กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
สิงหาคม 2565
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
space
space
27 สิงหาคม 2565
space
space
space

องค์มรรคที่ ๓ สัมมาวาจา



 
    องค์มรรคที่ ๓  เรียกว่า  สัมมาวาจา  คือ  การเจรจาชอบ.  การเจรจาชอบเป็นอย่างไร ?  ในพระบาลีว่า กะตะมา จะ ภิกขะเว  สัมมาวาจา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  การพูดจาชอบเป็นอย่างไรเล่า ?  มุสาวาทา  เวระมะณี   เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดไม่จริง   ปิสุณายะ  วาจายะ เวระมะณี   เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดส่อเสียด  ผะรุสายะ  วาจายะ  เวระมะณี   เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดหยาบ  สัมผัปปะลาปา  เวระมะณี   เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ  อะยัง  วุจจะติ  ภิกขะเว  สัมมาวาจา  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  อันนี้เรากล่าวว่าการพูดจาชอบ.
 
    การพูดจาชอบ คือการงดเว้นจากการพูดโกหก  จากการพูดส่อเสียด  จากการพูดคำหยาบ  จากการพูดเพ้อเจ้อ  อย่างนี้เรียกว่า  วาจาชอบ.  เรื่องปากเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตมนุษย์เรา  ปากนี้ใช้ทำประโยชน์ก็ได้  ใช้ทำร้ายก็ได้  ปากไม่ใช่แต่เพียงมีหน้าที่นำอาหารใส่เข้าไปในท้องเท่านั้น  แต่ยังมีหน้าที่แสดงความรู้สึกนึกคิดออกมาเป็นคำพูดเพื่อให้คนอื่นได้เกิดความรู้ความเข้าใจด้วย.  เรื่องการพูดเป็นเรื่องสำคัญ  คนเราถ้าหากว่า   พูดดีเป็นศรีแก่ตัว  ถ้าพูดชั่วก็ต้องเดือดร้อน.  คนใดปากดีก็เรียกว่า ปากมีประโยชน์  ถ้าปากไม่ดีก็เรียกว่า  ปากร้าย  ปากเหม็น  ที่เขาบอกว่า  พวกเปรตพวกหนึ่งปากเหม็นไกลไปตั้ง ๕๐๐ โยชน์  ที่ไกลไปตั้ง ๕๐๐ โยชน์ ไม่ใช่เหม็นไกลอย่างนั้น  แต่หมายถึงการพูดเสียน่ะ  มันดังไปไกลมาก  ทำให้เกิดความเสียหายทั่วไป.
 
   ในทางตรงกันข้าม  ถ้าพูดดีก็เป็นประโยชน์มาก  ทำให้คนรักคนพอใจ  คนฟังชื่นใจสบาย  จึงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ  เพราะฉะนั้น   จึงมีคำสอนคำเตือนเกี่ยวกับปากนี้ไว้มาก   เพราะเป็นเรื่องสำคัญนั่นเอง ในมรรคมีองค์ ๘  จึงบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องพูดไว้ด้วย   เพราะเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องใช้อยู่ตลอดเวลา  เรามีเรื่องเกี่ยวกันที่สำคัญอยู่  ๓  ประการ  คือ  การคิด  การพูด  การทำ   สามอย่างนี้  ทำให้เกิดบาปก็ได้  ทำให้เกิดบุญกุศลก็ได้  จึงถือว่าเป็นเรื่องใหญ่  ที่ได้ตรัสไว้พร้อมในพระบาลีว่า  สัมมาวาจา  การเจรจาชอบ.
  
  การเจรจาชอบ  คือการงดเว้นจากการพูดโกหก  คำที่ไม่จริง  เรื่องพูดโกหกเป็นเรื่องเสีย  ถ้าเราพูดโกหกให้เขาเสียประโยชน์ก็ยิ่งเสียใหญ่   ถึงแม้ว่าจะไม่มีใครเสียประโยชน์เขาก็ไม่ชอบ  เพราะคนเรานั้นชอบสิ่งที่เป็นความจริง  ถ้าใครมาพูดโกหกให้เราฟังบ่อยๆ   เราก็ไม่เชื่อคนนั้นต่อไป   ถือว่าคนนั้นเป็นคนคบไม่ได้   เพราะลิ้นไม่มีหลักกระดิกไปทางไหนก็ได้ตามใจชอบ  ทำให้เสียเครดิตในการปฏิบัติหน้าที่  ยิ่งเป็นคนที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับคนอื่นด้วยแล้ว    ถ้าเป็นคนหัดพูดโกหกแล้วจะเสียเครดิตไปเลย  ไม่มีใครไว้เนื้อเชื่อใจต่อไป  ธุรกิจที่กระทำนั้นก็ต้องตกต่ำ 
แต่ถ้าเป็นคนพูดจริง  ครั้งแรกอาจจะไม่มีคนชอบบ้างเหมือนกัน  แต่เมื่อพูดอย่างนั้นเสมอไป  คนก็พอใจ  ไว้ใจ   ว่าคนนั้นเป็นคนพูดจริง  ไว้ใจได้   มันเกิดประโยชน์   พูดโกหกไม่เกิดประโยชน์   ท่านจึงสอนให้ถือศีลข้อนี้   การถือศีลข้อนี้ก็หมายความว่า ระมัดระวังการพูด  ให้คิดก่อนจึงพูด อย่าพูดแล้วจึงไปคิดเสียใจภายหลัง
 
   คนเรามีไม่น้อย  ที่พูดออกไปแล้วกลับไปนอนเป็นทุกข์  คือเผลอไปพูดอะไรไม่เหมาะไม่ควรออกไปแล้ว  แล้วจึงคิดได้ว่ามันเสียหายอย่างนั้นอย่างนี้  เป็นความเดือดร้อน.   ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่าคนพูดพล่อยๆ  ไม่ระมัดระวังในการที่จะพูด จึงได้เกิดเป็นความทุกข์  คนที่เขาพูด  พูดเก่งนั้น  เขาระวังในเรื่องการพูด  สิ่งใดไม่จำเป็นก็ไม่พูด  สิ่งใดควรพูดจึงพูด  พูดดูเวลา  พูดดูบุคคล  พูดดูเหตุการณ์  พูดดูว่าจะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์  ถ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์สูงสุด  ถ้าหากว่าไม่เป็นประโยชน์  ถึงจะเป็นเรื่องจริงแท้ก็ไม่ได้เรื่องอะไร  พูดไปก็ไม่ได้เรื่อง  คิดแล้วจึงได้พูดออกไป  คนคิดแล้วพูดไม่ค่อยจะเสีย. 
การพูดออกไปก็เหมือนน้ำลายที่ถ่มออกไปเอาคืนไม่ได้  คำพูดหลุดออกไปแล้วเอากลับไม่ได้  จึงเป็นเรื่องที่ผู้มีปัญญา  ควรระมัดระวังในการพูด  พูดช้าๆ พูดหนักแน่น  พูดคำจริงคำแท้  นั่นแหละจึงเรียกว่าพูดถูกต้อง.  อะไรที่ไม่จำเป็นที่จะต้องพูด  ไม่พูดเสียก็ได้  เพราะการไม่พูดนั้นไม่ติดคุกติดตะรางไม่เสียหาย   แต่พูดออกไปแล้วอาจเป็นเรื่องเสีย  กระทบกระเทือนกันใหญ่  เขาจึงพูดไว้ว่า “พูดไปสองไพเบี้ย  นิ่งไว้เสียตำลึงทอง”   การนิ่งมีราคา  พูดออกไปแล้วหมดค่า   แต่ว่าบางเรื่องเราก็ต้องพูด เมื่อเรื่องใดเห็นว่าจะต้องพูด  ก็พิจารณาเสียก่อน  คิดแล้วจึงพูดไม่เสียหาย.
 
  แนวทางปฏิบัติในเรื่องนี้  ก็คือว่า  ให้มีสติอยู่ตลอดเวลา  คอยควบคุมตัวเองไว้   พูดด้วยมีการควบคุม  เหมือนรถมีห้ามล้อไม่เสียหาย  ถ้าพูดไม่คุมแล้วก็เสียหาย   สังเกตดูคนพูดคล่อง  มักจะพูดพลาดบ่อยๆ   คือพูดคล่องโดยไม่ทันคิดก็เลยเกิดความเสียหาย  ยิ่งเป็นนักการเมืองยิ่งสำคัญที่สุด  พูดอะไรเป็นข่าวทั้งนั้น  พูดดีก็เป็นข่าว  พูดชั่วก็เป็นข่าว  เอ่ยปากออกมา  เขาก็คาบเอาไปลงพิมพ์เท่านั้นเอง  ปากนี้ถ้าเราเปิดเป็นก็เกิดคุณ   ถ้าเปิดไม่เป็นก็เกิดโทษ  จึงควรระวังที่สุดในการพูด   อย่าไปพูดโกหกหลอกลวงใครให้เสียหาย.
 
   คำที่เรียกว่า ปิสุณาวาจา  พูดส่อเสียด  พูดทิ่มแทง  พูดทิ่มแทงคนนั้นคนนี้  พูดให้เขาเจ็บช้ำน้ำใจ  ให้เขารำคาญ   ให้เราเกิดความเดือดร้อน  เราไม่ควรพูดให้กระทบกระเทือนน้ำใจใครๆ  ถือหลักว่า พูดคำจริง  พูดคำอ่อนหวาน  พูดคำสมานสามัคคีมีประโยชน์  ก็ใช้ได้  ในเวลามีอะไรกับใคร  เราไม่พูดดีกว่า  คือเรื่องของคนอื่นถือหลักไว้อย่างหนึ่งว่า  เราจะไม่พูดเรื่องคนอื่น   ไม่พูดวิจารณ์อะไรทั้งนั้น  ดีก็ไม่พูด  เสียก็ไม่พูด  เมื่อไม่จำเป็นที่จะต้องพูด แต่ถ้าจำเป็น  มันมีความจำเป็นจะต้องพูดอย่างนี้ก็ไม่เสียหายไม่กระทบกระเทือนถึงใครๆ   ฯลฯ
 
   ส่วน คำหยาบ นั้น  เราก็รู้กันอยู่ว่าประเภทใดเป็นคำหยาบ  ควรจะหัดพูดวาจาสุภาพนิ่มนวลเพราะการพูดคำหยาบนั้นเป็นการส่อนิสัยของผู้พูด   ว่าเป็นคนมีจิตใจหยาบคาย  เขาว่า  “วาจาเช่นนั้นหยาบ”  ใจเราอย่างใด  วาจามันก็ออกมาอย่างนั้น  เพราะฉะนั้นจึงควรจะไม่พูดคำหยาบกับคนแม้กับสัตว์เดรัจฉานก็ไม่พูด   ไม่ดุ  ไม่ด่า  ดุบ่อยๆ  ด่าบ่อยๆ  พูดหยาบบ่อยๆ ก็เสียนิสัย  ถ้าเป็นบิดามารดาก็จะติดไปถึงลูก  เพราะลูกได้ยินบ่อยๆ  ถ้าเราพูดคำไม่ดี  ขออภัย  เช่นพูดว่า “ไอ้ห่า”  พูดบ่อย เดี๋ยวเด็กก็จำไป   ไม่ใช่เป็นถ้อยคำที่จะต้องนำมาพูด  ไม่จำเป็นจะต้องพูดก็ได้  พูดกันด้วยคำสุภาพนิ่มนวล  น่าฟังกว่า.  
แต่ว่าในหมู่คนที่เป็นเพื่อนกัน  บางทีก็ใช้คำอย่างนี้เหมือนกัน  ด่ากันเลย   พอเจอหน้าก็ต้องด่ากัน  ด่าพ่อด่าแม่กัน  ด่าคำหยาบๆ  เรียกว่ารักกันมาก   รักกันด้วยภาษาหยาบ  อย่างนั้นก็ไม่ไหว ไม่ดี   บางคนเป็นผู้หลักผู้ใหญ่  พูดคำหยาบๆ  ออกไปก็ไม่สมควร  ควรพูดจากที่สุภาพนิ่มนวล  ถ้าเราพูดจากสุภาพไม่ได้ก็ปิดปากเสีย  นั่งเฉยๆ ไม่พูดกันดีกว่า  อย่างนี้จะเป็นความดี  เพราะจิตใจที่สงบ  ย่อมพูดเรื่องสงบ  มีจิตใจดุร้ายก็ย่อมพูดดุร้าย  ใจหยาบก็พูดเรื่องหยาบ  ใจประณีตก็พูดเรื่องประณีต  คำพูดมันแสดงถึงน้ำใจทั้งนั้น  เพราะฉะนั้น  จึงต้องระมัดระวังในคำพูดประเภทนั้น   คือไม่พูดคำหยาบ.
 
   ส่วน  คำเพ้อเจ้อ หมายความว่าพูดไม่ได้เรื่อง  น้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง   เนื้อไม่ค่อยมี  ชอบพูดฟุ้งๆ  พวกบ้าน้ำลาย  พูดไม่จบ  พูดเรื่อย  คนฟังไม่ฟังไม่เข้าใจ  ฉันจะพูดเรื่อยไป  อย่างนี้เขาเรียกว่าพูดเพ้อเจ้อ  ไม่ได้เรื่องได้ราว  พูดทำไม  นั่งนิ่งๆ  ประหยัดแรงงาน  ไว้ใช้เวลาอื่นไม่ดีกว่าหรือ.
 
   สัมมาวาจา  ต้องควบคุมไปถึงการเขียนด้วย  การเขียนต้องเขียนเรื่องจริง  เขียนคำที่ไม่ส่อเสียดใคร  เขียนคำที่ไม่หยาบ  ไม่เพ้อเจ้อให้คนอ่านเล่นสนุกๆ  เท่านั้น  อย่างนั้นไม่ได้สาระอะไร  คุมไปถึงการเขียน การโฆษณา  การทำอะไรต่างๆ  นี้ต้องอยู่ในกฎเกณฑ์สัมมาวาจา  ถ้าไม่เอาสัมมาวาจาไปใช้ในการเขียนด้วยไม่ได้ จะเลอะเทอะ  สมัยก่อนนี้เขาไม่มีการเขียนกันมากนัก  มีแต่เรื่องการพูด  เพราะฉะนั้น  จึงพูดแต่สัมมาวาจา  แต่เดี๋ยวนี้มีการเขียนหนังสือ  พิมพ์หนังสือแพร่หลาย  ผู้เขียนต้องใช้สัมมาวาจาเข้าไปกำกับด้วย   จึงจะเป็นการถูกต้อง.
 
 
  
 
 




 

Create Date : 27 สิงหาคม 2565
0 comments
Last Update : 27 มกราคม 2567 15:03:10 น.
Counter : 415 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space