happy memories
Group Blog
 
<<
เมษายน 2556
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
22 เมษายน 2556
 
All Blogs
 
คดีปราสาทพระวิหาร (๗)




พระวิหารเจ้าปัญหา

“ภาพแผนที่คลี่กางวางตรงหน้า
คราบน้ำตาเปื้อนเปรอะยังเลอะอยู่
แผ่นดินทองของไทยไทยเชิดชู
ให้คงคู่ควรค่าชั่วฟ้าดิน


บรรพชนทนยากเพื่อฝากไว้
ลูกหลานไทยรักษาอย่ารู้สิ้น
ทุกศอกวาค่ามีเท่าชีวิน
มรดกที่ทำกินถิ่นสุดท้าย


ทิวเขาทอดยอดทะมื่นยื่นเงื้อมง้ำ
เพียงภาพย้ำเตือนใจไทยทั้งหลาย
นี่แหละร่างวีรชนพลีตนตาย
เลือดรินสายละเลงเจือเพื่อชาติไทย


ถูกมันแกล้ง แย่งแผ่นดินหมิ่นประมาท
ไทยทั้งชาติเร้นตัวมัวอยู่ไหน
ปล่อยแม้ไอ้ชาติขี้ข้ามามีชัย
โอ้อย่างไรคนดีไม่มีฤๅ


เมื่อได้มาด้วยเลือดเชือดเนื้อแลก
คราวถูกแยกเพียงน้ำตาค่าควรหรือ
ไหนว่าเสียแผ่นดินเราเท่าฝ่ามือ
ของแลกคือชีวิตอมิตรร้าย”


(บทกลอนชื่อ “เที่ยงที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๐๕”
โดย ประมวล โกมารทัต)

ห้าสิบปีที่คนไทยใช้น้ำตา
ทนฟังคำพิพากษาแทบใจสลาย
ให้ปราสาทพระวิหารอันเพริศพราย
พลันกลับกลายเป็นสิทธิกัมพูชา


ขณะที่พื้นราบรอบภูเขา
ไทยยังครองความเป็นเจ้าด้านหน้าผา
ห้าสิบปีไทยเห็นค้านตลอดมา
ว่าแผนที่คือปัญหาอยุติธรรม


สันปันน้ำย้ำเขตแดนโดยธรรมชาติ
คืออำนาจไทยอยู่เหนือเขมรต่ำ
เส้นพรมแดนที่มิให้ใครรุกล้ำ
เกิดผลกรรมให้สองชาติพิพาทกัน


ความเป็นพี่เป็นน้องสองประเทศ
ไม่สามารถแบ่งเขตใดขีดคั่น
ยังไปมาหาสู่อยู่สัมพันธ์
สมานฉันท์แม้จะต่างอธิปไตย


อนาคตของชุมชนชาวอาเซียน
ย่อมเยี่ยมเยียนเยี่ยงมิตรคู่ชิดใกล้
หากสองรัฐร่วมมิตรรวมจิตใจ
ประโยชน์ใหญ่ย่อมยิ่งกว่ามรดกมวล
(พระวิหารก็ย่อมไร้ปัญหาเลย)


ราตรี ประดับดาว ร้อยกรอง
จากคอลัมน์ "กวีอภิวัฒน์" นสพ.แนวหน้า ๑๒ เม.ย. ๒๕๕๖



บล็อกคดีปราสาทพระวิหาร (๑)
บล็อกคดีปราสาทพระวิหาร (๒)
บล็อกคดีปราสาทพระวิหาร (๓)
บล็อกคดีปราสาทพระวิหาร (๔)
บล็อกคดีปราสาทพระวิหาร (๕)
บล็อกคดีปราสาทพระวิหาร (๖)


"ดวลหมัดต่อหมัดคณะต่อสู่คดีพระวิหาร ไทย-กัมพูชา"
นันทิดา พวงทอง


หมดยกสุดท้าย หลังสิ้นเสียง "ปีเตอร​์ ทอมกา" ประธานผู้พิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก (ไอซีเจ) กล่าวขอบคุณคณะดำเนินการทางกฎหมายของไทย และกัมพูชา ที่ได้เข้าชี้แจงทางวาจาต่อกรณีที่กัมพูชายื่นต่อศาลโลกให้ตีความอาณาบริเวณปราสาทพระวิหาร โดยที่ศาลโลกนัดให้ ๒ ประเทศ ยื่นเอกสารชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ ๒๖ เมษายน และให้แต่ละฝ่ายยื่นข้อโต้แย้งเรื่องนี้ภายในวันที่ ๓ พฤษภาคม จากนั้นศาลจะนำไปพิจารณาและจะมีคำตัดสินในเวลาที่เหมาะสมต่อไป

ดูจากการสู้คดีในศาลโลก ระหว่างวันที่ ๑๕-๑๙ เมษายน ที่ผ่านมา ถ้าวัดถึงความมั่นใจ ทั้งไทยและกัมพูชาต่างเชื่อมั่นจะเป็นผู้ชนะคดีครั้งนี้ ซึ่งกัมพูชาก็ตระเตรียมข้อมูลหลักฐาน บทพูด ตลอดจนทุ่มเทเวลา ขนาดที่ว่า นายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา สละโอกาสไม่ร่วมเข้าประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่บรูไน เมื่อต้นเดือนเมษายน ที่ผ่านมา

ด้านคณะต่อสู้คดีของไทย นำโดย "ทูตแสบ" วีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ในฐานะตัวแทนคณะต่อสู้คดีของไทย ก็ได้โชว์ลีลาวาทะเด็ดในห้องพิจารณาศาลโลก สมชื่อ ด้วยการแสดงข้อมูลหลักฐานที่หนักแน่น ชัดเจน ตามที่ได้ทุ่มเทสรรพกำลังส่งเจ้าหน้าที่การทูตไปขลุกอยู่ในหอจดหมายเหตุ เพื่อศึกษาค้นคว้าหาข้อมูล แผนที่ และเอกสารอ้างทางประวัติศาสตร์ ที่ประเทศฝรั่งเศสอย่างลับ ๆ หลายปี ซึ่งแนวทางต่อสู้ของไทยไม่เพียงต้องการให้ศาลโลกรู้ข้อเท็จจริง ยังเพื่อป้องกันข้อครหาว่าชาตินิยม สวนกระแสกับก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน

ที่นี่บัวแก้ว ขอหยิบยกข้อความบางตอนของการต่อสู้คดี ระหว่างไทย-กัมพูชา ในประเด็นหลักๆ มาเปรียบเทียบ เรียกว่า ดวลกันหมัดต่อหมัด เพื่อให้ได้ตัดสินใจกันเอง

"ความสำคัญที่ต้องการแก้ไขข้อพิพาท หรือเจตนาแฝง หวังให้ศาลโลกจะต้องรับตีความอาณาบริเวณปราสาทพระวิหาร"

"ฮอร์ นัมฮง" ชี้แจงทางวาจาต่อศาลโลก ร่ายถึงความจำเป็นที่ต้องยื่นตีความอาณาบริเวณปราสาทพระวิหาร เนื่องจาก ๒ ประเทศเข้าใจคำตัดสินศาลโลกปี ๒๕o๕ ไม่ตรงกัน ทำให้ขัดแย้งและปะทะกันอย่างต่อเนื่อง "หากย้อนไปปี ๒๕๕๔ สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไทยได้รุกรานชายแดน สร้างความเสียหายแก่พื้นที่และตัวปราสาทพระวิหาร ขณะที่กัมพูชาพยายามขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก แต่ไทยก็คัดค้าน และทำไม่ทราบเรื่องนี้ พร้อมกับมีท่าทีไม่สอดคล้องคำตัดสินศาลโลกเมื่อ ๕o ปีก่อน รวมทั้งคำสั่งศาลโลกล่าสุดที่ให้ถอนทหารในพื้นที่เขตปลอดทหาร ตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ ไทยก็ยื้อเวลา และเบี่ยงประเด็นกล่าวหากัมพูชานำประชาชนไปตั้งชุมชน สร้างวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ และตัดถนนในพื้นที่ดังกล่าว

"ทูตวีรชัย" แจงศาลโลก ระบุกัมพูชาเจตนาไม่บริสุทธิ์ ทำหลักฐานเท็จหวังชิงพื้นที่ทับซ้อน ๔.๖ ตารางกิโลเมตร โดยที่เห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นข้อพิพาทที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคำพิพากษาของศาลโลกเมื่อปี ๒๕o๕ และก่อนหน้าปี ๒๕๔๓ กัมพูชาไม่เคยประท้วงและยอมรับในกิจกรรมของฝ่ายไทยที่ทำอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว แต่ต่อมากัมพูชารุกล้ำพื้นที่ที่ไทยมีอธิปไตยเหนือดินแดน โดยก่อสร้างวัดและมีการประท้วง พร้อมหมางเมินแนวทางเจรจาผ่านทางคณะกรรมาธิการเขตร่วมแดนไทย-กัมพูชา (เจบีซี) เป็นไปตามขั้นตอนที่อยู่ในบันทึกความเข้าใจร่วม หรือเอ็มโอยู ปี ๒๕๔๓ โดยทูตแสบ ชี้ให้เห็นว่า กัมพูชามุ่งแสวงหาประโยชน์ในดินแดนพิพาท และสามารถหันหลังให้แก่หลักนิติธรรม สิ่งสำคัญในการก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียนร่วมกัน

"แผนที่ ๑ : ๒oo,ooo จะทำให้รู้เส้นเขตแดนได้จริงหรือ"

นายฌองมาร์ค ซอร์เรล ทนายความชาวฝรั่งเศสของกัมพูชา กล่าวว่า คำพิพากษาของศาลโลก เมื่อปี ๒๕o๕ ระบุว่า ที่ตั้งปราสาทพระวิหารเป็นพื้นที่อธิปไตยของกัมพูชา แต่กลับไม่ได้คำนึงในข้อสรุปของเนื้อที่ หรือจุดสิ้นสุดของดินแดนว่า ซึ่งแผนที่ ๑ : ๒oo,ooo เป็นส่วนประกอบพิจารณาของศาล และในคำตัดสินปี ๒๕o๕ ได้ใช้คำว่า เส้นเขตแดนกว่า ๑oo คำ เป็นแนวปฏิบัติที่ศาลได้จัดทำขึ้นมา โดยที่ไทยก็ยอมรับและไม่คัดค้านแผนที่ดังกล่าว

"อลินา มิรอง" ทนายความชาวโรมาเนียของไทย ได้จับสังเกตในแผนที่ ๑ : ๒oo,ooo ที่แนบท้ายภาคผนวกที่ ๑ ตามที่กัมพูชาได้นำเสนอต่อศาลว่า ในคำร้องกัมพูชาได้ใช้แผนที่อ้างอิงหลายฉบับ สังเกตจากคำว่า "maps" ที่เป็นพหูพจน์ โดยชี้ว่า ถ้านำแผนที่เก่าของกัมพูชามาเทียบแผนที่ปัจจุบัน จะพบว่าไม่มีความแม่นยำ ขณะที่ทนายฝ่ายกัมพูชาให้ถ้อยแถลงต่อคณะผู้พิพากษาเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ว่า แผนที่ที่นำเสนอนั้น เป็นการขีดเส้นตัดกันระหว่างแผนที่ในภาคผนวก ๑ และแนวเส้นสันปันน้ำ ข้อมูลนี้ไม่มีความน่าเชื่อถือ เพราะไม่ใช้วิธีทางคณิตศาสตร์คำนวณ และพบว่า ส่วนที่ตัดกันนั้นอยู่ห่างจากตัวปราสาทมากถึง ๖.๘ กิโลเมตร โดยผู้เชี่ยวชาญหน่วยวิจัยเขตแดนระหว่างประเทศได้ร่วมศึกษาวิธีการของกัมพูชา ทำให้แผนที่เกิดความคลาดเคลื่อนมากถึง ๕oo เมตร ในทางตอนเหนือของปราสาทพระวิหาร รวมถึงภูมะเขือ และเทือกเขาพนมดงรัก ทั้งที่พื้นที่ในภูมิประเทศจริงไม่สามารถพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือภายในเวลา ๕o ปี


จากคอลัมน์ "ที่นี่บัวแก้ว"
นสพ.คม ชัด ลึก ๒๒ เม.ย. ๒๕๕๖








"คดีพระวิหาร : เสมอคือชนะ เรียนรู้ 'สู้ความ' ศาลโลกผ่านทีวี"
อดิศักดิ์ ลิมปรุงพััฒนกิจ


สื่อโทรทัศน์กลายเป็น "ห้องเรียนขนาดใหญ่" ในช่วงห้าวันที่ผ่านมา ทำให้คนไทยได้ "เปิดโลก" แห่งการเรียนรู้และทำความเข้าใจกับกระบวนการต่อสู้คดีเขาพระวิหารในศาลโลก ได้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

แม้ว่าการนำเสนอ "ข้อเท็จจริง-ข้อกล่าวหา" ของทีมทนายของประเทศกัมพูชาที่เป็นฝ่ายยื่นคำร้องกับ "ข้อเท็จจริง-ข้อโต้แย้ง" ของทีมทนายของประเทศไทยจะเป็น "ชุดข้อมูล" ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

แต่ด้วยกระบวนการพิจารณาของศาลโลก ที่เปิดโอกาสให้คู่ความได้ใช้เวลาเท่าๆ กัน ในการขึ้นให้การด้วย "วาจา" เพิ่มเติมจากการส่งเอกสารไปก่อนแล้ว และยังเปิดโอกาสให้ "แก้ต่าง" อีกในเวลาเท่ากัน ย่อมจะทำให้ "ประชาชน" ทั้งสองประเทศได้รับรู้ "ข้อมูล-คำให้การ-หลักฐาน" ของตัวแทนทนายทั้งสองประเทศอย่างครบถ้วนไปพร้อม ๆ กัน กับองค์คณะผู้พิพากษาศาลโลก

อย่างน้อยที่สุด น่าจะทำให้คนไทยที่ยังมีความขัดแย้งกัน ในกรณีเขาพระวิหารที่มีการปั่นกระแส "รักชาติ" จนกลายเป็น "ชาตินิยม" แล้วพีคไปถึงขั้น "คลั่งชาติ" แล้วใช้เป็น "อาวุธ" ในการทำลายล้างกันทางการเมืองระหว่าง ๒ ขั้วพรรคการเมืองกับอีกหลายกลุ่มการเมือง ควรจะลดราวาศอกลงได้บ้าง ยังไม่บอกว่าให้ "เลิก" กล่าวหา-เลิกป้ายสี-เลิกปั่นกระแส-เลิกดูถูกประเทศเพื่อนบ้าน"

เอาเป็นว่าขอแค่ "ลดกล่าวหา-ลดป้ายสี-ลดด่าทอ" แล้วรอคอยคำตัดสินของศาลโลก เพราะประเทศไทยในช่วงกว่า ๕-๖ ปีที่ผ่านมา บอบช้ำจากความขัดแย้งของคนไทยชาติ ในกรณีประสาทเขาพระวิหารมามากแล้ว คนไทยจำนวนมากต้องตกเป็น "เหยื่อความขัดแย้ง" ของคนไทยด้วยกันเอง มากกว่าคนกัมพูชาที่มีความเป็นเอกภาพในกรณีพื้นที่ ๔.๖ ตารางกิโลเมตรรอบๆ เขาพระวิหาร

"คนไทย" ที่เป็นชาวบ้านตามแนวชายแดน ที่ตกเป็นเหยื่อเสียชีวิต จากสงครามย่อย ๆ ของทหาร ๒ ประเทศ ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา,

"คนไทย" อย่าง คุณวีระ สมความคิด, คุณราตรี ที่ท้าพิสูจน์รัฐบาลไทยเพื่อยืนยันอธิปไตยไทย จนถูกรัฐบาลกัมพูชาจับไปขังคุกเพื่อสังเวยความเชื่อ

"คนไทย" ตามสภากาแฟเกิดวิวาทะย่อย ๆ ไป ทั่วบ้านทั่วเมือง ไม่เว้นแต่ละวัน ที่เจือปนไปด้วยความเห็นที่แตกต่างเริ่มจาก "สีเสื้อ"

"คนไทย" ทำสงครามย่อย ๆ มีการให้ข้อมูลความจริงบ้าง หรือความจริงที่ไม่ครบถ้วนบนหน้าเฟซบุ๊คไม่เว้นแต่ละวัน

"คนไทย" ที่อยู่ในแวดวงวิชาการชี้หน้าด่าป้ายสีบนหน้าผาก ประณามกันแทนการถกเถียงเยี่ยงวิชาการ ฯลฯ

ผมขอปรบมือให้กับการตัดสินใจของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ที่สั่งให้มีการถ่ายทอดสดพร้อมการแปลคำให้การเป็นภาษาไทยสดๆ จากห้องพิจารณาคดีของศาลโลก โดยไม่มีการตัดทอนใด ๆ ผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง ๑๑ และวิทยุของกรมประชาสัมพันธ์

แม้ว่าผู้แปลแปลคำต่อคำในวันแรกจะสร้างความงงงวย จนต้องอาศัยนักวิชาการอธิบายด้วยภาษาไทยกันอีกหลายตระหลบก็ตาม แต่ในวันต่อๆ มาก็ทำได้ดีขึ้นมาก จนทำให้ "คนไทย" จำนวนมากที่ไม่เคยสนใจหรือไม่เคยมีความเข้าใจในความซับซ้อนของหลักฐานในคดีเขาพระวิหารที่ผ่านมากว่า ๕o ปีแล้ว ได้เกิดความเข้าใจอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

"ข้อกล่าวหา-หลักฐาน" จากทีมทนายความประเทศกัมพูชา ที่นำโดยรัฐมนตรีต่างประเทศรุ่นเก๋า "ฮอร์ นัมฮง" ที่นำเสนอต่อคณะผู้พิากษาศาลโลก ย่อมเป็นกระบวนการปกติธรรมดาของ "ทนายความฝ่ายโจทก์" จะต้องหาเหตุหาหลักฐานมาแสดงต่อศาล ให้เชื่อได้ว่าดินแดน ๔.๖ ตารางกิโลเมตร รอบๆปราสาทเขาพระวิหารเป็นของประเทศกัมพูชา ซึ่งถือเป็นครั้งแรก ที่มีความชัดเจนจากตัวแทนรัฐบาลกัมพูชาใน "วิธีคิด-ความเชื่อ" ต่อกรณีอธิปไตยบริเวณรอบปราสาทพระวิหาร ที่ในช่วงที่ผ่านมาฝั่งกัมพูชาไม่ได้แสดงต่อสาธารณะมากนัก

แต่ "ชุดคำให้การ-คำโต้แย้งและหลักฐานประกอบ" ของทีมทนายความประเทศไทย ที่มีเอกอัครราชฑูตไทยประจำกรุงเฮก "วีรชัย พลาศรัย" กับทนายความชาวฝรั่งเศส-โรมาเนียอีก ๔ คน ที่สะท้อนให้เห็นว่าได้มีการเตรียมความพร้อมในการนำเสนอ อย่างมี "ยุทธศาสตร์" จังหวะจะโคนในเชิงโต้แย้ง-หักล้าง-ทำลายความน่าเชื่อถือได้ใน "ระดับดีมาก" น่าพอใจเป็นอย่างยิ่งในสายตาคนไทยจำนวนมาก

จนทำให้ "คนไทย" ที่เคยขัดแย้งกันเองใน "วิธีคิด" ที่แตกต่าง-หลักฐานที่ไม่ครบถ้วน มิหนำซ้ำยังเจือปนด้วย "อคติ" ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างพรรคการเมืองใหญ่ ๒ พรรค ที่มีความสัมพันธ์กับรัฐบาลกัมพูชาในระดับที่แตกต่างกัน, อคติทางชนชาติที่คนไทยถูกเป่ากระหม่อมให้เกิดความรู้สึก "เหยียด" ชนชาติเพื่อนบ้านอย่างคนเขมร, คนลาว, คนพม่า ฯลฯ ลดระดับการวิวาทะทะเลาะกันไปได้ในระดับหนึ่ง ที่ยังอยากจะหวังว่าสังคมไทยเกิดบรรยากาศแบบนี้ไปให้นานที่สุด

ขอร้องกันไว้แต่เนิ่น ๆ เลยว่า พวกผีเจาะปากมาพูดที่มีอยู่เยอะมาก ๆ ในพรรคประชาธิปัตย์ อย่าได้แสดงโวหาร "อวดเก่ง" ว่าทีมทนายความชุดนี้เป็นชุดที่รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่งตั้งมากับมือ แล้วถือโอกาส "เหยียบ" รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ "สุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล" ว่าไม่ได้เต็มใจเลือกหรือคิดว่าจะแพ้อยู่แล้ว เลยทำให้เลือกใช้บริการทนายความชุดเดิมที่รัฐบาลเก่าว่าจ้างไว้ เพราะถ้าหากแพ้คดีจะได้โยนความผิดไปให้พ้นตัวได้

ขอร้องกันไว้แต่เนิ่น ๆ เลยว่า พวกผีเจาะปากมาพูดที่มีอยู่เยอะไม่แพ้กันในพรรคเพื่อไทยและพลพรรคคนเสื้อแดง อย่าได้แสดงโวหาร "อวดเก่ง" ว่าเห็นหรือเปล่าว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้เอาการเมืองเข้ามาเล่นกับคดีความระหว่างประเทศ พรรคเพื่อไทยคำนึงถึงขีดความสามารถของทีมทนายความชุดเดิมที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จ้างไว้ จึงเปิดโอกาสให้ทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลประโยชน์ประเทศชาติมากกว่าอื่นใด

ขอร้องกันไว้แต่เนิ่น ๆ อีกเช่นกัน กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองหลาย ๆ ที่อาศัยกรณีเขาพระวิหาร ด้วยการใช้สื่อทีวีดาวเทียม, สื่อโซเชียลมีเดียปลุกกระแส "ชาตินิยม" อยู่ตลอดเวลา ใครไม่เห็นด้วยกลายเป็นพวกขายชาติ จนหลายครั้งเลยเถิดกลายเป็นอาการ "คลั่งชาติ" พร้อมจะกระโดดเตะ หรือชกหน้าคนเขมรที่ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยทะเลาะกันเป็นการส่วนตัวได้

กรุณาอย่ากระพือกระแสเหล่านี้ให้ขยายตัวอีกต่อไป ด้วยการตัดตอนความจริงบางส่วนต่ออีกไป หรือนำไปขยายความแบบเข้าข้างความเชื่อของกลุ่มตัวเอง เพื่อทำลายล้างพรรคการเมืองทั้งสองพรรค ที่ผู้คนจำนวนมากก็ไม่ได้โต้แย้งว่าไม่ได้เรื่องพอ ๆ กันนั่นแหละ

เห็นหรือยังว่าข้อเรียกร้องที่ไม่ให้ประเทศไทยยอมรับรับอำนาจ "ศาลโลก" อีกต่อไป ด้วยอาการกลัวแพ้ในการสู้คดี จนลามปามถึงขั้นออกมาประท้วง เพื่อให้รัฐบาลไทยปลดพันธะระหว่างประเทศจากการเป็นสมาชิกของศาลโลก เพื่อจะได้ไม่ต้องยอมรับคำพิพากษาศาลโลก ที่พวกท่านปั่นกระแสห่วยขั้นเทพของนักการเมืองสองพรรค จนทำให้สังคมจำนวนมากเข้าใจไปว่าประเทศไทยแพ้แน่ ๆ ประเทศไทยจะต้องสูญเสียดินแดน ๔.๖ ตารางกิโลเมตร

ความเชื่อที่มาจากอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์, ไม่ใช้หลักวิชาการหาข้อมูลจริงๆ ที่มีการปั่นกระแส จนสะสมกลายเป็น "ความกลัว" ที่กำลังมีการลากถูให้ประเทศของเราเดินออกไปจากประชาคมโลกเพื่อใช้กำลังทหารตรึงดินแดน ๔.๖ ตารางกิโลเมตร รอบปราสาทเขาพระวิหาร ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องในสังคมโลก ที่จำเป็นจะต้องมีกฎกติกาในการอยู่ร่วมกันของประเทศในโลกนี้ และประเทศไทยไม่ได้ใหญ่โตเป็นมหาอำนาจทางอาวุธ-มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ที่สามารถนิ่งเฉยหรือปฏิเสธกฎเกณฑ์ของสหประชาชาติหรือระบบศาลโลกได้

ขอร้อง "นักวิชาการ" จำนวนมากอีกเช่นกัน ที่เคยมีส่วนปลุกกระแสชาตินิยม-คลั่งชาติ, บางคนแอบแสดงข้อมูล-หลักฐานการตีความผิดเพี้ยนด้วยเจือปนอคติ, บางส่วนแอบมาสร้างชื่อเสียงเพื่อวาระซ่อนเร้นส่วนตัว, บางส่วนออกมาทับถมนักวิชาการต่างสำนักด้วยอารมณ์หมั่นไส้ ที่มีน้ำหนักมากกว่าข้อมูลวิชาการ ฯลฯ เมื่อ "คำให้การ-คำโต้แย้ง-หลักฐาน" ที่ทีมทนายความของไทยได้แสดงต่อศาลโลก มีความสมบูรณ์ครบถ้วน ผ่านโทรทัศน์ที่สาธารณะชนรับรู้อย่างกว้างขวางเช่นนี้แล้ว

หากจะทะยอยกันกลับเข้า "ห้องเรียน" เพื่อก้มหน้าก้มตาทำการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม จากคำให้การของสองฝั่งไปก่อนแล้ว "รอคอย" เวลาศาลโลกพิพากษาออกมาก่อน น่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าการแย่งกันออกมาแข่งกันแสดง "ภูมิปัญญา" กันจนมากเกินพอดีอีกดังเช่นที่ผ่านมาหลายปี ซึ่งทำให้สังคมตกอยู่ในอาการงวยงง "ข้อมูลล้นทะลัก" จนจำแนกไม่ได้ว่าสิ่งไหนคือสาระความจริง คำอธิบายไนเป็นงานทางวิชาการแท้ ๆ หรือ สิ่งไหนคือความจริงบางส่วน-ความเท็จที่มาจากกากพิษทางวิชาการ

ผมเต็มใจปรบมือให้ดัง ๆ กับการปฏิบัติหน้าที่อย่างมืออาชีพและความเป็น "ข้าราชการตัวอย่าง" ของเอกอัครราชฑูตประจำกรุงเฮก "วีรชัย พลาศรัย ที่เป็นหัวหน้าทีมทำงานของทีมทนายความชาวต่างประเทศที่ไม่เข้าไปติดใจ-ข้องแวะความขัดแย้งของนักการเมืองสองพรรค ในช่วงเปลี่ยนผ่านหลายรัฐมนตรีต่างประเทศ แล้วก้มหน้าก้มตาทำงานเพื่อประเทศชาติอย่างเดียว

ขอยกย่องทีมทนายความต่างชาติทั้ง ๔ ท่าน ที่ล้วนแต่ได้ทุ่มเททำงานอย่างเงียบๆ มาโดยตลอด ๓-๔ ปี ที่ผ่านมา ท่ามกลางความขัดแย้งทางความคิดและวิกฤติการณ์การเมืองของไทยที่ผันผวนรุนแรง หาใช่ความสำเร็จของทนายความ คนหนึ่งคนใดดั่งเช่นที่กำลังเกิดกระแส "ฮีโร่หญิงสาว" ทนายความลูกครึ่งฝรั่งเศส-โรมาเนียนาม "อลินา มิรอง" ที่เชี่ยวชาญแผนที่และสื่อสารได้ชัดเจน

ผมหวังจริง ๆ ว่าหลังคำให้การศาลโลกผ่านพ้นไปแล้ว บ้านเมืองของเราจะมีห้วงระยะเวลาสงบลดละความขัดแย้งทางความคิดในคดีเขาพระวิหารไปได้มาก ผู้คนที่เคยแบ่งฝักฝ่ายในกรณีนี้จะมีอารมณ์เย็นลง พวกเขาที่มีความรู้สึกชาตินิยมรุนแรงยังไม่ต้องไปกระวนกระวายใจว่าประเทศไทยจะเสียดินแดน ๔.๖ ตารางกิโลเมตร ช่วยกันประคองบรรยากาศแบบนี้ไปให้นานที่สุด จนกว่าคำพิพากษาศาลโลกออกมาที่ยังเป็นห้วงเวลาสำคัญเช่นกัน

หากศาลโลกไม่รับตีความเท่ากับว่าประเทศไทย "เสมอตัว" คือชนะ แล้วอย่าไปประณามหยามเหยียดเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกัน แต่น่าจะสร้างไมตรีชวนมาช่วยกันพัฒนาพื้นที่ประวัติศาสตร์นี้ให้เป็นประโยชน์ร่วมกันของสองประเทศและมนุษยชาติ หากศาลโลกรับตีความก็อย่าเพิ่งออกอาการคลุ้มคลั่งว่าประเทศไทยจะสูญเสียดินแดน ๔.๖ ตารางกิโลเมตร ช่วยกันตั้งสติให้ดีว่าเริ่มต้นจากยอมรับคำสั่งศาลโลกที่คงไม่ออกคำสั่งจนให้สองประเทศประกาศสงครามแย่งดินแดนกันอย่างแน่นอน


จากคอลัมน์ "คิดใหม่วันอาทิตย์"
นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ๒๑ เม.ย. ๒๕๕๖








"หมดยกศึกศักดิ์ศรี 'ไทย vs กัมพูชา' ๔ วัน ดวลเดือดกลางศาลโลก ลุ้นประวัติศาสตร์ไม่ซ้ำรอย"


เสร็จสิ้นกันไปแล้วกับการให้การทางวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ในคดีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี ๒๕o๕ ของฝ่ายไทยและกัมพูชาที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ตลอดช่วง ๑๕-๑๙ เม.ย. ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา

โดยการปิดท้ายของฝ่ายไทยในช่วงค่ำวันที่ ๑๙ เม.ย. นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ก็ได้ขึ้นแถลงต่อศาลเพื่อตอกย้ำประเด็นข้อกฎหมายว่า คำร้องของกัมพูชาไม่เข้าข่ายธรรมนูญศาลข้อ ๖o ที่จะทำให้กัมพูชาอุทธรณ์คำร้องคดีเดิมซึ่งถือว่าสิ้นสุดไปแล้วได้

“ประเทศไทยมีความคงเส้นคงวามาตลอด ในการยืนยันว่าปัญหาเขตแดนอยู่นอกเหนือการพิพากษา และศาลในปี ๑๙๖๒ ก็ไม่ได้ตัดสินในเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่คู่ความต้องตกลงกันเอง และเรื่องเส้นเขตแดนไทยก็มีความคงเส้นคงวาว่าต้องตัดสินด้วยสันปันน้ำ ซึ่งเมื่อยึดเส้นสันปันน้ำตัวปราสาทพระวิหารก็อยู่ในฝั่งไทย แต่ไทยก็ยังยอมปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลมาจนทุกวันนี้

หากศาลให้ตามคำขอของกัมพูชาในวันนี้ จะเป็นการทำลายเจตนาของศาลที่ต้องการยุติเรื่องนี้ในระยะยาว ขอยืนยันว่าศาลไม่มีอำนาจตีความคำพิพากษาตามคำร้องของกัมพูชา ขอให้ศาลตัดสินและพิพากษาว่า ในการตีความคำตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร ๒๕o๕ นั้นไม่เป็นไปตามเกณฑ์ในข้อ ๖o ของธรรมนูญศาล ทำให้ศาลไม่สามารถตีความตามคำขอได้ หรือคำขอไม่สามารถรับฟังได้”

หลังจากนี้ก็ต้องรอให้ทุกอย่างดำเนินไปตามขั้นตอนกระบวนการพิจารณาคดีของศาลโลกต่อไป คือทางองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง ๑๗ คนก็ต้องมาประชุมปรึกษาหารือกันว่า คำแถลงคดีของทั้งฝ่ายไทย-กัมพูชาเป็นอย่างไร-ข้อต่อสู้ในประเด็นข้อกฎหมาย-ข้อต่อสู้ในเชิงข้อเท็จจริงที่ทั้งสองฝ่ายยกมากล่าวอ้างต่อศาล ข้อต่อสู้ของฝ่ายไหนมีน้ำหนักมากกว่ากัน

ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไทยที่ยกภาพถ่ายและคำพูดของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ อดีตประมุขกัมพูชาที่เดินทางไปปราสาทพระวิหารหลังศาลโลกคดีเขาพระวิหารไปแล้วสามเดือน โดยไม่ได้ติดใจเอาความที่ไทยได้มีการล้อมรั้วลวดหนามเพื่อกั้นเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา หลังมีคำตัดสินของศาลโลกในปี ๒๕o๕ อันเทียบได้ว่า กัมพูชายอมรับการล้อมรั้วลวดหนามดังกล่าวแล้ว เข้าข่าย “กฎหมายปิดปาก” แบบเดียวกับที่ก่อนหน้านี้กัมพูชาเคยยกเรื่องภาพถ่ายสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนจากฝ่ายไทยไปที่ปราสาทพระวิหาร แล้วมีการจัดงานเลี้ยง-ชักธงชาติฝรั่งเศลขึ้นยอดเสา

แต่ประเด็นนี้กัมพูชาก็แย้งกลับกลางศาลโลกว่าไม่เป็นความจริง สมเด็จพระนโรดม สีหนุ ได้มีการทักท้วงแล้วอย่างน้อยสองครั้ง ก่อนและหลังไปปราสาทพระวิหาร

หรือการที่ฝ่ายไทยพยายาม “ทำลายน้ำหนัก-ความน่าเชื่อถือ” ของแผนที่ ๑ : ๒oo,ooo ของฝ่ายกัมพูชา ที่ทีมสู้คดีของกัมพูชาพยายามร้องขอให้ศาลพิจารณาตีความเพื่อกำหนดพื้นที่ “บริเวณปราสาทพระวิหาร”

ตามคำวินิจฉัยเดิมของศาลโลกปี ๒๕o๕ ในบทปฏิบัติการ (คำวินิจฉัยที่มีผลผูกพันให้คู่กรณีต้องปฏิบัติตาม) ข้อที่ ๒ ที่นอกจากศาลโลกจะตัดสินว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตอธิปไตยของกัมพูชา ดังนั้น

“ไทยจึงต้องถอนกำลังเจ้าหน้าที่ซึ่งไทยส่งไปประจำ ณ ตัวปราสาท (at the Temple) หรือในบริเวณใกล้เคียงตัวปราสาท ซึ่งอยู่ในอาณาเขตของกัมพูชา (in its vicinity on Cambodianterritory)”

ซึ่งพื้นที่ “บริเวณใกล้เคียง” ในใจของกัมพูชาที่กัมพูชาต้องการก็คือ “พื้นที่ ๔.๖ ตารางกิโลเมตร” ที่ไทย-กัมพูชามีข้อพิพาทกันในช่วง ๓-๔ ปีมานี้นั่นเอง

อันจะเห็นได้ว่า ในวันที่ ๒ ของการแถลงคดีของฝ่ายกัมพูชาเมื่อ ๑๘ เม.ย. แม้กัมพูชาจะพยายามแจงเรื่องที่ถูกไทยทำลายน้ำหนักความน่าเชื่อถือของแผนที่ ๑ : ๒oo,ooo แต่การชี้แจงก็ทำแบบผิวเผิน ไม่ได้ลงลึกรายละเอียด เสมือนกับจะยอมรับกลาย ๆ ว่า “แจงไม่ขึ้น” เลยเลือกที่จะไม่ขยาย “จุดอ่อน” ฝั่งตัวเองให้ศาลเห็น

ส่วนประเด็นการต่อสู้ในเรื่องข้อกฎหมายที่ไทยพยายามย้ำต่อศาลว่า คำร้องขอฝ่ายกัมพูชาไม่เข้าข่ายที่ศาลจะรับตีความได้ตามข้อ ๖o ของธรรมนูญศาลโลก หรือธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (Statute of the International Court of Justice) ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่กำหนดองค์ประกอบของศาลโลกและกำหนดหน้าที่การทำงานของศาลโลก

เพราะหลังศาลโลกมีคำตัดสินเมื่อปี ๒๕o๕ ไทยได้ปฏิบัติตามคำตัดสินครบถ้วนแล้ว คำฟ้องของกัมพูชาเปรียบเหมือนกับการอุทธรณ์ที่ซ่อนมาในรูปของคำขอให้ศาลตีความ เนื่องจากต้องการให้ศาลตัดสินว่าเส้นเขตแดนเป็นไปตามแผนที่ ๑ : ๒oo,ooo รวมทั้งให้ตัดสินว่าแผนที่ดังกล่าวมีผลผูกพันทางกฎหมาย ซึ่งเมื่อปี ๒๕o๕ ศาลโลกไม่ได้รับพิจารณาและไม่ได้ตัดสินเรื่องนี้ตามที่กัมพูชาร้องขอไปเมื่อตอนสู้คดีช่วงปี ๒๕o๓-๒๕o๕ ไทยจึงบอกว่าคำร้องของกัมพูชาจึงเป็นการอุทธรณ์เรื่องเดิมซึ่งศาลไม่ได้ตัดสินเมื่อปี ๒๕o๕ ทั้งที่ศาลไม่เปิดโอกาสให้มีการอุทธรณ์

แต่ฝั่งกัมพูชาก็แย้งว่าไม่ใช่การยื่นอุทธรณ์ในคดีเก่า แต่เป็นการขอให้ศาลขยายความคำพิพากษาเดิมให้ชัดเจน เพื่อยุติปัญหาข้อพิพาทเรื่องเขตแดนของไทย-กัมพูชา ไม่เช่นนั้นปัญหาก็ไม่จบ ก็จะเกิดความยืดเยื้อกันแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เพราะสองประเทศจะถือแผนที่และเส้นเขตแดนกันคนละชุด ต่อให้ใช้กลไกการเจรจาอะไรต่าง ๆ ก็ไม่ได้ผล สุ่มเสี่ยงจะเกิดปัญหาการเผชิญหน้าสองประเทศ ที่จะส่งผลต่อการไร้สันติภาพในภูมิภาคอันย่อมไม่เป็นผลดีต่อส่วนรวม

ข้อต่อสู้ของกัมพูชาในประเด็นเรื่องสันติภาพ ที่ออกมาจากหัวหน้าทีมสู้คดี คือ “ฮอร์ นัมฮง” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศกัมพูชา น่าจะเป็นเพราะกัมพูชาต้องการเล่นบทแข็งกร้าวเพื่อกดดันศาลโลกกลาย ๆ

เพื่อหวังให้ศาลโลกซึ่งก็คือหนึ่งองค์กรหลักขององค์การสหประชาชาติมีทั้งหมด 6 องค์กร คือ ศาลโลก-สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ-คณะมนตรีความมั่นคง-คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม-คณะมนตรีภาวะทรัสตีแห่งสหประชาชาติ-สำนักงานเลขาธิการแห่งสหประชาชาติ

บทบาทหลักของศาลโลกจึงเป็นเรื่องการใช้อำนาจศาลระงับหรือยุติข้อพิพาทระหว่างรัฐ ซึ่งก็คือประเทศต่อประเทศ ตามที่กฎหมายได้ให้อำนาจศาลโลกไว้ว่า ให้มีเขตอำนาจเหนือคดีที่มีข้อพิพาท (Jurisdiction in Contentious Case)

กัมพูชาจึงย้ำประเด็นเรื่องหากศาลไม่รับตีความเรื่องนี้ ไม่ทำให้เกิดความชัดเจนในพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ปัญหาเรื่องเขตแดนนี้ก็จะคงอยู่ และอาจลุกลามกลายเป็นผลกระทบต่อสันติภาพในภูมิภาค อันย่อมขัดกับหลักการสำคัญของสหประชาชาติที่เน้นเรื่องภราดรภาพ-ความเป็นหนึ่งเดียวของสังคมโลก

อีกทั้งกัมพูชาก็พยายามแย้งว่า จริง ๆ แล้วเมื่อปี ๒๕o๕ ศาลโลกไม่ใช่ไม่พิจารณาคำร้องขอของกัมพูชาที่ให้ศาลโลกตัดสินเรื่อง “เส้นเขตแดนและแผนที่ ๑ : ๒oo,ooo” แต่เนื่องจากฝ่ายกัมพูชา “ยื่นประเด็นช้า” เพราะเป็นการยื่นเพิ่มไปภายหลัง หลังก่อนหน้านี้ยื่นไปสามประเด็น คือ ขอให้ศาลตัดสินว่า ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา-ขอให้ไทยถอนกำลังทหารและให้คืนวัตถุโบราณที่ได้ไปให้กับกัมพูชา ทำให้ศาลพิจารณาไม่ทัน

ซึ่งก็เป็นแท็กติกของกัมพูชาที่ต้องใช้กลยุทธ์การต่อสู้คดีที่ต้องปิดจุดอ่อนต่าง ๆ ของฝั่งตัวเอง รวมถึงแย้งข้อต่อสู้ของไทยให้ตรงเป้ามากที่สุด โดยเฉพาะประเด็นข้อกฎหมายในเรื่องว่าศาลไม่สามารถรับตีความได้ ที่เห็นได้ชัดว่ากัมพูชาพยายามอย่างยิ่งยวดในการสู้คดีสองวันของฝั่งกัมพูชา ที่ต้องการโน้มน้าวให้ศาลรับตีความให้ได้ เพราะเชื่อว่าหากทำให้บันไดขั้นแรกคือศาลรับตีความได้ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วระดับหนึ่ง แล้วค่อยไปลุ้นต่อว่าศาลจะตัดสินว่าอย่างไร

บทวิเคราะห์จากหลายฝ่ายต่อผลตัดสินที่จะออกมา ต่างมองว่าคดีนี้น่าจะมีผลออกมา ๒-๓ แนวทางคือ

๑. ศาลไม่รับตีความ
๒. ศาลรับตีความ

แล้วอาจมีคำตัดสินในลักษณะขยายคำพิพากษาเดิมเพื่อให้ชัดเจนขึ้นว่า พื้นที่รอบปราสาทพระวิหารมี “พิกัดแผนที่” อยู่ตรงจุดใด มีอาณาเขตแค่ไหน เพื่อยุติข้อขัดแย้งไทยกับกัมพูชา

หรือไม่ก็อาจเป็นว่าศาลรับตีความ แต่สุดท้ายบอกหลังรับเรื่องพิจารณาแล้วศาลไม่เห็นมีข้อโต้แย้ง เมื่อไม่มีข้อโต้แย้ง ก็ให้ไทยกับกัมพูชาไปใช้กลไกที่สองประเทศมีอยู่เช่น MOU 43 ที่ทำกันไปแล้ว หรือใช้การแก้ปัญหาผ่านกลไกการเจรจาในรูปคณะกรรมการทวิภาคี อย่างเช่น คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) ซึ่งหากออกแบบนี้กัมพูชาก็เสียหน้าน้อยลง

ส่วนความเป็นไปได้ที่ศาลอาจตัดสินตามที่กัมพูชาร้องขอ คือ ชี้เรื่องเส้นเขตแดนและรับรองแผนที่ ๑ : ๒oo,ooo ของกัมพูชาว่าถูกต้อง หลายคนก็ยังมองว่าก็มีโอกาสอยู่ แต่ความเป็นไปได้มีน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับสองข้อแรก

ผลการตัดสินของศาลโลกจะออกมาแบบไหน อีก ๕-๖ เดือนต่อจากนี้คงได้รู้กัน แต่เชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศไม่ต้องการให้ประวัติศาสตร์เมื่อปี ๒๕o๕ ที่ไทยแพ้คดีต่อกัมพูชากลับมาหลอนอีกครั้งเป็นแน่.


จากนสพ.ไทยโพสต์​๒๑ เม.ย. ๒๕๕๖








"ธาตุแท้สุดถ่อยระบอบฮุนเซ็น เล่ห์อันธพาลขู่ศาลโลก"
ทีมข่าวการเมืองนสพ.แนวหน้า


คนไทยทั้งประเทศก็คงมีความรู้สึกเช่นเดียวกันนั่นคือชื่นชมและยกย่องทีมต่อสู้คดีปราสาทเขาพระวิหารภาค ๒ ของฝ่ายไทย นำโดย ดร.วีรชัย พลาศัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ชี้แจงเหตุผลแสดงข้อมูลหลักฐานต่อศาลโลกได้อย่างหนักแน่นจะแจ้งเหนือชั้นกว่าฝ่ายกัมพูชาที่นำทีมโดยนายฮอร์ นัมฮง รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ

การสู้คดีเขาพระวิหารภาค ๒ ครั้งนี้หากเปรียบเป็นมวลต้องถือว่าไทยเป็นฝ่ายชนะน็อกด้วยการเปิดโปงธาตุแท้ประจานความกะล่อนปลิ้นปล้อนโกหกพกลมเหมือนจับฝ่ายกัมพูชาแก้ผ้ากลางศาลโลกเพราะด้านแม้แต่แสดงเอกสารปลอมหลอกกรรมการหน้าตาเฉย

ผลงานครั้งนี้ต้องถือว่า ดร.วีระชัย คือวีระบุรุษของชาติอย่างแท้จริง ไม่ใช่ ๓ รัฐมนตรีที่ร่วมเดินทางไปด้วยไม่ว่าจะเป็น นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯและรมว.ศึกษาธิการ และพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตุว่าไม่ต่างอะไรจากสากกะเบือที่ไม่ได้แสดงให้จิตสำนึกในความเป็นชาติไทยและแสดงถึงความรู้ความสามารถด้วยการชี้แจงต่อศาลโลกซึ่งต่างจาก นายฮอร์ นัมฮง ที่นำทีมชี้แจงด้วยตัวเอง ท่ามกลางการตั้งข้อสังเกตุว่าหรืออาจเป็นเพราะบรรดารัฐมนตรีเหล่านี้เกรงใจ”คุณพ่อฮุนเซ็น” ผู้นำกัมพูชาซึ่งเป็นพี่ร่วมสาบานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายใหญ่ผู้มีบารมีเหนือรัฐบาลหุ่นเชิดชุดนี้

ความชื่นชมในจิตสำนึกเพื่อชาติบ้านเมืองและความรู้ความสามารถถึงกับมีเสียงยกย่องว่า ดร.วีระชัย เหมาะสมที่จะนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีมากกว่าบรรดานักการเมืองด้วยซ้ำ สำหรับ ดร.วีระชัย ด้วยความเป็นข้าราชการที่ตรงไปตรงมาโดยยึดถือผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นที่ตั้งกลายเป็นสาเหตุทำให้เคยถูกรัฐบาลหุ่นเชิดระบอบทักษิณยุค นายสมัคร สุนทรเวชอดีตนายกฯ และมี นายนพดล ปัทมะ ทนายคนสนิทของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นรมว.ต่างประเทศย้ายจากตำแหน่งอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฏหมายเข้ากรุมาประจำกระทรวงเพราะไม่ยอมมอบเอกสารลับผลการตรวจสอบคดีทุจริตการจัดซื้อเครื่องตรวจวัดถุประเบิดซีทีเอ๊กซ์สุดอื้อฉาวซึ่งมี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นจำเลยที่ ๑ ให้แก่ฝ่ายการเมือง รวมทั้งข้อสังเกตุที่ว่า ดร.วีรชัย มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้คดีกับกัมพูชามาอย่างต่อเนื่องจนถูกหมายหัวจากฝ่ายกัมพูชา

แต่หลังจากที่รัฐบาลชุดที่แล้วที่มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกฯ มองเห็นความรู้ความสามารถด้านกฏหมายระหว่างประเทศอย่างหาตัวจับยากของ ดร.วีรชัย จึงผลักดันให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก พร้อมทั้งรับผิดชอบในการจัดหาทีมนักกฏหมายต่างชาติระดับพระกาฬเพื่อสู้คดีกับฝ่ายกัมพูชา ซึ่ง ดร.วีระชัย เปิดเผยเบื้องหลังการสู้คดีเขาพระวิหารภาค ๒ ครั้งนี้ว่าได้เตรียมการมานานถึง ๓ ปีตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้วในการรวบรวบข้อมูลหลักฐานทุกแง่มุมเพื่อหักล้างฝ่ายกัมพูชา และที่สำคัญคือ ทีมสู้คดีมีการปิดข้อมูลไว้เป็นความลับสุดยอดโดยไม่แพร่งพรายให้ฝ่ายการเมืองรับรู้ แม้แต่บรรดารัฐมนตรีที่ร่วมเดินทางไปฟังคำชี้แจงในศาลโลกครั้งนี้

ความรอบคอบในการเก็บรักษาความลับของ ดร.วีรชัย สมเหตุสมผลโดยยึดประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเหนือสิ่งอื่นใดเพราะอาจจะเกิดปรากฏการณ์ ”สายลับสองหน้า” คาบข้อมูลลับในการสู้คดีไปบอกฝ่ายกัมพูชา และอีกอย่างพฤติการณ์ของรัฐบาลชุดนี้ก็ชวนให้น่างสงสัยเพราะเป็นที่รู้กันว่าระบอบฮุนเซ็นกับระบอบทักษิณใกล้ชิดกันอย่างแนบแน่นถึงขนาด สมเด็จฮุนเซ็น นายกฯกัมพูชา ประกาศเป็นพี่น้องร่วมสาบานกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นนายใหญ่ผู้มีบารมีเหนือรัฐบาลหุ่นเชิดชุดนี้

แต่แม้ทีมสู้คดีของไทยนำโดย ดร.วีรชัย จะชี้แจงได้อย่างจะแจ้งเข้าตามหาชนแค่ไหนก็ตาม แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินชี้ขาดของกรรมการก็คือศาลโลกซึ่งคนไทยทั้งประเทศต้องจับตาดูให้ดี เพราะแม้ไทยจะชี้แจงได้ดีเพียงใดก็ตาม แต่หากศาลโลกลำเอียงโดยมีเบื้องหลังแอบแฝงผลการตัดสินในราวเดือน ต.ค.นี้ก็อาจจะออกมาแบบค้านสายตามหาชนโดยเปรียบเหมือนมวยโดยไทยเป็นฝ่ายชนะใจคนดู แต่แพ้เพราะกรรมการ

แต่ที่สะท้อนธาตุแท้สุดถ่อยของระบอบฮุนเซ็นก็คือคำแถลงของเฒ่าฮอร์ นัมฮง ที่ส่งสัญญาณเชิงข่มขู่กดดันศาลโลกว่า หากตัดสินให้กัมพูชาแพ้คดีครั้งนี้สันติภาพระหว่างไทยและกัมพูชาก็จะไม่เกิดขึ้น

ระบอบฮุนเซ็นนี่นอกจากกะล่อนปลิ้นปล้อนโกหกบิดเบือนแล้ว ยังเจ้าเล่ห์คบไม่ได้จริง ๆ จะมีก็แต่เจ้าลัทธิระบอบทักษิณน้องชายร่วมสาบานสุดซี๊ของสมเด็จฮุนเซ็นเท่านั้นที่เข้ากันได้เป็นปี่เป็นขลุ่ยจนถูกตั้งข้อสังเกตุว่ากายไทยแต่ใจเขมร


จากทีมข่าวการเมืองนสพ.แนวหน้า








"สันติภาพ ๒ ประเทศ ทางออกเขาพระวิหาร"
สิรินาฏ ศิริสุนทร


เสียงเชียร์ ไม่ต้องการเสียดินแดนและเสียงวิพากษ์วิจารณ์อื่นๆเกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ทีมตัวแทนไทยชี้แจงศาลโลกคดีพระวิหาร ที่กรุงเฮก เมื่อวันที่ ๑๕ - ๑๙ เม.ย. ที่ศาลโลก

คำกล่าวทำนองทวงคืนปราสาทพระวิหารดูจะดังมากในกรุงเทพมหานครและโลกโซเซียลมีเดียจนกลายกระแสคลั่งชาติ หลายเสียงกระหายสงครามหากศาลโลกตัดสินให้ฝ่ายกัมพูชาสามารถยึดครองดินแดนรอบปราสาททีพิพาทอยู่ได้

ขณะที่เสียงเล็ก ๆ ของชาวบ้านชายแดนที่วิ่งหนีระเบิดเสียงจริงตัวจริงกลับเรียกร้องหาสันติภาพ หญิงชรารายหนึ่งจากหมู่บ้านภูมิซรอลบอกกับผู้สื่อข่าวว่า ไม่ว่าศาลโลกจะตัดสินยังไง ปราสาทพระวิหารก็ตั้งอยู่ที่เดิม ชาวบ้านแถวนี้ก็ไปมาหาสู่กันเป็นญาติมิตรกัน ไม่อยากให้เกิดสู้รบกัน

เช่นเดียวกับ ชาวบ้านตามแนวชายแดน อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ เฝ้าติดตามชมถ่ายทอดฝ่ายไทยแถลงด้วยวาจาต่อศาลโลกคดีพิพาทปราสาทพระวิหารบอกว่า ไม่อยากให้ศาลโลกตัดสินชี้ขาดแพ้ชนะหวั่นเกิดสงครามและนำไปสู่การสูญเสียเลือดเนื้อหลังเคยทิ้งบ้านอพยพหนีกระสุนปืนจากเหตุสู้รบ เมื่อปี ๕๔ มาแล้ว

ชาวบ้านบ้านสายโท ๕ ใต้ ม.๓ ต.จันทบเพชร อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นอีกหมู่บ้านที่อยู่ติดแนวชายแดนไทย - กัมพูชา ต่างเห็นตรงกันว่า ไม่อยากให้ศาลโลกตัดสินชี้ขาดให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแพ้หรือชนะ เพราะเกรงว่าอาจจะเป็นชนวนเหตุทำให้เกิดภาวะสงครามระหว่างประเทศ จนนำไปสู่การสูญเสียเลือดเนื้อทั้งของเจ้าหน้าที่และของประชาชนได้

ที่ผ่านมาชาวบ้านในหมู่บ้านกว่า ๑๗o หลังคาเรือน ก็เคยทิ้งบ้านอพยพหนีลูกกระสุนไปอยู่ศูนย์พักพิงที่ทางอำเภอจัดเตรียมไว้ให้ เมื่อครั้งที่เกิดเหตุการณ์สู้รบกันระหว่างทหารไทยกับฝ่ายกัมพูชา เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา จึงทำให้ชาวบ้านเกิดความหวาดผวาว่าจะเกิดเหตุการณ์ปะทะกันซ้ำรอยขึ้นอีก

นอกจากนี้ยังมองว่ากรณีที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเขตแดนระหว่าง ๒ ประเทศ ซึ่งเคยมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันเสมือนเป็นบ้านพี่เมืองน้อง จึงอยากให้ตกลงเจรจาหาทางออกร่วมกันโดยสันติ ไม่ควรให้ศาลโลกเข้ามาตัดสินชี้ขาด เพราะคงไม่มีฝ่ายใดยอมอย่างแน่นอน

ความเห็นของผู้ใหญ่บ้านอย่างประสงค์ อยู่ระมัด ผู้ใหญ่บ้านบ้านสายโท ๕ ใต้ บอกเช่นเดียวกับลูกบ้านว่า ไม่เห็นด้วยที่ศาลโลกจะเข้ามาตัดสินคดีพิพาทปราสาทพระหารระหว่างไทยและกัมพูชา เพราะถือเป็นปัญหาเขตแดนระหว่างสองประเทศ น่าจะตกลงเจรจากันได้

ขณะที่คนเมืองจำนวนมากกกระหายสงคราม แต่สันติภาพคือสิ่งชาวบ้านตามแนวชายแดนถวิลหาเพราะเส้นแบ่งเขตแดนตามแนวแผนที่ไม่สามารถขวางกันความเป็นพี่น้องกันที่มีมายาวนานได้ แม้การชี้แจงกับศาลโลกเป็นเรื่องที่รัฐไทยพึ่งต้องต่อสู้ แต่ที่สุดแล้วคำตอบคงไม่จบที่การตัดสินของศาลเพราะแนวทางการเจรจาของสองประเทศเพื่อแสวงหาสันติร่วมกันต่างหากคือคำตอบที่ยังยืนมากกว่า ความเป็นเจ้าของดินแดน


จากคอลัมน์ "แกะรอย"
นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ๒๒ เม.ย. ๒๕๕๖








"ไทยสามัคคี"
ณ.นพวงศ์


นับตั้งแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้าบริหารประเทศ เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่ถูกเฝ้ามองด้วยความเป็นห่วง คือ กรณีเขาพระวิหาร เพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการต่อสู้คดีครั้งนี้ยิ่งเมื่อมีการประกาศชื่อ ดร.สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็ยิ่งทำให้สะดุ้ง

เพราะ ดร.สุรพงษ์นั้น เมื่อถูกรัฐบาลยิ่งลักษณ์แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แม้กระทั่งตัวเองก็ยังยอมรับว่า ไม่เคยคาดคิดมาก่อน และยังงงๆ อยู่ด้วยซ้ำ

อีกทั้งภาพของ ดร.สุรพงษ์ ที่ไปยืนฉีดเลือดสด ๆ ประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อครั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำให้ใบหน้าและชื่อเสียงเรียงนามของ ดร.สุรพงษ์นั้นถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก

แต่หลังจากนั้นไม่นาน ดร.สุรพงษ์กลับดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้ทำหน้าที่ควบคุมบังคับบัญชา "ผู้ดี" ทั้งหลายในวงการทูต ยังไม่นับถึงพื้นฐานความรู้และประสบการณ์ที่ ดร.สุรพงษ์ไม่เคยมีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับกิจการต่างประเทศของไทยแม้แต่นิดเดียวอีกต่างหาก

แม้กระทั่งกัมพูชาอยู่ในทวีปเอเชียหรือไม่ ดร. สุรพงษ์ก็ยังสับสน ดังนั้น เมื่อ ดร.สุรพงษ์เข้ามาเป็นผู้กุมบังเหียนโดยตรงของการต่อสู้คดีเขาพระวิหารกับกัมพูชา จึงย่อมทำให้เกิดความรู้สึกหวาดหวั่นในหมู่ประชาชนเป็นธรรมดา

แต่นับว่าโชคดีของประเทศไทย ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์แทบไม่แตะต้องคณะทำงานต่อสู้คดีเขาพระวิหาร ที่ถูกแต่งตั้งก่อนหน้านั้นโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งนำโดยท่านทูตวีรชัย พลาศรัย พร้อมคณะทนายความต่างชาติทั้งหมด

อีกทั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังเพิ่มเติมท่านทูตณัฐวุฒิ โพธิสาโร รองปลัด กต. ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกัมพูชาเข้าไปอีกท่าน และในส่วนของกระทรวงกลาโหมก็ยังประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านกัมพูชาอีกหลายท่านเช่นกัน

นอกจากนี้ แม้กัมพูชาจะคัดค้านต่อศาลโลกเพื่อไม่ให้ไทยทำการถ่ายทอดสด แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ใจป้า ทำการเผยแพร่การพิจารณาคดีสดๆ จากศาลโลกพร้อมพากย์ไทยอย่างตรงไปตรงมา ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์และมีความรู้ความเข้าใจมากยิ่งขึ้น พิจารณาคดีสดๆ จากศาลโลกพร้อมพากย์ไทยอย่างตรงไปตรงมา ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์และมีความรู้ความเข้าใจมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังทำให้บรรยากาศของความคลุมเครือและความสับสนในหมู่ประชาชนลดลงไปเป็นอย่างมาก

แม้รัฐบาลอภิสิทธิ์จะพ้นวาระไปแล้วก็ตาม แต่ถือว่ามีส่วนสำคัญในการปูทางแต่งตั้งคณะทำงานต่อสู้คดี หากไม่ใช่เพราะรัฐบาลอภิสิทธิ์ เราก็ไม่มีคณะทำงานต่อสู้คดีเขาพระวิหารชุดนี้

สำหรับรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, รองนายกฯ และ รมว.ศธ. พงศ์เทพ เทพกาญจนา, ดร.สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.กต. และ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กห. ซึ่งทั้งหมดอาจมีท่าทีไม่น่าไว้วางใจหลายครั้งอยู่บ้าง แต่ก็ต้องนับเป็นผลงานที่ดี เพราะถือว่าอยู่ในความรับผิดชอบด้วยเช่นกัน

แม้รัฐมนตรีทั้ง ๓ ท่านจะเข้าไปไหว้กราบกรานฮอร์ นัมฮง กลางศาลโลกให้คนไทยหงุดหงิดใจเล่น หรือแม้กระทั่งคณะทำงานต่อสู้คดีของไทยเองก็ยังไม่ให้ความไว้วางใจนักก็ตาม

สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ คณะทนายความซึ่งนำโดยท่านทูตวีรชัยนั้น ต่างทำหน้าที่ได้อย่างถึงอกถึงใจ และถูกอกถูกใจพี่น้องประชาชนคนไทย ทำการตอกหน้าโต้กลับเขมรอย่างเจ็บแสบ แน่นหนา และชัดเจน ข้อมูลต่างๆ ถูกนำเสนอต่อศาลอย่างมืออาชีพ พร้อมด้วยการตั้งประเด็นต่อสู้คดีที่แหลมคมและรัดกุม ส่งผลให้กัมพูชาแทบจะออกอาการเป๋ จนเรียกได้ว่าแทบจะเสียเชิงมวย ถือได้ว่าทำหน้าที่อย่างน่าประทับใจ สมแล้วกับที่เป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อรักษาอธิปไตยของชาติไว้ในครั้งนี้

ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง จึงขอชื่นชมและขอขอบคุณรัฐบาลอภิสิทธิ์ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ข้าราชการทั้งจากกระทรวงการต่างประเทศ และข้าราชการกระทรวงกลาโหมที่เกี่ยวข้อง สมาชิกรัฐสภาที่ร่วมรณรงค์ นักวิชาการที่ให้ข้อมูล สื่อมวลชนที่ร่วมกันติดตาม กลุ่มพันธมิตรและกลุ่มประชาชนต่าง ๆ ที่เรียกร้องผลักดัน ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน ซึ่งล้วนถือว่าทั้งหมดต่างร่วมกันต่อสู้คดีเขาพระวิหารในครั้งนี้

ส่วนอีกสองท่านซึ่งกัมพูชานำพฤติกรรมไปกล่าวอ้างสนับสนุนข้อต่อสู้คดีของกัมพูชา ได้แก่ พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ ดร.นพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ประชาชนคงจดจำท่านทั้งสองไว้อย่างไม่มีวันลืม.


จากคอลัมน์ "คลี่ตะวันห่มเมือง"
นสพ.ไทยโพสต์​๒๑ เม.ย. ๒๕๕๖


บีจีและไลน์จากคุณญามี่


Free TextEditor





Create Date : 22 เมษายน 2556
Last Update : 14 มิถุนายน 2556 19:45:31 น. 0 comments
Counter : 1227 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.