จงให้ความสำคัญต่อสิ่งที่ถูกต้อง มากกว่าสิ่งที่ถูกใจ
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2555
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
7 พฤษภาคม 2555
 
All Blogs
 
เงื่อนไขการปฏิวัติ - บทที่ 9 คลื่นใต้น้ำปะทุ (ตอนที่ 1)

โดย พ.ต.อ. พุฒ  บูรณสมภพ

เขียนระหว่างปี พ.ศ. 2526 - 2528

บทที่ 9 - คลื่นใต้น้ำปะทุ
ตอนที่ 1 

ในบทที่ ๗ ตอนปฏิบัติการที่ผิดจังหวะ ผมได้เขียนทิ้งท้ายไว้ถึง การปฏิวัติ ๒๙ มิถุนายน ๒๔๙๔ หรือที่เรียกกันว่า " กบฏ แมนฮัตตัน ” ทิ้งไว้เพียงนั้น แล้วมาต่อบทที่ ๙ ด้วยการสรุปเหตุการณ์และวิจัยออกมาถึงสาเหตุและเงื่อนไขของเหตุปฏิวัติในแต่ละครั้งคราวของความวุ่นวายว่ามีอะไร และเกิดจากอะไรในแต่ละครั้งคราวนั้น ๆไว้แล้ว เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้วินิจฉัยเอาเองแต่ละเหตุการณ์ให้ได้อ่านบทต่อ ๆไปด้วยวิจารณญาณของตัวเอง

ท่านผู้อ่านบางท่านอาจมีอายุไม่ทันพบเหตุการณ์ที่แล้วๆ มา เรียกง่าย ๆ ว่า ยังเกิดไม่ทัน ก็จะได้ใช้ความรู้ซึ่งสรุปไว้ในบทที่แล้วมานั้น มาพิจารณาเหตุการณ์ที่จะเกิดต่อไปได้ถูกต้อง

หลังจากเหตุการณ์วังหลวง หรือที่เรียกกันว่า กบฏวังหลวง เมื่อ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ ได้สงบราบคาบไปแล้ว ด้วยความกระจอกของทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายกบฏ ดังที่เขียนมาให้อ่านกันแล้วนั้น ความสงบเงียบก็เกิดขึ้นอีกทั่ว ๆ ไป แต่ภายใต้ความสงบเงียบนั้น คลื่นใต้น้ำได้ก่อตัวขึ้นเงียบ ๆเหมือนกัน รอเวลาและจังหวะที่จะปะทุ

ยิ่งก่อตัวอยู่นาน ๆ ความหนาแน่นของคลื่นลูกนั้นก็ย่อมหนาแน่นมากขึ้นตามกาลเวลา และจะปะทุขึ้นเองด้วยความกดดันของความแน่นหนาอัดดันของคลื่นลูกนั้น

หลังจากเรื่องกบฏวังหลวงเรียบร้อยลงแล้ว ฝ่ายรัฐบาลก็เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น และเร่งรัดปรับปรุงกำลังและความพร้อมเพรียงของหน่วยระวังป้องกันทุกหน่วย ฝ่ายตำรวจโดยการนำของท่านอธิบดีเผ่าศรียานนท์ ก็เพิ่มงบการบำรุงกำลังตำรวจให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ตำรวจสมัยนั้น มีกำลังตำรวจตระเวนชายแดนเกิดขึ้นหลายกอง กองตำรวจตระเวนชายแดนนี้มีวัตถุประสงค์อันเป็นหลักใหญ่อยู่ที่เพื่อให้มีกำลังรบของประเทศอยู่ตามแนวชายแดนแทนกำลังทหาร ซึ่งตามข้อตกลงระหว่างประเทศว่าจะมีกำลังทหารอยู่ใกล้ชิดกับชายแดนของประเทศเพื่อนบ้านในระยะรัศมีไม่กี่กิโลเมตรไม่ได้ ระยะรัศมีที่ว่านี้มีระยะเท่าไร ผมจำไม่ได้ เอาเป็นว่าประมาณไม่เกินยี่สิบกิโลเมตรก็แล้วกัน ถ้าอยากได้ตัวเลขที่แน่นอนโปรดไปถามเอาที่กระทรวงการต่างประเทศ ที่นั่นเขารู้ดี

ตำรวจตระเวนชายแดนนี้ก็ได้ก่อตั้งขึ้นด้วยเหตุผลอันนี้ เพราะชายแดนของไทยนั้นมีระยะยาวมากจากเหนือจรดใต้ และตะวันออกจรดตะวันตก ถ้าเราจะปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นเขตปลอดทหารก็ย่อมไม่เป็นที่ไว้วางใจได้เป็นแน่ รัฐบาลให้งบป้องกันประเทศงบนี้มาอย่างเต็มใจในความคิดที่ถูกต้องของกรมตำรวจ ตำรวจตระเวนชายแดนจึงเกิดขึ้นและเติบโตจนเป็นกองบัญชาการถึงบัดนี้

เมื่อมีหน่วยกำลัง ก็ต้องมีอาวุธใส่มือให้

อาวุธของหน่วยตำรวจตระเวนชายแดนนี้เป็นอาวุธที่ทันสมัยและมีอำนาจร้ายแรงกว่าอาวุธของหน่วยอื่น เพราะจะต้องใช้อย่างมีประสิทธิภาพ 

อเมริกันสมัยนั้นกำลังหวั่นไหวต่อเหตุการณ์ทางภาคพื้นนี้อยู่ ก็ยินดีที่จะทุ่มเทอาวุธยุทธภัณฑ์ให้อย่างไม่หวง ฉะนั้น กำลังคนและอาวุธของตำรวจหน่วยนี้จึงมีมาก ทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ ไม่เฉพาะแต่อาวุธ กำลังพลก็มีประสิทธิภาพเหนือหน่วยอื่น ๆ แม้แต่หน่วยทหารบางหน่วยเสียอีก

กำลังในสังกัดของกรมตำรวจสมัยนั้น  มีกำลังหน่วยพลร่ม  ที่ได้รับการฝึกหัดจากหน่วยช่วยเหลือของอเมริกันหลายหน่วย อเมริกันเข้ามาตั้งหน่วยให้ความช่วยเหลืออยู่ใจกลางกรุงเทพ ฯแต่เข้ามาในรูปบริษัทการค้า ทั้งยุทธปัจจัยและบำรุงกำลัง บริษัทนั้นตั้งชื่อว่า บริษัท ซีสัปพลาย เขียนเป็นภาษาฝรั่งว่า SEASupply คำว่า SEA นั้นย่อมาจาก South East Asia หรือ เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ วัตถุประสงค์หลักขององค์การนี้ก็เพื่อช่วยเหลือพันธมิตรด้านเอเชียอาคเนย์ แต่วัตถุประสงค์พลอยได้นอกระบบนั้น  ย่อมต้องมี เพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์ของอเมริกันในภูมิภาคนี้

อเมริกันให้ความช่วยเหลือทั้งทางทหารและตำรวจ ทางด้านทหารนั้นมีชื่ออีกต่างหากว่า หน่วยจัสแมค (JUSMAG) ย่อมาจากคำเต็มว่า Joint U.S. Military Adviser Group เป็นที่ปรึกษาทางการทหารไป ประเทศไทยได้มีหน่วยพลร่มทางทหารในสมัยนั้น หน่วยทหารพลร่มนี้เป็นหน่วยพลรบพิเศษ ทำการรบได้ในทุกสภาพและพื้นที่ซึ่งเป็นหน่วยรบที่ทันสมัย

ในสมัยสงคราม โลกครั้งที่สอง อเมริกันได้ใช้ทหารหน่วยนี้เข้าจู่โจมกรุงเบอร์ลินที่เยอรมันยึดเอาเป็นที่มั่นสุดท้ายอย่างเหนียวแน่นไว้ได้ เป็นการเผด็จศึกขั้นสุดท้ายจนเยอรมันต้องยอมแพ้ กำลังทหารหน่วยนี้มีความสำคัญมากกว่ากำลังทหารหน่วยอื่น เพราะนอกจากจะใช้ในการจู่โจมได้ผลแล้ว ยังมีอำนาจในการยึดพื้นที่ได้อีกด้วย แต่จะมีความสำคัญมากมายอย่างไรก็ตาม ก็ยังต้องพึ่งกำลังทหารราบอยู่ดี เพราะถ้าไม่ได้กำลังทหารราบบนพื้นดินช่วยเครียร์พื้นที่ภาคพื้นดินให้ขณะที่ลอยตัวลงมาจากอากาศแล้ว ก็จะยุ่งเหมือนกัน เพราะกว่าจะร่อนลงมาเหยียบพื้นดินได้นั้น ถ้าถูกสอยลงมาเสียก่อนก็ไม่ได้ใช้เท้าแตะพื้นดินแน่

ยังไง– ยังไง ความสำคัญของทหารราบย่อมต้องเป็นหนึ่งอยู่เสมอในการรบ





Create Date : 07 พฤษภาคม 2555
Last Update : 8 พฤษภาคม 2555 2:14:26 น. 1 comments
Counter : 996 Pageviews.

 
ขอบคุณมาก..


โดย: ก้นกะลา วันที่: 8 พฤษภาคม 2555 เวลา:17:53:50 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ธารน้อย
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 26 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add ธารน้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.