Group Blog
 
<<
มีนาคม 2555
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
2 มีนาคม 2555
 
All Blogs
 
สำนวน 'กิน' ถิ่นใต้▶กิน ในสำนวนไทย▷กระต่ายบนดวงจันทร์▷กินเรียบวุธ▷สำนวน ปาก ถิ่นใต้◁




สำนวน 'กิน' ถิ่นใต้▶กิน ในสำนวนไทย▷กระต่ายบนดวงจันทร์▷กินเรียบวุธ▷สำนวน ปาก ถิ่นใต้◁


สำนวน 'กิน' ถิ่นใต้◀สำนวนของภาคกลางที่มีคำว่า “กิน” ประกอบอยู่ด้วยมีอยู่ไม่ใช่น้อย แต่ส่วนใหญ่จะไม่ได้มีความหมายว่า “กิน” เช่น สำนวนว่า “นอนกินบ้านกินเมือง” หมายถึง นอนตื่นสายมาก สำนวนว่า “กินรังแตน” หมายถึง มีอารมณ์เสียหงุดหงิดบ่นว่าเกินกว่าเหตุ

คำว่า “กิน” ที่ประกอบอยู่ในสำนวนถิ่นใต้ โดยไม่ได้มีความหมายว่า “กิน” ก็มีอยู่มากเช่นกัน อย่างสำนวนว่า “คนกินน้ำตาย” หมายถึง คนจมน้ำตาย สำนวนว่า “มีดกินมือ” หมายถึง มีดบาดมือ สำนวนว่า “คนกินยอ” หมายถึง คนบ้ายอ หรือคนที่ชอบคำพูดยกย่องสรรเสริญจนเกินจริงของผู้อื่น

อย่างไรก็ตาม คำว่า “กิน” ที่ประกอบอยู่ในสำนวนถิ่นใต้โดยมีความหมายว่า “กิน” จริง ๆ ก็มี คือ สำนวนว่า กินเหมือนแพะข้อง

สำนวนว่า กินเหมือนแพะข้อง นี้ นายชะเอม แก้วคล้าย กรรมการจัดทำเนื้อหาวิชาการด้านภาษาถิ่น ภาคใต้ ได้เขียนอธิบายไว้เห็นภาพชัดเจน โดยกล่าวถึงพฤติกรรมการกินของแพะไว้ว่า แพะเป็นสัตว์ที่กินเก่ง อะไรที่พอจะกินได้ แพะจะกินทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า คำว่า แพะข้อง หมายถึง แพะที่มีเชือกยาวคล้องคอไว้ เมื่อเจ้าของปล่อยแพะออกไปหากินเอง ถ้าปลายเชือกที่คล้องคอแพะไปติดหรือขัดอยู่กับสิ่งใด เช่น ท่อนไม้ ตอไม้ แพะก็จะเดินหากินได้เฉพาะบริเวณโดยรอบตามความยาวของเชือกที่ข้องอยู่หรือติดอยู่ และโดยที่แพะเป็นสัตว์ที่กินเก่ง กินจุ และกินตลอดเวลา บริเวณโดยรอบที่แพะข้องอยู่ก็จะไม่มีอะไรเหลือให้เห็นเป็นชิ้นเป็นอันเลย

พฤติกรรมการกินของแพะดังกล่าว จึงเป็นที่มาของสำนวนถิ่นใต้ที่ใช้เปรียบกับการกินของคนที่กินเก่ง กินจุ กินจนไม่มีอะไรเหลือ ว่า กินเหมือนแพะข้อง ในกรณีที่ต้องการแสดงความไม่พอใจ หรือพูดตำหนิติเตียน ก็จะมีคำอื่นแทนคำว่า “กิน” เพื่อให้มีความหมายรุนแรงขึ้น ซึ่งใช้ในภาษาปาก.

สุปัญญา ชมจินดา


กิน ในสำนวนไทย

หากพิจารณาดูสำนวนไทยที่ประกอบด้วยคำว่า “กิน” ก็มีอยู่หลายสำนวน ซึ่งเมื่อคำว่า “กิน” ประกอบอยู่ในสำนวนแล้วก็มีความหมายแตกต่างกันไปตามบริบท เช่น กินเหมือนหมู อยู่เหมือนหมา หรือ กินอย่างหมู อยู่อย่างหมา หมายถึง เละเทะ ไม่มีระเบียบ สำนวนว่า กินเหล็กกินไหล หมายถึง ทนต่อความเหน็ดเหนื่อยหรือความเจ็บป่วยได้อย่างผิดปรกติ

อย่างไรก็ตาม สำนวนที่มีคำว่า “กิน” ประกอบอยู่ด้วย ที่มีนัยหมายถึง ความไม่ซื่อสัตย์ ความเอาเปรียบ การทุจริต ก็มีปรากฏอยู่มาก ซึ่งย่อมสะท้อนสภาพสังคมไทยว่ามีเรื่องเหล่านี้อยู่มากเช่นกัน เช่น

สำนวนว่า กินบ้านกินเมือง ที่หมายถึง ฉ้อราษฎร์บังหลวง คือ การที่พนักงานเจ้าหน้าที่เก็บเงินจากราษฎรแล้ว ไม่ส่งหลวง หรือเบียดบังเงินหลวง

นอกจากสำนวนว่า “กินบ้านกินเมือง” แล้ว ยังมีสำนวนว่า กินตามน้ำ ที่หมายถึง รับของสมนาคุณที่เขาเอามาให้โดยไม่ได้เรียกร้อง (มักใช้แก่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ) สำนวนว่า กินนอกกินใน ที่หมายถึง เอากำไรในการซื้อขาย ทั้งในราคาและนอกราคาที่กำหนด สำนวนว่า กินเศษกินเลย หมายถึง กินกำไร, ยักเอาเพียงบางส่วนที่มีจำนวนเล็กน้อยไว้, ยักเอาส่วนที่เหลือไว้เป็นของตน, เอาเพียงบางส่วนไว้เป็นของตน

สำนวนที่ใกล้เคียงกับสำนวนว่า “กินบ้านกินเมือง” ก็คือ “ปล้นบ้านปล้นเมือง” ซึ่งหมายถึง โกงกินทรัพย์สมบัติของชาติ

โทษของผู้ที่ “กินบ้านกินเมือง” หรือ “ปล้นบ้านปล้นเมือง” ด้วยวิธีการต่าง ๆ มีทั้งโทษที่บัญญัติอยู่ในกฎหมายและโทษตามกฎแห่งกรรม ซึ่งจะนำข้อมูลเหล่านี้มาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไป

ผู้ที่มีปัญหาข้อข้องใจการใช้ภาษาไทยติดต่อได้ที่ ราชบัณฑิตยสถาน โทร. 0-2356-0466-70 หรือทางอินเทอร์เน็ตที่ //www.royin.go.th ส่วนผู้สนใจพัฒนาทักษะการใช้ภาษาไทยผ่านสื่อในรูปแบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์(e-learning)ดูรายละเอียดที่ //elearning.royin.go.th


กระต่ายบนดวงจันทร์
พระจันทร์เต็มดวงในคืนเดือนหงาย ทุกชาติทุกภาษาเห็นเช่นเดียวกันว่าคล้ายกับมีกระต่ายอยู่ในดวงจันทร์ ทำให้เกิดตำนานที่เกี่ยวกับกระต่ายในดวงจันทร์มากมาย ตำนานเก่าแก่ของจีนเล่าขานเกี่ยวกับกระต่ายหยกบนวังจันทราว่า เทพธิดาฉางเอ๋อซึ่งอยู่บนดวงจันทร์ได้มองลงมาเห็นโลกมนุษย์เกิดภัยโรคระบาด นางรู้สึกทุกข์ใจยิ่ง จึงส่งกระต่ายหยกข้างกายที่ปรกติตำยาอยู่บนดวงจันทร์ลงมารักษาโรคให้แก่ชาวบ้าน หลังจากนั้นกระต่ายหยกก็กลับขึ้นไปยังวังจันทรา นับแต่นั้นมาชาวบ้านจึงได้กราบไหว้บูชาเทพเจ้ากระต่ายในเทศกาลไหว้พระจันทร์สืบมา

ปัจจุบันนักดาราศาสตร์พบว่า รูปกระต่ายบนดวงจันทร์นั้น เป็นพื้นผิวของดวงจันทร์ที่เรียกว่า ทะเล(sea) หรือ มาเร (mare) มีลักษณะเป็นแอ่งกว้างใหญ่บนดวงจันทร์ เห็นเป็นสีเทาคล้ำ ส่วนใหญ่เคยเป็นหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่ ต่อมาถูกลาวาไหลท่วม การทรุดตัวของขอบหลุมบริเเวณที่ไม่แข็งแรง ทำให้ขอบทะเลกลายเป็นรูปร่างต่าง ๆ ดวงจันทร์มีทะเลกว่า ๓๐ แห่ง มักอยู่ในด้านใกล้ ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง ๓,๙๐๐ ล้านปีถึง ๓,๑๐๐ ล้านปี ทะเลที่มีอายุน้อยมักมีขอบค่อนข้างกลม ผิวเรียบ และมีหลุมอุกกาบาตน้อยมาก

ส่วนที่เราเห็นเป็นพื้นที่สีจางกว่า เรียก ที่สูงดวงจันทร์ (lunar highland) ซึ่งคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ดาราศาสตร์ให้นิยามว่า บริเวณที่สูงบนดวงจันทร์ มีสีจางกว่าบริเวณที่เรียกว่าทะเลซึ่งมีสีเทาคล้ำ มีหลุมอุกกาบาตปรากฏอยู่ค่อนข้างหนาแน่น บ่งบอกถึงการมีอายุมากกว่าบริเวณที่มีพื้นที่สีเทาคล้ำ ซึ่งเป็นผลมาจากการท่วมของลาวาที่เกิดตามมาทีหลัง

เนื่องจากพื้นผิวของดวงจันทร์มีบริเวณที่เป็นพื้นที่สูงและต่ำขนาดใหญ่ เราจึงเห็นดวงจันทร์ด้านใกล้โลกมีเงาสีเทาคล้ายรูปกระต่าย แม้ภายหลังนักดาราศาสตร์ค้นพบคำตอบนี้ แต่ตำนานกระต่ายบนดวงจันทร์ของต่างชาติต่างภาษาก็ยังเป็นเรื่องน่าสนใจและน่าหาหนังสือไว้อ่านกัน.

รัตติกาล ศรีอำไพ


กินเรียบวุธ
ในครั้งก่อน หลังจากที่เขียนถึงสำนวนถิ่นใต้ กินเหมือนแพะข้อง ที่หมายถึง กินเก่ง กินจุ กินจนไม่มีอะไรเหลือ แล้วก็ได้พยายามหาสำนวนภาคกลางมาเทียบ แต่ที่หาข้อมูลได้โดยมีความหมายใกล้เคียงกับสำนวนว่า “กินเหมือนแพะข้อง” ก็ค่อนข้างเป็นสำนวนที่พูดกันเป็นภาษาปาก หากจะนำมาเขียนไว้ก็อาจจะมีผู้ต่อว่าว่าใช้ไม่สุภาพ จึงขอยกไว้ไม่นำมาเขียนบอกไว้ในที่นี้ ถ้าจะยกสำนวนว่า “กินล้างกินผลาญ” มาเปรียบเทียบก็ไม่ใช่ไม่ใกล้เคียง เพราะ “กินล้างกินผลาญ” หมายถึง กินครึ่งทิ้งครึ่ง, กินทิ้งกินขว้าง, กินอย่างสุรุ่ยสุร่าย ไม่ได้หมายถึง กินจนเกลี้ยงไม่มีเหลือ
สำนวนถิ่นใต้ที่มีความหมายใกล้เคียงกับ กินเหมือนแพะข้อง คือ กินเหมือนไฟเดือนห้า ซึ่งนายชะเอม แก้วคล้าย อธิบายไว้ว่า เดือนห้าเป็นเดือนที่แห้งแล้งมากและอากาศร้อนจัด เมื่อเกิดไฟไหม้ ไฟจะลุกลามไปสู่บริเวณอื่นอย่างรวดเร็วและกว้างขวางมาก ทั้งนี้ สำนวน “กินเหมือนไฟเดือนห้า” มีความหมายต่างไปจาก “กินเหมือนแพะข้อง” เล็กน้อย เนื่องจาก “กินเหมือนไฟเดือนห้า” มีความหมายว่า กินมากและกินอย่างรวดเร็ว แต่ “กินเหมือนแพะข้อง” มีความหมายว่า กินเก่ง กินจุ กินจนไม่มีอะไรเหลือ ไม่ได้หมายความว่าต้องกินอย่างรวดเร็วด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อนึกถึงความหมายของสำนวนถิ่นใต้ “กินเหมือนแพะข้อง” ว่า กินจนหมดเกลี้ยง ทำให้นึกถึงภาษาปากคำว่า เรียบวุธ ที่หมายถึง หมดเกลี้ยง ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ เก็บคำไว้แล้ว โดยยกตัวอย่างการใช้คำ “เรียบวุธ” ว่า “กินเสียเรียบวุธเลย” หากจะกล่าวว่า กินเรียบวุธ กินจนเรียบวุธ กินเสียเรียบวุธ ก็จะได้ความหมายเพียง กินจนหมดเกลี้ยง แต่ยังไม่ได้ความหมายว่า กินเก่ง กินจุ ปรากฏชัดเจนรวมอยู่ในที่เดียวเหมือนคำว่า “กินเหมือนแพะข้อง” นอกจากจะต้องใช้สำนวนในภาษาปากซึ่งมีความหมายคล้ายและใกล้เคียงมากกว่า แต่ถ้านำมาใช้ในภาษาเขียนอาจมีผู้รู้สึกว่าไม่สุภาพได้

เมื่อพูดถึงคำว่า “เรียบวุธ” ในพจนานุกรมฯ แล้ว ก็จะต้องพูดถึงในความหมายอีกประการหนึ่งด้วย คือ “เรียบวุธ” เป็นคำที่เลือนมาจากคำว่า “เรียบอาวุธ” หมายถึง ถืออาวุธอยู่ในท่าเรียบ คือ ถือปืนแนบอยู่ทางขวา ส้นปืนจดดิน

สำนวนเกี่ยวกับคำว่า “กิน” ที่น่าสนใจและมักนำมาใช้เปรียบเปรยกันยังมีอยู่มาก ซึ่งจะนำมาเสนอในโอกาสต่อไป.

สุปัญญา ชมจินดา


สำนวน ปาก ถิ่นใต้
ภาษาไทยที่ใช้ในประเทศไทย มิได้มีเพียงภาษาไทยกรุงเทพซึ่งใช้เป็นภาษาราชการ หากแต่มีภาษาถิ่นอื่น ๆ ด้วย เช่น ภาษาถิ่นใต้ ภาษาถิ่นอีสาน ภาษาถิ่นเหนือ ภาษาในแต่ละถิ่นย่อมสะท้อนวัฒนธรรม ประเพณี ชีวิตความเป็นอยู่ ทัศนคติ ความเชื่อ ฯลฯ ของผู้คนในถิ่นนั้น ๆ

ภาษาที่อยู่ในสำนวนถิ่นก็เป็นส่วนหนึ่งสะท้อนสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวได้อย่างชัดเจน และมีหลายสำนวนที่ทุกถิ่นสอนคล้ายกัน หรือใกล้เคียงกัน เช่น สำนวนที่สอนเกี่ยวกับเรื่อง “ปาก” หรือ “คำพูด”

สำนวนถิ่นที่ใต้สอนเรื่อง “ปาก” หรือ “คำพูด” ว่าให้รู้จักระวังปากระวังคำ เป็นสำนวนสั้น ๆ เข้าใจง่าย คือ ปากอี้ฆ่าคอ เป็นสำนวนที่ชาวใต้ใช้กับคนที่ปากไม่ดี ไม่ระมัดระวังคำพูด หรือพูดให้ร้ายผู้อื่น ซึ่งสำนวนภาคกลางก็มีสอนเรื่องทำนองเดียวกันนี้คือสำนวนว่า “ปลาหมอตายเพราะปาก”

สำนวนใต้ ปากอี้ฆ่าคอ หมายถึง คำพูดที่จะตัดคอคนได้ หรือคำพูดที่จะฆ่าคนได้ ในสำนวนนี้ คำว่า “ปาก” หมายถึง “คำพูด” คำว่า “อี้” หมายถึง “จะ” คำว่า “ฆ่าคอ” หมายถึง “ตัดคอ” ชาวใต้ใช้สำนวน “ปากอี้ฆ่าคอ” ตักเตือนสั่งสอนลูกหลานให้รู้จักระมัดระวังคำพูด ซึ่งก็คือ สอนให้พูดดีคิดดี เพราะหากพูดให้ร้ายหรือพูดให้ผู้อื่นเสียหาย อาจสร้างอันตรายให้แก่ตนเองจนถึงตายได้

สำนวนถิ่นใต้ที่น่าสนใจยังมีอีกมาก ขณะนี้คณะกรรมการจัดทำเนื้อหาวิชาการด้านภาษาถิ่น ภาคใต้ ของราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งมี รศ.ประพนธ์ เรืองณรงค์ เป็นประธานกรรมการ กำลังดำเนินการจัดทำข้อมูลสำนวนถิ่นใต้ เพื่อเผยแพร่ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือสถานีวิทยุ ม.ก. ภาคเอเอ็ม ๑๑๐๗ กิโลเฮิรตซ์, ๖๑๒ กิโลเฮิรตซ์, ๑๒๖๙ กิโลเฮิรตซ์ และ ๑๓๑๔ กิโลเฮิรตซ์ ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา ๑๕.๐๕ น. เพื่อให้ความรู้และคุณค่าในภาษาถิ่นใต้ไปสู่ประชาชนทั่วทุกถิ่นของประเทศไทย.

credit : dailynews


Create Date : 02 มีนาคม 2555
Last Update : 2 มีนาคม 2555 18:11:48 น. 0 comments
Counter : 4341 Pageviews.

Rain_sk
Location :
Upper Midwest United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 68 คน [?]





"ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ส่งผล
คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง
เมื่อใดบาปให้ผล คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น"
ขุ.ธ. 25/15/24
เวลา 4.57PM :sat,Mar 29,2557



BlogGang Popular Award # 9


BlogGang Popular Award # 10


BlogGang Popular Award # 11


BlogGang Popular Award # 12


Friends' blogs
[Add Rain_sk's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.