bloggang.com mainmenu search

คอลัมน์ชิมชิล-ชิล โดย สุรนันท์ เวชชาชีวะ





"คํา ผกา" เป็นนามปากกาของนักเขียน นักจัดรายการทีวี และอาจารย์ "ลักขณา ปันวิชัย" หรือ "แขก" และการที่อาจารย์แขกเคยเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเกียวโต เคยใช้ชีวิตในเมืองนี้ร่วม 8 ปี 
 ดังนั้น เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อกลางปีที่แล้ว จึงตัดสินใจมาใช้ชีวิตเป็น "สาวเสิร์ฟ" ในร้านอาหารไทย "ช้างน้อย" ซึ่งเป็นของเพื่อนชาวญี่ปุ่น

การมาเป็น "สาวเสิร์ฟ" จะเป็นเพราะอาการ "เซ็ง" หรือต้องการเปลี่ยนจังหวะชีวิต ไม่ว่ากัน เพราะผมก็ไม่ได้อยู่ในสภาพที่แตกต่างกันนัก การทำงานที่ใช้แรงงาน ทำให้เราได้มีเวลาคิด และตรึกตรองหลายๆ เรื่องได้เหมือนกัน พร้อมๆ กับการเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ

เสียดายที่ผมไปเกียวโตวันคริสต์มาส ร้านปิด จึงไม่ได้เห็นอาจารย์แขก "อินแอ๊กชั่น" แต่ที่ดีกว่านั้น คือ เพราะเป็นวันหยุด อาจารย์จึงมาท่องเกียวโตกับเราได้ ชิลๆ สบายๆ

เช้าเรานัดกันไป "เข้าวัด" ซึ่งฟังดู "ดี๊ดี" เสมือนจะไปแสวงบุญ โดยเริ่มที่ "วัดเทนริวจิ -Tenryuji Temple" และสวนไผ่ อยู่ทางทิศตะวันตกของเกียวโต แต่ในที่สุดก็เป็นวัดเดียวที่ไป ด้วยเจอคณะทัวร์ที่เสียงดัง จน "เซน" แตก จึงตัดสินใจหากาแฟขนมชิม และที่หลบ "เมาธ์" กันตามประสา

แต่ไม่มีอะไรที่ คสช. จะต้องเป็นห่วงนะ (จ๊ะ) จะบอกให้!




อาจารย์แขกพาเราเข้าถิ่นบริเวณบ้านที่พัก ซึ่งอยู่ทางเหนือของเกียวโต คือ คิตายามะ (Kitayama) เป็น "เขตเหนือ" ที่ไม่ใช่ "District 12" แต่เป็นบริเวณที่พัฒนาเติบโตขึ้นใหม่ เป็นถิ่นชนชั้นกลาง ทำนองบริเวณเอกมัย-อินทราที่มี "คริสตัลพาร์ค" และ "ซีดีซี" ที่กรุงเทพฯ บริเวณเขตเหนือของอาจารย์แขก จึงมีร้านรวงสวยๆ และร้านที่ขายอาหาร-ขนมอร่อยๆ

"ทัวร์" อาจารย์แขกเริ่มต้นที่ร้านกาแฟเล็กๆ เจ้าของชื่อ ทานากะ (Tanaka) ผู้ซึ่งชงกาแฟในร้านนี้มากว่า 30 ปี ดูได้ว่า "เก๋า" จากตัวเจ้าของเอง และเครื่องคั่วกาแฟ ตลอดจนเครื่องมืออุปกรณ์ ที่ผ่านการใช้งานมาอย่างเห็นได้ชัด

คุณทานากะเป็น One Man Show ชงกาแฟแต่ละแก้วด้วยความใจเย็น เป็น "เซน" จริงๆ นั่งในร้านดูการบรรจงชง ทำให้เห็นคุณค่าของความเรียบง่าย ไม่ต้องหวือหวา ไม่มีลาเต้อาร์ต แต่เมื่อจิบกาแฟรสเข้มข้น ทานคู่กับแซนด์วิชชีส ที่เนยแข็งหนาขนมปังนุ่ม ฝีมือคุณทานากะเช่นกันแล้ว ร้องได้เลยว่า โอ้! สวรรค์คนรักกาแฟมีจริง!

 


ลักขณา ปันวิชัย



 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เมื่อเครื่องติด ชาวคณะเริ่มออกเดินชมโน่นนี่นั่นไป จนถึงร้านที่สองที่หัวหน้าทัวร์บอกไม่ลองไม่ได้ เป็นร้านขนมปังชื่อ "บริออง"

(Briant) เดินเข้าไปกลิ่นขนมปังหอมทั่วร้าน เป็นเบเกอรี่ที่ทำขนมและขนมปังเอง ร้านใหญ่ สะอาด และตบแต่งทันสมัย มีของให้เลือกซื้อเยอะมาก แต่ด้วยใกล้เที่ยงเราจึงขึ้นไปนั่งชั้นสอง

 เพื่อทานอาหารกลางวันกันเป็นเรื่องเป็นราว อาจารย์แขกเล่าว่า มาเล่นโยคะแถวนี้ เสร็จแล้วมานั่งทานอาหารที่นี่เป็นประจำ ครับ...ออกกำลังกายแล้วต้องเติมพลัง หลักชีวิตเดียวกับผมเลย อิอิ

อาหารมีหลากหลาย เป็นแนวตะวันตกดัดแปลงเป็นญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่นิยม สั่งมาทั้งซุป สลัด สปาเกตตี และคลับแซนด์วิช มาลองกัน แต่หากจะตามรอยอาจารย์แขกมาร้านนี้ ต้อง "French Toast" ขนมปังชุบแป้งอบ ราดด้วยเนยก้อนโตที่ละลายเยิ้มลงมา ทั้งหวานทั้งมัน (และทั้งอ้วน - ไว้เดินออกกำลังต่อละกัน...)

บ่ายแก่ๆ หลังจากที่เดินย่อย (ไม่เต็มที่ แต่เรื่องกินเรื่องใหญ่) จึงแวะ "จิบชา" ที่ร้าน "มัลบรองช์" (Malebranche) ร้านนี้เท่ คิวยาว มีห้องให้นั่งรอ "ชาผลไม้" ที่สั่งมา มาในกาใสบนเตาอุ่น หอมหวาน ขนมเค้กแป้งเบา ไม่หวานมาก ทานแล้วได้ใจ

เนื่องจากเป็นช่วงใกล้ปีใหม่ในช่วงที่ไป จึงมีคนญี่ปุ่นมาซื้อขนมเพื่อเป็นของขวัญ เรานั่งจิบชาและดูคนด้วยความเพลิดเพลิน คนขายใจเย็น ให้บริการดีตลอด เมื่อลูกค้าเลือกขนมแล้ว จะมีการใส่กล่องอย่างดี และห่อด้วยกระดาษห่อของขวัญอีกชั้น ตั้งใจทำ ไม่มีหน้าหงิกหน้างอ อู้งาน หรือคุยเล่นถึงละครโทรทัศน์ ฯลฯ

การบริการของร้านที่ญี่ปุ่นจะน่ารักมาก คนญี่ปุ่นสุภาพเรียบร้อย ยิ้มแย้มแจ่มใส พร้อมให้บริการและความช่วยเหลือแนะนำ ที่สำคัญเขาทำด้วย "ใจ" ไม่ได้หวังเพียงค่า "ทิป" เพราะไม่ต้องให้ แต่คนซื้อคนทานก็ต้องใจเย็นๆ 

 เพราะชาวญี่ปุ่นจะบรรจงประดิษฐ์ให้ได้ความสวยงาม ที่ลงตัว และได้ระดับคุณภาพที่เขาคิดว่า "สุดยอด" ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ดีน่าศึกษา หากประเทศไหน (อย่างประเทศไทย) ต้องการเป็นเมืองท่องเที่ยวและบริการที่ดี ไม่ใช่มีเพียงรอยยิ้มเพื่อหลอกขายของ

ได้มีโอกาสนั่งทานอาหาร ชิมขนม กับอาจารย์สังคมศาสตร์อย่างอาจารย์แขก ก็ต้องวิเคราะห์เปรียบเทียบกันบ้าง เป็นธรรมดา!!

 


ขอบคุณ มติชนออนไลน์

คอลัมน์ชิมชิล-ชิล

คุณสุรนันท์ เวชชาชีวะ

สิริสวัสดิ์จันทรวารค่ะ

Create Date :02 กุมภาพันธ์ 2558 Last Update :2 กุมภาพันธ์ 2558 13:51:34 น. Counter : 1252 Pageviews. Comments :0