happy memories
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2556
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
13 มีนาคม 2556
 
All Blogs
 
นิรโทษกรรม (๔)





บล็อกนิรโทษกรรม (๑)
บล็อกนิรโทษกรรม (๒)
บล็อกนิรโทษกรรม (๓)


"วิบากกรรมของกฎหมายนิรโทษกรรม"
เกียรติชัย พงษ์พาณิช


ข่าววันจันทร์ต้องนับเป็นข่าวที่คนในยุคเสพข่าวสารกระหายมากกว่าวันอื่น ๆ เพราะจากการหยุดวันเสาร์-อาทิตย์ ที่เห็นความสนใจนอกเหนือจากข่าวไปในทางอื่นเสียเป็นส่วนใหญ่ เป็นวันทำงานวันแรกของสัปดาห์ ความรู้สึกต้องการรับรู้เรื่องข่าวต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะมีมาเองโดยปริยาย สังเกตเห็นได้เลยจากสื่อในรูปแบบต่างๆ จะขายดีขึ้นในวันจันทร์เริ่มต้นสัปดาห์ และเริ่มวันทำงานใหม่ของสัปดาห์นี่เอง

จะยังสังเกตเห็นได้อีกด้วยว่า ข่าวของวันจันทร์มักเป็นข่าวเริ่มต้น ที่จะมีประเด็นต่อเนื่องให้เป็นข่าวที่ต้องติดตามมาเสนอกันในช่วงสัปดาห์อีก ขึ้นอยู่กับว่าข่าวดังกล่าวนั้นถูกรับรู้ว่ามีผลสะท้อนกระทบในวงกว้างมากน้อยแค่ไหน เป็นข่าวเชิงนโยบาย ข่าวซึ่งกระทบโดยตรง หรือกระทบอย่างรุนแรงเฉพาะกลุ่มคนในสังคมนั้น จนนำมาซึ่งปฏิกิริยาต่าง ๆ ของสังคม ผลจากข่าวนำมาซึ่งพฤติกรรมทางสังคมตรงนี้เอง

และอิทธิพลของข่าวหรือของสื่อมวลชนนั้น มีผลในทางซึ่งหล่อหลอมทัศนคติของปัจเจกบุคคลในสังคมอยู่มาก ทั้งในทางบวกและลบ ชอบกัน เกลียดกัน หมั่นไส้กัน ก็มาจากข่าวนี้เอง ขี้เกียจเขียนในเชิงทฤษฎีสื่อสารมวลชนให้น่าเบื่อนะครับ เอาเป็นว่าข่าววันจันทร์โดยเฉพาะข่าวเมื่อวานนี้ เรื่องข้อเสนอเข้าสู่สภาฯ เรื่องนิรโทษกรรมผู้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ นั้น จะถูกจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์มากทีเดียว

เล่นแง่เล่นมุมกันเยอะจริงๆ กับข้อเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่ง ๔๒ ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยเป็นผู้เสนอ ซึ่งจะมีการหารือกันตั้งแต่เมื่อวาน (จันทร์ที่ ๑๑) ซึ่งตามข่าวก็ปรากฏว่ากลุ่มต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนอกเหนือจากกลุ่มคนของพรรคเพื่อไทยเอง ปฏิเสธการเข้าร่วมหารือไปหมดแล้ว แค่เริ่มต้นก็ไม่เป็นท่าเสียแล้ว เพราะไม่มีใครเขาเอาด้วย การปรึกษาหารือหากมีจริงก็คงพูดคุยกันเองของกลุ่มพรรคเพื่อไทย และก็มีแนวโน้มตะแบงกันต่อไป

หลายเหตุผลที่หลายผู้คนเขาไม่เห็นด้วย ที่สำคัญข้อหนึ่งก็คือ ข้อเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมที่ว่านี้ มีการซ่อนเร้นเรื่องที่จะรวมถึงเอาทักษิณ ชินวัตร มารับการนิรโทษกรรมด้วย ว่าไปแล้วนี่เป็นข้อทักท้วงมาแต่แรกเริ่มมีการพูดถึงความปรองดอง ที่นำเอาพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมนี้มาเป็นกลไกขับเคลื่อนให้เป็นไปได้ น่าสนใจก็ตรงที่ว่า พรรคเพื่อไทยหรือกลุ่มผู้เสนอกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ ไม่เคยแก้ข้อกล่าวหานี้ให้ตกไปได้เลย

ที่แก้ให้ตกไปไม่ได้ก็เพราะพฤติกรรมอันขาดความน่าเชื่อถือของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนี่เอง ที่เห็นกันชัดเจนยิ่งขึ้นทุกวัน จากการอยู่ภายใต้การบงการของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีคดีความผิดดังศาลยุติธรรมของไทยลงโทษไปแล้ว และสื่อบางสื่อถึงกับใช้คำว่านักโทษหนีการลงโทษ และประทับตรารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าเสมือนหนึ่งดั่งรัฐบาลเจว็ดก็ไม่ปาน

พฤติกรรมของรัฐบาลเช่นว่านี้เอง เลยไปถึงการไม่ยอมรับวุฒิภาวะของยิ่งลักษณ์ ในความเป็นผู้นำของประเทศไทย ซึ่งมองเห็นได้จากความพยายามหลีกเลี่ยงปัญหา เบี่ยงบ่ายปัญหา กลบเกลื่อนปัญหา ทำให้ลืมปัญหา ที่จะมองว่านายกรัฐมนตรีมีความสามารถในการบริหารบ้านเมืองนั้นน้อยมาก ยิ่งเมื่อภาพความจริงของการตกอยู่ภายใต้บงการของพี่ชาย ได้สร้างความเชื่อให้มากขึ้นในหมู่ปัญญาชนคนชั้นกลาง ความน่าเชื่อหรือในรัฐบาลจึงลดน้อยลงไป

และนี่เองคือความไม่เชื่อถือในคำยืนยันลอย ๆ ของผู้เสนอกฎหมายนิรโทษกรรมของฝ่ายรัฐบาล ว่าจะไม่มีวาระแอบแฝงนำเอาการนิรโทษกรรมคลุมไปถึงการนิรโทษกรรมต่อทักษิณ ชินวัตรด้วย กอปรกับยังมีข้อเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมที่หลายฉบับมีนัยถูกนำมาวิพากษ์วิจารณ์ ว่าล้วนบูรณาการเพื่อเป้าหมายดังกล่าวไม่ต่างกัน และนี่เองที่กฎหมายนิรโทษกรรมต้องเผชิญวิบากกรรมเสียเอง

"นิรโทษ" แปลว่ายกโทษ "กรรม" ก็คือการกระทำ นิรโทษกรรมจึงหมายถึงยกโทษให้กับผู้ก่อกรรม ในความเป็นจริงเรื่องนิรโทษหรือยกโทษให้แก่กันนั้น โดยเนื้อแท้อันเป็นบุคลิกลักษณะประจำชาติของคนไทยแล้ว คนไทยมีความโอบอ้อมอารี ประนีประนอม ประสานประโยชน์ มีอุดมการณ์ รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เรื่องการให้อภัยการยกโทษให้แก่กัน มีอยู่มากในสังคมไทยที่เอื้ออาทรต่อกันอยู่เสมอ การ "นิรโทษ" จึงไม่ใช่ทัศนคติในทางลบของคนไทยโดยทั่วไป

แต่กับ "กรรม" นั่นต่างหากที่ต้องดูผลแห่งการกระทำนั้น คนที่ทำกรรมดีก็ไม่มีอะไรที่จะต้องไปพูดถึงการนิรโทษ แต่คนที่ก่อกรรมทำชั่วจนบังเกิดความเสียหายใหญ่หลวง กระทบถึงสังคมในวงกว้างนั่นต่างหาก ที่จะต้องดูกันว่าควรได้รับการนิรโทษแค่ไหน หรือไม่ควรนิรโทษให้ ซ้ำในแง่มุมของความเป็นนิติรัฐ คนที่ก่อกรรมทำชั่วควรได้รับการลงโทษให้สาสมแค่ไหนด้วยซ้ำไป

พระราชบัญญัตินิรโทษที่พรรครัฐบาลเพียรพยายามอย่างเหลือเกินนี้ ดูจะยังไม่มีความชัดเจนแยก ๒ ลักษณะที่ว่านี้ออกมาให้เห็น ในบางมาตรานั้นแม้ประธานวุฒิสภาซึ่งควรเป็นกลางอย่างยิ่ง ยังเห็นว่าเหตุรวมกว้างเกินไปจนน่าจะต้องปรับปรุงความชัดเจนเสียก่อน มิฉะนั้นแม้จะตะแบงจนออกเป็นกฎหมายได้โดยกลไกทางการเมือง จากคะแนนเสียงที่มากกว่าในสภาฯ ปัญหาก็จะมีตามมาภายหลังได้

ปัญหาของกฎหมายนิรโทษกรรมที่ว่า เป็นปัญหาในทางจิต วิทยาสังคมมากขึ้น จากทัศนคติที่มองเห็นความพยายามเสนอกฎ หมายดังกล่าวว่า ไม่น่าเชื่อถือว่าจะมีเจตนานิรโทษกรรมทางการเมืองจริง ๆ โดยไม่มีวาระซ่อนเร้นนิรโทษกรรมอันเป็นประโยชน์กับบุคคลบางคน การกล่าวอ้างว่าบุคคลของฝ่ายตนเป็นผู้ถูกกระทำ แต่ก็ไม่เคยอธิบายให้ยอมรับได้เลยว่า แล้วคนของตนเป็นผู้กระทำอย่างไรในทางซึ่งจะต้องนิรโทษต่อกัน

ในทางการเมืองยังต้องดูกันด้วยว่า ได้มีการยุติการกระทำในลักษณะหมิ่นเหม่ต่อการคุกคามความสงบ และกระบวนการอันเป็นสันติวิธีแค่ไหนด้วย มีการนำกฎหมู่มาข่มขู่กระบวนการดังกล่าวอีกหรือไม่ เพราะในหลายประเทศที่สร้างกระบวนการความปรองดองแห่งชาติขึ้นนั้น ต้องยุติการข่มขู่ที่จะสร้างความขัดแย้งขึ้นมาอีกเสียก่อน ไม่ใช่ฮึกเหิมจากอำนาจที่ได้มาจากการเอ่ยอ้างความชอบธรรมจากการเลือกตั้ง และหนี้บุญคุณของกลุ่มก่อการสนับสนุนการได้มาซึ่งอำนาจรัฐ พฤติกรรมเหล่านี้เองได้ก่อวิบากกรรมแก่กฎหมายนิรโทษกรรมที่เพียรพยายามกันอยู่

นี่เป็นแนวคิดพื้นฐานเริ่มแรกสุดของกระบวนการสร้างความปรองดอง ในที่ทุกแห่งทุกชาติประพฤติปฏิบัติกัน แต่ไม่มีไม่เห็นไม่ทำกันในกรณีของประเทศไทย ยังเห็นการข่มขู่ คุกคาม เรียกร้อง คิดแต่จะได้ หมายแต่จะเอาถ่ายเดียว เหล่านี้หรือไม่ที่ผมเขียนมาหลายครั้งว่า โดยปริยายแล้วมันสร้างบรรยากาศของ สังคมทั้งประเทศ จนน่ามองได้ว่า ประเทศไทยกำลังตกอยู่ในอาณา จักรของความกลัว

จุดนี้คือจุดอ่อนด้อยของความเป็นรัฐบาล เพราะหัวใจสำ คัญที่สุดของการเป็นรัฐบาลชาติไหนๆ โลกไหนๆ คือต้องสร้างความมั่นใจ (Confidence building) ให้เกิดขึ้น ขณะที่ปัญหาภาคใต้ได้รับความสนใจและลำดับความสำคัญน้อยกว่าการเลือกตั้ง กทม. ขณะที่ปัญหา ๔.๖ ตร.กม. บริเวณเขาพระวิหารระหว่างไทยกับกัมพูชาก็มีแต่เจ๊ากับเจ๊ง นโยบายประชานิยมเลอะเทอะ สร้างความมั่นใจตรงไหนหรือกับสังคมไทย

เวลาที่มีปัญหารุมเร้า หยุดสงบนิ่งและตั้งสติกันเสียหน่อยว่าจะแก้ปัญหากันอย่างไรดี ไม่ใช่คิดแต่จะได้หมายแต่จะเอา เจ้าคิดเจ้าแค้น หวังแต่จะเอาชนะคะคานกัน โดยมีบ้านเมืองเป็นเครื่องต่อรองของเอ็งหรือ.


จากคอลัมน์ "มิติโลกาภิวัฒน์"
นสพ.ไทยโพสต์ ๑๒ มี.ค. ๒๕๕๖








"เดินหน้าออกกม.นิรโทษกรรม สังคมต้องมีข้อยุติร่วมกันเสียก่อน"
กองบก.นสพ.ไพสต์


ในที่สุด ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ส่วนใหญ่เป็น ส.ส.สายแกนนำ นปช. ก็ได้ร่วมกันลงชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ.... ต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ไปแล้ว เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๖ อันเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่มีด้วยกันทั้งสิ้น ๗ มาตรา หากการตรวจสอบของสภาพบว่า การเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวถูกต้อง ทางสภาผู้แทนราษฎรก็จะนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

อย่างไรก็ตาม การที่กฎหมายฉบับนี้จะมีการพิจารณาให้ความเห็นชอบในวาระแรกกันไปก่อน ทันสมัยการประชุมสภารอบนี้ที่จะปิดสมัยประชุมสภากันในช่วงวันที่ ๑๙ เมษายน ทันหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ทางวิปรัฐบาลหรือเสียงส่วนใหญ่ของสภา ที่ก็คือ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล จะเห็นด้วยหรือไม่ ที่ดูแล้ว ก็ต้องรอดูการส่งสัญญาณการเมืองมาจากแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยว่าจะเอาอย่างไร แม้ร่างกฎหมายดังกล่าวจะไม่ได้เสนอในนามพรรคเพื่อไทย แต่ก็เสนอโดย ส.ส.เพื่อไทยทั้งสิ้น หากว่าสุดท้าย ฝ่ายพรรคเพื่อไทยเอาด้วย ก็จะเกิดการใช้เสียงข้างมากในสภาโหวตให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ที่มีแค่ ๗ มาตรา ขึ้นมาพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วนก่อนกฎหมายฉบับอื่น ชนิดลัดคิวขึ้นมาก่อนเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายดายมาก เพราะลำพังแค่พรรคเพื่อไทยพรรคเดียว ก็มี ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งของสภาอยู่แล้ว หาก ส.ส.เพื่อไทยทั้งพรรค มาร่วมโหวตกันหมด ก็สามารถดันร่างกฎหมายดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาก่อนฉบับอื่นแบบลัดคิวได้เลย

มันก็ขึ้นอยู่กับแกนนำพรรคเพื่อไทย ไล่ตั้งแต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลงมา ว่าจะเอาอย่างไร หากประเมินว่าจำเป็นต้องเร่งออกกฎหมายฉบับนี้ เพื่อเป็นการเอาใจคนเสื้อแดง-ญาติคนเสื้อแดง ที่มีคดีความค้างคาอยู่ ก็สามารถใช้เสียงข้างมากในสภาเร่งให้ความเห็นชอบออกมาก็ทำได้ รวมถึงหากเชื่อว่ากระแสต่อต้านการออกกฎหมายฉบับนี้ แม้จะมีคนไม่เห็นด้วยบ้างแต่ไม่มากเท่าที่ควรและน่าจะพูดคุยกันได้ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะได้เห็นการเร่งดันกฎหมายนิรโทษกรรมฯ ดังกล่าว ในช่วงเวลาอันใกล้ หากว่าแกนนำพรรคเพื่อไทยสั่งลุย แม้หลายคนจะวิเคราะห์ว่า พรรคเพื่อไทยยังไม่น่าจะเร่งดันกฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าวในช่วงการเปิดประชุมสภาสมัยนี้ อย่างไรก็ตาม หากเพื่อไทยจะเดินหน้าจริง สิ่งที่ ส.ส.เพื่อไทย และเสียงข้างมากในสภา ต้องพิจารณาประกอบด้วยก็คือ เวลานี้ผู้คนในสังคมก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันมากในเรื่องแนวทางการออกกฎหมายนิรโทษกรรมฯ

แม้ว่าเวลานี้หลายฝ่ายดูจะเห็นด้วยในหลักการบางประการ เช่น เห็นด้วยกับการให้นิรโทษกรรมกับผู้ทำผิดหรือฝ่าฝืนการประกาศใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ อันเป็นการกระทำผิดในคดีเล็ก ๆ น้อย ๆ และก็ยังพบว่า ผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาความผิดดังกล่าว เกือบทั้งหมดก็ได้รับการประกันตัวกันไปหมดแล้ว ไม่ได้ถูกจองจำในเรือนจำแต่อย่างใด และที่ถูกคุมขังส่วนใหญ่จะเป็นคดีอุกฉกรรจ์ เช่น เผาหรือทำลายสถานที่ราชการ เช่น เผาศาลากลางจังหวัด ที่ศาลก็ได้มีการตัดสินไปแล้วหลายคดี

แต่ในส่วนหลักการใหญ่ของแนวคิดการออกกฎหมายนิรโทษกรรมไม่ว่าจะเป็นโมเดลไหน ก็ยังพบว่ามีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่มาก หลังจากช่วงที่ผ่านมา มีการเสนอแนวคิดและตัวร่างกฎหมายนิรโทษกรรมออกมาหลายโมเดล ไม่ว่าจะเป็นของ คณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) – ร่างของฝ่าย นปช. หรือแนวคิดของกลุ่มนิติราษฎร์ ที่เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อเพิ่มหมวดว่าด้วยการปรองดองและการนิรโทษกรรมที่มีหลักการคือ ให้นิรโทษกรรมกับผู้ร่วมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ ๑๙ ก.ย.๔๙ โดยไม่รวมคนที่กระทำผิดที่เป็นคดีอุกฉกรรจ์ จะเห็นได้ว่าคนในสังคมยังมีความเห็นแตกต่างกันมากในรายละเอียดหลายเรื่อง

ดังนั้น จะดีอย่างยิ่งที่วิปรัฐบาลหรือเสียงข้างมากในสภา ควรต้องให้สังคมได้ตกผลึกในเรื่องการแก้ไขกฎหมายนิรโทษกรรมเสียก่อนว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในจุดไหน – กลุ่มผู้กระทำความผิดทางการเมืองประเภทไหนที่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม หรือไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม รวมถึงกระบวนการกลั่นกรองผู้จะได้รับการนิรโทษกรรม จะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง เพราะหากกระบวนการนิรโทษกรรมและการปรองดอง มีข้อคิดเห็นที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันจากทุกฝ่ายออกมาแล้ว ชนิดมีแรงต้านน้อยที่สุด และเห็นชัดว่าเป็นแนวทางที่ออกมาแล้วทำให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด ก็เชื่อได้ว่าความพยายามจะออกกฎหมายนิรโทษกรรม หรือการปรองดอง ไม่ว่าจะเป็นโมเดลไหน ก็จะมีแรงหนุนมากกว่าแรงต้านแน่นอน.


จากนสพ.ไพสต์ ๘ มี.ค. ๒๕๕๖








"นิรโทษกรรม-ความปรองดอง"
กองบ.ก.นสพ.คม ชัด ลึก


เหลือเวลาอีกเพียง ๑ เดือนเท่านั้นที่สมัยการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยนี้จะสิ้นสุดลง แต่การเร่งเร้าให้ที่ประชุมสภาได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม นั้นกลับรัวเร้าจนส.ส.ใจพรรคเพื่อไทยอย่าง นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ ถึงกับเดินทางไปยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แก่ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เพื่อให้บรรจุเข้าในระเบียบวาระการประชุมในสมัยประชุมนี้ พร้อมกับแสดงความเชื่อมั่นว่า ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ยื่นให้สภาพิจารณานั้นจะนำมาซึ่งความปรองดองของคนในชาติ

แต่ความเชื่อมั่นของนายวรชัย เหมะ กลับแตกต่างจากคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาลที่เสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมนั้นเป็นตัวแทนที่สังกัดพรรคเพื่อไทยที่มีการประชุมกันในช่วงเวลาหลังจากที่นายวรชัย ยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้แก่ประธานรัฐสภา กลับไม่เห็นด้วยกับการเร่งเร้าให้สภา พิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยให้เหตุผลว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้ถกเถียงกันจนได้สรุปว่าจะเดินทางไปในทิศทางใด ดังนั้นร่างกฎหมายที่นายวรชัยยื่นต่อสภา ก็คงจะคาไว้เช่นนั้น คงจะไม่ขอเลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อนระเบียบวาระการประชุมอื่น และพรรคเพื่อไทยคงมีการพูดคุยกับนายวรชัยอีกครั้ง

ก่อนหน้านี้ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เพียรที่จะยื่นร่างกฎหมายนิรโทษกรรม มาหลายครั้ง ล่าสุดเดินคู่ขนานไปกับการขับเคลื่อนของ นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคเพื่อไทยที่พยายามเชิญทุกฝ่ายให้มีถกหาข้อยุติว่าจะปรองดองกันอย่างไร แต่ก็มีหลายฝ่ายที่ปฏิเสธจะไปร่วมปรึกษาหารือด้วย แม้ว่าการปฏิเสธที่จะเข้าร่วมประชุมดังกล่าว จะยังไม่ชัดเจนว่าเป็นเหตุให้วิปรัฐบาลลงมติ "ดอง" ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับของนายวรชัย แต่ก็ชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยยังไม่คิดที่จะใช้วิธีการนี้หักหาญที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคเพื่อไทยมีเสียงข้างมาก

แม้ว่าการพูดคุยการหารือจะเป็นแนวทางที่ทุกฝ่ายเชื่อว่า จะนำไปสู่การปรองดอง แต่ทุกฝ่ายก็ต้องชัดเจนในเรื่องของหลักกฎหมาย ขอบเขตของการกระทำ ว่าจะเอาอย่างไร และที่สำคัญ หารเจรจาพูดคุยเพื่อความปรองดองนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ประชุมซึ่งบางฝ่ายยังถูก "สั่ง" ให้ไปร่วมเสียด้วยซ้ำไป ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วบางฝ่ายเป็นเพียงหน่วยงานที่ออกมาปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของฝ่ายการเมืองแล้วก็เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นตามสถานการณ์ที่ค่อยๆ พัฒนาจากการยื่นเงื่อนไขไปสู่การตอบโต้กันและกัน

การสร้างความปรองดองให้แก่คนในชาตินั้นไม่ได้มาจากการออกกฎหมาย ไม่ได้มาจากการบังคับ หรือได้มาจากการยื่นเงื่อนไขให้ต้องปฏิบัติตามที่อีกฝ่ายต้องการ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็ไม่ต่างจากการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้อีกฝ่ายปฏิบัติตามแล้วก็เกิดการละเมิดกฎหมายเหมือนเมื่อครั้งที่ผ่านมา ความปรองดองต้องเกิดจากความมุ่งมั่นศรัทธาที่จะหันหน้าพูดคุยกัน ต่างคนต่างฟังเหตุฟังผลซึ่งกันและกัน โดยที่ไม่มีใครไปชักนำหรือยื่นเงื่อนไขให้แก่อีกฝ่ายปฏิบัติตามแต่เพียงฝ่ายเดียว


จากนสพ.คม ชัด ลึก ๑๒ มี.ค.​๒๕๕๖








"นับหนึ่งนิรโทษกรรม"
ศรุติ ศรุตา


หลายคนสงสัยว่า ความมั่นอกมั่นใจของ วรชัย เหมะ ส.ส.ปากน้ำ ที่พักหลังทุกครั้งที่มีรายการ "โฟนอิน" ไม่ว่าสถานที่จะอยู่ที่ไหน วรชัย "จัดให้ไม่มีขาด" ที่เดินทางไปยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต่อ สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา นั้นเขาเอามาจากไหน

เพราะ เจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภา ที่ลงทุนลงแรงเดินหน้าเชิญฝ่ายนั้นฝ่ายนี้มาหารือโดยเอาคำว่า "ปรองดอง" ไปมัดคอทุก ๆ ฝ่าย

แต่สุดท้ายทั้งพรรคฝ่ายค้าน ทั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ทำท่าว่าจะเอาด้วยก่อนหน้านี้ ก็เสนอเงื่อนไขย้อนกลับมา จนทำให้ เจริญ จำต้องเดินหน้าหารือกันในเฉพาะ "คนกันเอง" ที่เออออห่อหมกด้วยเท่านั้น เพื่อให้ภาพของ "รองประธานสภา" พอจะยังดูดี

แต่ที่ช็อกมากไปกว่าวงถกปรองดองเกือบล่ม ก็คือ วิปรัฐบาลมีมติไม่เร่งดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ วรชัย เสนอในบ่ายวันเดียวกันนั่นเอง

จะเป็นไปได้อย่างไรว่า พรรคเพื่อไทยจะหักหน้า วรชัย ได้ขนาดนี้ ก็ในเมื่อการเคลื่อนไหวของ วรชัย สอดคล้องกับกระแสข่าวมาตลอดว่าได้ "ไฟเขียว" จากแดนไกลให้ขับเคลื่อน

เพราะหากปล่อยเวลาเนิ่นนานออกไปจนสิ้นสมัยประชุมสภาสมัยนี้ โอกาสที่จะได้ยื่น นิรโทษกรรม ก็ไม่รู้จะเกิดขึ้นได้อีกเมื่อไหร่ เพราะสมัยหน้าฝ่ายค้านยื่นซักฟอกได้อีกครั้ง

การที่ วรชัย เอากฎหมายมาคาไว้ที่สภา รอเพียงการผลักดันให้ขึ้นมาพิจารณาในวาระแรก แม้ว่า วิปรัฐบาลจะมีมติให้เก็บเอาไว้ก่อน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า "เหตุผล" ในวันข้างหน้าจะเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการที่มีคำสั่งให้กองทัพส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมกับ เจริญ จรรย์โกมล แล้วก็ไม่ได้มีปฏิกิริยาอะไรหลังจากนั้น

นอกจากนั้น ยังมีการประเมินว่า การรวมตัวของกลุ่มที่ต่อต้านคัดค้านยังต่อกันไม่ติด แม้ว่า กลุ่ม เสธ.อ้าย ยังมีอยู่ แต่ก็เชื่อว่า ช่วงเดือนเมษายนนี้แรงต้านจะมีแค่ประปราย แล้วก็เป็นช่วงท้ายสมัยประชุมสภา

ที่สำคัญช่วงใกล้เทศกาลเฉลิมฉลองวันสงกรานต์จิตใจผู้คนคงจะจดจ่อกับการสาดน้ำดับร้อน มากกว่าจะสนใจการประชุมสภา ที่ก่อนหน้านี้ก็สร้างความน่าเบื่อหน่าย เพราะขนาดแทบจะหาประเด็นมาถกเถียงกันไม่ได้ ยังล่มแล้วล่มอีก

สถานการณ์เช่นนี้แหละที่ อะไรก็เกิดขึ้นได้ !

การยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เนื้อหายกเลิกทั้งคดีความที่พิพากษาไปแล้วและคดีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนกระบวนการทางกฎหมายก็ให้ยุติลง เพราะถือว่าเป็นผลมาจาก วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ คาไว้ในสภา เปรียบไปก็เหมือนกับ เอาปืนใหญ่ไปตั้งเรียงรายตามแนวชายแดนที่กำลังคุกรุ่น แต่ภายในประเทศกำลังเตรียมเทศกาลเฉลิมฉลอง

ยิ่งประธานวุฒิสภา นิคม ไวยรัชพานิช ก็ออกมาหนุนกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้แล้ว กระแสปรองดองภายใต้เงื่อนไขของคนเพื่อไทย ถ้าเข้าสภาได้ มีการตั้งกรรมาธิการเต็มคณะ อาจพิจารณารวดเดียว ๓ วาระ ก่อนส่งให้วุฒิสภาพิจารณาเสร็จสรรพ ออกมาบังคับใช้ในเร็ววัน

ส่วนวันข้างหน้าฝ่ายค้าน หรือกลุ่มพันธมิตรจะค่อยๆ ไปนัดหมายการชุมนุมคัดค้าน ก็คงจะช้าเกินไป เพราะอ้างได้เต็มที่ว่า ตัวแทนของประชาชนให้ความเห็นชอบไปแล้ว

จากนั้นค่อยมาเริ่มกระบวนการว่า แล้วใครล่ะที่จะได้อานิสงส์จากกฎหมายฉบับนี้

แน่นอน คนไกลบ้านย่อมฉลาดพอที่จะไม่ผลีผลามโดดรับเอาในห้วงเวลาเดียวกับกลุ่มคนเสื้อแดง-เสื้อเหลือง

รออยู่ได้ตั้งนาน อดใจอีกสักหน่อยจะเป็นไรไป


จากคอลัมน์ "ขยายปมร้อน"
นสพ.คม ชัด ลึก ๑๒ มี.ค.​๒๕๕๖








"ปล่อยนักโทษการเมือง ปล่อยใครเพื่อใคร"
กองบ.ก.นสพ.ไทยโพสต์


การหารือระหว่างฝ่ายต่างๆ ยกเว้น พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่มีนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธาน ซึ่งประโคมกันว่าเพื่อความปรองดอง และวางแนวทางออกกฎหมายนิรโทษกรรม ได้ข้อสรุปเบื้องต้นออกมาแล้ว จำนวน 4 ข้อ

๑. ต้องการบรรเทาความขัดแย้งร่วมกัน โดยเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้เสนอข้อคิดเห็นเพื่อหารือเป็นทางออกร่วมกัน ๒. ต้องให้อภัยกัน มีความสำนึกและแสดงความรับผิดชอบ ส่วนวิธี รายละเอียด เงื่อนไข ของกฎหมายนิรโทษกรรม ทุกฝ่ายต้องออกแบบร่วมกัน โดยผู้ที่มาร่วมประชุมได้ถามว่า จะทำอย่างไรที่จะให้ พรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เข้าร่วมหารือ ซึ่งนายเจริญได้รับปากว่าจะพยายามเจรจากับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ กลุ่ม พธม.ต่อไป

๓. การบรรเทาความขัดแย้งให้เกิดทัศนคติที่ดีในการออกกฎหมายนิรโทษกรรม อยากให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวสำหรับนักโทษการเมือง ที่ยังถูกคุมขังอยู่ เพื่อให้มีอิสระและเสรีภาพในการต่อสู้คดี ตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่นักโทษพึงจะมี และ ๔. การวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อและพรรคการเมือง ขอให้ยึดประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่เพื่อคนใดคนหนึ่ง

ประเด็นที่น่าสนใจ คือข้อสรุปข้อ ๓. อยากให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวสำหรับนักโทษการเมือง ที่ยังถูกคุมขังอยู่ เพื่อให้มีอิสระและเสรีภาพในการต่อสู้คดี ตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่นักโทษพึงจะมี ที่จะมีคำถามว่า 'นักโทษการเมือง' คือใคร ถูกคุมขังในฐานความผิดอะไร

โดยทั่วไปแล้วความผิดทางการเมืองนั้น ไม่ได้ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับใด นั่นหมายความว่า ผู้กระทำผิดในทางการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในทางกฎหมาย อย่างไรเสียในสภาวการณ์ที่เป็นจริง ปรากฏว่า 'นักโทษการเมือง' นั้น เป็นคำที่มีใช้ และมีบุคคลที่ถูกเรียกว่าเป็น 'นักโทษการเมือง' อยู่จริง ในกฎหมายระหว่างประเทศ อาทิ มาตรา ๙ พระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. ๒๕๕๑ กล่าวว่า

“รัฐบาลไทยอาจพิจารณาส่งบุคคลข้ามแดน เพื่อการฟ้องร้องหรือรับโทษตามคำพิพากษาของศาลในความผิดทางอาญา ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจดำเนินคดีของประเทศผู้ร้องขอให้แก่ประเทศนั้น ๆ ตามคำร้องขอได้ในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) กรณีเป็นความผิดที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ และไม่เข้าลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายไทย หรือมิใช่ความผิดที่มีลักษณะทางการเมืองหรือเป็นความผิดทางทหาร

(2) กรณีที่มิได้มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน เมื่อประเทศผู้ร้องขอได้แสดงโดยชัดแจ้งว่าจะส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่ประเทศไทย ในทำนองเดียวกันเมื่อประเทศไทยร้องขอความผิดที่มีลักษณะทางการเมืองตามวรรคหนึ่ง ไม่หมายความรวมถึงความผิด ดังต่อไปนี้

(ก) การปลงพระชนม์ ประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือรัชทายาท

(ข) การฆ่าประทุษร้ายต่อร่างกายหรือเสรีภาพของประมุขแห่งรัฐ ผู้นำรัฐบาล หรือ สมาชิกโดยตรงในครอบครัวของบุคคลนั้น

(ค) การกระทำความผิดที่ไม่ถือว่าเป็นความผิดทางการเมือง เพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามสนธิสัญญาซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี

นั่นคือ 'นักโทษการเมือง' ที่มีการบัญญัติไว้ในกฎหมาย แต่มีการนำคำนี้มาใช้แพร่หลายกับคนเสื้อแดงที่ร่วมชุมนุม จนนำไปสู่การเผาบ้านเผาเมือง และคนเสื้อแดงที่ยังติดคุกอยู่ส่วนใหญ่มีฐานความผิดในคดีอาญา โดยเฉพาะร่วมเผาในหลายเหตุการณ์ และปล้นปืนไปจากเจ้าหน้าที่ เป็นความเข้าใจเอาเองว่าผู้ที่อยู่ในคุกคือ นักโทษการเมือง เช่นเดียวกับการที่คนเสื้อแดงเรียกตัวเองว่า ฝ่ายประชาธิปไตย

ข้อเสนอที่อ้างว่าเพื่อนำไปสู่การปรองดองนี้ จึงมิได้เริ่มต้นเพื่อให้เกิดความปรองดองแม้แต่น้อย เพราะหากคนเผาบ้านเผาเมือง คนที่ใช้อาร์พีจียิงวัดพระแก้ว คนที่ร่วมกันทำร้ายทหารแล้วปล้นปืนไป ได้รับเกียรติเป็นนักโทษการเมือง ต่อไปกรุงเทพฯ คงจะราบเป็นหน้ากลอง.


จากนสพ.ไทยโพสต์ ๑๒ มี.ค. ๒๕๕๖








"พท.ดิ้นดันนิรโทษกรรมฯ ล้วนเพื่อแม้ว สังคมไม่ได้ประโยชน์ซ้ำสุมไฟวิกฤติ"
ทีมข่าวการเมืองนสพ.แนวหน้า


พรรคเพื่อไทยเล่นบทตีสองหน้า และใช้กลยุทธ์แยกกันเดินร่วมกันตีโดยด้านหนึ่งพยายามสร้างภาพอ้างการสร้างความปรองดองบังหน้า ด้วยการเชิญตัวแทนจากทุกสีเพื่อร่วมหารือหาแนวทางผลักดันพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่คนทุกสีตั้งแต่หลังเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ ก.ย. ๒๕๔๙ จนถึง ๑o พ.ค. ๒๕๕๔ ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ๔๒ สส.กลุ่มเสื้อแดง พรรคเพื่อไทยกลับเดินหน้าหักดิบเตรียมที่จะใช้ปฏิบัติการวัดใจขอมติจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้เลื่อนวาระร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับของตัวเองเข้าสู่การพิจารณาเป็นเรื่องด่วน

แต่ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยจะเดินเกมตีสองหน้าสร้างภาพอย่างไรก็ตามล้วนถูกจับได้ไล่ทันว่าอ้างการสร้างความปรองดองบังหน้า แต่ซุกเป้าหมายแอบแฝงสำคัญที่แท้จริงมุ่งฟอกโทษความผิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายใหญ่เจ้าของพรรคเพื่อไทยตัวจริง และเหล่าแกนนำคนเสื้อแดงที่เป็นผู้ต้องหาก่อการร้ายเผาบ้านทำลายเมืองเมื่อปี ๒๕๕๓

แกนนำ ๔๒ สส.พรรคเพื่อไทยกลุ่มเสื้อแดงนำโดย นายวรชัย เหมะ สส.สมุทรปราการ ยื่นร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมต่อ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคเพื่อไทยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วซึ่ง นายสมศักดิ์ รีบบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมในทันทีอย่างมีข้อน่าสังเกต

ล่าสุด นายวรชัย ประกาศดับเครื่องชนว่าในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสัปดาห์นี้กลุ่ม ๔๒ สส.จะขอให้เลื่อนวาระนำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของกลุ่มขึ้นมาพิจารณาทันทีเพราะล่าช้ามานานแล้วจนกลุ่มคนเสื้อแดงทนไม่ไหวอีกต่อไป โดยจะขอวัดใจพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลด้วยว่าจะสนับสนุนร่างของกลุ่มหรือไม่ หากไม่สนับสนุนก็อาจเกิดปัญหาต่อพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลได้ในอนาคต

เพราะฉะนั้นก็คงต้องรอดูว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลจะมีท่าทีอย่างไรกับปฏิบัติการหักดิบของ ๔๒ สส. กลุ่มเสื้อแดง เพราะหากมีการรวบรัดผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับ ๔๒ สส.เสื้อแดงเท่ากับเติมเชื้อไฟให้การเมืองนอกสภาเดือดพล่านแน่นอน

ส่วนความพยายามของ นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเชื่อว่าได้รับใบสั่งจากนายใหญ่จากแดนไกลที่เดิมเกมสร้างภาพเชิญตัวแทนจากทุกสีรวม ๑๑ กลุ่มมาร่วมหารือเพื่อผลักดันพ.ร.บ.นิรโทษกรรมในที่สุดก็ส่อเค้าล้มไม่เป็นท่าเพราะ ๖ กลุ่มประกาศจุดยืนชัดเจนแล้วว่าไม่ร่วมสังฆกรรมกับแผนของ นายเจริญ ซึ่งความจริงก็คือตัวแทนพรรคเพื่อไทยนั่นเองเพราะเชื่อว่าการหารือเป็นเพียงปาหี่สร้างภาพทางการเมืองที่ซ่อนเป้าหมายแอบแฝงเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ โดย ๖ กลุ่มที่ปฏิเสธคำเชิญประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มเสื้อหลากสี กลุ่มองค์กรพิทักษ์สยาม นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม และ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.) ที่มี ดร.คณิต ณ นคร เป็นประธาน

ส่วนตัวแทนที่ตอบรับคำเชิญเพื่อผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจึงเหลือเพียง ๕ กลุ่ม ได้แก่ รัฐบาลพรรคเพื่อไทย กลุ่มคนเสื้อแดง พรรคภูมิใจไทย กองทัพ และกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง

ข้อน่าสังเกตก็คือในส่วนของกองทัพนั้น บรรดาผู้นำเหล่าทัพต่างวางเฉย แต่พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหมกลับใช้อำนาจสั่งให้ตัวแทนกองทัพเข้าร่วมหารือ

ที่น่าจับตาก็คือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศแข็งกร้าวชัดเจนแล้วว่า หากมีการผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่สภาเมื่อไหร่กลุ่มพันธมิตรฯจะชุมนุมคัดค้านทันที ขณะที่กลุ่มคนเสื้อแดงกดดันพรรคเพื่อไทยให้เดินหน้าดับเครื่องชนโดยไม่ต้องสนใจอะไรทั้งสิ้น ทำให้อุณหภูมิการเมืองเสี่ยงที่จะพัฒนาไปสู่จุดเดือดดังนั้นพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งมีเป้าหมายแอบแฝงที่แท้จริงเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณจึงไม่เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองเลยแม้แต่น้อย ซ้ำยังเป็นชนวนสุมไฟวิกฤติให้ลุกโชนขึ้นมาอีกครั้ง ภายใต้สถานการณ์เปราะบางที่เกิดขึ้นจึงต้องจับตาว่าเพื่อไทยจะเดินหน้าหักดิบหรือซื้อเวลาประคองอายุรัฐบาลเหมือนที่ผ่านมา


จากคอลัมน์ "ผ่าประเด็นร้อน"
นสพ.แนวหน้า ๑๒ มี.ค. ๒๕๕๖


บีจีและไลน์จากคุณญามี่


Free TextEditor





Create Date : 13 มีนาคม 2556
Last Update : 14 มิถุนายน 2556 20:30:50 น. 0 comments
Counter : 3001 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.