happy memories
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2556
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
13 มีนาคม 2556
 
All Blogs
 
นิรโทษกรรม (๓)





บล็อกนิรโทษกรรม (๑)
บล็อกนิรโทษกรรม (๒)


"ยันไม่ผิดก็นิรโทษกรรมไม่ได้"
พิทยา ว่องกุล


“ในเมื่อยังมีคนไม่รู้ตัวว่าทำผิดอีกจำนวนมาก ในเมื่อยังมีคนผิดที่ไม่ยอมรับผิดและไม่หลาบจำในความผิดของตนอีกจำนวนมาก (แถมยังพร้อมจะย้อนกลับมาทำความผิดอีก) และในเมื่อยังมีฆาตกรที่ไม่เดือดเนื้อร้อนใจเดินลอยนวลอยู่ในสังคมอีกมาก การนิรโทษกรรมในวันนี้จึงเป็นไปด้วยประโยชน์อันใด" นิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ที่เสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย จากการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ใช้ความรุนแรงบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (ไทยโพสต์, ๙ ก.พ. ๕๖)

ทัศนะของผู้ประสบชะตากรรมทางการเมืองจนสูญเสียสามีที่รักยิ่ง น่าจะสะท้อนผลพวงความทุกข์ยากเดือดร้อนอีกด้านหนึ่งของประชาชนที่ไม่มีปากเสียง ไม่มีอำนาจที่จะต่อรอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ทรัพย์สินเสียหายและเป็นหนี้สินอีกจำนวนมากบริเวณย่านราชประสงค์ ขณะที่กลุ่มบุคคลเผาบ้านเผาเมืองจนวอดวายไปบางส่วน กลับได้รับเงินชดเชย ๗.๕ ล้านบาท และกำลังถูกนิรโทษกรรมจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือพรรคเพื่อไทย ทุกวิถีทาง

อนิจจา!! สามัญสำนึกแห่งความเป็นธรรมของผู้นำ นักการเมือง ปัญญาชน รวมไปถึงศาสนิกชนทั้งหลายกำลังเสื่อมถึงขั้นวิกฤติทางศีลธรรมดังเช่นที่ท่านพุทธทาสภิกขุ ปราชญ์ศาสนาระดับโลกเคยเตือนไว้ กำลังเกิดขึ้นในสังคมที่เป็นพุทธศาสนากระนั้นหรือ

สังคมที่ไม่มีหลักศีลธรรมค้ำจุน ประชาชนไม่สนใจเรื่องชั่ว-ดีเป็นเส้นแบ่งที่ชัดเจน รักดีรังเกียจชั่ว รวมทั้งบรรดานักวิชาการ นักคิด นักการเมืองตามืดบอด ไม่สามารถแยกแยะความปรองดองออกจากความยุติธรรมทางสังคม การรักษากฎหมายบ้านเมือง เกิดความหลงผิดเห็นกงจักรเป็นดอกบัว ยอมรับหลักเสียงข้างมากแห่งประชาธิปไตยเหนือกว่าหลักความยุติธรรมและศีลธรรมอันดีงามของประชาชน ระบอบประชาธิปไตยเช่นนั้นก็เปรียบเสมือนกงจักรที่จักทำให้สังคมวิบัติในอนาคตอย่างแน่นอน เมื่อคนไม่เคารพกฎหมาย และใช้ความปรองดองหรือการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองเป็นความถูกต้อง โดยอาศัยอำนาจเสียงข้างมากนิรโทษกรรมหรือสร้างความปรองดองแบบเอื้อประโยชน์ให้แก่พรรคพวกตนเป็นสำคัญ (เจือจานฝ่ายอื่นบ้าง) ย่ำยีความยุติธรรมหรือระบบศาลลงไป ทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย อันหมายถึงการทำลายชาติบ้านเมือง

ทัศนะของนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ในฐานะผู้สูญเสียอย่างใหญ่หลวง ไม่มีใครสามารถนิรโทษฯ ชีวิตสามีกลับคืนมาได้ เธอนำเสนอเงื่อนไขการนิรโทษกรรมขึ้นมา จากทั้งฝ่ายเสื้อแดง ฝ่ายเสื้อเหลือง (สมาชิกพรรคเพื่อไทยอ้างว่าฝ่ายนี้) ก็เห็นด้วยทันที ทั้งที่เงื่อนไขที่เธอนำเสนอนั้นทำได้ยาก และไม่มีหลักประกันว่าจะได้กรรมการอิสระที่เป็นกลางจริงๆ โดยเฉพาะบทเรียนในอดีต เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางแล้ว แต่ผลการศึกษาตรวจสอบที่ปรากฏออกมาตรงกันข้ามกับฝ่ายเสื้อแดง เสียงปฏิเสธก็ดังขึ้นเสมอ เหตุนี้การออกมาให้ข่าวยอมรับข้อเสนอของเพื่อไทยและแกนนำเสื้อแดง จึงเป็นเพียงจิตวิทยาสังคมเพื่อสร้างภาพ หรือการหาเงื่อนไขเปิดช่องทางปรองดองหรือนิรโทษกรรมขึ้นมาก่อน ส่วนการปฏิบัตินั้นสามารถกำหนดใหม่หรือบิดพลิ้ว และใช้เล่ห์กลเพื่อเอื้อประโยชน์ให้พวกตนหรือเจ้ามูลเมืองได้ภายหลังหรือไม่? ยังเป็นปรัศนีความน่าเชื่อถือ ขณะที่แกนนำพันธมิตรฯ บางคนและประชาธิปัตย์บางคนกลับหลงลมไปได้

ผมขอสรุปข้อเสนอและเงื่อนไขการนิรโทษกรรมของเธอว่า การนิรโทษฯ จะไม่ครอบคลุมถึงผู้กระทำผิดคดีอาญา คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และต้องให้มีกระบวนการยุติธรรมเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดต่อไป ประชาชนผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่เข้าร่วมชุมนุมก็ต้องไม่อยู่ในข่ายกระทำความผิดทั้ง ๒ กระทงนั้น อีกทั้งต้องยอมรับผิด โดยเปิดเผยข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความรุนแรงต่อคณะกรรมการอิสระที่เป็นกลางในการตรวจสอบและหาความจริง ยอมรับการภาคทัณฑ์เพื่อจะไม่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองด้วยความรุนแรงอีก ส่วนนายกฯ จะต้องประกาศแผนการสร้างความปรองดองของคนในชาติอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ขบวนยุติธรรมที่อยู่ภายใต้อำนาจรัฐบาลต้องทำงานไม่เลือกฝ่าย และการสานเสวนาของมหาดไทยจะต้องไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง โปร่งใส ตรวจสอบได้ และหัวใจสำคัญของข้อเสนอทั้งหมดก็คือผู้รับนิรโทษกรรมจักต้องยอมรับผิด รู้ตัวว่ากระทำผิด

คงจะเห็นได้ชัดว่า การขานรับข้อเสนอและเงื่อนไขนิรโทษกรรมของเธอ โดยนำมาขยายผลเป็นข่าวประโคมหน้าสื่อนั้น เป็นการยอมรับด้วยความจริงใจ ตรึกตรองรายละเอียดแล้วว่าทำได้ หรือแค่สร้างภาพเอาไว้รอโอกาสพลิกพลิ้วในภายหลัง ในฐานะเกมการเมืองที่สามารถใช้เพทุบายเสียงข้างมากเอาชนะได้ในโอกาสต่อไป ปัญหานี้มักจะเกิดขึ้นเสมอในยุคการเมืองขาดคุณธรรมถือดีในอำนาจเป็นใหญ่

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของคุณนิชา ทำให้ผมได้แง่คิดว่า การเคลื่อนไหวให้นิรโทษกรรมนั้นเป็นสิ่งไม่มีเหตุผล ไม่มีข้ออ้างใดๆ ให้รับได้ เพราะไม่รู้ว่าบรรดาประชาชนเสื้อแดงเสื้อเหลืองไปทำกรรมที่เป็นความผิดอะไร แตกต่างจากคณะปฏิวัติรัฐประหารที่ได้กระทำกรรมโดยสมบูรณ์เอาไว้แล้ว มีสาเหตุที่ต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะกองทัพได้เคลื่อนพลและอาวุธออกมายึดอำนาจจากรัฐบาลก่อน ได้กระทำความผิดทางกฎหมายที่ร้ายแรง ดังนั้น เมื่อปฏิวัติเสร็จ มีอำนาจในกำมือ หรือเป็นรัฐบาลใหม่ ฝ่ายทหารก็ต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรมนั้นไว้สำหรับป้องกันไม่ให้รัฐบาลที่ถูกล้มไปแล้ว พลิกกลับมาฟ้องร้องลงโทษเอาได้ นี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน สำหรับเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย กลุ่มคนเสื้อแดง หรือพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งต้องการให้ออกพระราชกำหนดหรือพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมทางการเมืองแก่ประชาชนที่เคลื่อนไหวทางการเมือง ดังนั้น คำถามที่ว่ากรรมอันเป็นความผิดนั้นได้เกิดขึ้นจริงหรือไม่?

แกนนำและกลุ่มคนเสื้อแดงยังไม่ยอมรับว่าได้กระทำความผิดจริง

การจะออกพระราชกำหนดหรือพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมได้ จักต้องมีการกระทำที่เป็นความผิดจริงตามกฎหมาย เมื่อแกนนำเสื้อแดงยังคงปฏิเสธว่าการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองของตนเป็นสิทธิประชาธิปไตย อ้างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มุ่งโค่นล้มอำมาตย์ และหวังสถาปนารัฐไทยใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย มีสิทธิชุมนุมทางการเมือง แม้กระทั่งเหตุความรุนแรงที่ตามมาเนื่องจากการชุมนุมจะขยายเป็นความรุนแรง เช่น กรณีเผาบ้านเผาเมืองที่ราชประสงค์ การนำเอารถแก๊สมาเผาหวังให้ระเบิดที่นางเลิ้ง การมีกองกำลังไม่ทราบฝ่าย (คนชุดดำสนับสนุนเสื้อแดง) ออกมายิงถล่มทหารภายใต้การนำของ พล.อ.ร่มเกล้าที่เข้าคุมสถานการณ์จนบาดเจ็บล้มตายหลายคนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ล้วนไม่มีใครยอมรับว่าเป็นการกระทำผิดของตน ยังยึดมั่นว่าตนมีสิทธิชุมนุมทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ และบางคนยังไม่ถูกตำรวจเสนออัยการสั่งฟ้องต่อศาล ส่วนที่ฟ้องศาลแล้วก็เป็นคดีอาญาไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง ดังนั้น เมื่อความผิดยังไม่ได้รับการยอมรับหรือสารภาพออกมา จะนิรโทษกรรมในเรื่องใด และการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายด้วยซ้ำ ใครจะบอกว่าเป็นความผิดเกิดขึ้นแล้วไม่ได้

สรุป แกนนำเสื้อแดงและกลุ่มคนเสื้อแดงจักต้องออกมายอมรับว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองของตน มิได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อประชาธิปไตย แต่แฝงไว้วัตถุประสงค์อย่างอื่นที่เป็นความผิดต่อรัฐ การเสนอนิรโทษกรรมจึงจะเกิดขึ้นได้ และพรรคเพื่อไทย รัฐบาล นักกฎหมาย หรือรัฐสภาก็สามารถดำเนินการผลักดันให้มีกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นขั้นต่อไป

แกนนำและกลุ่มคนเสื้อเหลืองปฏิเสธไม่ได้กระทำความผิดในการชุมนุม

ในทำนองเดียวกัน การชุมนุมอย่างสงบของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอันยืดเยื้อ อาศัยหลักสิทธิการชุมนุมทางการเมืองที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ แต่ต้องเผชิญกับการสลายชุมนุมของตำรวจจนบาดเจ็บและตาย มีมือที่ ๓ ยิงระเบิดเอ็ม ๗๙ ใส่ และถูกก่อกวนคุกคามต่าง ๆ นานา จนสถานการณ์รุนแรงต้องตอบโต้รัฐบาลที่ไม่แก้ไขปัญหา โดยขัดขวางการทำงานของรัฐ และถูกข้อหาปิดล้อมรัฐสภาหรือทำเนียบฯ บุกรุกเข้ายึดสถานีโทรทัศน์และสนามบิน ด้านแกนนำพันธมิตรฯ ล้วนปฏิเสธข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับกลุ่มเสื้อแดง ความผิดจึงยังไม่เป็นเหตุให้ต้องได้รับอานิสงส์ร่วมจากการออกกฎหมายนิรโทษกรรม การฟ้องร้องต่อศาลนั้นคดียังไม่สิ้นสุด นอกจากพันธมิตรฯ จะยอมรับว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองของตนมีความผิดจริง เพื่อนำสู่กระบวนการออกกฎหมายนิรโทษกรรมต่อไป

หลักการประชาชนร่วมชุมนุมไม่ผิด ยกเว้นแกนนำ

สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือ มีการเสนอให้ออกพระราชกำหนดหรือพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน ในการชุมนุมทางการเมือง ทั้ง ๆ ที่การเข้าร่วมของประชาชนเป็นสิทธิคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ กรณีที่เกิดปัญหาจลาจลไปสู่ความรุนแรง อารยประเทศจะจับตัวแกนนำและผู้ที่ก่อความผิดอย่างชัดเจน อาจจะรวบประชาชนส่วนน้อยเข้ามาบ้าง แต่เมื่อถึงขั้นฟ้องศาลแล้ว ปรากฏว่าซักถามแล้วเป็นผู้มิได้กระทำความรุนแรงจริง ประชาชนส่วนนั้นย่อมถูกปล่อยตัวไป โดยธรรมชาติการชุมนุม ประชาชนส่วนมากที่สุดที่เมื่อถูกสลายการชุมนุมก็จะแตกหนีไปได้ ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ดังนั้น การคิดออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับนิรโทษกรรมทหารปฏิวัติ จึงเป็นเรื่องน่าปวดหัว เพราะไม่มีใครรู้ตัวชี้ตัวว่าใครบ้างเข้าร่วมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินจำนวนหมื่นหรือแสน และสถานะกระทำผิดก็แตกต่างกันกับทหารปฏิวัติ หรือแตกต่างจากคำสัง ๖๖/๒๓ ที่ให้นักศึกษาและคอมมิวนิสต์เข้ามอบตัว โดยไม่ถือว่าเป็นความผิด ผลก็คือ ประชาชนส่วนใหญ่ที่ร่วมชุมนุมจึงไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรม

ความผิดที่เกิดขึ้นจากคำพิพากษาของศาล

การออกกฎหมายนิรโทษกรรมใดๆ ก็ตาม จักต้องมีความผิดจริงเป็นกรรมเป็นเหตุขึ้นมาก่อน เมื่อผู้ถูกกล่าวหาไม่ยอมรับก็ไม่มีใครตัดสินว่า ความผิดได้ปรากฏแล้วจริง พรรคเพื่อไทย นักวิชาการ หรือใครๆ ไม่อาจทึกทักหรือตัดสินว่ามีกรรมอันเป็นผิดเกิดขึ้น แล้วเสนอให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนได้ นอกจากจะผ่านกระบวนพิจารณาของศาลมาแล้ว

ผู้ที่ถูกฟ้องศาลในเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง ได้แก่ แกนนำ ผู้กระทำความผิดอาญาที่เห็นได้ชัด รวมไปถึงผู้ที่ขัดขวางเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน และละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างจงใจ หลังจากที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้โอกาสออกไปจากที่ชุมนุม ประชาชนเสื้อแดง (มวลชนเสื้อแดงส่วนมากที่สุด) สลายการชุมนุมกลับบ้านแล้ว จึงไม่ได้มีการดำเนินคดีในภายหลัง ดังนั้น การออกกฎหมายนิรโทษกรรมมวลชนเสื้อแดงส่วนใหญ่จึงไม่มีความผิดที่จะให้นิรโทษฯ ขณะที่ศาลเองไม่ได้ดำเนินคดีกับมวลชนเสื้อแดงส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมชุมนุมแต่อย่างไร กฎหมายนิรโทษกรรมจึงไม่มีความจำเป็น

ในด้านกลับกัน หากนักการเมืองต้องการสร้างความปรองดองขึ้นในบ้านเมือง โดยมุ่งจะนิรโทษกรรมแกนนำเสื้อแดงรวมไปถึงแกนนำเสื้อเหลือง หรือผู้กระทำความผิดด้วยความรุนแรงในการชุมนุมทั้งสองขั้ว จนเป็นเหตุให้ต้องคดีฟ้องศาล จะต้องรอให้ศาลตัดสินพิพากษาว่า บุคคลเหล่านี้ได้กระทำความผิดจริงเสียก่อน จึงมีกรรมหรือเหตุให้รัฐบาล รัฐสภา เสนอกฎหมายนิรโทษกรรมได้

ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้ หากออกกฎหมายนิรโทษกรรม

การสร้างกระแสสังคมของพรรคเพื่อไทย พรรคร่วมรัฐบาล นักกฎหมายเสื้อแดง และแกนนำเสื้อแดง เพื่อที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่มวลชนเสื้อแดง รวมไปถึงแกนนำ และผู้ปฏิบัติงาน แล้วเอื้อประโยชน์ไปยังฝ่ายเสื้อเหลืองดังได้กล่าวแล้ว สามารถดำเนินการได้หรือไม่? ขณะที่กรรมยังไม่ได้ปรากฏจริงอย่างชัดแจ้ง ศาลไม่ได้ตัดสินความผิดอย่างถึงที่สุด หากยังมีความพยายามผลักดันกฎหมายนี้ต่อไป ผมคิดว่าจะเป็นปัญหาในข้อกฎหมาย เมื่อไม่มีความผิดจริง จะนิรโทษกรรมใครและอย่างไร?

ผลที่ตามมา เพียงแค่สมาชิกพรรคเพื่อไทยเสนอร่างพระราชบัญญัติ หรือรัฐบาลเสนอพระราชกำหนดนิรโทษกรรมประชาชนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองจนก่อให้เกิดความรุนแรง และละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คงจะมีผู้เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า สามารถร่างออกมาได้หรือไม่? ด้วยเหตุผลอะไร?.


จากคอลัมน์ "เตือนภัยไร้พรมแดน"
นสพ.ไทยโพสต์ ๑๑ ก.พ. ๒๕๕๖








"เผาเมืองมาตั้งนานแต่ความจริงยังไม่ปรากฏ"
บ.ก.นสพ.แนวหน้า


เหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ ผ่านเลยมา ๒ ปีกว่าแล้ว แต่ความจริงก็ยังไม่ปรากฏ คำถามที่สาธารณชนตั้งคำถามก็คือ ทำไมจึงไม่มีความจริงเรื่องนี้ปรากฏออกมา ถามว่า ทำไมรัฐบาลที่เกิดมาจากความสนับสนุนของคนเสื้อแดงจึงไม่สามารถทำความจริง เรื่องนี้ให้ปรากฏ ทั้งๆ ที่คนเสื้อแดงอ้างตลอดเวลาว่า คนเสื้อแดงถูกกระทำละเมิดโดยอำนาจรัฐอย่างรุนแรงและปราศจากหลักมนุษยธรรม และหลักสิทธิมนุษยชน

คนไทยส่วนใหญ่ของประเทศนี้ เป็นอะไรไปแล้วหรือ ทำไมคนไทยส่วนใหญ่จึงไม่เรียกร้อง ไม่กดดัน และไม่เร่งรัดให้รัฐบาลต้องทำความจริงเรื่องนี้ให้ปรากฏโดยเร็ว หรือคนไทยส่วนใหญ่คิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของตนเอง ตนเองไม่ใช่ผู้สูญเสีย ไม่ใช่ผู้เสียหาย หรือเราจะปล่อยให้เรื่องสำคัญเช่นนี้เงียบหายไปเหมือนที่แล้ว ๆ มา

เราได้ยินคนกลุ่มหนึ่ง ออกมาเรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรมคนทำผิดในเรื่องนี้ แต่ทว่าหลายคนก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่าใครกันแน่คือคนผิด และที่ว่าผิดนั้นผิดในเรื่องอะไร แต่ที่เราเห็นชัดๆ ก็คือเรื่องใหญ่เรื่องนี้ยังปราศจากคนรับผิดชอบอย่างเป็นรูปธรรม และเราก็เห็นเหมือนกันด้วยว่ารัฐบาลก็ไม่กระตือรือร้นที่จะทำเรื่องนี้ให้ กระจ่าง

หลายคนพูดลอย ๆ ว่าเราต้องปรองดอง เราต้องนิรโทษ กรรม แต่ไม่มีใครตอบให้ชัดว่า จะปรองดองในเรื่องอะไร และนิรโทษกรรมให้กับใคร ขอย้ำว่าความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสาธารณชนรับรู้โดยทั่วกันว่าเรา จะปรองดองกับใคร ปรองดองในเรื่องอะไร การสร้างความปรองดองมิใช่แค่เพียงการพยายามหลับหูหลับตาไม่พูดความจริง หากเรายังคิดจะสร้างความปรองดองแบบหลับหูหลับตาต่อไปแล้ว ก็อย่าหวังเลยว่าความขัดแย้งและความรุนแรงจะหมดสิ้นไปจากสังคมไทย

เราไม่ควรจงใจกลบเกลื่อนว่าสังคมไทยมีความรุนแรงขั้นวิกฤติเกิดขึ้น และเราต้องตระหนักเสมอว่าหากเราไม่สามารถให้ความเป็นธรรมกับคนทุกฝ่ายที่ตกเป็นผู้สูญเสียได้อย่างเสมอหน้าและเท่าเทียมกันแล้ว เราจะไม่มีวันลบรอยแผลเป็นที่ฝังลึกอยู่ในใจ และความรู้สึกของผู้สูญเสียได้ โดยเฉพาะผู้สูญเสียที่เข้าใจว่าตนเองคือผู้บริสุทธิ์ แต่ต้องถูกกระทำโดยปราศจากความยุติธรรม

ขอย้ำอีกครั้งว่า จงอย่าหวังว่าสังคมไทยจะมีความสุขสงบ และสันติอย่างยั่งยืน และก็ไม่ต้องหวังด้วยว่าสังคมของเราจะมีความสมัครสมานสามัคคี และเกิดความปรองดองขึ้นมาได้ หากเรายังไม่สามารถพูดความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นกับสังคมของเรา และขอย้ำด้วยว่า ตราบใดที่สังคมของเรายังไม่สามารถนำตัวบุคคลที่กระทำผิดต่อบ้านต่อเมือง และต่อประชาชนไปลงโทษตามขั้นตอนและกระบวนการตามหลักยุติธรรมสากลได้แล้ว ก็อย่าหวังเลยว่าบ้านเมืองนี้จะสงบสุข

การพยายามจงใจใช้อำนาจรัฐบิดเบือนความจริงของสังคม การใช้อำนาจรัฐออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับคนทำผิด เพราะผู้มีอำนาจรัฐหลงลำพองว่าเมื่อมีอำนาจรัฐแล้วจะทำอะไรกับบ้านเมืองนี้ ก็ได้ นี่คือมูลเหตุสำคัญที่จะทำให้บ้านเมืองของเรายอมหวนกลับไปสู่ความรุนแรงอีกครั้งโดยมิต้องสงสัย อีกทั้งยังทำให้ผู้ทำผิดย่ามใจ ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย เพราะเชื่อว่า เมื่อยึดกุมอำนาจรัฐได้แล้ว ตนเองสามารถลบล้างความผิดใด ๆ ที่ตนจงใจก่อขึ้นได้โดยไม่ยากเย็น

ขอยืนยันว่า เหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองที่เกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๓ เป็นเรื่องจริง และมีหลักฐานต่าง ๆ นานามากมายที่ยืนยันได้ว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุวินาศกรรมครั้งนั้นบ้าง แต่คำถามก็คือทำไมรัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงไม่พยายามทำความจริงเรื่องนี้ให้ปรากฏ รัฐบาลจะอ้างความไม่รับผิดชอบในเรื่องนี้อย่างไรมิทราบ ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันรัฐบาลยึดกุมอำนาจรัฐได้อย่างเบ็ดเสร็จแล้ว


จากนสพ.แนวหน้า ๑๕ ก.พ. ๒๕๕๖








"นิรโทษ-ปรองดอง อย่างไหนต้องมาก่อนหลัง"
กองบ.ก.นสพ.ไทยโพสต์


เวลานี้มีข้อถกเถียงกันมากว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่แยกประชาชนออกเป็นฝักฝ่ายนี้ต้องแก้ไขปัญหาด้วยการนิรโทษกรรมบุคคลที่ทำผิดกฎหมายก่อนเพื่อนำไปสู่การปรองดอง หรือต้องทำให้สังคมเกิดการปรองดองกันก่อนแล้วค่อยออกกฎหมายนิรโทษกรรม

สังคมไทยอาจคุ้นเคยกับการนิรโทษกรรม แต่ไม่คุ้นกับการสร้างความปรองดอง เพราะเราไม่เคยขัดแย้งรุนแรง และแตกหักมากอย่างเช่นในปัจจุบันมาก่อน นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ มาจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยเคยออกกฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมมาแล้ว ๒๒ ครั้ง

ครั้งแรกคือ พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๗๕ ประกาศโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวที่คณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จ โดยให้การกระทำทั้งหลายของคณะราษฎรที่เป็นการละเมิดกฎหมาย ไม่ให้เป็นการละเมิดบทกฎหมายเลย

และครั้งที่ ๒๒ ครั้งสุดท้าย ที่ประเทศไทยมีการนิรโทษกรรม บัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕o ในมาตรา ๓o๙ ที่ว่า “บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้”

แต่ส่วนใหญ่ของการนิรโทษกรรม คือการนิรโทษกรรมให้กับคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติรัฐประหาร จะมีแปลกไปบ้างคือ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการต่อต้านการดำเนินการสงครามของญี่ปุ่น พ.ศ. ๒๔๘๙ ออกโดยนายปรีดี พนมยงค์ เป็นการยกโทษให้แก่ผู้ที่ต่อต้านญี่ปุ่นในครั้งที่ญี่ปุ่นเข้ามาไทย ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒

เมื่อเราไม่คุ้นเคยกับการสร้างความปรองดอง ถ้าไม่ตั้งหลักให้ดี ปัญหานี้จะกลายเป็น ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน แต่หากพิจารณาอย่างรอบคอบ มองปัญหาให้รอบด้าน จะพบว่าสังคมสันติสุขนั้นจะต้องเริ่มต้นด้วยการปรองดองกันก่อน แม้จะยากที่จะทำให้แต่ละฝ่ายปรองดองกันได้ แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาเกิดสัญญาณที่ดี เมื่อตัวแทนของประชาชนแต่ละฝ่าย ทั้งเหลืองและแดงร่วมโต๊ะเดียวกัน เพื่อหารือการออกกฎหมายนิรโทษกรรม

แม้ไม่อาจเรียกว่าปรองดองได้เต็มปาก แต่ทำให้เห็นว่า หากไม่นั่งโต๊ะเดียวกันเพื่อคุยปัญหาร่วมกัน ความขัดแย้งก็ไม่อาจแก้ไขได้ ฉะนั้นที่ต่างฝ่ายต่างเสนอพระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนด นิรโทษกรรม โดยไม่มีการหารือกันทั้งสังคม ก็ยากที่จะนำไปสู่การนิรโทษกรรมได้

มีการนิรโทษกรรมครั้งหนึ่งที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากที่สุด นั่นคือ พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ถึงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ออกโดย พลเอกสุจินดา คราประยูร ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ โดยให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนั้นพ้นผิดทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่เข้าชุมนุม และทหารที่ทำการปราบปรามประชาชน

แต่การนิรโทษกรรมในครั้งนั้น แม้ประชาชนจะพ้นความผิดทั้งหมด แต่ผู้ที่สังหารประชาชน รวมถึงผู้สั่งการก็พ้นความผิดไปด้วย หากนำมาใช้ในสถานการณ์ปัจจุบันจะยิ่งเกิดความขัดแย้งหนักขึ้นกว่าเดิม เพราะการนิรโทษกรรมทุกความผิดที่เกิดจากการชุมนุม แทบทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ยกเว้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คนเดียว ที่มีคดีคอรัปชั่นติดตัวมากมาย

เราพูดกันมามากแล้วว่า แนวทางการนิรโทษกรรมควรเป็นแบบไหน แต่สุดท้ายหาแนวทางที่ลงตัวไม่ได้ เนื่องจากแต่ละฝ่ายต้องการให้ฝ่ายของตนเองได้ประโยชน์มากที่สุด นั่นเพราะไม่มีการนั่งหารือร่วมกันให้เป็นเรื่องเป็นราวนั่นเอง การหารือร่วมกันอย่างเป็นทางการจะเป็นประตูเปิดไปสู่ความปรองดอง และเมื่อหารือจนถึงจุดที่ทุกฝ่ายยอมรับกันได้ การปรองดองก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เมื่อนั้นก็สามารถนิรโทษกรรมได้ แต่การที่จะเดินไปสู่จุดนั้นไม่ง่ายเลย ถ้าไม่เริ่มเสียตั้งแต่วันนี้.


จากนสพ.ไทยโพสต์ ๑๓ ก.พ. ๒๕๕๖








"แร้งลงที่ดงขมิ้น"
เปลว สีเงิน



จากคอลัมน์ "มิติโลกาภิวัฒน์"
นสพ.ไทยโพสต์ ๑ มี.ค. ๒๕๕๖








"เผาเมืองมาตั้งนานแต่ความจริงยังไม่ปรากฏ"
บ.ก.นสพ.แนวหน้า


เหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ ผ่านเลยมา ๒ ปีกว่าแล้ว แต่ความจริงก็ยังไม่ปรากฏ คำถามที่สาธารณชนตั้งคำถามก็คือ ทำไมจึงไม่มีความจริงเรื่องนี้ปรากฏออกมา ถามว่า ทำไมรัฐบาลที่เกิดมาจากความสนับสนุนของคนเสื้อแดงจึงไม่สามารถทำความจริง เรื่องนี้ให้ปรากฏ ทั้งๆ ที่คนเสื้อแดงอ้างตลอดเวลาว่า คนเสื้อแดงถูกกระทำละเมิดโดยอำนาจรัฐอย่างรุนแรงและปราศจากหลักมนุษยธรรม และหลักสิทธิมนุษยชน

คนไทยส่วนใหญ่ของประเทศนี้ เป็นอะไรไปแล้วหรือ ทำไมคนไทยส่วนใหญ่จึงไม่เรียกร้อง ไม่กดดัน และไม่เร่งรัดให้รัฐบาลต้องทำความจริงเรื่องนี้ให้ปรากฏโดยเร็ว หรือคนไทยส่วนใหญ่คิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของตนเอง ตนเองไม่ใช่ผู้สูญเสีย ไม่ใช่ผู้เสียหาย หรือเราจะปล่อยให้เรื่องสำคัญเช่นนี้เงียบหายไปเหมือนที่แล้ว ๆ มา

เราได้ยินคนกลุ่มหนึ่ง ออกมาเรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรมคนทำผิดในเรื่องนี้ แต่ทว่าหลายคนก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่าใครกันแน่คือคนผิด และที่ว่าผิดนั้นผิดในเรื่องอะไร แต่ที่เราเห็นชัดๆ ก็คือเรื่องใหญ่เรื่องนี้ยังปราศจากคนรับผิดชอบอย่างเป็นรูปธรรม และเราก็เห็นเหมือนกันด้วยว่ารัฐบาลก็ไม่กระตือรือร้นที่จะทำเรื่องนี้ให้กระจ่าง

หลายคนพูดลอยๆ ว่าเราต้องปรองดอง เราต้องนิรโทษ กรรม แต่ไม่มีใครตอบให้ชัดว่า จะปรองดองในเรื่องอะไร และนิรโทษกรรมให้กับใคร ขอย้ำว่าความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสาธารณชนรับรู้โดยทั่วกันว่าเรา จะปรองดองกับใคร ปรองดองในเรื่องอะไร การสร้างความปรองดองมิใช่แค่เพียงการพยายามหลับหูหลับตาไม่พูดความจริง หากเรายังคิดจะสร้างความปรองดองแบบหลับหูหลับตาต่อไปแล้ว ก็อย่าหวังเลยว่าความขัดแย้งและความรุนแรงจะหมดสิ้นไปจากสังคมไทย

เราไม่ควรจงใจกลบเกลื่อนว่าสังคมไทยมีความรุนแรงขั้นวิกฤติเกิดขึ้น และเราต้องตระหนักเสมอว่าหากเราไม่สามารถให้ความเป็นธรรมกับคนทุกฝ่ายที่ตกเป็นผู้สูญเสียได้อย่างเสมอหน้าและเท่าเทียมกันแล้ว เราจะไม่มีวันลบรอยแผลเป็นที่ฝังลึกอยู่ในใจ และความรู้สึกของผู้สูญเสียได้ โดยเฉพาะผู้สูญเสียที่เข้าใจว่าตนเองคือผู้บริสุทธิ์ แต่ต้องถูกกระทำโดยปราศจากความยุติธรรม

ขอย้ำอีกครั้งว่า จงอย่าหวังว่าสังคมไทยจะมีความสุขสงบ และสันติอย่างยั่งยืน และก็ไม่ต้องหวังด้วยว่าสังคมของเราจะมีความสมัครสมานสามัคคี และเกิดความปรองดองขึ้นมาได้ หากเรายังไม่สามารถพูดความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นกับสังคมของเรา และขอย้ำด้วยว่า ตราบใดที่สังคมของเรายังไม่สามารถนำตัวบุคคลที่กระทำผิดต่อบ้านต่อเมือง และต่อประชาชนไปลงโทษตามขั้นตอนและกระบวนการตามหลักยุติธรรมสากลได้แล้ว ก็อย่าหวังเลยว่าบ้านเมืองนี้จะสงบสุข

การพยายามจงใจใช้อำนาจรัฐบิดเบือนความจริงของ สังคม การใช้อำนาจรัฐออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับคนทำผิด เพราะผู้มีอำนาจรัฐหลงลำพองว่าเมื่อมีอำนาจรัฐแล้วจะทำอะไรกับบ้านเมืองนี้ ก็ได้ นี่คือมูลเหตุสำคัญที่จะทำให้บ้านเมืองของเรายอมหวนกลับไปสู่ความรุนแรงอีกครั้งโดยมิต้องสงสัย อีกทั้งยังทำให้ผู้ทำผิดย่ามใจ ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย เพราะเชื่อว่า เมื่อยึดกุมอำนาจรัฐได้แล้ว ตนเองสามารถลบล้างความผิดใด ๆ ที่ตนจงใจก่อขึ้นได้โดยไม่ยากเย็น

ขอยืนยันว่า เหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองที่เกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๓ เป็นเรื่องจริง และมีหลักฐานต่างๆ นานามากมายที่ยืนยันได้ว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุวินาศกรรมครั้งนั้นบ้าง แต่คำถามก็คือทำไมรัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงไม่พยายามทำความจริงเรื่องนี้ให้ปรากฏ รัฐบาลจะอ้างความไม่รับผิดชอบในเรื่องนี้อย่างไรมิทราบ ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันรัฐบาลยึดกุมอำนาจรัฐได้อย่างเบ็ดเสร็จแล้ว


จากนสพ.แนวหน้า ๑๕ ก.พ. ๒๕๕๖








"ไส้ในนปช."
สารส้ม


แดงเดือด แดงด่าแดง แกนนำเสื้อแดงแตกคอกัน

ล่าสุด ถึงขนาดรวมหัวแถลงข่าว รุมกินโต๊ะนายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร หัวหมู่ทะลวงฟันอีกคนหนึ่งของขบวนการเอาทักษิณกลับบ้าน

โดยที่อีกฝ่าย มีนางธิดา โตจิราการ ประธาน นปช. เป็นหัวขบวน อุ้มชูโดยสามีสุดที่รัก นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย นายนิสิต สินธุไพร ผู้อำนวยการโรงเรียน นปช.แดงทั้งแผ่นดิน รวมถึงนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำเสื้อแดงผู้อกหักจากตำแหน่งรัฐมนตรี ร่วมกันแถลงรุมกินโต๊ะนายขวัญชัย

เรียงหน้าด่า ราวกับนายขวัญชัยเป็นขอทานที่พลัดหลงเข้ามาขอส่วนบุญ!

หาว่าเป็นตัวสร้างความแตกแยก เพียงเพราะบังอาจวิจารณ์เมียหมอเหวง


๑) ก่อนหน้านี้ นายขวัญชัยออกมาวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมของนางธิดา บอกว่า

“นางธิดาไม่ได้มาจากแดงแท้ แค่พวกอยากดังขึ้นมาเป็นประธาน นปช.ทั้งที่ไม่มีมวลชน วางมาดเป็นนางพญา พยายามสร้างราคาให้คนดูไบเห็น หวังได้ตำแหน่งอย่างแกนนำรุ่นแรก เลยเอาคนตาย คนติดคุกมาหากิน ปลุกระดมมวลชน ทุกวันนี้ นปช.เสื่อมลงเรื่อย ๆ เคลื่อนไหวโดยไม่ฟังคนแดนไกล ทั้งที่ขับเคลื่อนด้วยเงินของคนแดนไกล หลงตัวเองว่ารัฐบาลชุดนี้เกิดได้เพราะเสื้อแดง เสื้อแดงเป็นของคุณเหรอ มันไม่ใช่”

น่าคิดว่า สิ่งที่นายขวัญชัยพูดข้างต้น มีตรงไหนไม่จริงบ้าง?

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นที่นายขวัญชัยเปิดเผยออกมาแบบตรง ๆ ว่า ขบวนการเสื้อแดงนั้น “ขับเคลื่อนด้วยเงินของคนแดนไกล”

เป็นไปได้มากที่สุด คือ ความจริงอาจเสียดแทงจิตใจของแกนนำเสื้อแดงที่อาจจะสูญเสียผลประโยชน์ส่วนตัวจากการออกมาพูดของนายขวัญชัย

ทนเห็นภาพสะท้อนของตัวเองในคำพูดของนายขวัญชัยไม่ไหว!


๒) ความจริง ไม่เฉพาะนายขวัญชัยเท่านั้นที่รู้สึกอึดอัดกับพฤติกรรมของก๊วนนางธิดา

นายชินวัฒน์ หาบุญพาด สส.พรรคเพื่อไทย แกนนำเสื้อแดงอีกคน ก็เคยมีปัญหากับนางธิดา

ถึงกับระบุว่า นางธิดามีพฤติกรรมส่วนตัวบางอย่างที่มีลักษณะคล้าย ๆ กับเผด็จการ และควรกระจายอำนาจไปคนอื่นบ้าง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า แกนนำเสื้อแดงหลายคนที่เคยนั่งเรียงแถวร่วมแถลงข่าว เช่น พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรรัตน์ นายพายัพ ปั้นเกตุ ช่วงหลังก็แยกออกไปตั้งกลุ่มของตัวเองกันหมด

ส่วนนายเทพพนม นามลี ประธานกลุ่มนปช.-เสื้อแดงสุรินทร์ ก็ออกมาประกาศปลดแอก

บอกว่า นางธิดา ประธาน นปช.มาจากการเลือกตั้งที่ไม่ถูกต้อง พูดจากลับกลอก เคยรับปากว่าจะจัดการเลือกตั้ง ประธาน นปช.ที่จังหวัดสุรินทร์ก็ไม่มา การบริหารงานไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นเผด็จการ

“มวลชนคนเสื้อแดง ๒o จังหวัดภาคอีสาน จะไม่เป็นลูกหม้อ นปช.แดงทั้งแผ่นดินอีกต่อไป”


๓) ความแตกแยกที่ปรากฏชัดเจนขึ้นทุกวัน ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลย

ฝ่ายที่ไม่พอใจพฤติกรรมกุมอำนาจบาตรใหญ่ของก๊วนนายจตุพรและนางธิดา ก็มีไม่น้อย

หลายคนมองว่า ตนเองเป็นผู้ลงแรง ลงทำงานกับมวลชนในพื้นที่ แต่อีกฝ่ายกลับชุบมือเปิบ เอาหน้า เอาผลงานอวดอ้างเอากับนายใหญ่ เหมือนทำนาบนหลังคนเสื้อแดงด้วยกัน

คนอย่าง นพ.เหวงถึงกับได้ออกทีวีแดง พล่ามพูดจาเหวงๆ ทั้งผัวทั้งเมีย ก็ด้วยตำแหน่ง “ประธาน นปช.”

นายจตุพรก็แสดงความกระเหี้ยนกระหือรือ อยากจะเป็นรัฐมนตรี ตัวพองออกนอกหน้า เป็นดาราหน้าจอ รับคิวออกงานของคนเสื้อแดง ทำตนเสมือนวีรบุรุษ ทั้ง ๆ ที่ วันประกาศเลิกเวทีราชประสงค์ ๑๙ พ.ค. ๒๕๕๓ ขาพับขาอ่อน หลบไปซุกอยู่ใต้การดูแล ตชด. ปล่อยให้มวลชนปฏิบัติการเสี่ยงกันเอง ฯลฯ

มองดูเหมือนทุกคนจะมีวาระส่วนตัว มีเป้าหมายที่เป็นผลประโยชน์ส่วนตัวกันเสียทั้งหมดทั้งสิ้น

แม้แต่นายจตุพร ช่วงหนึ่งก็เคยออกอาการตาเขียวใส่นางธิดา เมื่อตอนที่มีข่าวการพบปะเจรจาระหว่างนางธิดา (รักษาการประธาน นปช.) กับ นายกฯ อภิสิทธิ์ นายจตุพรถึงกับกระโดดออกมาส่งเสียงโครกคราก ทำตาขวาง

พูดจาในเชิงตีกันว่า “การพบกันของนางธิดากับนายอภิสิทธิ์นั้นถือเป็นเรื่องส่วนตัวแน่นอน เพราะหากจะมีการเจรจากับรัฐบาล มันก็ต้องมีการพูดคุยกันก่อน เพราะเราทำงานกันเป็นองค์กรในรูปแบบของคณะกรรมการ ดังนั้น การพบกันครั้งนี้จึงเป็นเรื่องของบุคคล เมื่อรักษาการประธาน นปช.ยืนยันมาว่าบังเอิญ เราก็ต้องให้เกียรติกัน และมันคงไม่บังเอิญทุกครั้ง”

พูดง่าย ๆ ว่า ตอนนั้นก็กลัวถูกทิ้งเหมือนกัน

ไม่แปลกที่วันนี้ ต่างคนต่างพยายาม “จับมวลชนเป็นตัวประกัน” เพื่อต่อรองผลประโยชน์จากคนทางไกล เพราะคนทางไกล ก็พยายาม “จับคนเสื้อแดงที่ต้องคดีเป็นตัวประกัน” เพื่อล้างผิดคดีของตนเองเช่นกัน


๔) ภาวะแตกแยกรุนแรงระหว่างแกนนำเสื้อแดงเวลานี้ ทำให้ย้อนนึกวิวาทะ “หมาเน่าลอยน้ำ” ในอดีต

ตอนนั้น ฝ่าย เสธ.แดง และพลเอกพัลลภ ปิ่นมณี ก็ถูกนายจตุพรจิกหัวด่าเสียหมดศักดิ์ศรีมาแล้ว

เมื่อปี ๒๕๕๓ นายจตุพรบอกว่า “วันนี้ถึงจุดที่ เสธ.แดงจะต้องหยุด ถ้าไม่หยุดก็จะมีการกระชากหน้ากากกัน บางคนแต่งชุดนักรบก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นนักรบ บางคนดูเหมือนของจริง แต่เป็นของปลอมก็เยอะ อย่างพวกเราไม่ใช่นักรบ แต่โดนมา ๓o คดีไม่เคยหนี แต่บางคนใส่ชุดทหาร บอกว่าตัวเองเป็นนักรบ แค่จะโดนออกหมายจับก็หนีไปเกดะห์ ประเทศมาเลเซีย อย่างนี้หรือนักรบ แล้วจะให้เราไปเชื่ออะไรได้ วันนี้ถึงวันที่คนเสื้อแดงจะต้องมานั่งคุยกันว่าอะไรของจริง อะไรของปลอม บางคนตอนแรกก็นึกว่าขอนไม้เลยไปเกาะ แต่พอเกาะไปแล้วสุดท้ายไม่ใช่ขอนไม้ เป็นแค่หมาเน่าตัวหนึ่งเท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม หลังจาก เสธ.แดงถูกยิงตาย นายเมธี อมรวุฒิกุล ลูกน้องของ เสธ.แดง ก็เคยออกมาลากไส้นายจตุพรเสียยับเยิน บอกว่า “...ไอ้แกน(นำ)นับเงินบริจาค ก็คือไอ้คนที่ชื่อจตุพร มันเป็นคนใจมด ภาษามวยเรียกใจหมา เวลามันจะไปนำใครที่ไหน ถ้าตรงไหนมีสนามรบไอ้นี่มันจะไม่ไป ยกตัวอย่างที่โรงเรียนสตรีวิทย์ ที่ผ่านฟ้าฯ แต่ตัวมันอยู่ที่ราชประสงค์ พวกผมรู้มือดีกันอยู่ ตอนเที่ยงวันที่ ๑o เมษาฯ จตุพรโทรไปหาเสธ.แดง (ขัตติยะ สวัสดิผล) ขอร้องให้เสธ.แดงช่วยเช็กข่าวหน่อย เพราะมันได้ข่าวลึกมาว่าทหารนำกำลังออกมาแล้ว ก่อนหน้านั้นมันด่าเสธ.แดงเป็นหมูเป็นหมา เห็นลอยน้ำมานึกว่าเป็นขอนไม้ แต่ที่ไหนได้เป็นหมาเน่า ด่าพล.อ.พัลลภ (ปิ่นมณี) ด่าพี่เอก-จักรภพ เพ็ญแข ด่าอาจารย์สุรชัย แซ่ด่าน มันด่าทุกคน มันสกัดทุกคน คือไอ้นี่มันใจมด, ใจไม่สู้ ใจนิดเดียว คือไม่มีน้ำใจ ใจคอคับแคบ...”

พิจารณาแล้ว ก็ได้แต่สะอิดสะเอียน ไม่รู้จะเชื่อฝ่ายไหน

ห่วงว่าจะฆ่ากันตายเสียอีก

และถึงวันนี้ นับวันคนไทยก็ยิ่งเห็น “ไส้ใน” ของคนพวกนี้ มากขึ้นเรื่อยๆ


จากคอลัมน์ "กวนน้ำให้ใส"
นสพ.แนวหน้า ๑๕ ก.พ. ๒๕๕๖








"กฎหมายต้องศักดิ์สิทธิ์ คนโกงชาติ คนเผาเมืองต้องติดคุก"
บ.ก.นสพ.แนวหน้า


คนบางฝ่ายเรียกร้องให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ผู้จงใจกระทำความผิดต่อบ้านต่อเมือง โดยอ้างแบบไร้ตรรกะว่า นิรโทษกรรมเพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดในบ้านเมือง เพื่อบ้านเมืองจะได้สงบสุข และก้าวต่อไป บางฝ่ายก็ยืนยันว่า ไม่คัดค้านการนิรโทษกรรมคนบริสุทธิ์ที่ถูกจับกุมคุมขังโดยไม่เป็นธรรม และจำเป็นต้องเยียวยาชดเชยคนกลุ่มนี้ให้เหมาะสมกับการที่เขาต้องสูญเสียอิสรภาพ แต่ก็ย้ำว่าไม่มีวันยอมปล่อยให้คนจงใจทำผิดคิดร้ายเผาบ้านเผาเมือง และโกงบ้านกินเมืองได้รับอภัยโทษหรือนิรโทษกรรมอย่างเด็ดขาด

นักการเมืองในซีกพรรคเพื่อไทยมักจะอ้างเพื่อผลประโยชน์ของตนเองว่า ผู้คัดค้านการนิรโทษกรรมคือคนที่ยังไม่ยอมมองข้ามคุณทักษิณ ชินวัตร แล้วกล่าวหาด้วยว่า คนที่คัดค้านเรื่องนี้คือผู้มีทิฐิ และหวาดระแวง จึงทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาความแตกแยกของบ้านเมืองได้

กลุ่มคนที่พยายามผลักดันให้มีการนิรโทษกรรมให้จงได้ อ้างเสมอ ๆ ว่ากลุ่มตนเองจริงใจ สุจริตใจ ไม่มีอะไรแอบแฝง ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง แต่ไม่สามารถตอบให้ชัดเจนว่า จะนิรโทษกรรมให้กับคนกลุ่มใด แต่กลับพยายามพูดแบบตีขลุม เหมารวมว่าต้องนิรโทษกรรม

โดยหลักการสากลแล้ว การจะทำให้บ้านเมืองเกิดความสมานฉันท์อย่างแท้จริง ต้องอยู่บนพื้นฐานของความสุจริต จริงใจ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และจะต้องกล้าเปิดเผยทุกสิ่งทุกอย่าง แต่การปกปิด ซ่อนเร้น คลุมเครือ และการเล่นเกมการเมืองเพื่อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มของตนเอง ไม่มีวันทำให้บ้านเมืองสุขสงบ และเกิดสันติสุขได้อย่างแน่นอน

การแก้ปัญหาของบ้านเมืองเพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดกับคนทุกฝ่าย จำเป็นต้องอาศัยปัญญาและเหตุผล ประกอบกับความสุจริตใจ และที่สำคัญคือต้องเปิดเผยให้ชัดเจนว่า ใครคือผู้ทำให้บ้านเมืองเกิดความโกลาหลวุ่นวาย และจำเป็นต้องนำผู้ทำผิดไปลงโทษให้ได้เสียก่อน

มิใช่อยู่ดี ๆ ก็อ้างลอย ๆ ว่าต้องให้อภัยโทษ ต้องนิรโทษกรรม เพราะหากอ้างเช่นนี้แล้ว เราจำเป็นจะต้องไปถามหาความถูกต้องชอบธรรมให้เสียเวลาทำไม เพราะไม่ว่าใครก็ตามเมื่อทำผิดต่อบ้านต่อเมืองแล้วก็จะออกมาเรียกร้องให้นิรโทษกรรมหรือให้อภัยโทษกับตนเองทั้งสิ้น

บ้านเมืองนี้ต้องมีกฎระเบียบ มีขื่อมีแป หากละเมิดกฎหมายแล้วไม่ต้องรับผิด ก็ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายอีกต่อไป หากใครปลุกระดมให้คนเผาบ้านเผาเมือง ปลุกระดมให้กระทำละเมิดกฎหมาย ปลุกระดมให้ล้มล้างรัฐบาล ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ปลุกระดมให้ไปเข่นฆ่ากระทำย่ำยีต่อใครๆ แล้วผู้นั้นไม่มีความผิด แต่กลับได้เป็นใหญ่เป็นโตในบ้านเมืองหรือหนีไปอยู่นอกประเทศ แล้วอย่างนี้สังคมไทยจะสงบสุขได้อย่างไร


จากนสพ.แนวหน้า ๑๖ ก.พ. ๒๕๕๖








"นิรโทษกรรม"
เฒ่า ๗๒


เรียน คุณอัตถ์ อัตนัย ที่นับถือ

ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมผู้ซึ่งกระทำผิดเนื่องในการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนที่ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ประธาน คอ.นช. เสนอต่อคณะรัฐมนตรีนั้นสาระสำคัญใน มาตรา ๓ มีว่า

"ให้บรรดาการกระทำใด ๆ ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่ห้ามชุมนุม การกล่าววาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใดเพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการประท้วงด้วยวิธีการใด ๆ อันเป็นการกระทำต่อร่างกาย หรือทรัพย์สินของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ จนถึงวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔ ไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้กระทำนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง

การกระทำในวรรคหนึ่งไม่รวมถึงการกระทำใด ๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงเวลาดังกล่าว และไม่รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจตามกฎหมายในการรักษาความสงบหรือยุติเหตุการณ์นั้น"

เนื่องจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้นิยามคำว่า ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง คือ ผู้ใด ดังนั้นเมื่อถูกตั้งข้อสงสัยจากสื่อมวลชน ดร.อุกฤษ ผู้ร่าง จึงได้แถลงว่า หมายถึง แกนนำ ผู้มีอำนาจ การตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวในทางการเมืองด้วย

ครับ.....ขอวิจารณ์ ๔ ประเด็นน้อย ๆ

๑. การตีความของ ดร.อุกฤษ ชอบด้วยหลักการตีความตามกฎหมายหรือไม่?

การตีความกฎหมายจะต้องตีความตามตัวอักษรโดยเคร่งครัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔ ดังนั้นผู้มีอำนาจสั่งการทางการเมืองตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ย่อมหมายถึง ผู้มีอำนาจสั่งการได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ได้แก่ นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีอำนาจสั่งการได้ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.ก.การบริหารราชการในภาวะฉุกเฉิน ฯลฯ

ส่วนผู้เป็น แกนนำ ผู้สั่งการเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่มีกฎหมายใดรองรับการใช้อำนาจ จะหมายถึงผู้มีอำนาจให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้ คำแถลงของ ดร.อุกฤษเป็นการ ขยายความเพิ่มเติมตัวบท ไม่ชอบด้วยหลักการตีความตาม มาตรา ๔ ป.พ.พ. ผู้มีอำนาจตีความกฎหมายคือ ศาลยุติธรรม ผู้วินิจฉัยคดีที่จะชี้ว่ารวมถึงแกนนำด้วยหรือไม่?

๒. ผู้มีอำนาจฟ้องคดีจะดำเนินคดีแก่แกนนำได้หรือไม่?

เมื่อการนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งไม่รวมถึง แกนนำ ดังที่ ดร.อุกฤษแถลงแล้วนั้น บรรดาแกนนำที่มีพฤติกรรมดังที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่งย่อมไม่ได้รับการนิรโทษกรรมตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ เจ้าพนักงาน พนักงานอัยการ หรือผู้เสียหาย ย่อมมีอำนาจตาม มาตรา ๒๘ ป.วิ. อาญา.

๓. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับนี้ใช้บังคับแก่ผู้กระทำความผิดทางอาญาด้วยหรือไม่?

เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวใน มาตรา ๓ วรรคหนึ่ง คือตั้งแต่วันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ ถึงวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ผู้ชุมนุมหลายคนได้กระทำความผิดฐานดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ความผิดฐานวางเพลิงโรงเรียนและสถานที่ราชการ และความผิดฐานลักทรัพย์ ซึ่งเป็นความผิดหลายบทหลายกระทง และ เป็นความผิดที่มิได้ระบุไว้ในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มาตรา ๓ วรรคหนึ่ง ฉะนั้น จะตีขลุมเหมารวมให้ได้รับนิรโทษกรรมด้วยไม่ได้

๔. ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ตราขึ้นเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ตามวัตถุประสงค์ที่อ้างในเหตุผลของการตรา พ.ร.บ.นี้หรือไม่?

ความใน มาตรา ๓ วรรคหนึ่ง ระบุถึงการกระทำความผิดที่ได้รับการนิรโทษกรรม ได้แก่ ผู้ที่กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายห้ามชุมนุม, ผู้ต่อต้าน, ผู้ต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ, ผู้ประท้วงที่เป็นการกระทำต่อร่างกายและทรัพย์สินของบุคคลอื่น

แต่ความในวรรคสองกลับยกเว้นผู้ซึ่งมีอำนาจในการสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ว่าจะมีกฎหมายรองรับอำนาจการสั่งการหรือไม่มี รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อรักษาความสงบ หรือยุติเหตุการณ์นั้นด้วย หมายความว่าบุคคลดังกล่าวอาจถูกดำเนินคดีได้ต่อไป แม้คดีถึงที่สุดต้องรับโทษก็ไม่อยู่ในข่ายได้รับนิรโทษกรรมด้วย

ครับ...นี่คือกฎหมายปรองดอง ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานหมายถึง ตกลงกันด้วยไมตรีจิต (ของนายใหญ่)

ด้วยความนับถือ



เฒ่า ๗๒ (+๑๓)

เฒ่า ๗๒ (+๑๓) ตกลงว่า บวกไปอีก๑๓ ใช่มั้ยครับ ก็เป็น ๘๕ อีก ๑๕ ปีก็ครบ ๑๐๐ ฮ่าๆๆ

เป็นอันว่าอ่านจดหมายฉบับนี้จบก็รู้เช่นเห็นชาติ ว่านิรโทษกรรมนี้เพื่อใคร ซึ่งมันข้ามขั้นตอนไปเยอะพอควร เพราะวันนี้มีใครสารภาพผิดกันบ้างหรือยัง เมื่อไม่มีใครผิดทำไมต้องลุกลี้ลุกลนออกกฎหมายนิรโทษกรรมกันเป็นแผง ทั้งแกนนำเสื้อแดง ทั้งเพื่อไทย และนักกฎหมายแดง แข่งกันเสนอยกใหญ่

กระบวนการอภัยโทษ หรือนิรโทษกรรม จะต้องเกิดขึ้นหลังสังคมที่ขัดแย้งกันตกผลึกทางความคิดร่วมกัน ว่าจะจัดการกับปัญหาความขัดแย้งอย่างไร นั่นคือความปรองดองนั่นเอง และเมื่อเกิดความปรองดองแล้ว การนิรโทษกรรมถึงจะตามมาอย่างไร้ข้อคัดค้านหรือสงสัย

แต่เรากลับข้ามขั้นตอน นิรโทษกรรมก่อนที่สังคมจะปรองดอง แนวทางเช่นนี้รังแต่จะสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น ความขัดแย้งจะมากขึ้น แต่ก็กระเหี้ยนกระหือรือเดินเครื่องอยู่ คงคิดว่ามีเสียงข้างมากในสภาฯ จะทำอะไรก็ได้กระมัง

พรรคเพื่อไทยจะทำอะไร ขอให้ดูผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เป็นตัวอย่าง ประชาชนเสียงส่วนใหญ่ไม่ได้คิดเหมือนที่พรรคเพื่อไทยคิดไปเสียหมดนะครับ

อัตถ์ อัตนัย


จากคอลัมน์ "ถูกทุกข้อ"
นสพ.ไทยโพสต์ ๕ มี.ค. ๒๕๕๖








"นิรโทษกรรมอำพราง"
กมลศักดิ์ ตั้งธรรมนิยม


เรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมยังเป็น”ประเด็นร้อน” ที่แต่ละฝ่าย “เห็นแตกต่าง” และแต่ละฝ่าย “ไม่ยอมกัน” มาตลอด เพราะระแวงว่าจะเกิดรายการ “สับขาหลอก” หรือเกิดยุทธการ “ม้าเมืองทรอย” หรือเกิดกลยุทธ “ซ่อนดาบคมในเสื้อคลุม” จนกลายเป็นเกมชักคะเย่อยาวนานของหลายฝ่ายและหาความลงตัวไม่ได้และหาความลงตัวไม่ได้

แม้จะมีผู้จุดประกาย “นิรโทษกรรมให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่มาชุมนุมทางการเมืองโดยฝ่าฝืนกฎหมายห้ามชุมนุม แต่ไม่นิรโทษกรรมไปถึงการกระทำของผู้มีอำนาจสั่งการในความเคลื่อนไหวดังกล่าวและเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้อำนาจตามกฎหมายในการรักษาความสงบ”

พูดให้ชัด ทุกฝ่ายเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมให้ชาวบ้านแต่ไม่นิรโทษกรรมให้แกนนำเสื้อเหลือง แกนนำเสื้อแดง นายห้างผู้อยู่แดนไกล และรัฐบาลเดอะมาร์ค

เล่นแยกส่วนให้เห็นชัด ๆ กันแบบนี้ ทุกฝ่ายทำท่า “จะเอาด้วย”

แต่วันนี้บรรดากูรูทางกฎหมายต่างออกมากระตุกขากางเกง โดยระบุว่า “ฟังอย่างผิวเผินการนิรโทษกรรมเฉพาะผู้ที่ร่วมชุมนุมทางการเมืองโดยบริสุทธิ์ ไม่รวมถึงผู้ที่สั่งการหรือผู้มีอำนาจตัดสินใจ คล้ายกับตรงกับเจตนาของทุกฝ่ายที่จะนิรโทษกรรมให้เฉพาะชาวบ้าน แต่ลึกลงไปแล้ว นี่คือนิรโทษกรรมอำพรางชัด ๆ”

กูรูทางกฎหมายอาญาอธิบายว่า “เป็นนิรโทษกรรมอำพราง” ตรงที่สุดท้ายผู้สั่งการและแกนนำพากันรอดพ้นจากคามผิดตามชาวบ้านไปด้วย

กูรูชี้ว่า ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๗ บัญญัติว่า “ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้บังคับ ขู่เข็ญ จ้างวานให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้บังคับ ขู่เข็ญ จ้างวาน หรือยุยงส่งเสริมหรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเหมือนตัวการ”

ดังนั้น หากการกระทำของผู้ถูกใช้ “ไม่เป็นความผิด” เพราะมีกฎหมายนิรโทษกรรมให้ ย่อมจะทำให้ผู้ใช้หรือตัวการ “ไม่ได้กระทำผิด” ด้วย

กูรูทางกฎหมายอาญาได้สรุปว่า ตรงนี้แหละถือเป็น “นิรโทษกรรมอำพราง” อีหรอบเดียวกับเปิดไฟเขียวให้รถเล็กผ่านตลอด แต่รถเล็กลากรถใหญ่ไปด้วย ย่อมจะทำให้รถใหญ่ผ่านตามรถเล็กอย่างยับยั้งไม่ได้

ด้วยกระการฉะนี้ การจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้เฉพาะประชาชนผู้บริสุทธิ์ ก็มาเจอะทางตันเข้าอีกจนได้ เกมชักคะเย่อทางการเมืองคงไม่จบเกมง่าย ๆ อย่างที่ใครคาดหวัง


จากคอลัมน์ "เลียบวิภาวดี"
นสพ.แนวหน้า ๒o ก.พ. ๒๕๕๖








"ปฏิทินทักษิณ นิรโทษแล้วเสวยสุข"
กองบก.นสพ.ไทยโพสต์


หลังจบเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครชนิดที่คูหาเลือกตั้งยังไม่ทันได้รื้อเพื่อเก็บ พรรคเพื่อไทยเดินหน้าจุดประเด็นออกกฎหมายนิรโทษกรรมในทันที เพราะต่างก็รู้ความจริงว่าไม่อาจผลักดันเรื่องนี้ได้ในระหว่างเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เนื่องจากอาจทำให้เสียคะแนน นี่คือการวางปฏิทินการเมืองเอาไว้ตั้งแต่ต้นว่า จะทำอะไรช่วงไหน และเพื่อประโยชน์ของใคร

โดยพฤติกรรมของพรรคเพื่อไทย แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งแล้วว่า พรรคการเมืองนี้มีความจริงใจต่อประชาชนและพูดความจริงกับประชาชนมากแค่ไหน และรัฐบาลมักใช้ตรรกะคล้ายๆ กันนี้ในการบริหารราชการแผ่นดิน หลายเรื่องมีความสำคัญ ถึงขั้นชี้เป็นชี้ตายประเทศ แต่รัฐบาลกลับมองเฉพาะผลประโยชน์ของตนเองเป็นที่ตั้ง เช่น กรณี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ไม่ยอมเดินทางลงไปในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยอ้างว่าหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้เสร็จสิ้นเสียก่อน และเลื่อนออกไปเรื่อยๆ โดยอ้างว่ามีการวางแผนวางระเบิด ๕o จุด ส่งท้ายอยู่

แน่นอนว่าเมื่อผ่านพ้นฤดูกาลต้องการคะแนนเสียงไปแล้ว หลังจากนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะตามมา และมิได้แก้ไขเพื่อความเป็นประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น แต่เป็นการแก้ไขเพื่อทำลายระบบตรวจสอบการเข้าสู่อำนาจ และการใช้อำนาจของนักการมือง เป็นการทำให้รัฐธรรมนูญอ่อนแอลง ที่แน่ชัดแล้วคือ การรื้อระบบศาลเสียใหม่ โดยเฉพาะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่น่าจะมีอีกแล้ว เพราะถือว่าเป็นปฏิปักษ์กับระบอบทักษิณอย่างชัดเจน

การเริ่มต้นปฏิบัติการด้วยการให้ ๒๑ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ร่วมกันลงชื่อเพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ.... ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้บรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภา ร่างกฎ
หมายนี้มีทั้งสิ้น ๗ มาตรา

สาระสำคัญอยู่ที่มาตรา ๓ ระบุว่า ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่การกระทำนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้อง หรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง การกระทำใดๆ ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจาการการชุมนุมทางการเมือง หรือแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ ๑๙ ก.ย. ๒๕๔๙ ถึงวันที่ ๑o พ.ค. ๒๕๕๔ ไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ไม่รวมถึงการกระทำของบรรดาผู้มีอำนาจตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว

แม้ดูแล้วไม่มีอะไรใหม่ แต่เป็นความเคลื่อนไหวใหม่ ที่ขับเคลื่อนโดย ส.ส.แดง ที่นำโดย นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ เป็นการดำเนินการควบคู่ไปกับการเรียกกลุ่มต่างๆ ร่วมประชุมหารือแนวทางนิรโทษกรรม โดยมีนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นคนขับเคลื่อน

ดูเหมือนว่าเป็นการขับเคลื่อนเพื่อความปรองดอง แต่จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ เมื่อบรรดาแกนนำเสื้อแดงต่างออกมาระบุว่า ตัวเองไม่ใช่ผู้สั่งการ แม้บางคนจะยอมรับว่าเป็นแกนนำ แต่สั่งการอะไรไม่ได้ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ผู้มีอำนาจตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง คือใคร เพราะไม่มีกฎหมายใดๆ มารองรับสถานะ สุดท้ายแล้วกฎหมายนิรโทษกรรมก็จะคุ้มครองคนผิดทุกคน

นอกจากอ้างว่าแก้ไขกฎหมายให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ยังพบว่าบรรดาผู้รักประชาธิปไตยยิ่งชีพกลุ่มนี้ ยังได้เสนอพระราชบัญญัติการพนัน ฉบับร่างใหม่ กฎหมายนี้อยู่ระหว่างการศึกษา โดยผู้รักประชาธิปไตยที่กระทรวงมหาดไทย เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง พบว่า เป็นการส่งเสริมให้มีการเล่นพนันมากขึ้น หลากหลายขึ้น รวมทั้งให้การทวงหนี้พนันเป็นสิ่งถูกกฎหมาย

ในภาพรวมแล้วสิ่งที่ประเทศไทยจะได้จากรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นอกจากนโยบายประชานิยมที่เริ่มจะเกิดปัญหาด้านลบกับสังคมโดยรวม ไม่ว่าจะเป็น จำนำข้าว หรือ รถคันแรก ยังได้เห็นการฟอกคนเผาเมืองเป็นผู้บริสุทธิ์ เสวยสุขได้โดยไม่ต้องกลัวคุก เราจะได้รัฐธรรมนูญที่เปิดช่องให้โกงกินมากขึ้น และประชาชนผู้รักประชาธิปไตยจะติดการพนันกันงอมแงม.


จากนสพ.ไทยโพสต์ ๗ มี.ค. ๒๕๕๖



บีจีและไลน์จากคุณญามี่


Free TextEditor





Create Date : 13 มีนาคม 2556
Last Update : 14 มิถุนายน 2556 20:31:14 น. 0 comments
Counter : 1468 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.