Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2553
 
1 มิถุนายน 2553
 
All Blogs
 

เผย 10 ลักษณะเด็กเสี่ยงติดยา ต้นตอหลักปัญหาครอบครัว

เผย 10 ลักษณะเด็กเสี่ยงติดยา ต้นตอหลักปัญหาครอบครัว

สำนักงานป้องกัน และปราบปรามยาเสพติดออกมาเปิดเผยผลงานวิจัย
10 ลักษณะของครอบครัวที่เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เยาวชนเข้าไปใช้ยาเสพติด
เพราะเนื่องจากปัจจุบันนี้ ยากที่จะปราบปรามยาเสพติดเหล่านี้ให้หมดไปได้

แม้ว่าปัญหายาเสพติด ที่ภาครัฐดำเนินการปฏิบัติการมาอย่างเข้มข้นอยู่เป็นระยะ ต้องปราบแล้วปราบอีก
เพราะยังคงมีผู้ค้า ผู้เสพรายใหม่ตบเท้าเข้ามาเป็นร่วมขบวนการไม่ขาดสาย ปัญหายาเสพติดจึงยังคงไม่หมดไป

"เราเผลอ เราแผ่ว มันโผล่" นี่คือปัญหายาเสพติด
จึงเป็นภาระที่ภาครัฐต้องทุ่มกำลังลงไปจัดการปัญหาอย่างต่อเนื่อง กวาดล้างจับกุมยาเสพติดในประเทศ
สกัดกั้นการลักลอบนำเข้าจากภายนอกประเทศ แต่ก็ไม่หมดสิ้น

สังคมอาจมองว่าการกวาดล้างปัญหายาเสพติดจะทำให้หมดไป
แต่ลืมมองว่าแท้จริงปัญหายาเสพติดเหมือนจุดใต้ตำตอ
เพราะปัญหายาเสพติดจุดเริ่มต้นนั้นมาจากพื้นฐานของครอบครัว

ดังนั้นสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) โดยมี พล.ต.ท.กฤษณะ ผลอนันต์ เลขาธิการ ป.ป.ส.
ได้จัดทำผลงานวิจัยของสำนักพัฒนาการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส.
ซึ่งได้รับเงินอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงบประมาณ ความช่วยเหลือด้านการป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด
สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ดำเนินการระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2548

โดยสำรวจงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสาเหตุ ปัจจัย และการป้องกัน
และแก้ไขปัญหายาเสพติดในกลุ่มเป้าหมายเยาวชนไทยที่ทำภายใน ประเทศ 8 ปีย้อนหลังเมื่อปี 2540-2547
จำนวน 141 เล่ม ทำให้ทราบถึงสถานการณ์ของสาเหตุและปัจจัยสำคัญ
ที่ทำให้เยาวชนเข้าไปใช้ยาเสพติดในประเทศไทย

งานวิจัยดังกล่าวพบว่า ครอบครัวรวมทั้งการเลี้ยงดู
เป็นสาเหตุหนึ่งนำไปสู่พฤติกรรม การเข้าไปเกี่ยวข้องกับการใช้ยาเสพติดของเยาวชน คือ

1. ครอบครัวที่มีลักษณะความสัมพันธ์แบบขัดแย้ง นั่นคือ
สมาชิกในครอบครัวมีปฏิสัมพันธ์หรือความสัมพันธ์เชิงลบต่อกัน เกิดความขัดแย้งทั้งทางความคิดและพฤติกรรม

2. ครอบครัวที่ขาดการมีส่วนร่วมระหว่างสมาชิกในครอบครัว สมาชิกไม่มีโอกาส ไม่มีเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน

3. ครอบครัวที่ผู้ปกครองคาดหวังต่อสมาชิกในครอบครัวสูงเกินไป
รวมทั้งพยายามผลักดันให้สมาชิกเป็นแบบที่ตนเองต้องการ ทำให้สมาชิกขาดความเป็นตัวของตัวเอง
นำไปสู่การไม่สามารถพัฒนาบุคลิกภาพที่เหมาะสมเฉพาะของตนเองได้
ขาดความเชื่อมั่น ขาดความเป็นตัวของตนเอง และต้องการการพึ่งพามากขึ้น

4. ครอบครัวที่มีเศรษฐกิจสถานะที่ไม่ดีหรือดีมากเกินไป
กรณีสถานะทางเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการสร้างอาชีพและการหารายได้
สมาชิกในครอบครัวเติบโตท่ามกลางวัตถุนิยม เช่น โทรทัศน์ การเลี้ยงดูแบบว่าจ้าง ขาดเอกลักษณ์ครอบครัว
ส่วนอีกกรณีคือจะอบรมเลี้ยงดูท่ามกลางเงินทอง แต่ขาดการอบรมเลี้ยงดูที่แสดงถึงความสัมพันธ์อย่างแท้จริง
รวมทั้งขาดการบริหารจัดการเงินที่ดี ทำให้มีเงินเหลือใช้ที่จะนำไปซื้อยาเสพติด

5. สมาชิกในครอบครัวใช้สารเสพติด
จึงเกิดการเลียนแบบพฤติกรรมบางอย่างจากบุคคลที่ใกล้ชิด หรือให้ความเคารพนับถือ
โดยเฉพาะพ่อแม่เป็นบุคคลที่เป็นตัวแบบที่มีอิทธิพลมากที่สุด และนำไปสู่การติดยาเสพติดรุนแรงมากขึ้น

6. ครอบครัวที่ไม่มีการสั่งสอนว่ายาเสพติดเป็นสิ่งไม่ดี
ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวที่ไม่มีเวลาในการอบรมเลี้ยงดูสมาชิก และเห็นว่าเรื่องยาเสพติดเป็นเรื่องนอกครอบครัว
จึงไม่ให้ความสำคัญและระแวดระวังสมาชิกเท่าที่ควร

7. แบบแผนการเลี้ยงดูของครอบครัว
ควรให้เด็กได้พยายามพึ่งพาตนเองและช่วยเหลือตนเองแบบค่อยเป็นค่อยไป
และสนับสนุนการแสดงความรักต่อสมาชิกทั้งภาษาพูดและภาษากาย
รวมทั้งสนับสนุนให้เด็กได้พัฒนาทักษะอย่างเหมาะสม ผ่านการเรียนรู้ต่างๆ
ขณะที่แบบแผนการเลี้ยงดูที่ครอบครัวโอบอุ้มปกป้องเด็กมากเกินไป ส่งผลให้เด็กไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้
รวมทั้งไม่พัฒนาวุฒิภาวะที่เหมาะสมกับวัย

8. ครอบครัวที่ใช้อำนาจนิยมและใช้ความรุนแรง
สมาชิกในครอบครัวมักถูกกำหนดให้ต้องดำเนินชีวิตเป็นไปตามต้องการ และมักมีการใช้อำนาจควบคู่กันไป

9. ครอบครัวแตกแยก เป็นสาเหตุสำคัญทำให้ครอบครัวไม่สมบูรณ์
โดยเฉพาะเมื่อคนใดคนหนึ่งไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่

10. ครอบครัวที่มีความสัมพันธ์แบบห่างเหิน
บุตรหลานขาดที่ปรึกษาและไม่กล้าปรึกษาเนื่องจากขาดความผูกพัน เมื่อมีปัญหาส่วนตัว เช่น การเรียน การงาน
ความรัก ทำให้เกิดปัญหาภาวะอารมณ์ตามมา
เป็นตัวผลักดันให้หลีกหนีจากครอบครัว และหันไปผูกพันกับคนภายนอกครอบครัว


อย่างไรก็ตามทั้ง 10 ลักษณะครอบครัวเป็นปัจจัยเสี่ยงที่บุตรหลานจะเสพหรือติดยาเสพติด
แม้จะมีปัจจัยอื่นๆ เป็นส่วนประกอบ เช่น ลักษณะบุคลิกเฉพาะตัว ลักษณะทางสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม
แต่ปัญหาครอบครัวที่ขาดประสิทธิภาพในการอบรมเลี้ยงดู ถือเป็นส่วนสำคัญที่สุด
เพราะเป็นสถาบันที่หล่อหลอมและเป็นหน่วยย่อยที่สุดในสังคม

ส่วนปัญหาการติดยาเสพติดของวัยรุ่นนั้น น.พ.อภิชัย มงคล รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้ความคิดเห็นว่า
เด็กบางคนมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพจิตตั้งแต่ยังเล็ก
เพราะอาจจะมีปัญหาด้านการเรียนหนังสือไม่เก่ง ประพฤติตัวไม่ดี ทำให้โดนพ่อแม่ครูอาจารย์ต่อว่า
จึงทำให้เด็กไม่อยากไปเรียนหนังสือ รวมทั้งเพื่อนฝูงไม่ให้ความนับถือ

น.พ.อภิชัย บอกว่าปัญหาดังกล่าวอาจทำให้เด็กเข้าไปมั่วสุมรวมกลุ่มกันมากขึ้น
เมื่อพอโตเป็นวัยรุ่น ต้องการความเคารพนับถือการยอมรับเพื่อแสดงตัวว่าเป็นผู้ใหญ่
แต่เมื่อเขาขาดทักษะไม่สามารถอยู่ในกลุ่มที่ดีได้ ก็จะเลือกไปอยู่ในกลุ่มหนึ่งที่ยอมรับเขา
เช่น "ดีไม่ได้เป็นโจรก็เท่" เหมือนเป็นการยอมรับสิ่งที่เขาทำ แม้เป็นกลุ่มแคบทำให้เขาเด่นเรื่องไม่ดี
จนกลายเป็น "มั่วสุมยาเสพติด ต่อต้านสังคมเพิ่มมากขึ้น"

ส่วนการดูแลของพ่อแม่นั้น น.พ.อภิชัย แนะนำว่าต้องเข้าใจว่า
เด็กวัยรุ่นต้องการความสนุกสนานตื่นเต้น ความเร้าใจ ท้าทาย พ่อแม่ต้องให้การสนับสนุนในส่วนที่เขาชอบ
ถ้าไปขัดขวางก็ทำให้เขาเบื่อเป็นโรคซึมเศร้าก็จะมีสภาพจิตอ่อนๆ

"ถ้าจังหวะนั้นมีคนมาเสนอให้ลองเสพยาก็จะรับเข้าได้ง่าย พ่อแม่ควรสนับสนุนให้เขาทำในสิ่งที่เขาชอบ
อีกอย่างอย่าบังคับให้เรียนอย่างเดียวอาจทำให้เด็กหนีเรียน หนีออกจากบ้าน
เพราะเขารู้สึกเป็นเรื่องตื่นเต้นที่ผิดๆ นำไปสู่การติดยา ภูมิใจในสิ่งที่ผิด"

ดังนั้น การดูแลบุตรหลานจึงเป็นการสร้าง เกราะป้องกันในครอบครัวและเป็นเรื่องสำคัญที่มักถูกมองข้ามไป
มุ่งแต่จะแก้ปัญหาระดับมหภาคจนลืมมองส่วนสำคัญที่สุด คือ "ครอบครัว"
หากเพียงครอบครัวปลูกฝังให้รู้จักการทำ “ความดี" ที่หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องยาก
เช่น ต้องขยันหรือเรียนเก่งตามแบบอย่างที่หลายครอบครัวมักปลูกฝังกัน

หากมองว่าแค่เราไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด
ก็ถือเป็นการทำความดีที่ยิ่งใหญ่ให้แก่ตนเอง ให้แก่ครอบครัว ให้แก่ประเทศชาติได้ ไม่ยากอย่างที่คิด


ข็อมูลโดย : //www.komchadluek.net
ที่มา : //www.dmh.go.th


สารบัญแม่และเด็ก




 

Create Date : 01 มิถุนายน 2553
2 comments
Last Update : 1 มิถุนายน 2553 21:23:15 น.
Counter : 1131 Pageviews.

 

 

โดย: nuyza_za 1 มิถุนายน 2553 22:05:39 น.  

 

เป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ จริงมาก ๆ และเห็นด้วยมาก ๆ ค่ะ

ขอบคุณเจ้าของบล็อกที่สรรหาเอาเรื่องดี ๆ มีสาระมาเก็บไว้ให้เพื่อน ๆ อ่านค่ะ

 

โดย: NATTI นัทตี้ IP: 62.203.107.51 2 มิถุนายน 2553 0:30:53 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.