Group Blog
 
 
กุมภาพันธ์ 2555
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
26272829 
 
1 กุมภาพันธ์ 2555
 
All Blogs
 
คำว่า “โดม” ..ตับเป็ด-ตับเต่า..พรหมลิขิต..เจ้าคุณผู้ใหญ่..พิธีซัดน้ำ..เรื่องของหู

คำว่า “โดม” ..ตับเป็ด-ตับเต่า..พรหมลิขิต..เจ้าคุณผู้ใหญ่..พิธีซัดน้ำ..เรื่องของหู..



คำว่า “โดม” เป็นคำที่ปรากฏอยู่ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ มีความหมายหลายอย่างตามพจานานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนี้

เมื่อเป็นคำนาม มี ๒ ความหมายคือ แนว, แถว, สายนํ้า หรือ หลังคาส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคารที่มีลักษณะโค้งกลมคล้ายผลส้มผ่าครึ่งควํ่า, ส่วนที่มีลักษณะโค้งกลมซึ่งครอบอยู่บนสิ่งก่อสร้าง และเมื่อเป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง สูง

สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑๒ อธิบายเพิ่มเติมว่า ตามรากศัพท์เดิมเมื่อกล่าวถึงโดม ความเข้าใจมักจะมุ่งไปทางความหมายเกี่ยวกับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีไว้สำหรับทำพิธีกรรมในทางบวงสรวงหรือกราบไหว้บูชา เช่น โบสถ์ หรือ วิหาร เมื่อมนุษย์เริ่มเข้าสู่ยุคแห่งอารยธรรม โดมได้ถูกใช้กับสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ แพร่หลายมากขึ้น เช่น ศาสนสถาน วัด และพระราชวัง

ในทางธรณีวิทยา โดม เป็นคำที่ทับศัพท์มาจากคำในภาษาอังกฤษว่า dome หมายถึง ลักษณะภูมิประเทศรูปคล้ายกระทะคว่ำหรือสุ่มไก่ ภูเขาบางแห่งที่มีสัณฐานเช่นนี้เรียกกันว่า ภูเขารูปโดม (dome mountain) และใช้ในความหมายของคำวิเศษณ์ หมายถึง คำที่ใช้กับลักษณะโครงสร้างธรณีวิทยาที่มีสัณฐานใกล้เคียงกับทรงกระทะคว่ำ จึงเกิดมีคำ โครงสร้างรูปโดม (dome structure) ซึ่งมีลักษณะโค้งตัวของชั้นหินเป็นรูปนั้น เช่น โดมหินเกลือ (salt dome) หมายถึง ชั้นหินเกลือซึ่งถูกบีบอัดจากรอบด้านทำให้อูดตัวขึ้น ณ จุดใดจุดหนึ่งใต้เปลือกโลก จนเห็นส่วนบนเป็นทรงกระทะคว่ำ โดมแกรนิต (granite dome) หมายถึง ส่วนบนของหินอัคนีที่ดันตัวสู่ผิวโลก หากมีทรงเช่นนี้ก็เรียกลักษณะเป็นโดมเช่นเดียวกัน

ผู้ที่มีปัญหาข้อข้องใจการใช้ภาษาไทยติดต่อได้ที่ ราชบัณฑิตยสถาน โทร. 0-2356-0466-70 หรือทางอินเทอร์เน็ตที่ //www.royin.go.th ส่วนผู้สนใจพัฒนาทักษะการใช้ภาษาไทยผ่านสื่อในรูปแบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-learning)ดูรายละเอียดที่ //elearning.royin.go.th
อารี พลดี


ตับเป็ด-ตับเต่า
คำว่า “ตับ” เป็นคำที่ปรากฏอยู่ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ หมายถึง อวัยวะประเภทต่อมของระบบทางเดินอาหารของคนและสัตว์ อยู่ในช่องท้อง ทําหน้าที่ทําลายพิษ สร้างนํ้าดีและโปรตีนบางชนิด เป็นต้น

ส่วนคำว่า ตับเป็ด ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ มิใช่อวัยวะของเป็ด แต่เป็นหินชนิดหนึ่ง สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑๒ อธิบายว่า ตับเป็ดเป็นชื่อเรียกหินชนิดหนึ่งในบริเวณที่มีพลอย ที่จังหวัดจันทบุรี ลักษณะหินเป็นมันสีเทาแก่เกือบดำ และหนัก ดูคล้ายตับเป็ด ชาวบ้านจึงเรียกหินตับเป็ด ในทางวิชาการ หินตับเป็ดนี้ คือ หินบะซอลต์ ซึ่งเป็นหินอัคนีชนิดหินภูเขาไฟ เกิดจากหินหนืดภายในโลกที่พลุ่งขึ้นมาสู่ผิวโลก แล้วไหลเป็นลาวาปกคลุมพื้นที่บริเวณนั้น ๆ ลาวามักไหลทับซ้อนกันหลาย ๆ ครั้ง เมื่อเย็นตัวแข็ง จึงอาจเป็นชั้นหนาได้ การที่หินหนืดออกมาเย็นตัวแข็งที่ผิวโลกนั้น ทำให้มีลักษณะเนื้อละเอียดเป็นมัน บางแห่งบางตอน อาจมีรูพรุนในเนื้อหินด้วย

นอกจากนี้ยังมีคำว่า ตับเต่า ที่มีชื่อสัตว์ประกอบอยู่ ซึ่งไม่ได้มีความหมายเกี่ยวกับสัตว์ชนิดนั้นเลย แต่เป็นชื่อของพรรณไม้และเห็ด สารานุกรมไทยฯ เล่ม ๑๒ อธิบายว่า ตับเต่าเป็นชื่อของพันธุ์ไม้ดอก ๒ ชนิด ชนิดหนึ่งเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Hydrocharis morsusranae อีกชนิดหนึ่งเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Mimulus orbicularis Benth. หรือเป็นชื่อเรียกเห็ดที่มีดอกใหญ่ ก้านกลมใหญ่ กระจังรูปร่างคล้ายร่ม ทางโคนสีน้ำตาลอมเขียวปนดำ มักพบขึ้นทั่วไปตามสวนและป่าที่มีความชื้นสูง หรือเป็นชื่อเรียกของกล้วยในสกุล Ensete มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Ensete nepalensis (Wallich) ด้วย

ผู้ที่มีปัญหาข้อข้องใจการใช้ภาษาไทยติดต่อได้ที่ ราชบัณฑิตยสถาน โทร.0-2356-0466-70 หรือทางอินเทอร์เน็ตที่ //www.royin.go.th ส่วนผู้สนใจพัฒนาทักษะการใช้ภาษาไทยผ่านสื่อในรูปแบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ( e-learning)ดูรายละเอียดที่ //elearning.royin.go.th
อารี พลดี


พรหมลิขิต
เมื่อผู้เขียนอ่านพบนิยามของคำว่า พรหมลิขิต ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่ให้ว่า “อำนาจที่กำหนดความเป็นไปของชีวิต (ถือกันว่า พระพรหมเขียนไว้ที่หน้าผากของเด็กซึ่งเกิดได้ ๖ วัน) ก็มีคำถามเกิดขึ้นในใจว่า สิ่งที่พระพรหมเขียนไว้ที่หน้าผากของเด็กซึ่งเกิดได้ ๖ วันนั้นมีอะไรบ้าง และก็ได้ทราบคำตอบเมื่อไปอ่านบทความเรื่อง “พรหมลิขิต” ซึ่งศาสตราจารย์วิสุทธ์ บุษยกุล ราชบัณฑิต (ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) เขียนไว้ในจดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ จึงขอนำบางส่วนของเนื้อหามาเผยแพร่ให้ผู้อ่านได้ทราบด้วย ดังนี้

“ตามความเชื่อของชาวฮินดู พรหมลิขิตคือความเชื่อว่าทุกอย่างในชีวิตของคนนั้นพระพรหมได้ลิขิตไว้บนหน้าผากของคนทุกคนแล้วในคืนวันที่ ๖ หลังจากวันเกิด บางทีเรียกว่า พรหมเรขา และเพราะจารึกนี้อยู่บนหน้าผาก ภาษาสันกฤตบางทีจึงใช้คำว่า ลลาฏลิขิต หรือ ลลาฏเรขา หรือ ลลาฏ ในความหมายว่าพรหมลิขิตบ่อย ๆ (คำว่า ลลาฏ ในภาษาบาลีและสันสกฤตแปลว่าหน้าผาก ไทยแผลงเป็น นลาฏ) ความคิดนี้มีในศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธ และศาสนาเชน รายละเอียดปลีกย่อยไม่เหมือนกัน แต่ผลในทางปฏิบัติไม่แตกต่างกันนัก”

พรหมลิขิตของศาสนาฮินดูคือสิ่งที่พระพรหมกำหนดและเขียนไว้บนหน้าผากของเด็กเมื่ออายุได้ ๖ วัน มีอยู่ ๕ อย่างด้วยกัน ได้แก่ ๑) ความสั้นยาวของอายุ ๒) ลักษณะของอารมณ์เจ้าเรือน ๓) ความเฉลียวฉลาด ๔) ฐานะทางสังคม และ ๕) ความรู้สึกในบุญและบาป ทั้งนี้ไม่มีหลักฐานปรากฏว่าพระพรหมอาศัยหลักอะไรในการเลือกจารึกหรือลิขิตเหตุการณ์ต่าง ๆ แม้แต่ในพิธีสังสการหรือพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิตของชาวฮินดูตั้งแต่เกิดจนตายซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ก็ไม่ได้กล่าวถึงการบูชาหรือบวงสรวงพระพรหมที่จะมาบันทึกพรหมลิขิตให้แก่เด็กที่เกิดใหม่เลย.

พรทิพย์ เดชทิพย์ประภาพ


เจ้าคุณผู้ใหญ่

เจ้าคุณผู้ใหญ่ที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ไทย เป็นคำเรียกผู้ดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีฝ่ายพลเรือน

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ตำแหน่งสมุหนายก และเป็นแม่ทัพใหญ่ ผู้สำเร็จราชการไปรบเขมรและญวนเกือบตลอดรัชกาล

สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายคำ เจ้าคุณผู้ใหญ่ ว่ามาจากคำเดิมคือ เจ้าคุณหมู่ใหญ่ ซึ่งข้าราชการทั้งในกรมมหาดไทยและกรมพระกลาโหมต่างใช้เรียกผู้ดำรงตำแหน่งสมุหนายกและสมุหพระกลาโหม เพราะทั้ง ๒ กรมแบ่งส่วนราชการออกเป็น ๓ หมู่เหมือนกัน ได้แก่ หมู่ใหญ่ ฝ่ายเหนือ และฝ่ายพลัมภัง แต่ข้าราชการในกรมอื่น ๆ มักจะเรียก เจ้าคุณผู้ใหญ่เพียงคนเดียว แล้วแต่ว่าในขณะนั้นผู้ดำรงตำแหน่งสมุหนายกหรือสมุหพระกลาโหมคนใดจะมีอำนาจมากกว่า เนื่องจากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งสมุหพระกลาโหม หลังจากเจ้าพระยามหาเสนา (น้อย) ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อต้นรัชกาลแล้ว ส่วนตำแหน่งสมุหนายกนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ดำรงตำแหน่งว่าที่สมุหนายกมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๗๐ ครั้งเป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดี สืบต่อจากเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย บุณยรัตพันธุ์) จนกระทั่งเป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชาและดำรงตำแหน่งสมุหนายกตลอดรัชกาล รวมทั้งเป็นแม่ทัพใหญ่ ผู้สำเร็จราชการยกทัพไปเมืองเขมรและญวน ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๗๖ – ๒๓๙๑ ด้วย คำว่า เจ้าคุณผู้ใหญ่หรือเรียกสั้น ๆ ว่า เจ้าคุณ เป็นคำที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า หมายถึง เจ้าพระยาบดินทรเดชา สมุหนายก และให้ใช้เป็นคำกราบบังคมทูลได้ ส่วนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มีพระกรุณาต่อท่านเป็นพิเศษ ถึงกับมีพระราชดำรัสเรียก เจ้าพระยาบดินทรเดชาว่า “พี่บดินทร์” ทั้งเมื่ออยู่ต่อหน้าและลับหลัง เจ้าพระยาบดินทรเดชา ทำราชการศึกอยู่ที่เมืองเขมรและญวนนานถึง ๑๕ ปี เมื่อกลับมารับราชการอยู่ในกรุงเทพฯได้เพียงปีเดียว ก็ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคป่วง (อหิวาตกโรค) เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๙๒ ขณะอายุ ๗๒ ปี ตลอดชีวิตราชการของท่านได้ทำคุณประโยชน์อเนกอนันต์แก่บ้านเมืองอย่างน่ายกย่องตราบทุกวันนี้.


พิธีซัดน้ำ - องค์ความรู้ภาษาไทย
วันอังคารที่ 6 ธันวาคม 2554 เวลา 00:00 น.

วัฒนธรรมประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนานนั้น บางส่วนเมื่อเวลาผ่านไปได้มีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับยุคสมัย ปัจจุบันพิธีการหลายอย่างที่มีมาแต่โบราณกาลจึงขาดหายไป เช่น พิธีซัดน้ำ สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน มีเรื่องเล่าว่า ซัดน้ำ คือการสาดน้ำในพิธีแต่งงานบ่าวสาวตามประเพณีที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งมีพรรณนาไว้ในบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนแต่งงานพลายแก้วกับนางพิม และตอนแต่งงานพระไวยกับนางศรีมาลา พิธีนี้เริ่มเวลาบ่ายของวันสุกดิบก่อนพิธีแต่งงาน จะมีพิธีซัดน้ำที่เรือนหอ เจ้าบ่าวและเพื่อนเจ้าบ่าว กับกลุ่มของเจ้าสาวกับเพื่อน ๆ จะออกมานั่งในพิธีให้ห่างกันพอควร ต่อหน้าพระสงฆ์ที่นิมนต์มาสวดพระพุทธมนต์ พระเถระผู้เป็นประธานสงฆ์ในพิธี เป็นผู้นำมงคลสวมให้เจ้าบ่าวเจ้าสาว โดยมีสายสิญจน์โยงไปที่หม้อน้ำมนต์ เมื่อพระสงฆ์ให้ศีลสวดมนต์ถึงบทชยันโต ก็ตีฆ้องชัย พระเถระผู้เป็นประธานก็สาดน้ำมนต์รดบ่าวสาวและกลุ่มเพื่อนที่นั่งห้อมล้อม ที่ต้องซัดน้ำเพราะนั่งเบียดรวมกันอยู่ จึงต้องใช้น้ำซัดไปจะได้ทั่วถึง จนน้ำหมดบาตรจึงหยุด หรือพอเจ้าบ่าวเจ้าสาวร่นเข้าไปชิดเคียงกันแล้วจึงหยุด ต่อจากนั้นผู้เฒ่าผู้แก่ก็ยกบาตรน้ำมนต์เทรดบ่าวสาวคนละครั้ง คนรดสุดท้ายเมื่อเทรดหมดบาตรแล้วก็เอาบาตรครอบศีรษะเจ้าบ่าวเจ้าสาวคนละครั้ง เมื่อเสร็จพิธีพวกเจ้าบ่าวเจ้าสาวจึงกลับเข้าห้องผลัดเปลี่ยนเครื่อง
นุ่งห่ม

พิธีแต่งงานของชาวอินเดีย ก็มีการรดน้ำคล้ายของเรา โดยอธิบายว่าน้ำเป็นเครื่องหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์ น้ำจึงเป็นส่วนสำคัญในพิธีแต่งงาน บ่าวสาวต้องเข้าพิธีอาบน้ำสนานกาย ให้กายบริสุทธิ์เสียก่อนจึงจะดำเนินพิธีอย่างอื่นต่อไปได้ ดังนั้นพิธีซัดน้ำในงานแต่งงานของไทย จึงน่าจะเป็นเรื่องทำตนให้สะอาดก่อนเข้าพิธีแต่งงานในวันรุ่งขึ้น ที่ใช้น้ำมนต์ก็เพื่อชำระล้างมลทินอัปรีย์จัญไรให้หมดไป การรดน้ำจึงเป็นเพียงการเริ่มต้นพิธีเท่านั้น ไม่ใช่ตัวพิธีแต่งงานอย่างปัจจุบัน การซัดน้ำตามประเพณีโบราณ ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงเป็นพิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ เพราะการซัดน้ำเป็นเรื่องยุ่งยากเปียกเปื้อน จึงเปลี่ยนมารดที่ศีรษะอย่างเดียว ต่อมาเห็นว่าการรดที่ศีรษะทำให้ผมเจ้าสาวเสียทรงที่ตกแต่งไว้ จึงเลื่อนมารดที่มือนิดหนึ่ง ด้วยสังข์บรรจุน้ำมนต์ เพื่อให้คล้ายคลึงกับพิธีดั้งเดิม.

นฤมล บุญแต่ง


เรื่องของหู - องค์ความรู้ภาษาไทย
วันพุธที่ 7 ธันวาคม 2554 เวลา 00:00 น.

ถามใครก็คงตอบได้ว่า หู เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย แต่นอกจากนั้นแล้วจะเป็นอะไรได้อีกบ้าง วันนี้เราลองมาหาคำตอบจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กันนะคะ

หู เป็นคำนาม หมายถึง ส่วนหนึ่งของร่างกายคนและสัตว์ ทําหน้าที่สําหรับฟังเสียง หรือหมายถึง ส่วนแห่งสิ่งของที่ทําไว้หิ้ว แขวน ร้อย หรือรูดเข้าออก เช่น หูกระทะ หูมุ้ง หูกางเกง หูถุง หรือหมายถึง สิ่งที่ทําเป็นห่วงหรือเป็นวง ๆ เช่น หูแจว ถ้าใช้เป็นภาษาปากจะใช้เรียกส่วนหูฟังและกระบอกพูดของเครื่องรับโทรศัพท์ว่า หูโทรศัพท์

เมื่อนำคำว่า หู ประกอบกับคำอื่นจะมีความหมายแตกต่างกันไป เช่น หูกว้างตากว้าง หมายถึง รอบรู้ทันเหตุการณ์ มองเห็นการณ์ไกล บางครั้งใช้ว่า หูยาวตายาว คำว่า หูเข้าพรรษา หมายถึง ไม่รับรู้รับฟังสิ่งใด ๆ ทั้งสิ้นมักใช้เป็นสำนวนเปรียบเทียบ เช่น ทำเป็นหูเข้าพรรษาไปได้ คำว่า หูฉี่ หมายถึง มากเหลือเกิน เช่น แพงหูฉี่ เผ็ดหูฉี่ หูชัน หมายถึง อาการที่แสดงว่าตั้งใจฟัง (มักใช้แก่สัตว์บางชนิด) คำว่า หูดับ หมายถึง อาการของหูที่อื้อไปพักหนึ่งเนื่องจากได้ยินเสียงดังมาก คำว่า หูดับตับไหม้ หมายถึง ลักษณะเสียงที่ดังมากจนกลบเสียงอื่น คำว่า หูตาสว่าง หมายถึง รู้เหตุการณ์ดีขึ้น, รู้ความจริงมากขึ้น คำว่า หูตูบ หมายถึง ใบหูตกห้อยลงมา (ใช้แก่หมา) โดยปริยายหมายถึงทํางานอย่างหนักหรือถูกใช้งานอย่างหนัก เช่น ถูกใช้จนหูตูบ วิ่งจนหูตูบ คำว่า หูเบา หมายถึง เชื่อโดยไม่ไตร่ตรอง คำว่า หูป่าตาเถื่อน หมายถึง รู้ไม่ทันเหตุการณ์เพราะอยู่ห่างไกลหรือไม่สนใจ เป็นต้น, โดยปริยายหมายความว่า ไม่รู้ขนบธรรมเนียมว่าควรปฏิบัติอย่างไรเพราะไม่ได้รับการอบรม เช่นคนสามัญเดินบนลาดพระบาท คำว่า หูผีจมูกมด หมายถึง รู้เรื่องอะไรได้เร็วทันท่วงที คำว่า หูผึ่ง หมายถึง เอาใจใส่อยากฟังอยากรู้ คำว่า หูฝาด, หูเฝื่อน หมายถึง ได้ยินเสียงเพี้ยนไป คำว่า หูชอง หมายถึง เชือกใบลานสําหรับมัดลานหนังสือ.

จินดารัตน์ โพธิ์นอก




credit : dailynews


Create Date : 01 กุมภาพันธ์ 2555
Last Update : 1 กุมภาพันธ์ 2555 2:35:05 น. 0 comments
Counter : 1507 Pageviews.

Rain_sk
Location :
Upper Midwest United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 68 คน [?]





"ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ส่งผล
คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง
เมื่อใดบาปให้ผล คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น"
ขุ.ธ. 25/15/24
เวลา 4.57PM :sat,Mar 29,2557



BlogGang Popular Award # 9


BlogGang Popular Award # 10


BlogGang Popular Award # 11


BlogGang Popular Award # 12


Friends' blogs
[Add Rain_sk's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.