จงให้ความสำคัญต่อสิ่งที่ถูกต้อง มากกว่าสิ่งที่ถูกใจ
Group Blog
 
<<
เมษายน 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
6 เมษายน 2555
 
All Blogs
 
เงื่อนไขการปฏิวัติ - บทที่ 5 การปฏิวัติที่รอคอย (ตอนที่ 2)

โดย  พ.ต.อ.  พุฒ  บูรณสมภพ

เขียนระหว่างปี พ.ศ. 2526 - 2528

บทที่ 5 การปฏิวัติที่รอคอย
ตอนที่ 2

การรัฐประหารครั้งนั้น ในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ เป็นการปฏิวัติที่ง่ายดาย เพราะเงื่อนไขที่คณะรัฐบาลสร้างเอาไว้ฆ่าตัวเองจริง ๆ คณะผู้ก่อการรัฐประหารประกอบด้วยนายทหารนอกราชการหลายคน จะมีที่คุมกำลังก็ไม่กี่หน่วย มิหนำซ้ำยังมีหน่วยของ ร. พัน ๓ พากันไปจับท่านปรีดี ฯด้วยอาวุธปืนที่ไม่มีลูกเลื่อนทั้งคันรถ ก็ยังสำเร็จ ประชาชนส่วนใหญ่ทั่วประเทศยอมรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น

ผมนอนฟังผลการรัฐประหารครั้งนั้นอยู่ที่บ้าน เมื่อพรรคพวกที่ว่ากันว่าจะต่อต้าน ต่างก็หายกันไปหมด ไปที่รวมพลก็ไม่พบใคร ผมก็กลับไปนอนบ้าน ตื่นเช้าไปทำงานที่ทำงานที่กอง ๒ ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงนัก นอกจากมีนายตำรวจรุ่นพี่ของผมคนหนึ่งหายไป หอบข้าวของอาวุธหลบไปไหนก็ไม่รู้เพียงคนเดียว นายตำรวจผู้นั้นเป็นสารวัตรแผนก ๑ ของกอง๒ ไม่รู้ว่าหนีไปไหน และหนีทำไม

ผมทำงานของผมไปตามปกติ ผู้กำกับการของผมชื่อ พันตำรวจตรี ประจวบ กีรติบุตร ยังนั่งสั่งงานอยู่เหมือนเดิม ไม่หนีไปไหน ผู้กำกับคนนี้ ผมรักของผมมาก ที่รักก็เพราะเป็นผู้กำกับ ฯ คนเดียว ที่แบมือรับผมไว้ ตอนที่ผมโดนท่านผู้บังคับการสอบสวนกลาง ที่ผมไปขัดทางเดินของท่านเอาไว้ตรงนั้น ท่านขอย้ายผมจากตำแหน่งสารวัตรผู้มีอำนาจสอบสวนสืบสวนทั่วประเทศ ไปเป็นสารวัตรสถานีตำรวจคันนายาว สถานีนครบาลชั้นนอก ที่ไม่ต้องยุ่งกับการสอบสวนอีกสถานีหนึ่ง

ครั้งนั้น ท่านอธิบดีกรมตำรวจคือ ท่านพลเรือตรี หลวงสังวรณ์ยุทธกิจ ท่านเข้ามารักษาการณ์ในตำแหน่งอธิบดี ฯชั่วคราว ท่านเรียกผมไปพบ บอกให้ผมทราบว่า ผู้บังคับการของผม ขอให้ย้ายผมไปให้ไกลหูไกลตา ไปอยู่ที่คันนายาวนั่นแหละดี สมกับความสามารถของผมที่คอยขัดลำดีนัก ท่านผู้รักษาการณ์อธิบดีกรมตำรวจถามผมว่า ผมไปมีเรื่องอะไรกับเขา ผมมันไม่ใช่คนชอบฟ้องนาย ผมก็ว่าผมไม่มีอะไรกับท่านผู้การ ฯ แต่ท่านผู้การ ฯ จะมีอะไรกับผม ผมไม่ทราบ

ท่านอธิบดีจะย้ายผมไปไหน ผมก็ต้องรับคำสั่ง ผมอยู่ได้ ผมก็อยู่ ถ้าผมอยู่ไม่ได้ ผมก็ลาออก ผมเรียนท่านรักษาการณ์อธิบดีแค่นี้ แล้วก็ไม่ได้พูดอะไรอีก ท่านตบไหล่ผม ไม่พูดอะไรเหมือนกัน

แล้วผมก็โดนย้ายข้ามฟากมาอยู่กับท่านผู้กำกับการฯ ประจวบ กีรติบุตร ที่กอง ๒ นี้ ผมมารู้ทีหลังว่า ท่านรักษาการณ์ ฯเที่ยวเอาผมไปลงที่ไหนก็ไม่มีใครเขารับผม เขาว่าผมเป็นคนปกครองยาก ผมก็ไม่รู้ว่าตัวเองปกครองยากแค่ไหน ลงท้าย ท่านก็พูดกับผู้กำกับการ ฯ ประจวบ ฯ ว่า จะเอาตัวผมไว้ไหม ท่านผู้กำกับ ฯ ประจวบ ฯ ตอบทันที่ว่า “ เอาซีครับ ”

เป็นผู้กำกับฯ คนเดียวที่ยอมรับผมไว้โดยไม่ต้องคิด ผมจะไม่รักท่านได้ยังไง วันที่เกิดรัฐประหารท่านก็นั่งทำงานเฉย ไม่ตื่นเต้นอะไร แล้วท่านก็อยู่ของท่านสบายดี ไม่มีใครไปตอแย

ผมอยู่ที่สันติบาลกอง ๒ นี่ ก็ไม่ค่อยจะมีงานทำเท่าไหร่ เพราะเป็นเพียงประจำกอง ไม่มีตำแหน่ง ผมก็ได้แต่นั่ง ๆ นอนๆของผมสบาย ๆ ฝ่ายรัฐประหารก็ไม่ได้มาชวนอะไรผมอีก หัวหน้ารัฐประหารตอนนั้น ชื่อ พลโท ผิน ชุณหวัน ประกาศชื่อออกมาทางวิทยุ ไม่มีใครรู้จัก แต่ทุกคนก็ยอมรับ ตอนนั้น ใครก็ได้ ขอให้มาขับไล่รัฐบาลขณะนั้นออก ๆ ไปเสียที รำคาญกันทั้งนั้น

ท่านพลเอกหลวงอดุลย์ ฯ ยังคงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกอยู่อย่างเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมาก คณะรัฐประหารน่าจะปลดออกจากตำแหน่ง แต่ไม่ได้ทำ อาจจะเป็นเพราะมีความเกรงใจก็ได้ นอกจากนั้น ท่านยังปล่อยให้ผู้พันละม้าย ไปจับท่านปรีดี ฯ ทั้ง ๆ ที่สกัดไว้แล้ว เพียงแต่ปลดลูกเลื่อนปืนทั้งคันรถออกเท่านั้น แล้วปล่อยให้ไปได้ ก็อาจเชื่อว่า ไม่มีการยิงกันแน่

ผมถึงว่าไว้ว่า ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกนี้ เป็นตำแหน่งสำคัญที่ทิ้งไม่ได้ แต่ที่คณะรัฐประหารทิ้งเอาไว้ก่อน ก็เพราะยังไม่อยากหักพร้าด้วยเข่า ฝ่ายตัวเองก็กำลังไม่เท่าไร พวกที่หันมาเข้าด้วยนั่นก็เพราะเห็นว่าทำได้สำเร็จแล้ว ปล่อยให้ท่านผู้บัญชาการ ฯ ตาดุ อยู่ ๆ ไปก่อน รักษาน้ำใจเอาไว้

นายกรัฐมนตรีที่คณะรัฐประหารไปเชิญมารับตำแหน่ง เพราะยังไม่อยากทำอะไรที่มากไปนัก ยังไง ๆก็ต้องเกรงใจท่านผู้บัญชาการทหารบกไว้บ้างนั้นก็คือ คุณพจน์ สารสิน

ผมเองก็ชักจะไม่ค่อยแน่ใจว่า จะเป็นคุณพจน์ สารสิน ใช่หรือไม่ ที่คณะรัฐประหารเชิญขึ้นมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อควบคุมสถานการณ์ไว้ได้เรียบร้อยแล้ว แต่เข้าใจว่าคงจะใช่ ผมว่าจะถามตัวท่านเพื่อหาความแน่ใจตอนที่พบกันที่สโมสรกอล์ฟ แต่บังเอิญระยะนี้ท่านไม่ค่อยจะได้ไปเสียด้วย ก็เลยยังไม่ได้ถามให้แน่ใจ ผมเข้าใจว่าผมเขียนไม่ผิด เพราะคุณพจน์ สารสิน นี้เป็นเพื่อนค่อนข้างสนิทกันกับท่านจอมพล ป. และคณะผู้ทำการรัฐประหารครั้งนั้น ก็เป็นลูกศิษย์ท่านจอมพล ป. ส่วนมาก





Create Date : 06 เมษายน 2555
Last Update : 7 เมษายน 2555 21:27:01 น. 2 comments
Counter : 1010 Pageviews.

 
มาติดตามอ่านต่อครับ


โดย: Insignia_Museum วันที่: 8 เมษายน 2555 เวลา:15:49:25 น.  

 
ขอบคุณมาก..


โดย: ก้นกะลา วันที่: 9 เมษายน 2555 เวลา:21:41:34 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ธารน้อย
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 26 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add ธารน้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.