จงให้ความสำคัญต่อสิ่งที่ถูกต้อง มากกว่าสิ่งที่ถูกใจ
Group Blog
 
<<
เมษายน 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
3 เมษายน 2555
 
All Blogs
 
เงื่อนไขการปฏิวัติ - บทที่ 4 วิกฤติกาลที่สร้างเงื่อนไข (ตอนที่ 2)

โดย พ.ต.อ. พุฒ  บูรณสมภพ

เขียนiะหว่างปี พ.ศ. 2526 - 2528

บทที่ 4 - วิกฤติกาลที่สร้างเงื่อนไข
ตอนที่ 2

ท่านเจ้าคุณพหลฯ นั้น ท่านมีเพื่อนฝูงร่วมรุ่นมาก และในหมู่เพื่อนฝูงร่วมรุ่นนี้ ก็ต้องมีทั้งคนดีและคนไม่ดี พอเพื่อนเป็นใหญ่และปราบปรามพวกที่คิดร้ายได้ราบคาบ ทีนี้เพื่อนก็ต้องหาความสบาย อะไรจะเท่ากับความมีเงิน ยังไม่มีเงิน มันก็ยังไม่สบาย ความวุ่นวายก็เกิดขึ้นในวงการต่าง ๆ ที่เป็นที่มาของเงิน

ตัวท่านเจ้าคุณนั้น ท่านไม่ใยดีอะไรกับความร่ำรวยเงินทอง ท่านพอใจแล้ว ไม่คิดที่จะกอบโกยหาความร่ำรวยกับใคร ปล่อยให้พรรคพวกที่ใกล้ชิดและไม่ใกล้ชิด หากินกันสนุก ตัวท่านเอง ถึงจะรู้เรื่องก็ไม่ออกปากว่ากล่าวอะไร ยิ้มลูกเดียว

ช่างเหมือนกับใครคนหนึ่งสมัยนี้เปี๊ยบ...

อยู่ๆ ไป ความวุ่นวายก็เกิดขึ้นในทุก ๆวงการ พวกพ่อค้านายทุนทั้งหลายก็เข้าพึ่งพิงขุนทหารผู้ทีอำนาจคุมกำลังต่าง ๆ เพื่อความสะดวกในการหาเงินของแต่ละคน ข้าราชการก็เกิดระส่ำระสาย ไม่รู้จะวางตัวอย่างไรจึงจะถูก ราษฎรประกอบอาชีพสุจริตหาเลี้ยงตัว ก็ตกอยู่ในความขัดสน เพราะเงินทองไหลเข้าสู่มือพวกที่ฉวยโอกาสเสียหมด แม้แต่ทางราชการเองก็เกิดขาดงบประมาณที่จะจ่ายเงินเดือนให้ข้าราชการ ถึงกับมีการดุลเอาข้าราชการออกด้วยความจำเป็น

เหตุการณ์เช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช พระมหากษัตริย์ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยความเป็นธรรม ไม่เคยมีเรื่องเลวร้ายอย่างนี้ ราษฎรทั่ว ๆ ไปเริ่มจะมีปฏิกิริยาขึ้นมา เพราะความอดอยาก

บุรุษผู้นั้นก็ไม่ใช่ใครอื่นไกล เขาคือ พันตรี หลวงพิบูลสงคราม นายทหารหนุ่มก้นกุฏิของท่านเจ้าคุณพหล ฯ ผู้นั้นนั่นเอง พันตรี หลวงพิบูล ฯ ผู้นี้เคยได้พูดว่า

“ ผมจะไม่วัดรอยเท้าท่าน ” อย่างที่บุคคลสมัยหลัง ๆ ชอบพูดกัน

พันตรีหลวงพิบูล ฯ ตอนนั้น มียศเป็น พันเอกแล้วด้วยการแต่งตั้งจากท่านเจ้าคุณพหล ฯ ให้คุมกำลังส่วนใหญ่ของกองทัพบก และดูเหมือนจะเป็นพันเอกที่หนุ่มที่สุดของกองทัพบกในสมัยนั้น

พันเอกหลวงพิบูล ฯ ทนต่อความกดดันจากเหตุการณ์อันเลวร้ายที่กำลังจะฉุดคร่าให้ประเทศชาติตกไปสู่ความหายนะไม่ได้ และทนต่อการรุกเร้าของผู้ใต้บังคับบัญชา ที่สนับสนุนให้เข้ามาแก้ไขเหตุการณ์ไม่ได้ ก็จำต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกบีบบังคับจากเหตุการณ์รอบๆ ตัวให้ต้องยื่นมือเข้ามาแก้ไข เพราะเป็นบุคคลคนเดียวที่ได้รับความไว้วางใจที่สุดจากท่านเจ้าคุณพหล ฯ

พันเอกหลวงพิบูล ฯ พร้อมด้วยเพื่อนทหารร่วมใจ เดินตบเท้าเข้าไปในวังปา     รุสก์ ฯ ซึ่งเป็นที่พำนักของท่านเจ้าคุณพหล ฯ แล้วโค้งคำนับให้ท่านลุกขึ้นจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เพื่อไปพักผ่อน

เป็นการปฏิวัติที่นุ่มนวล ไม่มีการเสียเลือดเนื้อแม้แต่หยดเดียว ทุกอย่างก็เรียบร้อย

ท่านเจ้าคุณพหลฯ จำต้องยอมลงจากเก้าอี่ดี ๆ อาจจะแปลกใจนิดหน่อยที่เห็นนายทหารที่ไว้ใจที่สุด รักที่สุด เข้ามาหาด้วยอาการเช่นนี้ แทนที่จะเข้ามาหาแล้วรายงานราชการธรรมดาอย่างเคย

ท่านก็ได้สมญานามใหม่เป็น“ เชษฐบุรุษ ” ของประเทศไทย เป็นสมญานามที่คิดค้นขึ้นมาใหม่เพื่อท่านโดยเฉพาะ แล้วก็ให้ไปพักผ่อน ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีกต่อไป

การปฏิวัติของเมืองไทยน่ารักอย่างนี้ ไม่มีการเสียเลือดเนื้ออย่างของต่างประเทศ

การปฏิวัติที่สำเร็จแบบนี้ ก็ต้องเป็นการปฏิวัติที่เกิดขึ้นจากพวกเดียวกันเอง อย่างที่ผมเขียนไว้ตอนต้น ๆ เป็นสัจธรรมอันหนึ่งของการปฏิวัติในเมืองไทย ถ้าเป็นการคิดก่อการของบุคคลฝ่ายอื่น ก็มักจะต้องมีการต่อสู้กันสุดฤทธิ์ และมักจะไม่สำเร็จ นอกเสียจากมีเงื่อนไขอื่นมาผสม เช่น ความเหลวแหลกอย่างไม่มีทางแก้ไขของสถานการณ์ทั่ว ๆ ไป จนถึงขั้นที่ยอมรับกันว่า ใครก็ได้ ขอให้เข้ามาแก้ไข เป็นยอมรับทั้งนั้น เหตุการณ์ครั้งนั้นมีเกือบจะเข้าขั้น  ถ้าหาก พันเอก คุณหลวงหนุ่มคนนี้ไม่ได้โดดเข้ามา ก็อาจจะมีใครอื่นที่มีกำลัง โดดเข้ามาแทนก็ได้

ตอนนั้นเป็นตอนต้น ๆ ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ หรือไม่ก็ปลายปี ๘๐ ผมกะ ๆเอา ไม่ได้บันทึกเอาไว้ กะเอาว่า ตอนปราบกบฏปี ๒๔๗๖ นั้น คุณหลวงพิบูลฯ เป็น พันตรี เพียงอีกห้าปีต่อมาก็เป็นพันเอก ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ประหลาดพิสดารแต่อย่างใด สำหรับนายทหารผู้ใกล้ชิดท่านนายก ฯ ก็ควรจะเป็นระยะปีนั้นพอดี

ตอนนั้น ผมเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบกแล้วเป็นปีแรก และตอนที่ผมสำเร็จออกมารับกระบี่ ท่านพันเอก หลวงพิบูล ฯซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้มาเป็นผู้มอบกระบี่และติดดาวบนบ่าให้ผม ผมยังจำได้ถึงคำพูดที่ท่านพูดเบา ๆ ที่หูผม ตอนติดดาวในรูที่เจาะไว้บนอินธนูให้ผมนั้น ท่านพูดว่า

“บ่าร้อนจัง ”

จะไม่ร้อนได้ยังไง พวกผมที่เข้าแถวรอการติดยศและรับกระบี่อยู่นั้น ต้องยืนฟังท่านพูดอยู่กลางแดด ก่อนที่ท่านจะทำพิธีติดยศมอบกระบี่ให้ นานร่วมชั่วโมง ท่านเป็นนักพูด ที่พูดแล้วไม่ยอมจบง่าย ๆ ถ้าพวกผมเป็นเทียน ก็คงจะละลายไปหมดทั้งแถวแล้ว ที่ทนยืนกันอยู่ได้ก็เพราะกำลังตื่นเต้นที่จะได้ออกไปรับราชการ เป็นผู้หลักผู้ใหญ่กันเสียที หลังจากที่ได้อดทนอยู่ในกรอบระเบียบวินัยอันแสนจะทารุณมาตั้งสามปีเต็มๆ

โรงเรียนนายร้อยเขาขัดเกลาเหลารีดพวกนักเรียนหนักนัก ตัวผมเองก็เกือบ ๆ จะโดนออกไม่รู้กี่ครั้ง ตลอดเวลาสามปีที่ใช้ชีวิตอยู่ในรั้วโรงเรียน หลุดออกมาได้รับกระบี่ติดยศได้ยังไงก็ไม่รู้ ผมได้เล่าไว้แล้วในหนังสือ “ เส้นทางชีวิต...” จะไม่เขียนถึงอีก

ก่อนที่ผมจะสำเร็จออกมานั้น ข่าวคราวทางสงครามจากภายนอกรอบ ๆประเทศไม่ใคร่จะดีนัก ทางด้านยุโรป เยอรมันนำกองทัพเหยียบย่ำเข้าไปในโปแลนด์แล้ว ยึดเมืองได้เรียบร้อยภายในไม่กี่วัน และฮิตเลอร์ซึ่งเป็นผู้นำของเยอรมันขณะนั้น กำลังคึกคะนอง นำกองทัพตะลุยยุโรปไปเป็นเมือง ๆ ยึดครองฝรั่งเศส และประเทศในย่านสะแกนดิเนเวียนแถบทะเลเหนือไว้ได้ทั้งหมด และกำลังหันกลับจะมาเล่นงานรัสเซีย ซึ่งเป็นที่พะวงหลังของเยอรมันอยู่

นักเรียนรุ่นผมเกือบจะต้องออกรับราชการก่อนกำหนด ตามนโยบายเร่งด่วนที่จะป้องกันประเทศ ของรัฐบาลท่านพันเอก หลวงพิบูล ฯทำท่าจะให้นักเรียนรุ่นผม ออกรับราชการก่อนกำหนด ผมก็ต้องเป็นทหาร ถ้าจะต้องออกรับราชการในตอนนั้น ก็จะไม่ได้เป็นตำรวจ แต่รัฐบาลคงจะเห็นว่า รุ่นนี้จวนจะเรียนจบอยู่แล้ว จึงปล่อยให้เรียนให้จบหลักสูตรเสียก่อนก็ยังได้ เพราะเหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนก็จะจบแล้วพวกรุ่นผมจึงได้เรียนจนจบ รุ่นที่ตามหลังผมออกมาอีกสองสามรุ่นนั้น เรียนกันไม่จบหลักสูตรก็ต้องออกรับราชการกัน เพื่อให้ทันต้อนรับเหตุการณ์





Create Date : 03 เมษายน 2555
Last Update : 3 เมษายน 2555 2:01:15 น. 3 comments
Counter : 944 Pageviews.

 
เข้ามาอ่านค่ะ
เป็นประวัติจริงๆใช่ไหมคะ


ขอบคุณนะคะที่ไปเที่ยวด้วยกัน


โดย: AdrenalineRush วันที่: 3 เมษายน 2555 เวลา:9:14:39 น.  

 
ขอบคุณมาก..


โดย: ก้นกะลา วันที่: 3 เมษายน 2555 เวลา:17:20:07 น.  

 
เป็นประวัติจริง ๆ ทั้งหมดเลยค่ะ
คุณ AdrenalineRush
ขอบคุณที่แวะมาเยือนกันนะคะ
มาบ่อย ๆ เลยค่ะ ยินดีต้อนรับค่ะ



โดย: ธารน้อย วันที่: 4 เมษายน 2555 เวลา:1:09:05 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ธารน้อย
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 26 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add ธารน้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.