bloggang.com mainmenu search

คอลัมน์ ชิมชิล-ชิล
โดย สุรนันท์ เวชชาชีวะ



"ผมชื่อ Bard (บาร์ด)" หนุ่มหน้ามนวัย 27 แนะนำตัวเมื่อถามถึงชื่อ แหะๆ ด้วยเสียงที่เปล่งออกมา ซึ่งไม่มีคาราโอเกะประกอบ ผมเลยไม่แน่ใจว่า "Bard" ไหนละเนี่ย เป็น "บาท" ที่เป็นเงิน หรือ "บาตร" พระ หรือมีด "บาด" หรือ "Bath" ที่หมายถึง "อาบน้ำ"

กว่าจะได้ความก็ต้องจับมานั่งคุย เพราะ "Bard" ในฐานะเจ้าของร้าน/ผู้จัดการ/บาร์เทนเดอร์ ของ Junker and Bar ในซอยสวนพลู ยังต้องทำหน้าที่เด็กเสิร์ฟ ผู้แนะนำอาหาร และต้อนรับแขกทั้งไทยเทศ ที่ทยอยกันเข้ามาไม่ขาดสาย

"Bard เช็คสเปียร์ครับพี่" คำเฉลยมาทำให้ผมยิ่งงง อยู่เรียนเมืองนอกเคยถูกบังคับอ่านมาแล้ว ใครนะช่างตั้งชื่อลูกให้เป็น "Bard - บาร์ด" (ต้องอ่านให้ดัดจริตเป็นสำเนียงอังกฤษหน่อย) ซึ่งใน "อังกฤษ" ยุคโบราณหมายถึง กวี นักกลอน ที่แต่งละครเรื่องยาว

และมี "สปอนเซอร์" อย่างเป็นทางการระดับคหบดี ขุนนาง หรือกษัตริย์ ส่วน "Bard" ที่เป็นที่รู้จักทั่วโลกอย่างกว้างขวาง เป็นอมตะไม่มีใครเกิน วิลเลี่ยม เช็คสเปียร์ (William Shakespeare) นั่นเอง

หากแต่ "Bard" แห่งซอยสวนพลูคนนี้ ไม่ใช่กวี แต่ศิลปะของเขาคือเป็น "นักผสมเหล้า"!!

เมื่อรู้ที่มาของชื่อ ก็ย่อมอยากรู้ที่ไป และเมื่อไม่ต้องมานั่ง "ต่อกลอน" ก็ยกมาเลยน้องที่เรียกว่า "สุดฝีมือ" แล้วกรุณานั่งเล่าเรื่องราวให้ฟังหน่อย หุหุ

"Bard" จบการโรงแรมจากเทคนิคกรุงเทพ ที่บ้านมีกิจการ "Catering" ทำอาหารส่งอยู่แล้ว แต่ตัวเองไม่ได้ทำที่บ้าน กลับไปเริ่มชีวิตการทำงานด้วยการฝึกเป็น "บาร์เทนเดอร์" ได้มีโอกาสทำงานในร้านและโรงแรมระดับห้าดาว 

 ผ่านร้อนหนาว ได้เรียนรู้จากเชฟระดับดาวมิชิลิน ไม่เพียงเรื่องเครื่องดื่มแต่อาหารด้วย จนพัฒนาเป็น "Consult" คือให้คำปรึกษาเรื่องการตั้งบาร์ และการบริหารจัดการ ทั้งเป็น "Brand Ambassador" แนะนำสินค้าหลากหลาย

ฝึกวิทยายุทธ์ในฐานะลูกจ้างจนตำแหน่งสุดท้ายเป็น "Liquid Manager" แปลตรงตัวก็ "ผู้จัดการของเหลว" แต่เอาเพราะๆ เป็น "ผู้จัดการแผนกเครื่องดื่ม" ละกัน

เมื่อถึงจุดหนึ่ง ถึงโรงแรมที่ทำงานอยู่จะให้ค่าตอบแทนที่ดี แต่ชีวิตไม่อิสระ "ไม่ชอบครับ ไม่ชอบเป็นลูกน้อง ไม่ชอบตื่นเช้าเข้าประชุม" จึงตัดสินใจออกมาเปิดร้านเอง แต่ "ร้าน" เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตในช่วงค่ำ งาน "ที่ปรึกษา" ยังเป็นหัวใจของรายได้ ซึ่งทำให้ "ยังเหนื่อย" แต่อย่างน้อยก็ "กำหนดเวลาทำงานและชีวิตตนเองได้ดีกว่า"

ร้าน Junker and Bar ถือกำเนิดด้วย Bard หุ้นกับเพื่อนที่เป็น "เชฟ" ซึ่งยังมีงานประจำอยู่ จึงไม่ได้เป็นคนลงมือเอง แต่เป็นคนวางระบบครัว คัดเลือกวัตถุดิบ ฯลฯ ส่วน "คนทำจริงๆ แฟนผมเองครับ" Bard กล่าว พร้อมหันไปทางครัวหลังร้านแล้วยิ้ม

อาหารส่วนใหญ่เป็นพวก "เบอร์เกอร์","สปาเกตตี", "แซนด์วิช" และ "เฟรนช์ฟรายส์" คืออาหารยืนพื้นโรงแรมที่ต้อนรับ

นักท่องเที่ยวทั่วโลก ผมได้ลองชิม "Foie Gras Beef Burger", "Chicken Baguette", "Australian Wagyu Beef Burger", "Truffle Oil French Fries", "Australian Lamb Burger" และ "Black Ink Fettuccine"

รสชาติใช้ได้ เหมือนทานอยู่ในร้านคอฟฟี่ช็อปโรงแรมหรูๆ วัตถุดิบดี ถูกปากฝรั่ง แต่คนไทยอย่างเราอาจต้องเสริมด้วย Tabasco ซอสพริกบ้างเป็นธรรมดา ส่วนสนนราคาใกล้เคียงโรงแรม แต่อย่าลืมว่าถ้านั่งโรงแรมจะโดน "ชาร์จ++" อีกหลายต่อ "เราเน้นเรื่องคุณภาพอาหารและเครื่องดื่ม การบริการเป็นกันเอง" เซอร์วิสชาร์จจึงไม่มี

บรรยากาศร้านสบายๆ ข้างในเล็กมีไม่กี่โต๊ะ แต่มีโต๊ะริมถนนเสริม เปิดทุกวันเว้นวันจันทร์ ป้ายร้านบอกบ่าย 2 แต่ผมแนะนำให้ไปช่วงบ่ายแก่ๆ หรือค่ำๆ และนั่งยาวได้ถึงเที่ยงคืน วันพุธถึงเสาร์ 3 ทุ่มเป็นต้นไป มีดนตรีแจ๊ซฟังเพลินๆ

ที่สำคัญคือ ด้านเครื่องดื่ม มีทั้งที่เป็นหลักประจำทุกบาร์ และที่ "Bard" คิดประดิษฐ์เอง ลองสั่งมาชิมกันครับสำหรับนักดื่ม ผมลองไปหลายขนาน แต่ละแก้วมีลูกเล่น ไม่เหมือนที่เคยดื่มที่อื่น "Bard" นั่งยิ้มอารมณ์ดีเมื่อผมจับทางได้ว่า ไม่มีสูตรตายตัว ผสมตามใจ เทหนักเบาไม่เท่ากันแต่ละวัน อยู่ที่ "ใจและอารมณ์" ว่า "นิ่ง" แค่ไหน

อย่างว่า เมื่อชื่อเป็น "กวี" ก็ต้องมีความเป็น "ศิลปิน" เฉพาะตัว!!

 



ขอบคุณ มติชนออนไลน์

คอลัมน์ ชิมชิล-ชิล
คุณสุรนันท์ เวชชาชีวะ

อาทิตยวารสิริสวัสดิ์ค่ะ  

Create Date :22 กุมภาพันธ์ 2558 Last Update :22 กุมภาพันธ์ 2558 9:43:41 น. Counter : 1037 Pageviews. Comments :0