happy memories
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2556
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
12 มีนาคม 2556
 
All Blogs
 
ปัญหาภาคใต้ (๕)





บล็อกปัญหาภาคใต้ (๑)
บล็อกปัญหาภาคใต้ (๒)
บล็อกปัญหาภาคใต้ (๓)
บล็อกปัญหาภาคใต้ (๔)


"ปฏิบัติการ 'ถั่งโถมโหมไฟใต้' หรือ 'ดับไฟด้วยน้ำมัน'"
พลโทนันทเดช เมฆสวัสดิ์


โลกปลายศตวรรษที่ ๒o ได้ปิดฉากความรุนแรงของเหล่ามนุษยชาติลงด้วยสงครามตามแบบที่ใช้อาวุธไฮเทคในอ่าวเปอร์เซีย (๑๙๙๑) และสงครามในโคโซโว (๑๙๙๙) แต่ก็ไม่สามารถจะยุติการก่อการร้ายให้สงบลงได้ ดังนั้นในศตวรรษที่ ๒๑ จึงเปิดฉากขึ้นมาด้วยความรุนแรงจากการตอบโต้กลับของกลุ่มก่อการร้ายอย่างโหดเหี้ยมต่อเนื่องกัน ๕ ครั้ง เริ่มจากเหตุการณ์ ๙๑๑ (เวิลด์เทรด เซ็นเตอร์) และแพร่กระจาย “สงครามขนาดเล็ก ไม่ตามแบบ ไม่เบ็ดเสร็จ” ออกไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันนี้สถานภาพของประเทศไทยคือ เซฟเฮ้าส์ ที่ดีที่สุดของกลุ่มก่อการร้ายสากล ถึงขนาดที่องครักษ์ของนายฮัมบาลี แกนนำกลุ่มเจไอ องค์กรเครือข่ายสำคัญที่สุดของกลุ่มอัล-ไกดา ยังหลบหนีสหรัฐเข้ามาทำบัตรประชาชนในไทย เพื่อสมัครเข้าเป็นทหารไทยที่ จ.ยะลา ได้อย่างสบาย ๆ

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังโชคดีที่สงครามก่อการร้ายภายในประเทศจำกัดเขตอยู่แต่ใน ๓ จังหวัดและ ๔ อำเภอในชายแดนภาคใต้เท่านั้น เพราะบารมีของในหลวงและการแสดงเจตจำนงที่ชัดเจนของพี่น้องชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามในจังหวัดอื่น ๆ ว่า “ไม่เห็นด้วยกับการก่อเหตุรุนแรงขึ้น” นอกจากนั้นทางกลุ่มก่อการร้ายสากลหลากหลายทั่วโลกก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้กลุ่มก่อเหตุร้ายในภาคใต้ของไทยมีโอกาสเข้ามาติดต่อด้วย ซึ่งดูได้จากวิธีการทำระเบิดที่พัฒนาขึ้นแค่ “การเพิ่มปริมาณ” เท่านั้น

วันนี้ประเทศไทยได้ลงนามในข้อตกลงที่จะเจรจาหาความสงบให้แก่ชายแดนภาคใต้กับกลุ่มโจรหมดอายุเรียบร้อยไปแล้ว โดยใช้ตราครุฑประดับคู่ไปกับตราประทับของกลุ่มโจร ซึ่งหมายความถึงพันธะความผูกพันทางกฎหมายระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มโจรได้เกิดขึ้นมาแล้วอย่างเป็นทางการ เรื่องนี้ได้กลายเป็นประเด็นร้อนของสื่อต่างประเทศที่เสนอข่าวออกไปอย่างกว้างขวาง ท่ามกลางความสับสนของหน่วยงานข่าวกรองต่างประเทศในไทยที่มีการรวมตัวกันเป็นประชาคมข่าวกรอง (INTELLIGENCE COMMUNITY) เพราะไม่เห็นว่าสัญญาดังกล่าวจะเกิดผลดีอะไรต่อประเทศไทย ในทิศทางตรงกันข้าม อาจจะเกิดผลในทางลบตามมาอีก เช่น

๑. การลงนามครั้งนี้จะถูกบันทึกโดยหน่วยงานข่าวกรองของประเทศมหาอำนาจทุกประเทศ ซึ่งจะส่งผลทำให้มีการยกระดับการติดตามกลุ่มก่อการร้ายสากลที่เข้ามายังประเทศไทยอย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐ ที่มีการเฝ้าดูและติดตามบุคคลสำคัญต่าง ๆ ของกลุ่มก่อการร้ายสากลอยู่ถึง ๔ บัญชีด้วยกัน ซึ่งอาจจะทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนจาก SAFE HOUSE มาเป็น TARGET ของกลุ่มก่อการร้ายได้เมื่อมีลูกมือเป็นคนไทยแล้ว

๒. ทางด้านกลุ่มก่อการร้ายสากลเองก็จะมีการบันทึกรายชื่อกลุ่มก่อการร้ายใหม่ๆ ในประเทศไทยเพิ่มเติมขึ้นเช่นกัน เพื่อเตรียมหาทางเข้ามาสนับสนุน โดยเฉพาะช่วยเหลือทางด้านเทคนิคการจัดทำคาร์บอมบ์ เรื่องนี้จึงเป็นอันตรายที่สุดสำหรับจังหวะก้าวต่อไปของการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายในภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีมหานครขนาดใหญ่มาก แต่ยังไม่มีการจัดระบบต่อต้านการก่อการร้ายสากลขึ้นอย่างเป็นรูปแบบเลย

๓. ปัญหาการก่อการร้ายในภาคใต้ของไทย ไม่เหมือนฟิลิปปินส์หรืออินโดนีเซีย เพราะทั้ง ๒ ประเทศนั้นถูกขึ้นบัญชีเป็น “การก่อการร้ายสากล” มานานแล้ว และกลุ่มก่อการร้ายก็สามารถครอบครองพื้นที่ได้บางส่วนอีกด้วย ดังนั้นการใช้มาเลเซียเป็นตัวกลางในการเจรจาของฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียก็เพื่อป้องกันการแทรกแซงของพวกมหาอำนาจเท่านั้นเอง สุดท้ายมาเลเซียก็ได้ประโยชน์ไปเพียงประเทศเดียว (ได้คะแนนเสียงจากประเทศอิสลามหัวรุนแรงและประชากรในตอนเหนือของมาเลเซีย) แต่ปัญหาในฟิลิปปินส์กับอินโดนีเซียก็ยังไม่หมดไป คุกรุ่นรอเวลาที่จะระเบิดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งและอาจลามมาถึงมาเลเซียเองด้วยอย่างหนีไม่พ้น (สมน้ำหน้า)

ขอพูดในขอบเขตของประเทศไทยบ้าง จะเห็นได้ว่า โจรหมดอายุที่มาทำสัญญานั้น แม้แต่ในกลุ่มตนเองยังไม่ได้รับการยอมรับ มีชื่อเป็น “นักหาเงิน” ตัวยงที่รู้กันดีในวงการข่าวกรอง การหยุดยิงจึงเป็นเรื่องที่ฝันกลางแดดครับ นอกจากนั้นการใช้ชื่อ “คุณทักษิณ” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยยิ่งไปกันใหญ่ ก็รู้กันดีอยู่แล้วว่าเพราะเหตุใด หรือจะเป็นการ “ถั่งโถมโหมไฟใต้” ให้ไฟแค้นลุกโชนขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง ตามปกติก็มีการเจรจากันอยู่แล้ว ไม่เห็นต้องลงชื่อประทับตรากันแบบนี้เลย จะไว้ใจกันได้หรือไม่ไม่ได้อยู่ที่สัญญา แต่อยู่ที่การกระทำครับ เพียงแต่มอบ ให้ทหารเป็นเจ้าภาพจัดการเอง มีตำรวจและ ศอ.บต.ตามหลัง จะเกิดเอกภาพ โดยให้สิทธิ์ทหารในการโยกย้ายข้าราชการใน ๓ จังหวัดชายแดนใต้ได้เอง พร้อมๆ กับการกวาดล้างยาเสพติด, ของเถื่อน ๑o๘ ชนิดอย่างจริงจัง โจรก็จะหมดเงินสนับสนุน ม.๒๑ ก็จะประสบผลสำเร็จในที่สุด ทำแค่นั้นก็พอ ไม่ต้องไปเซ็นสัญญาอะไรหรอกครับ ในโลกยุคนี้ไม่เหมือนโลกใน ๔-๕ ปีที่ผ่านมา ลองไปตรวจสอบให้ละเอียดก่อน ดูให้ดีว่าสัญญาที่ทำไปนั้นมันจะส่งผลอะไรที่นึกไม่ถึงบ้าง อย่านึกว่า หมูๆ ถ้าโจรมันอ้างสัญญากลับไปที่สหประชาชาติ ประเทศอิสลาม หรือกองทุนเอ็นจีโอต่างๆ ขอทุนหรือขอแบ่งพื้นที่ โดยอ้างประวัติศาสตร์ หรือขออาวุธ ฯลฯ นอกจากนั้นกลุ่มคนที่เซ็นสัญญาเองก็จะหิ้วสัญญา ฉวยโอกาสนำไปหาเงินบ้าง แต่ที่สำคัญคือ การทำให้กลุ่มก่อการร้ายในไทยมีความสำคัญขึ้น เป็นที่สนใจของกลุ่มก่อการร้ายสากลขึ้นมาในชั่วพริบตาเดียว แค่นี้ก็ยุ่งตายแล้วครับ

๙ ปีในภาคใต้มีการพัฒนาอะไรไปบ้างในการต่อสู้กับกลุ่มโจร ลองมานั่งพูดคุยทบทวนดูใหม่ โดยเฉพาะในข้อห้ามที่มีมาแต่โบราณมากๆ แล้ว ๒ ข้อ คือ (๑) อย่านำเรื่องการเมืองลงมาในพื้นที่ขัดแย้ง และ (๒) อย่าทำสงครามกองโจรด้วยความชำนาญเป็นข้อห้ามสำคัญที่สุด แต่จงทำสงครามกองโจรด้วยงานข่าวกรองและการใช้เทคโนโลยี (MI6 หน่วยงานของเจมส์บอนสอนไว้ครับ)


จากคอลัมน์ "กระดานความคิด"
นสพ.คม ชัด ลึก ๑๑ มี.ค. ๒๕๕๖








"เดี๋ยวก็รู้ของจริงของปลอม ขบวนการปาหี่ดับไฟใต้?"
ทีมข่าวการเมืองนสพ.แนวหน้า


ขบวนการสร้างภาพจนใหญ่โตเอิกเกริกทั้งรัฐบาลไทยและมาเลเซียจนเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลกราวกับว่าไฟก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อมานานเกือบ ๑o ปี กำลังจะดับแล้วจากที่มีการลงนามในสัญญาสันติภาพอย่างเป็นทางการระหว่างตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไทยและแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนต โดยมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นตัวกลางอำนวยความสะดวก ท่ามกลางข้อเคลือบแคลงมากมายจากหลายฝ่าย ซึ่งแม้แต่สื่อต่างประเทศต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นของจริงหรือของปลอม และไฟใต้ในไทยจะดับลงจริงหรือ

ข้อน่าสังเกตประการแรกก็คือการจัดฉากสร้างภาพแถลงข่าวการเจรจาระหว่างฝ่ายไทยกับแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็นฯอย่างครึกโครมในโรงแรมหรูกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยมี นายนาจิบ ราซัค นายกฯมาเลเซีย กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ของไทยร่วมเป็นสักขีพยาน โดยตัวแทนฝ่ายไทยที่ลงนามร่วมกับแกนนำบีอาร์เอ็นฯเพื่อเริ่มกระบวนการสันติภาพก็คือ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ส่วนตัวแทนฝ่ายโจรใต้คือ นายฮัสซันตอยิบ รองเลขาธิการกลุ่มบีอาร์เอ็นฯ โดยการสร้างข่าวใหญ่ครั้งนี้มีขึ้นขณะที่ไทยกำลังจะเข้าสู่โค้งสุดท้ายก่อนศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม. ๓ มี.ค.นี้ ส่วนมาเลเซียกำลังจะมีการเลือกตั้งใหญ่ในเดือนเม.ย.นี้ท่ามกลางเสถียรภาพที่สั่นคลอนของรัฐบาลภายใต้การนำของ นายนาจิบ ดังนั้นทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายมาเลเซียต่างก็ต้องการสร้างบทบาทเรียกคะแนนนิยมในช่วงที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง

ข้อสังเกตประการที่สอง พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ ๔ ส่งสัญญาณชัดเจนว่าการไปจับมือกับกลุ่มบีอาร์เอ็นฯครั้งนี้เป็นเรื่องของรัฐบาลไม่เกี่ยวกับกองทัพ

ข้อสังเกตประการที่สาม นายกฯมาเลเซีย เปิดเผยว่าผู้อยู่เบื้องหลังการเจรจากับแกนนำบีอาร์เอ็นฯกลุ่มนี้ก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้มีบารมีเหนือรัฐบาล นั่นเท่ากับสะท้อนนัยทางการเมืองสองประการคือ

หนึ่ง เป็นการตอกย้ำความจริงที่ว่า ไทยปกครองด้วยระบบ ๑ ประเทศ ๒ นายกฯ โดย พ.ต.ท.ทักษิณ คือผู้นำตัวจริงที่ชักใยอยู่เบื้องหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่เป็นแค่นายกฯหุ่นเชิด สอง แกนนำบีอาร์เอ็นฯที่ร่วมลงนามในสัญญาสันติภาพครั้งนี้ส่อเค้าว่าจะเป็นพวก ๑๘ มงกุฎที่มาร่วมแสดงปาหี่ลวงโลกสร้างภาพ เพราะก่อนหน้านี้เมื่อปีที่แล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ เคยบินมาพบปะเจรจากับแกนนำบีอาร์เอ็นฯกลุ่มนี้ที่มาเลเซียมาแล้วโดยมีตัวแทนหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยร่วมหารือด้วย ซึ่งครั้งนั้นก็มีการปล่อยข่าวออกมาเพื่อสร้างภาพว่าไฟใต้กำลังจะดับลงแล้ว แต่หลังการพบปะระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ กับแกนนำบีอาร์เอ็นกลุ่มนี้ปรากฏว่า ไฟก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยกลับยิ่งลุกโชนโหมกระพือรุนแรงมากขึ้น นั่นแสดงให้เห็นว่าแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็นฯที่เจรจาด้วยเป็นของปลอมที่ไม่มีอำนาจบทบาทอย่างแท้จริงในการสั่งการให้กลุ่มโจรก่อการร้ายในชายแดนภาคใต้ของไทยที่มีอยู่หลายกลุ่มยุติปฏิบัติการก่อการร้ายได้อย่างสิ้นเชิง

ทั้งนี้อดีตผู้บริหารหน่วยงานด้านความมั่นคงตลอดจนนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านปัญหาไฟใต้หลายคน อาทิ นายภุมรัตน์ ทักษาดิพงษ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ตั้งข้อสังเกตว่าการแถลงในสัญญาสันติภาพระหว่างรัฐบาลยิ่งลักษณ์กับแกนนำบีอาร์เอ็นฯครั้งนี้อาจเป็นแค่ปาหี่เพื่อสร้างภาพทางการเมือง และแกนนำบีอาร์เอ็นฯที่ร่วมลงนามน่าสงสัยว่าจะไม่ใช่ตัวจริง

ข้อสังเกตประการที่สี่ ในการแถลงข่าวตอบข้อซักถามสื่อมวลชนหลังการลงนามสัญญาสันติภาพระหว่างเลขาธิการสมช.กับแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็นฯ นายกฯยิ่งลักษณ์เองดูเหมือนจะยอมรับด้วยซ้ำว่า หนทางที่จะดับไฟใต้ยังอีกไกลเพราะเป็นแค่การเริ่มต้นพูดคุยไม่ใช่การเจรจาและยังไม่กล้ารับรองว่าหลังจากการลงนามสัญญาสันติภาพครั้งนี้แล้วจะดับไฟใต้ได้อย่างแท้จริง

ล่าสุดโจรใต้ลอบวางระเบิดคาร์บอมบ์กลางเมืองนราธิวาสทำให้ทหารและประชาชนบาดเจ็บหลายคนคล้อยหลังไม่ถึง ๒๔ ชั่วโมง หลังการลงนามจับมือกันระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็นฯ ซึ่งถือเป็นการตบหน้าและน่าจะเป็นคำตอบได้เป็นอย่างดีว่าสัญญาสันติภาพระหว่างรัฐบาลยิ่งลักษณ์กับโจรใต้เป็นของจริงหรือแค่ขบวนการปาหี่สร้างภาพลวงโลก


จากนสพ.แนวหน้า ๒ มี.ค. ๒๕๕๖








"ปฏิบัติการไล่ล่า 'ไทยพุทธ' ในกระแสไฟใต้ การแบ่งแยกดินแกนที่แยบยล"
อภิชาติ ทองอยู่


ช่วงเกือบทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมาผมพาตัวเองไปเยี่ยมเยือนเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ ๓ จังหวัดภาคใต้ ใช้เวลาส่วนใหญ่ตระเวนอยู่ที่นราธิวาสกับที่ปัตตานีเป็นหลัก ท่ามกลางฝนที่ตกตลอดเวลา การเดินทางครั้งนี้ได้พบปะพูดคุยกับผู้คนในพื้นที่ทั้งเพื่อนพ้องชาวไทยมุสลิมผู้รักสันติภาพและสมานฉันท์ และกลุ่มชาว "ไทยพุทธ" ที่เหลืออยู่ไม่มากนักในบางหมู่บ้านที่นราฯ ปัตตานี สองข้างทางจากปัตตานีสู่นราธิวาสผ่าน ยะหริ่ง ปาลัต สายบุรี บาเจาะ ไม้แก่น ตรงเข้านราธิวาส มีความรู้สึกเสียดายความอุดมสมบูรณ์/ความสวยงามของภูมิประเทศ ที่มีทั้งเทือกเขา/หย่อมเนิน/แม่น้ำ/และท้องทะเล ปัจจุบันความอุดมสมบูรณ์และความงดงามดังกล่าวถูกปกคลุมไปด้วยความรุนแรง ระเบิด ควันปืน ความขัดแย้ง ความตาย และความสูญเสียที่ไม่อาจประเมินได้ จากหลายเหตุปัจจัยที่ได้สุมซ้อนกันมายาวนาน จนโหมลุกเป็นไฟใต้จากความเหี้ยมโหดของขบวนการก่อความรุนแรง!

บรรยากาศสองข้างทางและการพบปะพูดคุยกับผู้คนกลุ่มต่าง ๆ ที่มีขึ้น ไม่ผิดกับบรรยากาศในภาวะสงคราม ที่ผู้ร่วมสนทนามักจะมีแววตาความระแวดระวัง/ไม่วางใจ/ตระหนกกลัวอยู่ลึกๆ สัมผัสได้ว่าไม่ใช่สภาพปกติทั่วไป! ความรุนแรงที่ไล่ล่ากันมาจนล่วงลึกกระจายอยู่ทุกพื้นที่การก่อการของหลายขบวนการในกระแสไฟใต้นั้น แน่ใจได้เลยว่าไม่อาจสงบลงง่าย และไม่อาจมีใครโผล่มาเป็น "อัศวินเดี่ยว" ทำกระแสร้อนแรงของไฟใต้สงบลงได้ ความปลอดภัยในชีวิต/ทรัพย์สินยังเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้คนในท้องที่ต้องการ ไม่ใช่ "สภาพไร้รัฐ-รุนแรง-เหี้ยมโหด" อย่างที่ชาวบ้านเผชิญอยู่เช่นทุกวันนี้

ด้านชั่วร้ายของวีรบุรุษของผู้ก่อความรุนแรงอย่าง "มะรอโซ" นั้น ในพื้นที่ก็เป็น "โจรใจเหี้ยม" สำหรับกลุ่มผู้คนที่ถูกกระทำจาก ๑๑ คดี ที่มะรอโซก่อกรรมทำเข็ญไว้! ไม่ว่ากรณีขับรถมอเตอร์ไซค์สังหารเด็กผู้บริสุทธิ์ที่ไม่มีทางสู้ หรือการฆ่าสังหารครูกลางโรงอาหารในโรงเรียนต่อหน้าเด็กนับร้อยคน ฯลฯ นี่คือความเลวร้าย/รุนแรงที่กลุ่มผู้ถูกกระทำและสังคมทั่วไปปกติไม่สามารถมองเป็นวีรบุรุษได้! ไม่ว่าจะกล่าวอ้างเหตุของบาดแผลทางประวัติศาสตร์ หรือเป็นผลจากการถูกไล่ล่าที่พูดต่อๆ กันไปเรื่อยเปื่อยในกรณีโจรจิตใจเหี้ยมเกรียมอย่างมะรอโซ!

ในอีกกรณีหนึ่ง จากการป้องกันตัวเองของทหารนาวิกโยธินที่สามารถเด็ดชีพสังหารกลุ่มโจรใต้มากถึง ๑๘ ศพที่ฐานบาเจาะ นราธิวาส ก็ไม่น่าจะถือเป็นชัยชนะที่มากมายอะไร เป็นเพียงอีกก้าวหนึ่งที่สะท้อนให้ผู้ปฏิบัติการในพื้นที่ได้ตระหนักเห็นถึงความสำคัญของการข่าวที่ดี การวางแผนที่แยบยล และการใช้นักรบที่ทรงประสิทธิภาพอย่างมนุษย์กบ ฯลฯ ซึ่งหากขาดองค์ประกอบอย่างใดอย่างหนึ่ง โอกาสสูญเสียก็จะเกิดขึ้นอย่างที่พบอยู่ทุกวัน ซึ่งเรายังไม่มีโอกาสปฏิบัติการเชิงรุกไปโจมตีฐานของผู้ก่อการใดได้เลย! ที่จริงการรักษาความปลอดภัยให้กับชีวิตและทรัพย์สินในพื้นที่ไฟใต้นั้น แม้ดูประหนึ่งว่าอยู่ในแผ่นดินไทย แต่หน่วยทหาร/กำลังพลที่ลงไปปฏิบัติการในพื้นที่จะมีสภาพเหมือนกับไปรบนอกบ้านเลยทีเดียว ทั้งสภาพภูมิประเทศ/ภาษาการสื่อสารซึ่งแตกต่างและเสียเปรียบโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะการที่ขบวนการก่อการร้ายมีแนวร่วมทุกกลุ่มอาชีพ/ทุกพื้นที่ ซึ่งใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือนำในการปฏิบัติการเกือบทุกรูปแบบ!

กลุ่ม "คนไทยพุทธ" เป็นเป้าหมายหลักของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในกระแสไฟใต้ บนฐานคิดของกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบทุกกลุ่ม ในฐานที่เป็นตัวแทนของ "รัฐไทย" และ "ผู้แปลกแยกทางความเชื่อ" และ "ผู้รุกราน" ทั้ง ๆ ที่ความหลากหลายในมาตุภูมินั้นมีหลายชาติ/หลายศาสนา/หลายวัฒนธรรมผสมปนเปกันอยู่ นี่คือความคับแคบ/เหี้ยมโหด/และความบ้าคลั่งที่ทำให้กลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบกลายเป็นโจรใจเหี้ยมทำลายล้าง "ไทยพุทธ" ที่เป็นเสมือนชนกลุ่มน้อยในพื้นที่อย่างโหดร้ายทารุณ ไม่ว่าเด็ก สตรี คนเฒ่าคนแก่ พระภิกษุ หรือครู ทั้ง ๆ ที่ชาวบ้านต่างศาสนา-วัฒนธรรมได้เคยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขไม่แบ่งแยกมาก่อน บนฐานคิดว่าหากไม่มีไทยพุทธ/ไม่มีคนต่างศาสนาอยู่ร่วม ก็เหมือนได้แยกดินแดนแล้ว จะก่อการใดก็อยู่ในวิสัยที่ทำได้สะดวก/ตัดทอนกำลังภาครัฐและการปกครองลงไปโดยปริยาย!

แต่ละศพที่ "ไทยพุทธ" ในพื้นที่ถูกฆ่า จึงมีสภาพทารุณกรรม/เหวอะหวะน่าเวทนายิ่ง ปฏิบัติการ "ดับแสงเทียน" "ดับแสงธรรม" และ "ทำลายล้างเศรษฐกิจของกลุ่มไทยพุทธ" ได้ถูกใช้ตลอดการก่อการ ไม่ว่าการไล่ล่าสังหารครูเมื่อสบโอกาส จำนวนเกือบ ๒oo ศพ ที่ถือเป็นการดับแสงเทียน ซึ่งเกือบเหมือนการมุ่งล้างเผ่าพันธุ์การศึกษาไทยให้หมดไปจากพื้นที่ เพราะใช้หลักการและภาษาไทยที่พวกโจรไม่ต้องการ! ในส่วนของพระสงฆ์ก็ถูกมองเป็นพวกนอกศาสนา ที่ต้องติดตามหากมีการเทศน์สั่งสอนไม่เข้าหู/ไม่สบอารมณ์ก็จะถูกยัดเยียดความตายอย่างอเนจอนาจให้! จนทุกวันนี้พระที่เหลือรอดจากการสังหารพากันหนีตายออกจากพื้นที่ ปล่อยวัดวาอารามเป็นวัดร้างไปเกือบจะหมดแล้ว! ส่วนเป้าหมายทางเศรษฐกิจนั้นจะมุ่งโจมตีกลุ่มการค้า/พาณิชย์ของ "ไทยพุทธ"ในพื้นที่ เพื่อสร้างความเสียหาย/หวาดกลัวที่ดุดันให้ผู้ประกอบการทั้งใหญ่เล็ก ซึ่งการก่อการทั้งหมดทุกรูปแบบของขบวนการโจรใต้นั้น มีทั้งระดับเบาไปจนถึงสุดโหดเหี้ยมทารุณ มีเป้าหมายที่มุ่งสังหารทำลายชัดเจนโดยตรงจนถึงระดับกดดันข่มขู่!

ซึ่งผลรวมของการกระทำของขบวนการโจรใต้ฝูงใหญ่นี้ จะอ้างบาดแผลประวัติศาสตร์และเงื่อนปมการปกครองอยู่เสมอ แต่ไม่พูดถึงความทารุณโหดร้ายเกินขอบเขตที่มนุษย์พึงกระทำต่อกันที่กลุ่มตัวเองได้ทำขึ้น! นับเป็นความเคลื่อนไหวก่อการที่แยบยลของขบวนการที่สร้างแนวร่วมได้จากกลุ่มที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจในสังคมชายแดนใต้และสังคมทั่วไปโดยปริยาย ซึ่งปัจจุบันขบวนการนี้ก้าวหน้าไปมากจนสามารถขยายผล/สร้างความเคลื่อนไหวเชื่อมต่อระดับสากล ทำให้มีศักยภาพในการเจรจา/ทุน/การเข้าถึงสื่อต่าง ๆ จนพาตัวเองเดินสู่เป้าหมายที่วางไว้อย่างก้าวกระโดด

เมื่อพิจารณาถึงปฏิบัติการของ ศอ.บต. ในยุค "ทวี สอดส่อง" ที่กำลังทำงานแบบเน้นใช้เงินงบประมาณมากมายหว่านโปรยลงในความเคลื่อนไหวในพื้นที่ น่าคิดว่าหลายโครงการช่วยเพิ่มศักยภาพให้ขบวนการก่อการร้ายทั้งโดยตรงและผ่านแนวร่วมโดยปริยาย ซึ่งน่าคิดว่าหลักการพื้นๆ ของอุตสาหกรรมความมั่นคงที่ว่า "เงินยิ่งมาก สงครามยิ่งยืดเยื้อ" ยังเป็นบรรทัดฐานที่น่าไตร่ตรอง ส่วนใครจะได้/จะเสียนั้น ผู้กระทำย่อมรู้อยู่แก่ใจ/สังคมก็พอจะคาดเดาได้! ข้าราชการชั้นผู้น้อย ทั้งตำรวจ/ทหาร/พลเรือนในพื้นที่นั้นน่าเห็นใจที่สุด ได้เสียสละแม้ชีวิตบนความมั่งคั่งของบางคน/บางกลุ่ม! ยิ่งเมื่อโยงผู้นำที่มีความใกล้ชิดการเมืองอย่างผู้นำ ศอ.บต. คนนี้เข้ากับ "กลุ่มวาดะห์" ที่รัฐบาลเพิ่งตั้งขึ้นเป็นที่ปรึกษาด้วยแล้ว ไม่รู้ ศอ.บต. กำลังจะกลายเป็นแหล่งทุน/ฐานการเมืองแฝงให้กับ "พรรคการเมือง" บางพรรครึเปล่า? คงต้องนับนิ้วดูว่าจะเหลือ "ไทยพุทธ" อยู่อีกกี่คนในพื้นที่ หลังสิ้น ศอ.บต. ยุคนี้ รึว่าที่นั่นไม่ใช่ประเทศไทยไปซะแล้ว?!?.


จากคอลัมน์ "มิติโลกาภิวัฒน์"
นสพ.ไทยโพสต์ ๑ มี.ค. ๒๕๕๖








"เจรจาใต้-จูบปากเขมร การเมืองไทยหนีไม่พ้น 'ทักษิณ'"
กองบ.ก.นสพ.ไทยโพสต์


มีเค้าลางมานานในเรื่องการเจรจาสันติภาพที่จะเกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากที่รัฐบาลได้จับปมสำคัญของปัญหาอันเกี่ยวข้องกับประเทศเพื่อนบ้าน การขยับตัวของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ในการเดินทางไปประเทศมาเลเซีย ทั้งอย่างที่เป็นทางการกับไม่เป็นทางการ ที่เป็นข่าวมาตลอดช่วงปีที่ผ่านมา ยืนยันได้ว่ามีเป้าหมายอย่างยิ่งยวดที่อยากให้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้สงบลง

ไม่มีอะไรของเกมในโลกที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะได้ประโยชน์ด้านเดียวจากการเจรจา หรือเป็นตัวกลางในการพูดคุย แต่การริเริ่มระหว่างผู้นำมาเลเซียกับผู้นำไทย บวกกับอดีตนักโทษที่ชื่อพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นั้น เดาไม่ยากว่าจะทั้ง ๒ ฝ่ายย่อมวิน-วินกับกระบวนการริเริ่มในการจับมือไปสู่การพูดคุยเพื่อสันติภาพ โดยมีสภาความมั่นคงแห่งชาติของไทยกับรองเลขาธิการบีอาร์เอ็นมาลงนามในเอกสารจนเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก โดยที่ก่อนหน้านี้ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าคนระดับแกนนำบีอาร์เอ็นที่มาเลเซียหวงยิ่งกว่าไข่ในหินจะเปิดหน้าออกมาสู่สายตาสาธารณชนขนาดนี้

หากแนวทางดังกล่าวที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่ความสงบในพื้นที่ได้จริง ในฐานะคนไทยคนหนึ่งก็ย่อมดีใจและภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่เราไม่อาจละเลยในการพิจารณาได้ คือเรื่องผลประโยชน์ระหว่างชาติ อันได้แก่ การแลกเปลี่ยน และการตอบแทนผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ซึ่งหลายคนก็ทราบดีแล้วว่าในส่วนของรัฐบาลมาเลเซีย ที่มีนายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำ ย่อมได้เครดิตในระดับสากล ยกระดับมาเลเซียให้มีคำสำคัญและมีบทบาทโดดเด่นในภูมิภาคอาเซียนในห้วงเวลานี้มากที่สุด

ในส่วนของไทยยกแรกคือ การหวังผลที่จะได้เข้าสู่ตัวกลางหรือตัวแทนที่จะสื่อสารไปยังผู้ก่อเหตุในพื้นที่ ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าคนเหล่านั้นจะฟังหรือไม่ แต่หากการเสี่ยงของรัฐบาลไทยภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ น้องสาวของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ในครั้งนี้ออกมาได้ผลเชิงบวก ภาพความสงบที่เกิดขึ้นย่อมเกิดผลดีกับภาพของพันตำรวจโททักษิณไม่ใช่น้อย ในฐานะที่เป็นคนเริ่มพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และพูดคุยกับ ๑๗ แกนนำของขบวนการ เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๕

ยังไม่นับรวมการแก้ไขปัญหาชายแดนไทยกับกัมพูชา ที่การพูดคุยในระดับรัฐบาลที่มีพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เป็นตัวเชื่อม ผ่านการแสดงภาพความสัมพันธ์ที่ดีและแนบแน่นระหว่าง ๒ ประเทศ โดยมีภาพการจับมือระหว่างพลเอกเตีย บัณห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของกัมพูชา กับพลอากาศเอกสุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทย บนปราสาทพระวิหาร แม้จะมีความคิดเห็นจากหัวหน้าทีมทนายในศาลโลกได้ทำหนังสือทักท้วงไม่ให้กระทบคดีในศาลโลก

เหล่านี้เป็นปัญหาที่เกิดจากในอดีตที่เป็นจุดเริ่มต้น ตั้งแต่รัฐบาลของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ที่ฟังข้อมูลไม่รอบด้าน จนทำมีการประเมินสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ผิดพลาดจากความเป็นจริง จนซ้ำเติมให้สถานการณ์ในพื้นที่ ซึ่งกลุ่มขบวนการเริ่มก่อตัวเริ่มแผนปฏิวัติแบ่งแยกดินแดนยิ่งเลวร้ายลงไป เช่นเดียวกับประเด็นการร่วมขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกจนนำไปสู่ความชัดเจนในข้อพิพาท ๔.๖ ตารางกิโลเมตร ก่อให้เกิดความตึงเครียดบริเวณชายแดน ๒ ประเด็นดังกล่าวจึงเป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้พันตำรวจโททักษิณต้องหาทางแก้ไขปัญหาที่ตัวเองมีส่วนก่อเอาไว้ โดยมีเป้าหมายในเรื่องการขออภัยโทษที่จะเป็นแผนขั้นต่อไปในอนาคต

ความพร่ามัวของรัฐบาลและการเดินเกมของพันตำรวจโททักษิณในประเด็นปัญหาทั้ง ๒ เรื่อง แม้จะฉายภาพความพยายามในการแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ แต่เบื้องลึกเบื้องหลังก็คือเครื่องมือในการนำไปสู่กระบวนการพาตัวเองกลับบ้าน และผลประโยชน์แลกเปลี่ยนอย่างไม่เป็นทางการ ระหว่างพันตำรวจโททักษิณและผู้นำ ๒ ชาติในอาเซียน โดยมีรัฐบาลของน้องสาวเป็นผู้แทนมีเป้าหมายสูงสุดเพื่ออะไรนั้น ในไม่นานคงจะมีคำตอบ.


จากคอลัมน์ "มิติโลกาภิวัฒน์"
นสพ.ไทยโพสต์ ๑ มี.ค. ๒๕๕๖








"ปาหี่ ใครเป็นฝ่ายได้"
อดีตเจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ปฏิบัติิงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้


๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ต้องเป็นวันหนึ่งที่จะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่รัฐบาลไทยทำความตกลงกับกลุ่มขบวนการฯ ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ ภาพที่เกิดขึ้นเสมือนรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีของไทยต้องซมซานปถึงมาเลเซีย เพื่อขอร้องให้ขบวนการฯ ที่สร้างปัญหา เข่นฆ่าประชาชนในประเทศ ยอมลงนามในความตกลงกับรัฐบาลไทบ ตกลงใครเป็นฝ่ายได้เปรียบ ใครเสียเปรียบ

สาระสำคัญในเอกสารที่มีการลงนามร่วมระหว่างเลขาธิการสภาความมั่นคง กับนายฮัสซัน ตอยิบ รองเลขาธิการขบวนการบีอาร์เอ็นนั้น มีข้อสังเกตหลายประการ เริ่มจากหัวข้อเรื่อง ความเห็นพ้องร่วมกันในกระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพ อยากถามว่ารัฐบาลเห็นพ้องกับขบวนการก่อการร้าย แต่ไม่ได้สอบถามคนไทยเลยว่า เห็นพ้องร่วมกับสิ่งที่รัฐบาลกำลังจะดำเนินการหรือเปล่า ศักดิ์ศรีของรัฐบาลและคนไทยอยู่ที่ไหน

ก่อนหน้านี้ ผู้ใหญ่ในรัฐบาล แม้แต่อดีตนายกรัฐมนตรีที่หลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ เคยพูดเสมอว่า กลุ่มขบวนการฯ เป็นพวกโจรกระจอก โจรห้าร้อย ส่วนรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ร.ต.อ.เฉลิมระบุว่า ความรุนแรงและเหตุร้ายที่เกิดขึ้น เป็นฝีมือของกลุ่มค้ายาเสพติดและพวกลักลอบค้าน้ำมันเถื่อน ตกลงรัฐบาลจะให้คนไทยเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรกันแน่ ถ้าเป็นอย่างที่คนในรัฐบาลระบุมาแต่แรก ทำไมรัฐบาลต้องให้เกียรติไปทำความตกลงกับโจรถึงต่างประเทศ

ประการสำคัญ เนื้อหาในความตกลงที่ลงนามกัน มีเนื้อความตอนหนึ่งระบุว่า รัฐบาลทำความตกลงที่จะเจรจาสันติภาพกับกลุ่มคนที่มีความคิดและอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน ปัญหาที่จะติดตามมา คือ เงื่อนไขในการเจรจา และจุดมุ่งหมายสุดท้ายของการเจรจา ซึ่งใครจะเป็นผู้กำหนด รัฐบาลและคนไทยจะรับได้หรือไม่ หากอีกฝ่ายขอแยกตัวเป็นอกราชจากประเทศไทย ด้วยการอ้างประวัติศาสตร์ปัตตานีอันเก่าแก่ ว่า เคยเป็นรัฐลังกาสุกะ ส่วนคนไทยทั่วไปรับรู้แต่ว่า ดินแดนปัตตานีส่วนนี้ เป็นเมืองขึ้นของไทยตั้งแต่สมัยอาณาจักรอยุธยา ต่อเนื่องมาจนถึงรัตนโกสินทร์

หากกลุ่มขบวนการฯ เรียกร้องให้รัฐบาลถอนทหารทั้งหมดออกจากพื้นที่ เพื่อเป็นการส่งสัญญาณถึงการสร้างสันติภาพตามที่ได้มีการลงนามทำความตกลงกันไว้ รัฐบาลจะว่าอย่างไร มีหลักประกันอย่างไรจากฝ่ายโจรก่อการร้ายที่น่าเชื่อถือได้ว่า จะไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นหลังการถอนทหาร รัฐบาลต้องเข้าใจนะว่าการเคลื่อนย้ายกองกำลังต้องใช้เวลา เมื่อถอนทหารออกมาจากพื้นที่แล้ว จะเกิดช่องว่างแห่งกำลัง กองกำลังใดจะรักษาพื้นที่

กลุ่มขบวนการฯ ที่สร้างความรุนและก่อเหตุร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุไว้ในเอกสารแบ่งแยกดินแดนที่เจ้าหน้าที่ยึดได้มานับเป็นสิบ ๆ ปีว่า ต้องการแยกตัวเป็นเอกราชขอเป็นอิสระจากไทย แม้แต่ข้อเสนอเรื่องมหานครปัตตานีที่พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เสนอซึ่งเป็นรูปแบบเขตปกครองพิเศษแบบ กทม. ยังถูกปฏิเสธจากกลุ่มขบวนการฯ

รัฐบาลอย่าบอกนะว่า ถ้าแสดงเจตนาที่ดีว่าพร้อมเจรจาแต่ถ้าผลเจรจาไม่ประสบความสำเร็จด้วยเหตุผลใดก็ตาม รัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบ หากเป็นอย่างนี้ รัฐบาลไปลงนามในความตกลงทำไม อดีตที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยเผชิญหน้ากับความท้าทายจากพรรคคอมมิวนิสต์และกองกำลังติดอาวุธของกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย สถานการณ์การสู้รบกระจายตัวทั่วประเทศ จนหลายประเทศแม้แต่มหามิตรอเมริกา ยังเชื่อว่าประเทศไทยจะเป็นโดมิโน ที่จะล้มลงตามกลุ่มประเทศอินโดจีน กลายเป็นคอมมิวนิสต์ แต่รัฐบาลไทยก็ไม่เคยคิดที่จะเจรจาหรือทำความตกลงสันติภาพกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย รัฐบาลในอดีตใช้การเจรจากับพรรคคอมมิวนิสต์จีนให้เลิกการสนับสนุน พคท. และกดดันทางการเมืองระหว่างประเทศ กดดันการเมืองภายในประเทศด้วยนโยบาย ๖๖/๒๓ และการกดดันทางทหาร ด้วยนโยบายที่ถูกต้องดังกล่าว พคท.ต้องสลายตัว และยอมวางอาวุธ มอบตัว กลับเข้ามาร่วมพัฒนาชาติในแนวทางสันติ ไม่เคยมีครั้งใด ที่รัฐบาลยอมอ่อนข้อให้กับการกดดันของกลุ่มใครก่อการร้ายอย่างที่รัฐบาลนี้กระทำ น่าอายอย่างยิ่ง

หันมามองในประเด็นการทำหน้าที่ตัวกลางของมาเลเซียบ้าง การทำหน้าที่ของมาเลเซียในฐานะประเทศที่อำนวยความสะดวกในการเจรจา ถามว่า มาเลเซียได้หรือเสีย การเดินทางไปมาเลเซียของทักษิณเมื่อมีนาคมปีที่แล้ว และมีการพบปะเจรจากับแกนนำกลุ่มขบวนการฯ ภายใต้การอำนวยความสะดวกของมาเลเซีย ถูกสื่อมวลชนและประชาชนมาเลเซียตำหนิและวิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจากชาวมาเลย์ได้รู้ความจริงว่า มาเลเซียให้ที่ซุกซ่อนกับสมาชิกโจรก่อการร้ายจากไทย และเข้าไปทำมาหากินในมาเลเซีย แย่งงานชาวมาเลย์ ทำงานร้านอาหารต้มยำกุ้ง ซึ่งมีคนจากจังหวัดชายแดนภาตใต้เป็นเจ้าของอย่างผิดกฎหมาย ทำให้รัฐบาลมาเลเซียเสียคะแนนนิยม ที่สำคัญ ปีนี้ จะมีการเลือกตั้งทั่วไป แต่สถานภาพรัฐบาลมาเลเซียกำลังง่อนแง่น การหยิบเรื่องนี้มาทำของรัฐบาลมาเลเซียจริงเป็นประเด็นการเมืองภายในของมาเลเซียเอง เท่ากับมาเลเซียยืมมือรัฐบาลปูสร้างคะแนนนิยมและลดความนิยมของพรรคปาส ซึ่งมีฐานทางการเมืองอยู่ในภาคเหนือของมาเลเซีย

คนมาเลย์ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม และต้องเอื้ออาทรต่อพี่น้องมุสลิมด้วยกัน แต่ชาวมาเลย์ถือว่า พี่น้องจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่หนีคดีการก่ออาชญากรรมและหลบลักลอบเข้าไปทำงานในมาเลเซีย ถูกกดเป็นพลเมืองชั้นสาม พลเมืองชั้นสองคือ ชนชาติที่ไม่ใช่มลายู อาทิ คนเชื้อจีนและอินเดีย คนมาเลย์จะเรียกคนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า สยามหรือซัมซัม ไม่ถือว่าเป็นคนมลายูอย่างที่คนจังหวัดชายแดนภาคใต้หลงเรียกตัวเองว่า คนมลายูปัตตานี

การทำหน้าที่คนกลางของมาเลเซียต่อกรณีหมู่เกาะโมโรของฟิลิปปินส์นั้น หากใครศึกษาเรื่องนี้ จะรู้ว่า รัฐบาลและคนฟิลิปปินส์ไม่พอใจการทำหน้าที่ "คน (ไม่) กลาง" ของมาเลเซียเป็นอย่างมาก ที่คอยเข้าข้างกลุ่มกบฏโมโร และกดดันรัฐบาลฟิลิปปินส์ เรียกได้ว่า มาเลเซียไม่ได้ทำหน้าที่ประเทศที่อำนวยความสะดวก (Facilitator) แต่กลับทำหน้าที่คนกลางที่พยายามแสดงบทบาทในการเข้าข้างฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล

ก่อนหน้านี้ มาเลเซียพยายามชักจูงฝ่ายไทยให้เปิดการเจรจากับกลุ่มขบวนการฯ อื่นๆ ที่ไม่ใช่บีอาร์เอ็น แต่ครั้งนี้มาเลเซียยอมเปลี่ยนแปลง น่าจะมาจากการเรียกร้องของฝ่ายไทย (พี่ชายนายกฯ ปู) และตามแผนเดิม ผู้ลงนามของฝ่ายบีอาร์เอ็นจะเป็นแค่เลขาฯ ส่วนตัวของนายฮัสซัน ตอยิบ แต่ฝ่ายมาเลเซียช่วยอุ้มตัวให้นายอัสซันมาลงนามร่วมกับฝ่ายไทย

นายฮัสซัน ตอยิบ มีฐานะ บทบาทสำคัญอย่างไรในขบวนการบีอาร์เอ็น อาจกล่าวได้ว่า นายฮัสซันมีความเคลื่อนไหวเฉกเช่นนักกิจกรรมระหว่างประเทศ บินไปประเทศโน้นประเทศนี้เพื่อแสดงบทบาทผู้ประสานงานระหว่างประเทศของขบวนการฯ แต่ไม่ใช่คนที่จะสั่งให้ฝ่ายกองกำลังหรือฝ่ายทหาร ซึ่งเป็นปีกที่สำคัญ ยุติการก่อเหตุร้าย หรือความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ทำไมมาเลเซียไม่เอาตัวนายสะแปอิง บาซอ ที่เชื่อกันว่าเป็นผู้นำจิตวิญญาณของขบวนการฯ มาลงนาม ถ้าให้เดา พวกนั้นไม่ยอมมา สั่งได้ก็แต่นายฮัสซัน ที่อยากมีบทบาทอยู่แล้ว

หลังจากนี้ การต่อสู้ ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะยุติหรือเบาบางลงหรือไม่ คำตอบคือ ไม่น่าได้ เพราะว่ากลุ่มกองกำลังพูดกันบ่อยมากกว่า จะไม่รับการสั่งการจากคนในต่างประเทศ หากจะเคลื่อนไหวเป็นผู้นำฯ ต้องเข้ามาร่วมรบและเสี่ยงตายในประเทศ ไม่ใช่หลบซ่อนตัวและแสวงสุขในต่างประเทศ

ต่อจากนี้ คงต้องรอคำชี้แจงจากรัฐบาล ว่าจะทำอย่างไรต่อไป หากการลงนามเจรจาสันติภาพ แต่ความรุนแรงยังไม่ลดลง.

อดีตเจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้


จากนสพ.ไทยโพสต์ ๓ มี.ค. ๒๕๕๖








"รัฐบาลกำลังดับหรือโหมไฟใต้"
บทบรรณาธิการนสพ.แนวหน้า


การที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยภายใต้การนำของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีได้ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามในสัญญาสันติภาพระหว่าง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับนายฮัสซัน ตอยิบ รองเลขาธิการกลุ่มบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนทซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มโจรก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยกลายเป็นข่าวใหญ่ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งการลงนามในสัญญาสันติภาพครั้งนี้ส่อเจตนาจงใจต้องการสร้างภาพให้เห็นว่าไฟก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีแนวโน้มที่จะมอดดับลงในไม่ช้าหลังจากที่เหตุการณ์รุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยยืดเยื้อมานานเกือบ ๑o ปี

แต่แล้วหลังการลงนามเพื่อนำไปสู่การสงบศึกเพียงไม่กี่ชั่วโมงกลับเกิดการณ์กลุ่มโจรก่อการร้ายปฏิบัติการระเบิดคาร์บอมบ์กลางเมืองจังหวัดนราธิวาสทำให้มีเจ้าหน้าที่และประชาชนได้รับบาดเจ็บหลายคน และการก่อเหตุร้ายยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยล่าสุดเมื่อวันที่ ๒ มีนาคมที่ผ่านมากลุ่มโจรก่อการร้ายลอบวางระเบิดคาร์บอมบ์ในเขตเทศบาลเมืองยะลาเป็นเหตุให้มีทหารพรานเสียชีวิตทันที ๒ นายและมีเจ้าหน้าที่รวมทั้งประชาชนบาดเจ็บอีกหลายคน

ปฏิบัติการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นถือเป็นการตบหน้าการลงนามในสัญญาสันติภาพที่เกิดขึ้น และยังสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนทที่ร่วมลงนามในสัญญาสันติภาพไม่ได้มีศักยภาพบทบาทในการยุติไฟก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างแท้จริง ซึ่งที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะกลุ่มโจรก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีอยู่หลายกลุ่มทั้งกลุ่มพูโลซึ่งยังแยกเป็นกลุ่มพูโลเก่าและพูดโลใหม่ กลุ่มบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนทซึ่งก็แยกเป็นหลายกลุ่มเช่นกันระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ที่มีอุดมกาณ์แนวคิดแตกต่างกัน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอาร์เคเค และอีกหลายกลุ่มซึ่งเคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระ

ยิ่งหากศึกษาปูมของ นายฮัสซัน ตอยิบ จะพบว่าในอดึตเคยอ้างตัวเป็นแกนนำขบวนการโจรก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อแสดงบทบาทการนำและเสนอตัวเจรจากับบุคคลสำคัญของไทยมาแล้วหลายคนทั้ง พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือแม้แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการลงนามสันติภาพครั้งนี้ แต่หลังการเจรจาทุกครั้งที่ผ่านมาปรากฏว่า นอกจากเหตุการณ์ก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ลดความรุนแรงลงแล้ว กลับโหมลุกโชนรุนแรงมากขึ้นโดยเกิดเหตุการณ์ลอบก่อวินาศกรรมด้วยระเบิดอย่างต่อเนื่องแม้กระทั่งปัจจุบัน

ดังนั้นการที่ฝ่ายรัฐบาลลงนามในสัญญาสันติภาพเพื่อปูทางไปสู่การเจรจากับแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนท ทั้งๆที่แกนนำคนดังกล่าวไม่ได้มีศักยภาพบารมีใด ๆ ที่จะชี้นำกลุ่มโจรก่อการร้ายที่มีอยู่หลายกลุ่ม จึงถูกตั้งข้อสังเกตุว่าเป็นเพียงแผนสร้างภาพแสดงปาหี่ทางการเมืองเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งเหตุการณ์ก่อการร้ายครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นหลังการลงนามในสัญญาสันติภาพน่าจะเป็นคำตอบยืนยันได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้มีข้อน่าสังเกตุว่ากองทัพส่งสัญญาณว่าการลงนามในสัญญาสันติภาพครั้งนี้เป็นเรื่องของรัฐบาลไม่เกี่ยวกับกองทัพ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิ นายภุมรัตน์ ทักษาดิพงษ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ มองว่าแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนทที่ลงนามในสัญญาสันติภาพเป็นตัวละครหน้าเดิมๆที่ไม่ใช่ตัวจริงจึงน่าสงสัยว่าจะเป็นการจัดฉากสร้างภาพเพื่อผลทางการเมืองบางอย่างมากกว่า

ดังนั้นการลงนามสงบศึกกับผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นแกนนำขบวนการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ทำให้หลายฝ่ายหวั่นวิตกว่าจะยิ่งสุมไฟก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ลุกโชนรุนแรงยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการยกสถานะของกลุ่มโจรก่อการร้ายจากกลุ่มนอกกฏหมายมาเป็นกลุ่มที่ได้รับการยอมรับในฐานะคู่เจรจากับฝ่ายรัฐบาลอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก


จากนสพ.แนวหน้า ๔ มี.ค. ๒๕๕๖








"เจรจาไฟใต้...อย่างเข้าอีหรอบ 'ทักษิณโชว์กินไก่'"
สารส้ม


พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นำขบวนเจ้าหน้าที่ของทางการไทยไปลงนามแสดงเจตจำนงสันติภาพร่วมกับผู้อ้างว่าเป็นตัวแทนจากกลุ่มบีอาร์เอ็น โดยมีฝ่ายความมั่นคงของประเทศมาเลเซียทำหน้าที่อำนวยความสะดวก กึ่งๆ สักขีพยาน ๒๘ ก.พ. ๒๕๕๖

หลังวันนั้น ปรากฏว่าสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ยังคงดำเนินต่อไป

เลขาฯ สมช. ยืนยันว่า ๒๘ มีนาคมนี้ จะมีการพบปะพูดคุยกับตัวแทนของกลุ่มบีอาร์เอ็นอีกครั้ง

๑) พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ผู้รับบทบาทนำในฉากและตอนนี้ คือใคร?

พล.ท.ภราดร เป็นหลานของนายปรีดา พัฒนถาบุตร อดีตรัฐมนตรี ผู้มีพระคุณต่อทักษิณ ชินวัตร ทักษิณเคยเป็นตำรวจเดินถือกระเป๋าติดตามนายปรีดา เมื่อทักษิณเข้าสู่เวทีการเมืองก็มีนายปรีดาคอยเป็นพี่เลี้ยง

ตอนที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์พยายามย้ายนายสมเกียรติ บุญชู รองเลขาธิการ สมช.คนเก่าออกไป เพื่อเอาพล.ท.ภราดรเข้ามาแทน จึงมีคำพูดจากแดนไกลว่า “คนคนนี้เขามีบุญคุณกับผมมาก”

พล.ท.ภราดรได้เป็นรองเลขาธิการ สมช.ในยุครัฐบาลสมัคร ตัดหน้านายสมเกียรติซึ่งทำงานราชการใน สมช.ต่อเนื่องยาวนาน ต่อมารัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ย้าย พล.ท.ภราดร เป็นที่ปรึกษานายกฯ ก่อนที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะย้ายกลับมาเป็น รองเลขาธิการ สมช.อีกครั้ง และดันขึ้นสู่ตำแหน่งเลขาธิการ สมช.ในที่สุด

อันที่จริง พล.ท.ภราดรมิใช่ลูกหม้อหรือคนที่ทำงานในสายงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยตรง แต่ถือได้ว่าเป็นลูกหลานผู้มีพระคุณของทักษิณ ชินวัตร

๒) เมื่อ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ขึ้นเป็นเลขาธิการ สมช. สื่อมวลชนก็เคยตั้งคำถามถึงทิศทางการแก้ปัญหาไฟใต้ โดยศูนย์ข่าวอิศรา เคยหยิบยกนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๕๕ - ๒๕๕๗ ซึ่งจัดทำโดย สมช. (คนที่มีบทบาทมาก คือ นายถวิล เปลี่ยนศรี และนายสมเกียรติ บุญชู) มีแนวทางสนับสนุนให้มีการ “พูดคุยสันติภาพ” หรือ peace talk โดยในนโยบายเขียนเอาไว้ชัดว่า “การพูดคุยสันติภาพ” สามารถดำเนินการได้ เพียงแต่ต้องทำอย่างมี “เอกภาพ” และไม่นำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน

ในขณะที่ พล.ท.ภราดรเคยแสดงทัศนะต่อผู้เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา
ไฟใต้หลายครั้งว่า เขาเชื่อว่าปัญหานี้ทำให้ “จบ” ได้อย่าง “เบ็ดเสร็จ” โดยให้อำนาจเต็มกับแม่ทัพภาคที่ ๔

เป็นภาพสะท้อนความสับสนในทิศทางนโยบายดับไฟใต้ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ถ้าจะเดินหน้าเจรจาสันติภาพให้มีความต่อเนื่องและสุ่มเสี่ยงน้อยที่สุดจริง ๆ คนที่เหมาะที่สุด ที่เริ่มงานมาแล้ว ทำมาแล้ว ก็น่าจะเป็นนายถวิล เปลี่ยนศรี และนายสมเกียรติ บุญชู ชุดเดิมมากกว่าจะมาเอา พล.ท.ภราดร ซึ่งเคยแสดงทัศนะท่าทีไปอีกทางหนึ่ง เพียงแต่ว่า พล.ท.ภราดรอาจจะดีกว่าตรงที่ทักษิณเอื้อมมือถึงได้มากกว่า

อย่าลืมว่า พล.ท.ภราดรนั้น เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน แสดงท่าทีเคารพ พินอบพิเทากับนายพานทองแท้ โดยเรียกขานว่า “ท่านพานทองแท้” เลยทีเดียว

๓) การพูดคุยเพื่อนำไปสู่การสร้างสันติภาพในพื้นที่เป็นเรื่องที่สมควรทำอย่างยิ่ง

แต่ทางการไทยจะต้องทำอย่างรอบคอบ มีเอกภาพ และไม่นำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนเด็ดขาด

ในรัฐบาลที่ผ่านมา ก็มีการเจรจาหรือการพูดคุยระหว่างทางการกับฝ่ายผู้ก่อการอย่างไม่เป็นทางการ ควบคู่ไปกับนโยบายให้ฝ่ายผู้ก่อการเข้ามามอบตัว กลับตัวกลับใจ

แต่บาดแผลที่เกิดจากเหตุการณ์ตากใบทมิฬยุคทักษิณ ความรุนแรงแบบกำปั้นเหล็กของอำนาจรัฐใต้ระบอบทักษิณได้สร้างบาดแผลเรื้อรังและสะสม จะต้องใช้เวลาในการแสวงหาแนวทางร่วมกัน ยังเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยกองกำลังผู้ก่อเหตุมีมากกว่ากลุ่มเดียวหรือองค์กรเดียว

หลังจากที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไปลงนามอย่างเป็นทางการกับตัวแทนบีอาร์เอ็น ณ ประเทศมาเลเซีย นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีที่เคยลงไปเชื่อมต่อนโยบายในพื้นที่ ได้ทำหนังสือถึงนายกฯ ยิ่งลักษณ์ และรองนายกฯ เฉลิม เสนอแนะแนวทาง ๕ ข้อ คือ

“๑. สร้างความเป็นเอกภาพในระดับนโยบายและผู้ปฏิบัติ ๒. จัดทำโรดแมป การปฏิบัติให้ชัดเจนว่าหลังมีการเจรจาสันติภาพแล้วควรถามความเห็นของคนในพื้นที่ว่าควรจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วหันมาใช้มาตรา ๒๑ ของพ.ร.บ.ความมั่นคงหรือไม่ ๓. ให้มีการตรวจดีเอ็นเอของเด็กอายุ ๗ ปีขึ้นไป ในช่วงที่เริ่มทำบัตรประชาชน เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงจะได้ตรวจสอบหาผู้ก่อเหตุได้ง่าย แต่อาจจะมีความยุ่งยากในเรื่องข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ๔. ส่งรัฐมนตรีที่รับผิดชอบลงไปในพื้นที่เพื่อการสั่งการที่รวดเร็ว และ ๕. เห็นด้วยกับการเจรจาสันติภาพ แต่ไม่เห็นด้วยกับการลงนามเจรจา จึงขอให้ยกเลิกการลงนามการเจรจาสันติภาพที่ สมช. ดำเนินการไว้ และขอให้พูดความจริงเกี่ยวกับสิ่งที่ไปลงนามไว้ เพราะที่ผ่านมามีการเจรจาผิดตัวถึง ๓ ครั้ง ตั้งแต่สมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จนถึงปัจจุบัน ดังนั้น ขออย่าทำร้ายประเทศไทยอีกเลย”

๔) แล้วทักษิณ ชินวัตร ก็แทรกตัวเองเข้ามาแสดงบทบาทในการเจรจาสันติภาพ

การลงนามเจรจาอย่างเป็นทางการที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ ๒๘ ก.พ. ๒๕๕๖ สภาผู้แทนราษฎร ภาคประชาชนในพื้นที่ ไม่เคยได้มีส่วนร่วมมาก่อนเลย อยู่ ๆ ก็เกิดฉากดังกล่าวขึ้นมา แล้วทักษิณก็ถูกเอ่ยอ้างว่าเป็นผู้อำนวยการสร้าง

รัฐบาลไทยถูกสไกป์สั่งการหรือบงการโดยทักษิณ นั่นรู้กันดีอยู่แล้ว

แต่ว่ากันว่า แกนนำบีอาร์เอ็นที่เข้าร่วมเจรจา ก็เคยบินไปหาทักษิณถึงที่ดูไบด้วย

กลายเป็นว่า นักโทษบงการความเมือง


จากคอลัมน์ "กวนน้ำให้ใส
นสพ.แนวหน้า ๘ มี.ค. ๒๕๕๖


บีจีและไลน์จากคุณญามี่


Free TextEditor





Create Date : 12 มีนาคม 2556
Last Update : 14 มิถุนายน 2556 20:33:02 น. 0 comments
Counter : 1796 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.