happy memories
Group Blog
 
<<
เมษายน 2556
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
18 เมษายน 2556
 
All Blogs
 
คดีปราสาทพระวิหาร (๓)





บล็อกคดีปราสาทพระวิหาร (๑)
บล็อกคดีปราสาทพระวิหาร (๒)


'วีระชัย' ที่ไม่ทำให้แฟน ๆ ผิดหวัง
เปลว สีเงิน


เป็นไงบ้างครับ...ท่านผู้ชม มันหยดติ๋ง ๆ ถึงขนาดไม่กล้าลุกไปห้องน้ำ จนต้องใช้บริการ "สุขาเคลื่อนที่" เสริมหน้าจอกันหรือเปล่า พอระฆังศาลโลกดังแก๊งเท่านั้นแหละ ท่านทูตวีรชัย พลาศรัย "ขวัญใจมหาชนชาวไทย" ลุกขึ้นใส่รวดเดียวหมดแม็ก เล่นเอา "นายฮอร์ นัมฮง" ที่นั่งอยู่แถวแรกด้วยกัน หน้าแดงจนดำเหมือนตับตะกวดย่าง คงแทบแทรกแผ่นดินกลับบ้านไม่ทัน เมื่อท่านทูต "ตบเขมร" เข้ามุม ด้วยหมัดสุดท้ายว่า.....

"ฝ่ายกัมพูชากำลังใช้ศาลเป็นเครื่องมือ มีการสร้างเรื่อง จัดทำเอกสารขึ้นมาเอง ๑๐ ประเภท มีการปลอมแปลงแผนที่ ที่ถือว่ากระทำไม่ชอบ ไม่ถูกต้อง ทำให้ศาลเข้าใจผิดในข้อเท็จจริง นอกจากนี้ ยังทำข้อมูลผ่านเว็บไซต์ที่ปรากฏในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นเอกสารที่หลอกคนดู"

เขมรปั้น "ข้อมูลเท็จ" ต้มศาลโลกนั่นเอง!

ครับ...นั่นครึ่งแรกของวันที่ ๒ ในศึกศาลโลก ซึ่งวานนี้ (๑๗ เม.ย.) ไทยเป็นฝ่ายขึ้นแถลงหักล้างข้อกล่าวหาเขมร ที่นายฮอร์ นัมฮง นำทีมทนายฝรั่ง แถลงกล่าวหาเราไว้ด้วยข้อมูล "ปั้นน้ำเป็นตัว" ในวันก่อน พอมาเมื่อวาน เขมรเลยถูกทีมไทยจับขึงพืด "ถลกหนัง" ตากแดด!

ท่านทูตวีรชัย "ถลกเขมร" จั๋งหนับแบบนี้ ไม่เจ็บแค่เขมรฮุน เซน คงเจ็บถึงไทยทักษิณด้วยแน่ ๆ เพราะตระกูลฮุน เซน กับตระกูลชินวัตร เขาก็รู้กันทั้งโลกว่า สองตระกูลเงิน-ตระกูลทองนี้ กระสันฟั่นเกลียว สนิทชิดเชื้อ เหนียวแน่นเหนือกว่าคำว่า "ญาติสนิท" เป็นไหน ๆ

นั่นก็คือ เขมร-ฮุน เซนเจ็บ ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ ก็ต้องเจ็บ เพราะวันก่อนเธอปรามด้วยใจเกรงใจเขมรไว้แล้วว่า...จะทำอะไรกันก็ให้เบา ๆ หน่อย เกรงใจเขมรเขามั่ง เดี๋ยวจะสะเทือนสัมพันธ์กัน!

ในขณะที่ เขมรไม่กลัวไทย...กล้าฟ้องไทย

แต่ไทยที่ถูกฟ้อง กลับกลัวเขมร ถึงขนาดนายกฯ หญิงสั่ง จะแอกชั่นอะไรก็...เบา ๆ หน่อย!?

ฟังแล้วจั๊กจี้ว่ะ...เจ๊!!

นี่เห็นย้ายวอร์รูมจากเชียงใหม่ กลับมาเข้าวอร์รูมที่ทำเนียบฯ แล้ว พอหมดกระแสปั่นเรื่องไฟตก นางมโหธรเทวีมาในชุด ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว แต่นางแบบสาวทำเนียบฯ สลัดชุดประหยัดไฟประเดี๋ยว-ประด๋าว คืนร่างเฟี้ยวฟ้าว มาในชุดผ้าฝรั่ง อลังการเหมือนเดิม

มั้ยล่ะ...(กู) ว่าแล้วไม่มีผิด!

ผมให้ความเห็นไปเมื่อวานว่า เรื่องอันมีศักดิ์ศรีแผ่นดินเป็นเดิมพัน เป็นเรื่องชีวิต-จิตวิญญาณประชาชนคนไทย ฉะนั้น รัฐบาลควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ

การให้ช่อง ๑๑ ถ่ายสดจากศาลโลกให้ชาวบ้านได้ดู-ได้ฟังนั้น...ดีแล้ว แต่เพื่อความเข้าถึงเนื้อหาและลึกซึ้งถึงประเด็นอันมีดินแดน ๔.๖ ตารางกิโลเมตรของเราเป็นเดิมพันนั้น

ทางรัฐบาล และกระทรวงต่างประเทศ ควรเชิญผู้รู้แต่ละแขนงมาคอยอธิบาย-ขยายความ พร้อมวิเคราะห์คำร้องเขมร และคำหักล้างจากฝ่ายไทย เพื่อชาวบ้านจะได้เข้าใจ เขมรมันสันดานขนาดไหน กระทั่งกับศาลโลก ยังกล้า "ปั้นเรื่อง" มาร้อง

ลำพังให้ผู้ชำนาญการด้านภาษาสลับกันแปล "คำต่อคำ" ของทนายที่แถลงศาล อย่างนั้น ระดับชาวบ้านฟังได้ แต่เข้าใจไม่ง่ายหรอกครับ จึงควรเชิญผู้รู้แต่ละแขนงมาช่วย "แปลไทยเป็นไทย" เพื่อชาวบ้านจะได้ซึมซับ-ซาบซ่านถึงอรรถรสจากงานนี้

แต่...ไม่มีเสียงตอบรับจากปลายสาย!

มีแต่พิธีกรมาคนเป็นเขมร-เป็นไทย ผมไม่แน่ใจ เพราะหน้าตากระเดียดทางโตนเลสาบ ก็พูดไทยได้นะ มาทำหน้าที่ "ผู้ดำเนินรายการ" ไม่ใช่ผู้รู้-ผู้มีประสบการณ์ ที่จะสามารถย่อยเรื่องยากในศาล ให้เป็นเรื่องง่ายเพื่อการฟังได้

ระหว่างพักคั่นเวลา เขาสัมภาษณ์รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย "นายไกรรวี ศิริกุล" ฟังที่ตั้งคำถามแต่ละคำถาม มันแปร่ง-ทะแม่งชอบกล อยู่ระหว่าง "ถามแบบไม่รู้" กับ "ถามแบบจงใจ" หวังให้มีคำตอบไปทางที่ตัวเองต้องการอะไรทำนองนั้น แต่รองอธิบดีฯ ดูท่านจะรู้ทาง-รู้ทัน

เลยไม่ตก "หลุมเขมร"!

เอาหละ..ก็เป็นอันเข้าใจแล้วว่า รัฐบาลนี้ไม่ต้องการให้ประชาชนคนไทยได้เข้าถึงข้อมูล ไม่ต้องการติดอาวุธทางปัญญาเพื่อคนไทยจะได้หูตาสว่าง "รู้ทันเขมร" และรู้ทันพวกไทยใจเขมร โดยเฉพาะในเรื่องพื้นที่ ๔.๖ ตารางกิโลเมตรของเรา ที่เขมรหาเรื่องจะเอาไปผนวกเข้ากับปราสาทพระวิหาร เพื่อขึ้นทะเบียนมรดกโลกฝ่ายเดียว

"บริหารให้ประชาชนโง่เข้าไว้ มันง่ายต่อการปกครอง"!

นี่กระมัง คือนโยบาย ๒ ขา ของรัฐบาลทักษิณคิด-ยิ่งลักษณ์ทำ ขาหนึ่งประชานิยมมอมให้เมา อีกขาปิดหู-ปิดตามัดให้มืด อย่าให้มันรู้-มันเห็น!

ก็คงได้ผล ถ้าไม่ได้ผล วันนี้ (๑๘ เม.ย.) ก็คงไม่เหิมเกริม-อหังการในความเป็นรัฐบาล นปช.เพื่อไทย ด้วยการไม่ฟังเสียง-ไม่เกรงใจประชาชนคนไหน-หน้าไหนทั้งนั้น

ดันกฎหมายล้างโทษทักษิณเข้าสู่พิธีกรรมรัฐสภา ด้วยถือดีว่า..."พวกกูมากกว่า" ทำอะไรก็ได้ หน้าไหนกล้าหือ

อยากเห็น...อยากเห็น โว้ยยยยย!

หวังตีกระหนาบหรือยังไง ภายนอกประเทศ-วันนี้ ๑๘ เมษา เขมรขึ้นแถลงปิดคดีด้วยวาจาอัดไทย แล้วภายในประเทศ-นปช.เพื่อไทย เปิดกฎหมายล้างโทษทักษิณในสภาฯ

สนุกจริง ๆ....

เสร็จสงกรานต์น้ำขาว หรือมันจะเข้าเทศกาล สงกรานต์น้ำแดง?

นี่...ผมฟังแค่ครึ่งบ่าย ส่วนครึ่งค่ำเป็นยังไง ก็มัวแต่คุยกับท่านนี่แหละ...เลยอดดู ไม่รู้ไปถึงไหน แต่บอกได้อย่าง "ทีมพลาศรัย" โดยท่านทูตวีรชัย "จัดเต็ม" สะใจจริง ๆ

พูดได้ว่า ไทยเตรียมตัวมาดีเหลือเกิน เอาโจทย์เขมรวันแรกมาขยี้ตีแตกแจกดอกในศาลได้ "สมราคา" ประเดิมตั้งแต่ท่านทูตวีรชัย ยกแรก ขึ้นเขี่ยลูก ซัดตูมเดียว เขมร-ฮอร์ นัมฮง เหี่ยวคาตา ในฐานะ "กะล่อนลวงโลก"

ช่างเหมือนใครน้าาาา ชื่อคุ้น ๆ หน้าเหลี่ยม ๆ น่ะ!

โดนัลด์ เอ็ม แมกเรย์ ศาสตราจารย์กฎหมายชาวแคนาดา เจมส์ ครอว์ฟอร์ด ศาสตราจารย์กฎหมายออสเตรเลีย และ อแลง แปลเลต์ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายชาวฝรั่งเศส ทยอยขึ้นเวที "แก้ผ้าเขมร" ให้ชาวโลกเห็นถึงความคดในข้อ-งอในกระดูก ใน "แต่ละประเด็น" ที่กล่าวหาไทย

เพียบพร้อมทั้งด้านกฎหมาย ด้านวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ ด้านภูมิศาสตร์-ประวัติศาสตร์ เรียกว่า "มวยหลัก" ไม่เปะปะ ฟังแล้วยึดเป็นบรรทัดฐานเพื่อการใคร่ครวญสู่ความเป็นจริง ไม่เลื่อนลอย สักแต่พูดเอา จับแพะ-ชนแกะเอา หาหลักฐานและข้อกฎหมายมารองรับไม่ได้

เป็นการกล่าวหาไทยด้วย "ซ่อนเร้นเจตนา" ไม่ใช่การกล่าวหาบนฐานข้อเท็จจริงและหลักกฎหมาย ถ้าย้อนไปดูที่นายฮอร์ นัมฮง เปิดประเด็น วานซืน ตลอดถึงทนาย โดยเฉพาะนายร็อดแมน บุนดี ไปยกเอาการเมืองเรื่องแต่ละรัฐบาลของไทยมาเป็นประเด็น

รัฐบาลทักษิณดี เพราะเออออห่อหมก ไม่ขัดเขมรที่จะตีทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียว

-รัฐบาลสมัครก็ดี ไม่มีปัญหากับเขมร เพราะให้นายนพดลไปลงนามแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ๒๕๕๑ ทั้งการขึ้นทะเบียน ทั้งเรื่องพื้นที่รอบตัวปราสาท

-รัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ดี ตอนเป็นฝ่ายค้าน ก็ต้านจนแถลงการณ์นั้นต้องฉีกทิ้ง (แถมมีคนตาเหล่ๆ อาจใกล้ตะรางอีกไม่กี่วันในเรื่องนี้) และตอนเป็นรัฐบาล อภิสิทธิ์ก็ต่อต้านทั้งเรื่องพื้นที่ ๔.๖ ตร.กม.และเรื่องตีทะเบียนปราสาทฝ่ายเดียว

ก็เลยพิพาท (ก็เขมรนั่นแหละยิงถล่มไทยเป็นเงื่อนไขเพื่อเข้าหลักเกณฑ์ร้องศาลโลกได้)ต้องนำคำตัดสินศาลโลกปี ๐๕ มาร้องให้ศาลช่วยตีความเรื่องเขตแดน โดยยกแผนที่อัตราส่วน ๑ : ๒๐๐,๐๐ มาอ้างเฟอะฟะไปหมด

เนี่ย...มันจับแพะ-ชนแกะ ฟังแล้วยากที่ศาลจะรับ แต่ประเด็นแผนที่ ฝ่ายไทยแก้เกมมาดี เราจะเห็นว่า เมื่อวานมีสุภาพสตรีสวย-เก่งอยู่คนในทีมไทย ขึ้น "ถลกเขมร" ซะ เสีย...เลย!

เธอชื่อ น.ส.อลินา มิรอง ชาวโรมาเนีย เป็นทนายความ ผู้ช่วย ศ.อแลง แปลเลต์ เธอเป็นผู้ชำนาญการด้านแผนที่จัดมา "จับโกหกเขมร" ให้ศาลและชาวโลกได้เห็น ฟังแล้วซี้ดดดดฟันหลุด บอกไม่เชื่อ....

"......แผนที่ที่กัมพูชานำมาแสดงนั้น เป็นการเลือกใช้แผนที่เป็นประโยชน์กับตัวเอง โดยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่ให้ความเห็นไว้ว่า แผนที่ที่กัมพูชานำมาอ้างนั้น ในทางสากลไม่สามารถนำมาปฏิบัติใช้ได้จริง เพราะมีความผิดพลาดทางภูมิประเทศ แม้กัมพูชาระบุหลายครั้งว่าศาลโลกได้รับรองแผนที่ตามภาคผนวกที่ ๑ ตามคำพิพากษาปี ๐๕ แต่เมื่อทีมต่อสู้คดีของไทยไปค้นดู คำพิพากษาความยาว ๑,๕๐๐ หน้า ไม่ปรากฏการบันทึกใดที่เป็นการรับรองแผนที่ฉบับดังกล่าว รวมถึงคำพิพากษาในปี ๐๕ ศาลโลกใช้แผนที่ฉบับใดมาเป็นหลักในการพิจารณา

ถ้านำแผนที่เก่าของกัมพูชามาวางไว้บนแผนที่ปัจจุบัน จะพบว่าไม่มีความแม่นยำ แต่ไม่ทราบว่ามีการนำแผนที่มาสับเปลี่ยนกันหรือไม่ และต้องขอชื่นชมกัมพูชา หากเราจะตัดสินจากความละอายของกัมพูชา ที่ไม่มีการโต้แย้งในเรื่องนี้...."

อู๊ยยยยย...นี่แหละ "สวยแต่เจ็บ" จนฮอร์ นัมฮง-ฮุน เซน....จุก!


จากคอลัมน์ "เปลว สีเงิน คนปลายซอย"
นสพ.ไทยโพสต์ ๑๘ เม.ย. ๒๕๕๖








"เส้นแบ่งระหว่างปกป้องชาติ กับการขายชาติ"
สารส้ม




ในการให้การด้วยวาจาต่อศาลโลกของทีมนักกฎหมายฝ่ายไทย นำโดยนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ตามด้วยนักกฎหมาย ทนายความ ผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่ ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามจะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศไทยอย่างสุดกำลัง

เมื่อเทียบกับการทูตและนโยบายการต่างประเทศในยุคระบอบทักษิณ จะทำให้เห็นเส้นแบ่งระหว่างการทำงานราชการต่างประเทศที่มุ่งปกป้องชาติ กับการต่างประเทศแบบขี้ข้าขายชาติ

๑) ประเด็นสำคัญที่ท่านทูตวีระชัยหยิบยกขึ้นมาให้การต่อศาลโลก ตอบโต้และตอกกลับฝ่ายกัมพูชา ล้วนแต่ชัดเจน และขับเน้นให้เห็นภาพแห่งปัญหาแท้จริงยิ่งขึ้น เช่น

ปัญหาการปะทะกันตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาในยุครัฐบาลก่อนหน้านี้ ไม่ใช่เพราะความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทย แต่เป็นเพราะนโยบายการต่างประเทศที่ก้าวร้าวและทะเยอทะยานของฝ่ายกัมพูชาเอง!

ฝ่ายไทยปฏิบัติตามคำพิพากษา ๒๕o๕ ครบถ้วนไปแล้ว โดยที่ฝ่ายกัมพูชาแสดงออกถึงการยอมรับ กระทั่งเมื่อกัมพูชาต้องการขึ้นทะเบียนประสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกโดยฝ่ายเดียวจึงพยายามก่อเหตุขึ้นมา แม้ว่าไทยเจรจาก็ไม่เป็นผล มีการยั่วยุ ทำให้ไทยต้องใช้แนวทางป้องกันตนเอง

บันทึกข้อตกลง (MOU) ๒๕๔๓ เป็นเอกสารสำคัญที่กัมพูชายอมรับว่าพื้นที่ ๔.๖ ตารางกิโลเมตรไม่ได้อยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา มีการกำหนดแนวทางเจรจาผ่านทางคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม หรือเจบีซี (Joint Border Committee) โดยใช้หลักสันปันน้ำ ขณะเดียวกัน ฝ่ายกัมพูชากลับละเมิด MOU กระทั่งถูกฝ่ายไทยประท้วงอย่างเป็นทางการ

กัมพูชาจัดทำข้อมูลเท็จ สร้างเรื่องขึ้นมา โดยเจตนาเพื่อใช้ศาลโลกเป็นเครื่องมือ เจตนาไม่บริสุทธิ์ พยายามให้ศาลตีความพื้นที่เส้นเขตแดนระหว่างประเทศ มาตราส่วน ๑ : ๒oo,ooo ระวางดงรัก ทั้งๆ ที่ ในปี ๒๕o๕ ศาลโลกได้ปฏิเสธที่จะพิพากษาอย่างชัดแจ้งไปแล้ว การร้องขอให้ศาลตีความเส้นเขตแดนดังกล่าวจึงเป็นคำขอที่รับไม่ได้ เป็นเหมือนคำอุทธรณ์ ถือว่าเป็นคำร้องโดยมิชอบ

ยังไม่นับความพยายามต่อสู้ของฝ่ายไทย ที่หยิบยกเอาแผนที่ชุดใหญ่ นำมาหักล้างฝ่ายกัมพูชา แสดงให้ศาลเห็นว่าแผนที่ที่ฝ่ายกัมพูชาพยายามจะอ้างซ้ำแล้วซ้ำอีกนั้น ไม่อยู่กับร่องกับรอย มีปัญหาความถูกต้อง ไม่ชอบธรรม และไม่สามารถนำมาใช้ได้จริงขนาดไหน

เป็นภาพที่ขัดแย้งกับการให้การของฝ่ายกัมพูชาเมื่อวันก่อน ที่เขาหยิบเอาแถลงการณ์ร่วมของรัฐบาลระบอบทักษิณไปอ้างถึง เพื่อใช้เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายกัมพูชาเขา

๒) ต้องไม่ลืมว่า ท่านทูตวีรชัยคนนี้เองที่เคยถูกนายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เสนอรัฐบาลสมัครให้ย้ายพ้นจากอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย หลังทำบันทึกคัดค้านการออกแถลงการณ์ร่วมสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียวของกัมพูชา

จากนั้น ระบอบทักษิณก็เดินหน้าออกแถลงการณ์ร่วมฯ จนสำเร็จ

ครั้งนั้น นายวีรชัยถูกย้ายไปเป็นเอกอัคราชทูตประจำกระทรวง

หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายวีรชัยจึงได้กลับมาอยู่ตำแหน่งเดิม ก่อนจะได้รับการมอบหมายจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ให้เป็นหัวหน้าทีมกฎหมายฝ่ายไทยสู้คดีในศาลโลก

ปัจจุบัน นายนพดลถูก ป.ป.ช.ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลฎีกาฯ คำฟ้องบางตอนระบุว่า “ฝักใฝ่ผลประโยชน์กัมพูชายิ่งกว่าผลประโยชน์ไทย...”

๓) ล่าสุด ปรากฏว่า นายนพดล ปัทมะ เขียนเฟซบุ๊ค พยายามแก้ตัว

นายนพดลอ้างว่า “ทำไมเวลาเขมรพูดว่ารัฐบาลเก่าไปรุกรานเขา เขาจึงต้องกลับไปศาลโลก ท่านไม่เชื่อ แต่ท่านเชื่อว่ารัฐบาลสมัครไปสนับสนุนเขาให้ขึ้นทะเบียนปราสาทเป็นมรดกโลก”

ขอตอบว่า ก็เพราะว่าคนฟังเขาไม่ได้เชื่อเพราะว่าเขมรพูด หรือฝรั่งฝ่ายเขมรพูด แต่เขาเชื่อเพราะพิจารณาตามข้อมูลข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ทนโท่

นพดลอ้างว่า “...ถ้าทำแบบรัฐบาลสมัคร บริเวณชายแดนนั้นจะมีแต่สันติภาพ และเขมรจะไม่นำคดีมายื่นตีความต่อศาลโลกอย่างที่เกิดขึ้นในขณะนี้แน่”

ขอตอบว่า อาจจะเป็นไปได้ เพราะฝ่ายการเมืองของเขมรคงสมประโยชน์ของตนเอง โดยไม่สนใจความถูกต้องชอบธรรม เนื่องจากประเทศไทยมีรัฐบาลที่ไม่ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติตน แต่กลับมีพฤติกรรมไปฝักใฝ่ผลประโยชน์ของรัฐบาลเขมร ดังที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด และฟ้องร้องต่อศาลฎีกาฯ แล้วนั่นเอง

ขอเรียกร้องให้นายนพดลอย่าได้สร้างความสับสนให้สังคมไทยอีกเลย

ยิ่งดิ้น ยิ่งมัดแน่น

เชิญไปต่อสู้คดีในชั้นศาลฎีกาฯ จะดีกว่า

ภาพและการกระทำของนายนพดล โดยเฉพาะการไปพินอบพิเทากับฮุนเซนนั้น ติดตาตรึงใจคนไทยที่ไม่ใช่ขี้ข้าทักษิณและไม่ใช่ขี้ข้าฮุนเซนเหลือเกิน!


จากคอลัมน์ "กวนน้ำให้ใส"
นสพ.แนวหน้า ๑๘ เม.ย. ๒๕๕๖








"เหตุที่เขมรเกลียดไทย"
กมลศักดิ์ ตั้งธรรมนิยม


ในโลกนี้มีชนชาติที่เกลียดชังกันอยู่หลายชนชาติ เพราะคนบางชาติติดหล่มอยู่ ในประวัติศาสตร์แต่หนหลังที่เจ็บแค้น เช่น อาหรับกับยิว เกาหลีกับญี่ปุ่น อินโดนีเซียกับสเปนและฮอลแลนด์ และเขมรกับไทย เป็นต้น

กรณีเขมรกับไทยนั้น ดูเหมือนจะเป็นเขมรฝ่ายเดียวที่ชิงชังไทยไม่รู้เลิก ถึงขั้นรัฐบาลจัดให้มี “วันเกลียดชังไทย” ขึ้นโดยมีกิจกรรมสาปแช่งคนไทยในวันดังกล่าว

สาเหตุที่เขมรเกลียดชังไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นเพราะเขมรเคยมีประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่และยาวนานในภูมิภาคแห่งนี้เป็นเวลาหลายพันปี แต่แล้วกลับถูกอาณาจักรไทยที่เกิดใหม่แค่ ๗oo ปีทำลายจนเกือบสิ้นชาติ

ความรุ่งเรืองของขอมหรือเขมรผ่านมาหลายยุค สรุปได้อย่างกระชับย่อ ดังนี้

ยุคโบราณ เรียกว่า อาณาจักรฟูนัน รุ่งเรืองอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๖ ถึงศตวรรษที่ ๑๑

ยุคสอง เรียกว่า อาณาจักรเจนละ รุ่งเรืองอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๓

ยุคสาม เรียกว่า อาณาจักรขอมหรืออาณาจักรอังกอร์ (Angkor Kingdom) รุ่งเรืองอยู่ระหว่าง พ.ศ. ๑๓๔๕ หรือ ค.ศ. ๘o๒ จนถึง พ.ศ. ๑๙๗๕ หรือ ค.ศ. ๑๔๓๒ ตลอดระยะเวลา ๖๓๑ ปี เป็นห้วงเวลาที่อาณาจักรอังกอร์รุ่งเรืองที่สุดในภูมิภาคนี้ เห็นได้จากปราสาทขอมที่สร้างกระจัดกระจายไปทั่วแผ่นดินที่ตนครอบครองอย่างมากมาย เช่น ตะวันตกไปถึงกาญจนบุรีติดพม่า เป็นต้น

แต่แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. ๑๘๙๓ เป็นต้นมา กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาเริ่มรบชนะอาณาจักรอังกอร์มาตลอด จนกระทั่งถึงแผ่นดินเจ้าสามพระยา ในปี พ.ศ. ๑๙๗๕ หรือ ค.ศ. ๑๔๓๒ ก็ได้ยกทัพไปเผาทำลายเมืองหลวงชื่อ “เมืองพระนคร” ของอาณาจักรอังกอร์จนราบคาบ ทำให้อาณาจักรขอมหรืออาณาจักรอังกอร์ล่มสลายหรือสิ้นชาติตั้งแต่บัดนั้น

ยุคอาณาจักรเขมร เขมรหรือขอมสิ้นชาติไปถึง ๒ ปีเต็ม ๆ แล้วในปี พ.ศ. ๑๙๗๗ หรือ ค.ศ. ๑๔๓๔ คนเขมรรุ่นใหม่จึงได้สร้างประเทศขึ้น ซึ่งก็คือเขมรในปัจจุบัน แต่ตั้งประเทศได้ไม่นาน ก็ถูกไทยไล่ล่าเป็นเมืองขึ้น เขมรต้องส่งเครื่องบรรณาการมาสวามิภักดิ์ต่อกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาอย่างต่อเนื่อง

แต่ครั้งใดที่มีศึกพม่ามาประชิดเมืองเขมร เขมรก็จะแข็งข้อยกพวกมาชิงเมืองชายแดน ต้อนคนไทยไปเป็นทาส

ดังนั้น ในยุคสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งตรงกับยุคพญาละแวกเป็นกษัตริย์เขมร พระนเรศวรจึงยกทัพไปเหยียบย่ำเขมรจนแหลกราญ แล้วให้นำตัวกษัตริย์เขมรมาหมอบราบอยู่ “ใต้เกย” ส่วนพระนเรศวรนั่งอยู่ “เหนือเกย” เมื่อเพฒฆาตตัดคอกษัตริย์เขมรแล้ว ได้เอาถาดทองรองโลหิตนำขึ้นไปให้พระนเรศวรชำระพระบาท ซึ่งในโลกนี้ไม่เคยปรากฎมาก่อนว่า กษัตริย์ที่พ่ายศึกจะถูกตัดคอนำเลือดมาล้างเท้าผู้ชนะ

หลังจากนั้นเขมรก็เป็นเมืองขึ้นของไทยมาตลอด จนกระทั่งถึงยุคปีศาจตาน้ำข้าวจากยุโรปออกไล่ล่าเมืองขึ้นเขมรก็หลุดจากไทยตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส

ทุกวันนี้ เขมรหาได้เกลียดชังฝรั่งเศสที่มาไล่ล่าเอาตนเป็นเมืองขึ้นไม่ แต่กลับเกลียดชังไทยอย่างอภัยไม่ได้ โดยเฉพาะผู้นำเขมร ถึงขั้นเกลียดชังคนไทยอย่างเข้ากระดูกดำ ไม่แพ้เกาหลีเกลียดชังญี่ปุ่นและอาหรับเกลียดชังยิว

แต่น่าแปลกใจ พี่น้องตระกูลซุกและเหล่าสาวกทั้งหลายกลับรักเขมรยิ่งกว่าสิ่งใดในโลก


จากคอลัมน์ "เลียบวิภาวดี"
นสพ.แนวหน้า ๑๘ เม.ย. ๒๕๕๖








"หลักฐานเท็จ"
ผักกาดหอม


ประเด็นปัญหาชัดนะครับ ข้อต่อสู้ในศาลโลกนั้น ฝ่ายไทยยืนยันถึงจุดเริ่มต้นของปัญหาคือ กัมพูชาต้องการดินแดนเพิ่ม ก็เพื่อขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียวให้สมบูรณ์

นั่นคือกัมพูชาต้องการเขาพระวิหารและดินแดนโดยรอบทั้งหมด

ความสมบูรณ์ของการขึ้นทะเบียนมรดกโลกคืออะไร?

นอกจากตัวปราสาทพระวิหารแล้ว กัมพูชาต้องการรวม สถูปคู่ สระตราว ปราสาทโดนตรวล บันไดหัก ฯลฯ แต่ถ้าจะนับรวมทั้งหมด กัมพูชาก็ต้องเอาเขาพระวิหารและภูมะเขือทั้งลูกไปให้ได้

แต่ที่ผ่านมาไทยและกัมพูชารับรู้และยอมรับมาตลอดว่าที่ตั้งของ สระตราว สถูปคู่ อยู่ฝั่งไทย มีป้ายภาษาไทย มีถนนไทยอยู่ที่นั่น และกัมพูชาไม่เคยท้วงติง

เข้าใจว่าคนไทยและชาวกัมพูชาทุกคนรับรู้เป็นเบื้องต้นมานานแล้วว่า ถ้าจะไปเที่ยวปราสาทพระวิหารต้องขึ้นจากฝั่งไทย เพราะฝั่งกัมพูชาเป็นผาสูง แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมากัมพูชาทำทางขึ้นเองแต่ชันกว่า

ข้อต่อสู้ที่ทีมทนายไทยใช้ในศาลโลก คือประเด็นที่ประชาชนทัก ท้วงรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ว่าการไปออกแถลงการณ์ร่วมกับกัมพูชา เท่ากับไปยอมรับและอาจส่งผลให้ไทยเสียดินแดน วันนี้ก็เริ่มชัดเจนถึงเหตุต้องทักท้วงในขณะนั้น

เพราะข้อทักท้วงดังกล่าว เป็นข้อเท็จจริงที่เลี่ยง และมีการนำไปใช้ในศาล บุคคลที่ต้องขอโทษชาวไทยในขณะนี้คือ รัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาลสมัคร โดยเฉพาะ "นพดล ปัทมะ"

เอาหละ...วาระนี้เราต้องมุ่งไปที่การค้นหาความจริงและความเป็นธรรมในศาลโลก ในขณะที่ทีมทนายไทย โดยเฉพาะท่านทูตวีรชัย พลาศรัย จับโกหกได้ว่ากัมพูชาปลอมแปลงเอกสารที่ยื่นให้กับศาล ถือเป็นข้อหาที่ร้ายแรง ที่ทางกัมพูชาต้องแก้ต่างต่อไป

แต่ที่ดูจะหนักหนาสาหัสสำหรับกัมพูชาคือ คำแถลงต่อศาลของทนายความหญิง คุณอลินา มิรอง ชาวโรมาเนีย นักแผนที่ ซึ่งยกเอาหลักวิชาแผนที่มาอธิบาย ซึ่งต่างกับฝ่ายกัมพูชาเมื่อวันจันทร์ ที่ได้แต่คลุมเครือแล้วสรุปเอาว่า ๔.๖ ตารางกิโลเมตรเป็นของกัมพูชา

ยังมีอีก ๒ วันครับ ๑๘ เมษายน กัมพูชาจะกลับมาแถลงต่อศาล ถัดไป ๑๙ เมษายน ฝ่ายไทยตบท้าย ซึ่งจะมีข้อเท็จจริงอีกมาก

สิ่งที่ไม่มีการนำไปพูดในศาล เพราะไม่เกี่ยวกับคำร้องโดยตรงคือ ปัญหาเขตแดนในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาหลายประ เทศทั่วโลก เกิดจากการล่าอาณานิคมของผู้เจริญแล้วจากยุโรป

ศาลโลกภายใต้อิทธิพลการเมืองของฝรั่งเศสเมื่อปี ๒๕o๕ ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศในอาณานิคม แต่ไม่ชี้ว่าผืนแผ่นดินตรงไหนเป็นของใคร เพราะไม่สามารถอ้างอิงตามหลัก วิชาแผนที่ได้ จึงตีขลุมไปว่า "อาณาบริเวณใกล้เคียง"

ใช่แล้วครับ ถ้าอ้างอิงแผนที่ที่มนุษย์ผู้ประเสริฐเป็นคนเขียนขึ้นมา ก็ต้องอ้าง "สันปันน้ำ" แต่ถ้าอ้างตามนั้น ปราสาทพระวิหารต้องเป็นของไทย เมื่อมันผิดตั้งแต่ต้นและผ่านไปแล้ว วันนี้ต้องทำเสียให้ถูก ถ้าจะให้ดินแดนโดยรอบปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ก็ต้องอ้างหลักวิชาการแผนที่ที่ถูกต้อง ก็มีอยู่ ๒ ทางครับ ต้องลากเส้นกันใหม่

คือเราต้องยกดินแดนมากกว่า ๔.๖ ตารางกิโลเมตรให้กัมพูชา หรือ ไม่ศาลโลกก็จำหน่ายคำร้องของกัมพูชาไปเสีย เป็นการยืนยันว่า คำพิพากษา ๒๕o๕ ที่ผิดหลักวิชาแผนที่นั้นถูกต้องแล้ว กัมพูชาได้แต่ตัวปราสาทไป.


จากคอลัมน์ "อ่านเอาเรื่อง"
นสพ.ไทยโพสต์ ๑๘ เม.ย. ๒๕๕๖








'ทูตวีระชัย' จัดหนัก-โต้ข้อมูลกัมพูชา ยันไร้ข้อพิพาทใหม่คดีพระวิหาร




นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะหัวหน้าคณะต่อสู้คดีฝ่ายไทย ได้ขึ้นแถลงด้วยวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) เมื่อวานนี้ (๑๗ เม.ย.) ในคำร้องของกัมพูชาที่ให้ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารเมื่อปี พ.ศ. ๒๕o๕

นายวีรชัย กล่าวตอนหนึ่งว่า คำฟ้องของกัมพูชาเป็นการใช้กระบวนการทางคดีในทางที่ผิดและไม่เคารพศาล เพราะคำพิพากษาเมื่อปี ๒๕o๕ ชัดเจน ตั้งแต่เดือน ก.ค. ๒๕o๕ ไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้วและกัมพูชาเองก็ยอมรับ แต่ครึ่งศตวรรษหลังจากนั้นกัมพูชากลับมาต่อหน้าศาลเพื่อท้าทายความหมายและขอบเขตของคำพิพากษา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนท่าทีอย่างสลับขั้ว และมีวัตถุประสงค์เพื่อขอในสิ่งที่ศาลได้ปฏิเสธไปแล้วในปี ๒๕o๕ กล่าวคือคำพิพากษาเกี่ยวกับเส้นเขตแดนและสถานะทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก ๑

ฉะนั้นคำขอของกัมพูชาจึงไม่อาจรับไว้พิจารณาได้ภายใต้ข้อ ๖o ของธรรมนูญศาลว่าด้วยกระบวนการตีความ เพราะองค์ประกอบของอำนาจศาลภายใต้ข้อนี้ไม่ครบ

เปลี่ยนท่าทีเพราะจะขึ้นทะเบียนมรดกโลก

ทั้งนี้ ข้อพิพาทปัจจุบันเกิดจากการเรียกร้องดินแดนใหม่ของกัมพูชาเพื่อยื่นเสนอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียว ดังนั้นจึงไม่เกี่ยวกับคดีเดิมซึ่งเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือปราสาทที่ได้รับการปฏิบัติแล้วในทันทีภายหลังจากศาลมีคำพิพากษา โดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี ๒๕o๕ ได้กำหนดขอบเขตบริเวณใกล้เคียงปราสาท โดยมีการสร้างรั้วและป้ายกำกับเมื่อวันที่ ๑๕ ก.ค. ๒๕o๕ ไทยได้คืนปราสาทให้กัมพูชาพร้อมถอนกำลังทหารออกจากบริเวณนั้น ซึ่งถือว่ากัมพูชาได้ในสิ่งที่ตนขอในคำขอเมื่อปี ๒๕o๒ ได้แก่อธิปไตยเหนือปราสาท และการถอนกำลังทหารออกจากที่ดินผืนหนึ่งบนดินแดนกัมพูชาซึ่งเรียกว่าบริเวณสิ่งหักพังของปราสาท

กัมพูชาได้แสดงความพึงพอใจโดยคำกล่าวของหัวหน้าทางการทูตของกัมพูชาต่อหน้าที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อ ๒๗ ก.ย. ๒๕o๕ และประมุขของรัฐกัมพูชาที่เดินทางไปทำพิธีครอบครองปราสาทอย่างเป็นทางการในเดือน ม.ค. ๒๕o๖

"กัมพูชาไม่เคยแสดงท่าทีคัดค้านในเรื่องนี้ กระทั่งได้เสนอแผนผังเพื่อการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารฝ่ายเดียวต่อคณะกรรมการมรดกโลก ในการประชุมสมัยที่ ๓๑ ซึ่งดินแดนที่กัมพูชาอ้างล้ำเข้ามาในดินแดนไทยประมาณ ๔ ตารางกิโลเมตร การรุกล้ำหรือเหตุการณ์ในพื้นที่ต่าง ๆ กลายเป็นข้อเรียกร้องทางดินแดน เพราะต้องการเขตพื้นที่ที่จำเป็นต่อการขึ้นทะเบียนปราสาท ซึ่งไทยก็ประท้วงอย่างหนักเพื่อยืนยันในอธิปไตยต่อเนื่องของไทยในผืนดินแดนซึ่งกัมพูชาเรียกร้องใหม่นี้ ซึ่งไทยได้รับรู้อย่างเป็นทางการเมื่อปี ๒๕๕o ประเด็นเรื่องเขตแดนจึงเกินขอบเขตของคดีเดิม ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขในกรอบของบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ปี ๒๕๔๓ ซึ่งกัมพูชาปฏิเสธ และยืนยันในคำพิพากษาปี ๒๕o๕ เท่านั้นเพื่อยัดเยียดเส้นเขตแดนตามแผนที่ภาคผนวก ๑ ตามที่ตนถ่ายทอดอย่างอำเภอใจในวันนี้ต่อไทย"

๔.๖ ตาราง กม.ไม่ใช่บริเวณใกล้เคียงปราสาท

นายวีรชัย กล่าวอีกว่า พื้นที่พิพาทประมาณ ๔ ตารางกิโลเมตรไม่ใช่ "บริเวณใกล้เคียงปราสาท" ตามนัยของวรรคปฏิบัติการที่ ๒ ของคำพิพากษาเมื่อปี ๒๕o๕ เพราะในคำร้องในคดีเดิม กัมพูชามิได้เรียกร้องพื้นที่ขนาดนี้ และเรื่องเขตแดนด้วย ดังนั้นศาลไม่สามารถตัดสินเกินคำร้องและให้ในสิ่งที่กัมพูชาไม่ได้ขอ และแม้ในคำขอเพิ่มเติมของกัมพูชาในขณะนั้นเกี่ยวกับเส้นเขตแดนและสถานะทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก ๑ ศาลก็ไม่ได้รับไว้พิจารณา รวมทั้งไม่มีการระบุถึงพื้นที่ ๔ ตารางกิโลเมตรด้วย

"เป็นสิ่งที่อธิบายความลำบากของกัมพูชาที่จะพิสูจน์ความมีอยู่ของพื้นที่พิพาทดั้งเดิม โดยทำได้อย่างมากก็ปลอมแปลงเอกสารจดหมายเหตุและโต้แย้งด้วยเส้นจากภาคผนวก ๔๙ ของคำให้การแก้ฟ้องของไทยเมื่อปี ๒๕o๔ ที่ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด"

"มติ ครม.ของไทยเมื่อวันที่ ๑o ก.ค. ๒๕o๕ กำหนดพื้นที่ที่สอดคล้องกับ 'บริเวณใกล้เคียงปราสาท' ตามความเข้าใจของคู่กรณีและศาล ซึ่งสะท้อนอยู่ในหน้า ๑๕ ของคำพิพากษาและแผนที่ภาคผนวก ๘๕ ดี ซึ่งเป็นแผนที่ฉบับเดียวที่ศาลจัดทำขึ้นในคดีเดิม เป็นดินแดนผืนหนึ่งซึ่งกัมพูชาเรียกร้องในคดีเดิม และเส้นมติ ครม.ยังสอดคล้องกับเส้นในแผนที่ภาคผนวก ๖๖ ซีของคำตอบแก้ของกัมพูชา และเป็นเส้นเดียวที่กัมพูชาต่อสู้ในคดีเดิม ดังนั้นการเรียกร้องในปัจจุบันของกัมพูชาจึงเปลี่ยนอย่างสิ้นเชิงจากในอดีต และพยายามให้แผนที่ภาคผนวก ๑ รวมเป็นส่วนหนึ่งของข้อบทปฏิบัติการของคำพิพากษา"

เอ็มโอยู ๔๓ ชัดคำพิพากษาไม่เกี่ยวเขตแดน

นายวีรชัย กล่าวอีกว่า กัมพูชาเหมือนปิดตัวเองในโลกคู่ขนาน โดยอ้างว่าพื้นที่ปราสาทพระวิหารไม่อยู่ภายใต้การบังคับใช้ของเอ็มโอยูปี ๒๕๔๓ ด้วยผลของคำพิพากษาปี ๒๕o๕ ถือเป็นทฤษฎีที่คลุมเครือเกี่ยวกับการแยกจากกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างการกำหนดและการจัดทำเขตแดน กลายเป็นว่าแผนที่ภาคผนวก ๑ เป็นที่มาเดียวของเส้นเขตแดนซึ่งถูกกำหนดไปแล้วในบริเวณนี้ ซึ่งคู่กรณีก็เพียงแค่จัดทำหลักเขตแดนในพื้นที่ตามลักษณะของเส้นเขตแดนบนแผนที่ โดยไม่คำนึงถึงภูมิประเทศจริงและหลักทางแผนที่

ในความเป็นจริงเอ็มโอยูปี ๒๕๔๓ ครอบคลุมเส้นเขตแดนร่วมตลอดทั้งแนว รวมทั้งบริเวณปราสาทด้วย และยังระบุถึงสนธิสัญญาว่าด้วยการกำหนดเขตแดน แต่ไม่ระบุถึงคำพิพากษาปี ๒๕o๕ เอ็มโอยู ๒๕๔๓ จึงเป็นหลักฐานที่ไม่ต้องสงสัยว่าเรื่องเขตแดนในบริเวณปราสาทจะต้องได้รับการแก้ไขโดยสอดคล้องกับพันธกรณีทางสนธิสัญญา และเป็นเอกเทศจากคำพิพากษาเมื่อปี ๒๕o๕

ใช้เอกสารปลอม-ตัดต่อข้อมูล

"แม้ว่ากัมพูชาจะเน้นเรื่องการเคารพต่อศาล แต่กัมพูชากลับดำเนินการในทางที่ไม่เหมาะสมทางคดีเพื่อทำให้ศาลเข้าใจผิดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่าง ๆ อาทิ การเสนอหลักฐานเดียวที่พิสูจน์พื้นที่ที่อ้างว่าเป็นพื้นที่พิพาทเดิมประมาณ ๔.๕ ตารางกิโลเมตร กล่าวคือร่างแผนที่ ซึ่งหนึ่งในร่างดังกล่าวปรากฏอยู่ในหน้าก่อนหน้า ๗๗ ของคำตอบแก้ของกัมพูชา (คำชี้แจงที่เป็นเอกสาร) ซึ่งเป็นการปลอมแปลงแผนที่ฉบับที่ ๓ และ ๔ ของภาคผนวก ๔๙ ของคำให้การแก้ฟ้องของไทยที่นำมาตัดต่อซ้อนกันในทางที่ผิดวัตถุประสงค์"

"นอกจากนั้นยังได้แถลงอย่างผิด ๆ เกี่ยวกับหลักฐานอื่น ๆ รวมทั้งแผนที่ภาคผนวก ๑ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเป็นแผนที่ที่แนบคำขอแรกเริ่มของกัมพูชา แต่กลับถูกนำไปอ้างในเวบไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชา ณ กรุงปารีส ว่าเป็นแผนที่ที่ได้รับการรับรองจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศว่าเป็นภาคผนวก ๑ ของคำพิพากษา ทั้งยังเสนอแผนที่ภาคผนวก ๑ ต่อศาลคนละฉบับกับที่ได้เสนอในคำขอแรกเริ่ม ซึ่งแน่นอนว่าต่างแสดงว่าปราสาทอยู่ในฝั่งกัมพูชา แต่เส้นเขตแดนที่แสดงในแผนที่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ"

นายวีรชัย ยังกล่าวในตอนท้ายด้วยว่า คำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลเมื่อวันที่ ๑๘ ก.ค. ๒๕๕๔ สิ่งสำคัญที่สุดคือป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินในบริเวณพื้นที่พิพาท ปรากฏว่าตั้งแต่ศาลออกมาตรการชั่วคราว ก็ได้รับการเคารพทั้งกัมพูชาและไทย ไม่มีการปะทะกันบริเวณนั้น ไม่มีการสูญเสียชีวิตหรือเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินในบริเวณนั้นอีกต่อไป สถานการณ์ในพื้นที่เป็นไปอย่างปกติสอดคล้องตามวัตถุประสงค์ของคำสั่งศาลทุกประการ


จากนสพ.กรุงเทพธุรกิจ ๑๘ เม.ย. ๒๕๕๖








"คดีประสาทพระวิหาร : ข้อคิดและแนวทางต่อสู้ทางกฎหมาย"
อุดมศักดิ์ โหมดม่วง


เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ราชอาณาจักรกัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ให้ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารที่ศาลมีคำพิพากษาไปแล้วในปี พ.ศ. ๒๕o๕ พร้อมกับมีคำขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศออกมาตรการฉุกเฉินจำนวน ๓ ประการ ได้แก่

ประการที่หนึ่ง ให้รัฐบาลไทยต้องถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่พิพาทรอบปราสาทพระวิหารทันที

ประการที่สอง ห้ามรัฐบาลไทยเคลื่อนไหวทางการทหารที่มีผลกระทบต่อสิทธิของราชอาณาจักรกัมพูชา

ประการที่สาม ห้ามสร้างความขัดแย้งชายแดนจนกว่าศาลโลกจะตีความคำพิพากษาเสร็จสมบูรณ์

ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ศาลโลกได้มีคำสั่งจำนวน ๗ ประการ โดยแยกเป็นคำสั่งมาตรการชั่วคราวจำนวน ๔ ประการ และคำสั่งทั่วไปจำนวน ๓ ประการ ได้แก่

คำสั่งมาตรการชั่วคราว (provisional measures order) จำนวน ๔ ข้อ ประกอบด้วย

หนึ่ง ให้ทั้งไทยและกัมพูชา ถอนกำลังทหารออกจาก “เขตปลอดทหารชั่วคราว” (provisional demilitarized zone) ทันที ตามร่างแผนที่ (sketch map) ที่ศาลโลกได้กำหนด รวมทั้งห้ามทั้งไทยและกัมพูชาวางกำลังทหารในเขตหรือดำเนินกิจกรรมทางอาวุธใด ๆ ที่มุ่งหมายไปยังเขตดังกล่าว

สอง ให้ไทยแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่ให้ขัดขวางกัมพูชาในการเข้าถึงปราสาทพระวิหารอย่างอิสระ (free access) รวมทั้งการส่งเสบียง (fresh supplies /ravitailler) ให้แก่เจ้าหน้าที่ที่มิใช่ทหารของฝ่ายกัมพูชาในปราสาทพระวิหาร

สาม ให้ทั้งไทยและกัมพูชาร่วมมือกันตามกรอบของอาเซียน และต้องอนุญาตให้คณะผู้สังเกตการณ์จากอาเซียนสามารถเข้าไปยังเขตปลอดทหารชั่วคราวดังกล่าวได้ และ

สี่ ให้ทั้งไทยและกัมพูชาละเว้นจากกิจกรรมใด ๆ ที่จะทำให้สถานการณ์ข้อพิพาทระหว่างกันเลวร้ายหรือรุนแรงมากขึ้น หรือทำให้ปัญหาข้อพิพาทมีความยากลำบากยิ่งขึ้นในการที่จะแก้ไข

คำสั่งทั่วไป จำนวน ๓ ข้อ ประกอบด้วย

หนึ่ง สั่งไม่จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ (ศาลโลกรับคดีนี้ไว้พิจารณา)

สอง ให้ทั้งไทยและกัมพูชาต้องรายงานให้ศาลโลกทราบถึงการปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวที่ศาลโลกสั่งทั้งสี่ประการ และ

สาม สั่งว่าศาลโลกยังคงสามารถพิจารณาประเด็นใด ๆ ที่มีสาระเกี่ยวข้องกับมาตรการชั่วคราวต่อไปได้ จนกว่าศาลโลกจะมีคำพิพากษากรณีที่ทางกัมพูชาร้องขอให้ศาลโลกตีความตามคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. ๒๕o๕

โดยศาลโลกอาจเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขคำสั่งที่เกี่ยวกับมาตรการชั่วคราวที่ศาลโลกมีคำสั่งไว้ได้หากมีเหตุการณ์หรือข้อเท็จจริงใหม่ ที่ทั้งไทยและกัมพูชาหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอให้ศาลโลกพิจารณา

ทั้งนี้ ทั้งไทยและกัมพูชาก็ได้ปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลโลกโดยเฉพาะการถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ที่ศาลโลกเรียกว่าเขตปลอดทหารชั่วคราว ซึ่งเป็นพื้นที่ตามที่ปรากฏในร่างแผนที่ที่ศาลโลกได้กำหนด นั่นคือพื้นที่บริเวณโดยรอบตัวปราสาทพระวิหารและพื้นที่ใกล้เคียงบางส่วน ซึ่งโดยพื้นที่ส่วนใหญ่ที่อยู่ในร่างแผนที่ที่ศาลโลกกำหนดให้ถอนทหารจะอยู่ในเขตแดนของไทยและพื้นที่ส่วนน้อยจะอยู่ในเขตแดนของกัมพูชา โดยการเจรจาและท่าทีที่เป็นมิตรต่อกันทั้งของกัมพูชาและไทยที่ผ่านมาก็ทำให้เห็นภาพความร่วมมือระหว่างสองประเทศดำเนินการไปด้วยดี

ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๖ ศาลโลกได้กำหนดวันนัดพิจารณาคดีดังกล่าวในศาลที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ทางกัมพูชาก็จะมีการส่งทีมงานกฎหมายนำพยานหลักฐานเข้าสืบพิสูจน์เพื่อให้ศาลเห็นและมีคำสั่งหรือมีคำพิพากษาให้เป็นตามที่กัมพูชาร้องขอ และในขณะเดียวกันไทยเราก็จะส่งทีมงานกฎหมายนำพยานหลักฐานเข้าสืบพิสูจน์หักล้างคำร้องขอของกัมพูชาเพื่อให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องของกัมพูชาและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ทีมงานกฎหมายไทยจะนำสืบหักล้างอย่างไรให้ศาลโลกเห็นพ้องด้วยกับฝ่ายเราจนศาลมีคำสั่งยกคำร้องของกัมพูชาและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ผู้เขียนเห็นว่ามีข้อพิจารณา 4 ประการที่ทีมกฎหมายของไทยควรจะต้องให้ความสำคัญ ประกอบด้วย

ประการแรก ในปี พ.ศ. ๒๕o๕ การต่อสู้คดีปราสาทพระวิหาร ฝ่ายไทยได้โต้แย้งคัดค้านเขตอำนาจศาลโลก (Preliminary Objection) ด้วย แต่เมื่อศาลโลกได้มีคำพิพากษาให้ฝ่ายกัมพูชาชนะคดีดังกล่าวซึ่งได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดในเนื้อหาแห่งคดีแล้ว ขั้นตอนหลังจากศาลโลกมีคำพิพากษาแล้ว (Post Adjudicative Phrase) ไม่มีหน่วยงานที่จะทำหน้าที่บังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษา (Enforcement Unit) โดยตรงเหมือนศาลยุติธรรมภายในประเทศ แต่กฎบัตรสหประชาชาติ ข้อ ๙๔(๒) กำหนดให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Security Council) มีดุลพินิจ (Discretion) ในการที่จะออกคำแนะนำ (Recommendation) หรือมาตรการ (Measure) เพื่อให้คำพิพากษาศาลโลกมีผลใช้บังคับได้ เนื่องจากกฎบัตรสหประชาชาติ ข้อ ๙๔(๑) บัญญัติให้ รัฐที่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติจะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา ซึ่งคดีนี้ศาลโลกเองก็ไม่ได้มีการออกคำบังคับเพื่อให้มีการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษา (Enforcement) แต่ประการใด แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยสมัยนั้นก็ได้มี หนังสือไปถึงเลขาธิการสหประชาชาติว่าไทยยอมรับที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าว ซึ่งผลที่เกิดขึ้นเท่ากับว่าฝ่ายไทยยอมรับเขตอำนาจศาลโลกแบบคำประกาศฝ่ายเดียวหรือเป็นการปฏิบัติตามคำพิพากษาฝ่ายเดียว (Single Compliance) ในเฉพาะคดีดังกล่าวเท่านั้น และไทยเราก็ได้ปฏิบัติครบถ้วนตามที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลโลกคดีดังกล่าวแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕o๕ ในฐานะสมาชิกที่ดีขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งจนถึงขณะนี้ระยะเวลาก็ได้ล่วงเลยผ่านพ้นมาเป็นเวลากว่า ๕o ปีแล้ว

ประการที่สอง ภายหลังจากศาลโลกมีคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารโดยใช้หลักกฎหมายปิดปาก (estoppel) ที่ศาลยกประเด็นว่าไทยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านแผนที่ระวางอัตรา ๑ : ๒oo,ooo ที่ฝรั่งเศสจัดทำขึ้นในสมัยที่กัมพูชาเป็นประเทศอาณานิคมของฝรั่งเศส มีผลเท่ากับว่าไทยยอมรับที่จะผูกพันตามแผนที่ดังกล่าวมาพิพากษาให้ไทยแพ้คดีแล้ว ไทยก็ได้ให้การยอมรับปฏิบัติจนครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลโลกทุกประการในฐานะของสมาชิกสหประชาชาติที่ดี โดยยอมรับว่าเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา และรัฐบาลไทยในขณะนั้นก็ได้มีหนังสือเพื่อตั้งข้อสงวนสิทธิ์และดำเนินการล้อมรั้วลวดหนามรอบตัวปราสาทพระวิหารเพื่อกำหนดให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพื้นที่บริเวณภายนอกโดยรอบตัวปราสาทพระวิหารเป็นของไทย และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทางรัฐบาลกัมพูชาก็ไม่เคยมีการอุทธรณ์คำพิพากษา และไม่เคยโต้แย้งหรือท้วงติงว่าการกระทำดังกล่าวของไทยเป็นการละเมิดคำพิพากษาและเป็นการละเมิดอธิปไตยของกัมพูชาแต่ประการใด

การที่กัมพูชาไม่เคยอุทธรณ์คำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารและไม่เคยโต้แย้งหรือคัดค้านการล้อมรั้วลวดหนามรอบตัวปราสาทพระวิหารเพื่อกำหนดให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพื้นที่บริเวณภายนอกโดยรอบตัวปราสาทพระวิหารเป็นของไทย เพราะฉะนั้น ผลทางกฎหมายก็เท่ากับว่าฝ่ายกัมพูชายอมรับมาตลอดแล้วว่าเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาและพื้นที่โดยรอบตัวปราสาทพระวิหารเป็นของไทยมาโดยตลอด ดังนั้น หากคำพิพากษาศาลโลกมีมาตรฐาน หลักกฎหมายปิดปากที่ศาลโลกเคยใช้ในคดีดังกล่าวเมื่อปี พ.ศ. ๒๕o๕ ก็(ควร)จะต้องถูกยกขึ้นมาอ้างอิงและใช้ในการวินิจฉัยคดีนี้ด้วยเช่นกัน

ประการที่สาม การแสดงให้เห็นว่ามีการยอมรับเขตอำนาจศาลโลก สามารถกระทำได้ ๒ แนวทางคือ แนวทางแรก เป็นการยอมรับอำนาจเขตศาลแบบคำประกาศฝ่ายเดียว และแนวทางที่สอง เป็นการยอมรับเขตอำนาจศาลแบบทำความตกลงเป็นพิเศษ (Special Agreement) โดยรัฐที่เป็นคู่พิพาทยินยอมพร้อมใจหรือตกลงกันให้นำเสนอข้อพิพาทให้ศาลโลกพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด ปัจจุบันไทยไม่ได้เป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาว่าด้วยศาลโลก เพราะความเป็นภาคีสมาชิกของไทยสิ้นสุดลงพร้อมกับคำพิพากษาศาลโลกที่ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชาในปี พ.ศ. ๒๕o๕ แล้ว หลังจากนั้นต่อมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันไทยก็ยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกของศาลโลกอีก และไทยก็ไม่ได้มีการแสดงให้เห็นว่า มีการยอมรับเขตอำนาจศาลโลก ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับอำนาจเขตศาลแบบคำประกาศฝ่ายเดียว หรือเป็นการยอมรับเขตอำนาจศาลแบบทำความตกลงเป็นพิเศษ

ประการสุดท้าย การยื่นคำร้องของกัมพูชาครั้งนี้เพื่อให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารที่เคยตัดสินไปแล้วในปี พ.ศ. ๒๕o๕ ดังกล่าวจะถือว่าเป็นการเสนอข้อพิพาทขึ้นใหม่ของกัมพูชา หรือเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษา ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเด็นหลักที่ฝ่ายกัมพูชามุ่งประสงค์ให้ศาลโลกวินิจฉัยตามคำร้องคดีนี้นั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพื้นที่โดยรอบตัวปราสาทพระวิหาร ไม่ใช่ให้วินิจฉัยชี้ขาดตัวปราสาทพระวิหารโดยตรง ดังนั้นการยื่นคำร้องคดีดังกล่าวจึงไม่เป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาเนื่องจากคดีเดิมนั้นได้ล่วงพ้นระยะเวลามาเกินกว่าสิบปีแล้วและคดีดังกล่าวก็ได้ถึงที่สุดไปแล้ว และไม่ใช่เป็นการเสนอข้อพิพาทขึ้นใหม่เนื่องจากการยื่นคำร้องของกัมพูชาครั้งนี้เป็นเพียงการขอให้ศาลโลกอธิบายคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารที่เคยตัดสินไปแล้วในปี พ.ศ. ๒๕o๕ ดังกล่าวว่าจริงๆ แล้วคำพิพากษาคดีดังกล่าวกินความรวมถึงพื้นที่อื่น ๆ (ตามร่างแผนที่แนบท้ายคำร้องของกัมพูชา) ที่อยู่โดยรอบตัวปราสาทพระวิหารด้วยหรือไม่เท่านั้น ซึ่งการยื่นคำร้องขอให้ศาลอธิบายคำพิพากษาตามหลักกฎหมายทั่วไปจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่เข้าใจคำพิพากษาและไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไรเพื่อให้ถูกต้องตามคำพิพากษาได้ และการยื่นคำร้องขอให้อธิบายคำพิพากษากรณีที่มีคู่ความทั้งสองฝ่ายคู่ความทั้งสองฝ่ายจะต้องเป็นผู้ยื่นคำร้องร่วมกัน แต่คดีนี้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้ศาลอธิบายคำพิพากษา เนื่องจากคำพิพากษาในคดีดังกล่าวได้วินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดีโดยชัดแจ้งแล้วโดยทั้งไทยและกัมพูชาเข้าใจคำพิพากษาดีโดยไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์หรือโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาคดีดังกล่าวและไทยก็ได้ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษาอย่างครบถ้วนแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕o๕ ซึ่งกัมพูชาก็ยอมรับมาโดยตลอดและไม่เคยโต้แย้งหรือคัดค้านการล้อมรั้วลวดหนามรอบตัวปราสาทพระวิหารเพื่อกำหนดให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ส่วนพื้นที่บริเวณภายนอกโดยรอบตัวปราสาทพระวิหารเป็นของไทย หากศาลโลกจะวินิจฉัยในเรื่องของพื้นที่ดังกล่าวอีกก็จะไม่เป็นการอธิบายคำพิพากษาแต่จะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดก้าวล่วงเข้าไปในเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเขตแดนโดยไม่มีกฎหมายที่จะให้อำนาจศาลโลกกระทำได้

การวินิจฉัยชี้ขาดคดีนี้ของศาลโลกจะเป็นตัวบ่งชี้ได้ว่า ศาลโลกจะเป็นศาลที่ส่งเสริมสันติภาพหรือส่งเสริมสงคราม ซึ่งคงไม่นานเกินรอก็จะได้รู้กัน แต่ใครก็ตามที่ร่วมสมคบคิดกันใช้อำนาจศาลโลกเพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการทำให้ไทยต้องเสียดินแดน พึงระลึกให้จงหนักว่าการกระทำใด ๆ ก็ตามถ้ามีผลให้มีการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือมีผลให้ราชอาณาจักรหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรตกไปอยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐต่างประเทศ หรือทำให้เอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งเขตอำนาจรัฐเสื่อมเสียไป จะเป็นการละเมิดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕o มาตรา 1 ที่บัญญัติว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้” และอาจถูกดำเนินคดีอาญาในฐานความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๙ ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำการใด ๆ เพื่อให้ราชอาณาจักรหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรตกไปอยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐต่างประเทศ หรือเพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต” ได้ ซึ่งผู้เขียนและคนไทยทั้งประเทศมีหน้าที่ป้องกันประเทศ รักษาผลประโยชน์ของชาติ และปฏิบัติตามกฎหมาย ก็คงไม่อาจนิ่งเฉยอย่างแน่นอน

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนและคนไทยทั้งประเทศยังมีความหวังและมีความเชื่อมั่นว่าไม่ว่าศาลโลกจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร แต่ด้วยศักยภาพของรัฐบาลในขณะนี้คงจะจัดการกับเรื่องดังกล่าวให้ลุล่วงไปได้ด้วยดีโดยไม่มีการสูญเสียอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน ในขณะเดียวกันเราก็สามารถที่จะปฏิสัมพันธ์กับกัมพูชา มิตรประเทศอื่น ๆ และองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรีต่อไป


จากคอลัมน์ "มิติโลกาภิวัฒน์"
นสพ.ไทยโพสต์ ๑ มี.ค. ๒๕๕๖


บีจีและไลน์จากคุณญามี่


Free TextEditor





Create Date : 18 เมษายน 2556
Last Update : 14 มิถุนายน 2556 19:47:53 น. 0 comments
Counter : 2858 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.