happy memories
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2556
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
1 พฤษภาคม 2556
 
All Blogs
 
ปัญหาภาคใต้ (๘)




ปลด


* ขอเขียนสารมาสมานท่าน "ยิ่งลักษณ์"
เห็นประจักษ์แจ่มแจ๋วแล้วใช่ไหม
ว่า "เฉลิม" นั้นเหิมเกริมเพียงใด
"ท่าน" สั่งการอะไรไม่เคยทำ


* ปัญหา "ปลายด้ามขวาน" พยานชัด
ทำฮึดฮัดเบี่ยงบ่ายหลายครั้งซ้ำ
ให้ลงไปดูแล "แถ" ประจำ
ไม่เคยนำสนอง "ท่าน" ต้องการ


* อ้างเหตุผลไปข้างข้างคูคู
มาแก้ตัวให้ดูน่าสงสาร
ว่าที่ "ชายแดนใต้" ร้ายมานาน
เพราะทั้งย่านค้า "ของเถื่อน" เกลื่อน "ยาบ้า"


* แล้วจะให้ลงไปทำไมเล่า
ปล่อยให้ "เจ้าหน้าที่" ทำดีกว่า
แค่รับฟัง "รายงาน" ส่งผ่านมา
มีปัญหาใหญ่ค่อยแก้ดูแลกัน


* ทั้งที่รู้อยู่ว่าเวลานี้
"ปัตตานี-นราฯ-ยะลา" นั้น
มีเหตุ "ก่อการร้าย" เป็นรายวัน
ดีแต่ "ปากกล้าขาสั่น" ยิ่งบรรลัย


* เมื่อ "เฉลิม" ขี้ขลาดหวาด "โจรใต้"
"ท่าน" ยังคอยเรียกใช้อยู่ไฉน
ตัดสินใจฉับพลันในทันใด
"ปลด" ออกไปแล้วให้คนอื่นแทน.


"เหรียง เนียงสะตอ ร้อยกรอง
จากคอลัมน์ตอบปัญหา "ถูกทุกข้อ" นสพ.ไทยโพสต์ ๑๓ เม.ย. ๒๕๕๖





บล็อกปัญหาภาคใต้ (๑)
บล็อกปัญหาภาคใต้ (๒)
บล็อกปัญหาภาคใต้ (๓)
บล็อกปัญหาภาคใต้ (๔)
บล็อกปัญหาภาคใต้ (๕)
บล็อกปัญหาภาคใต้ (๖)
บล็อกปัญหาภาคใต้ (๗)



"เจรจาโจรใตั เหมือนทอดกฐินวัดร้าง"
สิริอัญญา


การทอดกฐินวัดร้างครั้งนี้ รังแต่จะทำให้ผีร้ายในภาคใต้อาละวาดหนักขึ้นโอกาสที่ปลุกกลุ่มผีการเมือง ขึ้นมาได้อีกคงเป็นไปได้ยากพอๆ กับแสวงหาสันติภาพในภาคใต้ ด้วยวิธีพับนกกระดาษ

วันที่ ๒๘ นี้ เป็นครั้งที่สองที่ตัวแทนรัฐบาลไทยจะนั่งโต๊ะเจรจากับตัวแทนขบถมุสลิม กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ ที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เรียกว่า “โจรกระจอก”

มาวันนี้หลังจากที่กว่า ๕,๓oo ชีวิต ถูกสังเวยจากความรุนแรงในภาคใต้ของประเทศไทย โจรที่เคยกระจอกเมื่อแปดปีก่อน ได้รับการยกระดับจากคนคนเดียวกัน ให้ขึ้นมานั่งโต๊ะเจรจากับตัวแทนรัฐบาลไทย บนเกาะลังกาวี ในประเทศมาเลเซีย ท่ามกลางเสียงสนับสนุนจากนักวิชาการและนักวิเคราะห์ทางด้านความมั่นคงหลายฝ่าย ในเวลาเดียวกันชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และคนในพื้นที่ผู้ติดตามเหตุร้ายรายวันในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสี่อำเภอในจังหวัดสงขลา เปรียบเปรยการเจรจาครั้งนี้ว่า เหมือนกับการ “ทอดกฐินวัดร้าง” ที่นอกจากไม่ได้บุญแล้ว ยังทำให้ผีเปรตที่อยู่ใกล้วัด อาละวาดมากขึ้นอีก

“การเจรจากับคนที่อ้างว่าเป็นตัวแทนโจรใต้ไม่ต่างอะไรกับ การทอดกฐินวัดร้าง ที่ไปนิมนต์พระแก่จากไหนก็ไม่รู้ มารับกฐิน โดยที่ชาวบ้านใกล้วัดไม่เคยเห็นพระแก่ ๆ เหล่านั้น” คนในพื้นที่ผู้ซึ่งเคยติดตามเหตุการณ์ร้ายในภาคใต้มาอย่างใกล้ชิด และ เคยมีส่วนร่วมในการแก้ไขความไม่สงบในภาคใต้ เปรียบเปรยให้ฟังว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ ไม่เคยปรากฏตัวตน และองค์กรนำที่ชัดเจนมาก่อน ไม่มีใครเคยประกาศตัวมาก่อนว่า เป็นสมาชิกขององค์กรไหน ไม่เคยมีใครเคยประกาศรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มันเป็นพวกผีเปรตที่อาละวาดอยู่ในบ้านเมือง แต่ไม่มีใครเคยเห็นตัวตนมาก่อน แล้วจู่ๆก็มีคนกลุ่มหนึ่งอ้างว่า เป็นตัวแทนของกลุ่มโจร คนพวกนั้นเปรียบเหมือนพระแก่ๆ ที่ทิ้งวัดไปนานแล้ว มาวันหนึ่งมีคนนิมนต์มาให้รับกฐินในวัดร้าง แล้วมีหรือ ที่พวกผีเปรตที่อาละวาดอยู่ทุกวันจะไม่อาละวาดต่อ

“ไม่ถึงสิบแปดชั่วโมง หลังการลงนามทำความเข้าใจกันครั้งแรก ระเบิดเกิดขึ้นสามครั้งในเมืองนราธิวาส ยิงคนตายสองคนที่ปัตตานี ตั้งแต่วันนั้นมาถึงวันนี้มีวันไหนบ้างที่ไม่เกิดเหตุการณ์ วันไหนบ้างที่ไม่ฆ่ากัน” เขาสาธยายให้ฟังว่า การแก้ปัญหาที่เกิดมาจากความมักง่ายในการมองปัญหาตั้งแต่ต้น รังแต่จะสร้างปัญหาให้เพิ่มขึ้น ต้องไม่ลืมว่าปัญหาโจรแยกดินแดนในภาคใต้สงบลงตั้งแต่ ปี ๒๕๒๔ หลังจากที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นิรโทษกรรมด้วยประกาศนโยบาย ๖๖/๒๓ หลังจากปี ๒๕๒๔ เหตุการณ์ร้ายในภาคใต้สงบลงจนเกือบเรียกได้ว่าเป็นภาวะปกติ

แต่ทันทีที่รัฐบาลไทยรักไทยขึ้นมาบริหารประเทศและยกเลิกศูนย์อำนวยการบริหารราชการสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหตุการณ์ร้ายเริ่มปะทุขึ้นมา แล้วไฟใต้ก็โหมรุนแรงขึ้นจากคำพูดที่ว่า “พวกโจรกระจอก ฆ่าให้ตายสองสามร้อยคนสามเดือนก็จบ”

คำพูดที่เป็นเหมือนนโยบายตามมาด้วยการฆ่า จับกุมคุมขังทรมาน และการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร แล้วตามมาด้วยคำพูดเยาะเย้ยว่าทนายสมชายหายตัวไปเพราะมีปัญหาในครอบครัว ไม่กี่วันก็กลับมา คำพูดที่ขาดความเข้าใจ และขาดความรับผิดชอบเหมือนราดน้ำมันเข้าในกองเพลิง จนเหตุการณ์รุนแรงลามขึ้นเหมือนไฟลามป่า รัฐบาลในตอนนั้นก็แก้ปัญหา ด้วยการพับนกกระดาษล้านตัว นำไปโปรยในพื้นที่ความรุนแรงเรียกร้องให้เกิดสันติภาพ

มาถึงวันนี้ผู้ที่เป็นต้นเหตุของความเลวร้ายทั้งหมด กลับมามีบทบาทสำคัญในการจัดให้มีการเจรจาเกิดขึ้น อย่างนี้จะให้คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเชื่อหรือว่า ความสงบจะเกิดขึ้น

นักวิชาการ นักสังเกตการณ์ผู้มองภาพความรุนแรงจากภาคใต้จากภายนอก เห็นด้วยกับการเจรจาที่กำลังดำเนินอยู่ แต่ในฐานะติดตามทำข่าว เหตุการณ์ในภาคใต้มาตลอดเวลากว่าสามสิบปี เห็นด้วยกับผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ทุกประการว่า ผู้ที่มาร่วมเจรจากับตัวแทนรัฐบาลไทยเปรียบเหมือนพระแก่ ๆ ที่ทิ้งวัดไปนานแล้ว จู่ ๆ มารับนิมนต์ไปรับกฐินในวัดร้าง เพราะไม่มีใครเชื่อว่า ผู้ที่มาร่วมเจรจากับตัวแทนรัฐบาล เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายมาจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ นายฮัสซัน ตายิบ ไม่เป็นที่รู้จัก และ เป็นที่รับรองของกลุ่มโจรที่แท้จริง

เราเคยสัมภาษณ์ นายลุกมาน บิน ลิมา ในอินโดนีเซีย เมื่อห้าปีก่อน นายลุกมาน ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้รักษาการผู้นำกลุ่มพูโล ซึ่งลี้ภัยอยู่ในประเทศสวีเดน พูดถึงนายฮัสซันว่า เป็นผู้ที่แอบอ้างตัวว่าเป็นตัวแทนพูโล ทั้ง ๆ ที่ถูกขับออกจากพรรคมานานแล้ว ส่วนนายลุกมานเอง ก็ยอมรับว่าเขาเป็นตัวแทนพูโลเก่าที่ลี้ภัยอยู่ในสวีเดนนานแล้ว และไม่มีบทบาทหรืออิทธิพลโดยตรงต่อผู้ที่กำลังก่อความไม่สงบอยู่ในภาคใต้ แต่เขามีหน้าที่เคลื่อนไหวทางการเมือง มีหน้าที่เพียงออกแถลงการณ์ในนามพูโลเท่านั้น ซึ่งบางครั้งแถลงการณ์ และความเห็นของพูโล ก็ตรงกับความเห็นของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบบ้าง บทบาทของพูโลเก่ามีเพียงเท่านั้นเอง

เรายังเห็นด้วยกับคนในพื้นที่ว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ทุกวันนี้เหมือนผี ที่ไม่มีตัวตน และองค์กรนำให้เห็น เพราะไม่เคยมีใครออกมาพูดว่าตัวเองเป็นกลุ่มไหน จากประสบการณ์ทำข่าวขบถ และผู้ก่อการร้ายมาตลอดเวลาสามสิบกว่าปี เราได้เคยพบผู้นำกองโจรมาแล้วเกือบทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นจีน เป็ง ผู้นำโจรจีนมาลายา ผู้นำว้า นายอ้าย เสี่ยวสือ และ ขุนส่า ราชายาเสพติด นายพล โบเมี๊ย ผู้นำกะเหรี่ยง ผู้นำเขมรแดงทุกคน ตลอดถึงผู้นำกองโจรในปากีสถาน แต่สำหรับโจรใต้ ไม่ว่าจะด้วยเครดิตของสำนักข่าวหรือส่วนตัว ไม่เคยเข้าถึงหรือได้สัมภาษณ์แม้แต่คนเดียว จะได้พบบ้างก็เป็นพูโลเก่าอย่าง นายลุกมานหรือผู้ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของ ดร.อารงค์ มูเล็ง

ที่เล่าให้ฟังเพราะอยากให้สาธารณชน ได้เห็นว่าการทำงานของสื่อมวลชนต่อเนื่องกว่าการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของกลุ่มขบถหรือผู้ก่อการร้าย มักให้เครดิตกับสื่อมากกว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะเหตุว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐทำงานตามวาระไม่ต่อเนื่อง และทำหน้าที่ตามนโยบายทางการเมืองของรัฐบาลที่มีอำนาจอยู่ในเวลานั้น เมื่อหมดวาระหรือรัฐบาลนั้นหมดอำนาจไปคนใหม่ก็มาเริ่มนับหนึ่งใหม่ ตัวอย่างถ้าผู้อำนวยการ ศอ.บต. ไม่ได้มีพื้นฐานความรู้ถึงสถานการณ์ที่ซับซ้อนของภาคใต้มาก่อน และเป็นคนใกล้ชิดกับกลุ่มมีอำนาจ ย่อมทำงานไปตามข้อเสนอแนะของผู้มีอำนาจ เมื่อผู้มีอำนาจเป็นผู้ริเริ่มในการเจรจา ปรากฏการณ์ทอดกฐินวัดร้างจึงเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้

การเจรจาสันติภาพกับโจรใต้ในครั้งนี้ ริเริ่มขึ้นด้วยนักการเมืองสองคน คือนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กับอดีตนายกรัฐมนตรีไทย จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าทำด้วยเหตุผลทางการเมือง นายนาจิบ อาจตักตวงผลประโยชน์เต็ม ๆ เพราะข่าวท้องถิ่น และข่าวทั่วโลกมาช่วยกระพือข่าวนี้ ขณะที่เขากำลังหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งจะมีขึ้นในปลายเดือนเมษายน ๒๕๕๖ ส่วนนักการเมืองไทยก็จะได้ประโยชน์จากการสร้างภาพ และความพยายามฟื้นฟูกลุ่มการเมืองเก่า ที่กำลังล้มหายไปให้กลับมามีบทบาทอีกในฐานะที่ปรึกษาแก้ปัญหาภาคใต้ แต่อย่างไรก็ตามผู้มีผลกระทบในพื้นที่ และผู้ติดตามเหตุการณ์ในภาคใต้อย่างใกล้ชิดมองว่า โอกาสที่ปลุกผีทางการเมืองในภาคใต้ให้ฟื้นขึ้นมาอีก ยากพอๆ กับการสร้างความสงบในภาคใต้

“การทอดกฐินวัดร้างครั้งนี้ รังแต่จะทำให้ผีร้ายในภาคใต้อาละวาดหนักขึ้น โอกาสที่ปลุกกลุ่มผีการเมืองขึ้นมาได้อีก คงเป็นไปได้ยากพอ ๆ กับแสวงหาสันติภาพในภาคใต้ ด้วยวิธีพับนกกระดาษ”

การที่นำเอา สส. สอบตกมาเป็นที่ปรึกษา แก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ เป็นกระดุมเม็ดสุดท้ายที่ติดผิดเพราะนอกจากไม่ได้รับความเชื่อถือจากผู้คนในท้องถิ่นแล้ว หลายคนมีประวัติเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาคนสำคัญไม่ว่าจะเป็นนายมะแซ อุเซ็ง ผู้ต้องหาคนสำคัญคดีปล้นปืนค่ายทหารเมื่อต้นปี ๒๕๔๗ ซึ่งมีชื่อตามข่าวของฝ่ายมั่นคงว่า เป็นเลขาฯกลุ่มบีอาร์เอ็นฯ และ นายสะแปอิงบาซอ ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นบุคคลสำคัญสูงสุดของบีอาร์เอ็นฯ เพราะฉะนั้นถ้าการเจรจาสันติภาพในครั้งนี้ ถ้ายังดำเนินต่อไป ก็จะตามมาด้วยการนิรโทษกรรมให้โจร

การแก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ เหมือนกับการติดกระดุมเม็ดแรกผิด ที่เรียกโจรใต้ว่า “โจรกระจอก”แล้วกระดุมเม็ดสุดท้ายผิดตามด้วยการ “ทอดกฐินวัดร้าง”


จากคอลัมน์ "บ้านเกิดเมืองนอน"
นสพ.แนวหน้า ๒๘ มี.ค. ๒๕๕๖








"อย่าฝากความหวังไว้แค่...'โต๊ะเจรจา'"
ปกรณ์


คำถามแรกที่ผู้แทนฝ่ายความมั่นคงไทย ต้องถามในวงพูดคุยสันติภาพดับไฟใต้ อย่างเป็นทางการนัดแรกในวันที่ ๒๘ มี.ค.นี้กับกลุ่มบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น ก็คือ เหตุใดความรุนแรงที่กระทำต่อเป้าหมายอ่อนแอยังคงเกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

เพราะแม้ฝ่ายความมั่นคงไทยจะอ้างว่า การพบปะหารือจนถึงขั้นลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพ เมื่อ ๒๘ ก.พ.ที่ผ่านมา จะยังไม่ได้มีการเสนอเงื่อนไขใด ๆ ระหว่างกัน แต่ข่าววงในจากคนที่ไปร่วมวงพูดคุยลับ ๆ อีกครั้งในวันที่ ๕ มี.ค.ก็ยืนยันชัดเจนว่า มีการ "ร้องขอ" กันเบื้องต้นแล้วว่าให้ช่วยลดการก่อเหตุรุนแรงโดยเฉพาะระเบิดในเขตชุมชนเมืองซึ่งสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินสูงมาก รวมทั้งลดการกระทำต่อเป้าหมายอ่อนแอ เช่น ผู้หญิง เด็ก และครู

ทว่าตลอดห้วงเวลาเกือบ ๑ เดือนที่ผ่านมากลับมีเหตุรุนแรงในเขตเมืองเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ และมีเป้าหมายอ่อนแอได้รับผลกระทบ ไล่ตั้งแต่

- ๑ มี.ค. คาร์บอมบ์และมอเตอร์ไซค์บอมบ์ในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส มีผู้บาดเจ็บ ๖ ราย

- ๒ มี.ค. คาร์บอมบ์ในเขต อ.เมืองยะลา ทำให้ทหารพรานเสียชีวิต ๒ นาย มีผู้บาดเจ็บอีก ๑๒ ราย

- ๒๑ มี.ค. มอเตอร์ไซค์บอมบ์ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ทำให้เด็ก ๙ ขวบเสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า ๑o ราย

ยังไม่นับเหตุระเบิดครั้งรุนแรงในพื้นที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ ๑๕ มี.ค. ทำให้สูญเสียนายตำรวจน้ำดีไปถึง ๓ นาย และเหตุการณ์ในลักษณะป่วนเมืองครั้งละหลายจุดอีกหลายครั้ง

เหล่านี้เป็นสิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงไทยต้องได้รับคำตอบที่ชัดเจนว่าสถานการณ์ยังทรงอยู่เช่นนี้เพราะอะไร เนื่องจากหลายเสียงจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ติดตามสถานการณ์ภาคใต้อย่างใกล้ชิดก็ยังคงตั้งคำถามว่า คณะที่ทางการไทยไปเปิดหน้าเจรจาด้วยนั้นเป็น "ตัวจริง" หรือเปล่า

แม้ความเป็น "ตัวจริง" ในทัศนะของผมจะไม่ได้สลักสำคัญอะไรมากมาย (โดยจะอธิบายเหตุผลในลำดับถัดไป) แต่สำหรับในกระบวนการสันติภาพที่ใช้การตั้งโต๊ะเจรจาเป็นเครื่องมือแล้ว ความเป็น "ตัวจริง" มีผลต่อความเชื่อมั่นไม่น้อย โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของสังคมที่เฝ้ามองอยู่

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากปัญหาภาคใต้ของเรา ผมอยากจะบอกว่าบางทีการที่เราตั้งความหวังกับกระบวนการพูดคุยเจรจามาก ๆ สุดท้ายอาจจะผิดหวังก็ได้ และความเป็น "ตัวจริง" หรือ "ตัวปลอม" ในสถานการณ์แบบนี้ก็อาจไม่ได้มีสาระอะไรมากนัก โดยเฉพาะหากเราเชื่อในทฤษฎีที่ว่า กลุ่มที่ใช้ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้มีมากมายหลายกลุ่ม

ยิ่งไปกว่านั้น "กลุ่มหลัก" ที่ยังใช้ความรุนแรงอยู่ ยังเลือกจัดโครงสร้างเป็น "องค์กรลับ" ในการต่อสู้กับรัฐด้วย ส่งผลให้โครงสร้างองค์กรไม่มีความชัดเจน และเมื่อการต่อสู้มีความยืดเยื้อยาวนาน ย่อมมีโอกาสสูงที่กลุ่มติดอาวุธอาจขยายวงไปมาก คือแตกกลุ่มแตกสาขากันไปตามอุดมการณ์ความเชื่อของพวกตน ทำให้ไร้เอกภาพอย่างสิ้นเชิง

หากเราเชื่อว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในสภาพนั้น การเจรจากับใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งย่อมแทบจะไร้ผลในการยุติความรุนแรงในภาพรวม

ผมจึงคิดว่าทางที่ดีและรอบคอบที่สุด คือเราควรใช้กระบวนการพูดคุยเจรจาเป็นเพียง "กลไก" หรือเครื่องมือหนึ่งในหลาย ๆ เครื่องมือในการแก้ปัญหา ไม่ใช่ทุ่มเทความหวังไปที่การพูดคุยเจรจาเสมือนหนึ่งว่าเป็นคำตอบเดียวของปัญหาชายแดนใต้

เพราะการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่มีมิติความซับซ้อนสูงและมีกลุ่มที่เห็นต่างกับรัฐค่อนข้างหลากหลายเช่นนี้ หัวใจของมันย่อมหนีไม่พ้นการลดทอน "เงื่อนไข" ที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากเลือกใช้ความรุนแรงให้ลดลงเรื่อย ๆ นั่นก็คือการทำงานที่มียุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติที่หลากหลายไปพร้อม ๆ กันนั่นเอง

หลายเรื่องผมไม่เห็นความจำเป็นว่าต้องรอการพูดคุยสันติภาพแต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องที่ทุกคนโดยเฉพาะคนที่ทำงานภาคใต้ก็ทราบ ๆ กันดีอยู่แล้วว่าควรทำอะไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นธรรมทางคดี การลดการใช้กฎหมายพิเศษ การคลี่คลายคดีคาใจต่าง ๆ รวมไปถึงมาตรการทางด้านสิทธิมนุษยชน หรือแม้แต่การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษก็สามารถเดินหน้าไปได้เลย หากเป็นความต้องการของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง

เรื่องเหล่านี้ผมไม่เห็นว่าเราต้องรอ นายฮัสซัน ตอยิบ หรือแกนนำบีอาร์เอ็นคนไหนมาเรียกร้อง เพราะสามารถทำได้ทันที และไม่ได้เพิ่มประเด็นขัดแย้งในสังคมใหญ่ ทั้งยังเป็นการแสดงความจริงใจว่ารัฐต้องการให้เกิดความสงบสุขอย่างแท้จริงโดยมีประชาชนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ถูกครหาว่ามีผลประโยชน์เป็นตัวตั้งดังที่เป็นอยู่!


จากคอลัมน์ "แกะรอย"
นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ๒๖ มี.ค. ๒๕๕๖








"รัฐบาลยิ่งลักษณ์อย่าก้าวกระโดดสันติภาพ"
บทบ.ก.นสพ.ไทยโพสต์


ถือเป็นเรื่องสำคัญที่น่าจับตาอีกครั้ง ในการเข้าร่วมพูดคุยสันติภาพครั้งแรก ที่นำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับตัวแทนขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (บีอาร์เอ็น) ที่ประเทศมาเลเซีย หลังจากเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ได้มีการลงนามในฉันทามติทั่วไป ว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ (General Consensus on Peace Dialogue Process) โดยมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกในเรื่องของการประสานงานและสถานที่ในการลงนาม

แม้จะมีกระแสข่าวลือหนาหูการพูดคุยครั้งนี้ว่า กระบวนการเจรจาสะดุดทั้งที่ยังไม่ได้เริ่ม แต่การพยายามเดินอย่างต่อเนื่อง ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี เพราะหากนับในประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยมีเวทีเจรจากับคู่ขัดแย้งของรัฐไทยที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม แม้ครั้งนี้จะไม่มีการเปิดเผยรายชื่อตัวแทนจากทั้งสองฝ่ายที่ชัดเจน แต่ก็สร้างแรงกระเพื่อมในทางบวกในพื้นที่ เพราะถือว่านับเป็นการขึ้นบันไดขั้นแรก เพื่อขับเคลื่อนสันติภาพให้เกิดอย่างแท้จริงในพื้นที่ชายแดนใต้ นับหนึ่งสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างสองฝ่ายให้มากขึ้น

ทั้งนี้ กระบวนการสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้ กำลังอยู่ในระหว่างเดินทาง และสุ่มเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุกลางทางได้ตลอดเวลา หากรัฐบาลไม่พยายามส่งเสริมหรือสร้างกระบวนการสนับสนุนทางเครือข่ายสาธารณะอย่างเปิดกว้าง (safety net) หนุนเสริม

โดยเฉพาะสิ่งสำคัญคือ รัฐบาลต้องตระหนักถึงการสร้างทีมปฏิบัติการพื้นที่โดยมีสัดส่วนของฝ่ายพลเรือน และภาคประชาสังคม ที่เหมาะสม สมดุล เนื่องจากที่ผ่านมา ล้วนมีแต่ฝ่ายทหาร การสร้างทีมงานพลเรือน เข้าเชื่อมต่อ เป็นความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะชุดความคิดของฝ่ายทหาร และพลเรือน ในการหาทางออกของปัญหาย่อมมีความแตกต่างกัน

ยิ่งไปกว่านั้น ถนนสันติภาพที่กำลังเริ่มต้นสายนี้ ล้วนเดินอยู่บนความคาดหวังของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายของประชาชนในพื้นที่-นอกพื้นที่ โดยเฉพาะในส่วนของฝ่ายรัฐบาลยิ่งลักษณ์เอง

ต้องพึงตระหนักในเรื่องระยะเวลาที่จะนำไปสู่ความสงบในพื้นที่ในระยะยาว การรีบเร่งอย่างผิดทิศผิดทาง เพื่อผลลัพธ์ความสำเร็จอย่างรวดเร็ว เป็นเรื่องควรมองข้าม เพราะบทเรียนการทำงานสันติภาพในแต่ละพื้นที่กรณีศึกษาทั่วโลก ประจักษ์ชัดว่า การแก้ไขปัญหาไม่ต่ำกว่า ๑๕ - ๒o ปีเป็นอย่างน้อย

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ต้องละเว้นวิธี หรือการเดินไปสู่กระบวนการตัดตอนสันติภาพ มุ่งหาทางลัด หรือรีบเร่ง แต่กระบวนการ ต้องเดินอยู่บนหนทางของความสมัครใจ ประคับประคอง อย่าหวังแค่ผลสำเร็จทางการเมือง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเฉพาะอย่างเร่งด่วนที่สุด ต้องเปิดประตูทุกบานให้กว้าง มีโครงสร้างภาคประชาสังคมเข้าร่วมหลากหลาย เพราะท้ายสุด หากภารกิจสันติภาพครั้งนี้ล้มเหลว เครือข่ายสังคมที่ได้สร้างไว้นี้จะสามารถเชื่อมต่อให้เดินต่อไปได้

รัฐบาลต้องพึงสังวรทุกก้าวย่างว่า เดิมพันปัญหาไฟใต้ คือ ชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์ อย่าใจร้อน เร่งรีบสร้างสันติภาพ อย่างก้าวกระโดด การพูดคุยเจรจาสันติภาพนั้นเดินมาถูกทางแล้ว แต่ต้องทำงานควบคู่ไปกับแรงสนับสนุนจากสาธารณะ เพื่อให้เกิดสันติภาพในพื้นที่อย่างยั่งยืนแท้จริง.


จากนสพ.ไทยโพสต์ ๒๘ มี.ค. ๒๕๕๖








"เอกภาพ 'สันติภาพ' กับนัยที่แตกต่าง"
อภิชาติ ทองอยู่


เป็นที่รับรู้กันในสังคมโลกวันนี้ว่า "การเจรจาเพื่อแสวงหาสันติภาพ" ของฝ่ายบ้านเมืองไทยกับฝ่ายผู้ก่อความรุนแรงชายแดนใต้ท่ามกลางการต่อสู้/การป่วนเมืองนั้น เป็นความลำบากยากเข็ญ ต้องอาศัยความเข้าใจ/ความไว้วางใจ/ความอดทน/และเวลาที่ยาวนาน โดยที่ไม่มีใครสามารถบอกถึง "ผลลัพธ์" ที่พึงจะปรากฏผลในอนาคตได้!

พัฒนาการของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเคลื่อนตัวผ่านกาลเวลา ด้วยเงื่อนปมของ "ความเชื่อ" "บาดแผลทางประวัติศาสตร์" และ "ผลประโยชน์" ที่ได้โหมพัดพาเอาความคิด/เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้จมดิ่งลงในความรุนแรง/ความบิดเบี้ยว/ความซับซ้อน จนสถานการณ์ดังกล่าวเลื่อนไหลตกอยู่ใต้กลไกผลประโยชน์ของ "อุตสาหกรรมความมั่นคง" ในโลกยุคใหม่จนยากจะจัดการแก้ไข ซึ่งสถานการณ์เยี่ยงนี้มักจะมีปลายทางเป็น "ความล้มเหลว" "การโฆษณาชวนเชื่อ" และ "ความสูญเปล่า" ฯลฯ เป็นส่วนใหญ่ ยิ่งหากกองผลประโยชน์มีมากมายเท่าใด สันติภาพและความสงบสุขก็จะเกิดยากขึ้นเท่านั้น ทั้งๆ ที่สันติภาพและความสงบสุขนั้น เป็นความปรารถนาร่วมของผู้คนทั้งสังคม นี่คือความจริงที่ยากจะปฏิเสธ!

ระหว่างการเปิดเจรจาสันติภาพของฝ่ายไทยกับผู้นำกลุ่มอาร์บีเอ็นและกลุ่มผู้ก่อความรุนแรงอื่นๆ การล้างแค้น/ความรุนแรงก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ไม่รามือ พื้นที่อำเภอบาเจาะเมื่อ 2 เมษายนที่ผ่านมา ทหารนาวิกโยธินถูกอุ้มไปสังหารล้างแค้นอย่างโหดเหี้ยม ตอบโต้กรณีของ "มะรอโซ" และพวกที่ถูกนาวิกโยธินสังหารไป เมื่อครั้งที่ได้บุกเข้าโจมตีฐานนาวิกโยธิน แต่ถูกถล่มกลับจนพ่ายแพ้ยับเยินเมื่อไม่นานมานี้ และยังมีความตาย/ความรุนแรงปะทุขึ้นเป็นปกติอีกในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะรอบๆ ศูนย์กลางความเคลื่อนไหวของกลุ่มเลือดใหม่ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส และยังมีป้ายเผยแพร่อุดมการณ์แยกดินแดนถูกนำออกมาติดในหลายจุด "เอกภาพ สันติภาพ นครรัฐปัตตานี" ซึ่งน่าคิดว่านัยเรื่อง "เอกภาพ" "สันติภาพ" หรือแม้กระทั่ง "ความยุติธรรม" ของผู้ก่อการนั้นเป็นเช่นไร?

"เอกภาพ" ตามนัยกว้าง ๆ ของสังคมประเทศไทยนั้น เป็นเรื่องความเป็นหนึ่งเดียวของแผ่นดินไทยที่มิอาจแบ่งแยกได้ ดำรงอยู่อย่างยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางศาสนา/สังคม/ชาติพันธุ์ ขณะที่ "เอกภาพ" ในกลุ่มความเคลื่อนไหวสู่ความเป็นนครรัฐปัตตานีนั้นมีหลายช่วงชั้น และมีความหมายต่อการปฏิบัติที่ชัดเจน ได้แก่ "เอกภาพภายใน" คือ อุดมการณ์ การชี้นำ และ การปฏิบัติ โดย เอกภาพในอุดมการณ์ หมายถึง การมีอุดมการณ์เดียวกันเพื่อความเป็นเอกราชของปัตตานี สังคมมีความเป็นธรรม สงบสุข สถาปนากฎหมายอิสลาม (ชารีอะห์) เอกภาพในการชี้นำการเชื่อฟังภักดีต่อผู้นำ แกนนำสูงสุดคือกลุ่มผู้นำ "อูลุล อัมร." ส่วน เอกภาพในการปฏิบัติ คือการตัดสินใจร่วม/ปฏิบัติร่วม/และรับผิดชอบร่วม สำหรับ "เอกภาพภายนอก" คือเอกภาพในสังคมภายใต้หลักการ "วะห์ดาตุล อุมมะห์" ประชาชาติเดียวกันของปัตตานีดารุสซาลาม ที่ยึดหลัก ศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียว และในศาสนทูตของพระเจ้า ภาษามลายู และ ประวัติศาสตร์ความเป็นเอกภาพของดินแดนปัตตานี ที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้ ซึ่งต้องต่อสู้/กอบกู้เอกภาพของดินแดนกลับคืนมา และปกป้องจักรวรรดินิยมผู้ครอบครองอื่น นี่คือนัยแห่งเอกภาพอันแตกต่าง!

ส่วนเรื่อง "เสรีภาพ" ตามนัยกว้าง ๆ ของสังคมไทยนั้น หมายถึง การคิด พูด เขียน ฯลฯ ที่มีอิสระโดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น เป็นพื้นที่ซึ่งเปิดกว้างทางความคิด/พื้นที่การยอมรับเคารพความแตกต่างหลากหลายในการคิด พูด เขียน เผยแพร่ และปะทะสังสรรค์เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของผู้คนในสังคม ขณะที่ "เสรีภาพ" ของขบวนการผู้ก่อความไม่สงบนั้นมีนัยที่ชัดเจนถึงการปลดปล่อยจากการถูกยึดครองทุกรูปแบบ และการมีเสรีภาพที่ต้องการมี ๔ นัยคือ ปลดปล่อยจากการถูกข่มเหง ความโง่เขลา และความเป็นทาส หนึ่ง ปลดปล่อยแผ่นดินมาตุภูมิจากผู้ถูกยึดครอง เพื่อดำเนินการทุกอย่างเหนือดินแดนตามต้องการ หนึ่ง มีเสรีภาพทางการเมือง/การปกครองที่ปราศจากพลังอำนาจทางการเมืองอื่นมาครอบงำ อีกหนึ่ง และสุดท้ายคือ เสรีภาพทางเศรษฐกิจ ที่รายได้ของผลผลิต/ความมั่งคั่งในปัตตานีจะคืนกลับสู่ชาวปัตตานีอย่างเป็นธรรม ทั้งหมดนี้คือนัยต่อเสรีภาพที่แตกต่างกันเกือบสุดขั้ว!

ยังไม่รวมถึงความหมายของ "ความยุติธรรม" ที่น่าจะมีนัยสัมพันธ์ลึกกับความเชื่อทางศาสนา ที่หลายกลุ่ม/หลายรุ่นคนในพื้นที่ชายแดนใต้พยายามสถาปนากันขึ้นมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งหากไตร่ตรองประเด็นเหล่านี้ให้ดีแล้วจะพบว่า ข้อเสนอถึงความยุติธรรมของกลุ่มผู้ก่อการที่เจรจากับทางการไทยไม่น่าจะตื้นแคบอยู่แค่เรื่องของ ป.วิอาญา หรือความมั่นคง ที่ไม่มีความเชื่อมโยงกับความเคลื่อนไหวระดับสากลของการต่อต้านลัทธิตะวันตก/อุดมการณ์/ผลประโยชน์ของกลุ่มศาสนาและความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นเลย ซึ่งนัยดังกล่าวเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบรอบด้าน เพื่อจะต้องหาทางขับเคลื่อนให้การเจรจาเดินหน้าไปสู่ "จุดร่วม" ที่สามารถเปิดพื้นที่ความไว้วางใจให้กว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การแสวงหาสันติภาพ/ความสงบสุขผ่านการเจรจาที่มีขึ้นในครั้งนี้ นอกจากจะถูกวิจารณ์ในเรื่องผู้เจรจาที่ผิดฝาผิดตัว ไม่เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงในปฏิบัติการของขบวนการผู้ก่อการแล้ว การเจรจายังต้องเผชิญกับประเด็น "ความไม่มีเอกภาพ" ในกลุ่มผู้ก่อการที่อ้างถึง "สภาองค์กรนำ (DPP)" ของ กลุ่มบีอาร์เอ็นในโครงสร้างองค์กร ที่สภาฯ ที่ว่านี้อยู่ใต้อำนาจประธาน/รองประธาน/เลขาธิการซึ่งยังอำพรางปิดตัวไม่ยอมเข้าร่วมเจรจาด้วย มีผลให้ความเคลื่อนไหวของกลุ่มจูแวยังคงปฏิบัติการไล่ล่าสร้างความรุนแรงและเดินตามอุดมการณ์ของตัวเองในแบบอาร์เคเค คู่ไปกับการมุ่งสร้างอิทธิพลให้กับกลุ่มตัวเองให้ได้รับการยอมรับและพัฒนาขึ้นเป็นกลุ่มคลื่นความเคลื่อนไหวใหม่อย่างต่อเนื่อง อันถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านอีกช่วงหนึ่งที่ส่งสัญญาณอันตรายต่อสังคมชายแดนใต้ ไม่แพ้ความเคลื่อนไหว/ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมายาวนานในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่กฎกติกาของสังคมโดยรวมก็ยังต้องมุ่งมั่นรักษา/ปกป้องความปลอดภัยให้กับทุกคน/ทุกฝ่าย แน่นอนว่าชาวบ้านทุกเชื้อชาติ/ศาสนาต้องได้รับหลักประกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในการอยู่ร่วมกันบนผืนแผ่นดินไทย โดยจะต้องไม่เกิดสภาพทิ้งบ้านหนีตายแตกกระสานซ่านเซ็นเหมือนชาวบ้านไทยพุทธที่ถูกกระทำอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้จากผู้ก่อการ ที่มีอุดมการณ์ในเรื่องเอกภาพ สันติภาพ ที่แข็งตัว/กระด้าง/และแปลกแยกจากสังคมโดยรวมที่อยู่ร่วมกันขณะนี้ นี่คือความลำบากยากแค้นของการเดินทางสู่สันติภาพ ซึ่งในโลกของความจริงยังเต็มไปด้วยความอึดอัดขัดแย้ง/ความรุนแรง ที่เป็นผลผลิตของการหล่อหลอมกล่อมเกลาด้วยอุดมการณ์ความเชื่อของผู้คลั่งความรุนแรง และผลประโยชน์มหาศาลที่หมิ่นเหม่อยู่ระหว่างอาชญากรรมกับสันติสุข!.


จากคอลัมน์ "โลกใบใหม่"
นสพ.ไทยโพสต์ ๖ เมย. ๒๕๕๖








"เมื่อโจรตั้งโจทย์ในการเจรจา 'รัฐบาล-กองทัพ' ต้องปรับท่าที"
กองบ.ก.นสพ.ไทยโพสต์


ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในการที่ฝ่ายการเมืองจะใช้การพูด คุยเพื่อสันติภาพเป็นเครื่องมือเดียวนำทางในการ ดับไฟใต้ ที่เริ่มคุกรุ่นมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ หลังเหตุ การณ์ปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ ๔ ค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมในช่วง ๑-๒ ปี สนองคำสั่งของคนที่มีอำนาจเหนือรัฐบาล เพื่อหวังใช้เป็นผลงานและข้ออ้างทางการเมือง หาได้มีความจริงใจหรือเข้าใจสถาน การณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแท้จริงไม่ เพราะเอาเข้าจริงปัญหาดังกล่าวมีความซับซ้อน และมีเหตุปัจจัยที่เป็นต้นเหตุหลายประการ

แม้การริเริ่มเพื่อการพูดคุยสันติภาพจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ผลของการพูดคุยและการเจรจาต้องอยู่บนผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วนที่ยอมรับได้ในข้อตกลงนั้น ที่สำคัญคือคนในพื้นที่ทั้งที่นับถือศาสนาพุทธและมุสลิม อีกทั้งข้อเสนอต่าง ๆ ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ ๒ ฝ่ายได้ร่วมเสนอ ไม่ใช่แค่ฝ่ายของขบวนการตั้งโจทย์ฝ่ายเดียว ซึ่งนั่นจะทำให้รัฐเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ทั้งที่ฝ่ายรัฐสามารถที่จะใช้แนวทางอื่นที่ดำเนินการอยู่เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ เพียงแต่แนวทางดังกล่าวต้องใช้เวลา และไม่สามารถสนองตอบความพอใจของสังคมในภาพรวมได้อย่างทันใจ

อีกทั้งยังไม่มีบทพิสูจน์ว่า แกนนำที่เข้ามาร่วมกระบวน การพูดคุยนั้นมีอิทธิพลต่อกลุ่มปฏิบัติการในพื้นที่จังหวัดชาย แดนภาคใต้หรือไม่ เพราะก่อนหน้าที่จะมีการหารือที่กรุงกัวลาลัม เปอร์ ประเทศมาเลเซีย มีการประชุมองค์กรนำที่ระดับหัวหน้า ฝ่ายต่าง ๆ เข้าร่วมประชุม ปรากฏว่าหัวหน้าที่ควบคุมกำลังในพื้นที่นั้นไม่เห็นด้วยกับการพูดคุย แม้จะเป็นเสียงข้างน้อย แต่ก็มีนัยสำคัญต่อการเห็นผลสัมฤทธิ์ หรือไม่เห็นผลในการยุติการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ได้อย่างเห็นได้ชัดในช่วงหลังจากนี้

ไม่เช่นนั้นคงไม่เกิดเหตุสังหารพลทหารมะอีลา โต๊ะลูสังกัดหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน นราธิวาสที่ ๓๒ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ฐานปฏิบัติการปืนเล็กที่ ๒ ค่ายยือรอ จังหวัดนราธิวาส เพื่อตอบโต้การปฏิบัติการทางทหารของนาวิกโยธิน โดยการสังหารอาร์เคเคที่บุกฐานปฏิบัติการเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๖ จนมาถึงเหตุการณ์ล่าสุดในเหตุการณ์ลอบวางระเบิดคณะของ นายอิศรา ทองธวัช รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา บริเวณถนนสาย ๔๑o อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา จนส่งผลให้นายอิศรา ทองธวัช รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา และนายเชาวลิต ไชยฤกษ์ ปลัดฝ่ายป้องกันจังหวัดเสียชีวิต

ที่สำคัญคือ ระดับปฏิบัติการในพื้นที่ซึ่งขบวนการเป็นฝ่ายผลิตได้ติดอาวุธทางความคิดในการใช้ความรุนแรงเพื่อนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน โดยเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้คือธงนำที่นำไปสู่ความสำเร็จได้ อีกทั้งการต่อสู้ของกองกำลังที่แลกมาด้วยความสูญเสียเลือดเนื้อของสมาชิกในพื้นที่ ย่อมต้องการไปสู่เป้าหมายสูงสุด การที่แกนนำระดับสูงจะพลิกตัวโดยที่ให้กลุ่มปฏิบัติการหยุดใช้ความรุนแรงเพื่อแลกเปลี่ยนให้ทางการไทยไว้ใจ จึงเป็นเรื่องยากที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่จะปฏิบัติตาม

ยิ่งช่วงนี้เป็นรอยต่อของการสับเปลี่ยนผู้ดำรงตำแหน่ง ระดับสูงในโครงสร้างการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชาย แดนภาคใต้ โดยเฉพาะตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ ๔ และผู้อำนวย การรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า จากพลโทอุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ มาเป็นพลโทสกล ชื่นตระกูล ซึ่งมักจะเกิดปัญหาและช่องว่างในการให้กลุ่มปฏิบัติการในพื้นที่ฉวยจังหวะในการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงให้มากขึ้น พร้อมทั้งเป็นการลองของ ท้าทาย คนที่คุมบังเหียนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

เราจึงเห็นว่า เมื่อนโยบายของรัฐบาลเดินมาแนวทางนี้ และให้บทบาทนำในการพูดคุยเพื่อสันติภาพเกินไป ก็เหมือนการต่อรองที่เรายอมเสียเปรียบไปแล้วครึ่งหนึ่ง หากเรายังคงสร้างสมดุลในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อลดการก่อเหตุการณ์ความไม่สงบลง อีกทั้งการปฏิบัติการทางทหารยังมีความเข้มข้นในลักษณะที่แรงมาแรงไป อย่างที่พลอากาศเอกสุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุไว้ ก็จะทำให้การแก้ไขปัญหาในลักษณะที่ใช้ไม้นวมกับไม้แข็งเดินไปได้ ด้วยความคาดหวังว่าแนวทางดังกล่าวน่าจะลดความรุนแรงลงในระดับหนึ่งได้.


จากคอลัมน์ "มิติโลกาภิวัฒน์"
นสพ.ไทยโพสต์ ๒๒ เม.ย. ๒๕๕๖








"สันติภาพแบบขี้หมา"
สิริอัญญา


บราณว่า คนมีอำนาจหากขาดคุณธรรมก็จะหูหนวกตาบอด และในที่สุดก็จะเดินหลงทิศผิดทางสร้างกรรมทำเข็ญจนแผ่นดินลุกเป็นไฟ และในที่สุดก็ต้องถูกเฉดหัวออกจากอำนาจนั้น

แต่คนเรายามมีอำนาจมักจะลืมความเก่า เขลา ความหลัง บทเรียนทางประวัติศาสตร์อันมีคุณค่าก็พากันลืมเลือนจนหมดสิ้น ฮึกเหิมลำพองในอำนาจจนไม่เป็นผู้ไม่เป็นคน

คนมีอำนาจบางจำพวกก็กลายเป็นคนเสียจริตหรือเป็นคนบ้า กระทั่งเข้าใจผิดคิดว่าสามารถเปลี่ยนฟ้าแปลงดินได้ หลงผิดคิดเอาเองว่าที่คิดอย่างไร ความจริงก็เป็นอย่างนั้น หลงผิดคิดว่าทำอะไร ก็สำเร็จในทุกสิ่งทุกอย่าง

ดังนั้นจึงมีคำเตือนมาในพระบาลีว่า “วินาสะกาเล วิปริตตะพุทธิ” ซึ่งแปลว่าเมื่อกาลวินาศมาถึงแล้ว สติปัญญาก็จะวิปริตวิปลาสไป

คนมีอำนาจในบ้านเมืองของเราในวันนี้ก็คงถึงกาลวินาศเป็นแน่แท้ จึงทำให้สติปัญญาวิปริตวิปลาสไปจนหมดสิ้น

ความวิปริตวิปลาสนั้น มีมาแต่เหตุ เหตุใกล้ๆก็คือ ใครพูดก็ไม่ได้ยิน ใครติงก็ไม่ฟัง เห็นอะไรก็มองไม่เห็น กลายเป็นคนโง่คนเขลา เป็นคนตาบอดมืดมัวหูหนวกหูตึง

ผิดวิสัยอันผู้มีสติปัญญาที่จะปกครองบ้านเมืองจะพึงเป็นตามปกติ เพราะผู้มีสติปัญญาที่จะปกครองบ้านเมืองตามปกตินั้น มีคติโบราณว่า จะต้องเป็นผู้ที่มีโสตประสาทดี มีจักษุประสาทดี

ผู้มีโสตประสาทดีคือ ผู้ที่สามารถได้ยินเสียงซึ่งคนไม่ได้พูด เพราะคนที่ได้ยินเสียงฟ้าร้อง ไม่จัดว่าเป็นผู้มีโสตประสาทดี นี่สำมะหาอะไรคนพูดอะไรก็ไม่ได้ยิน ฟ้าร้องก็ไม่ได้ยิน จึงเป็นคนหูหนวกขนานแท้

ผู้ที่มีจักษุประสาทดีคือ ผู้ที่สามารถเห็นในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เพราะผู้ที่เห็นภูเขาอยู่ข้างหน้าไม่จัดว่าเป็นผู้มีจักษุประสาทดี ผู้ที่เห็นเขายิงเขาฆ่ากันทุกวันจนทหาร ตำรวจ และประชาชนล้มตายลงเป็นเบือ แล้วยังไม่เห็น ยังพร่ำเพ้อว่าเหตุการณ์ดีแล้ว มาถูกทางแล้ว จึงเป็นคนตาบอดขนานแท้

ผู้มีอำนาจคนไหนหูหนวกตาบอด บ้าใบ้วิปริตวิปลาสจนเป็นเหตุสำคัญให้บ้านเมืองพินาศวายวอดอยู่ในขณะนี้ ก็สำรวจตรวจตรากันไว้ให้จงดี แล้วพยายามร่วมไม้ร่วมมือกันเฉดหัวคนเหล่านี้ออกไปให้จงได้

เพราะถ้าขืนปล่อยคนพวกนี้ไว้ในอำนาจก็เท่ากับปล่อยให้ปลวกกินบ้าน ปล่อยให้ไฟสุมอยู่ใต้ที่นอน ปล่อยให้น้ำหยดลงมาจากหลังคา ไหนเลยจะมีชีวิตชีวาที่เป็นปกติสุขได้

อันการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มโจรต่าง ๆ ที่รัฐบาลนางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตีฆ้องร้องป่าวเป็นราวระนาด ประหนึ่งว่าเป็นผลงานชิ้นเอก เป็นประติมากรรมอันเยี่ยมยอดโดยไม่ฟังเสียงติติงใดๆ ในแผ่นดิน กำลังเห็นผลเป็นที่ประจักษ์แล้วในปัจจุบัน

ฝ่ายทหารและความมั่นคงทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ท้วงติงตักเตือนอย่างไร ส่งสัญญาณออกอาการอย่างไร นักการเมืองที่มีอำนาจก็ไม่ใส่ใจไยดี สำคัญผิดคิดว่าเป็นขี้ข้าผีโม่แป้ง เชื่อมั่นในฤทธิ์อำนาจของกระโปรงที่สวมหัว เชื่อมั่นในเนื้อหนังที่ให้เลียไล้ว่า จะผูกใจคนให้เป็นทาสจนขาดความเป็นคนต่อไปได้ จึงดึงดันเดินหน้าต่อไป

ขณะนี้เบื้องหลังการเจรจาก็เปิดเผยกันมาชัดเจนแล้วว่า เกิดจากทักษิณคิด เพื่อไทยทำ โดยมีอดีตนายกมาเลเซีย นายนาจิ๊ฟร่วมผสมโรง แต่เบื้องหลังหรือข้างบนที่ชักใยจะเป็นใครมหาอำนาจไหนทั่วโลกเขาก็รู้กันดี

เพราะนายนาจิ๊ฟอยู่ดีไม่ว่าดี จึงกลายเป็นนายนาจ๊อกไปแล้ว เพราะพวกที่ไม่พอใจก็สร้างสถานการณ์แบ่งแยกดินแดนรัฐซาบาร์ ชาวมาเลเซียก็ไม่พอใจ นักการเมืองมาเลเซียก็ไม่พอใจ จนต้องยุบสภา และกำลังถูกกล่าวหาประพฤติตนเป็นขี้ข้าฝรั่ง ทรยศต่อศาสนาอิสลาม กระทั่งอาจแพ้เลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นก็ได้

เสียงกึกก้องระงมเมืองว่าการเจรจาสันติภาพที่รัฐบาลดำเนินการอยู่นั้นเป็นการแสดงละครลิงลวงโลก หมายจะอุปโลกน์ขบวนการแก่เฒ่าเหลาเหย่ขึ้นมาเป็นหุ่นเชิด เพื่อเตรียมตัวเป็นประธานาธิบดีแห่งรัฐปัตตานี แล้วจะยกผลประโยชน์ในพลังงานน้ำมันในอ่าวไทยในระยะ ๒oo ไมล์ทะเลจากฝั่งตะวันออกของชายแดนภาคใต้และ ๒oo ไมล์ทะเลจากฝั่งตะวันตกของชายแดนภาคใต้ไปให้ฝรั่ง แต่ก็ไม่มีใครฟัง มิหนำซ้ำยังใช้สื่อผีโม่งแป้งในสังกัดปกปิดบิดเบือน

เพื่อให้เห็นว่าเป็นเรื่องเด่น เรื่องดี เรื่องถูกต้อง และเพื่อปกปิดความผิดบาปทั้งหลาย

แต่ความจริงนั้นไม่ไว้หน้าความเท็จ ดังนั้นผู้ก่อความไม่สงบตัวจริงจึงไม่ยอมเล่นละครลิงกับคณะละครลิงคณะนี้

เพราะเหตุนี้การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงยังคงเดินหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง มิหนำซ้ำยังเพิ่มความรุนแรงและพุ่งเป้าหมายไปยังข้าราชการระดับสูงขึ้นเรื่อย ๆ และขยายพื้นที่ปฏิบัติการมากขึ้นเรื่อยๆ จนล่าสุดก็ปฏิบัติการสังหารโหดรองผู้ว่าราชการจังหวัดและติดตามมาด้วยการใช้อาวุธปืนยิงระเบิด M79 ยิงถล่มคณะที่ปรึกษาปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลถึงสองรอบสองครา

นั่นคือคำประกาศด้วยปฏิบัติการที่เป็นจริงว่า หนึ่ง พวกกูไม่เกี่ยวกับคณะละครลิงโว้ย และสอง พวกกูไม่ยอมเป็นขี้ข้าฝรั่ง เพื่อแยกแผ่นดินไทยเอาไปให้ฝรั่งสูบพลังงานน้ำมันเหมือนพวกมึงโว้ย

ยังจะดึงดันพร่ำเพ้อหรือเพ้อเจ้อว่าสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว หรือว่ามาถูกทางแล้วก็ว่ากันไป แล้วก็จะได้เห็นกัน!


จากคอลัมน์ "บ้านเกิดเมืองนอน"
นสพ.แนวหน้า ๑o เม.ย. ๒๕๕๖








"ละครลิงใกล้จะลาโรง"
สิริอัญญา


เรากล่าวถึงการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับพวกกลุ่มขบวนการที่มาเลเซียในเรื่องสันติภาพของจังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยลำดับว่า เป็นการเล่นละครลิง

กล่าวอย่างนั้นก็เพราะรู้และเชื่อมั่นว่าผู้คนที่เกี่ยวข้องต่างรู้ดีอยู่แล้วว่าคนเหล่านั้นไม่ใช่แกนกำลังหลักในการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

และการเจรจาที่เกิดขึ้นนั้นก็มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ซึ่งมองไปให้สุดทางแล้วก็จะเห็นเป็นเรื่องการปล้นสะดมพลังงานของประเทศไทยและคนไทยในพื้นที่อ่าวไทย ที่อยู่สองฝั่งทะเลชายแดนภาคใต้

และความขวักไขว่ที่ปลายทางนั้นก็รู้เห็นกันชัดๆว่า มีบริษัทค้าน้ำมันข้ามชาติ มีมหาอำนาจ และมีนักการเมืองอุบาทว์จัญไรยืนชักใยอยู่เบื้องหลัง โดยสมคบกับนักการเมืองมาเลเซียให้ออกหน้าจัดการแสดงละครลิงหลอกต้มคนไทยและคนมาเลเซีย

นายนาจิ๊ฟอดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียอยู่ดีไม่ว่าดี ออกหน้าเป็นหัวโจกนอมินี่จัดการแสดงละครลิงร่วมกับนักการเมืองไทย จึงถูกชาวมาเลเซียที่เขารู้เรื่องพากันคัดค้านต่อต้าน กระทั่งพี่น้องมุสลิมที่ซื่อสัตย์ต่อศาสนาก็ไม่ยอมรับและแสดงปฏิกิริยาอย่างต่อเนื่อง

วิบากกรรมจากการออกหน้ามาเป็นนายโรงละครลิงของนายนาจิ๊ฟอดีตนายกรัฐมนตีมาเลเซียนั้นได้เกิดผลที่สำคัญคือ

ประการแรก ได้จุดชนวนการเปิดศึกแบ่งแยกดินแดนขึ้นที่รัฐซาบาร์ของมาเลเซีย จนถึงขนาดมีผู้คนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก และจะเกิดเหตุต่อเนื่องเป็นสงครามยืดเยื้อต่อไปอีกนานเท่าใดก็ไม่มีใครรู้

ประการที่สอง บรรดานักการเมืองมาเลเซีย โดยเฉพาะฝ่ายค้านและบางส่วนของฝ่ายรัฐบาลก็ไม่พอใจ กดดันจนนายนาจิ๊ฟต้องตกจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ด้วยการยุบสภาและจะให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนหน้า ดีไม่ดีอาจทำให้พรรคการเมืองของนายนาจิ๊ฟซึ่งเป็นรัฐบาลต่อเนื่องยาวนานต้องแพ้เลือกตั้งจนยากที่จะผุดเกิดได้อีกก็ได้

ประการที่สาม บรรดาผู้สอนศาสนาและพี่น้องมุสลิมที่ซื่อสัตย์ต่อพระเป็นเจ้าและไม่ยอมรับให้ชาติมหาอำนาจเข้ามาชุบมือเปิบยึดครองครอบงำมาเลเซียล้วนไม่พอใจ เกิดขบวนการก่อต้านนายนาจิ๊ฟอย่างกว้างขวาง

หลังจากนายนาจิ๊ฟได้เปิดการแสดงละครลิงขึ้นก็ถูกซักฟอกอย่างหนักหน่วง จนต้องยอมเปิดเผยความจริงว่าคนที่อยู่เบื้องหลังการเจรจาผลักดันให้นายนาจิ๊ฟออกหน้าเป็นผู้จัดการเจรจาก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่กำลังหลบหนีคดีอยู่ในต่างประเทศ

การพูดความจริงดังกล่าวของนายนาจิ๊ฟเป็นการตบหน้านางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติที่ออกมาพูดก่อนหน้านั้นว่า เป็นผลงานของพวกตน และไม่เกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

นั่นเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากฟากมาเลเซีย แต่ในฟากของประเทศไทยก็ไม่มีใครสักคนหนึ่งที่พอใจยินดี นอกจากพวกผีโม่แป้งที่ถูกชักปากชักใยให้เข้าร่วมแสดงละครลิงหรือเชียร์ละครลิง

หน่วยงานด้านความมั่นคงทั้งทหาร ตำรวจ ทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ซึ่งรู้เช่นเห็นชาติและรู้ดีว่าเหล่าคณะที่แสดงละครลิงเป็นใคร รู้ว่าไผเป็นไผ ก็ไม่ยอมรับและแสดงท่าทีไม่เห็นด้วย

บรรดานักวิชาการและผู้รู้ต่าง ๆ รวมทั้งพวกฝ่ายค้าน โดยเฉพาะผู้แทนราษฎรในพื้นที่ซึ่งรู้ดีว่าอะไรเป็นอะไร ก็ทักท้วงกันเป็นการใหญ่

แม้กระทั่งพวกนักการต่างประเทศก็เห็นว่าการที่จู่ ๆ ไปหยิบยกเอาคนกลุ่มหนึ่งอุปโลกน์ว่าเป็นหัวหน้าโจร เป็นหัวหน้าขบวนการ ให้มีฐานะศักดิ์และสิทธิ์ที่จะนั่งโต๊ะเจรจาเท่ากับตัวแทนรัฐบาลกับรัฐบาลไทยนั้นเป็นเรื่องความโง่เขลาและบัดซบที่สุด

เป็นความโง่เขลาและบัดซบที่ถ้าหากไม่ใช่เป็นการแสดงละครลิงแล้วก็จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เป็นอันขาด

ที่สำคัญคือบรรดาขบวนการที่ปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ไม่ยอมรับนับถือบรรดาหัวขบวนการที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาเจรจานั้น และแสดงท่าทีไม่ยอมรับอย่างเปิดเผยชัดเจน แต่ไม่ใช่ด้วยการพูดหรือเห่าหอนแบบสุนัข

จึงมีการก่อเหตุร้ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง เพิ่มความรุนแรงมากขึ้น ทั้งขนาดระดับปฏิบัติการและทั้งระดับเป้าหมายที่ปฏิบัติการ รวมทั้งเพิ่มจำนวนความถี่และความมากในการปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นในขณะที่คณะละครลิงเปิดการแสดงอยู่ที่มาเลเซีย การก่อเหตุร้ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงกึกก้องกระหึ่ม จนสามารถทำให้คนทั้งหลายจำแนกแยกแยะและเห็นได้อย่างชัดเจนว่า

ทางหนึ่งที่กำลังเจรจากันที่มาเลเซียและให้กระบอกเสียงผีโม่แป้งโหมประโคมไม่หยุดยั้งนั้น แท้จริงก็เป็นแค่การแสดงละครลิง

ทางหนึ่งที่กำลังเกิดเหตุร้ายหนักหนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แท้จริงก็คือคำประกาศว่าไอ้พวกแสดงละครลิงไม่เกี่ยวกับพวกกูโว้ย

มาถึงวันนี้ความจริงทั้งสองทางได้ปรากฏชัดเจน แม้กระทั่งคณะที่ปรึกษาแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการจัดแสดงครั้งนี้ก็ถูกถล่มด้วยเอ็ม ๗๙ ถึงสองครั้งสองครา จนกระทั่งต้องหอบเสื่อหอบหมอนจรออกจากบ้านไปแล้ว

ละครลิงใกล้จะลาโรงเต็มทีแล้วพระคุณท่าน!


จากคอลัมน์ "บ้านเกิดเมืองนอน"
นสพ.แนวหน้า ๑๗ เม.ย. ๒๕๕๖








"เงื่อนปมประวัติศาสตร์/ความรุนแรงในร่มเงาการเจรจา 'สันติภาพ'!?!"
อภิชาติ ทองอยู่


เงื่อนไขจากฝ่ายรัฐฯ ที่ลุกลี้ลุกลน หวังได้ชื่อเสียง/ตำแหน่ง/การยอมรับ/และการโฆษณาชวนเชื่อจากผลของการเจรจา (ที่รีบร้อน) บนฐานความคิด/ความมั่นใจว่า "มาถูกทางแล้ว"ครั้นเมื่อเจอสภาพจริงในการทำงานและการเจรจา ที่เจอเข้ากับความหนักหนาสาหัสกว่าเก่า/เส้นทางที่ขรุขระยากลำบากแทบมองไม่เห็นฝั่งอย่างที่คิด กลับไม่พบความรับผิดชอบใดจากนายกรัฐมนตรี! ผู้ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงผ่านหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้ จะมีก็เพียงความรับผิดชอบที่ดูเหมือนถูกหยิบมาใช้ตลอดเวลา คือการอธิบายความลำบากของการเจรจา/การเรียกร้องให้อาศัยเวลา/และร้องขอให้คนในพื้นที่ "อดทน"! ทั้งที่ผู้คนในพื้นที่อดทนมานานมาก ตั้งแต่วันแรกที่เกิดความรุนแรงมาจนทุกวันนี้โดยไม่ได้ปริปากบ่นแต่อย่างใด ไม่เชื่อก็ลองให้ผู้ที่ได้รับมอบหมายทั้งหลายที่รับผิดชอบงานนี้ลองไปคลุกในพื้นที่กับชาวบ้านดูก็ได้! นี่คือสภาวะ "ไทยทน" กับ "ความรับผิดชอบของรัฐฯ" ในกรณี ๓ จังหวัดชายแดนใต้ ที่หาไม่เห็นความรับผิดชอบจากหัวหน้ารัฐบาล!

ความเคลื่อนไหวของขบวนการก่อการแยกดินแดนที่ก่อตัว/เติบโต/และแตกตัว ไปตามเงื่อนไขของโอกาส/การเติบโตของแกนนำกลุ่มย่อย/และความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ในพื้นที่ ได้ทำให้เกิดความซับซ้อน/ความยากลำบากในการแสวงหาสันติภาพ/และเงื่อนปมที่ยากจะมีเอกภาพในการเจรจา บนพื้นฐานความคิดที่ต่างกันมาก! โดยเฉพาะกับสถานการณ์การนำที่มี สภาองค์การนำฯ ของขบวนการที่มีอำนาจแบบหลวม ๆ และจารีตของการยึดติดกับตัวบุคคลที่ผลัดใบเปลี่ยนผลัดบารมีไปเรื่อยตามกาลเวลา การที่จะเชื่อมโยงการเจรจาเข้าหาผู้มีบารมีหนึ่งเดียวในขบวนการนั้นยากยิ่ง ยิ่งถ้าเป็นอดีตแกนนำที่มีประโยชน์ทับซ้อนทางการเมืองและสูญเสียความไว้วางใจจากกลุ่มผู้ก่อความรุนแรงไปแล้วยิ่งเป็น "ปัจจัยผลัก" ให้สันติภาพและความสงบสุขยิ่งเลือนรางมากขึ้นกว่า! ดูจากกรณี "นัจมุดดีน อูมา" ที่ถูกถล่มซ้ำถึง ๒ ครั้ง ๒ คราว เพราะกลุ่มเคลื่อนไหวในพื้นที่ไม่ยอมรับการใช้ประโยชน์จากการกระทำของกลุ่มไปสร้างเงื่อนไขให้เกิด "ผลประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มวาดะห์" ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยการแนะนำของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ได้แต่งตั้งให้กลุ่มการเมืองอย่างกลุ่มวาดะห์เข้าไปเป็นที่ปรึกษาการแก้ปัญหาชายแดนใต้ ที่กลุ่มนี้มุ่งทำงานการเมืองเพื่อผลประโยชน์พรรค บนเงื่อนไขความตาย/เลือดเนื้อ/ชีวิต/และการต่อสู้ของขบวนการที่ได้เคลื่อนไหวสืบทอดยาวนานผ่านหลายรุ่นคนมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ พ.ศ. ๒๓๓o จากการลุกขึ้นต่อสู้กับรัฐบาลไทยของ "ตนกูลามิดิน" อดีตสุลต่านปัตตานี เป็นต้นมา

ขบวนการบีอาร์เอ็น ได้บ่มเพาะความคิด/ความเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิวัติสร้างเอกราชรัฐปัตตานี โดยอาศัย เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ และ การสร้างความรุนแรง เป็นสำคัญ ซึ่งปฏิบัติการยุคใหม่นี้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงราว พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นต้นมา เป็นต้นกำเนิดของการปลุกกลุ่ม "เปอมูดอ" หรือกลุ่มเยาวชนที่มีความรัก/ศรัทธา พร้อมจะอุทิศชีวิตตามอุดมการณ์ความเชื่อที่ถูกชี้นำ กลุ่มความเคลื่อนไหวนี้เติบโตอย่างรวดเร็วภายใต้การฝึกฝน/การสนับสนุนจากทั้งในประเทศ และการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ ทั้งด้าน ความคิด/การฝึกอบรม/การพัฒนาการสื่อสาร/และทุน ซึ่งทำให้เกิดความเคลื่อนไหวโดยอาศัย ๓ กลุ่มหลักเคลื่อนใหวสร้างความรุนแรง/ความวุ่นวายในสังคมชายแดนใต้ ในต่างมิติและโอกาสกันคือ กลุ่มบีอาร์เอ็น (BRN Barisan R evolusi Nationa l Melay u Pata ni ) มุ่งก่อเหตุ/สร้างสถานการณ์ความรุนแรง/กดดันต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐฯ/บ่อนทำลายเศรษฐกิจ-สังคมโดยรวม/สร้างความหวาดกลัว/และจัดตั้งฐานมวลชนฯ เพื่อเคลื่อนไหวความคิดญิฮาดปฏิวัติอิสลาม นำสู่เป้าหมายสุดท้ายในการสร้าง "รัฐปัตตานีดารุลสลาม" กลุ่มการเมือง ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ เคลื่อนไหวเพื่ออำพรางตัว/ลดความน่าเชื่อถือ และใช้ประโยชน์จากการเมืองฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งเชื่อมต่อกับ ๕ รัฐหลักในตอนเหนือของมาเลเซีย รอยต่อชายแดนใต้ เพื่อเป็นแนวร่วมในการสร้างการปกครองตามแบบจารีตที่เป็นมา กลุ่มสุดท้ายเป็น กลุ่มอิทธิพล/กลุ่มผลประโยชน์ เป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมาย แย่งชิงผลประโยชน์กับเจ้าหน้าที่รัฐฯ ที่ฉ้อฉล/สร้างสถานการณ์/สร้างผลประโยชน์ฯ ร่วมกับหลายกลุ่มในหลากหลายรูปแบบฯ ความเคลื่อนใหวของกลุ่มเหล่านี้ได้กระจายกันฝังตัวอยู่ทั่วในพื้นที่ ทุกหมู่บ้านตำบล ที่ต้องการปลดปล่อยสู่ความเป็นรัฐอิสระ

ที่จริงการเจรจาที่ผ่านมา จะว่าไม่ประสบความสำเร็จเลยก็คงไม่ใช่ มีส่วนของความสำเร็จอยู่บ้างก็ตรงที่ได้ออกข่าวให้ขบวนการเปลี่ยนย้ายเป้าหมายจากกลุ่มที่อ่อนแอ ทำให้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นพุ่งตรงเข้าหาเป้าใหญ่ เล่นงานทั้งทหาร ตำรวจ และข้าราชการปกครองระดับสูง โดยเฉพาะการสังหารผู้บังคับกองร้อยจากกองทัพบก รองผู้กำกับตำรวจ และล่าสุดเป็นรองผู้ว่าราชการยะลาฯ ถ้าถอดรหัสความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการเจรจาก็คงชี้บอกได้ว่า ทั้งหมดเป็นความเคลื่อนไหว/การตอบโต้/การสร้างความรุนแรงเชิงสัญญา ที่ผู้กระทำการต้องการสื่อให้รับรู้ถึงการแข็งขืน/การไม่เกรงกลัวอำนาจรัฐ/การปรามมวลชน/รวมถึงเป็นการแสดงออกที่บอกถึงความไม่สนใจการเจรจาที่เกิดขึ้น! นัยด้านลึกของการสื่อสารที่ปรากฏออกมาเยี่ยงนี้ น่าจะต้องมีการทบทวนความเคลื่อนไหวในกระบวนการเจรจาใหม่ที่ต้องขจัดเรื่องของการสร้าง "อัศวินม้าขาว" "การแสวงผลประโยชน์ทางการเมือง" "การจัดวางกลุ่มเฉพาะที่อวยไปด้วยกันได้" "การทึกทักดูถูกดูแคลนกลุ่มนอกการเจรจา" "การมุ่งตอบโจทย์ให้ นาย มากกว่าการสร้างสันติภาพที่แท้จริง" รวมทั้ง "การสลัดพันธนาการผลประโยชน์ออกจากอุตสาหกรรมความมั่นคง"!

ด้วยเหตุว่า สันติภาพ/ความสงบสุขนั้นเป็นความต้องการที่แท้จริงของประชาชน แต่ผลประโยชน์และการมีตำแหน่งแห่งที่ในตัวตนของทั้งกลุ่มขบวนการและข้าราชการบางกลุ่ม/บางคนนั้น เป็นเรื่องที่สวนทางกับเส้นทางสันติภาพ ซึ่งว่าไปแล้วความรู้/การสื่อสาร/และความเคลื่อนใหวในโลกยุคใหม่ได้ช่วยให้ผู้คนในสังคมได้รับรู้ข่าวสารเกือบจะเท่ากัน และมีความเฉลียวฉลาดเท่าทันกัน การซ้อนทับสันติภาพ/ความสงบสุขไว้กับการแสวงประโยชน์การเมืองและประโยชน์ส่วนตน/ส่วนกลุ่มนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากจริง ๆ ตราบใดที่เราทั้งมวลรวมถึงกลุ่มผู้ก่อการไม่ได้กินแกลบกินรำ!


จากคอลัมน์ "โลกใบใหม่"
นสพ.ไทยโพสต์ ๑๓ เม.ย. ๒๕๕๖



บีจีและไลน์จากคุณญามี่


Free TextEditor





Create Date : 01 พฤษภาคม 2556
Last Update : 14 มิถุนายน 2556 19:41:11 น. 0 comments
Counter : 918 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.