happy memories
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2556
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
16 มีนาคม 2556
 
All Blogs
 
เศรษฐกิจไทย (๕)






บล็อกเศรษฐกิจไทย (๑)
บล็อกเศรษฐกิจไทย (๒)
บล็อกเศรษฐกิจไทย (๓)
บล็อกเศรษฐกิจไทย (๔)



"เงินกู้ ๒.๒ ล้านล้านบาท ขัดต่อธรรมวินัยทางการคลังและรัฐธรรมนูญ"
ปรีชา สุวรรณทัต


ปัญหาวิกฤติการเงินการคลังจากหนี้สาธารณะที่มีมูลเหตุจากนโยบายประชานิยมของประเทศต่างๆ ในโลก ได้ประจักษ์เกิดขึ้นแล้ว ดังเช่น สถานการณ์การคลังของกรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน อิตาลี สหรัฐ และอีกหลายประเทศที่ไม่ได้กล่าวถึง

บ่งบอกว่า ปัญหาวิกฤติการคลังได้เกิดขึ้นแล้วในโลกตะวันตกทั้งที่ประเทศเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีหลักเกณฑ์ กติกา ข้อกำหนดการใช้จ่าย การก่อหนี้ การขาดดุลทางการคลัง เพื่อกำหนดกรอบวินัยทางการคลังของรัฐทั้งสิ้น หรือกรอบวินัยทางการคลังดังกล่าวเหล่านี้ไม่สามารถป้องกันการเกิดวิกฤติการคลังที่กำลังเกิดขึ้นในโลกตะวันตกได้

ที่สำคัญไม่อาจปฏิเสธได้ว่ารวมถึงประเทศไทยเราด้วยที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) เตือนว่าหากรัฐบาลไม่เลิกนโยบายประชานิยมหนี้สาธารณะจะสูงถึง ๘๐% ภายใน ๕ ปี (ดูตาราง)




คำถามที่น่าสนใจคือว่า วิกฤติหนี้สาธารณะนี้เกิดจากสมุฏฐานอะไร ?

ที่แน่ๆ คำตอบก็คงไม่ใช่ว่า เพราะประเทศในโลกตะวันตกเหล่านี้ไม่มีกรอบวินัยการคลัง แต่ที่มีอยู่อาจจะมีปัญหาที่น่าคิดยิ่งว่า เป็นกรอบวินัยการคลังที่แท้จริงหรือไม่

หรือเพราะประเทศเหล่านี้ รวมทั้งประเทศไทยของเราด้วยละเลยการใช้ “ธรรม” ในคัมภีร์ศาสนาที่สำคัญของโลกอันเป็นนิติฐานและปรัชญาในการสร้างวินัยการเงินการคลังและงบประมาณ

ในบทความตอนที่ ๑ นี้จะขอวิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน ๒ ล้านล้านบาท ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายการบริหารหนี้สาธารณะก่อน

วินัยสูงสุด ทางการเงิน การคลังและงบประมาณ มีบัญญัติไว้ในหมวด ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ มีอยู่ ๕ มาตราและยังมีนอกหมวด ๘ อีกหลายมาตรา เช่น

ตามมาตรา ๘๓ “รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการดำเนินการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

มาตรา ๘๔ (๒) สนับสนุนให้มีการใช้หลักคุณธรรม จริยธรรม และหลักธรรมาภิบาลควบคู่กับการประกอบกิจการ

(๓) ควบคุมให้มีการรักษาวินัยการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีอากรให้มีความเป็นธรรมและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น

มิพักที่จะต้องกล่าวถึงว่าการกู้เงินนอกระบบงบประมาณรายจ่ายจำนวนมหาศาล จะไม่เป็นการส่งเสริมสนับสนุนแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไม่ไยดีหรือไม่

แต่จะขอหยิบยกเฉพาะประเด็นที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเรื่องหลัก “เฉพาะ” ในการจ่ายเงินแผ่นดินและยังเป็นการขัดต่อกฎหมายกลางคือพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะที่กระทรวงการคลังตราขึ้นมาเพื่อให้เป็นระบบและเอกภาพในการก่อหนี้สาธารณะของกระทรวงการคลังเอง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ หมวด ๘ และกฎหมายวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๒ กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง พ.ศ. ๒๔๙๑ และกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้กำหนด “หลักเฉพาะ”ในการจ่ายเงินแผ่นดิน ในการจ่ายเงินคงคลัง ในการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่าย และในการกู้เงินของกระทรวงการคลังไว้เป็นองค์ประกอบที่มีความสัมพันธ์ร่วมกัน ดังนี้

มาตรา ๑๖๙ วรรคหนึ่งได้บัญญัติหลักนิติรัฐในการจ่ายเงินแผ่นดินไว้ว่า “การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้ก็ “เฉพาะ” ที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมาย

๑.ว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย
๒.กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
๓.กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ
๔.กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง....”

และในการกู้ยืมเงินของกระทรวงการคลังตามกฎหมายการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. ๒๕๔๘ และแก้ไขเพิ่มเติมมีมาตรา ๒๐ ให้กระทรวงการคลังกู้เงินได้ “เฉพาะ” เพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(๑) ชดเชยขาดดุลงบประมาณหรือมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้
(๒) พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
(๓) ปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ
(๔) ให้หน่วยงานอื่นกู้ต่อ
(๕) พัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ

เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศที่ได้รับจากการกู้ตาม (๒) ถึง (๕) ให้นำไปใช้จ่ายได้ตามวัตถุประสงค์ของการกู้เงินหรือตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ โดยไม่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง

จะเห็นได้ว่า ทั้งมาตรา ๑๖๙ ของรัฐธรรมนูญ และมาตรา ๒๐ ของกฎหมายการบริหารหนี้สาธารณะ ได้กำหนด “หลักเฉพาะ” จำกัดอำนาจการกู้เงินของกระทรวงการคลังไว้แต่ได้ถูกละเมิดอย่างจงใจโดยรัฐบาลและกระทรวงการคลังตลอดมาอย่างไม่ขาดสาย เช่น การตราพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๕ มีวงเงินกู้สามแสนห้าหมื่นล้านบาท ที่ไปสร้างวาทกรรมว่ามี “ความจำเป็นเร่งด่วน” ในการตราพระราชกำหนดและแถลงต่อการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ตามข้อเท็จจริงจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการเบิกจ่ายเงินกู้เลย (ตราออกมาใช้พร้อมกัน ๔ ฉบับในวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๕)

ขณะนี้ก็กำลังจะมีการกู้เงินตามร่าง พ.ร.บ.โครงสร้างพื้นฐานวงเงิน ๒.๒ ล้านล้านบาท ที่จะต้องมีการใช้หนี้ไปจนถึง พ.ศ. ๒๕๖๓เพิ่มเติมจากการกู้เงินตามพระราชกำหนดดังกล่าว

การจะกู้อีก ๒ ล้านล้านบาท แม้จะทำเป็นพระราชบัญญัติก็ตามแต่ก็เป็นการกู้เกินกว่าและนอกเหนือมาตรา ๒๐ (๒) ที่บัญญัติให้กู้เงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้กระทำได้เมื่อมีความจำเป็นต้องจ่ายเงินนอกเหนืองบประมาณรายจ่ายประจำปีและต้องใช้เป็นเงินตราต่างประเทศได้ไม่เกินร้อยละสิบของงบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่ถ้าจะกู้เป็นเงินบาทก็จะต้องอยู่ในเงื่อนไขถ้าภาวะตลาดการเงินในประเทศเอื้ออำนวยและจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบการเงิน การคลัง และตลาดทุนจะกระทำได้โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีตามมาตรา ๒๓

เงินกู้จะตกเป็นเงินนอกงบประมาณ เพราะจะมีบทบัญญัติรองรับเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า “....เงินกู้ให้นำไปจ่ายได้ตามวัตถุประสงค์ในการกู้โดยไม่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง.......”

เงินกู้ที่เป็นเงินนอกงบประมาณแม้จะไม่ต้องส่งเข้าเป็นเงินคงคลังแต่ก็ต้องเป็น “เงินแผ่นดิน” ตามมาตรา ๑๖๙ วรรคแรกของรัฐธรรมนูญที่จะนำไปจ่ายได้ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ “เฉพาะ”ที่รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดกำหนดไว้

เพราะความหมายของคำว่า “เงินแผ่นดิน” นั้นมีความหมายที่กว้างกว่าคำว่า “เงินคงคลัง” กล่าวคือ เงินแผ่นดิน หมายถึงเงินทั้งปวงที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจกองทุนสาธารณะต่างๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งที่เป็นเงินงบประมาณ เงินรายได้แผ่นดิน และเงินนอกงบประมาณ และรวมถึงเงินคงคลังด้วย

กล่าวโดยสรุปเงินของทุกหน่วยงานของรัฐที่มิใช่เป็นเงินของเอกชนแล้ว ล้วนเป็นเงินแผ่นดินทั้งสิ้น ฉะนั้นการจะไปใช้จ่ายจะต้องอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังตามหมวด ๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ กล่าว โดยเฉพาะตามมาตรา ๑๖๙ วรรคแรกตามที่ได้หยิบยกแยกแยะมาให้เห็นในมาตรา ๑๖๙ วรรคหนึ่งแล้ว

พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. ๒๕๔๘ (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินทุกฉบับ รวมทั้งร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน ๒.๒ ล้านล้านบาทเป็นการกู้เงินนอกระบบงบประมาณรายจ่ายและไม่ต้องนำส่งเป็นเงินคงคลัง จึงไม่เป็นกฎหมายว่าด้วยสี่ประเภทที่มาตรา ๑๖๙ วรรคแรกอนุญาตตามหลักเฉพาะให้จ่ายเงินกู้ที่เป็นเงินแผ่นดินตามมาตรา ๑๖๙ได้ ฉะนั้นการนำเงินกู้ที่เป็นเงินแผ่นดินไปใช้จ่ายจึงเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๖๙ วรรคแรก และเป็นการกู้เงินเกินกว่าและนอกเหนือมาตรา ๒๐, ๒๒ ของพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. ๒๕๔๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม

โปรดติดตามตอนที่สองจะชี้ให้เห็นว่าการที่คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นโดยไม่มีอำนาจว่าการใช้จ่ายเงินกู้ตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งในส่วนที่ไม่ต้องส่งเข้าเป็นเงินคงคลังไม่เป็นเงินแผ่นดินและไม่เป็นการจ่ายเงินแผ่นดินตามมาตรา ๑๖๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีผลกระทบต่อกรอบวินัยการคลังและเป็นการเปิดช่องให้มีการคอร์รัปชั่นเงินกู้ประเภทนี้และ ๒.๒ ล้านล้านบาทได้ง่ายขึ้นอย่างไร?


จากคอลัมน์ "ปรีชา'ทัศน์"
นสพ.แนวหน้า ๑๖ มี.ค. ๒๕๕๖








"พลิกประเทศ ๒ ล้านล้าน อย่าลืมดูผลกระทบทางสังคม"
บทบก.นสพกรุงเทพธุรกิจ


รัฐบาลโหมโรงการใช้เงินพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ๒ ล้านล้าน โดยใช้ชื่องานว่า "Thailand 2020 ก้าวใหม่ เชื่อมไทยสู่โลก”

ซึ่งมีการจัดงานกันหลายวันเพื่อพยายามอธิบายว่าโครงการนี้มีความจำเป็นอย่างไร และจากการประเมินเบื้องต้นของกระทรวงคมนาคม คาดว่าผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศนั้นจำนวนมหาศาล หลังจากเสร็จโครงการระยะ ๗ ปี จาก พ.ศ. ๒๕๕๖ - ๒๕๖๓ และรัฐบาลก็หวังมากว่าโครงสร้างพื้นฐานในครั้งนี้ จะทำให้เป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะการกลายเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนในภูมิภาค

กระทรวงคมนาคมในฐานะเจ้าภาพหลัก เนื่องจากโครงการส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับคมนาคมของประเทศ แจกแจงว่าหากก่อสร้างเสร็จตามแผน จะทำให้เกิดการเปลี่ยนจากการขนส่งจากระบบถนนไปใช้ระบบรางคือรถไฟ จะช่วยประหยัดเม็ดเงินซื้อเชื้อเพลิงได้ปีละ ๑ แสนล้านบาท และช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศจากปัจจุบันอยู่ที่ ๑๕.๒% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ(จีดีพี) มาอยู่ที่ ๑๓.๒% หรือคิดเป็นเม็ดเงินไม่ต่ำกว่าปีละ ๒ แสนล้านบาท เท่ากับว่าจะคืนทุนภายใน ๑o ปี ซึ่งประเทศมีแต่ได้เห็นๆ จากตัวเลขในการคำนวณ

นอกจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจข้างต้นแล้ว ยังมีข้อมูลจากหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะด้านการวางแผน ต่างก็โชว์ให้เห็นว่าประเทศมีแต่ได้ หากเราลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในครั้งนี้ แม้จะเป็นห่วงเรื่องหนี้สาธารณะอยู่บ้าง แต่ก็อยู่ในวิสัยที่จะจัดการได้ ไม่ให้เกิน 60% ของจีดีพี ซึ่งเป็นระดับที่มีความยั่งยืนทางการคลัง ยิ่งกว่านั้นสิ่งที่จะตามมาคือความเจริญทางเศรษฐกิจจะขยายตัวออกไปในภูมิภาค ทั้งการท่องเที่ยวและการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคที่เส้นทางรถไฟฟ้าหรือเส้นทางถนนตัดผ่าน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เป็นเพียงการโชว์แนวคิดว่ารัฐบาลเตรียมพร้อมเดินหน้าโครงการขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ส่วนรายละเอียดจะออกมาอย่างไรนั้นต้องดูพระราชบัญญัติที่อยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) และต้องผ่านสภาฯ แต่เท่าที่ติดตามความคืบหน้าที่รัฐบาลประกาศออกมาเป็นระยะนั้น ส่วนใหญ่ก็จะเป็นข้อมูลที่ไม่ต่างจากที่รัฐบาลเริ่มจัดงานในครั้งนี้ และที่น่าแปลกก็คือไม่ได้มีการประเมินผลกระทบด้านอื่น เช่น ผลกระทบทางสังคมในพื้นที่รถไฟฟ้าตัดผ่าน ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

ยิ่งกว่านั้น ในการจัดงานครั้งนี้ ได้มีการเชิญตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมรับฟังด้วย โดยเชิญตัวแทนหน่วยงานรัฐระดับภูมิภาค เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจถึงเหตุผลและความจำเป็นต้องดำเนินโครงการ ซึ่งหากพิจารณาขั้นตอนการดำเนินโครงการแล้ว ถือว่าโครงการนี้ไม่ต่างจากโครงการขนาดใหญ่อื่น ๆ กล่าวคือ เป็นโครงการที่สั่งตรงลงไปจากส่วนบนและเป็นผู้วางแผนโครงการ ส่วนผลกระทบด้านอื่นๆ นั้นไม่ได้มีการประเมิน เพราะสิ่งที่ประเมินกันนั้นเป็นตัวเลขรวมๆ เป็นหลักเพื่อมาใช้สนับสนุนโครงการ

เราเห็นว่าก่อนที่รัฐบาลจะดำเนินโครงการจริง รัฐบาลควรจะมีการประเมินผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วย เพราะเราเคยมีบทเรียนมาแล้วจากโครงการอิสเทิร์นซีบอร์ด ที่เป็นโครงการสั่งตรงลงไปจากส่วนกลางเช่นกัน แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นมหาศาล เพราะเป็นสิ่งที่คาดการณ์ยากว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราเห็นว่ารัฐบาลจะต้องเร่งประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างละเอียด เพราะหาไม่แล้วจะมานั่งเสียใจกันภายหลัง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่โครงการขนาดใหญ่เช่นนี้จะมีแต่ด้านดีด้านเดียว


จากนสพกรุงเทพธุรกิจ ๙ มี.ค. ๒๕๕๖








"เดินหน้ากู้เงิน ๒.๒ ล้านล้านบาท รัฐบาลโชว์ผลงาน ๑ ปีก่อนดีไหม"
บ.ก.นสพ.ไทยโพสต์


เป็นไปตามยุทธศาสตร์การสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเห็นพ้องต้องตาม กับนโยบายการกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พยายามเร่งผลักดัน พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... วงเงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อให้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาทันสมัยการประชุมนี้ ด้วยการขยายเวลานิทรรศการ "Thailand 2020 ก้าวใหม่ เชื่อมไทยสู่โลกการลงทุนของประชาชน....เพื่อประชาชน" โชว์การแสดงการก่อสร้างโครงการระบบขนส่ง ทั้งเส้นทางรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง และรถไฟรางคู่ ให้ประชาชนเกิดความมั่นใจและความจำเป็นการการดำเนินการกู้เงินมาใช้ครั้งนี้ของรัฐบาล
   
การจัดนิทรรศการ "Thailand 2020 ก้าวใหม่ เชื่อมไทยสู่โลกการลงทุนของประชาชน....เพื่อประชาชน" ครั้งนี้ ตามคำบอกกล่าวของนาวสาวยิ่งลักษณ์ ว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นการลงทุนครั้งใหญ่ของประเทศที่ได้นำมาเสนอ ซึ่งก็อยากจะรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนและภาคเอกชน เกี่ยวกับการลงทุน ๒.๒ ล้านล้านบาท เพราะการลงทุนครั้งนี้ เป็นสิ่งที่จะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ ที่จะช่วยลดต้นทุนในการขนส่ง
   
ถือเป็นแนวทางถูกต้องที่รัฐบาลนำเสนอโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในอนาคตต ให้ประชาชนรับรู้รับทราบและรับฟังความเห็นจากประชาชน เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์ที่รัฐบาลไปกู้มาเพื่อใช้ในโครงการนี้ล้วนเป็นเงินภาษีประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของประเทศตัวจริงควรต้องรู้ว่า เหตุใดเราต้องลงทุน ลงทุนไปแล้วเราจะได้อะไร รวมทั้งมีการลงทุนอย่างไรบ้าง เพื่อจะได้มีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตประเทศ 
   
การที่รัฐบาลจะเดินไปข้างหน้าตามโครงการ Thailand 2020 ไม่มีใครต่อต้าน ทัดทาน หรือขัดขวางความเจริญเติบโตของประเทศ เพื่อให้ทัดเทียมนานาประเทศ แต่ความเจริญก้าวหน้านั้นต้องเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่การขายฝันโชว์ความสวยหรูไปวัน ๆ เหมือนอย่างหลายๆ โครงการที่รัฐบาลเคยบอกกล่าวกับประชาชนเอาไว้ แต่สุดท้ายก็ยังไม่เห็นผลงานอะไรออกมาเป็นรูปธรรมอย่างที่วาดฝันไว้
   
หากจำได้เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๔ นางสาวยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา นโยบายลำดับที่ ๑ นโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก ทั้ง ๑. สร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตย ๒. กำหนดให้การแก้ไขและป้องกันปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ ๓. ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐอย่างจริงจัง ๔. ส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการและเร่งรัดขยายเขตพื้นที่ชลประทาน ๕. เร่งนำสันติสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนกลับมาสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ๖. เร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและนานาประเทศ 
   
๗. แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการ เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ๘. ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ สร้างสมดุลและความเข้มแข็งอย่างมีคุณภาพให้แก่ระบบเศรษฐกิจมหภาค ๙. ปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ๑o. ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน ๑๑. ยกระดับราคาสินค้าเกษตรและให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน ๑๒. เร่งเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ ๑๓. สนับสนุนการพัฒนางานศิลปหัตถกรรมและผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อการสร้างเอกลักษณ์และการผลิตสินค้าในท้องถิ่น ๑๔. พัฒนาระบบประกันสุขภาพ ๑๕. จัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่โรงเรียน และ ๑๖. เร่งรัดและผลักดันการปฏิรูปการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง
   
นับจากวันแถลงนโยบายจนถึงวันนี้ผ่านมาแล้ว ๑ ปี ๗ เดือน มีกี่นโยบายเร่งด่วนที่เห็นเป็นรูปธรรม มิหนำซ้ำเงินงบประมาณจำนวนมากที่รัฐบาลขออนุมัติรัฐสภาไปใช้ตามนโยบายต่างๆ ที่ประกาศไว้ ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าถูกนำไปปู้ยี่ปู้ยำตรงไหนอย่างไรบ้าง ประเทศชาติได้ประโยชน์หรือใครบางคนได้ประโยชน์จากเงินภาษีรัฐบาลดังกล่าว เพราะรัฐบาลก็ยังไม่มีการกำหนดวันเวลาในการแถลงผลงานครบ ๑ ปีรัฐบาล จนวงประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๖ ต้องมีมติ ๔๘๑ ต่อ ๑๖ งดออกเสียง ๑๑ ไม่ลงคะแนน ๑ เห็นชอบวาระที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ วิปฝ่ายค้าน เสนอขอให้รัฐสภามีมติให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา รายงานแสดงผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๓๖ (๕) 
   
เราขอสนับสนุนมติร่วมรัฐสภาที่ผ่านความเห็นชอบให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา รายงานแสดงผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติได้ และขอให้รัฐบาลรีบกำหนดวันเวลาในการแถลงผลงานในรอบ ๑ ปีโดยเร็วที่สุด เพราะในเมื่อรัฐบาลต้องการจะผลักดันเงินกู้ ๒.๒ ล้านล้านบาท ให้ผ่านความเห็นชอบเร็วที่สุด ก็ควรจะโชว์ผลการทำงานในรอบปีที่ผ่านมา ให้ประชาชนรับรู้ก่อนว่าได้ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติมากน้อยแค่ไหน เพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนได้ตัดสินใจว่า ควรเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย กับการกู้เงินครั้งใหม่ของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือไม่.


จากคอลัมน์ "มิติโลกาภิวัฒน์"
นสพ.ไทยโพสต์ ๑ มี.ค. ๒๕๕๖








"ปัญหาไม่ได้อยู่ที่โครงการ แต่อยู่ที่การใช้งบประมาณ"
บทบ.ก.นสพ.กรุงเทพธุรกิจ


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการ แผนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

ภายใต้ร่างพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงินรวม ๒ ล้านล้านบาท โดยไม่เห็นด้วยเรื่องการออกพระราชบัญญัติ แต่เห็นว่าควรจัดทำในงบประมาณประจำปี เพราะสามารถตรวจสอบได้ แม้จะไม่เห็นด้วยกับการจัดอันดับก่อนหลังโครงการ แต่ก็เห็นด้วยว่าถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

ประเด็นของนายอภิสิทธิ์ไม่ถือว่าเป็นประเด็นใหม่ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ก่อนหน้านั้นจากคนหลายวงการ เพราะโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก มักจะเจอกับกระแสวิจารณ์ปัญหาการคอร์รัปชันหรือการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอยู่แล้ว แม้แต่โครงการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ ๓.๕ แสนล้านบาท ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ และที่ผ่านมา ก็พบว่ารัฐบาลมักจะมีปัญหาการชี้แจงข้อเท็จจริงอยู่เสมอ ทั้งๆ ที่หากดำเนินการอย่างโปร่งใสก็ไม่ใช่เรื่องจะชี้แจงยากจนพูดกันไม่รู้เรื่อง

อันที่จริง ความไม่เชื่อถือหรือไม่ไว้วางใจรัฐบาลในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ มีปัญหาทุกรัฐบาล ไม่จำกัดเฉพาะรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเท่านั้น เพียงแต่รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์มีคนจับตามากเป็นพิเศษ เพราะใช้งบประมาณค่อนข้างมาก อีกทั้งไม่ผ่านกระบวนการงบประมาณตามปกติ เนื่องจากมีการออกกฎหมายกู้เงินโดยเฉพาะ ดังนั้น เมื่อรัฐบาลรู้ว่าการใช้เงินครั้งนี้มีความพิเศษกว่าครั้งก่อนและงบประมาณค่อนข้างมาก ก็ควรมีการชี้แจงอย่างละเอียดและโปร่งใส

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณารายละเอียดของโครงการ ใช้เงินเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในครั้งนี้ จะเห็นว่าไม่มีความต่างแตกต่างจากแผนเดิมของหน่วยงานได้ดำเนินการหรือมีแผนการมาแล้ว ซึ่งก็หมายความว่าไม่มีใครคัดค้านโครงการ แต่อาจไม่เห็นด้วยในรายละเอียดของโครงการ อย่างกรณีนายอภิสิทธิ์ไม่เห็นด้วยกับการจัดลำดับก่อนหลังของแต่ละโครงการ ซึ่งความเหมาะสมแต่ละโครงการนั้นย่อมมีการเปลี่ยนแปลงตามการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและของภูมิภาค

แต่ปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลต้องชี้แจงอย่างโปร่งใสที่สุด คือการใช้งบประมาณในครั้งนี้ ซึ่งเราเชื่อว่ารัฐบาลก็รู้ว่าหากไม่สามารถสร้างความเข้าใจได้ก็อาจสร้างปัญหาทางการเมืองได้ และการคิดโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ขึ้นมาก็ถือว่าเป็นเรื่องที่กล้าหาญมากแล้วสำหรับรัฐบาล หรือ นักการเมืองไทย ดังนั้นเหลือเพียงอย่างเดียวที่รัฐบาลต้องผ่านให้ได้ นั่นคือ ให้คนไทยเข้าใจว่าโครงการนี้จะดำเนินการอย่างคุ้มค่าของเงินที่กู้ยืมมา ซึ่งคนไทยทุกคนย่อมมีส่วนรับผิดชอบกับหนี้ก้อนหนี้กันถ้วนหน้า

เราเห็นว่าการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ในครั้งนี้ จำเป็นต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด อย่างน้อยก็ต้องมีส่วนในการรับรู้และติดตามการใช้งบประมาณ เพราะการได้รับการยอมรับจากประชาชนเท่านั้นจึงจะทำให้โครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ไปรอด ซึ่งรัฐบาลต้องอย่าลืมว่าโครงการนี้ใช้เวลาถึง ๗ ปีกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ หากมีการเปลี่ยนแปลงการเมืองแล้วก็ย่อมมีความเสี่ยงจะชะงักกลางทางได้ เราต้องไม่ลืมว่าการเมืองไทยถือเป็นอุปสรรคใหญ่ของการพัฒนาทั้งปวง ดังที่เห็นมาแล้วในโครงการขนาดใหญ่ในอดีต


จากนสพ.กรุงเทพธุรกิจ ๑๓ มี.ค. ๒๕๕๖








"รัฐบาลยิ่งลักษณ์จงใจสร้างหนี้ให้คนไทย"
บทบ.ก.นสพ.แนวหน้า


นอกจากคนไทยจำนวนไม่น้อยไม่สนใจเรื่องการบ้านการเมืองอย่างจริง ๆ จัง ๆ แล้ว ยังพบว่ายังไม่สนใจเรื่องเศรษฐกิจของประเทศด้วย เมื่อประชาชนพลเมืองไทยส่วนใหญ่ไม่สนใจเรื่องสำคัญเช่นนี้ ก็ทำให้รัฐบาลชุดนี้ จัดงบสรรเงินงบประมาณแผ่นดินแบบสุดแสนพิสดาร โดยจงใจกู้เงินมหาศาลแบบไม่เคารพยึดมั่นกฎเกณฑ์ระบบระเบียบการทำงบประมาณแผ่นดิน

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จัดงบประมาณแบบสุดพิสดาร โดยประกาศว่าจะทำงบฯ ปี ๒๕๖o เป็นแบบสมดุล แต่กลับตั้งเป้าทำงบฯ ขาดดุลปี ๒๕๕๗ วงเงิน ๒ แสน ๕ หมื่นล้านบาท เมื่อพิจารณาให้ลึกจะพบว่ารัฐบาลทำงบฯลงทุนทั้งหมดไปอยู่ในร่างพ.ร.บ.กู้เงิน ๒ ล้าน ๒ แสนล้านบาท โดยอ้างว่าเพื่อลงทุนในการขนส่งระบบราง

เราจะต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลนี้เคยออกพ.ร.ก.กู้เงิน ๓ แสน ๕ หมื่นล้านบาท มาแล้ว โดยอ้างว่าเพื่อใช้ในการดูแลจัดการระบบน้ำทั้งประเทศ แต่จนแล้วจนรอดเงินที่เร่งรัดออกพ.ร.บ.กู้ฉบับนั้น ก็ยังไม่ได้ถูกนำไปใช้ให้เกิดมรรคเกิดผลแต่ประการใด แต่การกระทำดังกล่าวของรัฐบาลถูกวิพากษ์โดยคนรู้ทันว่า จงใจทำเพื่อหลีกเลี่ยงระบบการตรวจสอบการใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน

รัฐบาลอ้างแบบฟังไม่ขึ้นว่า ต้องใช้เงินลงทุนเพื่อประเทศ โดยจะทยอยกู้ปีละประมาณ 3 แสนล้านหากรัฐบาลโปร่งใสเพียงพอ ก็สามารถจัดสรรเงินงบประมาณแบบปกติได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้การทำงบประมาณ แบบพิสดารดังปรากฏ ด้วยการจงใจออกพ.ร.บ.และพ.ร.ก.กู้เงิน อีกทั้งรัฐบาลยังสามารถจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลได้ แต่คำถามคือ เหตุใดจึงไม่ทำ แล้วทำไมต้องทำเสมือนไม่ต้องการให้มีการตรวจสอบการใช้งบประมาณ

รัฐบาลต้องสำเหนียกตลอดเวลาว่า หน้าที่ของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย คือ ทำให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง มิใช่ทำให้ชาติบ้านเมืองตกต่ำ มีหนี้สินท่วมท้น รัฐบาลเคยถามตัวเองบ้างไหมว่า การตัดสินใจเช่นนี้จะทำให้บ้านเมืองประสบปัญหาการมีหนี้สาธารณะมากมายเพียงใด

แล้วถ้าหากรัฐบาลทำให้บ้านเมืองมีหนี้สาธารณะสูงเกินร้อยละ ๕o หรือ ๖o แล้ว รัฐบาลจะมีปัญญารับผิดชอบชะตากรรมของบ้านเมืองได้อย่างไร แน่นอนว่ารัฐบาลจะต้องอ้างว่าหนี้สาธารณะจะไม่เกินร้อยละ ๕o เพราะเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ระดับร้อยละ ๗ - ๗.๕ ทุกปี และยังพยายามหลอกตัวเองว่าการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดจะไม่ก่อปัญหาใด ๆ ทั้ง ๆ ที่ปัญหามันปรากฏตำตา แต่รัฐบาลก็ยังคงปฏิเสธความจริง

รัฐบาลต้องตอบสังคมให้ชัดเจนว่า มีความจำเป็นอันใดจึงต้องกู้เงินจำนวนมหาศาลด้วยกรรมวิธีกู้นอกงบประมาณ เคยคิดบ้างไหมว่าหากในอนาคตเมื่อประเทศชาติประสบภาวะขาดดุลมหาศาลจะแก้ปัญหาอย่างไร รัฐบาลต้องเลิกสร้างหนี้สาธารณะ แล้วหันไปปรับลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น เลิกโกหกคนด้วยนโยบายประชานิยมจำนำข้าวทุกเมล็ดเสียจะดีกว่า ขอร้อง จงเลิกก่อหนี้ เลิกเอาเงินแผ่นดินไปสร้างคะแนนนิยมให้ตนเอง โดยการมอมเมาและหลอกลวงประชาชนเสียที


จากนสพ.แนวหน้า ๑๔ มี.ค. ๒๕๕๖








"ไม่มีคนจน...มีแต่คนรวยแต่เขือ!!!"
ท่านขุนน้อย ณ ลีลาบุปผากระบี่


เมื่อซักเกือบสิบปีที่ผ่านมาเห็นจะได้...ขณะที่ พระเจ้ามูลเมือง ท่านยังเถลิงถวัลย์ราชสมบัติอยู่ ณ วังจันทร์ส่องหล้า ไม่ได้ร่อนเร่เป็นสัมภเวสี จนต้องหันไปรับจ๊อบเป็นนอมินีให้แขกอาหรับ เหมือนอย่างเช่นทุกวันนี้ ถ้าหากใครที่ความจำไม่สั้นเกินไปนัก คงพอจำได้ว่า...ท่านได้ป่าวประกาศแบบเสียงดัง ฟังชัด ว่า ภายใต้การบริหาร จัดการประเทศไทยของท่าน ท่านจะดลบันดาลให้บรรดา ผู้ที่ถูกเรียกว่า คนจน ทั้งหลาย สูญหายเกลี้ยงไปจากประเทศไทย ภายในช่วงระยะเวลาไม่เกิน ๖ ปีเท่านั้น...
 
และนับจากวันนั้นมาถึงวันนี้...แม้ว่าท่านจะถูกถีบกระเด็นออกจากประเทศไทย ก่อนครบช่วงกำหนดเวลา ๖ ปีไม่นานนัก แต่ด้วยอิทธิบารมี และบาปญาธิการ ซึ่งเคยสั่งสมเอาไว้มากมาย นับแต่ชาติอดีต ก็ดูจะมีส่วนไม่มากก็น้อย ที่ทำให้บรรดาผู้ที่ถูกเรียกว่า คนจน ทั้งหลาย หายหน้า หายตา ไปจากสังคมไทยเป็นจำนวนไม่น้อย คือกลายเป็นคนที่ถูกบรรดานักวิชาการรุ่นใหม่ มักใช้คำเรียกขานว่า คนชนบทยุคใหม่ บ้าง ชนชั้นกลางระดับล่าง บ้าง หรือถ้าหากเรียกรวมๆ กันว่า ไพร่ ก็คงเป็นไพร่ประเภทที่มีรถกระบะขับ มีมอเตอร์ไซค์ขี่ มีตู้เย็น ทีวี มีโทรศัพท์มือถือ ๔ เครื่อง ๕ เครื่อง ฯลฯ หรือกลายเป็นผู้ที่มีรายได้สูงกว่า เส้นวัดมาตรฐานความยากจนของสหประชาชาติ ไปด้วยกันทั้งนั้น...
     
คำว่า ประชาธิปไตยที่กินได้ หรือคำว่า ประชานิยม มันจึงฮอตฮิต ติดตลาด มาตั้งแต่บัดนั้น...แต่ภายใต้ ความจนแบบเก่า ที่ค่อยๆ จางหายไป นับวันมันดูจะก่อให้เกิด ความจนแบบใหม่ แผ่ครอบคลุมออกไปทั่ว ทุกซอก ทุกมุม ของประเทศไทยหนักขึ้นทุกที หรือถ้าหากจะเรียกว่าเป็น ความรวย อีกชนิดหนึ่ง ก็คงพอได้ นั่นก็คือ รวยหนี้ หรือรวยจนนับวันทั้งตัวเองและครอบครัว จะเหลืออยู่แต่เพียงมะเขือยาวเหี่ยว ๆ เอาไว้ติดตัวคนละด้าม สองด้าม เท่านั้นเอง นอกนั้น...ทุกสิ่ง ทุกอย่าง กลายเป็นหนี้...กับ...หนี้ ที่แทบหาทางชดใช้ไม่ได้ ไม่ว่า ณ ชาตินี้ หรือชาติไหน ๆ ก็ตาม มีแต่ต้องคอยแบมือขอรับส่วนแบ่ง ส่วนบุญ จากรัฐบาลใด ๆ ก็ตาม ที่พอจะมีความสามารถในการ โกงแล้วเอามาแบ่งกันมั่ง ต่อไปเรื่อยๆ จน ความเป็นไพร่ ค่อย ๆ ถูกแปรสภาพให้กลายเป็น ความเป็นทาส ยิ่งขึ้น ๆ ทุกที...
   
ในทุก ๆ ห้วงขณะที่ พระเจ้ามูลเมือง มีอำนาจ หรือมีส่วนร่วมในอำนาจ ตามแบบฉบับ ทักษิณคิด-เผาไทยทำ หรือตามแบบฉบับ มีนายกรัฐมนตรีสองคนภายในประเทศเดียวกัน ปริมาณการเพิ่มพูนของสิ่งที่เรียกว่า หนี้ นั้น...มักจะเป็นไปในแบบ ก้าวกระโดด อย่างเห็นได้ชัดเจน โดยไม่ต้องไปเสียเวลาแยกแยะข้อมูล ข้อเท็จจริง อะไรให้เมื่อย เอาเฉพาะแค่สดๆ ร้อนๆ ในช่วง ๑ ปีที่ผ่านมา โดยตัวเลขที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพิ่งรวบรวมมาให้เห็น ก็สามารถพิสูจน์ ยืนยัน ได้อย่างจะจะ จัง ๆ โดยมิอาจปฏิเสธได้เลยว่า บรรดาสมาชิกในครอบครัวต่างๆ ของประเทศไทย โดยส่วนใหญ่ ล้วนแล้วแต่กำลังกลายเป็นผู้ รวยหนี้ หรือตกอยู่ในสถานะผู้ที่ รวยแต่เขือ หนักยิ่งขึ้นๆ ทุกที ชนิดที่ถ้านำเอาปริมาณหนี้ของครัวเรือนต่าง ๆ มารวม ๆ กันแล้ว อาจมีอัตราสูงถึงเกือบ ๗o เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี พูดง่ายๆ ว่า...ทำมาหารับประทาน มีรายได้ซัก ๑oo บาท ๗o บาท ต้องเอาไว้ใช้หนี้ อีก ๓o บาทที่เหลือ จะเอาไว้ซื้อถั่ว ซื้อกะหล่ำปลี ซื้อแตงกวา ก็ยังแทบไม่ได้ ต้องอาศัยมะเขือยาวที่เหลือติดตัว ปะทะ ปะทัง ชีวิตไปตามมี ตามเกิด...
    
แม้จะมี รายได้ เพิ่มขึ้นจากนโยบายลด-แลก-แจก-แถม กระหน่ำไทยแลนด์ แกรนด์เซลส์ กันเป็นระลอก ๆ แต่ราคาสินค้าที่ถีบตัวสูงขึ้นๆ ชนิดเป็นเงาตามตัว การล้มระเนระนาด ของผู้ประกอบการรายเล็ก รายน้อย ที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับค่าแรง ที่สูงขึ้นอย่างเป็นขั้น เป็นตอน รวมทั้งรายได้ที่ได้มา ถูกแรงกระตุ้นของความโลภ ความอยาก ดูดกลับไปเป็นภาษี เป็นรายได้ของรัฐ รวมทั้งรายได้ของพวกพ่อค้า นายทุน รายใหญ่ ๆ ไม่ว่าพ่อค้าผู้ผลิตรถยนต์ ผู้ประกอบกิจการบ้านและที่ดิน ผู้ผูกขาดกิจการสัมปทานโทรศัพท์มือถือ ดาวเทียม ทีวี ผู้เป็นตัวแทนบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้...ล้วนแล้วแต่ทำให้ รายจ่าย สูงกว่า รายได้ อย่างชนิดเทียบกันไม่ติด หรือทำให้ผู้ที่ถูกเรียกว่า ชนชั้นกลางยุคใหม่ คนชนบทยุคใหม่ หรือ คนจนแบบใหม่ ฯลฯ ก็แล้วแต่จะนิยามกันไป ต่างมีหนี้สินโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า ๒๘,๘๘๓ บาทต่อครัวเรือน ต่อปี หรือมีภาระหนี้สินสูงกว่ารายได้ถึง ๑.๙ เท่าเป็นอย่างน้อย ตามตัวเลขที่สภาพัฒน์ท่านได้ออกมาให้ข้อสรุป เมื่อไม่กี่วันมานี้...
    
โดยเฉพาะหนี้รถยนต์นั้น...สูงโด่เด่ไปถึง ๓๓.๙ เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ อันมิอาจปฏิเสธได้เลยแม้แต่น้อยว่า เป็นหนี้อันเนื่องมาจากการถูกปลุก ถูกกระตุ้นด้วยนโยบายคันแรก ของรัฐบาลนั่นเอง รวมทั้งอีกไม่รู้กี่นโยบาย ต่อกี่นโยบาย ที่มุ่งตรงไปสู่การเร่งเร้าความโลภ ความอยากมี อยากได้ ให้เพิ่มขึ้นๆ อัตราการออมของผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศ มันจึงแทบไม่หลงเหลือเงินออมใดๆ ติดบ้านเอาเลยแม้แต่น้อย กว่า ๙.o๙ ล้านครัวเรือน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั่วประเทศ นอกจากจะกลายเป็นผู้ ไร้ความสามารถในการออม ไปโดยสิ้นเชิงแล้ว แถมยัง ไร้ความสามารถในการใช้หนี้ ควบคู่ไปด้วย ส่งผลให้อัตราการผิดนัดชำระหนี้เกิน ๓ เดือน พุ่งพรวดๆ พราดๆ ขึ้นไปถึง ๒๘ เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นผู้มีชีวิตอยู่ ในแบบ...ถึงไม่ตายก็เลี้ยงไม่โต โดยเด็ดขาด!!!
    
แต่ที่น่าเจ็บแสบเอามาก ๆ ก็คือว่า...แม้ว่าเหตุปัจจัยอันนำไปสู่ความเจ็บปวด รวดร้าว ของ คนจนแบบใหม่ หรือ คนรวยแต่เขือ ทั้งหลาย ล้วนแต่มีที่มา-ที่ไป จากแรงกระตุ้น เพื่อให้เกิดความโลภ ความอยากได้ อยากมี ตามแนวทางประชาธิปไตยที่กินได้ ซึ่งก่อให้เกิดการกินแหลก ใช้แหลก ชนิดแทบไม่เหลืออะไรจะแดกอีกต่อไปแล้ว แต่แทนที่บรรดาผู้คนเหล่านี้ จะใคร่ครวญ พิจารณา ให้ลึกๆ ลงไปถึงเหตุปัจจัยว่า อะไรกันแน่ที่คือทุกข์ คือสมุทัย คือนิโรธ และมรรค ทุกสิ่ง ทุกอย่าง กลับถูกโยนไปให้กับ อำมาตย์ กลายเป็นสาเหตุในทุก ๆ เรื่อง ทุก ๆ กรณี ทุก ๆ ประการ อย่างแทบไม่น่าเชื่อว่า...อะไรมันจะ โง่ ได้ถึงปานนี้!!! กระทั่งการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ท่านพยายามคงดอกเบี้ย หรือไม่คิดจะลดดอกเบี้ย เพื่อที่จะให้ผู้คนเกิดแรงจูงใจพอ ที่จะอดออม ประหยัด เอาไว้มั่ง แม้แต่เล็กๆ น้อยๆ ก็ยังดี ไม่นำเงินออกไปใช้จ่ายแบบกินแหลก ใช้แหลก ไปเก็งกำไร เพื่อเพิ่มส่วนต่างให้มากไปกว่าอัตราดอกเบี้ยโดยปกติ จู่ๆ...ดันโดนอภิมหาหัวหน้าไพร่อย่างคุณป้าธิดา ออกมาข่มขู่ คุกคาม หาว่าเป็นความพยายามจะ หล่อเลี้ยงระบบอำมาตย์ ไปอีกซะนี่ เฮ้ออ์อ์อ์...อะไรมันจะทั้งโง่ ทั้งบ้า ได้เท่านี้ ย่อมไม่มีอีกแร้นน์น์น์...
    
ปิดท้ายด้วยวาทะวันนี้ จาก Anon...Willful waste makes woeful want. - การใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย ก่อให้เกิดความขัดสนอย่างน่าสังเวช...


จากนสพ.ไทยโพสต์ ๒๘ ก.พ. ๒๕๕๖


บีจีและไลน์จากคุณญามี่


Free TextEditor





Create Date : 16 มีนาคม 2556
Last Update : 14 มิถุนายน 2556 19:58:58 น. 0 comments
Counter : 1497 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.