิตเซอร์แลนด์...ต้นเดือนเมษายน ๒๔๗๖ แม่กับลูกสามคน พร้อมแหนนและบุญเรือน ก็ออกเดินทางด้วยรถไฟไปปีนัง แล้วลงเรืออเมริกันเพรสซิเดนต์เพียร์ซ ไปขึ้นที่เจนัว และต่อรถไฟไปโลซานน์..." สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงสงขลานครินทร์ ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ "แม่เล่าให้ฟัง" ถึงการเดินทางไปประทับที่สวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นไปตามพระประสงค์ของ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ที่ทรงกังวลเกี่ยวกับพระพลานามัยของพระราชนัดดา จึงเห็นว่าควรเสด็จฯ ไปประทับและศึกษาในประเทศซึ่งมีอากาศสบาย ๆ


"การที่ไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์นี้เป็นพระดำริของ สมเด็จพระพันวัสสา ซึ่งต้องทรงพรากจากผู้ที่ทรงรักที่สุดมาหลายครั้งแล้ว พระราชโอรสธิดาก็สิ้นพระชนม์เมื่อเยาว์วัย ๖ พระองค์ พระราชโอรสที่เหลืออยู่พระองค์เดียว เมื่อเสด็จฯ กลับจากการศึกษาวิชาการทหารเรือและที่คงคิดว่าจะได้ประทับอยู่ด้วยกันนาน ๆ ก็ทรงรับราชการไม่ถึงปี แล้วก็ทูลลาไปทรงศึกษาวิชาแพทย์เป็นเวลาหลายปี เมื่อเสด็จฯ กลับมา ๙ เดือนก็สิ้นพระชนม์ไป"





กอบลาภ โปษะกฤษณ นายกสมาคมนักเรียนเก่าสวิสส์ กล่าวรายงาน
ในพิธีเปิดนิทรรศการสยามนิทรรศฯ์รัชมงคลสัญจร ในโอกาสที่นำนิทรรศการไปจัดแสดงที่
สถานเอกอัครราชทูตถาวร ประจำองค์การสหประชาชาติ ณ กรุงเจนีวา



เหตุผลอีกประการหนึ่งคือ สถานการณ์ทางการเมืองหลังเปลี่ยนแปลงการปกกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ที่ยังไม่นิ่ง


"ดังได้กล่าวมาแล้ว พระองค์ชายไม่แข็งแรงนักมาตลอด ดังนั้น สมเด็จพระพันวัสสาฯ จึงทรงเห็นว่าด้วยสภาพบ้านเมืองไม่เรียบร้อย อาจมาพัวพันกับพระนัดดาของท่านได้ เป็นโอกาสที่จะไปศึกษาและรักษาสุขภาพอนามัยเสียที่ต่างประเทศ" (จากหนังสือ เจ้านายเล็ก ๆ-ยุวกษัตริย์ พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงสงขลานครินทร์)


เมื่อ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงมีพระประสงค์เช่นนั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร จึงได้ทรงแนะนำว่าควรเลือกเมืองโลซานน์ และ สมเด็จพระบรมราชนนี ก็ทรงเห็นด้วย สมาชิกราชสกุลมหิดลเดินทางไปถึงเมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ โดยใช้นามสกุลว่า "มหิดล" ด้วยเหตุผลที่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้ทรงเล่าไว้ใน "เจ้านายเล็ก ๆ-ยุวกษัตริย์" ว่า ตามประกาศของ สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เจ้าขึ้นไปไม่ต้องใช้นามสกุล แต่เมื่อไปอยู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เราได้ใช้นามสกุล "มหิดล" กันทุกคนเพราะไปอยู่อย่าง incognito คือไม่ต้องการให้คนทราบว่าเป็นใคร จึงต้องมีนามสกุล เพราะชาวสวิสไม่เข้าใจว่าเกิดมาเป็นคนแล้วไม่มีนามสกุลได้อย่างไร"





เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ
อ่านบทกวี "เพลงชัยถวายพระพร"



หนึ่งเดือนหลังจากไปถึงสวิตเซอร์แลนด์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ และพระอนุชาทั้งสองพระองค์ได้ไปประทับอยู่ที่ชอง โซเลย์อีกครั้ง ส่วนพระราชชนนีเสด็จฯ ไปประทับกับครอบครัวชาวสวิสเพื่อเรียนภาษา โดยเสด็จฯ ไปรับในวันอาทิตย์ โดยออกจากชอง โซเลย์ทีละองค์ หลังจากประทับอยู่ที่ชอง โซเลย์ได้สองเดือนครึ่ง ทุกพระองค์จึงได้ทรงย้ายไปอยู่ที่แฟลตเลขที่ ๑๖ ถนนทิสไซต์ ดังที่ปรากฏในพระหัตถเลขาจาก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ถึง สมเด็จพระพันวัสสา (จากหนังสือ "ยุวกษัตริย์") ว่า


"วันนี้เป็นวันอาทิตย์ หม่อมฉันขออนุญาตผู้ดูแลบ้านที่บ้านหมอพิเศษขอรับลูกมาอยู่ด้วยในตอนบ่าย เขาก็อนุญาตให้เปลี่ยนเวรกันมาทีละองค์ บี๋และนันท มาแล้วมาเหวยน้ำชาด้วย แล้วไปเดินเที่ยวกัน...ทั้งเล็กและนันทดีมาก ไม่ยุ่ง อยากจะมาด้วยทันทีเมื่อบี๋ได้มาก่อน เล็กบอกว่าใครออกก่อนก็ไปก่อน เล็กออกทีหลังก็ต้องไปทีหลัง น่าเอ็นดูมากที่ไม่ยุ่ง คอยให้ถึงเวลาขององค์เองอย่างดี หม่อมฉันรู้สึกดีใจมากที่ลูก ๆ ถ้าอธิบายกันเข้าใจแล้วเชื่อเสมอ..."





การขับร้องเพลงเฉลิมพระเกียรติโดย
สุนทรี เวชชานนท์ และ ภานุทัต อภิชนาธง ศิลปินล้านนา



ปัจจุบัน ชอง โซเลย์ สถานรับเลี้ยงเด็กที่เจ้านายเล็ก ๆ ทั้งสามพระองค์แห่งราชสกุลมหิดลประทับเมื่อทรงพระเยาว์ก่อนเสด็จฯ เข้าโรงเรียนประถมก็ยังคงอยู่ ตัวอาคารเป็นตึกสีเหลืองอ่อน ๔ ชั้น แต่ไม่ได้เป็นสถานรับเลี้ยงเด็กเช่นในอดีตแล้ว แต่ได้ถูกปรับปรุงเป็นโรงเรียนสอนเด็กพิเศษ


สถานที่อีกแห่งหนึ่งในเมืองโลซานน์ที่เป็นฉากหนึ่งในช่วงชีวิตแห่งความเปลี่ยนแปลงของสมาชิกในราชสกุลมหิดล คือ "ร้านถ่ายรูปเดอ ยอง" (De Jongh) ร้านนี้เป็นร้านที่ได้ฉายพระรูปครอบครัวมหิดล คือภาพหม่อมสังวาลย์ มหิดล และพระโอรส-ธิดา ทั้งสามพระองค์ในระหว่างที่พักผ่อนที่เมืองโลซานน์ก่อนจะเดินทางกลับประเทศไทยเป็นการถาวร เป็นภาพที่คนไทยคุ้นตากันดี และหลังจากนั้นก็ได้ฉายพระรูป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อทรงขึ้นครองราชย์แล้วไว้หลายภาพด้วยกัน ทั้งนี้เนื่องจากพระบรมราชชนนีโปรดฯ ให้พระโอรส-ธิดาได้ฉายพระรูปในโอกาสสำคัญต่าง ๆ เช่นวันประสูติ เป็นต้น






ปัจจบันร้านถ่ายรูปเดอ ยองก็ยังคงอยู่ที่ถนนเดิม ที่เดิมคืออยู่ตรงข้ามแฟลตที่ถนนทิสโซต์ (Tissot) ซึ่งเป็นแฟลตแห่งแรกที่ครอบครัวมหิดลเสด็จฯ ไปประทับเมื่อแรกไปถึง และร้านเดอ ยองก็ยังคงดำเนินกิจการร้านถ่ายรูปอยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เพียงแต่ลักษณะหน้าร้านเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย


ภาพพระฉายาลักษณ์จากร้านเดอ ยองมากมายหลายภาพ ถือเป็นภาพประวัติศาสตร์สำคัญยิ่งของปวงขนชาวไทย และเป็นสิ่งที่ยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ในท่ามกลางเปลี่ยนแปลงอันเป็นสัจธรรม ร้านถ่ายรูปแห่งนี้จึงเป็นอีกภาพจิ๊กซอว์ที่จะปะติดปะต่อภาพใหญ่ในการตามรอยพระบาทสู่ "วัยเยาว์ของพระเจ้าอยู่หัว" ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น



พระบรมฉายาลักษณ์ พระฉายาลักษณ์
และข้อมูลจาก สกุลไทยรายสัปดาห์ ฉบับที่ ๓o๗๘
atcloud.com



บีจีจากคุณยายกุ๊กไก่ ไลน์จากคุณญามี่

TextEditor





Create Date : 05 ธันวาคม 2556
Last Update : 13 สิงหาคม 2559 23:17:38 น. 11 comments
Counter : 10474 Pageviews.

 
ขออำภัยเพื่อน ๆ ที่หายศีรษะไปซะหลายวัน คอมก็เกเรได้ใจ ส่งโรงหมอรักษาตัวอยู่ ตอนนี้เลยต้องใช้คอมสำรองไปพลาง ๆ ก่อน กว่าเขียนบล็อกเสร็จก็เกือบจะหมดวันแล้ว

อัพบล็อกเสร็จก็ได้เวลานอนพอดี ไว้พรุ่งนี้ค่อยเข้าไปตอบเม้นท์บล็อกเก่า แล้วถ้าว่างจะแวะไปหาเพื่อน ๆ ช่วงนี้อากาศเย็นลงเยอะ รักษาสุขภาพกันด้วยค่ะ


โดย: haiku วันที่: 5 ธันวาคม 2556 เวลา:23:48:27 น.  

 
คอมหายดีหรือยังคะคุณไฮกุ ขออภัยที่เข้าไปอ่านหนังสือของคุณแป๋วตามคำแนะนำช้าไป อ้อยเพิ่งเข้ามาอัพบลอกวันนี้เองค่ะ

รักษาสุขภาพเช่นกันค่ะ


โดย: Love At First Click วันที่: 6 ธันวาคม 2556 เวลา:12:39:40 น.  

 
คอมเพิ่งจะหายค่า น้องช้ายไปรับมาจากร้านเมื่อวานนี้เองค่ะ ทีนี้จะได้ใช้คอมได้คล่องมือหน่อย

ดีใจที่คุณน้ำอ้อยแวะมานะคะ หายไปนานเลย ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมกัน แล้วจะแวะไปอ่านบล็อกใหม่ค่ะ


โดย: haiku วันที่: 7 ธันวาคม 2556 เวลา:8:56:03 น.  

 
ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนานเทอญ



เปิดมาเจอคุณไฮกุ ทีไร ดีใจมากเลยค่ะเพราะรู้ว่าต้องมีเรื่องราวดีๆมาฝากกัน
เราเข้ามาอ่านบล๊อกที่ปิดเม้นท์ "การเมือง" ด้วยค่ะ

ว่าแต่บล๊อกนี้ เราถือว่าคุณไฮกุ นำมาถ่ายทอดเล่าสู่กันฟังผ่านบล๊อกได้น่าชื่นชมมากค่ะ
เป็น "ตามรอยพระบาทสู่ วัยเยาว์ของพระเจ้าอยู่หัว" (ตอนที่๑)
แสดงว่าต้องมีตอนต่อไปนะค่ะ

ภาพหลายภาพไม่เคยเห็น บางเรื่องก็เพิ่งทราบค่ะ อ่านแล้วเชื่อตามเลยค่ะว่า
" ประวัติศาสตร์ไม่มีทางลบเลือน " จากภาพที่อ้างอิงย้อนอดีต

บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
AppleWi Dharma Blog ดู Blog
กะว่าก๋า Literature Blog ดู Blog
อุ้มสี Travel Blog ดู Blog
haiku Art Blog






โดย: tui/Laksi วันที่: 7 ธันวาคม 2556 เวลา:19:31:49 น.  

 
คุณไฮกุรวบรวมประวัติไว้เต็มที่เลย
ภาพหลายภาพก็เป็นภาพหาชมได้ยากครับ




โดย: กะว่าก๋า วันที่: 7 ธันวาคม 2556 เวลา:21:58:51 น.  

 
ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

อ่า่นด้วยความอิ่มเอมค่ะคุณไฮกุ
อย่างเรื่องเปียโนนี่นิคไม่เคยอ่าน
และพระบรมฉายาลักษณ์ หลายภาพที่เป็นภาพหายาก
ขอบคุณนะคะ คุณไฮกุกลับมาก็มาอัพบล็อกสุดยอดเลยค่ะ



เกริ่นไว้อย่างนี้ มีหลายตอนซีนะคะ


โดย: ที่เห็นและเป็นมา วันที่: 7 ธันวาคม 2556 เวลา:22:49:33 น.  

 
แวะมาชมภาพเก่าที่หาดูได้ยาก
ขอบคุณที่ไปทักทายและส่งกำลังใจค่ะ
โหวตและไลท์คนแรก

บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
หอมกร Movie Blog ดู Blog
haiku Art Blog ดู Blog

ระบบจะบันทึกคะแนนโหวต เฉพาะการโหวต 5 ครั้งล่าสุดในแต่ละวันเท่านั้น


โดย: pantawan วันที่: 7 ธันวาคม 2556 เวลา:23:13:35 น.  

 
อรุณสวัสดิ์ครับคุณไฮกุ





โดย: กะว่าก๋า วันที่: 8 ธันวาคม 2556 เวลา:5:53:10 น.  

 
เรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์มีมากมายจริงๆ ครับ ส่วนมากผมก็อ่านจากในหนังสือนี่แหละ เคยอ่านจากนิตยสาร สกาว ของกสิการไทยด้วย ในนั้นก็มีเรื่องราวน่าสนใจเยอะเหมือนกัน

ถ้าพูดถึงเรื่องราวของท่าน หนึ่งในหนังงสือที่ผมชอบคือ "ใกล้เบื้องพระยุคลบาท กับลัดดาซุบซิบ" เล่มนี้ครับ

+


โดย: คุณต่อ (toor36 ) วันที่: 8 ธันวาคม 2556 เวลา:14:42:45 น.  

 
คุณตุ้ย...ดีใจที่คุณตุ้ยชอบบล็อกนี้และขอบคุณมากที่แวะไปอ่านบล็อกการเมืองและที่โหวตให้นะคะ

บทความนี้มีทั้งหมดสามตอน พออ่านแล้วก็ตั้งใจเลยว่าจะอัพลงบล็อก ใช้เวลาจิ้มดีดอยู่เกือบเดือนกว่าจะเสร็จ เสียดายก็แต่พระบรมฉายาลักษณ์ไม่ค่อยชัดเท่าไหร่ ต้องขอบคุณคนเขียนสารคดีที่ดั้นด้นเดินทางไปตามรอยพระบาทในหลวง ให้คนอ่านได้ย้อนรอยไปเมื่อครั้งพระองค์ท่านทรงพระเยาว์ อ่านแล้วประทับใจ เรียกรอยยิ้มได้ตลอดเลยค่ะ


คุณก๋า...ขอบคุณที่แวะมาตามรอยพระบาทสู่วัยเยาว์ของในหลวงด้วยกันนะคะ


คุณนิค...คนเขียนบล็อกก็อิ่มเอมใจไม่แพ้คนอ่านเหมือนกันค่ะ จริง ๆ นะ เวลาเขียนบล็อกเกี่ยวกับในหลวงแล้วมีความสุขที่สุด บทความชุดนี้น่าอ่านมากเพราะมีหลายเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อนนี่แหละค่ะ

บล็อกมีสามภาคค่ะ เพิ่งอัพบล็อกภาคสองไป เดี๋ยวตอบเม้นท์เสร็จจะแวะไปรายงานตัวจ้า


คุณปาน...ขอบคุณที่แวะมาอ่านบล็อกนี้และโหวตให้ค่า


คุณต่อ...เคยอ่านหนังสือ สกาว ของกสิกรไทยเหมือนกันค่ะ อ่านแล้วชอบมาก เก็บไว้เกือบทุกเล่มเลย เสียดายที่เลิกทำไปซะแล้ว

ขอบคุณที่บอกพูดถึงหนังสือของคุณลัดดา เพิ่งจะได้ยินชื่อจากคุณต่อนี่แหละค่ะ ไม่รู้ว่ายังมีขายอยู่หรือเปล่า ไว้ต้องไปตามล่าหามาอ่านบ้าง


โดย: haiku วันที่: 10 ธันวาคม 2556 เวลา:10:30:19 น.  

 
พระบรมฉายาลักษณ์นี้ถ่ายที่ร้านเดอ ยอง ในวันครบรอบวันประสูติ ๓ พระชันษา ของ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ ๒o กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๑

ข้อมูลผิดครับ

พระราชสมภพ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 (1925)

พ.ศ. 2491 ( 1948 ) อายุจะ 23 ปี

ถูกต้องคือ พ.ศ. 2471 (1928)

ครับผม


โดย: ธีรพงศ์ IP: 223.204.243.71 วันที่: 16 เมษายน 2565 เวลา:0:00:59 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.