happy memories
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2556
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
19 มีนาคม 2556
 
All Blogs
 

หลังเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. (๔)





"คนกรุงรู้ทัน ตอกย้ำไม่เอาระบอบทักษิณ"
ทีมข่าวการเมืองนสพ.แนวหน้า


ผลการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.ในภาพรวมซึ่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร อดีตผู้ว่า กทม.จากพรรคประชาธิปัตย์ ยังคงรักษาแชมป์ด้วยการเอาชนะคู่แข่งสำคัญคือ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้ท้าชิงจากพรรคเพื่อไทย สะท้อนให้เห็นปฏิกิริยาของคนกรุงอย่างมีนัยยะสำคัญทางการเมือง

ผลการเลือกตั้งผู้ว่าเมืองหลวงที่ออกมาถือเป็นการตอกย้ำตบหน้าสำนักโพลล์บางสำนักที่ก่อนหน้านี้เผยแพร่ผลสำรวจระบุว่า พล.ต.อ.พงศพัศ จะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้แบบขาดลอย

ผลเลือกตั้งผู้ว่า กทม.ครั้งนี้เป็นการตอกย้ำว่า พรรคประชาธิปัตย์ยังคงครองใจเสียงส่วนใหญ่ของคนกรุงไว้ได้ และยังคงรักษาเก้าอี้ผู้ว่าเมืองหลวงไว้ได้เป็นสมัยที่ ๔  ติดต่อกัน ขณะที่พรรคเพื่อไทยยังคงพ่ายแพ้ยังไม่ประสบความสำเร็จในการช่วงชิงเก้าอี้ผู้ว่า กทม.จากพรรคประชาธิปัตย์ได้เลยแม้แต่ครั้งเดียวนับตั้งแต่ก่อตั้งระบอบทักษิณเป็นต้นมา

ผลเลือกตั้งที่ออกมายังอาจเป็นการสะท้อนนัยยะทางการเมืองที่ว่าชาวเมืองหลวงยังคงไม่ลืมเหตุการณ์ก่อการร้ายเผาบ้านทำลายเมืองเมื่อปี ๒๕๕๓ ซึ่งมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้มีบารมีเหนือรัฐบาลหุ่นเชิดชุดนี้ เป็นผู้บงการคนสำคัญและมีบรรดาแกนนำคนเสื้อแดงเป็นผู้รับคำสั่งสร้างสถานการณ์

นอกจากนี้ ยังอาจเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า นโยบาย "ไร้รอยต่อ” ที่พรรคเพื่อไทยชูเป็นประเด็นสำคัญในการรณรงค์หาเสียงหวังใช้เป็นจุดขายดึงคะแนนจากคนกรุงไม่ประสบผล โดยคนเมืองหลวงยังคง “รู้ทัน” ไม่ไว้ใจระบอบทักษิณที่พยายามทุกทุกวีถีทางเดินหน้ารุกคืบที่ยึดเมืองหลวงอันปูทางไปสู่แผนผูกขาดอำนาจยึดครองทุกองคพายพของประเทศอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดหวังเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่ในอนาคต

ที่สำคัญยังอาจเป็นการสั่งสอนระบอบทักษิณหลังจากที่ก่อนหน้านี้ พ.ต.ท.ทักษิณ เคยประกาศดูถูกคนกรุงว่าถึงจะส่ง เสาไฟฟ้า ลงสมัครรับเลือกตั้งก็ยังชนะแน่นอน

ขณะเดียวกันอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ยังคงครองใจคนเมืองหลวงไว้ได้ก็คือสปิริตการร่วมแรงร่วมใจกันของคนในพรรคโดยเฉพาะบรรดาบุคคลอาวุโสของพรรค อาทิ นายมารุต บุนนาค อดีตหัวหน้าพรรค นายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคและอดีตนายกฯสองสมัย ที่มีภาพพจน์ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ยอมรับทั่วไป รวมทั้งแกนนำทุกระดับจากทั่วประเทศต่างมาช่วย ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ รณรงค์หาเสียงอย่างเต็มที่

แต่แม้พรรคเพื่อไทยพ่ายศึกยึดอำนาจเมืองหลวงครั้งนี้ แต่ยังคงอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบเพราะยังคงยึดกุมอำนาจรัฐและผลักดันคนของระบอบทักษิณเข้าไปคุมอำนาจในแทบทุกองคพายพของประเทศผ่านรัฐบาลหุ่นเชิดภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และแน่นอนว่าระบอบทักษิณยังไม่ละแผนการที่จะรุกคืบผูกขาดอำนาจยึดครองประเทศอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ศึกเลือกตั้งผู้ว่าเมืองกรุงจะผ่านพ้นไปแล้ว จากนี้ไปสถานการณ์บ้านเมืองกลับสู่สภาพความเป็นจริงและมีแนวโน้มกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง โดยสถานการณ์ซึ่งเปรียบเสมือนระเบิดเวลาที่ต้องจับตาก็คือการลุกฮืออกมาแสดงพลังครั้งใหญ่ของพลังมวลชนกลุ่มต่าง ๆ จากประเด็นซึ่งเติมเชื้อไฟสร้างเงื่อนไขก็คือ ความพยายามที่จะผลักดันกฏหมายนิรโทษกรรมหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อ้างการสร้างความปรองดองบังหน้า แต่มีเป้าหมายแอบแฝงสำคัญคือฟอกโทษความผิดทั้งหมดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ และเหล่าแกนนำคนเสื้อแดงที่เป็นผู้ต้องหาก่อการร้ายเผาบ้านทำลายเมือง

ส่วนระเบิดเวลาอีกลูกหนึ่งที่ต้องจับตาก็คือคดีเขาพระวิหารซึ่งฝ่ายกัมพูชาหาเรื่องร้องเรียนให้ศาลโลกตัดสินว่าพื้นที่ ๔.๖ ตารางกิโลเมตรรอบประสาทเขาพระวิหาร และรวมถึงพื้นที่ตลอดแนวชายแดนไทยอีกเกือบ ๒ ล้านไร่ภายใต้แผนที่อัตราส่วน ๑ ต่อ ๒oo,ooo  ซึ่งร่างขึ้นโดยฝรั่งเศส เป็นของกัมพูชา โดยรัฐบาลหุ่นเชิดระบอบทักษิณกำลังถูกจับตาว่ากายไทยแต่ใจเขมรพยายามแบะท่าเปิดช่องให้กัมพูชาฮุบดินแดนไทยเพื่อแลกกับผลประโยชน์ต่างตอบแทนทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างระบอบทักษิณกับระบอบฮุนเซ็น

ศาลโลกจะตัดสินคดีเขาพระวิหารในเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งหากผลการตัดสินทำให้ไทยเสียดินแดนแก่กัมพูชาแน่นอนว่าพลังมหาชนคนไทยจำนวนไม่น้อยจะลุกฮือออกมาชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่อย่างแน่อน

นี่ยังไม่รวมความล้มเหลวเละเทะอื้อฉาวของรัฐบาลที่นับวันจะปรากฏให้เห็นชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ และกำลังเป็นวิบากกรรมทั้งจากพิษสารพัดโครงการประชานิยมซึ่งกำลังจะนำพาประเทศไปสู่ความหายนะล่มจม รวมทั้งพฤติกรรมส่อทุจริตมโหฬารอย่างย่ามใจที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจในรัฐบาล


จากนสพ.แนวหน้า ๔ มี.ค. ๒๕๕๖








"แล้วเราได้ผู้ว่าฯ แบบไหน"
เกียรติชัย พงษ์พาณิชย์


ถึงเวลานี้ ก็น่าจะรู้ หรือคงจะรู้แล้วว่าใครได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นผู้ว่าฯ กทม. จากนี้ คน กทม.ก็จะได้ความชัดเจนว่า ใครบ้างที่จะร่วมทีมเป็นคณะผู้บริหาร กทม.ต่อไป นับตั้งแต่คนที่จะมาเป็นรองผู้ว่าฯ กทม.ในด้านต่างๆ กับทั้งคณะที่ปรึกษา คณะทำงาน น่าสนใจนะครับ ที่จะได้เห็นฝีไม้ลายมือคณะผู้บริหาร กทม.ชุดใหม่ รวมถึงผู้ว่าฯ กทม.ด้วย

ที่จริงคน กทม.จะต้องเข้าใจด้วยว่า ใช่แต่มีสิทธิ์มีเสียงและแค่ไปลงคะแนนเสียงเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กทม.ของตัวแล้วก็แล้ว ก็หมดเรื่องกันไป อีกสี่ปีจากนี้ ยังจะต้องจับตาเฝ้าดูคนที่เลือกเข้าไปทำงานอีกด้วยว่าทำงานได้เรื่องได้ราวแค่ไหน ทำงานอย่างโปร่งใส มีธรรมาภิบาลแค่ไหน หรือล่อกันตั้งแต่หัวถึงหางแบบไร้รอยต่อ ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้หรือไม่

ยังจดจำกันได้แค่ไหน กับนโยบายเปรอะไปหมด ทั้งตามป้ายโฆษณาข้างถนน และน้ำลายของผู้เสนอนโยบาย ที่พ่นคุยโม้โอ้อวด เต็มรูหูมาตลอดช่วงเวลาของการรณรงค์หาเสียง ยังจะมีคำถามต่อค้างอยู่อีกไหมว่าจะทำจริงหรือเปล่า ทำได้ไหม ต่อเนื่องไร้รอยต่ออย่างไร เอาเงินที่ไหนมาทำ และจะใช้เงินภาษีของ กทม.ทำอะไรจริงๆ ให้คน กทม.

นโยบายต่างๆ นานาที่แถลงดั่งหนึ่งให้คำมั่นสัญญาระ หว่างหาเสียงเลือกตั้งนั้น ดูมากมายใหญ่โต บางเรื่องดูเกินกำลังเฉพาะลำพังของ กทม. หากนับดูประมวลไว้ ดูจะเป็นนโยบายชนิดหว่านแหหาคะแนนเป็นส่วนใหญ่ ผมประมวลหมวดหมู่นโย บายเหล่านี้ไว้แล้วในข้อเขียนนี้ ตั้งแต่วันจันทร์ที่แล้ว อย่างน้อยรวมได้ถึง 8 หมวดด้วยกัน คลุมทั่วไปหมด

บางนโยบายนั้นอวดโอ่โม้เกินเหตุ และนี่เองต้องติดตามตรวจสอบกันอย่างใกล้ชิดว่าได้มีการดำเนินการตามนโยบายที่ให้สัญญาไว้นั้นแค่ไหน เพียงไร บ่อยครั้งในหลายสมัยของผู้บริหาร กทม.ที่ผ่านมา เราจะเห็นการเพิกเฉยละลืม แกล้งลืม  หรือทำให้ลืม ต่อคำมั่นสัญญาบางอย่างเหล่านี้ ซึ่งทำไม่ได้ ไม่ได้ทำ พร้อมคำอธิบายขออภัยเป็นวรรคเป็นเวร

ผมว่าไม่ต้องไปติดตามอะไรมากไปกว่า ตรวจสอบการทำงานของผู้บริหาร กทม. ไม่ว่าชุดไหนก็ตาม ว่าทำงานตามหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายอำนาจจาก พ.ร.บ.การบริหาร กทม. พ.ศ.2528 ซึ่งกำหนดงานในหน้าที่ ซึ่ง กทม.ต้องทำไว้ถึง ๒๖ เรื่องสำคัญ ๆ ด้วยกัน งานที่กำหนดไว้นั้น ตั้งแต่ "ล้างตูดถึงดูดท่อ" ด้วยซ้ำไปทีเดียว

เอาแค่ว่าทำตนตามที่กำหนดไว้ให้ครบถ้วน ทำให้ดี ทำอย่างเอาเป็นธุระ อย่าทำอย่างเช้าชามเย็นชาม เหมือนอย่างที่เขาดูถูกดูแคลน ก็ดีถมไปแล้ว เอาตรงนี้ก่อน ส่วนเรื่องนโยบายที่โอ่โม้กันมานั้น เพิ่มเสริมเติมต่อกัน ทำได้ก็ดี แต่งานหลัก ๒๖ เรื่องตาม พ.ร.บ.บริหาร กทม.นั้น เป็นอำนาจ เป็นหน้าที่ต้องทำ ทำให้ดี เข้าใจ๋

บ่อยครั้งเห็นและเลอะเทอะแต่ไอ้ชนิดทำ (แม่ง) ทุกอย่าง นอกจากงานในหน้าที่ หลายครั้งถึงมีเรื่องที่แทนจะทำงานของ กทม. ตั้งแต่ล้างตูด ดูดท่อ กลายเป็นงานอื้อฉาว ที่ชาวบ้านต้องมาล้างตูดที่ขี้ทิ้งกันไว้เลอะเทอะจากเงื่อนงำโกงกินคอรัปชั่นในหน้าที่ในการทำงานของ กทม.ก็มี อย่างนี้ต้องตีให้ตาย

ปัญหาของ กทม.นั้นมีมากมายจิปาถะเกี่ยวข้องกับปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ไปจนถึงองค์ประกอบในวิถีชีวิตของคน กทม. ยังปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ถาโถมท้าทายการแก้ปัญหา ปัญหาของสังคมเมืองหลวง เหล่านี้จะเห็นว่าเป็นปัญหาที่คุกคามเข้ามาของยุคสมัยที่เรียกว่า "โลกาภิวัตน์" กทม.ยุคสมัยปัจจุบันมีโลกทัศน์คับแคบอย่างเดิมอีกไม่ได้แล้ว

เราต้องการผู้บริหาร กทม.ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มองไปถึงภาพอนาคตดีที่สุด (Best  scenario) ของ กทม. ไม่ใช่แค่แต่เรื่องของการเชื่อมรอยต่อกับรัฐบาลเพียงเท่านั้น เพราะถ้าอย่างนั้นจะมี กทม.ไปทำไม แน่ละการกำกับ จำกัด ควบคุมในบางเรื่อง แม้จะยังสงวนไว้ที่ รมต.มหาดไทย แต่หากได้ รมต.มหาดไทยไร้วิสัยทัศน์จะเป็นท่าอะไร

พลวัตของการพัฒนาเมืองใหญ่ไม่เคยหยุดนิ่ง และนี่คือสิ่งที่ทุกเมืองใหญ่ในโลกเฝ้าจับตามองสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป หากเมืองหลวงคือที่รวมชีวิตของประเทศ เมืองหลวงจะต้องเป็นกลไกใหญ่ของความเติบโต (Major  growth  engine) ที่จะสร้างพลวัตของการพัฒนา แพร่ขยายสู่หัวเมืองอื่นๆ พร้อมกันไปด้วย ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก

ผู้ว่าฯ กทม.คนไหนก็ตามจะต้องตระหนักในพลวัตของการพัฒนาที่ว่านี้ และที่จะทำให้ กทม.เป็นศูนย์กลางอันโดดเด่น ไม่เพียงแต่กับการสร้างความภาคภูมิใจของประเทศ หากต้องแข่งขันกับเขาได้อย่างเข้มแข็ง ชูความเป็นมหานครที่คนทั่วโลกรู้จัก รักและอยากมาพบมาเที่ยว มาอยู่เรียนรู้ เชิดชูศักดิ์ศรีของประเทศแข่งกับเขาได้ อวดเขาได้

พัฒนาการที่กำลังเกิดขึ้นกับภูมิภาค เช่น ความเป็นประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ นั้น จะเป็นสิ่งหนึ่งที่ท้าทาย กทม. สำหรับผู้บริหารชุดต่อไปนี้อย่างมาก เราเข้าใจความเป็นประชาคมจริง ๆ แค่ไหน เรามียุทธศาสตร์สำหรับ กทม. กับการเป็นประชาคมอาเซียนกับเขาแค่ไหน เราเคยได้ยินวิสัยทัศน์ของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. คราวนี้อะไรบ้าง เราสร้าง กทม. สู่ความเป็นสากลกันอย่างไร

คงจะต้องเริ่มต้นดูจากคณะผู้บริหาร กทม. โดยเฉพาะตั้งแต่ผู้ว่าฯ กทม. กับรองผู้ว่าฯ กทม.ทั้งหลาย มีคุณวุฒิและวุฒิภาวะของการนำ กทม.และบริหาร กทม. อันจะมีผลต่อวิถีชีวิตของคน กทม.แค่ไหน ภาวนาแต่ว่า ประกาศรายชื่อออกมาแล้ว อย่าให้ถึงกับร้องยี้เลยว่า มันจะไป "ล้างตูด ดูดท่อ" กทม. ที่ไหนเป๊นในสภาพสถานการณ์ที่มองเห็นและเป็นอยู่ ปัญหารุงรังของ กทม.นั้น ดูเหมือนยังไม่ได้รับการแก้ไขกันอย่างเห็นผลจริงจังนัก และอนาคตของ กทม. ก็ดูมืดมนพอสมควรในอุ้งมือของบรรดานักการเมืองปัจจุบัน คนกทม.ก็ดูเหมือนถึงเวลาเลือกผู้ว่าฯ กทม. ก็เลือกแล้วก็เลือกกันไป แล้วก็แล้วกัน ปล่อยเขาทำงานกันไป ใครจะได้ก็เหมือนกัน แค่นี้เท่านั้นหรือ

ผมเขียนบทความนี้แต่วันเสาร์ ซึ่งยังไม่รู้ว่าใครจะได้รับ เลือกเป็นผู้ว่าฯ ยุทธการยึดกรุงเทพฯ จะเป็นของฝ่ายไหน คงต้องติดตามดูกันไป ถ้าประชาธิปัตย์ได้รับเลือก การปรับโครงสร้างและยุทธศาสตร์ใหม่น่าจะเกิดขึ้น ถ้าพรรคเพื่อไทยได้ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ต้องถือว่าได้รางวัลใหญ่ตอบแทน หากไม่ได้ก็คงมีตำแหน่งผู้ว่า กทช.รออยู่ ยู้ฮู โย้โย.


จากคอลัมน์ "มิติโลกาภิวัฒน์"
นสพ.ไทยโพสต์ ๑ มี.ค. ๒๕๕๖








"อนาคตผู้ว่าฯ กทม."
ชัยกร ใบเงิน


คงรู้ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าใครได้ก็ต้องปฏิบัติตามนโยบายที่ว่ากันไว้ตอนหาเสียง
               
เรื่องของคนกรุงเทพฯ มีไม่กี่อย่างที่เร่งด่วนและอยากเห็นเป็นรูปธรรมที่สุด

สำคัญลำดับต้นๆ ก็เห็นจะเป็นเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

รองลงก็น่าจะเป็นปัญหาการจราจร นอกนั้นก็ว่ากัน ทั้งน้ำท่วม ความสะอาดของเมืองหลวง เรื่อยไปตามลำดับ

ครั้งนี้ผู้ว่าฯ กทม.จะถูกจับตามากที่สุด โดยเฉพาะนโยบายที่หาเสียงไว้ทั้งในแง่โครงสร้างพื้นฐานไปจนถึงประชานิยม

แง่ของความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน คนกรุงดูเหมือนจะได้รับความเดือดร้อนกันมาก เพราะคดีเกี่ยวกับทรัพย์เกิดขึ้นถี่ยิบแต่จับกุมคนร้ายได้น้อยมาก

คนเมืองจึงตั้งความหวังไว้กับ กทม.บ้าง โดยเฉพาะแนวทางการป้องกัน อย่าลืมว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่มีปัญหาคล้ายกันทั่วโลก ในส่วนของการปกครองท้องถิ่นต้องเข้ามามีส่วนรับผิดชอบในชีวิตและทรัพย์สินของประชากรด้วย

อย่างในลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อป้องปรามอาชญากรรม ขณะเดียวกันกล้องที่ติดตั้งกันทั้งเมืองนั้น ยังนำมาใช้เป็นหลักฐานหรือเบาะแส ในการหาตัวคนร้ายได้ด้วย

ระยะหลังสถานการณ์อาชญากรรมและการก่อการร้ายในกรุงลอนดอน ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

แม้กรุงเทพฯ จะมีกล้องวงจรปิดติดตั้งอยู่ บางส่วนก็ใช้ได้จริง แต่บางส่วนก็เป็นกล้องหรอก

กล้องหลอกนี้แหละที่เปลืองงบประมาณโดยใช้เหตุ

สังเกตพฤติกรรมคนร้ายบ้านเรา แทบไม่ได้สนใจกับกล้องวงจรปิดเลย ถึงแม้โจรบางคนรู้แต่ไม่ได้ตื่นตกใจจนไม่กล้าลงมือ บางครั้งยังจับภาพโจรมองกล้องก่อนลงมือเสียด้วยซ้ำ

ถ้าเป็นแบบนี้ก็ลงทุนซื้อของจริงมาเลยดีกว่า

อย่างน้อยก็ทำให้คนกรุงเทพฯ อุ่นใจมากกว่า ส่วนตำรวจนั้นก็ไม่ได้ทำให้ชาวบ้านนอนตาหลับ หนำซ้ำบางส่วนยังสร้างปัญหาด้วยซ้ำ ทั้งด่านตรวจต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมากมายตามถนนแต่ก็ไม่ได้ทำให้สภาพการจราจรหรือการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จราจร ลดลงไป

ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่นี่แหละ ที่จะต้องทำงานให้คนเมืองเห็นว่ามารับใช้ นั่งบริหารงานจริง ไม่อย่างนั้นอีก ๔ ปีข้างหน้าก็อย่าไปเลือก

จะได้รู้กันสักทีว่า ใครของจริงหรือของปลอมกันแน่


จากคอลัมน์ "เลียบค่าย"
นสพ.คม ชัด ลึก ๔ มี.ค. ๒๕๕๖








"ปชป.อย่าหลงดีใจกับโหวตเชิงยุทธศาสตร์"
ปกรณ์


ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อาจจะ “พลิกโพลล์”  คือสวนทางกับผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่จัดทำโดยสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นโพลล์ที่ทำมาตลอดในช่วงหาเสียง, เอ็นทรี โพลล์ หรือการสำรวจช่วงก่อนเข้าคูหาเลือกตั้ง และ เอ็กซิท โพลล์ ที่สำรวจจากประชาชนทันทีที่ออกจากคูหา
         
เพราะเกือบทุกโพลล์ชี้ว่า ผู้ที่ได้รับคะแนนนิยมมากกว่า (ผ่านการสำรวจ) และผู้ที่น่าจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง คือ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครหมายเลข ๙ จากพรรคเพื่อไทย (มหาวิทยาลัยศรีปทุมฝากชี้แจงว่าทางสถาบันไม่ได้ทำ เอ็กซิท โพลล์ ตามที่มีสื่อหลายแขนงนำเสนอ)
         
แต่ในที่สุดผลการเลือกตั้งก็ออกมาอย่างที่เห็น ๆ กัน คือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครหมายเลข ๑๖  จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับชัยชนะ และคว้าเก้าอี้ผู้ว่าฯเมืองหลวงไปครองอีกสมัย
         
พรรคประชาธิปัตย์ย่อมอยู่ในอาการลิงโลดและโล่งใจ ที่สามารถรักษาฐานที่มั่น (สุดท้าย ?) ในทางการเมืองเอาไว้ได้ นอกจากภาคใต้ที่ตนเองยังครองความนิยมอยู่ (ยกเว้นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ๑๑ ที่นั่ง ซึ่งเคยกวาดไปถึง ๙ ที่นั่ง แต่คาดว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไป หากสถานการณ์ยังเป็นอยู่แบบนี้น่าจะหลุดกว่าครึ่ง)
         
หลายเสียงท้วงติงเชิงให้สติพรรคประชาธิปัตย์ว่าอย่ามัวแต่ดีใจไป ซึ่งผมก็เห็นด้วย เพราะคะแนนที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้รับ คือ ๑,๒๕๖,๓๔๙ คะแนนนั้น แม้จะเพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วราว ๆ ๓ แสนคะแนนบวกลบ แต่ประเด็นที่น่าจับตากว่าคือคะแนนที่ พล.ต.อ.พงศพัศ ในฐานะตัวแทนของพรรคเพื่อไทยได้รับ คือ ๑,o๗๗,๘๙๙ คะแนน เพิ่มขึ้นถึงราว ๆ ๔ แสนคะแนน
         
เป็นการเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่มากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ และยังลดช่องว่างของคะแนนระหว่างผู้สมัครทั้งสองพรรคจากราว ๆ ๓ แสนคะแนน เหลือไม่ถึง ๒ แสนคะแนนด้วย!
         
ยิ่งเมื่อดูคะแนนรายเขตจาก ๕o เขตปกครองของ กทม. จะพบว่า พล.ต.อ.พงศพัศ ได้รับชัยชนะถึง ๑๑ เขต ซึ่งมากกว่าที่ตัวแทนของพรรคเพื่อไทยทำได้ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว หนำซ้ำหลายเขตที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้รับชัยชนะ ก็ชนะไปแบบเฉียดฉิวหลักร้อยคะแนน
         
นี่คือสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องนำมาพิจารณา และอย่าเพิ่งรีบประกาศในท่วงทำนองฮึกเหิมเลยว่าจะพา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย เพราะต้องไม่ลืมว่า ชัยชนะที่ได้รับมาแทบไม่ได้เกี่ยวข้องกับคุณภาพตัวผู้สมัคร ผลงาน หรือนโยบายที่พรรคนำเสนอแต่อย่างใด เท่าที่ถามคนไปหย่อนบัตรและกาเบอร์ ๑๖ หลายคนบอกว่า “ฝืนใจเลือก”  เพราะกลัวถูก “กินรวบประเทศไทย”  และ “บริหารแบบไร้รอยต่อ”  ซึ่งเป็นที่รู้ ๆ กันว่าการบริหารงานของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยถูกกดปุ่มมาจากคนที่อยู่นอกประเทศ
         
ผมเห็นด้วยกับ อ.ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ที่เขียนในเฟสบุ๊คเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ปฏิรูปการทำงานการเมืองครั้งใหญ่ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าผลงานการบริหารทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นอย่าง กทม. แทบไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันให้ประชาชนนึกถึงและตัดสินใจลงคะแนนให้ ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เที่ยวนี้ เป็นเพราะคนกรุงเทพฯ “โหวตเชิงยุทธศาสตร์”  เพื่อสกัดไม่ให้พรรคการเมืองอีกข้างรวบอำนาจเชิงสัญลักษณ์ได้เท่านั้นเอง
         
อ.ศศิน เสนอให้พรรคประชาธิปัตย์ทำงานเชื่อมร้อยกับภาคประชาชนให้มากขึ้น ซึ่งผมเห็นด้วย ๑oo%  และยังอยากเสริมว่าให้ทำงานในแง่ “สาระ”  มากกว่า “วาทกรรม”  ดังเช่นที่ผ่าน ๆ มา การโหวตเชิงยุทธศาสตร์ทำให้เห็นแล้วว่าประชาชนคนไทยส่วนใหญ่รับรู้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น และ “คิดเป็น”  ไม่ใช่เลือกเพราะเป็นทาสพรรคการเมือง
         
คะแนนของ พล.ต.อ.พงศพัศ ที่ไล่จี้ใกล้เข้ามา ทำให้เห็นว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เที่ยวต่อไป ผลอาจไม่ออกมาแบบนี้ก็ได้ เพราะคนที่ไม่ได้ใส่ใจความหลังเรื่อง “เผาเมือง”  ก็มีเป็นล้านเหมือนกัน
         
มองจากคะแนนที่ออกมา ผู้สมัครอิสระแทบจะตกหายไปจากความสนใจของผู้คน ชี้ให้เห็นว่า “ระบบ ๒ พรรคใหญ่”  กำลังปรากฏชัดเจนขึ้นในระบอบการเมืองแบบไทย ๆ แต่หากมองการเลือกตั้งระดับประเทศ จะพบว่าคะแนนนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ยังห่างไกลพรรคเพื่อไทยมาก
         
นักวิชาการที่ประกาศตัวเป็นเสื้อแดง และไม่ได้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์หลายคน ยังเคยพูดว่าอยากให้พรรคประชาธิปัตย์เข้มแข็งกว่านี้ มีฐานเสียงใกล้เคียงกันมากกว่านี้ เพื่อถ่วงดุลพรรคเพื่อไทยไม่ให้อยู่ในสถานะ “กินรวบ”  โดยปราศจากการตรวจสอบ และเปิดให้ประชาชนได้โหวตโดยมี “นโยบาย”  เป็นตัวตัดสินจริง ๆ
         
ปัญหาจึงอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์ว่าจะสลัดรูปแบบการทำงานแบบเดิม ๆ ทิ้งได้สำเร็จหรือไม่เท่านั้นเอง !


จากคอลัมน์ "แกะรอย"
นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ๕ มี.ค. ๒๕๕๖








"คนกรุงเทพฯ เว้นรอยต่อไว้กันเผด็จการ"
เฉลิมชัย ยอดมาลัย


จนถึงขณะนี้ เชื่อเหลือเกินว่าเจ้าของพรรคเพื่อไทยต้องรู้ซึ้งแล้วว่า คนกรุงเทพจำนวนไม่น้อยไม่ยินยอมให้กรุงเทพมหานครเชื่อมต่อเป็นเนื้อเดียวกันกับรัฐบาลกลางภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดังนั้นคำโฆษณาที่ใช้ในการหาเสียงเพื่อชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ที่ว่า ไร้รอยต่อ จึงไม่ประสบผลสำเร็จตามความปรารถนาของเจ้าของพรรคที่เคยประกาศทำนองหยามเหยียดคนกรุงเทพฯ ว่า แม้ส่งเสาไฟลงแข่ง เสาไฟก็จะได้รับชัยชนะ

เจ้าของพรรคเพื่อไทยต้องรู้ไว้ด้วยว่าคนกรุงเทพฯส่วนใหญ่ไม่ใช่คนตะกละตะกราม ไม่ใช่คนไร้ความคิด ไร้สติสิ้นปัญญา ไม่ใช่คนสนับสนุนให้เกิดเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง และไม่ใช่คนที่จำเป็นต้องอิจฉาริษยาความร่ำรวยของนักธุรกิจการเมืองหน้าไหนทั้งนั้น แต่คนกรุงเทพฯ คือคนที่สามารถตัดสินใจกำหนดชะตากรรมของตนเองได้โดยการอาศัยข้อมูลที่เป็นความจริงเป็นพื้นฐาน

คนกรุงเทพฯส่วนใหญ่แยกแยะออกว่าอะไรคือการโฆษณาชวนเชื่อ ใช้วิจารณญาณจำแนกผลดีผลเสียของนโยบายประชานิยมได้ และคนกรุงเทพฯ ก็รู้ด้วยว่า รัฐบาลที่ดีต้องมีคุณสมบัติเช่นไร ดังนั้นต่อให้รัฐบาลจะพยายามสร้างกลอุบายใด ๆ ออกมามอมเมาคนกรุงเทพฯ ก็มิได้ทำให้คนกรุงเทพฯ หลงใหลและเพ้อคลั่งไปกับกลอุบายเหล่านั้น

แน่นอนว่าคนกรุงเทพฯ อาจจะหลงกระแสในบางยุคบางสมัย แต่ในที่สุดแล้วคนกรุงเทพฯ ก็จะเรียกสติกลับคืนมาได้ และรู้ว่าด้วยอะไรคือนักการเมืองรายไหนเป็นทองจริงหรือทองเก๋ คนกรุงเทพฯ ยังจำได้แม่นยำว่ากรุงเทพฯ ถูกเผาโดยคนกลุ่มหนึ่ง และรู้ว่าคนกลุ่มนั้นคือใคร มีส่วนเกี่ยวข้องกับนักธุรกิจการเมืองรายหนึ่งมากน้อยแค่ไหน คนกรุงเทพฯ มิเคยลืมภาพแห่งความต่ำทรามและโฉดชั่วที่เกิดขึ้นในใจกลางพระนครอย่างแน่นอน

คนกรุงเทพฯ เห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องเว้นที่ว่างเอาไว้เพื่อเป็นเครื่องกีดขวางการกินรวบอำนาจโดยรัฐบาลกลาง คนกรุงเทพฯ ต้องการให้เกิดดุลยภาพในเชิงอำนาจรัฐ เพราะตระหนักดีว่าการกินรวบอำนาจจะไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อสังคมโดยรวม เพราะจะทำให้ผู้กินรวบอำนาจสามารถกวาดต้อนเอาทุกสิ่งทุกอย่างเข้าสู่กระเป๋าของตนเองได้ง่ายดาย และปราศจากการตรวจสอบ

การที่คนกรุงเทพฯ เว้นช่องว่างไว้ในครั้งนี้ก็คือเครื่องแสดงให้เห็นชัด ๆ ว่าคนกรุงเทพฯ ไม่เห็นด้วยกับนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลกลาง และอาจกล่าวได้ด้วยว่า คนกรุงเทพฯ ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมให้กับคนบงการเผาบ้านเผาเมือง และไม่ยินยอมให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕o โดยพลการ

คนกรุงเทพฯ รู้ดีว่าเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลนี้อยู่ที่เรื่องอะไร ดังนั้นการที่คนกรุงเทพฯ ไม่เทคะแนนให้กับคนของพรรคเพื่อไทยก็คือเครื่องบ่งบอกว่า หากรัฐบาลคิดจะหักด้ามพร้าด้วยเข่าเหมือนที่พยายามกระทำมาก่อนหน้านี้แล้ว รัฐบาลจะถูกตอบโต้อย่างรุนแรงเพียงใด แล้วถ้ายิ่งรัฐบาลใช้อำนาจรัฐเพื่อผลประโยชน์ของตนเองด้วยแล้ว ขอยืนยันว่าคนกรุงเทพฯ ไม่มีวันยอมเป็นอันขาด ไม่เชื่อก็ลองดู


จากนสพ.แนวหน้า ๙ มี.ค. ๒๕๕๖








"กลัวและเกลียด"
กมลศักดิ์ ตั้งธรรมนิยม


นับตั้งแต่คุณชายหมูขับรถบดถนนชนเสาไฟฟ้าของเสี่ยแม้วจนหักโค่น ผู้สนับสนุนฝ่ายแพ้ทั้งหลายต่างออกมาแก้ตัวกันพัลวันถึงสาเหตุแห่งการแพ้และสื่อต่างวิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้จูดี้อีเว้นท์ชวดโอกาสเป็นผู้ว่าฯ กทม. อย่างสุดมัน
           
ทั้งข้อแก้ตัวและการวิเคราะห์สรุปได้ว่า จูดี้อีเว้นท์พ่ายแพ้ด้วยสาเหตุแห่ง “ความกลัว” และ “ความเกลียด” ดังนี้
           
ในซีกนักการเมืองพรรคเพื่อไทย

๑. เสี่ยโอ๊คลูกเสี่ยแม้ว เจ้ากรมข่าวกรองพิเศษที่ซี.ไอ.เอ. ยังซูฮกกล่าวว่า คุณชายหมูชนะครั้งนี้เกิดจาก “ความกลัว” ของคนกรุงเทพฯ โดยกลัวรัฐบาลจะผูกขาดประเทศ

๒. เสี่ยตุ๊ดตู่แกนนำนปช. ที่อกหักจากตำแหน่งเสนาบดีซ้ำๆ ซากๆ กลัวว่า จูดี้อีเว้นท์พ่ายแพ้มาจากกระแสข่าว คนกรุงเทพฯ กลัวตนจะมาเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. จึงมองว่าชัยชนะนี้ได้มาจากเล่ห์กล เพราะตนปฎิเสธมาตั้งแต่ต้นจะไม่เป็นรองผู้ว่าฯ

๓. เสี่ยก่อแก้ว ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยและแกนนำนปช. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ประชาชน “กลัว” พรรคเพื่อไทยจะครองอำนาจเบ็ดเสร็จ โดยเป็นทั้งรัฐบาลกลางและท้องถิ่น

ส่วนความเห็นในซีกของสื่อ  กลับมองลึกกว่าที่นักการเมืองพรรคเพื่อไทยมอง

นอกจากเห็นด้วยกับชัยชนะที่มาจาก “ความกลัว” ยังเห็นว่าชัยชนะของคุณชายหมูมาจาก “ความเกลียด” อีกต่างหาก เช่น

๑. คนกรุงเทพฯ “เกลียด” กลุ่มคนเผาบ้านเผาเมืองจะมามีอำนาจครอบครองกทม. ซึ่งพวกเขาได้ร่วมกันสร้างหายนะมาแล้วอย่างสุดสยอง

๒. “เกลียด” ระบอบเสี่ยแม้วจะกลับมาครอบงำประเทศไทยเพราะได้อำนาจทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นอย่างไร้รอยต่อ จนประเทศไทยตกอยู่ในมือของคนหน้าเหลี่ยมคนเดียว

๓. “เกลียด” ตัวเสี่ยแม้วยิ่งกว่าสิ่งใดในโลก โดยขณะนี้เป็นนายกฯ ตัวจริงของประเทศไทย แล้วให้เลดี้กูกู้เป็นนอมินี ถ้าเสาไฟฟ้าของเสี่ยชนะการเลือกตั้ง เสี่ยแม้วก็จะเป็นผู้ว่าฯ กทม. อีกตำแหน่ง โดยมีเสาไฟฟ้าเป็นนอมินี

๔. “เกลียด” คำดูถูกเหยียดหยามของเสี่ยแม้วที่เห็นคนกรุงเทพฯ เป็นวัว ควาย ที่ไร้สมองคิด เสี่ยสั่งให้เลือกเสาไฟฟ้าก็ต้องเลือกตามคำสั่ง เสี่ยอยากได้อำนาจเบ็ดเสร็จแบบไร้รอยต่อ ก็ต้องรีบมอบให้ ดังนั้นชาวกรุงจึงต้องออกมาสั่งสอนเสี่ยแม้วให้รู้สึกว่า “กูไม่ใช่ควายของมึง”

สรุปจากชัยชนะซึ่งเกิดมาจาก “ความกลัว” และ “ความเกลียด” แล้ว นักวิจารณ์ต่างฟันธงว่า ผู้ที่ทำให้จูดี้อีเว้นท์พ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากนักการเมืองพรรคเพื่อไทย “สันหลังยาว” ตามที่เสี่ยแม้วโวยวาย “แต่พ่ายแพ้เพราะเกิดจากตัวเสี่ยแม้วเองเป็นต้นเหตุ”
           
นอกจากคำพูดเชิงโอ้อวดและดูถูกคนกรุงเทพฯ เรื่อง “ส่งเสาไฟฟ้า” จะทำลายคะแนนเสียงของจูดี้อีเว้นท์แล้ว พฤติกรรมหยามเหยียดและดูหมิ่นคนกรุงเทพฯ ของเสี่ย ยังเป็นปัจจัยหลักที่ทำลายคะแนนเสียงของจูดี้ ให้พ่ายแพ้
           
งานนี้ถ้าไม่มีเสี่ยแม้วมาจุ้นจ้าน จูดี้อีเว้นท์อาจได้ชัยชนะเป็นผู้ว่าฯ กทม. คนที่ ๑๖ ไปแล้ว


จากคอลัมน์ "มิติโลกาภิวัฒน์"
นสพ.ไทยโพสต์ ๑ มี.ค. ๒๕๕๖


บีจีและไลน์จากคุณญามี่


Free TextEditor





 

Create Date : 19 มีนาคม 2556
0 comments
Last Update : 14 มิถุนายน 2556 19:57:17 น.
Counter : 1527 Pageviews.


haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.