Group Blog
 
<<
มีนาคม 2555
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
6 มีนาคม 2555
 
All Blogs
 
อังกะลุง/เบิกไพร..พรายทะเล/กล้ำหรือไม่กล้ำ..จักรราศี/ทางช้างเผือก..รายได้แผ่นดิน



อังกะลุง

ใน หนังสือสารานุกรมไทย ฉบับราช บัณฑิตยสถาน เล่ม ๒๙ นายชนก สาคริกได้เขียนอธิบายเรื่อง “อังกะลุง” ไว้ ซึ่ง “อังกะลุง” มีความเป็นมาที่เชื่อมโยงกับหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) โดยผู้เขียนสรุปความมาเสนอดังนี้

“อังกะลุง” เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตี ชนิดหนึ่งทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ ๒-๓ ปล้อง นำมาเรียงร้อยต่อกันในกรอบโครงไม้ซึ่งทำเป็นตับ บรรเลงโดยวิธีใช้มือเขย่าหรือไกวให้กระบอกไม้ไผ่แกว่งกระทบกับขอบรางด้านล่างจนเกิดเป็นเสียงกังวานไพเราะ ซึ่งได้แบบอย่างมาจากเครื่องดนตรีพื้นเมืองของประเทศอินโดนีเซีย เรียกว่า “อุงคลุ่ง” ที่มีความสำคัญมากในเขตชุนดา (ชวาตะวันตก) โดยเชื่อกันว่า “อุงคลุ่ง” เป็นเสียงสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ เป็นเสียงที่เพิ่มความเข้มแข็งของชีวิตในวิถีเกษตร มีพลังในการเชื่อมโยงโลกของข้าวกับไม้ไผ่ซึ่งถือเป็นพืชวงศ์เดียวกัน และเป็นเสียงดนตรีที่สร้างความสมานฉันท์ระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติได้ดีที่สุด

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้มีโอกาสตามเสด็จ จอมพล สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช หรือ สมเด็จวังบูรพา ซึ่งเสด็จไปประเทศอินโดนีเซีย และในครั้งนั้นทางอินโดนีเซียได้จัดการแสดง “อุงคลุ่ง” ถวายให้ทอดพระเนตรในงานเลี้ยงต้อนรับ เนื่องจาก “อุงคลุ่ง” มีรูปลักษณ์ที่แปลกตาและมีเสียงที่ไพเราะน่าฟัง หลวงประดิษฐไพเราะจึงสนใจและได้นำกลับมายังประเทศไทย และได้แต่งเพลงไทยที่มีสำเนียงชวาขึ้นหลายเพลง ทั้งได้ปรับแต่งแก้ไขจังหวะและทำนองให้เข้ากับลักษณะและวิธีการประพันธ์เพลงไทยซึ่งแพร่หลายจวบจนปัจจุบัน แม้เมื่อสิ้นบุญหลวงประดิษฐไพเราะไปนานแล้วแต่อิทธิพลและเสน่ห์ของ “อังกะลุง” ทำให้อังกะลุงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในสังคมไทยมีคนอยากหัดอยากเล่นกันทั่วไป ทำให้เกิดวงอังกะลุงใหม่ ๆ หลายวงทั้งในหน่วยราชการ สถานศึกษา และเอกชน.

▷ณัฐมาตย์ มูสิกะเจริญ


เบิกไพร

ในสมัยที่ป่ายังอุดมด้วยต้นไม้ สัตว์ป่า และนก คนมักชอบเข้าป่าล่าสัตว์ ตัดไม้ ทว่าต้องทำการ “เบิกไพร” เสียก่อน ในหนังสือ สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑๗ นายสังคม ศรีราช ได้เขียนอธิบายคำ “เบิกไพร-พิธี” ไว้ว่า “เป็นพิธีทำก่อนจะเข้าป่าไปล่าสัตว์ อันเกิดเนื่องจากความเชื่อถือผีสางเทวดาของคนในยุคก่อน”

ในสมัยนั้นการที่พรานป่าเข้าป่าล่าสัตว์ได้สำเร็จ ไม่ถือว่าเป็นเพราะความสามารถของตน แต่กลับถือว่าเทวดาบันดาล หรือเจ้าป่าช่วย จึงเกิดเป็นคติความเชื่อกันว่า ป่าดงพงไพรถ้าไม่มีอะไรเป็นเครื่องป้องกัน เป็นเครื่องหมายหวงห้ามไว้ ไม่ช้าป่าไม้ นก และสัตว์ป่าเหล่านั้นก็จะสูญหมด ในสมัยก่อนหรือในท้องถิ่นที่คนยังนับถือผีสางเทวดากันอยู่ ป่าที่มีสัตว์อยู่มาก และอุดมด้วยไม้นานาชนิด ก็เพราะราษฎรถือว่ามีเจ้าป่าเจ้าทุ่งคุ้มครองอยู่ และมักมีศาลเป็นที่สถิตของเจ้าป่าอยู่ตรงปากช่องเขา หรือปากทางที่จะเข้าป่า เพราะฉะนั้นจึงมีพิธีเบิกป่า ซึ่งเรียกกันว่า “เบิกไพร” ว่าใครจะเข้าป่าไปล่าสัตว์ตัดต้นไม้ ต้องขอต่อเจ้าป่าเสียก่อน โดยการกราบไหว้ท่าน พิธีอย่างง่าย ๆ ก็คือ หัก หรือทำไม้ให้เป็นรูปขอ นำไปปักไว้หรือจะเอาไปเกี่ยวไว้ หรือแขวนไว้ ณ ที่ใดที่หนึ่งก็ได้ แต่ให้สูง มีระยะเสมอเพียงตาเพื่อคารวะ ถ้าไม่รีบด่วนก็รอไว้คืนหนึ่ง รุ่งเช้ากลับไปดู ถ้าเห็นของนั้นยังอยู่เป็นปรกติ ก็ถือว่าเจ้าป่าอนุญาตตามที่ขอ แต่การอนุญาตมักมีเงื่อนไข รู้กันโดยปริยาย คือต้องไปให้ถูกต้องตามฤดูกาล และถึงแม้เป็นฤดูกาลที่ถือว่าเจ้าป่าอนุญาต ซึ่งชาวบ้านถิ่นนั้นรู้ดีว่าเป็นฤดูเดือนไหน ก็ต้องเข้าป่าไปล่าสัตว์ ตัดต้นไม้เอามาเท่าที่จำเป็นกับความต้องการจะใช้สอย เมื่อออกจากป่ามาก็ต้องบูชาลาไหว้ ถ้าล่าได้สัตว์อะไรมาก็ชำแหละส่วนหนึ่งเซ่นสังเวย และมักนิยมใช้เนื้อตอนที่ถือว่าสำคัญ เช่น เนื้อสัน ในบางท้องถิ่น มีการทำพิธีเบิกไพรที่ต่างออกไป เช่น ก่อนจะเข้าป่าให้นำปืนผาหน้าไม้ของพวกผู้ที่จะเข้าป่าล่าสัตว์ ไปเซ่นเจ้าป่าเสียก่อน กับทำบายศรี ไข่ไก่ต้มสุก เหล้า ไปเซ่นปู่ตา เทพารักษ์ที่ศาลปู่ตา เสร็จพิธีต้องพักนอนอยู่นอกบ้าน ห้ามขึ้นเรือน เรียกว่า “ออกบ้าน” และเมื่อล่าสัตว์ได้กลับมาจะมีการนำเนื้อส่วนสำคัญมาทำอาหารเซ่นปู่ตา นอกนั้นจึงแบ่งกันนำกลับบ้านได้.

▷นฤมล บุญแต่ง


พรายทะเล
พรายทะเล อาจฟังเป็นชื่อของสิ่งเหนือธรรมชาติ ประเภทภูตผี พรายน้ำในนวนิยายขายดี แต่จริง ๆ แล้วพรายทะเลคืออะไร สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๒๐ ในคำว่า พรายทะเล หรือ พรายน้ำ หรือ ผีน้ำ ซึ่ง น.ต.หญิง ภัทริน วรรณแสง เป็นผู้เขียน มีคำตอบที่น่าสนใจไว้ว่า พรายทะเล หรือ พรายน้ำ หรือ ผีน้ำ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ มีลักษณะเป็นแสงลุกเป็นเส้น ๆ อย่างแปรงออกจากยอดแหลมต่าง ๆ หรือจากวัตถุมีมุมแหลม ในระหว่างเกิดพายุฟ้าคะนอง (thunderstorm) หรือพายุหิมะ (snowstorm) ปรากฏการณ์นี้เกิดมากในที่สูงตามยอดเขา และเกิดในระยะต่ำเป็นครั้งคราว อาจเกิดที่รอบวงใบพัดเครื่องบิน ปลายปีก หรือหัวเครื่องบินก็ได้ ตามยอดเสาเรือ ปลายพรวน (yardarms–ใบขวางบนเสาเรือ) หรือที่หัวเรือ เวลาเกิดแสงนี้จะมีเสียงดังซีด ๆ บางทีมีกลิ่นประหลาด และมักเกิดก่อนฟ้าแลบเล็กน้อย

ปรากฏการณ์นี้ มีสาเหตุเช่นเดียวกับฟ้าแลบ คือ มีความต่างศักย์ไฟฟ้าในระหว่างพื้นโลกกับในอากาศ ทำให้เกิดประกายไฟฟ้าเข้าหากัน แต่ว่ามีกระแสไฟฟ้าเชื่อมกันสมส่วนจนลุกเป็นไฟขึ้น ได้เคยมีผู้บันทึกปรากฏการณ์ “พรายทะเล” หรือ “ผีน้ำ” ที่เกิดขึ้นในทะเลไว้ว่าขณะที่เรือลำหนึ่งเกิด “พรายทะเล” ขึ้นที่ปลายพรวนนั้น มีฟ้าผ่าเกิดขึ้นในคราวเดียวกันหลายสายรอบเรือ คนในเรือเห็นว่ามีไฟเกิดอยู่รอบตัวนายเรือ ผู้โดยสารคนหนึ่งมีอาการกระตุกที่เท้า และเหม็นกลิ่นดินปืนไหม้ทั่วลำเรืออยู่ ๑๐ นาที เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ได้เล่าถึง “พรายน้ำ” ไว้ในหนังสือ กิจจานุกิจ ว่า “...เรื่องนี้ต่อเรือถูกพายุมืดฝนตกจึงเป็น ถ้าเป็นแล้วเรือแล่นไปไม่ได้ เหมือนอะไร ๆ ดูดเหนี่ยวอยู่ ถ้าอากาศปรกติก็ไม่มี พวกที่เขาไม่ถือผีก็ว่าเกิดเพราะอากาศร้อนบ้างเย็นบ้างกระทบกันเข้า จึงเกิดเป็นพราย ๆ ขึ้นมาแต่ใต้น้ำก่อน แล้วผุดขึ้นจับบนหลังน้ำ แดงสว่างไปหลาย ๆ เส้น ถ้าถูกเรือก็ขึ้นอยู่บนเสาบ้าง ปลายเพลาบ้าง บางทีขึ้นตามข้างเรือจนดาดฟ้าเป็นเมือกลื่นเหมือนน้ำคาวปลา มีรัศมีเหมือนหิ่งห้อย เรือจะแล่นไปก็ดูดเอาไว้...”

ปรากฏการณ์พรายทะเล หรือ พรายน้ำ หรือ ผีน้ำ นี้ ชาวเรือในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนถือว่าเป็นลางดี.


กล้ำหรือไม่กล้ำ
ในการเขียนภาษาไทย มีปัญหาอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนพบบ่อย นั่นก็คือความไม่แน่ใจในการสะกดคำที่เขียนด้วยอักษรกล้ำ โดยเฉพาะคำที่กล้ำด้วย ร เรือ และกล้ำด้วย ล ลิง เช่น คำที่สะกดถูกต้อง คือ มะเขือเปราะ หรือ มะเขือเปาะ ยุงก้นป่อง หรือ ยุงก้นปล่อง ต้มเปอะ หรือ ต้มเปรอะ ตบแผละ หรือ ตบแผะ

มะเขือเปราะ เป็นคำที่ถูกต้อง คำว่า เปราะ เป็นคำวิเศษณ์ที่แปลว่า หักง่าย แตกง่าย เช่น ไส้ดินสอเปราะ ถ้าเป็นคำว่า เปาะ จะแปลว่า ไม่หยุดปาก ใช้แก่กริยา ชม นอกจากนี้ เปาะ ยังแปลว่าเสียงดังเช่นนั้นอย่างเสียงเคาะไม้

ยุงก้นปล่อง เป็นคำที่ถูกต้อง ยุงก้นปล่องในสกุล Anopheles เฉพาะตัวเมียกินเลือด

ต้มเปอะ เป็นคำที่ถูกต้อง ต้มเปอะเป็นชื่อแกงอย่างหนึ่ง ใช้หัวตาลหรือหน่อไม้หรือใบขี้เหล็กเป็นต้น คล้ายแกงขี้เหล็ก แต่ไม่ใส่กะทิ ใส่ข้าวคั่วกับปลาร้าผสมด้วย

ตบแผละ เป็นคำที่ถูกต้อง ตบแผละเป็นการเล่นชนิดหนึ่ง มีคนเล่น ๒ คน หันหน้าเข้าหากัน แต่ละฝ่ายตบเข่าและตบมือของตัวเองก่อน จึงใช้มือซ้ายตบมือซ้ายและมือขวาตบมือขวาของอีกฝ่ายหนึ่งสลับกันกับตบมือและตบเข่า คำว่า แผละ ยังหมายถึง แสดงอาการอ่อนกำลัง เช่น ล้มแผละ

อีก ๒ คำที่ใช้บ่อยและเวลาเขียนมักจะเกิดความไม่แน่ใจบ่อยเช่นกันว่าจะใช้ กระ หรือ กะ กะทัดรัด หรือ กระทัดรัด กะทันหัน หรือ กระทันหัน คำที่ถูกต้องคือ กะทัดรัด และ กะทันหัน

วิธีหนึ่งที่จะช่วยไม่ให้สะกดคำกล้ำผิดคือ ต้องหมั่นตรวจสอบตัวสะกดจากพจนานุกรม ก็จะทำให้เกิดความคุ้นเคยกับตัวสะกดที่ถูกต้อง.


บลูมูน
คำ blue ในภาษาอังกฤษ นอกจากแปลว่า สีน้ำเงิน สีฟ้า สีกรมท่า แล้ว ยังมีนัยหมายถึงความโศกเศร้า หม่นหมองอีกด้วย

สีน้ำเงินใช้เป็นแถบสีตรงกลางในธงไตรรงค์มีความหมายถึง สถาบันพระมหากษัตริย์

สีน้ำเงินเป็นสีที่แสดงถึง ความมั่นคง ความสม่ำเสมอ ความเป็นผู้นำ น้ำ ความเย็น ในเชิงสัญลักษณ์ สีน้ำเงินใช้แทนผู้ชาย ในประเทศจีนสีน้ำเงินหมายถึง เด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ส่วนในอิหร่านหมายถึง การไว้ทุกข์

วรรณกรรมเรื่อง “พระจันทร์สีน้ำเงิน” วรรณกรรมรางวัลยอดเยี่ยมจากสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๑๙ เขียนโดย สุวรรณี สุคนธ์เที่ยง หรือนามปากกาว่า สุวรรณี สุคนธา เป็นเรื่องเศร้าเกี่ยวกับความรักระหว่างแม่กับลูก และเรื่องยาเสพติด

วรรณกรรมเรื่อง “พระจันทร์สีน้ำเงิน” นั้น ผู้เขียนตั้งชื่อเรื่องให้มีนัยถึงอารมณ์โศกเศร้า มิได้หมายถึง พระจันทร์ที่เป็นสีน้ำเงิน ส่วนปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เรียกว่า blue moon ก็มิได้มีนัยถึงความโศกเศร้า หม่นหมองแต่อย่างใด ดังนั้นคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ดาราศาสตร์ ของราชบัณฑิตยสถาน จึงบัญญัติศัพท์ของคำภาษาอังกฤษ blue moon โดยเขียนทับศัพท์ว่า บลูมูน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้สับสนกับคำว่า พระจันทร์สีน้ำเงิน และให้ความหมายของ บลูมูน ว่า ๑. จันทร์เพ็ญที่เกิดขึ้นครั้งที่ ๒ ของเดือนปฏิทิน ๒. ดวงจันทร์ที่เป็นสีน้ำเงินเนื่องจากอิทธิพลจากชั้นบรรยากาศ เช่น ฝุ่นจากภูเขาไฟ ไฟไหม้ป่า ๓. ระยะเวลานาน ใช้ในสำนวน once in a blue moon หมายถึง เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นได้ยาก .

ผู้ที่มีปัญหาข้อข้องใจการใช้ภาษาไทยติดต่อได้ที่ ราชบัณฑิตยสถาน โทร.0-2356-0466-70 หรือทางอินเทอร์เน็ตที่ //www.royin.go.th ส่วนผู้สนใจพัฒนาทักษะการใช้ภาษาไทยผ่านสื่อในรูปแบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์( e-learning)ดูรายละเอียดที่ //elearning.royin.go.th

▷รัตติกาล ศรีอำไพ


จักรราศี
คำ “จักรราศี” [จัก-กฺระ-รา-สี] มาจากคำศัพท์ภาษาอังกฤษ zodiac ในทางดาราศาสตร์ หมายถึง แถบที่โอบรอบทรงกลมฟ้าอยู่ภายในพื้นที่ที่แผ่ออกจากสุริยวิถีประมาณ ๙ องศา ทั้งเหนือและใต้ ครอบคลุมแนวการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์และดาวเคราะห์ยกเว้นดาวพลูโต แบ่งเป็น ๑๒ ส่วน แต่ละส่วนมีความกว้าง ๓๐ องศา เรียกว่าราศี มีชื่อตามกลุ่มดาวพาดผ่าน กลุ่มดาวที่กำหนดเป็นกลุ่มดาวประจำราศีเรียกว่า กลุ่มดาวจักรราศี (zodiacal constellation)

กลุ่มดาวจักรราศี เช่น กลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำหรือกลุ่มดาวกุมภ์ (Aquarius; Water Carrier) เป็นกลุ่มดาวขนาดใหญ่แต่ไม่มีดาวฤกษ์สว่างมาก กลุ่มดาวปูหรือกลุ่มดาวกรกฎ (Cancer; Crab) มีที่มาจากเทพนิยายกรีกโบราณ แทนปูที่ถูกเหยียบอยู่ใต้เท้าของเฮอร์คิวลีส เมื่อเขากำลังต่อสู้กับงูไฮดรา กลุ่มดาวแมงป่องหรือกลุ่มดาวพิจิก (Scorpius; Scorpion) เป็นกลุ่มดาวสว่างขนาดใหญ่กลุ่มหนึ่งในกลุ่มดาวจักรราศีทางซีกฟ้าใต้ ดาวฤกษ์สว่างที่สุดในกลุ่ม ชื่อแอนทาเรส (Antares) หรือคนไทยเรียกว่า ดาวปาริชาต

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ นิยาม จักรราศี ว่า อาณาเขตที่ดาวเคราะห์โคจรรอบดวงอาทิตย์, อาณาเขตโดยรอบดวงอาทิตย์ที่ดาวเคราะห์เดิน, วิถี
โคจรประจําของดวงอาทิตย์ซึ่งดูเสมือนวนไปรอบท้องฟ้าได้ ๓๖๐ องศาใน ๑ ปี วงโคจรนี้แบ่งออกเป็น ๑๒ ส่วน หรือ ๑๒ ราศี แต่ละส่วนหรือแต่ละราศีมีช่วง ๓๐ องศา ได้แก่ ราศีเมษ ราศีพฤษภ ราศีเมถุน ราศีกรกฎ ราศีสิงห์ ราศีกันย์ ราศีตุลหรือราศีดุล ราศีพฤศจิกหรือราศีพิจิก ราศีธนู ราศีมังกร ราศีกุมภ์ และราศีมีน, วงโคจรของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ที่สมมุติขึ้นทางโหราศาสตร์ ประกอบด้วย ๑๒ ราศี

“จักรราศี” มีความสำคัญต่อโหรา ศาสตร์ด้วยเพราะว่าด้วยการพยากรณ์โดยอาศัยการโคจรของดวงดาวเป็นหลัก.


ทางช้างเผือก
ทางช้างเผือกหรือชื่อในภาษาญี่ปุ่นว่า “amanogawa” แปลว่า “River of Heaven” เทศกาลทานาบาตะเกี่ยวกับตำนานทางช้างเผือกของชาวญี่ปุ่นที่เชื่อกันว่า ในวันที่ ๗ เดือน ๗ เป็นวันที่ดาวเจ้าหญิงทอผ้าข้ามทางช้างเผือกมาพบกับดาวคนเลี้ยงวัวซึ่งเป็นชายคนรัก ซึ่งในนวนิยายเรื่อง “คู่กรรม” ที่เขียนโดย “ทมยันตี” อังศุมาลินบอกกับโกโบริก่อนที่เขาจะตายว่า เธอจะไปพบเขาที่ทางช้างเผือก

เทพนิยายกรีกโบราณมีตำนานว่า เทพซูสผู้เป็นบิดาได้แอบนำทารกน้อยเฮอร์คิวลีสไปดื่มนมจากถันของเทพีเฮราที่กำลังบรรทมหลับอยู่ เมื่อเทพีเฮรารู้สึกตัวก็โกรธผลัก
เฮอร์คิวลีสออก แต่ด้วยพลังของเฮอร์คิวลีสจึงทำให้น้ำนมไหลทะลักเป็นทาง ปรากฏเป็นทางสีขาวพาดในท้องฟ้า เรียกว่า Milky Way

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ นิยาม ทางช้างเผือก ว่า แสงกลุ่มดาวซึ่งแผ่เห็นสว่างเป็นพืดในท้องฟ้า

คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ดาราศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน ได้บัญญัติศัพท์ของคำภาษาอังกฤษ Milky Way ว่า ทางช้างเผือก นิยามว่า แถบแสงฝ้ามัวล้อมรอบท้องฟ้า เป็นผลของแสงดาวฤกษ์จำนวนมากมายในดาราจักรของเรา คำว่าทางช้างเผือก ใช้ในความหมายดาราจักรด้วย แถบแสงรอบ ๆ ทรงกลมฟ้าเป็นผลจากการมองเห็นจากภายในแผ่นจานดาราจักร ดวงอาทิตย์อยู่ที่ ๒ ใน ๓ ของระยะที่จุดศูนย์กลางออกไปสู่ขอบนอกแผ่นจานดาราจักร ทางช้างเผือกปรากฏสว่างที่สุดในทิศทางรอบ ๆ ใจกลางดาราจักรรี ซึ่งอยู่ใกล้กับกลุ่มดาวคนยิงธนู กลุ่มเมฆ แก๊สและฝุ่นบดบัง เช่น บริเวณเนบิวลาใกล้ทางทิศใต้ของกลุ่มดาวกางเขน ทำให้ทางช้างเผือกมีลักษณะเป็นหย่อม ๆเกิดขึ้นหลายแห่ง กลุ่มดาวในบริเวณทางช้างเผือกมีหลายกลุ่ม เช่น เปอร์เซอุส แคสซิโอเปีย หงส์ นกอินทรี คนยิงธนู แมงป่อง คนครึ่งม้า ใบเรือ.


มาเหมือนฝูงเหมา

สำนวนถิ่นใต้ มาเหมือนฝูงเหมา หมายถึง การที่คนมารวมกันเป็นจำนวนมากเพื่อร่วมงานต่าง ๆ เช่นงานบุญ งานรื่นเริง หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ เหมือนฝูงเหมา หรือแมลงเม่าที่บินพรูออกมาจากรังเป็นจำนวนมาก

นายธีระ แก้วประจันทร์ กรรมการจัดทำเนื้อหาวิชาการด้านภาษาไทยถิ่น ภาคใต้ ได้อธิบายสำนวนว่า มาเหมือนฝูงเหมา ไว้ โดยกล่าวถึงคำว่า เหมา ว่าตรงกับภาษาไทยกรุงเทพ ว่า แมลงเม่า ซึ่งก็คือปลวกที่โตเต็มที่จนปีกงอก จะบินออกจากรังเมื่อได้เวลาผสมพันธุ์ หรือหลังฝนตกหนัก แต่ก็มิใช่ว่าหลังฝนตกหนักมากเมื่อไรจะมีเหมาหรือแมลงเม่าออกมาจากรังมากเมื่อนั้น ขึ้นอยู่กับสภาวะที่เหมาะสมด้วย ทำนองเดียวกับการจัดงานบุญ งานรื่นเริง หรืองานแสดงมหรสพ ใช่ว่าจะมีความหมายทุกครั้ง ขึ้นอยู่กับบารมีของเจ้าภาพ ความมีชื่อเสียงของมหรสพที่มีมาแสดง เป็นสำคัญ

ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ เก็บคำว่า ห่าลง โดยให้ความหมายว่า หมายถึง เกิดโรคระบาดอย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้คนตายจำนวนมาก เช่น โรคลงราก (อหิวาตกโรค) กาฬโรค ซึ่งในภาษาปาก คำว่า ห่าลง หมายถึง คนที่มากันเป็นจำนวนมาก เช่น งานนี้คนมากันอย่างกับห่าลง แต่ปัจจุบันก็ไม่พบว่ามีการพูดเปรียบงานที่มีคนมาเป็นจำนวนมากด้วยถ้อยคำดังกล่าว แต่ก็มีคำพูดที่เปรียบเทียบคนจำนวนมากมายมหาศาลว่า ฝูงชนมากมายราวกับฝูงมด หรือเปรียบเทียบให้เห็นภาพสัตว์ที่อยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เช่น ยุงชุมยังกับฝูงผึ้ง สำนวนเปรียบเทียบของภาคกลางที่มีคำว่า “แมลงเม่า” อยู่ด้วย ไม่ได้มีมาเปรียบกับผู้คนจำนวนมาก แต่มีใช้ในสำนวนเช่น “แมลงเม่าบินเข้ากองไฟ” เป็นสำนวนที่สอนหรือเตือนสติผู้มีกำลังน้อยนิดว่าอย่าหาญที่จะไปสู้กับผู้มีกำลังหรือมีอำนาจมาก เพราะมีแต่จะอันตรายถึงชีวิต เพราะหากหาญสู้แล้วก็จะมีสภาพเหมือน “แมลงเม่าบินเข้ากองไฟ”.

สุปัญญา ชมจินดา


รายได้แผ่นดิน
เมื่อเข้าเดือนกุมภาพันธ์ ช่วงเวลาแห่งการทำหน้าที่พลเมืองที่ดีของประเทศก็มาถึง นั่นก็คือ การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือที่เรียกกันว่า ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 นี่คือส่วนหนึ่งของรายได้แผ่นดินในปัจจุบัน และยังมีภาษีอากรอื่น ๆ อีกหลายประเภท แล้วในสมัยโบราณเงินรายได้แผ่นดินของไทยมาจากที่ใดบ้าง เรามาทำความรู้จักกับเงินรายได้แผ่นดินสมัยโบราณกันดีกว่า

สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราช บัณฑิตยสถาน เล่ม ๑ อธิบายภาษีอากรสมัยโบราณไว้หลายประเภทด้วยกัน เช่น เงินค่านา คือ อากรที่รัฐบาลเก็บชักส่วนผลประโยชน์จากการทำนาของราษฎรเป็นรายได้แผ่นดิน บางครั้งเก็บเป็นหางข้าวขึ้นฉางหลวง บางครั้งเก็บเป็นเงิน จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เก็บเป็นเงินค่านาแทนหางข้าวในอัตราไร่ละ ๑ สลึง ๑ เฟื้อง และมีการปรับเปลี่ยนอัตราเงินค่านามาตลอดจน พ.ศ. ๒๔๘๑ จึงเก็บเป็นเงินช่วยบำรุงท้องที่แทนเงินค่านา

เงินค่าราชการ คือ เงินที่เก็บจากชายฉกรรจ์ที่เป็นไพร่แทนการเข้าเวรรับราชการในระบบไพร่ มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติเก็บเงินค่าราชการขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๔๔ โดยให้เก็บคนละ๖ บาทต่อปี ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น เงินรัชชูปการ และมายกเลิกไปใน พ.ศ. ๒๔๘๒

เงินผูกปี้ คือ เงินภาษีพิเศษที่ทางราช การเรียกเก็บแทนการเกณฑ์แรงงานจากชาวจีน เริ่มเก็บในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และยกเลิกไปใน พ.ศ. ๒๔๕๑ เปลี่ยนเป็นการเก็บเงินค่าแรงช่วยราชการแผ่นดินแทน เงินส่วย คือ เงินที่ไพร่เสียให้ทางราชการแทนการเกณฑ์ส่วย เงินศึกษาพลี คือ เงินที่เก็บจากชายฉกรรจ์อายุ ๑๘-๖๐ ปีคนละ ๑-๓ บาท เพื่อบำรุงการศึกษาภาคบังคับตามพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. ๒๔๖๔ เก็บมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๗๓ จึงยกเลิกไป นอกจากนี้ยังมีภาษีอากรอีกหลายชนิด ซึ่งจะกล่าวถึงในโอกาสต่อไป.
▶▶//www.dailynews.co.th/article/44/12743


Create Date : 06 มีนาคม 2555
Last Update : 6 มีนาคม 2555 2:07:57 น. 0 comments
Counter : 1657 Pageviews.

Rain_sk
Location :
Upper Midwest United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 68 คน [?]





"ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ส่งผล
คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง
เมื่อใดบาปให้ผล คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น"
ขุ.ธ. 25/15/24
เวลา 4.57PM :sat,Mar 29,2557



BlogGang Popular Award # 9


BlogGang Popular Award # 10


BlogGang Popular Award # 11


BlogGang Popular Award # 12


Friends' blogs
[Add Rain_sk's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.