happy memories
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2556
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
5 พฤษภาคม 2556
 
All Blogs
 

แก้รัฐธรรมนูญ (๔)






บล็อกแก้รัฐธรรมนูญ (๑)
บล็อกแก้รัฐธรรมนูญ (๒)
บล็อกแก้รัฐธรรมนูญ (๓)



"ใครบงการ 'ศาลเตี้ย' ไปทำเชี่ย ๆ หน้า 'ศาลรัฐธรรนูญ"
จิตกร บุษบา


ทันทีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย กับสมาชิกวุฒิสภาจำพวกเดียวกันอีกจำนวนหนึ่ง ออกแถลงการณ์ปฏิเสธอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ที่รับวินิจฉัยกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.๖๘ ไว้พิจารณา ก็เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ในหมู่ ‘คนเสื้อแดง’ แบบเดียวกัน คือโกรธแค้นชิงชังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จนถึงกับระดมสมัครพรรคพวกไปต่อว่าด่าทอ กดดัน ถึงศาลรัฐธรรมนูญ เหิมเกริมถึงกับจะขอให้งดจ่ายเงินเดือนตุลาการ สั่งการไปยังคนเสื้อแดงให้จับกุมตัวตุลาการ และมีมาตรการที่เข้าข่ายข่มขู่อีกสารพัด

คำถามที่น่าสนใจก็คือ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทำผิดอะไร, ส.ส. กับ ส.ว. มีสิทธิปฏิเสธอำนาจศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่, คนเสื้อแดงมีอำนาจอะไร ที่จะไปตัดเงินเดือนตุลาการ สั่งการให้ประชาชนจับกุมตุลาการ และใส่ร้ายข่มขู่ที่หน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, พรรคเพื่อไทยกับคนเสื้อแดง เป็นขบวนการเดียวกันหรือไม่ และทำไมรัฐบาลซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคนเสื้อแดงจึงไม่ห้ามปรามการกระทำดังกล่าว

๑.) ที่ ส.ส. กับ ส.ว. ที่ดูเหมือนฉลาดเหล่านั้น กล่าวหาว่าศาลรัฐธรรมนูญกำลังก้าวก่ายการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ หนึ่งในผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕o อธิบายผ่านข้อเขียนเรื่อง ‘ศาลรัฐธรรมนูญกับระบบเสียงข้างมาก’ เอาไว้ว่า

“ศาลรัฐธรรมนูญในโลกนี้มี ๒ รูปแบบ โมเดลแรกเรียกว่า ‘ออสเตรียโมเดล’ ตั้งขึ้นครั้งแรกที่ออสเตรียประมาณปี ค.ศ. ๑๙๒o มีหน้าที่หลักคือ การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย อีกโทเดลเรียกว่า ‘เยอรมันโมเดล’ ตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประมาณปี ๑๙๕o มีหน้าที่หลัก คือ ก. พิทักษ์กติกาเสรีประชาธิปไตย(นิติรัฐ-ประชาธิปไตย) ข. คุ้มครองฝ่ายข้างน้อย ค. ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย และ ง. คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน บทสรุปของการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันมาจากบทสรุปที่ว่า “ระบบการปกครองของเยอรมันไม่อาจปล่อยให้เป็นไปตามเสียงข้างมากได้โดยลำพัง” ความหมายคือ เสียงข้างมากนั้นต้องเป็นไปตามขอบเขตของรัฐธรรมนูญ และด้วยเหตุนี้เยอรมนีจึงจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ถ่วงดุลกับระบบเสียงข้างมาก

ศาลรัฐธรรมนูญของไทยเป็นศาลที่ได้รับอิทธิพลมาจากศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมันกล่าวคือ มิได้มุ่งหมายให้ทำหน้าที่เพียงการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายเท่านั้น หากแต่มุ่งให้ทำหน้าที่ในการพิทักษ์กติกาของเสรีประชาธิปไตย คุ้มครองฝ่ายข้างน้อย ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย และคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมัน ทั้งนี้เพราะทั้งไทยและเยอรมนีต่างใช้ “ระบบรัฐสภา” ซึ่งระบบรัฐสภาเองย่อมมีข้อจำกัดในตัวของมันเอง กล่าวคือ ฝ่ายข้างน้อยในสภาอย่างไรเสียก็ไม่สามารถถ่วงดุลต่อฝ่ายข้างมากได้ ด้วยเหตุนี้เอง การกระทำในรูปกฎหมายทั้งหลายจึงออกแบบให้ฝ่ายข้างน้อยสามารถเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตรวจสอบว่าการใช้อำนาจของฝ่ายข้างมากเป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

กล่าวเฉพาะกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรัฐธรรมนูญไทยและเยอรมันมีสิ่งที่เหมือนกัน คือ รัฐสภาจะแก้ไขไปกระทบหลักการพื้นฐานไม่ได้ ซึ่งเรียกว่า “หลักการชั่วนิรันดร” สำหรับของเยอรมันมี ๒ หลักการ คือ หลักแก้ไขไปกระทบหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับ “รัฐ” ไม่สามารถกระทำได้ เช่นเดียวกับมาตรา ๒๙๑ (๑) ของรัฐธรรมนูญไทย รัฐสภาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้กระทบกับ รูปแบบของรัฐและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิอาจกระทำได้ และเช่นเดียวกันของศาลรัฐธรรมนูญไทยและเยอรมันมิได้เขียนอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบอำนาจของรัฐสภาในเรื่องนี้ไว้โดยตรง แต่รัฐธรรมนูญเยอรมันนั้น เขียนบนพื้นฐานที่เขาต้องการถ่วงดุลกับระบบเสียงข้างมาก

ดังนั้น รัฐธรรมนูญเยอรมันจึงเขียนช่องทางให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือส่วนหนึ่งขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรที่มีสิทธิหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ สามารถร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้กรณีที่เห็นว่าการกระทำใดเป็นการใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญไทยมิได้เขียนบนพื้นฐานดังกล่าวมาตรา ๒๑๔ ของรัฐธรรมนูญไทยบัญญัติว่า “ในกรณีที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มิใช่ศาลตั้งแต่สององค์กรขึ้นไปให้ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี หรือองค์กรนั้นเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย”ตามมาตรา ๒๑๔ ในกรณีที่เป็นองค์กรกลุ่มของไทยมีการตีความว่าจะต้องอาศัยเสียงข้างมาก ดังนั้นมาตรา ๒๑๔ ของไทยจึงไม่สามารถใช้เพื่อถ่วงดุลกับระบบเสียงข้างมากได้

กล่าวโดยสรุป การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสิทธิในการยื่นเรื่องตามมาตรา ๖๘ หมายรวมถึงสิทธิของประชาชนที่จะยื่นต่อศาลโดยตรงได้นั้น ย่อมมีนัยที่จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถเข้ามาควบคุมตรวจสอบอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าไปกระทบกับหลักการตามมาตรา ๒๙๑ (๑) คือ รูปแบบของรัฐและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่ อำนาจเช่นนี้ย่อมเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง เพราะรัฐสภานั้นมี ๒ ฐานะ กล่าวคือ ฐานะที่ตรากฎหมายธรรมดาก็ผูกพันกับรัฐธรรมนูญแบบหนึ่ง รัฐสภาในฐานะที่ทำหน้าที่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญย่อมผูกพันกับรัฐธรรมนูญอีกรูปแบบหนึ่ง ทั้งสองรูปแบบล้วนถูกควบคุมตรวจสอบได้โดยศาลรัฐธรรมนูญ เพราะประเทศไทยมิได้ถือ “หลักความมีอำนาจสูงสุดของรัฐสภา” หากแต่ถือ “หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ”

ดังนั้น การใช้การตีความของศาลรัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่การเข้ามาปกป้องหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญเพื่อถ่วงดุลกับ “ระบบเสียงข้างมาก” จึงเป็นการตีความที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญที่จะทำให้ “หลักการชั่วนิรันดร” หรือหลักการพื้นฐานที่สำคัญที่สุดตามมาตรา ๒๙๑ (๑) ของรัฐธรรมนูญไทยอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่จะถูกควบคุมตรวจสอบโดยศาลรัฐธรรมนูญได้ มิเช่นนั้น ๒ หลักการดังกล่าวก็จะตกอยู่ในเงื้อมมือของระบบเสียงข้างมากโดยลำพัง

๒.) มีคนเขียนจดหมาย ถาม นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งนายมีชัยนำทั้งคำถามและคำตอบมาลงไว้ในเว็บไซต์ตอบปัญหากฎหมายของเขาว่า

คำถาม :: กราบสวัสดีอาจารย์มีชัยครับ ช่วงนี้มีกระแสข่าวตามหน้าสื่อต่างๆเกี่ยวกัเบฝ่ายนิติบัญญัตินำโดย ๓๑๒ ส.ส.และส.ว.ออกมาปฏิเสธอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ทราบอาจารย์มองว่า ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจในการกระทำการดังกล่าวได้หรือไม่ และปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่อะไร จะส่งผลกระทบต่อการเมืองไทยมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญถูกวิพากษ์วิจารณ์ในการทำหน้าที่มากจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือหรือไม่ครับ ขอบคุณมากครับ

คำตอบ :: ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มีอิสระในการพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ ทำนองเดียวกับฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภาก็เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีอิสระในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เรียกว่าหน้าที่ใครหน้าที่ของคนนั้น รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว ก็จะผูกพันทุกองค์กร ที่จะต้องปฏิบัติตาม ถ้าองค์กรหนึ่งปฏิเสธอำนาจของอีกองค์กรหนึ่งได้ ต่อไปก็จะกระทบกันเป็นลูกโซ่ จนบ้านเมืองไม่มีขื่อแป

ลองคิดดูว่า ถ้าศาลไม่เห็นด้วยกับฝ่ายนิติบัญญัติ พอออกกฎหมายอะไรมาแล้วก็ไม่ยอมตัดสินคดีตามกฎหมายนั้น ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายใด ก็ไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมายนั้น ตำรวจไม่ยอมบังคับการตามกฎหมาย อัยการไม่ยอมฟ้องตามกฎหมาย พอศาลตัดสินคดีแล้ว กรมราชทัณฑ์ก็ไม่ยอมเอาตัวไปลงโทษตามคำตัดสิน หรือกรมบังคับคดีไม่ยอมบังคับคดีตามคำพิพากษา คนแพ้คดีแล้วไม่ยอม ยกพวกมาล้อมบ้านโจทก์หรือขู่เข็ญว่าจะทำร้ายโจทก์ ตำรวจเห็นก็เฉยเสีย แล้วบ้านเมืองจะเหลืออะไร / มีชัย ฤชุพันธุ์ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๖

๓.) ส.ว.วันชัย สอนศิริ เขียนเฟซบุ๊คของท่านว่า “ตอนนี้มีพวกคนจำนวนหนึ่งปฏิเสธอำนาจศาลรัฐธรรมนูญผมว่ามันชักเลอะเทอะไปกันใหญ่ นึกว่ามีเสียงส่วนใหญ่ชนะเลือกตั้ง จะเหิมเกริมยังไงก็ได้ เขามีศาลภาษีไว้ตัดสินข้อพิพาทเรื่องภาษี ศาลแรงงานเอาไว้ตัดสินเรื่องแรงงาน ศาลปกครองตัดสินคดีเรื่องปกครอง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาตัดสินข้อพิพาทเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา คดีแพ่งคดีอาญาก็ไปศาลยุติธรรมมีปัญหาหรือมีข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้ง เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญก็ไปศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่ให้เขาไปฟ้องร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะให้ไปฟ้องที่ศาลหลักเมืองหรือศาลเจ้าพ่อเสือหรือ ...บ้ากันรึเปล่า

ไปฟ้องศาลก็ดีแล้วนี่ หรือจะให้เขายกพลยกกำลังเดินขบวนกันมาหรือไร ขนรถปิ๊กอัพ รถอีแต๋นมาปิดกรุงเทพอย่างนั้นรึ นั่นยิ่งเลอะเทอะกันไปใหญ่ เมื่อมีคนยื่นคำร้องแล้วศาลท่านก็ให้ชี้แจงก็เป็นไปตามขั้นตอน ผมไม่เห็นจะมีอะไรเลย ถ้าไม่ต้องการให้มีศาลก็ยุบไปเสียให้หมดจะได้ไม่เกะกะลูกหูลูกตาทำอะไรจะได้สะดวก ต่อไปก็เอากระดิ่ง ระฆังไปแขวนไว้ที่หน้าทำเนียบใครมีเรื่องอะไรก็มาเคาะระฆังที่หน้าทำเนียบแล้วให้คุณยิ่งลักษณ์ คุณเฉลิมออกมาตัดสิน เอาอย่างนี้ดีมั้ย

หรือถ้าต้องการให้ศาลตัดสินแล้วถูกใจ เลิกศาลอื่นให้หมดแล้วตั้งศาลกันเอง เช่น ศาลเพื่อไทย ศาลประชาธิปัตย์ ศาลชาติไทย ศาลภูมิใจไทย ใครมีคดีอะไรก็ตัดสินกันเอาเอง ดีมั้ยพ่อคุณพ่อมหาจำเริญ ไอ้พวกไม่มีมาตรฐาน!!

๔.) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า ขณะนี้ได้มีการเคลื่อนไหวของหลายฝ่ายเพื่อลดทอนอำนาจ หรือกดดันการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะที่ผ่านมานั้น ได้มีการเคลื่อนไหวในการกดดดันสำคัญอยู่สามส่วน ได้แก่ การเคลื่อนไหวจากกลุ่มส.ส.เสียงข้างมากในสภา และ ส.ว.จำนวนหนึ่ง กลุ่มคนเสื้อแดงที่ไปชุมนุมหน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และนายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ) ซึ่งเป็นองค์กรที่แต่งตั้งขึ้นโดยรัฐบาล ทั้งนี้การดำเนินการของทั้ง ๓ ส่วนนี้มีจุดมุ่งหมาย ๓ ประการ ได้แก่ ๑. ทำลายการตรวจสอบถ่วงดุล ๒. ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเปรียบเสมือนเสือกระดาษ ๓. ขจัดศาลรัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้เป็นเสี้ยนหนามในการใช้เสียงข้างมากลากไป สำหรับนายอุกฤษนั้น แม้จะออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้ออกมาดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มอื่น ๆ แต่เชื่อว่าคนในสังคมคงมองเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างเจนชัดของกลุ่มคนเหล่านี้ โดยเฉพาะนายอุกฤษซึ่งเป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ไม่ควรทำตนให้เป็นตัวอย่างที่ไม่ถูกต้อง วันนี้นายอุกฤษกำลังทำให้อำนาจอยู่กับฝ่ายบริหารและเสียงข้างมากโดยพยายามลดการตรวจสอบ

ด้านการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงที่มาชุมนุมหน้าศาลรัฐธรรมนูญนั้น นายองอาจกล่าวว่า เป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง เป็นการเคลื่อนไหวที่เกินเลยกรอบของกฎหมาย เช่น การยุให้มวลชนเข้าจับกุมตัวตุลาการ ถือเป็นการเคลื่อนไหวที่ข่มขู่และกดดัน มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความรุนแรง และเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิดกฎหมายอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ใครก็ตามที่อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ควรจะออกมาดำเนินการยุติการเคลื่อนไหวและรัฐบาลต้องแสดงออกว่าไม่สนับสนุนการชุมนุมที่ไม่ถูกฎหมาย มิฉะนั้น จะถูกครหาว่าอยู่เบื้องหลัง

“วันนี้รัฐบาลมีภาระหน้าที่อีกมากมายในการแก้ปัญหาให้ประชาชน ดังนั้น ไม่ควรเอาเวลาไปสนับสนุนสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้ ควรยุติก่อนที่จะปล่อยให้สถานการณ์บานปลายกลายเป็นความรุนแรงเพิ่มขึ้นในสังคม”

สำหรับผม มองการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงหน้าศาลรัฐธรรมนูญนั้น ผิดกฎหมายแน่ แต่ไม่แน่ใจว่ากฎหมายจะคุ้มครองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ทันการณ์หรือไม่ ในเมื่อสภาพการณ์มันน่าคิดว่า ตำรวจเป็นพวกใคร? เป็นไปได้หรือไม่ ที่คนทำผิดกฎหมาย ตำรวจ และรัฐบาล กำลังเป็นพวกเดียวกัน หมายประโยชน์อย่างเดียวกัน หรือเป็นขบวนการเดียวกัน? ถ้าเป็นเช่นนั้นก็น่ากลัวนะครับ

และเพราะรัฐบาล โดยเฉพาะนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือรองเฉลิม อยู่บำรุง ไม่เคยออกมาดุพวกที่กระทำการนอกลู่นอกทาง นอกกฑหมาย คุกคามการทำงานของฝ่ายตุลาการ มันยิ่งชวนคิด ว่าเธอและเขานั่งอมอะไรอยู่ หรือรอรับประโยชน์อะไรอยู่หรือไม่

ที่สำคัญ ประชาชนพวกนั้นเป้นบ้าอะไร ส.ส. กับ ส.ว. ร่วมมือกันแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัดสิน ลดอำนาจของประชาชนแท้ ๆ แทนที่จะเดือดดาลกับนักการเมือง ดันมาเดือดดาลกับตุลาการเสียนี่

จึงอยากตั้งคำถามว่า ใครบงการให้ประชาชนกลุ่มนั้นทำตัวเป็น ‘ศาลเตี้ย’ และไปทำพฤติกรรมเชี่ยๆ หน้า ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’


จากคอลัมน์ "เส้นใต้บรรทัด"
นสพ.แนวหน้า ๒๘ เม.ย. ๒๕๕๖








"ความอดทนคนไทยสูงจริง ๆ"
รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา


ไม่รู้ว่าเวลานี้คนไทยส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับเรื่องบ้านเมือง กันแค่ไหน อย่างไร ที่ต้องถามอย่างนี้ก็เพราะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเมืองไทยเวลานี้ คนไทยที่ห่วงใยประเทศชาติน่าจะต้องคิดอ่านที่จะทำอะไรบางอย่างในด้านการเมืองภาคประชาชน เพราะจะปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปอย่างที่กำลังเป็นอยู่ทุกวันนี้ และกำลังจะเป็นต่อไปในวันข้างหน้า เราอาจจะต้องเผชิญกับความหายนะ หรือความล่มสลายของความเป็นประชาธิปไตย เนื่องจากสิ่งต่าง ๆ ที่รัฐบาลกำลังทำอยู่นั้น มีอยู่หลายเรื่องเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ แต่ด้วยปรากฏการณ์ของความเป็นเผด็จการทางรัฐสภา และการอ้างเสียงข้างมากตามแบบประชาธิปไตยนั้น รัฐบาลสามารถทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ เพราะรัฐบาลมีเสียงข้างมาก หากใครขัดใจรัฐบาลก็จะอ้างว่าได้รับคะแนนเสียงข้างมากมาถึง ๑๕ ล้านเสียง ประชาธิปไตยของเราเป็นประชาธิปไตยเชิงปริมาณ โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ หมายความว่าคนที่ได้รับการสนับสนุนจากเสียงข้างมาก จะทำอะไรก็ได้ จะเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี ก็ไม่มีใครสามารถที่จะทัดทานหรือทักท้วงได้

ขอให้เราทั้งหลายลองถามตัวเราเองว่าเราคิดอย่างไรกับการทำงานของรัฐบาลในเรื่องต่างๆ ที่กำลังดำเนินอยู่ดังต่อไปนี้

* รัฐบาลกำลังจะออกพระราชบัญญัติเพื่อกู้เงิน ๒.๒ ล้านล้านบาท เพื่อนำมาพัฒนาระบบขนส่งมวลชน ที่จะทำให้เราต้องเป็นหนี้ไป ๕o ปี โดยที่ทั้งต้นและดอกเบี้ยที่เราจะใช้หนี้นั้นจะเป็นเงินสูงกว่า ๕ ล้านล้านบาท (สำหรับเราแล้ว อยากจะบอกว่าเราไม่เคยคิดที่จะขวางการพัฒนาประเทศเลย แต่เราอยากให้มีการใช้เงินผ่านพระราชบัญญัติงบประมาณที่มีการตรวจสอบได้ดีกว่าพระราชบัญญัติเงินกู้ ดังนั้น อย่าได้พูดว่าคนที่ต้อต้านการกู้เงิน ๒.๒ ล้านล้านบาท เป็นคนที่ถ่วงความเจริญของประเทศ เราไม่ค้านการพัฒนา แต่เราค้านวิธีการใช้เงิน เพราะรัฐบาลไม่ได้ทำให้เราไว้วางใจเรื่องความโปร่งใส เราจึงต้องการให้มีการตรวจสอบที่เข้ม)

* รัฐบาลกำลังพยายามที่จะแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา และหนึ่งในมาตราที่พยายามจะแก้ก็คือมาตรา ๖๘ ที่จะลิดรอนสิทธิ์ของประชาชนในการจะนำเรื่องของการกระทำที่อาจจะเป็นการล้มล้างระบอบการปกครองของประเทศขึ้นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ โดยไม่ต้องผ่านอัยการ (เราคิดว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้น ไม่น่าจะทำได้ เพราะเป็นการลิดรอนสิทธิ์ของประชาชนที่มีอยู่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. ๒๕๕o)

* รัฐบาลกำลังพยายามที่จะให้มีการนิรโทษกรรมนักโทษทั้งหลายที่ทำผิดกฎหมายทั้งทางกายและทางวาจา ตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ มาจนถึงปี ๒๕๕๔ (เราคิดว่าคนที่ทำผิดทางการเมือง ก็พอจะอภัยกันได้ แต่สำหรับคนที่ทำผิดทางอาญา ไม่ว่าจะเป็นการเผาบ้านเผาเมือง ทำลายทรัพย์สิน ขโมยทรัพย์สิน และทุจริตประพฤติมิชอบ ฉ้อราษฎร์บังหลวงนั้น ไม่ควรจะมีการนิรโทษกรรม และเรื่องนี้จะต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่ให้มายกมือกันในสภา เพราะถ้าหากเป็นเช่นนี้ได้ ต่อไปใครทำผิดอะไรก็ไม่ต้องขึ้นศาล ให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ตัดสินความผิดถูกของการกระทำต่างๆ อย่าลืมว่าตามหลักนิติธรรมนั้น ใครทำผิดก็ต้องได้รับโทษ จะใช้กฎหมายนิรโทษกรรมมาล้างความผิดไม่ได้)

* ขณะนี้มีคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งล้อมศาลรัฐธรรมนูญ เรียกร้องให้ตุลาการรัฐธรรมนูญลาออก กล่าวหาว่า ศาลรัฐธรรมนูญก้าวก่ายการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ นอกจากการล้อมศาลแล้ว ยังมี ส.ส. และ ส.ว. อีกจำนวนหนึ่ง (มากกว่า ๓oo คน) ยังเข้าชื่อเรียกร้องให้ตุลาการรัฐธรรมนูญลาออกอีกด้วย

(เราคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญมีไว้กรองการกระทำต่าง ๆ ของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติไม่ให้ขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องราวเกี่ยวกับการกระทำของรัฐสภาหรือของรัฐบาลเอาไว้พิจารณาว่าผิดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ แล้วถูกมองว่าเป็นการก้าวก่ายการทำงานของรัฐบาลหรือของรัฐสภา แล้วการตรวจสอบจะเกิดขึ้นได้อย่างไร หรือเราต้องการให้ประชาธิปไตยของเรามีเพียง ๒ ขา คือ บริหารและนิติบัญญัติ เราไม่ต้องการขาที่ ๓ อันได้แก่ตุลาการแล้วใช่ไหม และเสียงเรียกร้องของคนเสื้อแดงให้มีการเลือกตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยประชาชนทั้งประเทศนั้น เรากำลังต้องการเอาปริมาณมากำกับตุลาการอีกสาขาหนึ่ง โดยจะไม่คิดถึงเรื่องคุณภาพกันแล้วใช่ไหม หรือว่าคุมรัฐบาลได้ คุมรัฐสภาได้ แต่คุมตุลาการไม่ได้ ก็หมายความว่ายังไม่สามารถคุมประเทศไทยได้เบ็ดเสร็จ จะต้องคุมประเทศไทยให้ได้ครบทั้ง ๓ ขาของประชาธิปไตยกระนั้นหรือ ถ้าต้องการเช่นนั้น จะอำพรางความต้องการเอาไว้ภายใต้คำว่า "ประชาธิปไตย" ทำไมล่ะ ประกาศให้ชัด ๆ ไปเลยว่าต้องการระบอบการปกครองที่คนในตระกูลบางตระกูลสามารถที่จะมีอำนาจเบ็ดเสร็จ สั่งการได้ทุกอย่าง คุมประเทศไทยได้ทุกภาคส่วน ทั้งทหาร ตำรวจ พลเรือน ข้าราชการ เอกชน รากหญ้า จนไม่มีใครสามารถจะต่อกรได้)

เวลานี้ประเทศไทยดูเหมือนจะไม่ใช่ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแล้ว เพราะว่าคนที่ทำหน้าที่เป็นเสนาบดีบางคน ก็ประกาศตนเป็นขี้ข้ารับใช้ทักษิณโดยไม่ปิดบังอำพราง เรื่องการทำงานที่ผิดพลาดของรัฐบาล สื่อก็วางเฉย ข้าราชการที่มีหน้าที่ทำตามกฎหมายก็นิ่งเฉย ไม่ยอมทำอะไร ใส่เกียร์ว่างกันเป็นแถว หลายคนทำหน้าที่เป็นข้าทาสบริวารรับใช้ทักษิณสุดลิ่มทิ่มประตู ผิดถูกอย่างไรไม่สนใจ ตั้งหน้าตั้งตารับใช้ กอบโกยคะแนนในสายตาของนายใหญ่ แล้วเราจะสามารถแก้ไขสิ่งที่ผิด สิ่งที่ไม่เหมาะสมได้อย่างไร ในเมื่อคนที่มีความผิดหลายคดี มีสาวก และลิ่วล้อ ทำหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์นายกันเช่นนี้ อดทนกันต่อไปใช่ไหม และเรามีความอดทนสูงมาก.


จากคอลัมน์ "คิดเหนือกระแส"
นสพ.ไทยโพสต์ ๒๘ เม.ย. ๒๕๕๖








"ศาล รธน. ไม่ใช่ศาลเพียงตา"
ธรรมเกียรติ กันอริ


ระหว่างการเบิกความชี้แจงคดีที่เขมรฟ้องเรื่องเขาพระวิหารต่อศาลโลก ดูว่าคนไทยจะเป็นสุขเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พอใจและชื่นชมต่อทนายฝ่ายไทยที่ชี้แจง ทั้งรักษามารยาท ไม่ก้าวล่วงต่อตุลาการศาลโลก

ผ่านเหตุการณ์ระหว่างประเทศก็มาถึงเรื่องราวในประเทศ พฤติการณ์ที่นักการเมืองซึ่งอ้างกับคนว่าเป็นเสียงข้างมากฝ่ายหนึ่ง กระทำต่อศาลรัฐธรรมนูญ กลับเป็นเรื่องน่าอนาถใจต่อความเป็นอารยะ และสิ่งที่เรียกว่าการเคารพต่อหลักนิติธรรม ซึ่งแท้ที่จริงมันมิใช่เพียงหลักการอันเป็นนามธรรม หากยังสะท้อนถึงองค์กรสถาบันด้วย

ศาลรัฐธรรมนูญมิใช่ศาลสถิตยุติธรรม และมิใช่ศาลปกครอง มิใช่ศาลแรงงาน แต่ก็มีความสำคัญในทางการเมือง เพื่อที่จะวินิจฉัยปัญหาหรือข้อกฎหมายที่เป็นประเด็นสำคัญทางการเมืองโดยเฉพาะ

ขณะนี้ ศาลรัฐธรรมนูญดูจะถูกมรสุมทางการเมืองจากภัยพาลกระหน่ำ ทั้งจากโจรหัวโจกที่อยู่นอกประเทศ และทั้งสมุนบริวารในประเทศ

ปัญหาที่แท้จริงคือ การอ้างที่มาของศาลรัฐธรรมนูญว่ามาจากรัฐธรรมนูญอันเกิดจากการก่อรัฐประหาร หรือกล่าวให้จริงยิ่งขึ้นไปอีกคือ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นก้างขวางคอ เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีบุคคลคนหนึ่งต้องการแก้ไข เพื่อคนพ้นผิดทางอาญาและสามารถเรียกรับทรัพย์สินที่ถูกยึดกลับคืน ต้องการได้อำนาจด้วย สามารถลอยชายสู่ประเทศไทยอย่างเท่ๆ ที่วาดหวังว่าอย่างนั้นเถอะ

การใช้เงินมหาศาลดลบันดาลให้ญาติของตน บริวารของตนได้อำนาจวาสนาก็ทำแล้ว มีผู้บริหารประเทศหุ่นก็ทำแล้ว การทำโครงการมหึมาทั้งหลายอันเป็นช่องทางแสวงประโยชน์ก็กำลังเตรียมการอยู่

แต่มาติดกันที่ยังแก้กฎหมายเพื่อความสะดวก เพื่อความลื่นไหลยังไม่ได้มีองค์กรกลางที่สามารถเข้ามาตรวจสอบ มีประชาชนที่สามารถยื่นคำร้องเพื่อให้ตรวจสอบ การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา บรรดานักการเมืองเสียงข้างมากที่อ้างเพียงความข้างมากคือคุณสมบัติความเป็นประชาธิปไตย ต้องมาสะดุดจากการที่ศาลรัฐ ธรรมนูญรับคำร้องตีความว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ กระ ทำโดยชอบหรือไม่ เพราะผู้ร้องเห็นว่าเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรม นูญ ขัดเจตนารมณ์ เป็นการตัดสิทธิ์ประชาชนและมีวาระ "ซ่อนเร้น"

ด้วยเหตุนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงกลายเป็นบัวในกองเพลิงโดยพลัน ทั้งจากมือตีนในรัฐสภา ในรัฐบาล จากนอกสภาฯ ออกมาถล่มศาลรัฐธรรมนูญ

เป็นตายอย่างไร พ.ต.ท.ทักษิณที่อยู่นอกประเทศ ซึ่งคาดว่าจะกลับประเทศอย่างเท่ๆ ดูจะถูกเบรกหัวคะมำ จึงต้องระดมสรรพกำลังออกขวางศาลรัฐธรรมนูญ ถั่งโถมโหมแรงไฟ สมุนปลายแถวบ้างเรียกร้องให้สำนักงบประมาณไม่จ่ายเงินเดือนแก่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากบริวารส่วนหนึ่งยังไปคุกคามกดดันถึงที่ทำการศาล

สมุนบริวารที่แสดงความถ่อยเถื่อนนี้ บางคนยังถูกฟ้องคดีอาญา บางคนอาจจะอยู่ระหว่างขอประนีประนอมต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางท่าน เวลาพูดจาปลุกเร้าอาจจะมันและเป็นที่ชื่นชมของนายใหญ่ แต่ติดคุกนั้นต้องติดคุกตามลำพัง ดีเจหญิงจากอุดรธานีก็อยู่ระหว่างของประนอมความ แต่ท่านวสันต์จะให้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะขณะก่อเหตุดูจะขาดสติว่าคนอื่นต้องเสียหายเพราะตนอย่างไร

ปลายทางของการปลุกระดมเคลื่อนไหวครั้งนี้คือ การออกกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งผู้ผลักดันไม่กล้ารับเงื่อนไขว่าจะไม่ให้มีผลนิรโทษกรรมต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ขณะเดียวกัน การแก้รัฐธรรมนูญที่มีผลต่อการขจัดองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการบริหารเพื่อประโยชน์ของตนและบริวาร ต่อการกระทำที่ผิดทำนองคลองธรรม ไม่แยแสกับความรู้สึกของประชาชนนั้นจะปลุกประชาชนให้ลุกขึ้นมาต่อต้าน อย่างน้อยในฐานะที่ตนเป็นรัฐบาลก็จะต้องมีหน้าที่รักษาความสงบสุข ต้องให้ความคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของกลไกและสถาบันต่าง ๆ

ถ้ามีกุ๊ยบุกศาลยุติธรรม ใช้ความรุนแรงกดดันตุลาการศาล มีคำถามว่าตำรวจภายใต้กำกับดูแลของรัฐบาล จะเพิกเฉยปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นอย่างนั้นหรือ

หรือรัฐบาลวางเฉย ปากว่าตาขยิบ ไหน ๆ ก็เป็นรัฐตำรวจอยู่แล้ว ปล่อยให้เป็นเรื่องประชาชนที่ทนอยู่ไม่ได้ต้องลุกขึ้นมาจัดการกันเอง เพราะประชาชนต้องการหลักนิติธรรม และมีองค์กรสถาบันที่ทำหน้าที่อันน่าเชื่อถือ และประชาชนมิได้สละรายได้เป็นภาษีอากรสำหรับให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อคราวจำเป็นประชาชนต้องลุกขึ้นมาปกป้องการทำงานของเจ้าหน้าที่เพื่อเป็นขื่อเป็นแปของบ้านเมืองด้วย

ขณะนี้ผู้คนในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ไม่สามารถทนต่อสภาพศาลรัฐธรรมนูญที่โดนข่มเหงรังแกได้ จึงต้องการให้กำลังใจศาลรัฐธรรมนูญ โดยชักชวนให้พร้อมใจกันไปพบกันที่ศาลรัฐธรรมนูญ บริเวณลานอเนกประสงค์ ชั้น ๒ อาคารเอ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ แจ้งวัฒนะ โดยพร้อมเพรียงกันในวันจันทร์ที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๖

อนึ่ง เมื่อไม่กี่วันมานี้ สันนิบาตประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย ถือภารกิจเป็นกองหน้าปฏิวัติโดยสันติ โค่นล้มทุนสามานย์เผด็จการทักษิณให้พ้นแผ่นดินไทย มีมติคณะกรรมการเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๖ มอบหมายให้คุณธงชัย สุวรรณวิหค ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ และจะเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้เร็ว ๆ นี้

ครับถึงคราวที่จะต้องรักษาชาติบ้านเมืองแล้ว.


จากคอลัมน์ "บังอบายเบิกฟ้า"
นสพ.ไทยโพสต์ ๒๘ เม.ย. ๒๕๕๖








"เคราะห์ซ้ำ กรรมซัด วิบัติเป็น"
สมจิตต์ นวเครือสุนทร


"เคราะห์ซ้ำ กรรมซัด วิบัติเป็น" เห็นจะเป็นคำกล่าวที่เหมาะสมที่สุดสำหรับบ้านเมืองในยามนี้ เพราะไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็เห็นแต่ความสุ่มเสี่ยงของชาติที่กำลังคืบคลานเข้าสู่หุบเหวแห่งหายนะมากขึ้นทุกขณะ เพราะไม่ใช่มีแค่ปัญหาความขัดแย้งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์กำลังสุมไฟจุดชนวนให้เกิดการเผชิญหน้าจากการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมและแก้รัฐธรรมนูญเพื่อรวบอำนาจไว้ที่ฝ่ายบริหารเท่านั้น แต่เศรษฐกิจชาติก็กำลังสุ่มเสี่ยงไม่แพ้กัน

เริ่มกันตั้งแต่ปัญหาปากท้องของประชาชน ที่กำลังประสบกับภาวะข้าวยากหมากแพง จนเงินร้อยบาทแทบไร้ความหมาย ในขณะที่รัฐบาลกำลังมีนโยบายที่จะลอยตัวพลังงานเต็มรูปแบบ โดยในเดือนมิถุนายนนี้จะมีการขยับขึ้นราคาแก๊สหุงต้ม หลังจากยักแย่ยักยันอยู่เป็นเวลานาน ก็คงจะเอาแน่กันในอีก ๒ เดือนข้างหน้า

ราคาแก๊สที่จะเพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ ๖ บาท ทำให้ราคาพุ่งขึ้นจาก ๑๘.๑๔ บาท เป็น ๒๔ บาทนั้น หากเป็นคนรวยก็คงไม่ระคายผิว แต่สำหรับคนจนและคนที่หาเช้ากินค่ำ การขึ้นราคาแก๊สหุงต้มส่งผลสะเทือนต่อชีวิตความเป็นอยู่อย่างมาก

ค่าแก๊สถังละ ๑๕ กิโลกรัม จากปัจจุบันประมาณ ๓oo บาท จะขึ้นไปถึง ๔oo บาท ในการขายปลีกให้กับชาวบ้าน ซึ่งไม่ได้เพิ่มเพียงแค่รายจ่ายในครัวเรือนที่ใช้แก๊สเท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงค่าครองชีพของประชาชนที่จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วยจากราคาอาหารปรุงสุกที่ต้องใช้แก๊สเป็นวัตถุดิบสำคัญในการประกอบอาหาร ซึ่งเชื่อได้เลยว่าหลังมีการขึ้นค่าแก๊ส ราคาข้าวแกง อาหารตามสั่งจะแพงขึ้นตั้งแต่ข้างถนนยันในห้างสรรพสินค้า

ในขณะที่ค่าครองชีพของประชาชนกำลังเพิ่มขึ้น เพราะนโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ รายได้ของประชาชนก็กำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากนโยบายของรัฐบาล คิดเพื่อพี่ ทำเพื่อนาย ไม่แตกต่างกัน เพราะนโยบายค่าแรง ๓oo บาท ที่อวดอ้างว่าจะเพิ่มเงินในกระเป๋าให้กับประชาชนสู้ของแพงนั้น ทำให้แรงงานจำนวนไม่น้อยตกงาน อุตสาหกรรมย้ายฐานการผลิต และยังส่งผลกระทบไปถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก ซึ่งเป็นรายได้สำคัญของประเทศเฉลี่ยประมาณ ๗o% ด้วย

ไม่เพียงแต่เศรษฐกิจครัวเรือนจะย่ำแย่จนหนี้สินพุ่งกระฉูด เงินออมลดลง ความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนถดถอยเท่านั้น แต่เศรษฐกิจของชาติก็อยู่ในภาวะเสี่ยงไม่แตกต่างกันจากนโยบายประชานิยมบ้าคลั่งของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่หมกมุ่นอยู่กับคะแนนเสียงทางการเมือง แต่ขาดความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองโดยสิ้นเชิง

นโยบายที่สะท้อนชัดถึงการสร้างความเสียหายให้กับประเทศคือ โครงการจำนำข้าว ๑๕,ooo บาท ซึ่งในปี ๒๕๕๕ ทำให้การส่งออกข้าวทรุดฮวบติดลบกว่า ๔o% สูญเสียแชมป์ส่งออกข้าว เกิดปัญหาเรื่องคุณภาพข้าว ทำลายกลไกค้าข้าว เพราะรัฐบาลกลายเป็นผู้ค้าเสียเอง ในขณะเดียวกันก็ยังมีปัญหาระบายข้าวไม่ออก เนื่องจากราคาข้าวของไทยแพงกว่าประเทศคู่แข่งเกือบ ๒oo เหรียญสหรัฐ

แล้วใครจะมาซื้อข่าวไทยให้โง่ นโยบายนี้จึงกลายเป็นการส่งเสริมข้าวประเทศเพื่อนบ้านให้ขยายฐานการส่งออกได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ถึงขนาดคนในรัฐบาลเวียดนามออกมาขอบคุณรัฐบาล

ไทยที่มีนโยบายจำนำข้าวหมื่นห้าออกมาทำลายตลาดค้าข้าวของประเทศตัวเอง แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ยังไม่ได้สำเหนียกถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ยังคงดึงดันที่จะเดินหน้าการรับจำนำข้าวที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติปีละกว่า ๒ แสนล้านบาทต่อไป โดยไม่นำพาถึงความหายนะที่จะเกิดขึ้นกับบ้านเมือง

นอกจากไร้ซึ่งความเกรงกลัวต่อบาปในการกำหนดนโยบายทำร้ายแผ่นดินเกิดของตัวเองแล้ว รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังหันหลังให้กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พ่อหลวง ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนเป็นหนี้ เพื่อให้เกิดความอ่อนแออยู่ในภาวะง่อยเปลี้ยเสียขา รอคอยของแจก แบกหนี้สิน ทำให้รัฐบาลครอบงำได้ง่ายเพื่อยึดกุมอำนาจการบริหารเอาไว้ในมือ

เลวร้ายไปกว่านั้นคือการใช้จ่ายเงินแผ่นดินที่ขาดวินัยการเงินการคลัง ไร้ธรรมาภิบาลที่ดี เตรียมสร้างหนี้มหาศาลให้กับลูกหลานไทยถึง ๕.๑๖ ล้านล้านบาท จากการกู้เงิน ๒ ล้านล้านบาท ที่จะทำให้คนไทยแบกภาระหนี้ยาวนานถึงครึ่งศตวรรษหรือ ๕o ปี โดยไร้ซึ่งความชัดเจนในการศึกษาโครงการต่าง ๆ ที่ถูกยัดเข้ามาเพื่อเป็นข้ออ้างในการสร้างหนี้

โดย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ยอมรับกลางที่ประชุมกรรมาธิการพิจารณาเงินกู้ ๒ ล้านล้าน ว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงที่ใช้เงินกว่า ๗ แสนล้านบาทนั้นเจ๊งแน่ แต่ก็ยังยืนยันที่จะทำต่อ โดยที่รัฐบาลไม่เคยคิดที่จะตัดทอนการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยจากประชานิยมบ้าคลั่งของตัวเอง นอกจากการสร้างหนี้เพิ่มให้เป็นภาระของชาติไปเรื่อย ๆ แถมด้วยการเปิดช่องโกงกันอย่างโจ๋งครึ่ม ถึงขนาดมีการเปิดเผยในวงสัมมนาของ ป.ป.ช.ว่า ยัดทะนานกันพุงกางถึง ๕o% ต่อโครงการเลยทีเดียว

ในขณะที่มือข้างหนึ่งกำลังขโมยเงินจากแผ่นดิน มืออีกข้างของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็กำลังยืดยาวกว่าแม่นาคพระโขนงยื่นไปเก็บมะนาวมาทำอาหารให้ผัว เพราะเป็นมือที่พยายามจะล้วงคลังหลวงอันเป็นปราการด้านการเงินด่านสุดท้ายในการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ โดย ทำทุกรูปแบบที่จะบีบให้ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากเป็นก้างขวางคอทำให้ไม่สามารถผลาญเงินชาติได้อย่างสนุกมืออย่างที่วางแผนไว้

แล้วมือของคนไทยจะทำอะไรเพื่อยับยั้งความหายนะที่กำลังจะเกิดขึ้นกับบ้านเมืองบ้างมั้ย?.


จากนสพ.ไทยโพสต์ ๒๘ เม.ย. ๒๕๕๖








"เมื่อนิติบัญญัติไม่ฟังตุลาการ ประชาชนจะโค่นนิติบัญญติ"
บทบ.ก.นสพ.แนวหน้า


อำนาจอธิปไตยคืออำนาจสูงสุดในการปกครองรัฐคำว่าอธิปไตยนี้ Jean Bodin (ฌอง โบแดง) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ เป็นผู้ใช้คำนี้เป็นคนแรก

อำนาจอธิปไตยของประเทศที่มีการปกครองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยถูกกำหนดว่าเป็นอำนาจของประชาชน คือประชาชนมีอำนาจสูงสุดในการปกครองรัฐ โดยใช้อำนาจนี้ผ่านตัวแทนโดยชอบธรรมของตน อำนาจอธิปไตยแบ่งเป็น ๓ ชนิด (Separation of Power) คือ อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ โดยอำนาจทั้งสามนี้ต้องสามารถถ่วงดุลและตรวจสอบกันและกันได้อย่างสมบูรณ์ (ดูเพิ่มเติมในการแบ่งแยกอำนาจ โดยมงแตสกีเยอ)

เมื่ออ้างอิงตามหลักทฤษฎีที่ว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน จะยอมรับว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน โดยประชาชนทุกคนเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยด้วยตนเองในกิจกรรมทุกอย่างทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

การใช้อำนาจอธิปไตยโดยอ้อมคือการที่ประชาชนเลือกตัวแทนของตนเพื่อให้เข้าไปทำการแทนตน ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดเรื่องสัญญาประชาคมของฌองฌาก รุสโซ (Jean Jacques Rousseau) ที่เชื่อว่ามนุษย์ยินยอมพร้อมใจร่วมกันเพื่อรวมเป็นสังคมโดยมีสัญญาประชาคมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว แต่การมอบอำนาจให้เช่นนี้มิได้หมายความว่ามนุษย์ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพใด ๆ เพราะสิทธิเสรีภาพยังคงเป็นของมนุษย์อยู่คงเดิมทุกประการ

ที่อารัมภบทมายาวนานเช่นนี้ก็เพียงต้องการจะเตือนความจำของนักการเมืองบ้าอำนาจบางกลุ่มให้จงเข้าใจด้วยว่า อำนาจที่ประชาชนมอบให้นั้นมิได้หมายความว่าเป็นอำนาจสิทธิ์ขาดของนักการเมือง และนักการเมืองจงจำไว้ด้วยว่า อำนาจอธิปไตยมีสามขา โดยแต่ละขานั้นสามารถถ่วงดุลและคานกันและกันได้อย่างมีเหตุและผล

กรณีที่นักการเมืองไทยสังกัดพรรคร่วมรัฐบาลในยุคนี้ ซึ่งถูกวิพากษ์ว่าเป็นยุคนักการเมืองขี้ข้าระบอบทักษิณ ออกมาแสดงอาการไม่ยินยอมรับฟังคำท้วงติงใดๆ ของอำนาจฝ่ายตุลาการ โดยอ้างว่าฝ่ายนิติบัญญัติมาจากประชาชนนั้น เป็นการกล่าวอ้างที่เกินเลยความจริง และไม่เคารพหลักการถ่วงดุลของอำนาจอธิปไตย

นักการเมืองลืมตัวบ้าอำนาจต้องจำไว้เสมอว่าฝ่ายตุลาการก็มาจากความยินยอมของประชาชนเช่นกัน และต้องไม่ลืมว่าประชาชนมีสิทธิ์ถอดถอนตัวแทนของเขาออกจากอำนาจได้ เนื่องจากประชาชนคือผู้ควบคุมผู้แทนของเขา มิได้หมายความว่าเมื่อได้เป็นผู้แทนแล้วจะกลายเป็นพ่อของประชาชน แต่ที่สำคัญคือนักการเมืองบ้าอำนาจที่หลงตัวลืมตีนต้องสำเหนียกตลอดเวลาว่า ประชาชนมีสิทธิ์มีส่วนร่วมในทางกฎหมายตลอดเวลา ดังนั้นการที่จะลิดรอนสิทธิ์ประชาชนในเรื่องดังกล่าวจึงไม่บังควรอย่างยิ่ง แล้วประชาชนก็จะไม่มีวันยอมให้นักการเมืองบ้าอำนาจทำเช่นนั้นเป็นอันขาด

ขอย้ำว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน อำนาจอธิปไตยมิใช่ของรัฐบาลหรือของนักการเมืองหน้าไหนดังนั้นนักการเมืองและรัฐบาลไม่มีสิทธิ์ลิดรอนสิทธิ์ประชาชน หากรัฐบาลและนักการเมืองยังขืนดันทุรังหน้าทนลิดรอนสิทธิ์ประชาชนต่อไป ประชาชนจะต้องโค่นรัฐบาลและนักการเมืองเลวชาติอย่างแน่นอน


จากนสพ.แนวหน้า ๒๖ เม.ย. ๒๕๕๖








"แข่งเท็จเพื่อนาย"
ผักกาดหอม


มัวแต่เพลินกับการชื่นชม "อลินา มิรอง" หันมาอีกที ระบอบทักษิณปีนรั้วเข้ามาจะเผาบ้านอีกรอบแล้วครับ รู้มั้ยครับ ถ้าสังคมนี้อยู่กับข้อมูลที่โกหก ปลิ้นปล้อน จะเกิดอะไรขึ้น? ฉิบหายวายป่วง!

และครับ ชุดข้อมูลใหม่ปล่อยในโลกไซเบอร์ มวลหมู่เสื้อแดงบริโภคพุงกางกันไปเรียบร้อย ไปบอกต่อกันว่า น้องมิรองของ

ผม "ได้รับการติดต่อกับท่านทักษิณ ประสานให้มาช่วยคดีเขาพระวิหาร ค่าใช้จ่ายทั้งหมดทักษิณเป็นผู้จ่าย โดยมีนายกฯ คอยประสานงานเท่านั้น เพราะจะให้รัฐบาลจ่ายค่าตัวคงไม่ไหว"

ผมลอกมาให้ดูคำต่อคำ นี่คือข้อมูลจากเสรีชนผู้รักประชา ธิปไตยจนน้ำลายไหลครับ
ไม่ธรรมดา บิดเบือนเข้าขั้นระยำกันเลยทีเดียว แค่เรื่องรัฐบาลจ่ายค่าตัวให้ "น้องมิรอง" ไม่ไหว ผมว่าถ้าเสื้อแดงคนไหน กดไลค์ มันยิ่งกว่ารับประทานหญ้าแพรกของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ครับ

แต่เอาเถอะนั่นแค่น้ำจิ้ม ของจริงที่กำลังขย่มกันในวันนี้และตลอดสัปดาห์หน้านั้นคือ การไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ

อำนาจอธิปไตยภายใต้ระบอบทักษิณกำลังถูกทำให้เหลือแค่ ๒ อำนาจ คือ นิติบัญญัติ กับฝ่ายบริหาร ส่วนตุลาการนี่คือจุดเริ่มต้นของการรื้อใหญ่ เพื่อให้ทุกศาลในประเทศไทยมีจุดกำเนิดจากรัฐสภา แล้วจะนับฝ่ายตุลาการเป็นอีกหนึ่งอำนาจอธิปไตยภายใต้ระบอบเผด็จการรัฐสภาได้อย่างไรกัน

แปลไทยเป็นไทยคือ ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้บาทาของทักษิณ
ผมคิดมากไปหรือเปล่า? งั้นมาดูกัน ว่าสิ่งที่ทักษิณคิดเพื่อไทยกำลังลงมือทำนั้นคืออะไร

ก่อนอื่นมาดูสิ่งที่พวกเขาคิดกัน

"วรชัย เหมะ" ส.ส.แดงปากน้ำ ปลุกระดมให้คนเสื้อแดงไปชุมนุม วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ที่สมุทรปราการ ด้วยการบอกว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจนอกระบบ

ถูกต้อง! ถ้าบอกว่าเป็นอำนาจที่อยู่นอกระบอบทักษิณ แต่ศาลรัฐธรรมนูญกำเนิดตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ การบิดเบือนข้อมูลเช่นนี้ไม่เพียงทำลายศาลรัฐธรรมนูญ แต่ยังพยายามทำลายความเป็นคนของคนที่รักทักษิณให้ย่อยยับไปด้วย

"นพดล ปัทมะ" ยืนกรานว่า จดหมายเปิดผนึกของ ๓๑๒ ส.ส.และ ส.ว.ทาส คือการแสดงตัวเป็นหลักให้ประชาชนที่รักความจริง ความจริงของคนพวกนี้คืออะไร คือศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจโดยมิชอบ ที่จริงผมอยากได้ยินคำพูดนี้ตอนศาลรัฐธรรมนูญไฟเขียว พ.ร.ก.กู้ด่วน ๓.๕ แสนล้าน ให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไปบริหารจัดการน้ำ

เป็นไง...วันนี้ยังเอาอยู่หรือครับ แผนบริหารจัดการน้ำเละ กู้มาถึง ๑o% หรือยัง หรือเอาไว้กลืนคำเดียวก่อนวัน พ.ร.ก.หมดอายุ วันที่ ๓o มิถุนายนนี้

กู้หรือไม่กู้นั่นเรื่องหนึ่ง อีกเรื่องคือถ้าปีนี้น้ำมาตัวใครตัวมันครับ เพราะรัฐบาลแทบไม่ขยับทำอะไร นอกจากแก้รัฐธรรมนูญ นิรโทษกรรม รุมยำศาล แล้วเอา "น.ช.ทักษิณ" กลับแบบเท่ๆ

ท่าทีของ "อำมาตย์เต้น" แชมป์โต้วาทีมัธยมศึกษา ที่มีงานหลักคือแก้ปัญหาราคายางพารา แต่วันนี้ยางอายยังไม่คิดแก้ หนำซ้ำยุมวลชนแดงไปชุมนุมหน้าศาล ด้วยลีลาคล้ายๆ กับ เผาเลยครับพี่น้อง ผมรับผิดชอบเอง

"สถานการณ์คงคลี่คลาย หากยังดึงดันใช้อำนาจเรี่ยราดเหมือนที่ผ่านมา.. อย่าคิดว่าเป็นสุภาพบุรุษแห่งวังจุฑาเทพ ที่ทำอะไรออกมาแล้วคนจะต้องเชียร์...ตุลาการเจตนาลิดรอนอำนาจนิติบัญญัติ ไม่ใช่การถ่วงดุล แต่ถ่วงรั้งอำนาจอธิปไตย ทำให้บรรยากาศทางการเมืองเกิดความเสียหาย"

เป็นไงครับ แบบนี้ต่างกับยุให้เผาศาลรัฐธรรมนูญนักหรือเกมในสภาฯ ไม่ใช่ปัญหาของระบอบทักษิณ เพราะเสียงข้างมากลากไปได้ทุกอย่าง แต่ศาลรัฐธรรมนูญคือก้างชิ้นโตที่ขวางคออยู่

และพวกเขาบอกว่าจะต่อสู้อย่างสงบ สันติ ขนลุกครับ คราวที่แล้วก็เวิร์ดดิงเดียวกันนี่แหละครับ

ไฟท่วมกรุง!


จากคอลัมน์ "อ่านเอาเรื่อง"
นสพ.ไทยโพสต์ ๒๔ เม.ย. ๒๕๕๖








"ศาลรธน.วิจารณ์-ตรวจสอบได้ แต่ต้องอยู่ในขอบเขตความเหมาะสม"
กองบ.ก.นสพ.ไทยโพสต์


การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ที่มีต่อศาลรัฐธรรมนูญที่เตรียมจะวินิจฉัยคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเห็นได้ชัดว่าในสัปดาห์นี้มีการเคลื่อนไหวขยายวงรอบกว้างออกไปมากขึ้น จากฝ่ายการเมืองไปสู่กลุ่มเคลื่อนไหวการเมืองหลากหลายกลุ่มมากขึ้น

หลังจากก่อนหน้านี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากได้มีมติรับคำร้องที่นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา และนายบวร ยสินทร ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กรณีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา กับพวก ซึ่งเป็น ส.ว.และ ส.ส.รวม ๓๑๒ คน กระทำการที่ส่อไปในทางกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญด้วยการตัดสิทธิ์ของบุคคลในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญหรือไม่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ ซึ่งสุดท้ายที่ประชุมตุลาการศาล รธน.เสียงข้างมาก ก็ได้รับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาเมื่อ ๓ เมษายน และ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๖ ตามลำดับ

ผลจากมติดังกล่าวทำให้เกิดแรงต่อต้านศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาทันที โดยเฉพาะจาก ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ที่นำโดย ส.ส.พรรคเพื่อไทย และกลุ่มสมาชิกวุฒิสภาที่ร่วมกันลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ จนถึงขั้นออกแถลงการณ์ตำหนิศาลรัฐธรรมนูญว่า เป็นการใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขตมาก้าวล่วงฝ่ายนิติบัญญัติเพราะอำนาจการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ ส.ส.และ สว.สามารถพิจารณาเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ อีกทั้งมีการระบุด้วยว่าฝ่าย ส.ส.- ส.ว.รวม ๓๑๒ คน ที่ร่วมกันลงชื่อเสนอร่างแก้ไข รธน.จะไม่ทำหนังสือชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญตามที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ฝ่าย ส.ส.-ส.ว. ๓๑๒ คน รวมถึงตัวสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ส่งคำชี้แจงเพื่อสู้คดีกลับมายังศาลรัฐธรรมนูญ ตามคำแถลงการณ์ที่ได้แถลงต่อสื่อมวลชน เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๖ ตอนหนึ่งว่า

“ในนามของสมาชิกรัฐสภาซึ่งเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย ขอแถลงการณ์เพื่อประกาศต่อพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณาอาจเข้าข่ายจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ผลของการกระทำดังกล่าวจะทำลายรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ยึดหลักการแบ่งแยกอำนาจเป็นสำคัญ” จึงร่วมประกาศเจตนารมณ์ ดังนี้

๑. ศาลรัฐธรรมนูญย่อมต้องผูกพันและปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ การรับคำร้องโดยที่ไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้อำนาจย่อมเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓ มาตรา ๙๗ และ มาตรา ๒๙๑

๒. การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้พิจารณาตามมาตรา ๖๘ ได้นั้น ต้องเสนอเรื่องไปยังอัยการสูงสุดเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน

๓. การทำหน้าที่ในการรับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีมาตรา ๖๘ ขาดมาตรฐาน อันยากที่จะยอมรับและปฏิบัติตามได้

๔. การที่ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ๙ คน แต่มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญติดภารกิจไปต่างประเทศ ๔ คน จึงเหลือตุลาการเพื่อปฏิบัติหน้าที่เพียง ๕ คน เป็นการเร่งรีบประชุม แตกต่างจากกรณีไต่สวนคำร้องของพล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ที่ได้รอตุลาการจนครบ

๕. การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมเป็นอำนาจของรัฐสภา โดยเฉพาะตามมาตรา ๒๙๑ องค์กรอื่นใดไม่มีอำนาจทั้งสิ้นที่จะสั่งห้ามหรือระงับ ดังนั้นยืนยันจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย คงไว้ซึ่งหลักการแบ่งแยกอำนาจและเกียรติภูมิของรัฐสภา โดยจะดำเนินการที่เหมาะสมตามกรอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ต่อไป

หลังจากนั้นก็มีการเคลื่อนไหวเพื่อแสดงออกถึงการไม่ยอมรับการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง ทั้งกรณีการออกมาให้ข่าวของ ส.ส.เพื่อไทย ว่าจะมีการล่ารายชื่อเพื่อยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากที่ลงมติให้รับคำร้องคือนายจรัญ ภักดีธนากุล นายจรูญ อินทจาร และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ โดยจะมีการยื่นต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้ส่งไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติต่อไป ด้วยการอ้างว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่เกินอำนาจที่ศาลรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ รวมถึงก็มี ส.ส.เพื่อไทยบางคน ออกมาระบุว่า จะมีการไปแจ้งความดำเนินคดีกันด้วย

แต่ที่ทำไปแล้วก็คือ การที่มีบุคคลบางกลุ่มซึ่งถูกมองว่ามีความใกล้ชิดกับฝ่ายคนเสื้อแดง อย่างเช่น นายวรพล พรหมมิกบุตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ไปแจ้งความที่กองปราบปราม เมื่อ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๖ เพื่อให้ดำเนินคดีกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีใช้อำนาจวินิจฉัยคำร้องคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ โดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากอัยการสูงสุด จึงเห็นว่าอาจเข้าข่ายกระทำการหรือละเว้นกระทำการ อันถือว่าละทิ้งงานหรือกระทำการอย่างใดเพื่อให้งานหยุดชะงักหรือเสียหายโดยรวม ซึ่งอาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๖๖

แต่ที่ถูกวิจารณ์อย่างมากก็คือการที่กลุ่มคนเสื้อแดงที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มวิทยุชุมชนประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไปรวมตัวกดดันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หน้าที่ทำการศาลรัฐธรรมนูญที่ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งได้ดำเนินการต่อเนื่องมาหลายวันแล้ว เพื่อเรียกร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยุติการปฏิบัติหน้าที่ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือกดดันให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลาออกนั่นเอง

เรื่องการเคลื่อนไหวเพื่อแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยในการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ ตามหลักประชาธิปไตย เพราะองค์กรศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรอิสระที่สามารถตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ได้

ขอเพียงแต่ว่าการตรวจสอบ การวิจารณ์ ควรต้องทำให้อยู่ในขอบเขต ทำภายใต้หลักกฎหมาย ไม่แสดงออกถึงพฤติการณ์กดดันข่มขู่ การวิจารณ์ควรมีเหตุมีผล เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยตรงไหน ก็แสดงออกมา ตรงนี้เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญก็พร้อมรับฟัง เช่นการไม่เห็นด้วยกับการที่ศาล รธน.รับคำร้อง ก็แสดงเหตุผลออกมาว่าไม่เห็นด้วยเพราะอะไร ศาล รธน.ผิดพลาดตรงไหนในการรับคำร้อง ขัดกับหลักการทำงานอย่างไร หากเคลื่อนไหวแสดงออกเช่นนี้ เชื่อว่าศาล รธน.ก็ยินดีรับฟังเสียงวิจารณ์ ขอเพียงแต่ว่าอย่าใช้พฤติการณ์อันไม่เหมาะสมมาเคลื่อนไหวกดดันศาล รธน. ตรงนี้ไม่สมควรอย่างยิ่ง หากใครคิดหรือทำแล้ว ต้องทบทวนตัวเองด้วย.


จากนสพ.ไทยโพสต์ ๒๖ เม.ย. ๒๕๕๖








'เพื่อไทย' เปิดหน้าชน 'ศาลรัฐธรรมนูญ'
ชนิกานต์ พุ่มหิรัญ


มติพรรคเพื่อไทยไม่ส่งคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญแต่ใช้วิธีส่งจดหมายเปิดผนึกปฏิเสธอำนาจศาลแทน พร้อมกับส่งจดหมายเปิดผนึกไปยังประชาชนและองค์กรอิสระทุกแห่ง

จุดเริ่มของการดับเครื่องชนครั้งนี้เกิดขึ้นจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยเฉพาะมาตรา ๖๘ ได้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความ ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยเปิดช่องให้ประชาชนผู้ทราบการกระทำที่อาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครองฯ สามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง เพราะเคยมีบทเรียนเมื่อครั้งเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑ ที่ยังคงค้างอยู่ในสภา

ขณะที่รัฐบาลและพรรคเพื่อไทย แก้เกมเดินหน้าชนกับศาลรัฐธรรมนูญทันที โดยมีมติไม่ส่งคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ

นั่นเพราะพรรคเพื่อไทยมองว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นอุปสรรคชิ้นโต ที่คอยสกัดแผนการกลับประเทศของ "นายใหญ่" ผู้กุมบังเหียนพรรคเพื่อไทย และนิรโทษกรรมให้แก่กลุ่มคนเสื้อแดงอย่างมาก

แม้การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ยังอยู่ในช่วงวาระแรก ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้ไปยื่นคำร้องคัดค้าน ตามช่องทางรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างมาก ๓ ต่อ ๒ เสียง ก็ออกมารับลูกทันที โดยมีมติรับคำร้องคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ ไว้พิจารณาทันที

กระทั่ง “นายห้างตราดูไบ” ทักษิณ ชินวัตร นิ่งเฉยมิได้ ต้องออกมาส่งสัญญาณว่า ศาลรัฐธรรมนูญควรเลิกเล่นลิเกกับเรื่องบ้านเมืองได้แล้ว เพราะการที่รัฐบาล ส.ส. และส.ว. พยายามจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้น ก็ไม่ยอม เราไม่ว่ากัน แต่พอจะแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ดันมีพวกที่ขัดขวางความเป็นประชาธิปไตย คนเห็นแก่ตัว ไม่กี่คนไปยื่นเรื่องที่ศาล ศาลก็ดันรับไว้

จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” ถือเป็น “หมาก” ตัวสำคัญ สำหรับเกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย จะต้องจัดการให้สิ้นซาก!

รัฐบาล พรรคเพื่อไทย และกลุ่มคนเสื้อแดง จึงต้องร่วมมือกัน ใช้ยุทธวิธี "ผลัดกันเดิน แยกกันตี" เพื่อกดดันตุลาการศาลศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านกลไกของรัฐสภา ที่ต้องเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อกดดันและลดทอนอำนาจศาลรัฐธรรมนูญให้สำเร็จ

เห็นได้จากการที่ “สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันหนักแน่นว่า จะไม่ส่งคำชี้แจงไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพราะที่ผ่านมาการดำเนินการในสภา ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญอย่างครบถ้วน จึงไม่จำเป็นต้องชี้แจงอะไรเพิ่มเติม

เช่นเดียวกับท่าทีของ นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ได้กล่าวปาฐกถาในเวทีประชุมประชาคมประชาธิปไตย ที่เมืองอูลันบาตอร์ ประเทศมองโกเลีย โดยระบุว่า กลไกที่เรียกว่าองค์กรอิสระได้ใช้อำนาจเกินขอบเขตแทนประชาชนเจ้าของอำนาจที่แท้จริง ซึ่งถือเป็นการดำเนินการเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากกว่าเพื่อคนส่วนใหญ่ของสังคม นี่คือความท้ายทายของประชาธิปไตยไทยในปัจจุบัน

ควบคู่ไปกับ “อุดมเดช รัตนเสถียร” ส.ส.นนทบุรี ในฐานะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย ก็ออกมาแสดงจุดยืนมติพรรคเพื่อไทยว่า จะไม่มีการส่งคำชี้แจงกรณีที่ศาลรับคำร้องการไขรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ ต่อศาลรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น เพราะการที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาใช้ดุลพินิจในเรื่องนี้ ถือว่าไม่ถูกต้อง

ขณะเดียวกันกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งถือเป็นกำแพงสำคัญ สำหรับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็ได้เดินหน้าชุมนุม บริเวณหน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อกดดันการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ และจี้ตุลาการทั้ง ๙ ท่าน ลาออกทันที

ซึ่งเราต่างรู้ดีว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงในครั้งนี้ น่าจะเป็นเพียงใบเบิกทาง ที่จะนำไปสู่การยื่นถอดถอดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ ตามกระบวนการขั้นตอนของรัฐสภา เพื่อให้สภาสามารถมีข้ออ้างในการดำเนินการถอดถอนทั้ง ๙ ตุลาการได้ทันที

ถือได้ว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” ในขณะนี้ ต้องเผชิญศึกรอบด้าน เสมือนเป็น “ชนวนของความขัดแย้ง” เสียเอง

แต่ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ “วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์” ยังพร้อมที่จะเดินหน้าชนเต็มที่ หลังออกมาระบุว่า ไม่ได้รู้สึกกังวลอะไรกับการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงบริเวณหน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพราะคิดว่าการชุมนุมครั้งนี้ น่าจะเป็นคนที่ไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวมากกว่า พร้อมยืนยันว่า ใครปราศรัยว่าอะไรจะเก็บทุกเม็ด ก่อนจะมีการมอบให้เจ้าหน้าที่ไปยื่นฟ้อง

เช่นเดียวกับ “จรัญ ภักดีธนากุล” หนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็ได้ออกมายืนยันที่จะทำหน้าที่ต่อไป ส่วนใครจะไม่รับอำนาจศาลอย่างไร ก็ถือเป็นสิทธิเสรีภาพ คงต้องรอติดตามว่ามีเหตุผลอย่างไร ยืนยันว่า ศาลก็คงมีแต่เพียงปากกา ไม่ได้มีอำนาจอะไรมากมายไปกว่านั้น ไม่ทราบเหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองในปัจจุบันนี้ เหมือนนักมวยกำลังไล่ต่อยกรรมการ

อย่างไรก็ตาม น่าจับตาดูว่า การเปิดหน้าชน หมดหน้าตัก ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย สำหรับการไม่ทำหนังสือชี้แจงตามที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดนั้น จะลุล่วงไปด้วยดีหรือไม่?? เพราะหากดูตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๕o ข้อ ๒๙ ที่ระบุไว้ว่า หากผู้ถูกร้องไม่ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน ๑๕ นับแต่วันรับสำเนาคำร้อง หรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด หรือไม่มารับสำเนาคำร้องภายในกำหนดเวลานั้น ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้

คงต้องรอลุ้นกันว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะมีการหยิบยกประเด็นการที่พรรคเพื่อไทยไม่ทำหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เข้าหารือในที่ประชุมหรือไม่ และหากหยิบยกมาพิจารณาจริง! องค์คณะตุลาการทั้ง ๙ ท่าน จะตัดสินใจออกมาแนวทางใด กับเกมการไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ !!


จากคอลัมน์ "ขยายปมร้อน"
นสพ.คม ชัด ลึก ๑ พ.ค. ๒๕๕๖


บีจีและไลน์จากคุณญามี่


Free TextEditor





 

Create Date : 05 พฤษภาคม 2556
0 comments
Last Update : 14 มิถุนายน 2556 19:38:46 น.
Counter : 4581 Pageviews.


haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.