Group Blog
 
 
กุมภาพันธ์ 2555
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
26272829 
 
3 กุมภาพันธ์ 2555
 
All Blogs
 
องค์ความรู้ภาษาไทย..คำว่า' ราชบุรี'..คำว่า..ความอยาก..ช่อง..พระที่นั่งไชยชุมพล

องค์ความรู้ภาษาไทย..คำว่า' ราชบุรี'..คำว่า..ความอยาก..ช่อง..พระที่นั่งไชยชุมพล ..นามปากกา

ราชบุรี - องค์ความรู้ภาษาไทย
ราชบุรีจัดเป็นจังหวัดหนึ่งที่คนกรุงเทพฯ นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนเนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่มีชื่อหลายแห่ง เช่น ถ้ำจอมพล ถ้ำบิน ถ้ำฤๅษี ตลาดน้ำดำเนินสะดวก และด้วยเหตุผลดังกล่าวในยามที่ประเทศไทยประสบกับอุทกภัยครั้งใหญ่ ราชบุรีจึงเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีประชาชนเลือกและเดินทางไปพักอาศัยหลบหนีภัยน้ำท่วม ทราบไหมว่าจังหวัดราชบุรีนี้สร้างมาตั้งแต่สมัยใด สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๒๕ อธิบายว่า

ราชบุรีเป็นจังหวัดในภาคตะวันตกอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับจังหวัดกาญจนบุรี ทิศตะวันออกติดต่อกับจังหวัดนครปฐม จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดสมุทรสงคราม ทิศใต้ติดต่อกับจังหวัดเพชรบุรี ทิศตะวันตกติดต่อกับประเทศพม่าโดยมีทิวเขาตะนาวศรีเป็นแนวกั้นเขตแดน ภูมิประเทศทางซีกตะวันออกของจังหวัดเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำแม่กลองไหลจากจังหวัดกาญจนบุรีเข้ามาทางด้านเหนือของจังหวัดผ่านไปทางทิศใต้ ส่วนซีกตะวันตกของจังหวัดเป็นที่ราบลูกเนินและภูเขาเตี้ย ๆ ไปจนจดทิวเขาตะนาวศรี มีแม่น้ำภาชีไหลจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดขึ้นไปทางเหนือไปลงแม่น้ำแควน้อยในจังหวัดกาญจนบุรี

ราชบุรีเป็นเมืองโบราณ ไม่มีหลักฐานแน่นอนว่าสร้างมาตั้งแต่เมื่อใด แต่พบว่าในสมัยสุโขทัยมีกล่าวถึงจังหวัดราชบุรีโดยปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชว่าเป็นเมืองขึ้นของกรุงสุโขทัย ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลองซึ่งในปัจจุบันยังเห็นมีเนินดินที่เคยเป็นกำแพงเมืองเก่า ปัจจุบันเรียกเมืองเก่านี้ว่า ค่ายหลุมดิน ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมาสร้างเมืองใหม่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลองเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๐ ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงย้ายเมืองไปตั้งทางฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลองอีกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ จนถึงทุกวันนี้.

กนกวรรณ ทองตะโก



ความอยาก...
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ อธิบายว่า อยาก เป็นคำกริยา หมายถึง

ปรารถนา ประสงค์ ต้องการ ใคร่ เช่น อยากเป็นใหญ่เป็นโต อยากมีเงิน อีกความหมายหนึ่งหมายถึง หิว, กระหาย (ใช้แก่อาหาร) เช่น อยากข้าว อยากน้ำ ในภาษาไทยมีคำหลายคำที่อาจใช้แทนคำว่าอยากได้เช่นกัน ซึ่งพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้เก็บรวบรวมไว้ เช่น คำว่า ต้องการ หมายถึง อยากได้ ใคร่ได้ ประสงค์ คำว่า จำนง หมายถึง ประสงค์ มุ่งหวัง ตั้งใจ (แผลงมาจาก จง) คำว่า ประสงค์ หมายถึง ต้องการ อยากได้ หรือหมายถึง มุ่งหมาย, มุ่ง คำว่า ใคร่ หมายถึง อยาก, ต้องการ, ปรารถนา, ใฝ่ หรือใช้เป็นคำช่วยกริยาแสดงการขอร้องอย่างสุภาพ เช่น ใคร่ขออนุญาตดำเนินการ คำว่า ปรารถนา หมายถึง มุ่งหมาย อยากได้ ต้องการ คำว่า หิว หมายถึง อยากกิน, อยากดื่ม โดยปริยายหมายถึงอาการคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น หิวเงิน คำว่า กระหาย หมายถึง รู้สึกคอแห้งด้วยอยากดื่มน้ำเพราะมีอาการร้อนในเป็นต้น หรือหมายถึง อยากเป็น

ในทางวิชาการได้จัดลำดับความอยาก ของมนุษย์ไว้เช่นกัน พจนานุกรมศัพท์จิตวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า ความต้องการพื้นฐาน (basic needs) หมายถึง ความจำเป็นขั้นพื้นฐานของมนุษย์ตามแนวคิดของเอบราแฮม แฮโรลด์ มาสโลว์ (Abraham Harold Maslow) ซึ่งได้แบ่งลำดับความต้องการของมนุษย์เป็น ๕ ขั้น คือ ๑. ความต้องการทางร่างกาย (physiological needs) ๒. ความต้องการความปลอดภัย (safety needs) ๓. ความต้องการความรักและเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม (love and belongingness needs) ๔. ความต้องการความภูมิใจในตนหรือความต้องการให้ผู้อื่นเห็นคุณค่าแห่งตน (esteem needs) ๕. ความต้องการบรรลุศักยภาพแห่งตน (self-actualization needs)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคนเราจะมีความอยากสักเพียงใด ก็ควรจะมี หิริโอตตัปปะ ซึ่งหมายถึง ความละอายบาปและความเกรงกลัวบาป, ความละอายใจ กันไว้บ้างก็ดีนะคะ.

จินดารัตน์ โพธิ์นอก


..ช่อง - องค์ความรู้ภาษาไทย

คำ “ช่อง” ความหมายทั่วไปตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน คือ ที่ว่างซึ่งเป็นทางเข้าออกได้ เช่น ช่องเขา ช่องหน้าต่าง ช่องลม; โอกาส. ส่วนช่องในที่นี้เป็นแบบเฉพาะด้านสถาปัตยกรรมโบราณของไทย ซึ่งพจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้อธิบายไว้หลายลักษณะด้วยกัน

ช่องกุด คือช่องทางเข้าออกของกำแพงเมืองหรือพระบรมมหาราชวัง ช่องกุดนี้เป็นเพียงประตูเข้าออกของราษฎรหรือข้าราชบริพาร ไม่ใช่ประตูสำคัญ ดังนั้น จึงมักอยู่ด้านข้างหรือด้านหลังของกำแพงเมืองหรือพระบรมมหาราชวัง ที่เรียกช่องเพราะประตูนี้เจาะกำแพงเป็นช่องพอเดินเข้าออกได้ โดยไม่ตัดกำแพงให้ขาดออกจากกัน ลักษณะเฉพาะของช่องกุด คือไม่มีการตกแต่งขอบและไม่มีซุ้มประตูทรงต่าง ๆ อยู่ด้านบนของช่อง เช่น ช่องกุดของพระบรมมหาราชวังด้านแม่น้ำเจ้าพระยา ช่องโคม ช่องที่เจาะตามผนังอาคารเพื่อให้แสงสว่างและอากาศผ่าน มีรูปร่างคล้ายดวงโคมแบบจีน รอบ ๆ ช่องมีการปั้นปูนให้เป็นขอบ ช่องโคมนี้มีมาแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ช่องตีนกา ช่องที่เจาะเป็นรูปกากบาททะลุกำแพงเมือง ป้อมหรือกำแพงพระบรมมหาราชวัง เพื่อประโยชน์ทางยุทธวิธีในสมัยโบราณหรือเพื่อการตกแต่ง ส่วนช่องตีนกาที่มีตามผนังอาคารอื่น ๆ เจาะขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ระบายอากาศและเพื่อให้เกิดความสวยงาม ช่องปรุ ช่องที่เจาะตามผนังอาคาร เพื่อให้อากาศถ่ายเทหรือให้แสงสว่างส่องเข้าได้ อาจก่ออิฐหรือปั้นปูนเป็นลวดลายโปร่ง ใส่กระเบื้องปรุเพื่อให้ดูสวยงาม นอกจากนั้นยังประดับลวดลายปูนปั้นตามขอบอีกด้วย ช่องแมวลอด ช่องว่างที่เกิดจากการลดระดับระหว่างพื้นเรือนกับพื้นระเบียงของเรือนไทยภาคกลาง เป็นช่องกว้างประมาณ ๒๐-๒๕ ซม. มีขนาดพอแมวลอดได้ ช่องแมวลอดเป็นลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งของเรือนไทย เพราะช่วยให้เกิดการถ่ายเทอากาศระหว่างใต้ถุนเรือนกับบนเรือน และยังเป็นช่องว่างให้มองลอดลงไปตรวจตราใต้ถุนเรือนได้อีกด้วย ช่องดอกจัน ช่องที่เจาะตามผนังอาคารแบบเดียวกับช่องโคม แต่มีรูปร่างคล้ายดอกจันที่มีกลีบเป็นจัก ๆ รอบ ๆ ช่องมีการปั้นปูนตามรูปที่เจาะ ช่องดอกจันมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย.

นฤมล บุญแต่ง


พระที่นั่งไชยชุมพล ...
ในช่วงวันงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมานี้ หลายคนคงได้ไปชมสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ในพระบรมมหาราชวังซึ่งเปิดให้เข้าชมในเวลากลางคืนด้วย ในจำนวนนั้นมีพระที่นั่งองค์เล็ก ๆ องค์หนึ่ง สามารถมองเห็นได้จากภายนอกเนื่องจากตั้งอยู่บนกำแพงพระบรมมหาราชวัง นั่นก็คือ พระที่นั่งไชยชุมพล

นางสาวขนิษฐา วงศ์พานิช บรรณาธิการ ในคณะบรรณาธิการจัดทำสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทยของราชบัณฑิตยสถาน อธิบายไว้ว่า พระที่นั่งไชยชุมพลเป็นพระที่นั่งขนาดเล็ก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ตั้งอยู่บนกำแพงพระบรมมหาราชวังด้านตะวันออก ใกล้ประตูสวัสดิโสภา เป็นพระที่นั่งชั้นเดียว ก่ออิฐถือปูน ยกพื้น กว้าง ๔.๗๕ เมตร ยาว ๘.๗๐ เมตร สูง ๒.๕๐ เมตร สร้างบนฐานสูง ๓ เมตร หลังคาทรงไทย มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ลงรักปิดทองประดับกระจก มีบันไดอยู่ด้านในกำแพง ๒ ด้าน คือ ทิศเหนือและทิศใต้ พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่ประทับทอดพระเนตรการฝึกทหารและกระบวนแห่พระยายืนชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมปวาย ตรีปวาย เพราะตั้งอยู่ในจุดที่สามารถมองเห็นเสาชิงช้าได้ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๒๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีสังเวยพระสยามเทวาธิราชและสังเวยเทวดา ณ พระที่นั่งองค์นี้ และยังใช้ประทับคอยกระบวนแห่ในพิธีทรงบรรพชาพระเจ้าลูกยาเธอเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘

ตั้งแต่ก่อสร้างพระที่นั่งองค์นี้ไม่พบหลักฐานการบูรณะซ่อมแซม จนถึง พ.ศ. ๒๔๙๓ พระที่นั่งมีสภาพชำรุดทรุดโทรมทุกส่วน สำนักพระราชวังและกรมศิลปากรได้ร่วมกันดำเนินการซ่อมแซมจนเรียบร้อยใน พ.ศ. ๒๔๙๔ และเมื่อถึง พ.ศ. ๒๕๒๕ ก็ได้ร่วมกันบูรณะพระที่นั่งไชยชุมพลตลอดทั้งองค์อีกครั้งหนึ่งเนื่องในโอกาสการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี.


..นามปากกา
นามปากกาหรือนามแฝง คือชื่อที่นักเขียนใช้แทนชื่อจริงในการเขียนหนังสือ ท่านที่เป็นนักอ่านหรือหนอนหนังสือคงทราบดี และมีนักเขียนในดวงใจในนามปากกาต่าง ๆ ความสนใจและการติดตามงานเขียนทำให้รู้จักชื่อจริงและแม้แต่หน้าตาของนักเขียนด้วย ปัจจุบันนามปากกาจึงไม่เป็นความลับ พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน มีเล่าถึงความเป็นมาของการใช้นามปากกาในวรรณกรรมไทยว่า

นักเขียนไทยเริ่มใช้นามปากกาหรือนามแฝงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่มีเจ้านายชั้นสูง และขุนนางไปศึกษาต่อในต่างประเทศกันมาก การอ่านและการแปลวรรณกรรมจากต่างประเทศ คงเป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนไทยริเริ่มแต่งวรรณกรรมสมัยใหม่ ได้แก่ นวนิยาย เรื่องสั้น และบทละคร ผู้แต่งเหล่านี้จึงเริ่มใช้นามปากกาในการเขียนหนังสือเช่นเดียวกับนักเขียนต่างประเทศ เช่น พระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล) ซึ่งเป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงรุ่นแรก ใช้นามปากกา แม่วัน ในการแปลนวนิยาย เรื่อง ความพยาบาท พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ว่า ท้าวสุภัตติการภักดี เป็นพระนามแฝงในการพระราชนิพนธ์เรื่อง โคลงนิราศท้าวสุภัตติการภักดี ในสมัยนี้นามแฝงที่เป็นอักษรย่อก็เป็นที่นิยม เช่น น.ม.ส. เป็นพระนามแฝงของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ แต่ก็มีนามแฝงอีกมากที่ในเวลาต่อมาไม่ทราบว่าเป็นของผู้ใด พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระนามแฝงจำนวนมาก เพราะมีงานพระราชนิพนธ์หลายประเภท มีหลักฐานว่าทรงเริ่มใช้พระนามแฝงในขณะทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ เช่น Young Tommy, Marcus Virginius พระนามแฝงภาษาไทย เช่น อัศวพาหุ, รามจิตติ ฯลฯ ข้าราชบริพารผู้รับใช้ในกิจการต่าง ๆ ก็ได้รับพระราชทานนามแฝงด้วย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว การเขียนนวนิยายพัฒนาจนกลายเป็นรูปแบบบันเทิงคดีของไทยที่นิยมเขียนและนิยมอ่านกันทั่วไป นักเขียนบางคนเขียนมากและหลากหลายประเภท จึงมีนามปากกามาก เช่น มาลัย ชูพินิจ ใช้นามปากกา แม่อนงค์ เรียมเอง ฯลฯ ปัจจุบันการใช้นามปากกามักเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมากกว่า ส่วนการที่นักเขียนผู้หนึ่งมีนามปากกามาก เป็นเพราะมีงานเขียนหลายแนว.


มโน...
คำว่า มโน หลายคนอาจจะไม่ทราบความหมาย พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ อธิบายว่า มโน เป็นคำนาม หมายถึง ใจ (มีที่มาจากคำบาลี-สันสกฤตว่า มนสฺ) คำว่า มโน มักนำไปใช้ประกอบกับคำอื่น เช่น มโนกรรม หมายถึง การกระทำทางใจ, การคิด, ความคิด มโนคติ หมายถึง ความคิด มโนช หมายถึง “เกิดแต่ใจ” คือ ความรัก มโนชญ์ หมายถึง เป็นที่พอใจ, งาม มโนทุจริต หมายถึง ความประพฤติชั่วทางใจ มี ๓ อย่าง ได้แก่ ความโลภอยากได้ของของผู้อื่น ๑ ความพยาบาท ๑ ความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม ๑ มโนธรรม หมายถึง ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี, ความรู้สึกว่าอะไรควรทําอะไรไม่ควรทํา มโนนุกูล หมายถึง ซึ่งเกื้อกูลใจ, ชูใจ มโนภาพ หมายถึง ความคิดเห็นเป็นภาพขึ้นในใจ มโนภินิเวศ หมายถึง ความมั่นใจ, ความหนักแน่น มโนมัย หมายถึง สําเร็จด้วยใจ, ใช้ประกอบกับ ม้า หมายความว่า ม้าที่ใช้ขับขี่รวดเร็วได้ดังใจ ถ้าใช้คำว่า มโนมัย ในบทกลอนจะหมายถึง ม้า เช่น ครั้นถึงจึงสั่งข้าไท เร่งผูกมโนมัยที่เคยขี่ (จากบทละครสังข์ทอง) มโนรถ หมายถึง ความหวัง, ความประสงค์, ความใฝ่ฝัน มโนรม, มโนรมย์ หมายถึง เป็นที่ชอบใจ, งาม มโนศิลา หมายถึง ศิลาอ่อนที่ย่อยให้ละเอียดประสมเป็นสีทาสิ่งอื่นได้, อีกนัยหนึ่งว่าสารหนูแดง, เรียกหินลายสีแดง ๆ เช่น รัตนผลึกเลื่อมมโนศิลาลาย (จากมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มหาพน) มโนสุจริต หมายถึง ความประพฤติชอบทางใจ มี ๓ อย่าง ได้แก่ ความไม่โลภอยากได้ของของผู้อื่น ๑ ความไม่พยาบาท ๑ ความเห็นถูกตามทำนองคลองธรรม ๑ มโนหระ หมายถึง เป็นที่จับใจ, น่ารักใคร่, สวย, งาม

แต่ถ้าเป็นคำว่า มโนราห์ จะหมายถึง ศิลปะการแสดงพื้นเมืองอย่างหนึ่งของภาคใต้ มีแม่บทท่ารําอย่างเดียวกับละครชาตรี บางครั้งเรียกว่า โนรา หรือเขียนว่า มโนห์รา ส่วนอีกความหมายหนึ่ง มโนราห์ หมายถึง ชื่อเพลงไทยทํานองหนึ่ง ถ้าเป็นชื่อคดีทางกฎหมายจะใช้ว่า มโนสาเร่ หมายถึง เรื่องเบ็ดเตล็ดหยุมหยิม เช่น เรื่องมโนสาเร่, คดีอันมีทุนทรัพย์หรือค่าเช่าจำนวนเล็กน้อย ซึ่งไม่เกินจำนวนที่กำหนดในกฎหมายเรียกว่า คดีมโนสาเร่.

credit :  dailynews


Create Date : 03 กุมภาพันธ์ 2555
Last Update : 3 กุมภาพันธ์ 2555 17:12:10 น. 0 comments
Counter : 1294 Pageviews.

Rain_sk
Location :
Upper Midwest United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 68 คน [?]





"ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ส่งผล
คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง
เมื่อใดบาปให้ผล คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น"
ขุ.ธ. 25/15/24
เวลา 4.57PM :sat,Mar 29,2557



BlogGang Popular Award # 9


BlogGang Popular Award # 10


BlogGang Popular Award # 11


BlogGang Popular Award # 12


Friends' blogs
[Add Rain_sk's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.