Group Blog
 
 
กุมภาพันธ์ 2555
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
26272829 
 
9 กุมภาพันธ์ 2555
 
All Blogs
 
นามปากกา..ผ้าห้อยหอ..เพียงพอ..มโน...ผ้าห้อยหอ..แพร่ง..สิ่งที่เห็นอยู่

lozocatlozocat



นามปากกา..

นามปากกาหรือนามแฝง คือชื่อที่นักเขียนใช้แทนชื่อจริงในการเขียนหนังสือ ท่านที่เป็นนักอ่านหรือหนอนหนังสือคงทราบดี และมีนักเขียนในดวงใจในนามปากกาต่าง ๆ ความสนใจและการติดตามงานเขียนทำให้รู้จักชื่อจริงและแม้แต่หน้าตาของนักเขียนด้วย ปัจจุบันนามปากกาจึงไม่เป็นความลับ พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน มีเล่าถึงความเป็นมาของการใช้นามปากกาในวรรณกรรมไทยว่า

นักเขียนไทยเริ่มใช้นามปากกาหรือนามแฝงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่มีเจ้านายชั้นสูง และขุนนางไปศึกษาต่อในต่างประเทศกันมาก การอ่านและการแปลวรรณกรรมจากต่างประเทศ คงเป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนไทยริเริ่มแต่งวรรณกรรมสมัยใหม่ ได้แก่ นวนิยาย เรื่องสั้น และบทละคร ผู้แต่งเหล่านี้จึงเริ่มใช้นามปากกาในการเขียนหนังสือเช่นเดียวกับนักเขียนต่างประเทศ เช่น พระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล) ซึ่งเป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงรุ่นแรก ใช้นามปากกา แม่วัน ในการแปลนวนิยาย เรื่อง ความพยาบาท พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ว่า ท้าวสุภัตติการภักดี เป็นพระนามแฝงในการพระราชนิพนธ์เรื่อง โคลงนิราศท้าวสุภัตติการภักดี ในสมัยนี้นามแฝงที่เป็นอักษรย่อก็เป็นที่นิยม เช่น น.ม.ส. เป็นพระนามแฝงของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ แต่ก็มีนามแฝงอีกมากที่ในเวลาต่อมาไม่ทราบว่าเป็นของผู้ใด พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระนามแฝงจำนวนมาก เพราะมีงานพระราชนิพนธ์หลายประเภท มีหลักฐานว่าทรงเริ่มใช้พระนามแฝงในขณะทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ เช่น Young Tommy, Marcus Virginius พระนามแฝงภาษาไทย เช่น อัศวพาหุ, รามจิตติ ฯลฯ ข้าราชบริพารผู้รับใช้ในกิจการต่าง ๆ ก็ได้รับพระราชทานนามแฝงด้วย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว การเขียนนวนิยายพัฒนาจนกลายเป็นรูปแบบบันเทิงคดีของไทยที่นิยมเขียนและนิยมอ่านกันทั่วไป นักเขียนบางคนเขียนมากและหลากหลายประเภท จึงมีนามปากกามาก เช่น มาลัย ชูพินิจ ใช้นามปากกา แม่อนงค์ เรียมเอง ฯลฯ ปัจจุบันการใช้นามปากกามักเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมากกว่า ส่วนการที่นักเขียนผู้หนึ่งมีนามปากกามาก เป็นเพราะมีงานเขียนหลายแนว.


มโน...

คำว่า มโน หลายคนอาจจะไม่ทราบความหมาย พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ อธิบายว่า มโน เป็นคำนาม หมายถึง ใจ (มีที่มาจากคำบาลี-สันสกฤตว่า มนสฺ) คำว่า มโน มักนำไปใช้ประกอบกับคำอื่น เช่น มโนกรรม หมายถึง การกระทำทางใจ, การคิด, ความคิด มโนคติ หมายถึง ความคิด มโนช หมายถึง “เกิดแต่ใจ” คือ ความรัก มโนชญ์ หมายถึง เป็นที่พอใจ, งาม มโนทุจริต หมายถึง ความประพฤติชั่วทางใจ มี ๓ อย่าง ได้แก่ ความโลภอยากได้ของของผู้อื่น ๑ ความพยาบาท ๑ ความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม ๑ มโนธรรม หมายถึง ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี, ความรู้สึกว่าอะไรควรทําอะไรไม่ควรทํา มโนนุกูล หมายถึง ซึ่งเกื้อกูลใจ, ชูใจ มโนภาพ หมายถึง ความคิดเห็นเป็นภาพขึ้นในใจ มโนภินิเวศ หมายถึง ความมั่นใจ, ความหนักแน่น มโนมัย หมายถึง สําเร็จด้วยใจ, ใช้ประกอบกับ ม้า หมายความว่า ม้าที่ใช้ขับขี่รวดเร็วได้ดังใจ ถ้าใช้คำว่า มโนมัย ในบทกลอนจะหมายถึง ม้า เช่น ครั้นถึงจึงสั่งข้าไท เร่งผูกมโนมัยที่เคยขี่ (จากบทละครสังข์ทอง) มโนรถ หมายถึง ความหวัง, ความประสงค์, ความใฝ่ฝัน มโนรม, มโนรมย์ หมายถึง เป็นที่ชอบใจ, งาม มโนศิลา หมายถึง ศิลาอ่อนที่ย่อยให้ละเอียดประสมเป็นสีทาสิ่งอื่นได้, อีกนัยหนึ่งว่าสารหนูแดง, เรียกหินลายสีแดง ๆ เช่น รัตนผลึกเลื่อมมโนศิลาลาย (จากมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มหาพน) มโนสุจริต หมายถึง ความประพฤติชอบทางใจ มี ๓ อย่าง ได้แก่ ความไม่โลภอยากได้ของของผู้อื่น ๑ ความไม่พยาบาท ๑ ความเห็นถูกตามทำนองคลองธรรม ๑ มโนหระ หมายถึง เป็นที่จับใจ, น่ารักใคร่, สวย, งาม

แต่ถ้าเป็นคำว่า มโนราห์ จะหมายถึง ศิลปะการแสดงพื้นเมืองอย่างหนึ่งของภาคใต้ มีแม่บทท่ารําอย่างเดียวกับละครชาตรี บางครั้งเรียกว่า โนรา หรือเขียนว่า มโนห์รา ส่วนอีกความหมายหนึ่ง มโนราห์ หมายถึง ชื่อเพลงไทยทํานองหนึ่ง ถ้าเป็นชื่อคดีทางกฎหมายจะใช้ว่า มโนสาเร่ หมายถึง เรื่องเบ็ดเตล็ดหยุมหยิม เช่น เรื่องมโนสาเร่, คดีอันมีทุนทรัพย์หรือค่าเช่าจำนวนเล็กน้อย ซึ่งไม่เกินจำนวนที่กำหนดในกฎหมายเรียกว่า คดีมโนสาเร่.


ผ้าห้อยหอ..
ผ้าห้อยหอ เมื่อเอ่ยถึงใน พ.ศ.นี้ คงเป็นชื่อที่ยากจะเดาความหมายและที่มาได้ถูกต้อง แต่ถ้าท่านที่เคยอ่านบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนแต่งงานพลายแก้วกับนางพิม จะเข้าใจเมื่อพบบทพรรณนาถึงการแต่งงานตามพิธีโบราณ เรื่องนี้มีอธิบายไว้ในสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ว่า ผ้าห้อยหอ คือผ้าที่ฝ่ายเจ้าสาวนำมาให้เจ้าบ่าวนุ่งผลัดหลังเสร็จจากพิธีซัดน้ำที่เรือนหอก่อนพิธีแต่งงานในวันรุ่งขึ้น และนำมาให้นุ่งผลัดตอนที่เจ้าบ่าวนอนเฝ้าหออีกหนหนึ่ง

ก่อนถึงฤกษ์แต่งงานวันหนึ่งซึ่งเป็นวันสุกดิบ ตอนเช้าเจ้าบ่าวนำขันหมากและผ้าไหว้ไปยังบ้านเจ้าสาว พร้อมกับเตรียมของสำหรับชำร่วย “ผ้าห้อยหอ” และของขวัญสำหรับเจ้าสาวติดตัวไปด้วย เวลาเย็นมีนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ที่เรือนหอ พอพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เสร็จ ก็มีพิธีซัดน้ำ ต่อเมื่อเสร็จจากพิธีซัดน้ำ พวกเจ้าสาวกลับเข้าห้อง (เรือนเดิมของตน) เพื่อผลัดเครื่องนุ่มห่มที่เปียกน้ำ ส่วนพวกเจ้าบ่าวก็ผลัดเครื่องแต่งกายเช่นเดียวกัน โดยจะมีเด็กหญิงฝ่ายเจ้าสาวมารับเครื่องนุ่มห่มของพวกเจ้าบ่าวที่เปียกน้ำไปบิดและตากให้ ตอนนี้เองที่เจ้าบ่าวต้องนำเงินหรือแหวนที่เตรียมมา ผูกหรือขอดชายผ้านุ่งของตนไว้ก่อน เมื่อเด็กหญิงนำผ้าที่เรียกว่า “ผ้าห้อยหอ” มาให้ผลัด และรับผ้านุ่งเดิมไปบิดตาก ก็จะพบเงินหรือแหวนนั้นได้ไปเป็นของขวัญ เท่ากับเป็นรางวัลค่าบิดผ้าตาก

เสร็จจากพิธีซัดน้ำแล้ว ก็มีการเลี้ยงกัน คืนนั้นเจ้าบ่าวต้องนอนเฝ้าหอ รุ่งขึ้นตอนเช้ามีพิธีตักบาตรกับเจ้าสาว ตอนกลางคืนจึงเป็นฤกษ์ทำพิธีส่งตัวเจ้าสาวให้แก่เจ้าบ่าวที่เรือนหอ ถ้ายังไม่ถึงฤกษ์ตามประเพณีเดิม เจ้าบ่าวต้องนอนเฝ้าหออยู่หลายคืนก็มี ในตอนค่ำฝ่ายเจ้าสาวจะส่งผ้านุ่งมาให้ผืนหนึ่ง เพื่อจะได้ผลัดนุ่งนอนเฝ้าหอ ผ้าที่ฝ่ายเจ้าสาวส่งมาให้นุ่งตอนนี้ก็เรียก “ผ้าห้อยหอ” อีกสำรับหนึ่ง จึงรวมความได้ว่า ผ้าที่ฝ่ายเจ้าสาวนำมาให้เจ้าบ่าวผลัด ทั้งในพิธีซัดน้ำและในการนอนเฝ้าหอเรียกว่า “ผ้าห้อยหอ” ซึ่งถ้าเจ้าบ่าวต้องนอนเฝ้าหออยู่หลายคืน ฝ่ายเจ้าสาวก็จัดส่งผ้ามาให้ผลัดทุกคืนหรือไม่ และเจ้าบ่าวต้องให้รางวัลแก่ผู้นำมาทุกคราวหรือไม่ ในตำราไม่ได้บอกไว้.


นฤมล บุญแต่ง


เพียงพอ..
ในทางเศรษฐศาสตร์ได้กล่าวถึงความต้องการของมนุษย์ว่ามีไม่จำกัด แต่สิ่งที่มีอยู่จำกัดนั้นคือทรัพยากร จึงต้องจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดนั้นให้มีประสิทธิภาพสูงสุด อย่างไรก็ตาม หากมนุษย์ยังไม่รู้จักคำว่า พอ การแย่งชิงทรัพยากรต่าง ๆ ก็จะยังมีอยู่เสมอ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ อธิบายว่า พอ หมายถึง เท่าที่ต้องการ, ควรแก่ความต้องการ, เต็มเท่าที่จำเป็น, เต็มตามต้องการ เช่น ในการเดินทางจะต้องเตรียมเงินไปเท่าไรจึงจะพอ หรือหมายถึง เหมาะ, เพียงทําได้, ควร; ถูก, ชอบ เช่น พอใจ พอตา พอหู หรือหมายถึง อาจ...ได้ เช่น ตาพอดู หูพอฟัง หรือหมายถึง เมื่อ, ครั้นเมื่อ, เพิ่ง คำว่า พอ นำไปใช้ประกอบกับคำอื่นอีกหลายคำ เช่น พอกัน, พอ ๆ กัน หมายถึง เสมอกัน, ทัดเทียมกัน, เทียบเท่ากัน, เช่น เก่งพอกัน ฝีมือพอกัน ร้ายพอ ๆ กัน พอกันที หมายถึง บอกเลิกกัน, ยุติกัน, ไม่เกี่ยวข้องกันอีกต่อไป พอการ หมายถึง สมควรแก่งาน, บางทีใช้หมายความว่า มาก พอควร หมายถึง พอสมควร พอใจ หมายถึง สมใจ, ชอบใจ, เหมาะ พอดิบพอดี หมายถึง กำลังดี, พอเหมาะพอเจาะ เช่น มีเงินไปเท่ากับราคาของพอดิบพอดี กางเกงตัวนี้ใส่ได้พอดิบพอดี บางครั้งใช้ว่า พอดี แต่ถ้าใช้ว่า พอดีพอร้าย หมายถึง ปานกลาง, ไม่ดีนัก, ไม่เลวนัก หรือหมายถึง บางที (แสดงความไม่แน่นอน) เช่น พอดีพอร้ายไม่ได้ไป พอตัว หมายถึง พอเหมาะสมแก่ตน เช่น มีความสามารถพอตัว พอทำเนา หมายถึง พอสมควร, พอสถานประมาณ, เช่น เจ็บไข้ก็พอทำเนา ยังแถมถูกออกจากงานเสียอีก พอฟัด, พอฟัดพอเหวี่ยง หมายถึง พอสู้กันได้ เช่น เขามีฝีมือพอฟัดพอเหวี่ยงกัน บางครั้งใช้ว่า พอวัดพอเหวี่ยง ส่วน พอแรง หมายถึง เต็มแรง, มาก เช่น ถูกด่าเสียพอแรง ว่าเสียพอแรง พอสถานประมาณ หมายถึง เพียงระดับปานกลาง เช่น เขามีความรู้พอสถานประมาณ บางครั้งใช้ว่า พอสัณฐานประมาณ ส่วน พอหอมปากหอมคอ หมายถึง พอสมควร, พอดี ๆ, นิด ๆ หน่อย ๆ, เช่น กินพอหอมปากหอมคอ พูดพอหอมปากหอมคอ พอก้าวขาก็ลาโรง หรือ พอยกขาก็ลาโรง หมายถึง ชักช้าทําให้เสียการ พอแย้มปากก็เห็นไรฟัน หรือ พออ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ หมายถึง รู้ทันกัน.

จินดารัตน์ โพธิ์นอก


แพร่ง

คำ “แพร่ง” พจนานุกรม ฉบับราช บัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ นิยามความหมายว่า ทางแยกทางบก คำนี้เราเคยได้ยินมาแต่โบราณ ปัจจุบันก็มีใช้อยู่ เช่น ทางสามแพร่ง และถนนในกรุงเทพฯ ก็มีชื่อแพร่งอยู่ ๓ ถนนด้วยกัน ดังรายละเอียดจากพจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม ของ นางสาวกนกวลี ชูชัยยะ

แพร่งนรา ชื่อถนน เริ่มตั้งแต่ถนนอัษฎางค์ถึงถนนตะนาว กรุงเทพมหานคร ถนนแพร่งนราเป็นถนนที่ตัดผ่านวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาเขียน พระนามเดิม พระองค์เจ้าวรวรรณากร ต้นราชสกุลวรวรรณ เมื่อตัดถนนผ่านกลางวัง คนทั่วไปจึงเรียกชื่อถนนตามพระนามท่านเจ้าของวังว่า ถนนแพร่งนรา

แพร่งภูธร ชื่อถนนเริ่มตั้งแต่ถนนอัษฎางค์ถึงถนนตะนาว กรุงเทพมหานคร ถนนแพร่งภูธร เป็นถนนซึ่งตัดผ่านบริเวณวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ พระนามเดิมพระองค์เจ้าทวีถวัลยลาภ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาตลับ ทรงเป็นต้นราชสกุลทวีวงศ์ ประทับที่วังบริเวณหัวมุมสี่กั๊กเสาชิงช้า ริมถนนบ้านตะนาว เมื่อสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๒๔๔๐ ขณะพระชันษาเพียง ๔๒ ปี ทายาทของพระองค์ได้ขายวังให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกแถวและตัดถนนผ่านบริเวณวัง จึงเรียกชื่อถนนตามพระนามของท่านเจ้าของวังว่า ถนนแพร่งภูธร

แพร่งสรรพศาสตร์ ชื่อถนนเริ่มตั้งแต่ถนนอัษฎางค์ ถึงถนนตะนาว กรุงเทพมหานคร ถนนแพร่งสรรพศาสตร์ เป็นถนนซึ่งตัดผ่านวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพศาตรศุภกิจ ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาสังวาลย์ พระนามเดิมพระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ ต้นราชสกุลทองแถม เมื่อสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๒๔๖๒ ทายาทได้ขายวังให้เอกชน วังจึงถูกรื้อแล้วสร้างอาคารพาณิชย์ และตัดถนน
ผ่าน เรียกชื่อถนนที่ตัดผ่านวังว่าถนนแพร่งสรรพศาสตร์.

นฤมล บุญแต่ง


สิ่งที่เห็นอยู่..
ท่านคงจะเคยได้ยินมาบ้างว่า บางครั้งสิ่งที่มองเห็นไม่ใช่สิ่งที่เป็นจริง เพราะเรามักจะคิดว่าสิ่งที่มองเห็นคือสิ่งที่เห็นด้วยตาเท่านั้น อันที่จริงแล้ว เราเห็นด้วยใจก็ได้ ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ อธิบายว่า เห็น เป็นคำกริยา หมายถึง อาการของตาที่ประสบรูป, ปรากฏแก่ตา, ปรากฏแก่ใจ, คิดรู้ ถ้าพิจารณาตามความหมายนี้จะพบว่าบางครั้ง เราอาจจะ “เห็น” ได้มากกว่าสิ่งที่ตามองเห็นก็ได้

คำว่า เห็น ใช้ประกอบกับคำอื่นได้หลายความหมาย เช่น เห็นการณ์ไกล หมายถึง คาดคะเนเหตุการณ์ล่วงหน้าได้ถูกต้องหรือใกล้เคียง โดยอาศัยเหตุผลหรือประสบการณ์ เป็นต้น บางครั้งใช้ว่า มองการณ์ไกล เห็นแก่หน้า หมายถึง ลําเอียงในบุคคล, มุ่งเฉพาะคน เห็นใจ หมายถึง เห็นน้ำใจว่าเป็นอย่างไร เช่น ดีหรือชั่ว, ร่วมรู้สึกในความทุกข์ยากของผู้อื่น เช่น รู้สึกเห็นใจคนจนที่ต้องอดมื้อกินมื้อ หรือหมายถึง มาทันพบก่อนตาย เช่น เขามาทันเห็นใจก่อนพ่อจะสิ้นลม เห็นดีกัน หมายถึงเห็นว่าใครจะมีฝีมือหรือความสามารถเป็นต้นมากกว่ากัน (มักใช้ในทางท้าทาย) เช่น สักวันหนึ่งจะต้องเห็นดีกัน เห็นดีเห็นงาม หมายถึง คิดหรือรู้สึกคล้อยตาม เห็นผิดเป็นชอบ หมายถึง เห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง มีความหมายเดียวกันกับคำว่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ส่วนคำว่า เห็นหน้าเห็นหลัง หมายถึง เห็นผลงานที่ได้ลงทุนลงแรงไป เห็นดำเห็นแดง หมายถึง ถึงที่สุดจนรู้ความจริงว่าดีหรือชั่ว ผิดหรือถูก เป็นต้น เห็นดี หมายถึง เห็นประจักษ์ในอำนาจ (มักใช้ในการขู่เด็กหรือผู้น้อย) เช่น เดี๋ยวก็ได้เห็นดีหรอก เห็นแก่ หมายถึง มุ่งเฉพาะเพื่อ เช่น เห็นแก่ตัว เห็นแก่พวก เห็นแก่ได้ เห็นขี้ดีกว่าไส้ หมายถึงเห็นคนอื่นดีกว่าญาติพี่น้อง ส่วนสำนวนว่า เห็นเขาขึ้นคานหาม เอามือประสานก้น หรือ เห็นเขาขึ้นคานหาม เอามือประสานรัดก้น หมายถึง ทําเลียนแบบคนใหญ่คนโตหรือคนมั่งมีทั้ง ๆ ที่ตนไม่มีกําลังทรัพย์หรือความสามารถพอ, มีความหมายอย่างเดียวกับ เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง ส่วน เห็นช้างเท่าหมู หมายถึง เห็นฝ่ายตรงข้ามซึ่งแม้จะตัวใหญ่กว่าหรือมีอำนาจมากกว่าไม่น่าเกรงขามในเวลาที่โกรธมากจนลืมตัว เห็นชายผ้าเหลือง หมายถึง มีโอกาสได้จัดการบวชลูกหลานเป็นต้นในพระพุทธศาสนา ถือว่าได้บุญมาก.

จินดารัตน์ โพธิ์นอก

credit : dailynews
Bloggang.com : lozocat : TABLE 42
lozocatlozocat



Create Date : 09 กุมภาพันธ์ 2555
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2555 19:35:08 น. 0 comments
Counter : 1464 Pageviews.

Rain_sk
Location :
Upper Midwest United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 68 คน [?]





"ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ส่งผล
คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง
เมื่อใดบาปให้ผล คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น"
ขุ.ธ. 25/15/24
เวลา 4.57PM :sat,Mar 29,2557



BlogGang Popular Award # 9


BlogGang Popular Award # 10


BlogGang Popular Award # 11


BlogGang Popular Award # 12


Friends' blogs
[Add Rain_sk's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.