happy memories
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2556
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
13 มีนาคม 2556
 
All Blogs
 
นิรโทษกรรม (๒)





บล็อกนิรโทษกรรม (๑)


อย่าสมคบกัน 'นิรโทษกรรม'
จิตกร บุษบา


มีเรื่องที่น่าหวั่นวิตกอยู่เรื่องหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่า กำลังมีการ “สมคบ”หรือ“ร่วมกันทำ”อย่างหลวมๆ ชนิดสงวนท่าที แต่ไม่รีรอที่จะรับประโยชน์ นั่นคือ “การนิรโทษกรรม”

ล่าสุด ผมมาสะดุดกับความเห็นของนายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาที่บอกว่า ปัญหาความวุ่นวายในบ้านเมืองเวลานี้ การแก้ปัญหามันก็ไม่ง่าย ถ้าใช้ระบบธรรมดาปกติ

“การออกกฎหมายนิรโทษกรรมก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ทำได้ แต่ก็ไม่ง่าย เพราะคนที่ไม่ได้ประโยชน์ก็พยายามจะให้ได้ประโยชน์ คนที่พยายามขัดขวางไม่ให้คนบางกลุ่มได้ประโยชน์ ก็พยายามขัดขวางไม่ให้ได้ประโยชน์ ยิ่งหากจะเลือกออกกฎหมายให้บางกลุ่มบางพวกปัญหาก็ไม่หมด เช่น ปล่อยเฉพาะตัวเล็ก ๆ ตัวใหญ่ไม่ปล่อย ปัญหาก็ยังดำรงอยู่ ก็ต้องยอมรับว่าความขัดแย้งปัญหามันเกิดจากตัวใหญ่ๆ ทั้งนั้น ที่มีบทบาทบารมีในการทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเกิดความขัดแย้ง”

นายทวีแนะว่า หากจะทำออกมา แต่ละฝ่ายก็ต้องมานั่งคุยกันเวลาเขียนว่าจะเอาถึงแค่ไหน จะเขียนให้ครอบคลุมได้ทุกประเด็นหรือเปล่า เพราะว่ามันไม่ง่าย หลักคือ ออกมาเพื่อยกเว้นความผิด เช่น ไปเผาไปยิงต่อสู้กับทหาร เจ้าหน้าที่บ้านเมือง ถือว่าเป็นความผิด แต่ถ้าออกกฎหมายมาว่าให้บุคคลที่ถูกกล่าวหาหรือกระทำความผิดในช่วงนั้น ไม่เป็นความผิด ก็ต้องคุยกันจะเอาแบบไหน จะเอาเฉพาะประชาชนทั่วไป ผู้สั่งการไม่เอา ก็อยู่ที่เงื่อนไขการเขียน

“กฎหมายนิรโทษกรรมมันเลยเป็นเรื่องยากในการออกแบบที่จะเขียนยังไงให้ครอบคลุม และเป็นประโยชน์กับประเทศมากที่สุด ใช้คำว่าประเทศ ไม่ได้ว่ากลุ่มไหน ไม่ใช่สั่งการไม่สั่งการปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้าไม่รวมผู้สั่งการ สุดท้ายเรื่องก็ไม่จบ ใครจะคิดว่ามันจะจบ เพราะว่าบางทีทุกวันนี้ก็เห็นที่มันไม่สงบเพราะมีผู้สั่งการ มีผู้มีบารมีเบื้องหลัง ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นบ้านเราหลังปี ๔๙ มันอาจแค่ ๗ ปี แต่ความขัดแย้งของเรามันแรง หากปล่อยไปมันจะยืดเยื้อไปอีกยาว”

เมื่อถามว่า มีบางฝ่ายเห็นว่ายังไม่ควรออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะควรรอให้ศาลตัดสินคดีจนถึงที่สุดก่อนแล้วค่อยนิรโทษกรรม นายทวีตอบว่า ขึ้นอยู่กับการเปิดใจกว้างทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าต้องพิจารณาคดีให้มีความผิดก่อน ถ้าแบบนั้นอีก ๑o ปีก็ไม่จบ อย่างคดีเสื้อแดงทำผิดฟ้องตั้งแต่ปี ๕๓ ป่านนี้ยังไม่สืบพยานสักปาก ยาวแน่นอน บางทีมันอาจถูกหลัก แต่ว่ากฎหมายมันจำเป็นต้องถึงขนาดนั้นหรือ ประเทศอื่นบ้านอื่นเขาคงไม่ได้ทำแบบนี้หรอก คนเสนอแบบนี้เขาอาจบริสุทธิ์ใจก็ได้ หรือมองในมุมมองตัวเอง แต่ก็อยู่ที่การเขียนกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องอาศัยหลักนี้ถึงจะผ่าน ไม่จำเป็น ถ้าเป็นกฎหมายแล้วทุกคนยอมรับ ก็จบแล้ว มันขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศที่จะหาทางออก

“ถ้าปล่อยไปตามกระบวนการก็จะมีปัญหาอย่างที่ว่า ความแตกแยกก็ยังดำรงอยู่ แบบนี้แสดงว่าอะไร แสดงว่ามันคุยกันไม่รู้เรื่องแล้ว ยืนข้างสุดขั้วแล้ว อีกข้างทำยังไงก็ต้องใช้เสียงข้างมาก แล้วฝ่ายไม่เห็นด้วยก็เคลื่อนไหวนอกสภา ปัญหาก็ไม่จบอยู่ดี ไม่จำเป็นต้องพิจารณาคดีอะไรอย่างที่ว่า ระหว่างพิจารณาคดีมีกฎหมายออกมา กลุ่มบุคคลที่ถูกกล่าวหาในช่วงนั้น ให้การกระทำนั้น ไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ไม่ต้องมาเสียเวลามานั่งพิสูจน์ว่าผิด-ไม่ผิด ถ้าอย่างที่ถาม อีก ๑o ปีก็ไม่จบ"

ซักว่า มีเสียงไม่เห็นด้วยหากจะให้กฎหมายนิรโทษกรรมครอบคลุมไปถึงแกนนำ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาตอบว่า ที่มีปัญหาก็เนื่องจากกลุ่มแกนนำ เพราะมวลชนเคลื่อนไหวได้ก็ต้องมีแกนนำที่แข็ง แค่ไหนในการยืนหยัดในหลักการที่ตัวเองเชื่อ การจะออกกฎหมายก็เลยไม่ใช่ง่ายๆ เพราะทุกฝ่ายมีส่วนได้เสีย

ถามย้ำถึงกรณีที่ก่อนหน้านี้ให้สัมภาษณ์สนับสนุนการออกกฎหมายนิรโทษกรรม เช่น ตามร่างของ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) นายทวีกล่าวว่า ไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด แต่เห็นด้วยในแง่มันควรมีกฎหมายนิรโทษกรรมแต่จะออกมาอย่างไรก็แล้วแต่ อย่างเช่นของ ดร.อุกฤษ ที่เขียนไว้ชัดเจนว่าเป็นร่างกฎหมายนิรโทษกรรม แต่ผมไม่ได้บอกว่าเห็นด้วยกับร่างของเขา เพียงแต่บอกว่าเป็นกฎหมายที่จะทำให้คดีความข้อพิพาทลดไปจากศาลเยอะมาก แทนที่ศาลจะมาพิจารณาคดีเหล่านี้ ก็ไปพิจารณาคดีอาญาหลักๆ ดีกว่า เพราะคดีพวกนี้เป็นคดีการเมือง ความเข้าใจสนับสนุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ได้เป็นคดีอาญาทั่ว ๆ ไป เจตนาเหตุจูงใจในการทำผิดมันจึงเป็นคนละอย่าง มันเกิดจากทางการเมือง

คำให้สัมภาษณ์ของท่าน ชวนคิดหลายกรณี ต่อไปนี้ คือสิ่งที่ผมคิด

๑.) นิรโทษกรรม = นิร (ไม่มี) + โทษกรรม (การลงโทษ)

ผมเห็นด้วยว่า บางความผิดที่เบาบาง บางความผิดที่ไม่มีเจตนา บางความผิดที่ไม่มีสาระ ก็ไม่ควรจะมี “บทลงโทษ” คือ “ไม่ต้องลงโทษกัน” แต่การไม่มีการลงโทษนั้น ก็ทำได้ด้วยดุลพินิจของ“ผู้พิพากษา”อยู่แล้วไม่ใช่หรือครับ การกระทำที่ขาดเจตนา การกระทำที่มิได้มุ่งหมายจะละเมิดกฎหมาย ย่อมเป็นเหตุให้ผู้พิพากษาใช้อ้างเพื่อการลดหย่อนผ่อนโทษ ชะลอการลงโทษ หรือแม้แต่ไม่เอาโทษกันได้อยู่แล้ว ผมไม่เห็นว่า จะต้องออกเป็นกฎหมายพิเศษมาแต่ประการใด ฉะนั้นความผิดประเภทละเมิด พรก.ฉุกเฉิน,ปิดถนน ซึ่งผิดกฎหมายจราจร ฯลฯ ผมเชื่อว่าผู้พิพากษามีปัญญาที่จะระงับโทษ งดโทษ หรือบรรเทาโทษได้ด้วยกระบวนการปกติ และผมเชื่อว่า สังคมก็ไม่ถือโทษ แต่ต้องให้กระบวนการชี้ถูกชี้ผิดทำงานไปตามปกติ อย่าไปตัดตอนกระบวนการชี้ถูกชี้ผิดนี้ เมื่อผ่านกระบวนการชี้ถูกชี้ผิด และเห้นกันทั่วว่าน้ำหนักความผิดมันน้อยมาก ศาลก็ใช้ดุลพินิจของท่านกำหนดโทษอย่างเบาที่สุดหรือเว้นโทษด้วยตุผลใด ท่านก็สาธยายไปสิครับ

๒.) การนิรโทษกรรม ต้องทำหลังกระบวนการตัดสิน

ผมคิดว่า ให้กระบวนการพิจารณาโทษได้ทำงานจนถึงที่สุดเสียก่อน ถ้าท่านเห็นว่ามันล่วงเลยยาวนาน ท่านก็มีสิทธิกระชับกระบวนการมิใช่หรือครับ ถ้ามีพยาน ๑oo ปาก แต่มันเป็นพยานในแง่มุมซ้ำ ๆ กัน ศาลก็มีอำนาจตัดทอนพยานได้ ไยจึงใช้เป็นข้ออ้างที่จะไม่ชี้ถูกชี้ผิด แล้วรวบรัดตัดความ ออกกฎหมายนิรโทษกรรม ยกเลิกการพิจารณาไปเสียเล่า อย่าลืมว่า มนุษย์ต้องเรียนรู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด การนิรโทษกรรมในความหมายว่า ยุติการพิจารณา แล้วไม่เอาโทษใครเลย จบเรื่องกันไป ให้อภัยกันซะ มีกี่คนที่จะหลาบจำและเข้าใจว่า ในสิ่งที่ตนทำไปนั้น มันผิด! และเป็นการ “ขัดเกลา” พลเมืองของตนอย่างถูกต้องแล้วหรือ “ให้การศึกษา” หรือ “ให้ท้าย” พึงสังวรณ์ให้มากๆ นะครับ

๓.) กระบวนการยุติธรรมที่ยืดเยื้อยาวนาน ไม่ใช่ความผิดของกฎหมาย

กฎหมายถูกออกแบบไว้ เพื่อเป็นกติกาในการอยู่ร่วมกัน และลงโทษคนที่ละเมิดกติกา แต่ปัญหาของบ้านเราก็คือ กระบวนการยุติธรรมใช้เวลายาวนานมาก และตอนต้นหรือ“ต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรม”มักจะขุ่น คือ มีการแทรกแซง บิดเบือน ในชั้นเจ้าพนักงานตำรวจ และอัยการได้ง่าย ความไม่ตรงมาก็ดี ความล่าช้าก็ดี จงใจให้หลักฐานอ่อน หรือตั้งข้อหาหนัก-เบา อยากให้มัดหรืออยากให้หลุด จะฟ้องหรือยกฟ้อง ก็อยู่ที่ต้นน้ำนี้ แต่ทั้งหมด เป็นเรื่องที่ต้องเข้าไปกวดขันให้ทันเหตุทันการณ์และเที่ยงธรรมด้วย การอ้างว่า กว่าคดีจะแล้วเสร็จ เราก็ต้องขัดแย้งกันไปเป็นอีก ๑o ปี ย่อมมิใช่เรื่อง เราไม่ได้ขัดแย้งกับตัวกฎหมาย ตัวกฎหมายเขียนไว้ดีแล้ว มีคนไปละเมิดกฎหมายนั้น แต่ท่านพิจารณากันยาวเหลือเกิน แล้วกฎหมายมันผิดหรือพวกท่านผิดที่ยื้อเวลา เลี้ยงไข้ ไม่เอาถ่าน หรือไม่เร่งรัด? ท่านอยู่ฝ่ายกฎหมาย รักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายไว้เถอะครับ ถ้าเห็นว่านานไป ก็เร่งมือหน่อยสิครับ กว่าจะนัดกันแต่ละนัด นานเหลือเกินนะครับ

๔.) เราจะงดเว้นกฎหมายเพื่อบำบัดความใคร่ทางการเมือง หรือจะอบรมให้ฝ่ายการเมืองเคารพกฎหมาย?

เวลานี้ ชอบเอาคำว่า “ความขัดแย้งทางการเมือง” มาอ้าง ที่จริงแล้ว คุณจะขัดแย้งกันประสาบ่าวไพร่ ผัวเมีย หรือขัดแย้งด้วยเรื่องอะไรก็ช่างเถอะ แต่ใครอนุญาตให้คุณอ้างความขัดแย้งนั้น เพื่อทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย? ขัดแย้งทางการเมืองแล้วเผาศาลากลางได้หรือ เผาห้างได้หรือ เผาโรงหนังได้หรือ บุกโรงพยาบาลได้หรือ บุกช่อง ๑๑ ได้หรือ ล้อมสนามบินได้หรือ ยิงเอ็ม ๗๙ ได้หรือ เผารถเมล์ได้หรือ?

เช่นเดียวกัน เป็นตำรวจขี้ข้าของฝ่ายการเมือง เอาข้อหาไปยัดให้ประชาชนคนบรสุทธิ์ก็คงไม่ได้ เอาระเบิดแก๊สน้ำตามายิงคนตายเป็นใบไม้ร่วงก็ไม่ได้ เอาปืนกลไปกราดยิงคน เอาสไนเปอร์ไปเด็ดหัวใครก็ไม่ได้ทั้งสิ้น

ฝ่ายกฎหมายต้องไม่ขยิบตา รับลูกมาจากฝ่ายการเมือง ยอมย่อหย่อนการบังคับใช้กฎหมาย งดเว้นการพิจารณาตามกระบวนการยุติธรรม ด้วยการอ้างว่า “เป็นปัญหาทางการเมือง” หรือ “เดี๋ยวความขัดแย้งไม่ยุติ”

คุณพิจารณาของคุณไปเถอะ เรื่องความขัดแย้ง ผมคิดว่ามันจะยุติได้ด้วย “ความจริง” ไม่ใช่ “การสมยอมกัน”

ความจริงอยู่ที่ไหน อยู่ที่ผลสอบของ ดร.คณิต ณ นครและคณะ แต่ผลสอบนั้นก็ถูกทำให้ไร้ค่า เป็นปัญหาความไม่เที่ยงตรงทางการเมืองไปอีก ทว่า ข้อเสนอไหน ที่คณะของ ดร.คณิต เสนอแล้ว ถูกใจฝ่ายการเมือง จะกลายเป็นข้อเสนอที่ดี ที่ต้องรีบปฏิบัติ ไหนจะผลสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอีกล่ะ มี แต่ยังไม่ยอมเผยแพร่ ทำเหมือนเป็นพินัยกรรมของเจ้าคุณปู่แห่งวงศ์ตระกูลที่ยังไม่ถึงเวลาเปิด รวมถึงความจริงที่ศาลจะต้องตัดสิน ว่าใครทำถูก ใครทำผิด

๕.) คนบางจำพวกกลัวความจริงในคำพิพากษาของศาล จึงต้องการ “ตัดตอน” ก่อนที่คนอื่นจะเห็น “กรรมชั่ว” ของตัวเอง พวกเขาย่อมอ้างความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อเร่งออกกฎหมายนิรโทษกรรม ผมคิดว่า ถ้าฝ่ายกฎหมายดันปวกเปียก อ้างว่า “ความขัดแย้งจะไม่จบ” ตามความใคร่ในอำนาจของคนพวกนั้นไปด้วย บ้านเมืองก็จบสิ้นกันสิครับ ฝ่ายตุลาการมีหน้าที่ตัดสินความขัดแย้ง ดันมากลัวความขัดแย้ง อุทานแบบหยาบๆ ก็ต้องบอกว่า “ตายห่า” หรือ “ฉิบหายละ”

ฉะนั้น ยืนหยัดหลักกฎหมาย ความมีอยู่ของกฎหมาย ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย และทำหน้าที่ของท่านไป และช่วยเพิ่ม “ความฉับไว” ให้หน่อยก็ดี ให้ทุกคนทุกฝ่าย ไม่ว่าพวกจะมากแค่ไหน หรือมีอำนาจคับฟ้าแค่ไหน ต้องไม่ใหญ่เกินกว่ากฎหมาย ท่านไม่ต้องไปช่วยใคร “ล้มล้างกฎหมายด้วยกฎหมู่ ด้วยการมีพวกมากลากไป” เรื่องนั้น ให้เป็นเรื่องของฝ่าย “นิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายประชาชน” เขาสังวาสกัน

ท่าน...ซึ่งอยู่ฝ่ายตุลาการอย่าไป “หน้ามืด” แล้วร่วมวงครื้นเครงกับเขาเลย

ความขัดแย้งที่คงอยู่ ถูกหล่อเลี้ยงด้วยการปลุกปั่นของผู้บงการที่กลัวจะติดคุกครับ ท่านอย่าทำเป็นไร้เดียงสา แล้วบอกว่า ต้องช่วยขจัดปัดเป่าความขัดแย้งให้บ้านเมืองด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมซะ

ท่านมาช่วยทำให้คน พ้นจากเวทมนตร์ปีศาจด้วยความจริงดีกว่า เช่น ความจริงว่าใครฆ่าคนเสื้อแดง การชุมนุมของคนเสื้อแดงถูกหรือผิดกฎหมาย การบุกโรงพยาบาลทำได้หรือไม่ ทักษิณที่บงการบัญชามาจากแดนไกลด้วยเทคโนโลยีผิดหรือถูก แกนนำที่บอกว่า “เผาเลยครับพี่น้องเผา” ผิดหรือไม่ ให้คนได้รู้ความจริงพวกนี้ก่อน เขาจะได้เลิกเชื่อคนโกหก

มาพยายามทำความจริงให้ปรากฏบนเขตอำนาจและความรับผิดชอบของท่าน คือ “ศาล” หรือ “กระบวนการยุติธรรม” ดีกว่า อย่ากระตือรือร้น ตื่นเต้นกับกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งไปหักล้างทำลายกฎหมายอื่น ๆ ของบ้านของเมือง และสอนพลเมืองให้ “นิสัยเสีย” เลยครับ

ท่านเป็นนักกฎหมาย จงเป็นเยี่ยงอย่างของผู้เคารพและหวงแหนกฎหมาย

เมื่อท่านได้ตัดสินตามกฎหมายแล้ว ใครจะไปลบโทษ ล้างโทษกันอย่างไร ก็ให้เป็นกระบวนการที่ตามมาตามอำนาจที่พวกเขามี!!


จากคอลัมน์ "เส้นใต้บรรทัด"
นสพ.แนวหน้า ๒o ก.พ. ๒๕๕๖








"ปรองดองฉบับ 'นิชา' งานวิจัยไม่ได้รับเชิญ"
ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว


ในวันที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติ ซึ่งมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธานจัดให้มีการเสวนาแสดงความคิดเห็นผลวิจัยปรองดองของสถาบันพระปกเกล้า มีบรรดานักการเมืองชื่อดังมาแสดงความเห็น

แขกไม่ได้รับเชิญปรากฏตัวขึ้นพร้อมนำเสนอแนวทางปรองดองผ่านทีมงานวิจัยสถาบันพระปกเกล้า และกรรมาธิการฯ รายอื่นให้ฟังเสียงข้างน้อยอย่างเธอบ้าง

นิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ที่ถูกกองกำลังในความมืดลอบยิงเสียชีวิตขณะปฏิบัติการขอคืนพื้นที่บริเวณสี่แยกคอกวัว เมื่อวันที่ ๑o เม.ย. ๒๕๕๓ ทุกวันนี้เธอเดินหน้าเรียกร้องหาความจริงต้องการความยุติธรรม

นิชา บอกว่า กระบวนการปรองดองที่ควรเป็น ต้องเริ่มจากค้นหาข้อเท็จจริง ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันมีกลไกจากการตั้งคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามขอเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) และยอมรับการทำงาน คอป.ที่มีคณิต ณ นคร ที่แต่งตั้งจากรัฐบาลที่แล้วมิใช่หรือ แต่ถามว่าคณะกรรมการเหล่านี้ค้นหาข้อเท็จจริงไปถึงไหน อีกทั้ง มีรายงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสรุปเมื่อเดือน ก.ค. ๒๕๕๔ ทำไมไม่ค้นหาข้อเท็จจริงจากกรรมการทั้งหมดนี้ก่อน

หลังค้นหาข้อเท็จจริงผู้ถูกดำเนินคดีก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหาคนถูก-คนผิด แต่ถามว่ากระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินการขณะนี้ รัฐบาลทำอย่างไร

เธอยกตัวอย่างกรณีสามีของเธอ เริ่มแรกคดีมีความคืบหน้าเมื่อดีเอสไอสรุปว่าเป็นการกระทำของคนเสื้อแดงซึ่งก่อนหน้านี้มีการแถลงข่าวต่อสาธารณะลงหนังสือพิมพ์หลายฉบับจับกุมผู้ต้องหาได้ ต่อมา พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ สมัยนั้นได้เข้าไปประกันตัวคนเหล่านี้ออกมาโดยอ้างว่าเพื่อเข้าสู่กระบวนการปรองดอง

จากนั้นเปลี่ยนรัฐบาล พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ให้เจ้าหน้าที่ส่งรายงานความคืบหน้ามาให้เธอมีเนื้อหาสองบรรทัดยังไม่พบพยานหลักฐานว่าใครเป็นคนยิง (ตามเอกสารในมือนิชา)

“ทำให้ดิฉันงง เกิดอะไรขึ้นช่วยอธิบายหน่อยสิ” ขณะที่คดีคนเสื้อแดงรวมถึงการตั้งข้อหาเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐกลับนำขึ้นสู่ศาลอย่างรวดเร็ว

กระบวนการปรองดองของเธอที่วางไว้ เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทราบคนผิด คนถูกแล้ว จึงเข้าสู่การชดเชยเยียวยา

“แต่มีคำถามเรื่องเยียวยา เพราะ คอป.และมติ ครม.ยืนยันว่า การเยียวยาต้องมีการพิสูจน์ว่าไม่ได้กระทำความผิด แต่ทำไมขณะนี้เร่งกระบวนการเยียวยา ไม่ต้องรอผลการค้นหาข้อเท็จจริง หรือผลการดำเนินคดีที่สิ้นสุดหรือ

การเยียวยาเป็นขั้นตอนอยู่แล้ว ซึ่งเธอไม่ได้ค้านแต่ต้องการความรอบคอบ โดยต้องแยกเป็นการเยียวยาเบื้องต้นให้กับทุกคนในเรื่องค่าทำศพ ค่าเสียหาย เช่นเดียวกับเยียวยาจิตใจทุกคน จากนั้นถึงเยียวยาด้วยตัวเงินที่ไม่ใช่ให้ทั้งหมด ซึ่งเป็นการให้กับเหยื่อผู้ถูกกระทำ ผู้เป็นฝ่ายเสียหายแต่ไม่ใช่ผู้กระทำความผิด ซึ่งต้องรอผลพิสูจน์

กระบวนการสุดท้ายคือ “การนิรโทษกรรม (คนผิด) กล่าวคือ เวลาศาลพิพากษาคนผิดยังต้องให้รับโทษสำนึกผิดก่อนปล่อยตัวเช่นเดียวกัน การนิรโทษกรรมจะเกิดขึ้นได้ต้องผ่านกระบวนการทั้งหมดมาก่อน

แต่สถานการณ์ปัจจุบันกลับข้ามขั้นตอนหยิบการเยียวยาขึ้นมาก่อนและอีกด้าน กมธ.ก็หยิบผลวิจัยสถาบันพระปกเกล้าขึ้นมาลงมติและเห็นด้วยให้โละคดีทั้งหมดออกกฎหมายนิรโทษกรรรม

นิชา กล่าวว่า ถ้าวันนี้ข้ามผ่านไปเลย มันเร็วจบเร็วใช่ แต่สิ่งที่ไม่ได้ ข้อดีให้ประโยชน์คู่กรณีทั้งหมดยกเว้นคนตาย กับประชาชนทั่วไปไม่ได้ประโยชน์แต่ไม่เกิดการเรียนรู้บทเรียนที่จะรับประกันได้ว่าพรุ่งนี้จะไม่เกิดการใช้ความรุนแรงอีกประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับหรือไม่ เป็นสิ่งที่ยิ่งสร้างความรู้สึกเกาะกินใจกันไปอีก

“เราจัดการความรู้สึกด้วยวิธีอะไร การจัดการความรู้สึกของคนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ยากมากที่จะสั่งว่าพรุ่งนี้ต้องลืม พรุ่งนี้ต้องอภัย มันไม่ง่ายอย่างนั้น” แขกไม่ได้รับเชิญ กล่าว

การที่ กมธ.หยิบแนวทางปรองดองโยนเข้าสภาตัดสินนั้น ต้องการทำเพื่อผู้จากไป หรือเพื่อประโยชน์ใคร

เธอตอบทิ้งท้ายว่า “ไม่รู้ แต่สังคมต้องหาคำตอบ”

“ทางที่ถูกคือหลักการที่ถูกต้อง ถ้าเราตอบตัวเองไม่ได้ ถนนอยู่ที่ไหนก็เหมือนเดิน อยู่บนถนนที่หลงทางต้องหาถนนให้เจอ”


จาก oknation.net








"บันทึกถึงคุณนิชชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม"
นพ.ชูชัย ศุภวงศ์


นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์
อดีตเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖

คุณนิชาครับ

ผมอ่านบันทึกล่าสุดของคุณนิชาที่เขียนทักท้วงถึงความพยายามที่จะผลักดันให้มีการนิรโทษกรรมในขณะนี้แล้ว ผมอดไม่ได้ที่จะขอแสดงความชื่นชมในความแข็งแกร่งของคุณนิชาที่แสดงความกล้าหาญในการถามหาความจริงและความจริงใจจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ยังคงเป็นข้าราชการที่สามารถจะถูกกลั่นแกล้งใดๆ ก็ได้จากฝ่ายการเมือง และเป็นข้อเสนอที่ผมคิดว่าได้ก้าวข้ามความสูญเสียของคนที่รักไปถึงการต้องการให้สังคมได้เรียนรู้ความผิดพลาดในอดีต เพื่อมิให้ความรุนแรงต้องเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ให้เป็นสังคมที่ปลอดภัย ปลอดความรุนแรงแก่ลูกแก่หลานในอนาคต

ผมเห็นว่าคุณนิชามีสิทธิอันชอบธรรมอย่างยิ่ง ในฐานะของคนที่สูญเสียคนที่เป็นที่รักซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การชุมนุมของ นปช. ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ๒๕๕๓ ที่จะเรียกร้องจากผู้มีหน้าที่รับผิดชอบถึงสิ่งที่เป็นความจริง ความถูกต้อง ซึ่งไม่ต่างกับคุณแม่ของน้องเกด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ แม้จะเป็นผู้สูญเสียจากคนละฟากฝั่งและมีวิธีการถามหาความจริงที่แตกต่างกัน แต่ในสาระสำคัญของการเรียกร้องว่าอะไรเกิดขึ้นกับการสูญเสียของสามีและลูก และการต้องมีผู้รับผิดชอบต่อการกระทำนั้นเป็นสิ่งที่มีความชอบธรรม และเป็นหน้าที่ของทุกองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่และสังคมจะต้องดำเนินการโดยสุจริต ไม่บิดพลิ้วจากความเป็นจริง อย่างกล้าหาญและมีความเที่ยงธรรม

ผมเห็นเช่นกันว่า กระบวนการปรองดองที่ขณะนี้กำลังพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นโดยใช้การนิรโทษกรรมนั้น ไม่มีทางที่จะสร้างความปรองดองที่แท้จริงให้เกิดขึ้นในสังคมไทยได้ เพราะการปรองดองที่แท้จริงไม่เพียงแต่การทำให้ฝ่ายขัดแย้งอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ แต่เป็นการป้องกันไม่ให้ความรุนแรงกลับมาเกิดขึ้นใหม่อีกในสังคมไทย การเรียกร้องให้ทุกฝ่ายต้องยอมรับการนิรโทษกรรมโดยไม่มี

กระบวนการต่อเนื่องอย่างจริงใจ และจริงจัง โดยอ้างเหตุของความปรองดองเป็นเพียง “สิ่งฉาบหน้า” ความพยายามที่จะปิดหน้าประวัติศาสตร์และบังคับให้ทุกฝ่ายลืมสิ่งที่เกิดขึ้น ผมไม่คิดว่าการที่สังคมไม่ตระหนักถึงความทุกข์ระทม ความขมขื่นของผู้สูญเสียหรือผู้ได้รับผลกระทบแล้ว เขาเหล่านั้นพร้อมที่จะลืมและก้าวไปสู่หน้าใหม่ของประวัติศาสตร์และทิ้งความเจ็บปวดสูญเสียให้เป็นอดีต

เหตุการณ์ความรุนแรงในสังคมไทยที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์เดือนตุลาคม ๒๕๑๖ และ ๒๕๑๙ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕ หรือแม้แต่ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการชุมนุมเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า หากไม่สามารถเยียวยาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม ไม่เยียวยาบาดแผลที่บาดลึกทางจิตใจของผู้ที่ยังมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด ไม่สามารถทำให้คู่ขัดแย้งเข้าใจร่วมกันได้ว่าเกิดอะไรขึ้นในอดีต และยอมรับร่วมกันถึงสาเหตุหรือความผิดพลาด ไม่มีการแก้ไขความอยุติธรรมที่มีอยู่ในเชิงโครงสร้าง และสถาบันก็อย่าได้หวังว่าเราจะมองไปในอนาคตว่าจะเกิดความสมานฉันท์ การให้อภัย และทำให้ผู้ได้รับผลกระทบและผู้สูญเสียสามารถดำเนินชีวิตต่อไปอย่างปกติในสังคมได้ โดยไม่รู้สึกว่าต้องแบกรับความขมขื่นของการเป็นผู้ถูกกระทำ สังคมไทยก็ไม่มีทางหนีพ้นจากวงจรของความรุนแรงที่จะกลับมาอีก...

กับดักสำคัญที่เป็นอุปสรรคในกระบวนการสร้างความปรองดองที่แท้จริงให้เกิดขึ้นได้ในสังคมไทยคือ การไม่ทำความจริงให้ปรากฏเพื่อที่จะนำไปสู่ความรับผิดชอบของบุคคลที่มีส่วนทำให้เกิดขึ้นตามกระบวนการยุติธรรม อย่างน้อยที่สุดได้แสดงความเสียใจ ขอโทษโดยสำนึกและรับผิดต่อการกระทำของตนที่นำความสูญเสียมาสู่ผู้อื่นและสังคม การนิรโทษกรรมโดยไม่ทำให้ความจริงปรากฏเสียก่อนเท่ากับว่าเป็นการทำให้ผู้สูญเสียหรือผู้ถูกกระทำอยู่ในฐานะเดียวกับผู้กระทำความผิด นั่นคือ ผู้กระทำความผิด “ปราศจาก” โทษหรือไม่ต้องรับโทษจากการกระทำที่ละเมิดต่อผู้อื่น ในที่สุดแล้วสังคมเองก็ไม่มีโอกาสที่จะได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก และผมคิดว่าก็คงจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย เพราะผู้กระทำผิดย่อมย่ามใจว่าจะกระทำอะไรก็ได้หากได้มาซึ่งอำนาจรัฐ แล้วก็ค่อยมีการนิรโทษกรรมกันภายหลัง

องค์กรใดไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ หรือองค์กรอิสระที่มีหน้าที่แล้วไม่ดำเนินการ ไม่ว่าจะด้วยเจตนา ขาดความสามารถ ขาดประสิทธิภาพ ขาดเจตนารมณ์มุ่งมั่นทางการเมือง และยิ่งแสดงอาการไม่รู้ร้อนรู้หนาวจากความขมขื่นของผู้สูญเสียที่รอคอยความจริงอย่างคุณนิชา หรือคุณแม่ของน้องเกด ผมเห็นว่าเป็นการ “สมยอม” ให้ผู้กระทำผิดอยู่อย่างลอยนวล

ในเหตุการณ์การชุมนุมของ นปช. ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ๒๕๕๓ มีหลักฐานต่างๆ มากมายแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่ามี “เจตนา” ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้น มีกลไกของรัฐ ๒ องค์กรที่ทำหน้าที่ค้นหาความจริงในเรื่องนี้ คือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่ตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และได้ดำเนินการต่อมาจนถึงสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

เมื่อวันที่ ๑o เมษายน ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา สองปีหลังเหตุการณ์การชุมนุมของ นปช. องค์กร Human Rights Watch ได้ออกแถลงการณ์ตอนหนึ่งตั้งคำถามถึงรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงของทั้ง กสม. และ คอป. ที่ยังไม่แล้วเสร็จ บัดนี้ รายงานของ คอป. ได้ออกมาแล้วเมื่อเดือนกันยายน 2555 ดังที่ทราบกัน จึงมีคำถามว่าเหตุใดรายงานของ กสม. จึงไม่แล้วเสร็จเสียที ผมในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในขณะนั้น ต้องทำหน้าที่เป็นประธานคณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีพนักงานเจ้าหน้าที่ ๓o คน และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกอีก ๔ คน (เป็นศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยมีชื่อ อัยการและทนายความอาวุโสที่เป็นที่เชื่อมั่นในเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชน) เป็นที่ปรึกษา ได้ร่วมกันวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลพยานหลักฐานทั้งหมดที่มี โดยประธาน กสม.ได้เข้าร่วมประชุมกับคณะทำงานหลายครั้ง และในขณะเดียวกัน กสม.ยังได้มีมติตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจอีก ๓ ชุด

เมื่อคณะทำงานฯ ได้จัดทำร่างรายงานแล้วเสร็จ ประธาน กสม.ได้เชิญประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจทั้งสามชุดร่วมกับ กสม. เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๔ หลังจากนั้น ประธาน กสม.ได้ให้มีการประชุม กสม. นัดพิเศษในวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เพื่อพิจารณาร่างรายงานที่คณะทำงานฯ ได้ปรับแก้ตามข้อเสนอแนะจากที่ประชุมเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคมเป็นการเฉพาะ ในการประชุมครั้งนั้น ฝ่ายเลขานุการได้อ่านร่างรายงานทีละบรรทัด ที่ประชุมได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมในบางประเด็นโดยไม่มีการคัดค้านร่างรายงานทั้งฉบับ และประธาน กสม.มอบให้ฝ่ายเลขานุการไปปรับแก้ตามความเห็นของที่ประชุม และให้นัดประชุมอีกครั้งหนึ่งในวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ซึ่งประธาน กสม. บอกกับผมว่าเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย โดยที่ได้พูดในที่ประชุมและนอกห้องประชุมว่ารายงานฉบับนี้ทำให้ประธาน กสม.สู้หน้าใครต่อใครได้ ซึ่งมีพยานบุคคลสามารถยืนยันในเรื่องนี้

เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ได้มีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการว่าพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ในการประชุม กสม. วันที่ ๖ กรกฎาคม ได้ปรากฏเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดมาก่อนคือ มีกรรมการท่านหนึ่งได้นำความเห็นจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาเรื่องนี้มาเสนอต่อที่ประชุม เพื่อคัดค้านร่างรายงานฉบับที่คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ๓ ชุด และ กสม.ได้พิจารณาร่วมกันและได้ให้ความเห็นมาแล้ว ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดระเบียบรักษาความลับทางราชการ เพราะได้นำร่างรายงานที่เป็นเอกสารราชการประทับตราลับไปแจกในที่ประชุมคณะอนุกรรมการที่กรรมการท่านนั้นเป็นประธานแต่ไม่มีหน้าที่ในการพิจารณาเรื่องนี้ นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังมี

กรรมการท่านอื่น ๆ ก็ได้บอกให้ไปทบทวนร่างรายงานใหม่ กรรมการท่านหนึ่งถึงกับพูดว่าหากรายงานออกไปเช่นนี้ กรรมการต้องไปขึ้นศาลทั่วประเทศ ทั้งที่ในการประชุมก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้ให้ความเห็นในลักษณะดังกล่าว กรรมการบางท่านก็เสนอให้กลับไปให้คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจทั้ง ๓ ชุดพิจารณาใหม่อีก ทั้งที่ในการประชุมร่วมของคณะอนุกรรมการทั้งสามชุด ประธาน กสม.ก็ได้กล่าวขอบคุณคณะอนุกรรมการทั้งหมดไปแล้ว และว่าจะไม่มีการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจอีก ผมได้ยืนยันว่าขั้นตอนของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจทั้งสามชุดได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่ก็มีกรรมการที่ยืนยันความคิดเช่นเดิม ทั้งยังไปให้ข่าวต่อในสื่อต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ และทางโทรทัศน์ว่ารายงานที่เป็นข่าวทางสื่อมวลชนนั้น กสม.ยังไม่ได้พิจารณา เป็นเพียงอยู่ในชั้นของสำนักงานหรือคณะทำงานฯ เท่านั้น ซึ่งต่อมามีความพยายามปกปิดหรือทำให้ความจริงคลาดเคลื่อนไป โดยไม่มีการเปิดเผยความจริงต่อสาธารณชนอย่างตรงไปตรงมา

คุณนิชาครับ

หลังจากที่ผมในฐานะเลขาธิการ กสม. และผู้อำนวยการสำนักที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำรายงานถูกย้ายออกไป ยังมีการประชุมพิจารณาร่างรายงานอีกกว่าสิบครั้ง จนบัดนี้รวมเวลา ๑ ปี ๖ เดือนที่ร่างรายงานถูกปฏิเสธจากที่ประชุม กสม. ก็ยังไม่มีรายงานการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเหตุการณ์ดังกล่าวของ กสม. ปรากฏต่อสาธารณะ กสม. ทั้งคณะคงต้องตอบคำถามต่อสาธารณชนและผู้สูญเสียให้ได้ว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีอะไรที่เป็นสาระสำคัญต่างจากร่างรายงานเดิมที่ควรจะได้รับการเผยแพร่และทำความจริงให้ปรากฏแก่สังคมมานานมากแล้ว

การที่คุณนิชาเรียกร้องต่อสาธารณะอย่างสุภาพ ด้วยความอดทนเพื่อให้ความจริงได้ปรากฏทั้งทางส่วนบุคคลและผ่านสื่อเป็นระยะๆ เป็นความมานะมุ่งมั่นเพื่อประโยชน์อันชอบธรรมของผู้ที่ต้องสูญเสีย และจะเป็นคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อสังคมไทยในอนาคต

ผมทำได้เพียงเสนอความจริงให้สังคมได้เห็นถึงกระบวนการทำงานที่ผ่านมาในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับตัวผมเอง ที่เหลือจากนี้เป็นเรื่องกลไกที่เกี่ยวข้องจะต้องออกมาชี้แจงความจริงต่อไป ขอเพียงมีส่วนแม้เล็กน้อยในการทำหน้าที่ใช้ฝ่ามือแหวกเมฆหมอกแห่งความเท็จ ที่ปกคลุมทั่วแผ่นดินสยาม ให้แสงสว่างได้เล็ดลอดออกมาได้บ้างเท่านั้น.


จากนสพ.แนวหน้า ๑๑ ก.พ. ๒๕๕๖








"คางคก - นกแสก และ แดงใจเดือด"
อัญชะลี ไพรีรัก


งานนี้”ขี้ข้า”ปาขี้ใส่กัน ขี้กลับกระเด็นใส่หน้าทักษิณเต็มเปา ....ไอ้ถ้อยกระทงความมที่ว่า “คนดูไบคือท่อน้ำเลี้ยงส่งแดงเผาเมือง-ล้มเจ้า-ตั้งรัฐไทยใหม่ตัวจริง !!!” ทำเอาหูตาเหลือกกันไปทั้งพรรค

มันล่อกันเอง-มันฟัดกันนัว : คนที่ได้ประโยชน์คือ ประชาชนคนไทย ที่รู้ความจริงแจ่มแจ้งกันเสียทีว่าอะไรเป็นอะไร-ใครเป็นใคร

งานนี้”ขี้ข้า”ปาขี้ใส่กัน ขี้กลับกระเด็นใส่หน้าทักษิณเต็มเปา ดิ้นไม่หลุด แถไม่ออก เมื่อ“แดง ขวัญชัย” ตัดขาดตู่-จตุพร หลังถูกฝ่ายหลังจิกหัวด่า ขวัญชัยเลยศอกกลับยาวไปหน่อย พลาดไปตีแสกหน้าผ่ากระบาลนายใหญ่ ไอ้ถ้อยกระทงความมที่ว่า “คนดูไบคือท่อน้ำเลี้ยงส่งแดงเผาเมือง –ล้มเจ้า –ตั้งรัฐไทยใหม่ตัวจริง !!!” ทำเอาหูตาเหลือกกันไปทั้งพรรค

สอง – สามวันก่อน นายกรัฐมนตรีเหมือนเข้มทิศกลับหัว มีเรื่องร้อนทางภาคใต้ แต่นายกฯคนสวยไข่แดงแก๊งค์โฟร์ซีซั่น ดันผ่าไปเชียงราย ภาคเหนือ มาร้องอ๋อ..อีกที...ก็เพราะเห็น“เครื่องบินเจ๊ต” ลำเดิม คนเดิม จอดรอ นอนรอในบ่อนฝั่งตรงข้าม

รัฐบาลยิ่งลักษณ์-ทักษิณ มีอำนาจล้นพ้นมือจริงๆ รวบไว้หมดทั้งทหาร ตำรวจ ข้าราขการ พ่อค้า สื่อมวลชนและเอ็นจีโอ...ได้ยินมาว่า องค์กรใหญ่ที่เอ็นจีโอดูแลประเภท ตระกูล “ส” เช่น สสส –สปสช –และ สช. เป็นต้น กำลังโดน “นักการเมือง” ล้วงควักปู้ยี่ปู้ยำ

เวลานี้คนส่วนน้อย ต้องก้มหน้ามองดิน. .เงินทักษิณเป็นใหญ่ พูดได้ เสียงดัง

แต่ความขัดแย้งกันเองในหมู่แกนนำเสื้อแดงกำลังบานปลายขยายแผล มีการตอบโต้กันไปมาระหว่างฝ่ายแดงแรงไม่เลิก “ขวัญชัย ไพรพนา” กับ ฝ่ายแดงแรงเกินร้อย “นพ.เหวง –ธิดา โตจิราการ – จตุพร พรหมพันธ์ และ นิสิต สินธุไพร“

โดยฝ่ายแรกยึดอุดรธานีเป็นที่มั่น ส่วนฝ่ายหลังปิดห้างอิมพีเรียลลาดพร้าวตอบโต้ทุกเม็ด...ไม่มีใครยอมใคร...ถามสายมารในดงแดงเขาเล่าว่า “ผลประโยชน์”คำเดียวครับน้องพี่ !!! ลองขัดกันก็บรรลัยเช่นนี้ละพี่น้อง!!!

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการสั่นคลอนบัลลังค์ดอกหญ้าของ “นางธิดา ถาวรเศรษฐ” ประธาน นปช. และ ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายด้วย แม้ว่า ผัวเหวง และพวกพ้องจะช่วยกันดาหน้าออกมากางปีกปกป้องก็ตาม

กระแส “แดงแดกแดง” กำลังระเบิด รอยร้าวชัดเจน อย่างว่า...กองทัพแดงอยู่ได้ด้วยเงิน หมดเงิน หมดรัก หมดภักดี ทีนี้ทักษิณมี ๒ ทางเลือก ต่อท่อ หรือ ตัดทิ้ง…มิน่ามาครวญเพลงเชียงราย รำลึกแถวบ่อนพม่า

ความที่เงินได้ไม่เท่ากัน ตำแหน่งได้ไม่ทั่วถึง ยศฐาบรรดาศักดิ์กระจุกตัวในหมู่แกนนำ การท้าทายเพื่อให้“หายอยาก” – “หายหิว” จึงบังเกิด และ กระเพื่อยมจนระเบิดใส่หน้าทักษิณ บาดเจ็บเพราะใบเสร็จถูกวางด้วยน้ำลายของขวัญชัย

ก่อนหน้านี้ขวัญชัย อดีตดีเจวิทยุคนยากปากหวาน เคยฟึ่ดฟั่ดหยั่งท่าที “ธิดาและพวก” มาแล้วหลายหน

คราวนี้เกิดเสียหน้าบนเวทีโบนันซ่า “ขวัญชัย”ไม่ได้บ้าไมค์ ไม่ได้เสพติดเวที แต่การพาแดงอีสานมาโบนันซ่า ๒o จังหวัด ๒o คันรถบัส ไม่ได้มาฟรี เมื่อลูกพี่ทำเฉไฉ ขวัญชัยใช้ลูกไม้เดิมคือ ออกฤทธิ์ออกเดช ประกาศไม่ยอมเป็นลูกไล่-ตัดขาด-ไม่เผาผี

เวลานี้มวลชนเสื้อแดงถูกแร้งทึ้ง ดึงไปทางโน้นที ดึงไปทางนี้ที ยังไม่นับที่ถูกเขาหลอก ถูกเขาลวง มาเป็นสมบัติส่วนตนของคนใจดำที่หลอกใช้เสื้อแดงปล้น –ฆ่า –เผาบ้านเผาเมืองและติดคุกโดยไม่มีใครเหลียวมอง

ขณะที่ชาวบ้านเสื้อแดงยังต้องหากินไปวันๆ และมีความจนซ้ำซากอยู่อย่างนั้น ไม่ได้เงยหน้าอ้าปากอย่างที่ทักษิณ–ยิ่งลักษณ์หลอกล่อป้อนคำหวานให้หลงเคลื้ม ในเวลาเดียวกันคนเสื้อแดงเริ่มเห็นแล้วว่า ทักษิณและครอบครัวรวยขึ้น – รัฐมนตรีที่ไม่ได้มานอนตากแดดตากลมขมขื่นนานนับเดือนอย่างพวกตัวเอง รวยขึ้น อีกทั้งแกนนำที่เคยคุยว่าจะเคียงบ่าเคียงไหล่ ร่วมเป็นนักรบประชาธิปไตย แถมเคยพากันร้องถึงฟ้า สาบานถึงดินว่า เรากับเขาสิ้นกันวันนี้ แล้วเราจะมีรัฐไทยใหม่อะไรนั่นนะ มาบัดนี้แกนนำทั้งหลาย รวยซ้ำ รวยซาก รวยทั้งโคตร ทุกคน...มีทั้งเงิน มียศฐาบรรดาศักดิ์ ทั้งตำแหน่งแห่งหนโก้หรู...แต่แกนนำพวกนี้...ได้ดีแล้วลืมแดง...ถีบหัวส่ง...ไม่ช่วยเอาออกจากคุก... ไม่ใส่ใจ... ไม่นำพา... ไม่แยแส... ไม่เคยมาเยี่ยม... ไม่เคยหยิบยื่น

คนแดงแสนขมขื่นพวกนี้ส่งเสียงดังผ่านลูกกรงกันระงม จนในที่สุดความแค้น แสนโหดของขวัญขัยมาบรรจบพบกันที่ “แฟลตดินแดง” ที่นั่นมีการสานเสวนาครอบครัวคนแดงในแดนคุก รวมถึงข้อเรียกร้องต่างๆนานา และวันถัดมาขวัญชัยผู้กระหายหิว สบช่อง ก็ออกมาเอ่ยปากไล่ธิดาเหมือนหมูหมา แถมพูดไปไฟแลบ ปากสว่างว่า ทักษิณส่งเงินมาขุนแดงให้เผาเมือง...ไม่ชิบหายเกิดคราวนี้จะคราวไหน

อย่างไรก็ตามนายจตุพร พรหมพันธ์ แกนนำ นปช ไม่เชื่อว่า ขวัญชัยจะมีพลังนำแกนนำแดงอีสาน ๒o จังหวัด ทั้งหมดแค่คำคุย และต้องการเป็นใหญ่จึงสร้างความแตกแยก

ส่วนหมอเหวง โตจิราการ สามีของนางธิดา โตจิราการ ออกมารับหน้าแทนเมียรัก โอ้อวดว่า คนเสิ้อแดงรักใคร่กันดี ไม่มีถอนหรือถอยไปกับใคร

แดงกลุ่มใหญ่กำลังแตกออกเป็นกลุ่มย่อย ทุกคนต่อสายตรงกับทักษิณ เพราะ เชื่อว่าคนอย่างตู่ /เต้น/ ธิดา และ เหวง จ้วงเอาหัวกะทิจากแดนไกลไปกินก่อน เหลือๆหางกะทิใสแจ๋วเหมือนน้ำล้างหัวล้างให้พวกเขา

การแตกก๊ก แยกกอของแดงกลุ่มต่างๆ เท่ากับว่า ตู่ –เต้น –ธิดา ถูกลองของ และ อำนาจการจัดการและความเป็นแกนนำลดลงฮวบฮาบ

ดีกับทักษิณตรงที่ตู่- เต้น- ธิดา –เหวง ไม่มีอำนาจต่อรองเหมือนเก่าก่อน แต่เสียกับทักษิณตรงที่ยากต่อการควบคุมกลุ่มก้อนต่าง ๆ ที่กระจัดกระจาย …เพราะยังไงเสียกองทัพแดงก็นยังเป็นกองกำลังติดอาวุธส่วนตัวของทักษิณ...เหตุร้าวต้องเริ่มลดก่อนจะเลวร้าย และแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ทันท่วงที ดังนั้น “เงิน” คือ คำตอบของทุกสิ่ง

ส่วนแดงอุดมการณ์เฝ้าจับตาการเปลี่ยนแปลงแดงแรงร้ายเหล่านี้ทุกระยะ ไปดูเพจเฟส บุ๊คของแดง ล้มเจ้าที่เคยร่วมด้วยช่วยแดง เผาเมือง มาวันนี้ด่าโคตรพ่อ โคตรแม่ ทักษิณกันระงม ก็ไหนเคยบอกว่า ชนะเป็นเจ้า แพ้เป็นโจร และ จะร่วมกันโค่นฟ้า คว่ำดินถิ่นสยาม แต่มาวันนี้เหมือนจะไม่ได้บอก แต่โดนหลอกเข้าเต็มเปา ใจที่เจ็บของแดงอุดมการณ์เหล่านี้ถ้าไม่รีบมาเยียวยาด้วยการ“ล้มเจ้า” ให้เห็นเป็นประจักษ์สักหน่อย เห็นทีคราวนี้ทักษิณถูกฉีกเป็นชิ้นๆแน่

พูดถึงทักษิณนี่ก็แปลกคน ชอบจังที่จะให้ลิ่วล้อบินไปมาหาสู่พินอบพิเทา เมื่อตรุษจีนที่ผ่านมา ข้าราชการ –ทหาร –ตำรวจ –นักการเมือง –นักวิชการ ไปจุดธูปไหว้ทักษิณกันเนืองแน่นเกาะฮ่องกง แต่ก็ยังไม่ทันไอ้พวกนกรู้ที่บินไปดักรอก่อนหน้านั้นแล้วทั้งที่ญี่ปุ่นและสิงคโปร์

เที่ยวนี้มีนายทุน –ขุนศึก คึกคัก ...เวลานี้ใครอยากได้อะไรในเมืองไทยต้องไปหาทักษิณ ไม่ใช่ไปหายิ่งลักษณ์และแก๊งค์โฟร์ซีซั่น ที่กำลังดื่มด่ำอำนาจและชักชวนกันเสวยสุขกันถ้วนหน้ามหาศาล เหมือนว่า ทักษิณปล่อยน้องสาวคุ้ยเขี่ยทำมาหากินกันเอาเอง แต่คนอื่นๆต้อวส่งส่วยเหมือนเมืองขึ้น

เดี๋ยวนี้วงการก่อสร้างยักษ์ใหญ่วิ่งหาทักษิณตีนขวิด รวมถึงโครงการคาราคาซังอย่าง หวยออนไลน์ด้วย

ซึ่งอีหวยลอตโต้นี้นี่ละที่เคยเล่าให้ฟังว่า ทักษิณกริ้วหนักหนาเมื่อขี้ข้าเอาเฟส บุ๊ค คุณหญิงชัชนี จาติกวนิชมาให้ดู ซึ่งเป็นการแชร์หัวข้อ ๖๖ ประเด็นที่ทักษิณทำผิดต่อประเทศไทย ต่อมานักข่าวสายสตรีไฮโซมาเล่าให้ฟังว่า “ผู้ใหญ่ของบริษัท” ต้องวิ่งไปขอโทษขอโพยทักษิณถึงฮ่องกง หลังจากนั้นคุณหญิงต้องเขียนแก้ไข ชี้แจงและขอโทษ คุณทักษิณ...ไม่งั้นหวยออนไลน์มีปัญหา ประมูลไม่ได้ ไม่รู้ด้วย ซึ่งก็เหมือนกันพวกช่อง ๓ ถึงกับต้องทุบทำลาย ๓ ตอนสุดท้ายเหนือเมฆ ไม่งั้นช่อง ๓ มีปัญหา

อีกหน่อยจะเข้าหาทักษิณ มิต้องถือพานธูปเทียนแพ คุกเข่า คลาน หมอบ กราบและเปิดกรวยด้วยหรือ?

กระนั้นก็มีข่าวเล่ามาจากแดนไกลว่า ปลัดกระทรวงบ้านเราเดี๋ยวนี้ เดินเข้า-เดินออก ห้องทำงานคนดูไบในจิม ซา จุ่ย ฮ่องกงเป็นว่าเล่น ทางนี้อีน้องก็เล่นละครประชุม ครม.ให้คนขำไปวันๆ ส่วนทางโน้นประชุมกันจริง ๆ จัง...ได้ยินว่า ข้าราชการสังกัด กทม ก็ไปรายงานตัวกับพงศพัศกันแล้วนี..บัตรผีหรือจะสู้ “คนผี” หนีเข้าบ้านโน้น ขนออกบ้านนี้ ขนไปขนมาล่วงหน้าเป็นปีแล้ว ไม่ชนะก็ไม่รู้จะว่าอะไร

ปิดท้ายวันนี้ด้วย “พายัพ ชินวัตร” น้องชายผู้หายหน้าไปของทักษิณ ชินวัตร มาวันนี้ไป “บวชพระ”ที่พุทธคยา โดยทำพิธีบวชนาคที่วัดเทพศิริทราวาส ก่อนพาพระใหม่ ๘o รูปตามไปจำพรรษาที่วัดไทยในอินเดียด้วย

นัยว่าบวชล้างซวย หรือ แก้กรรมให้กับตัวเองพร้อมพี่ชายในคราวเดียวกัน

...ค้ากำไรเกินควร...ทุกเรื่องเลย.


จากคอลัมน์ "เล่าหลังไมค์W
นสพ.แนวหน้า ๑๕ ก.พ. ๒๕๕๖








"นิรโทษกรรมอำพราง ยุทธศาสตร์ช่วยทักษิณ"
กองบ.ก.นสพ.ไทยโพสต์


คณะกรรมการกฤษฎีกา กลายเป็นกระโถนให้รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โยนปัญหาให้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการออกพระราชบัญญัติ, พระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่มีความผิดในเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง ที่เสนอโดยนายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระ ว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ หรือ คอ.นธ. และแกนนำคนเสื้อแดง

สาเหตุที่รัฐบาลต้องใช้คณะกรรมการกฤษฎีเป็นตัวพักเกม สืบเนื่องมาจากการช่วยเหลือพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้พ้นจากความผิดทั้งปวงนั้น จะต้องไม่มีผลผูกพันให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบทางกฎหมาย ดังนั้น แนวทางการออกพระราชกำหนดที่เสนอโดยแกนนำคนเสื้อแดง จึงถูกปิดประตูตาย โดยใช้ขั้นตอนของกฤษฎีกาเป็นข้ออ้างเพื่อซื้อเวลาออกไป

เช่นเดียวกับการออกเป็นพระราชบัญญัติ ที่รัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบมากนัก แต่แนวทางนี้ อิสรภาพของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะถูกขัดขวางโดยพรรคฝ่ายค้าน และวุฒิสมาชิก ฝ่ายที่มีจุดยืนตรงข้ามกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ที่เราเห็นทั้งหมดจึงเป็นเพียงยุทธการหลอกต้มกันเองระหว่างคนเสื้อแดงระดับแกนนำ กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, แกนนำเสื้อแเดงกับมวลชนเสื้อแดง ที่ในขณะนี้เริ่มปรากฏให้เห็นถึงความขัดแย้งในระดับมวลชน เพราะเสื้อแดงอีกกลุ่มคือกลุ่ม ๒๙ มกราฯ, กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยภาคประชาชน หรือ นปป. ถูกปฏิเสธจากแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ว่า ไม่ใช่แดง นปช.

สาเหตุที่รัฐบาลรับข้อเสนอของนายอุกฤษ มงคลนาวิน และแกนนำคนเสื้อแดง เป็นเพราะความเกรงอกเกรงใจนายอุกฤษ มงคลนาวิน และการเอาใจมวลชนเสื้อแดงกลุ่ม นปช. ขณะที่ข้อเสนอของกลุ่ม นปป. ที่เสนอ พ.ร.ก.นิรโทษกรรม ฉบับคณะนิติราษฎร์นั้น รัฐบาลมีท่าทีเฉยเมย เพราะกลุ่มนี้ไม่มีมวลชนพอที่จะกดดันรัฐบาลได้ อีกทั้งรัฐบาลไม่อยากถูกลากเข้าไปใกล้ชิดคณะนิติราษฎร์มากเกินไป

ขณะที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้น มีแนวทางอยู่ในใจแล้วว่าการช่วยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้พ้นความผิดนั้น จะต้องเป็นแนวทางที่ไม่ต้องมีการตีความกฎหมาย หลังจากการช่วยเหลือเสร็จสิ้น และทางเดียวที่จะทำเช่นนั้นได้คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นแนวทางที่แนบเนียนที่สุด และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ

สาเหตุที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เลือกที่จะให้มีการทำประชามติ ว่าจะแก้ไขรับธรรมนูญหรือไม่ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มิใช่เพราะพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เห็นด้วยเพราะเป็นแนวทางที่เป็นประชาธิปไตย แต่เป็นการถอย ๑ ถ้าว เพื่อจะรุก ๒ ก้าว

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มองข้ามไปในอนาคตแล้วว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องสำเร็จ และการไม่มีมาตรา ๓o๙ จะทำให้ตัวเขาบริสุทธิ์ผุดผ่อง โดยไม่มีข้อกฎหมายใด ๆ โต้แย้งได้ เพราะรัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุด และสิ่งที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เชื่อมั่นคือ สภาร่างรัฐธรรมนูญเสียงส่วนใหญ่จะอยู่ในความควบคุมของเขา ซึ่งแน่นอนว่าแม้จะเสียเวลาไปอีก ๑ ปี หรือ ๒ ปี ก็สามารถรอได้ แต่กับคนเสื้อแดงที่อยู่ในคุก ซึ่งรัฐบาลสามารถออกเป็นพระราชกำหนดช่วยเหลือได้ทันที กลับไม่มีทีท่าว่ารัฐบาลจะตอบสนองเรื่องนี้ในเร็ววัน

แม้รัฐธรรมนูญมาตรา ๓o๙ มิได้เกี่ยวข้องอะไรกับความผิดขึ้นในภายหลัง อย่างเช่นคดีก่อการร้ายที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลยอยู่ แต่เมื่อเขาต้องการพ้นจากความผิดทั้งหมด ก็มีเพียงหนทางเดียวคือ นิรโทษกรรมทุกคน ซึ่งยากมาก เพราะเสื้อแดงไม่มีทางยอมหากจะมีการนิรโทษกรรมนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ

ฉะนั้น การนิรโทษกรรมในคดีเผาเมือง อาจเกิดขึ้นหลังจากมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปแล้ว เพราะสำหรับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรแล้ว คดีคอรัปชั่นคือคดีที่จะทำให้เขาติดคุกเพิ่ม ขณะที่คดีก่อการร้ายยังมีหนทางที่สามารถต่อสู้ได้ และขณะนี้ไม่มีแกนนำคนเสื้อแดงติดคุกเพราะคดีก่อการร้ายมิใช่หรือ.


จากนสพ.ไทยโพสต์ ๗ ก.พ. ๒๕๕๖








"นิรโทษกรรม"
ณ.นพวงศ์


มวลชนเมื่อถูกปลุกระดมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเด็นความไม่เท่าเทียมกันในสังคม การถูกเอารัดเอาเปรียบระหว่างชนชั้น การปกป้องรักษาชาติและอธิปไตย การขับไล่ทรราช ฯลฯ ย่อมทำให้เกิดจิตวิญญาณของฝูงชนขึ้นมาแทนที่จิตสำนึกส่วนบุคคล และนำไปสู่ความรุนแรงในท้ายที่สุด

การปลุมระดมในลักษณะนี้ ย่อมนำไปสู่ฐานมวลชนที่ทรงพลัง เมื่อผู้นำมวลชนชี้ให้มวลชนไปในทิศทางใด มวลชนก็จะไปในทิศทางนั้น แม้กระทั่งผู้นำมวลชนป่าวประกาศข้อมูลใด มวลชนก็จะเชื่อในทันทีเช่นกัน ทั้งนี้ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะเป็นความจริงหรือไม่เป็นความจริงก็ตาม

สิ่งเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในทางการเมืองนับตั้งแต่ยุคโบราณกระทั่งปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น

ฮิตเลอร์ ปลุกระดมชาวเยอรมันให้เกลียดชังชาวยิวและรัฐบาลเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยกล่าวหาว่า ชนชั้นปกครองห่วงแต่ความร่ำรวยของตัวเองจึงยอมแพ้ต่อศัตรู จนทำให้เยอรมนีต้องพ่ายแพ้และเสียดินแดนให้กับอังกฤษและฝรั่งเศส ท้ายที่สุดประชาชนเยอรมันเกิดความคลุ้มคลั่ง สนับสนุนฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ และนำเยอรมนีเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๒

ดร.ซุนยัดเซ็น กล่าวหาราชวงศ์ชิงว่าเอารัดเอาเปรียบชาวไร่ชาวนา รีดนาทาเร้นคนยากไร้เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายสร้างความหรูหราและความสะดวกสบาย ให้กับราชวงศ์ ปกครองประเทศจีนอย่างทารุณ ประชาชนไม่มีสิทธิ์มีเสียง ข้าราชการมีแต่คอรัปชั่นและมุ่งรับใช้ราชวงศ์เพื่อประโยชน์ของตัวเอง ท้ายที่สุดจึงนำไปสู่การลุกฮือของประชาชนทั่วประเทศจีน ฝูงชนเข้าเผาทำลายสถานที่ราชการ จับอาวุธขึ้นต่อสู้กับทหาร และนำไปสู่การล้มล้างราชวงศ์ชิงในท้ายที่สุด

มหาตมะ คานธี เรียกร้องให้ชาวอินเดียลุกขึ้นขับไล่อังกฤษซึ่งเข้ายึดครองอินเดียในขณะนั้น ทำให้ประชาชนอินเดียเกิดความเลื่อมใสศรัทธา เข้ารวมกลุ่มกันเป็นฝูงชนเข้าประจันหน้ากับทหารอังกฤษโดยไร้อาวุธ ยอมเสียสละชีวิตนับพันคนเพื่อให้อังกฤษถอนกำลังออกจากอินเดีย และนำเอกราชมาสู่ประเทศในท้ายที่สุด

เช กูวารา ร่อนเร่พเนจรในอเมริกาใต้ เรียกร้องให้ชาวไร่ชาวนาลุกขึ้นต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการคอรัปชั่น จัดตั้งฝูงชนติดอาวุธเข้าต่อสู้กับทหารของรัฐบาล โดยเช กูวารา ยอมเสียสละชีวิตตัวเองในเรือนจำอย่างอนาถา แต่ก็นำไปสู่การโค่นล้มรัฐบาลในท้ายที่สุด

ฯลฯ

เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาในลักษณะนี้นั้น สิ่งที่เราควรพิจารณา คือ

เงื่อนไข หมายถึง ข้อเรียกร้องต่างๆ นานาที่ถูกนำมาใช้ในการปลุกระดมนั้นมีความน่าเชื่อถือเพียงใด มีวัตถุประสงค์อื่น ๆ แอบแฝงหรือไม่ และหากการปลุมระดมซึ่งอาศัยพื้นฐานจากข้อเรียกร้องเหล่านั้นนำไปสู่ความ เปลี่ยนแปลง สิ่งที่เปลี่ยนแปลงนั้นทำให้ประชาชนได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์มากน้อย เพียงใด

มหาชน หมายถึง ฝูงชนเกิดขึ้นจากการรวมตัวของประชาชนซึ่งเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องและมีความ ศรัทธาในตัวผู้นำอย่างบริสุทธิ์ใจ หรือเกิดขึ้นจากการถูกว่าจ้าง หรือความคึกคะนองก้าวร้าวอย่างไร้เหตุผล

ผู้นำ หมายถึง ผู้นำมวลชนมีพฤติกรรมอย่างไร มีเจตนาหรือผลประโยชน์ของตัวเองแอบแฝงหรือไม่ หรือทำไปเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชน ตามความเชื่อและอุดมการณ์ของตนโดยแท้จริง

ในที่นี้ หากเรากล่าวถึงเฉพาะผู้นำ คงเป็นที่ชัดเจนว่า ฮิตเลอร์ ดร.ซุนยัดเซ็น มหาตมะ คานธี และเช กูวารา ทั้งหมดล้วนทำเพื่อชาติและประชาชนตามอุดมการณ์ของตนโดยไม่มีผลประโยชน์ส่วน ตัวหรือสิ่งอื่นใดแอบแฝง

นอกจากนี้ เงื่อนไขของการปลุกระดมทั้งหลายยังสอดคล้องกับความเป็นจริงตามสถานการณ์ใน ขณะนั้น และมีวัตถุประสงค์เพื่อสิ่งที่ดีกว่าของคนส่วนใหญ่ในสังคมของตนเอง โดยไม่ได้เป็นไปเพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

อีกทั้งประชาชนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมในฝูงชนต่างก็ทำไปด้วยอุดมการณ์ และยอมเสียสละตนเพื่อสิ่งที่ตัวเองเรียกร้องด้วยวิถีทางและความเชื่อของตน เองอย่างบริสุทธิ์ใจ

สำหรับประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น การปลุกระดมประชาชนได้ถูกนำมาใช้ในทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากเราพิจารณาถึงเงื่อนไขในการปลุกระดมเหล่านั้น จะพบว่า ประกอบไปด้วยเงื่อนไขหลัก ๒ ด้าน ดังนี้

"รัฐบาลทุจริตเชิงนโยบาย มอมเมาประชาชนด้วยนโยบายประชานิยมจนกระทั่งได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้ง จากนั้นจึงใช้อำนาจหน้าที่เอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับพวกพ้องและหมู่คณะ โดยมีการครองอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ ออกกฎหมายและให้สัมปทานภาครัฐเพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์กับตัวเอง แทรกแซงศาล แทรกแซงองค์กรอิสระ คุกคามฝ่ายตรงข้ามโดยอาศัยฐานมวลชนจัดตั้ง และฐานมวลชนจากการปลุกระดมประชาชนด้วยสิ่งที่ไม่เป็นความจริง เพื่อใช้เป็นเงื่อนไขในการสร้างความขัดแย้ง ซึ่งสร้างพลังในการเคลื่อนไหวสำหรับมวลชน"

"สังคมไทยมี ๒ ชนชั้น คือ อำมาตย์และไพร่ โดยอำมาตย์ครอบงำประเทศไทยอย่างเบ็ดเสร็จผ่านทางชนชั้นสูง นักการเมืองในสังกัด ทหาร ศาลยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระมาอย่างยาวนาน โดยการสร้างภาพลักษณ์หลอกลวงประชาชนที่หลงงมงายด้วยการประชาสัมพันธ์อย่าง ต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อสร้างความร่ำรวยให้กับตัวเองและหมู่บริวาร อีกทั้งหากมีการต่อต้านจากนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ก็จะใช้วิธีรัฐประหารเพื่อรักษาอำนาจของตัวเองไว้"

สำหรับในส่วนของประชาชนที่เข้าร่วมในการปลุกระดมทั้ง ๒ ด้าน และมีส่วนร่วมในการสร้างความวุ่นวายต่าง ๆ นานานั้น เฉพาะในส่วนที่เข้าร่วมโดยอุดมการณ์ตามความเชื่อของตนซึ่งเกิดจากการปลุ มระดม ทั้งนี้ ไม่ว่าเงื่อนไขของการปลุกระดมนั้นสมควรและเหมาะสมหรือไม่ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนโดยแท้จริงหรือไม่ ประชาชนเหล่านั้นย่อมสมควรได้รับการนิรโทษกรรมเมื่อสถานการณ์คลี่คลายและ สังคมมีบรรยากาศของการปรองดอง โดยที่ทุกฝ่ายซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งและประชาชนส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องต้องกัน

แต่สำหรับประชาชนที่เข้าร่วมด้วยการถูกว่าจ้าง หรือมีผลประโยชน์อื่นๆ แอบแฝงเป็นการเฉพาะตน โดยไม่ได้เป็นไปด้วยอุดมการณ์ตามความเชื่อซึ่งเกิดจากการถูกปลุกระดมโดย บริสุทธิ์ใจ ประชาชนเหล่านั้นย่อมไม่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม

นอกจากนี้ การเร่งรัดให้นิรโทษกรรมในขณะที่สถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย หรือสังคมยังไม่มีบรรยากาศของความปรองดองอย่างแท้จริง ย่อมนำมาซึ่งความขัดแย้ง และสร้างความรุนแรงให้เกิดขึ้นอย่างไม่จบสิ้น โดยเฉพาะหากการนิรโทษกรรมนั้นมีผลรวมถึงผู้นำมวลชน โดยไม่ใช่เพียงแค่ประชาชนที่เข้าร่วมเท่านั้น

นักการเมืองและผู้นำมวลชนทั้งหลายนั้น ย่อมมีทั้งผู้ที่ทำเพื่อชาติและประชาชนอย่างแท้จริง และผู้ที่ทำไปเพื่อประโยชน์ของตนเอง โดยอาศัยแอบแฝงพลังจากมหาชนที่ถูกปลุกระดมเป็นฐานสนับสนุน

หากกล่าวเฉพาะถึงผู้นำมวลชนซึ่งได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่าทำไปเพื่อส่วน รวมของตนโดยแท้จริงนั้น เราจะพบว่า แทบไม่มีใครขอนิรโทษกรรมให้กับตัวเอง ทั้งนี้ ไม่ว่าตัวเองจะแพ้หรือชนะในการต่อสู้เรียกร้องนั้นๆ ก็ตาม เช่นเดียวกับฮิตเลอร์ ดร.ซุนยัดเซ็น มหาตมะ คานธี และเช กูวารา

แต่สำหรับทักษิณ ชินวัตร, จตุพร พรหมพันธุ์, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง, เหวง โตจิราการ, สนธิ ลิ้มทองกุล, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, สุเทพ เทือกสุบรรณ ฯลฯ

ใครเร่งรัดขอนิรโทษกรรมให้กับตัวเองบ้าง ใครกลายเป็นอย่างไรหลังจากชนะหรือแพ้ในการต่อสู้ปลุกระดมแล้วบ้าง ฯลฯ

หากเราใคร่ครวญให้ดี ก็คงมองเห็นกันได้โดยไม่ยากนัก


จากคอลัมน์ "คลี่ตะวันห่มเมือง"
นสพ.ไทยโพสต์ ๑o ก.พ. ๒๕๕๖



บีจีและไลน์จากคุณญามี่


Free TextEditor





Create Date : 13 มีนาคม 2556
Last Update : 14 มิถุนายน 2556 20:31:36 น. 0 comments
Counter : 1407 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.