happy memories
Group Blog
 
All blogs
 

ยรรยงค์ เสลานนท์




ภาพจากบล็อกคุณ Tiensongsang


คู่ทาษ - ยรรยงค์ เสลานนท์








เนื้อเพลงจาก บล็อกคุณ JAMAICA



บล็อกคุณปอนอาทิตย์นี้ค่ะ

แปกแซมแนมฝัน













'ยรรยง เสลานนท์' สุดยอดต้นฉบับเพลง 'คู่ทาส' วงสุนทราภรณ์
และนักร้องผู้ขับขานบทเพลงพระราชนิพนธ์ 'ความฝันอันสูงสุด'



แม้จากไป ยังคง "ยรรยงค์"

อยู่เสียงเพลง "คู่ - ทาษ" หวานซึ้ง

คะนึงหาอาลัยรัก คุณครู

ขอบูชาดวงวิญญาณ์ สู่สวรรค์ อย่างมั่นคง



ยรรยง เสลานนท์ เป็นชาวกรุงเทพมหานคร บุตรชายของแม่ศิริ คุ้มอยู่ นักร้อง-นักแสดงละครวิทยุชื่อดังเพราะเหตุนี้จึงมีโอกาสติดตามมารดาไปตามสถานีวิทยุ หลังจบการศึกษาจากโรงเรียนวัดบวรนิเวศน์






เมื่อปี พ.ศ. ๒๕o๑ ยรรยง เสลานนท์ ไปสมัครเข้าสอบรับราชการ แผนกบันเทิง กรมประชาสัมพันธ์ และด้วยเหตุที่ผู้สอบจะต้องมีผู้รับรองการเข้าสอบ ยรรยงนึกไม่ออกว่าจะให้ใครรับรอง รู้จักเพียงชื่อครูเอื้อ สุนทรสนาน จึงตัดสินใจไปพบวินัย จุลละบุษปะ เพื่อให้พาไปพบครูเอื้อ ซึ่งขณะนั้นครูเอื้อ กำลังยืนคุยอยู่กับวินัย จุลละบุษปะ ณ ตรงนั้น  ยรรยงจึงได้เข้าแสดงตน และ เขาได้ยื่นกระดาษให้ครูเอื้อ เซ็นชื่อรับรอง หลังไถ่ถามจนรู้ความ ครูเอื้อก็ยินดีเซ็นรับรองให้ ผลการสอบคัดเลือกรับเพียง ๓ คนจาก ๙ คนที่เข้าทำการสอบแต่ ยรรยง เสลานนท์ ไม่ผ่านบรรจุ ครูเอื้อ คงเห็นมีแววอยู่บ้าง จึงรับเข้าไว้ใน ”โครงการดาวรุ่งพรุ่งนี้” รุ่นเดียวกับ ศรวณี โพธิเทศ และ รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส






ยรรยง เสลานนท์ ฝึกฝนร้องเพลง ก่อนได้ติดตามวงดนตรีสุนทราภรณ์ ไปออกรายการโทรทัศน์ช่อง ๔ บางขุนพรหม โดยนำเพลงลาวดวงเดือน ร้องออกทีวี กระทั่งปี พ.ศ. ๒๕o๓ ยรรยง จึงสอบบรรจุรับราชการ เข้าประจำแผนก ดนตรีสากล กรมประชาสัมพันธ์ ครูเอื้อ จึงมอบเพลง ''ฝากน้ำใจ'' ให้ร้องอัดแผ่นเสียงเป็นเพลงแรก ก่อนจะมีผลงานเพลงทรัพย์ทรวง, กรรมรัก, เงา, ไม่รักไม่รู้, คอยลม, ร้อนนี้พี่ยังหนาว, คมตา, ใบไม้ร่วง, พลิ้วลมวอน, ฉันรักเธอ, ราตรีประดับดาว, ยอดปรารถนา, เกาะลอย, คิดถึง, ยากยิ่งสิ่งเดียว, ชีวิตกับสังคม, ฉันไม่งาม และนิมิตสวรรค์ โดยมีเพลง ''คู่ทาส'' เป็นเพลงสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักมากที่สุด รวมถึงเพลงกลิ่นราตรี ของมัณฑนา โมรากุล ที่ ยรรยง เสลานนท์ นำมาร้องอัดแผ่นใหม่ก็เป็นที่นิยม





ครูเอื้อ สุนทรสนาน
ภาพจาก vcharkarn.com



ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ได้ตั้งโรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรี จึงชวน ยรรยง เสลานนท์ ไปร่วมฝึกสอนขับร้องอยู่ที่โรงเรียน และยังได้รับความไว้ใจให้อัดแผ่นร้องเพลงประจำของมหาวิทยาลัยรามคำแหง คือ เพลงรามแห่งความหลัง และดาวราม รวมถึงเพลงประจำจังหวัดปราจีนบุรี เพลงรอเธอที่ปราจีน และถิ่นเราเขาใหญ่ ร่วมถึงอัดแผ่นเพลงคืนสู่เหย้า คู่กับ บรรจงจิตต์ พัฒนาสันต์ นักร้องดาวรุ่งจากโรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรี ซึ่งเป็นศิษย์คนหนึ่งของยรรยงด้วย ต่อมาเพลงคืนสู่เหย้า กลายเป็นเพลงเอกประจำงานคืนสู่เหย้าของทุกสถาบัน






ทั้งนี้ ก่อนที่ครูเอื้อ สุนทรสนาน จะสิ้นบุญ ได้สั่งเสียไว้ว่าเพลงที่ครูเอื้อเคยร้องอัดไว้ทั้งหมดต่อไปให้ยรรยงเป็นผู้ร้องต่อ และแม้ว่ายรรยง เสลานนท์ จะเป็นครูสอนร้องเพลงที่โรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรี แต่ก็ยังมีผลงานเพลงออกมาคือ อัลบั้มกล่อมรัก ที่ร่วมงานกับบริษัท โรต้า และยังรับราชการที่กรมประชาสัมพันธ์จนเกษียณอายุเมื่อปี ๒๕๔๔ แต่ก็ยังมีโอกาสได้ร้องเพลงอยู่เรื่อยมา จนกระทั่งล้มป่วยด้วยโรคประจำตัวหลายโรค จนเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๖ สิริอายุ ๗๖ ปี





อติพร สุนทรสนาน เสนะวงศ์
ภาพจาก siamdara.com



อติพร สุนทรสนาน เสนะวงศ์ เขียนไว้ในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพคุณยรรยง เสลานนท์


คุณยรรยง เสลานนท์ เป็นนักร้องสุนทราภรณ์คนแรก ในยุคของนักร้องดาวรุ่งพรุ่งนี้ รุ่นเดียวกับคุณบุษยา รังสี และถือว่าเป็นนักร้องในยุคนั้นที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่ง ผลงานของคุณยรรยง มีตั้งแต่เพลง คู่ทาส, ทรัพย์ทรวง, ฝากน้ำใจ, คอยลม, ยอดปรารถนา, พลิ้วลมวอน, คมตา, ไม่รักไม่รู้, กรรมรัก ฯลฯ นับว่าเป็นนักร้องดาวรุ่งพรุ่งนี้ที่มีผลงานบันทึกเสียงมากที่สุด อีกทั้งคุณครูเอื้อ สุนทรสนาน ยังคัดเลือกให้เป็นผู้บันทึกเสียงบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด” แทนตัวท่านเองด้วย นั่นแสดงให้เห็นถึงความสามารถ น้ำเสียงอันไพเราะและเป็นเอกลักษณ์ของคุณยรรยงได้เป็นอย่างดี





ภาพจาก munkonggadget.com



จำได้ว่าคุณยรรยงจะเกลียดคำว่า “นักร้องดาวรุ่งพรุ่งนี้” มาก เพราะท่านคิดว่าทำให้ท่านไม่ได้เป็นดาวรุ่งในวันนี้เสียที แต่จากผลงานของท่านที่ปรากฏอยู่จนถึงทุกวันนี้  โดยที่ยังไม่มีนักร้องคนไหนสามารถร้องได้ไพเราะไปกว่านั้น ก็น่าจะเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าท่านคือนักร้อง “ดาวรุ่ง” สุนทราภรณ์ ทุกยุค ทุกสมัย อย่างแน่นอน





ภาพจาก
เฟซบุคคุณยรรยงค์ เสลานนท์ ในช่วงเป็นนักร้องดาวรุ่งสุนทราภรณ์



ขอตั้งจิตอธิษฐานให้ดวงวิญญาณของคุณยรรยงได้ไปสิงสถิตอยู่กับครูเอื้อ สุนทรสนาน นักร้อง นักดนตรี ที่ได้ล่วงลับไปก่อนหน้านี้แล้ว ขอให้ท่านภูมิใจเถิดว่า ท่านได้เป็นนักร้องสุนทราภรณ์ ที่ทุกคนจะกล่าวขวัญถึงไปอีกตราบนานเท่านาน





ภาพจาก
เฟซบุคคุณยรรยงค์ เสลานนท์ ในช่วงเป็นนักร้องดาวรุ่งสุนทราภรณ์




ความฝันอันสูงสุด - ยรรยง เสลานนท์





ภาพและข้อมูลจาก naewna.com



บล็อกนี้อยู่ในหมวดแฟนคลับค่ะ



บีจีจากเวบ wallcoo ไลน์จากคุณญามี่


Free TextEditor





 

Create Date : 31 มีนาคม 2557    
Last Update : 8 เมษายน 2557 7:54:13 น.
Counter : 8662 Pageviews.  

ชุมทางชีวิต




ภาพจาก mi9.com


ชุมทางชีวิต - สุเทพคอรัส




ชุมทางชีวิต - จินตนา สุขสถิตย์







“ชุมทางชีวิต”
คำร้อง อดิเรก จันทร์เรือง
ทำนอง นริส ทรัพยประภา


โอ้ดวงชะตา นี่หนา พระพรหมลิขิต

หนทางชีวิต คิดอยู่ อย่างมีจุดหมาย

เกิดมาทุกคน ชาตินี้ ไม่หนีความตาย

เมื่อยังไม่สาย เกินไป ให้สร้างความดี


ผู้ดีหรือไพร่ ไม่พ้น ทุกคนต้องสู้

ร้อยพันมองดู ล้วนอยู่ สู้เพื่อศักดิ์ศรี

เมื่อใครรู้ตัว อย่ามัวช้า รอฟ้าปรานี

สู้อย่าเมินหนี ไปในกลาง ชุมทางชีวี








ภาพจาก saisampan.net




เพลงละคร “ชุมทางชีวิต” คิดถึง อดิเรก จันทร์เรือง



“โอ้ดวงชะตา นี่หนา พระพรหมลิขิต

หนทางชีวิต คิดอยู่ อย่างมีจุดหมาย

เกิดมาทุกคน ชาตินี้ ไม่หนีความตาย

เมื่อยังไม่สาย เกินไป ให้สร้างความดี....."



จำได้ว่าทุกวันอาทิตย์ตอนบ่ายของช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑o ชาวบ้านร้านถิ่นทั้งในกรุงและต่างจังหวัดส่วนใหญ่จะไม่ยอมอยู่ไกลจากรัศมีของจอโทรทัศน์ เพื่อจะรอคอยฟังเพลงนี้ผ่านจอโทรทัศน์ช่อง ๕ ขาวดำในยุคนั้น และคอยติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจจากภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์ที่กำลังดังที่สุดในปีนั้น ภาพยนตร์ชุดเรื่องนี้ก็คือ “ชุมทางชีวิต” ชื่อเดียวกับชื่อเพลงนั่นเอง เป็นเรื่องราวที่จบลงในแต่ละตอน แต่มีประเด็นและเรื่องราวชวนให้ติดตามในตอนต่อไปอยู่เสมอ ผู้แสดงนำคือ ทม วิศชาติ และ สมควร กระจ่างศาสตร์ กำกับการแสดงโดย อดุลย์ ดุลยรัตน์





(ซ้าย) คุณสมควร กระจ่างศาสตร์ (ขวา) คุณอดุลย์ ดุลยรัตน์
ภาพจากวิกิพีเดีย



ก่อนหน้านั้นละครโทรทัศน์ส่วนใหญ่จะเป็นการแสดงสดหน้าจอกันเลย ในขณะที่ภาพยนตร์ชุดจากต่างประเทศได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในจอโทรทัศน์ในประเทศไทยบ้างแล้ว ส่วนของไทยเรานั้น ผู้บุกเบิกละครโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ชุดทางจอแก้วก็คือเรื่อง “ชุมทางชีวิต” ของรัชฟิล์มทีวีนี่เอง ที่ต้องเรียกว่าเป็นภาพยนตร์ชุดนั้น เนื่องมาจากยังถ่ายทำด้วยฟิล์มภาพยนตร์ขนาด ๑๖ มม. ขาวดำอยู่นั่นเอง





ภาพจาก utubeclassic.com



แต่ในภายหลังในละครเรื่องต่อ ๆ มา รัชฟิล์มทีวีก็ได้เปลี่ยนมาใช้เทปโทรทัศน์ทำการบันทึกแทน จนได้กลายเป็นต้นแบบละครโทรทัศน์ล้นจอมาจนถึงในปัจจุบัน รัชฟิล์มทีวี เป็นผู้ผลิตรายการโทรทัศน์และภาพยนตร์โทรทัศน์ชื่อดังของไทยในอดีต เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๕o๗ มีผู้นำผู้บริหารคือ พันเอกพยุง (พึ่งศิลป์) ฉันทศาสตร์โกศล ซึ่งเป็นบิดาของ ละลิตา ฉันทศาสตร์โกศล นักเขียนบทละครโทรทัศน์ระดับมือทองของวงการโทรทัศน์ในปัจจุบัน





พันเอกพยุง ฉันทศาสตร์โกศล
ภาพจาก newsplus.co.th



รัชฟิล์มเริ่มสร้างภาพยนตร์ชุดระบบฟิล์ม ๑๖ มม. ด้วยตนเองเพื่อฉายทางโทรทัศน์ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑o-พ.ศ. ๒๕๒๒ ผลงานที่สร้างชื่อเสียงคือ ชุมทางชีวิต, พิภพมัจจุราช, หุ่นไล่กา และ ฯลฯ อีกนับร้อยเรื่อง มีโรงถ่ายระดับมาตรฐานอยู่ที่ซอยลาดพร้าว ๖๔





ภาพจากยูทูบ



เพลง “ชุมทางชีวิต” แต่งคำร้องโดย อดิเรก จันทร์เรือง ทำนองโดย นริส ทรัพยประภา บันทึกเสียงครั้งแรกโดย จินตนา สุขสถิตย์ และ สุเทพคอรัส ส่วนเสียงร้องของผู้แต่งคือ อดิเรก จันทร์เรือง นั้นได้มาบันทึกเสียงในภายหลัง คือหลังจากไปเป็น เอ็ดดี้มิชิแกน อยู่ที่สหรัฐอเมริกาแล้ว เพื่อนำผลงานการขับร้องมารวมไว้ในชุดรวมฮิตของตนเอง





ภาพจาก thaigramophone.com



อดิเรก จันทร์เรือง เป็นคนที่เติบโตมาในครอบครัวและแวดวงของศิลปินโดยกำเนิด จึงเป็นที่ทราบกันดีในแวดวงคนใกล้ชิดว่า นอกจากจะเป็นนักร้องนักแสดงระดับแนวหน้าแล้ว เขายังเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนและแต่งเพลงได้ดีด้วย พยุง พึ่งศิลป์ แห่งรัชฟิล์ม ผู้สร้างละครโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ชุดเรื่อง “ชุมทางชีวิต” จึงหอบเอาพล็อตเรื่องมาขอให้แต่เพลงประกอบละครเรื่องนี้ให้ตั้งแต่ช่วงเตรียมการสร้างแล้ว





รังสิยา บรรณากร
ภาพจาก saisampan.net



นอกจากเพลง “ชุมทางชีวิต” แล้ว ผลงานการแต่งเพลงของ อดิเรก จันทร์เรือง ยังมีอีกหลายเพลง เช่น “ตลาดอารมณ์” ขับร้องโดย รังสิยา บรรณกร และอีกเพลงคือ “เวทีชีวิต” ซึ่งเป็นงานที่ยังไม่มีการเผยแพร่ และ ฯลฯ





ภาพจาก saisampan.net



ที่น่าเสียดายก็คือ เจ้าของต้นฉบับเพลง “ชุมทางชีวิต” หมายถึงผู้ร่วมงานทั้ง ๓ คนคือ ผู้แต่งทำนอง นริส ทรัพยประภา, ผู้แต่งคำร้อง อดิเรก จันทร์เรือง และผู้อำนวยการสร้าง พยุง พึ่งศิลป์ ต่างก็ทยอยจากญาติมิตรและผู้เป็นที่รักไปจนครบทั้ง ๓ คนแล้ว


คงเหลือไว้แต่ผลงานและเสียงเพลงให้คนที่อยู่ข้างหลังได้อาลัยคิดถึงไม่รู้ลืม.



ข้อมูลจาก
นสพ.ไทยโพสต์แทบลอยด์ ๑๖ มี.ค. ๒๕๕๗




เสพงานศิลป์สองบล็อกล่าสุด
เสพงานศิลป์ ๙๒
เสพงานศิลป์ ๙๑



บล็อกนี้อยู่ในหมวดแฟนคลับค่ะ



บีจีจากเวบ wallcoo ไลน์จากคุณญามี่
กรอบจากคุณ somjaidean100


Free TextEditor





 

Create Date : 23 มีนาคม 2557    
Last Update : 23 มีนาคม 2557 22:45:40 น.
Counter : 6447 Pageviews.  

เลิศ ประสมทรัพย์





สาวงามในโตเกียว - เลิศ ประสมทรัพย์






สาวงามในโตเกียว
คำร้อง เลิศ ประสมทรัพย์
ทำนอง จากเพลงญี่ปุ่น otomisan


อิจินะคึโรเมะอิมิกะชิ โนมาซืองิ อาตานะซื้อ
อาตาโนงะนะงีงามิ ชีฮินดาซือตาโยโต๊ะมีซัง
อิคิเตอี อะโต๊ะวะ โอชาเกชาเมเดโมะ
ชิดานุโฮโตเกโยโอโต๊ะมีซัง
เอ่ซาโอ่โอเกฮึมยาดานา


ซืองิตามุกะชิโอ่โออูรามูจะนะอิงะ
อาเตะโมะซื้อมิรุ ยะโอซิโนอาโต
ฮีซาซีบูรีดาโนโอโต๊ะมีซัง
อิมะจะโย บินะโมคีราเรโนโยซาโยะโอเร
เตอีชีมูยะโอโต๊ะมีซัง
เอซาโอ่โอซือมะตาเรเม


โอ้เธอช่างงามกระไร
งามยิ่งหญิงใดที่ไหนมาเทียมเธอ
วันคืนฉันเพ้อเพียงยลหน้าเธอคล้ายดวงจันทร์
เนตรเธอคมวาวดุจจะน้าวโน้มใจพลัน
ทุกครั้งพบเธอเป็นเพ้อครวญ
รัญจวนฤทัยให้ป่วนปั่น
ยามเธอพบฉันมีความสัมพันธ์ทุกนาที
โอ้ตาเธอนี้มีมนต์ทวีให้ตามไป


เมื่อตาเรามาเจอกัน
มีความสัมพันธ์กับฉันในดวงใจ
ความจริงนั้นไซร้ดวงใจละเมอเพ้อรำพัน
แต่เธอทำงอนพี่เฝ้าวอนทุกคืนวัน
ง้อนักมักงอนทำค้อนเมิน
ยามเดินฉันเดินเพลินตามพลัน
ดวงใจฉันนั้นรำพึงคะนึงถึงทรามวัย
โอ้ใจเธอเอ๋ยใจ ไยละเลยให้เรียมตรม


เนื้อเพลงจาก websuntaraporn.com





'เลิศ ประสมทรัพย์' สุดยอดนักร้อง นักดนตรี 'วงสุนทราภรณ์'



เลิศ ประสมทรัพย์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคมพ.ศ. ๒๔๖๖ บ้านตรอกสาเก หลังโรงแรมรัตนโกสินทร์ หัวมุมสะพานผ่านพิภพลีลา เริ่มต้นเรียนหนังสือที่โรงเรียนบำรุงวิทยา ร่วมชั้นเรียนเดียวกับ สุปาณี พุกสมบุญ และ สมพงษ์ ทิพยะกลิน อดีตนักร้องและนักดนตรีวงสุนทราภรณ์ หลังจากนั้นได้ไปศึกษาต่อที่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย รุ่นเดียวกับ เล็ก อ่ำเที่ยงตรง และ คำรณ สัมบุญณานนท์






เลิศ ประสมทรัพย์ ชอบการร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก ๆ โดยมักจะเข้าไปประกวดตามงานวัด โดยใช้นามแฝงว่า ล.ลูกทุ่ง ซึ่งทุกเวทีที่ประกวด เลิศมักจะได้รางวัลชนะเลิศมาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นวัดสระเกศ วัดสามปลื้ม วัดประยุรวงศาวาส หรือแม้แต่ วัดหัวลำโพงจนกระทั่งกรรมการได้ขอร้องให้เลิกประกวด แต่ให้เป็นกรรมการตัดสินการประกวดแทน ในขณะนั้นเลิศมีอายุได้ราว ๑๗-๑๘ ปี สำหรับนักร้องประกวดตามงานวัดที่ร่วมรุ่นเดียวกัน ได้แก่ ค.สำมะรงค์ (คำรณสัมบุญณานนท์), ล.สำมะรงค์ (เล็ก อ่ำเที่ยงตรง), ต.กิ่งเพชร (ชาญ เย็นแข) ณรงค์ ณ วังน้อย (ณรงค์ ธนวังน้อย) ส่วนเพลงที่ เลิศ นำไปขับร้องประกวดมี อาทิ เพลง เดือนตก ผลงานของ ครูสกนธ์ มิตรานนท์






เลิศ ประสมทรัพย์ เริ่มต้นการศึกษาด้านการดนตรีจากครูล้วน ควันธรรม ก่อนที่จะเข้ามาเป็นนักร้องอยู่ใน วงดนตรีสุนทราภรณ์ จากการชักชวนของ สมพงษ์ ทิพยะกลิน เพื่อนนักเรียนที่เป็นนักดนตรีและนักแต่งเพลงของวงสุนทราภรณ์






เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ เลิศ นับว่าเป็นนักร้องชายคนที่ ๓ ของวง (ต่อจากสุนทราภรณ์ หรือ ครูเอื้อ สุนทรสนาน และ ครูล้วน ควันธรรม) แต่อยู่ได้ไม่นานก็ลาออกไปสมัครเป็นตำรวจรถถังอยู่ ณ วังปารุสกวัน ในช่วงนี้เอง เลิศได้เริ่มต้นการแต่งเพลง“ความหนาวที่ลพบุรี” เนื่องด้วยความประทับใจที่เคยไปประจำการที่จังหวัดลพบุรี สิ่งที่ เลิศ ประสมทรัพย์ ได้จากการเข้ามาอยู่ในวงดนตรีสุนทราภรณ์ ในระยะแรกนั้น คือ การเป่าทรัมเป็ต และ ตีกลองซึ่งทำให้ เลิศ สามารถอ่านโน้ตสากลได้ โดยมี สมพงษ์ ทิพยะกลิน เป็นผู้สอน






ในราว พ.ศ. ๒๔๙๗ เลิศ ได้สมัครเป็นทหารอาสาในสงครามเกาหลี ที่ประเทศเกาหลีใต้ โดยสังกัดอยู่ใน ผ.ส. ๒๑ ร.พัน ๑(อิสระ) หน่วยบำรุงความสุข (ดนตรี) รุ่นเดียวกับ ครูธนิตผลประเสริฐ และครูใหญ่ นภายน เป็นเวลา ๑ ปี ๖ เดือน สำหรับทหารไทยคณะนี้ ได้เดินทางออกจากเมืองไทยโดยเรือ “ฟูจิกามารู” เมื่อ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ จากการไปราชการสงครามที่เกาหลีใต้ครั้งนี้ เลิศได้นำทำนองเพลงเกาหลีและญี่ปุ่นมาแต่งเป็นเพลง ริมฝั่งน้ำแพงม้า และ สาวงามโตเกียว (โอโต๊ะมีซัง) แสดงให้เห็นถึงความสามารถของการแต่งเพลงของเลิศ อีกด้านหนึ่ง






สาวงามในโตเกียว




หลังจากกลับมาจากเกาหลีใต้ในครั้งนี้แล้ว เลิศ ได้รับการบรรจุเข้าเป็นนักร้อง ในแผนกบันเทิง อีกครั้งหนึ่ง เมื่อ ๓ พฤษภาคมพ.ศ. ๒๔๙๘ โดยครั้งนี้ เลิศ ได้รับราชการอยู่ที่กรมประชาสัมพันธ์ตลอดมาจนกระทั่งเกษียณอายุราชการ เมื่อวันที่ ๓o กันยายนพ.ศ. ๒๕๒๗ นับเป็นเวลากว่า ๓o ปี






ระหว่างที่ เลิศ รับราชการอยู่ในวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ เลิศได้มีผลงานเพลงออกมาอย่างสม่ำเสมอ ทั้งการขับร้อง และการแต่งเพลง โดยเพลงมักจะออกมาในแนวตลก และสนุกสนาน และมักจะร้องคู่กับ ศรีสุดา รัชตะวรรณ เป็นส่วนใหญ่ ทำให้หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นสามี-ภรรยากัน ไม่ว่าจะเป็นไพรพิสดาร, จุดไต้ตำตอ หนีไม่พ้น, นกเขาไพร







จุดไต้ตำตอ




เลิศ มีเอกลักษณ์ในการร้องเพลงอีกอย่างหนึ่ง คือ การร้องเพลงในจังหวะตะลุงเท็มโป จนได้รับฉายาว่า “ราชาเพลงตะลุง” ผลงานที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ตะลุงสากล, ตะลุงมอญซ่อนผ้า, ตะลุงอยากเป็นพระอินทร์ ตะลุงดับเพลิงรัก นอกจากนี้ ยังมีผลงานเพลงที่เป็นอมตะอีก ๒ เพลง คือ “รำวงสาวบ้านแต้” และ “รำวงหนุ่มบ้านแต้” ที่ร้องนำหมู่กับ ศรีสุดา รัชตะวรรณ จนได้รับความนิยมมาจนปัจจุบัน เลิศ ประสมทรัพย์ ร้องเพลงมาตลอดจนกระทั่งเมื่ออายุเริ่มมากขึ้น หลังเกษียณอายุราชการ เลิศเริ่มมีปัญหาสุขภาพจนกระทั่งตอนหลังเลิศจึงเลิกร้องเพลงไปโดยปริยายจนถึงแก่กรรม







สาวบ้านแต้




เลิศ ประสมทรัพย์ พบรักกับ ม.ล.ปราลี มาลากุล ธิดาพระยาเทวาธิราช (ม.ร.ว.เทวาธิราช ป.มาลากุล) อดีตสมุหพระราชพิธีและที่ปรึกษาสำนักพระราชวัง โดยได้พบกันครั้งแรกเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๙ ในงานวันเกิดหม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยา ใน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ซึ่งในวันนั้น วงดนตรีสุนทราภรณ์ ยกวงไปแสดงในงานด้วย แต่ความรักของเลิศก็ไม่ประสบความสมหวังในครั้งแรก เนื่องด้วยทางฝ่ายบิดาของ ม.ล.ปราลี ไม่ยินยอมให้สมรสกับเลิศ






จนกระทั่งเวลาผ่านไป ๑๖ ปี ในวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้มีพิธีหมั้นที่บ้านราชเทวีของฝ่ายเจ้าสาว โดยมีครูเอื้อ-คุณอาภรณ์ สุนทรสนาน เป็นผู้ใหญ่ฝ่ายชายไปสู่ขอกับคุณหญิงเทวาธิราช และได้มีการจัดฉลองมงคลสมรส เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕ ณ สโมสรกรมชลประทาน สามเสน โดยมี พลเอกกฤช ปุณณกันต์ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ในขณะนั้นเป็นเจ้าภาพฝ่ายชาย และ ม.ล.ปิลันธ์ มาลากุล รองอธิบดีกรมชลประทานขณะนั้น (พี่ชาย ม.ล.ปราลี) เป็นเจ้าภาพฝ่ายหญิง






โดยในงานวันนั้น ครูเอื้อ สุนทรสนาน และ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล ได้แต่งเพลง วันมงคลสมรส เลิศ-ปราลี ให้เป็นของขวัญ โดยมีเนื้อร้องว่า


“สิบสองพฤศจิกสองห้าหนึ่งห้า วันมหาทักษารักสมัครสมาน ปราลีบวกเลิศประเสริฐนาน ร่วมสมการงานรักสมัครใจเพราะเลิศมีอะไรดีที่เป็นเลิศ ปราลีจึงบังเกิดความรักใคร่ ปราลีมีความสูงจูงจิตใจ เลิศจึงได้เอื้อมคว้ามาเชยชม ขออวยชัยให้ทั้งสองครองรักมั่นแนบสัมพันธ์นิรทุกข์เป็นสุขสม มีแต่รักรักกันมั่นนิยมให้ชื่นชมสมสุขทุกกาลเอย”






เลิศ และ ม.ล.ปราลี ประสมทรัพย์ มีบุตรชายด้วยกัน ๑ คน ชื่อ วาทิต ประสมทรัพย์ ปัจจุบันสมรสกับ นางวริศรา ประสมทรัพย์ ยังไม่มีบุตร - ธิดา


เลิศ ประสมทรัพย์ ล้มป่วยด้วยโรคเบาหวานมาเป็นเวลานานหลายปี โดยเมื่อหลังเกษียณอายุราชการ อาการของโรคเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นจนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ทำให้ ม.ล.ปราลี ต้องจ้างพยาบาลพิเศษมาคอยดูแล แต่เลิศยังคงความจำดี สามารถจำผู้ที่ไปเยี่ยมได้ทุกคน จนกระทั่งวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้ถึงแก่กรรม สิริรวมอายุ ๖๘ ปี






ผลงานที่สร้างชื่อเสียงกับวงดนตรีสุนทราภรณ์ ซึ่งรวมอยู่ CD แฟนคลับสุนทราภรณ์ ทั้งชุดเพลงเดี่ยว และ เพลงคู่ กับศรีสุดา รัชตะวรรณ อาทิ เริงลีลาศ, ข้างขึ้นเดือนหงาย, ใครจะเมตตา,บ้านของเรา, จริงหรือ พ่อค้าเรือเร่, แขกครวญ, โลกยังรักเรา,มนต์นางรำ, ชมนาง, ชาวทุ่ง, บุญหรือกรรม, ริมฝั่งน้ำแพงม้า, หนุ่มใต้ฝันหวาน, หนีไม่พ้น, ไพรพิสดาร, นกเขาไพร, จุดไต้ตำตอ, ฝนจ๋าฝน,พนาโศก, ครูสอนรัก, คู่รักคู่ขอ, หนุ่มง้อสาวงอน, พักร้อน, ตะลุงมอญซ่อนผ้า, ตะลุงแมลงแฝงดอกไม้, ตะลุงสุขใจ, ตะลุงถ้ารักจริง ฯลฯ







ภาพและข้อมูลจาก
saisampan.net
whathifi.whatgroupmag.com
เพจเลิศ ประสมทรัพย์
นสพ.แนวหน้า ๕ ม.ค. ๒๕๕๗








บีจีจากเวบ wallcoo กรอบจากคุณ somjaidean100


Free TextEditor





 

Create Date : 16 มีนาคม 2557    
Last Update : 26 ตุลาคม 2561 23:20:40 น.
Counter : 12941 Pageviews.  

พรุ่งนี้ฉันจะรักเธอจนตาย




ภาพจากเวบ wallcoo.com


พรุ่งนี้ฉันจะรักเธอจนตาย - สุเทพ วงศ์กำแหง







“พรุ่งนี้ฉันจะรักเธอจนตาย”
คำร้อง ทำนอง : เนรัญชรา
ขับร้องโดย : สุเทพ วงศ์กำแหง


ฉันเคยพลาดหวัง ในรัก มาครั้งหนึ่ง

พิษแห่งความร้าว ยังตรึง แนบอุรา

เกือบตัดสินใจ ไม่ยอมรักใคร จนสิ้นชีวา

พอพบเธอนิจจา หัวใจเจ้ากรรม ก็เกิดหวั่นไหว


ฉันยังไม่หวัง จะรักเธอ เหมือนหญิงคนแรก

และไม่ยืนยัน จะรักกัน จนโลกแหลกลงไป

ได้แต่สัญญา ให้วันเวลา ช่วยฉันตัดสินใจ

พรุ่งนี้...พรุ่งนี้ได้ไหม ฉันจะรักเธอ รักไปจนตาย








ภาพจาก palungjit.org



ความหลังยังฝังใจ "เนรัญชรา" ขอเวลานอก ความรักรอก่อน

"พรุ่งนี้ฉันจะรักเธอจนตาย"



"สายลมพลิ้วผ่านสายธารพลิ้วไหว

สายธารเป็นสื่อใจ...สายสื่อฤทัยเสน่หา

พี่พาน้องน้อยลงเรือเคลื่อนคล้อยธารา

ธารสวาทรักชักพาเร้าอุรา..รักใคร่..."



เพลงนี้ชื่อ "ธารสวาท" คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน ต้นฉบับเสียงร้องโดย วินัย จุลบุษปะ ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๒ เสียงเพลงนี้ล่องลอยผ่านสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์และสถานีวิทยุท้องถิ่นทั่วประเทศ แล้วพุ่งไปกระทบหัวใจที่กำลังบอบช้ำด้วยความรักและความคิดถึงของหนุ่มนักฝันจากเมืองกรุงเก่า จนทำให้ไฟฝันของเขาลุกโพลงโชติช่วงขึ้น ซึ่ง "เนรัญชรา" ได้เล่าให้ฟังว่า





วินัย จุลบุษปะ
ภาพจากเวบ palm-plaza.us



สั่งธาร - วินัย จุลบุษปะ




"ผมเกิดที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่คุณพ่อรับราชการ จึงต้องโยกย้ายติดตามคุณพ่อไปหลายจังหวัด ช่วงที่ผมได้ยินเพลง "ธารสวาท" ครั้งแรกนั้น เป็นช่วงที่ครอบครัวของเราอยู่ที่จังหวัดลพบุรี ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ผมอายุราว ๑๕-๑๖ ปี กำลังมีความรักที่รู้ว่าความหวังยังอยู่ห่างไกลมาก แต่ก็ให้สัญญากับตัวเองว่าพร้อมที่จะรอคอยด้วยความรักที่มั่นคงอย่างไม่เปลี่ยนแปลง...."





ครูแก้ว อัจฉริยกุล และ ครูเอื้อ สุนทรสนาน
ภาพจาก บล็อกลุงแว่น



แรงบันดาลใจจากเพลง "ธารสวาท" นี้เอง ที่ทำให้วงการคีตกวีของไทยได้ปรากฏนามปากกา "เนรัญชรา" ขึ้นมาประดับฟ้าวงการเพลงไทยสากลอีกคนหนึ่ง จากวันนั้นมาจนถึงวันนี้


"เมื่อผมได้ยินเพลงนี้ ผมรู้สึกนิยมชื่นชมครูแก้ว อัจฉริยะกุล ผู้แต่งคำร้องเพลงนี้เสียจริง ๆ สงสัยว่าท่านทำไมแต่งเก่งนักหนา ถ้อยคำแต่ละคำมีความหมายและสัมผัสที่ดี ผมจึงถือว่าครูแก้วเป็นครูของผมคนหนึ่ง ในรูปแบบครูพักลักจำนั่นเอง"





ภาพจาก palungjit.org


และจากนั้นไม่นานผลงานเพลงแรกของเขาก็ได้ปรากฏขึ้น


"จะคอย...จะคอย...จะคอย...จะคอยขวัญใจ

จะช้าอย่างใดจะนานเท่าใด...ไม่หวั่น

จะปวดใจร้าวโศกศัลย์ จะเจ็บใจช้ำจาบัลย์

พลีแล้วชีวัน...จะคอย...."


จะคอยขวัญใจ - สุเทพ วงศ์กำแหง




คือเพลงที่ชื่อ "จะคอยขวัญใจ" ต้นฉบับเสียงร้อง สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ แต่ก็ต้องใช้เวลานานถึงกว่าสิบปีผ่านไป เพลงนี้จึงได้นำมาบันทึกเสียงครั้งแรก โดย สุเทพ วงศ์กำแหง เมื่อประมาณปี ๒๕o๓ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผู้ขับร้องเพิ่งกลับมาจากการไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น


"ไม่ลืม...ไม่ลืม...ไม่ลืม...ไม่ลืมรักเธอ

ยังรักเสมอยังรักแต่เธอ...คงมั่น

ความรักความหลังผูกพัน จะคอยตราบสูญชีวัน

ชั่วนิจนิรันดร์...จะคอย..."





ครูเนรัญชรา
ภาพจาก บล็อกคุณชมพู่แก้มแหม่ม



ระหว่างที่นักนิยมเพลงเมืองไทยกำลังตื่นตะลึงกับลีลาและเรื่องราวของเพลง "จะคอยขวัญใจ" ซึ่งต้องถือว่าเป็นเพลงที่มีสไตล์แปลกใหม่มาก เพราะเป็นการรอคอยที่มีน้ำอดน้ำทนอย่างเหลือเชื่อที่สุดในยุคนั้น จู่ ๆ ก็มีเพลงที่ขับร้องโดยนักร้องคนเดียวกัน คือ สุเทพ วงศ์กำแหง และโดยนักแต่งคนเดียวกัน คือ "เนรัญชรา" แต่มีเนื้อหาที่ก้าวล้ำนำหน้าไปยิ่งกว่าเพลงเดิม คือ "จะคอยขวัญใจ" ที่กำลังดังอยู่ในขณะนั้น โดยเฉพาะวรรคสุดท้ายของเพลงที่ใครฟังก็ต้องสะดุดกึก ไม่ว่าจะกำลังทำกิจธุระในเรื่องใด ๆ อยู่ในขณะนั้น


"พรุ่งนี้...พรุ่งนี้ได้ไหม...

ฉันจะรักเธอ...รักไปจนตาย...."



สถานีวิทยุทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดต่างมีเพลงนี้ให้ได้ฟังทุกช่วงเวลา ทั้งเช้า...สาย...บ่าย...เย็น...และในยามค่ำคืน นอกจากนี้ทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง ๗ ขาวดำ ในยุคนั้น ก็จะมีรายการพิเศษรายการหนึ่งในตอนย่ำค่ำ ชื่อรายการ "สุเทพโชว์" ทุกวันที่รายการนี้ออกอากาศ แฟน ๆ รายการก็จะตั้งตารอเพื่อจะฟังเพลงนี้ แม้อาจจะฟังตอนต้นของเพลงไม่ทัน ก็ขอให้ทันได้ฟังวรรคสุดท้ายของเพลงนี้ก็อิ่มใจแล้ว


"พรุ่งนี้...พรุ่งนี้ได้ไหม...

ฉันจะรักเธอ...รักไปจนตาย...."





วงสุเทพคอรัส
ภาพจาก prachathon.org



ฟังแล้วหลายคนต่างก็มีคำถามและหัวข้อสนทนากันไปว่า เกิดอะไรขึ้นในชีวิตของ สุเทพ วงศ์กำแหง ซึ่งเป็นผู้ขับร้องเพลงนี้ หรืออาจจะเกิดขึ้นกับ "เนรัญชรา" ซึ่งเป็นผู้แต่งกันแน่


จนกระทั่งอายุของทั้งผู้ร้องและผู้แต่งเพลงนี้ซึ่งเกิดปีเดียวกัน กำลังจะครบ ๘o ปี ในปี ๒๕๕๗ ที่จะถึงนี้แล้ว ความจริงจึงเพิ่งจะถูกเปิดเผยขึ้นมาจากปากของ "เนรัญชรา" ซึ่งเป็นผู้แต่งเพลงนี้ทั้งคำร้องและทำนองว่า


"ระหว่างนั้นผมได้เกิดความสับสนขึ้นมาเอง มีความรู้สึกไม่สบายใจมากกับคำสัญญาที่ยืนยันไว้ในเพลงแรกที่แต่งคือเพลงจะคอยขวัญใจ ซึ่งเป็นความตั้งใจจริง เป็นสัญญาที่มาจากใจจริง ๆ ไม่ใช่แค่เพียงแต่งไว้ในเพลงเท่านั้น ว่าจะคอย...จะทน...และ...จะไม่ลืม จะคอยตราบสูญชีวัน ชั่วนิจนิรันดร์...จะคอย..."





ภาพจาก dekchalad.net



"เนรัญชรา" ได้พยายามอธิบายถึงที่มาของเพลง "พรุ่งนี้ฉันจะรักเธอจนตาย" ผลงานเพลงของเขาอีกเพลงที่ดังต่อเนื่องมาจากเพลงแรก


"แต่หลังจากที่ผมแต่งเพลงแรกจบไปไม่นาน ก็มีเรื่องราวใหม่เกิดขึ้นมาอย่างไม่คาดคิด ผมได้พบกับคนใหม่อีกคนที่ทำให้ความรู้สึกอ่อนไหวเกิดขึ้นมาอีกครั้ง ผมรู้สึกว่าผมกำลังจะผิดคำสัญญาที่ให้ไว้กับตัวเองและกับทุก ๆ คน ผมจะต้องสูญเสียความตั้งใจที่คิดว่ามั่นคงอย่างยิ่งไปแล้วเช่นนั้นหรือ จึงได้แต่ทิ้งท้ายไว้ในเพลงต่อมาว่า...ได้แต่สัญญาให้วันเวลาช่วยตัดสินใจ ซึ่งตัวเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะตัดสินใจอย่างไร...พรุ่งนี้...แล้วก็พรุ่งนี้...ซึ่งคงต้องมีพรุ่งนี้อีกหลายวัน".







ข้อมูลจาก
นสพ.ไทยโพสต์แทบลอยด์ ๑๘-๒๔ ส.ค. ๒๕๕๖




บล็อกนี้อยู่ในหมวดแฟนคลับค่ะ



บีจีจากเวบ wallcoo ไลน์จากคุณญามี่
กรอบจากคุณ somjaidean100


Free TextEditor





 

Create Date : 09 มีนาคม 2557    
Last Update : 11 มีนาคม 2557 19:26:29 น.
Counter : 5982 Pageviews.  

รวงทอง ทองลั่นธม






มั่นใจไม่รัก - รวงทอง ทองลั่นทม




ยังไม่พ้นเดือนแห่งความรัก บรรยากาศหวานยังพอกรุ่น ๆ อยู่ หาเพลงของนักร้องเสียงหวานได้ใจอย่าง คุณรวงทอง ทองลั่นธม มาให้ฟังกันค่ะ นสพ.แนวหน้าวันอาทิตย์ คอลัมน์ Retro เขียนถึงนักร้องวงสุนทราภรณ์หลายท่าน รวมถึงคุณรวงทองด้วย สะกดนามสกุลของท่านผิดมานาน คิดว่าสะกดว่า ทองลั่นทม แต่ที่ถูกต้องเป็น ทองลั่นธม เพลงของคุณรวงทองเพราะ ๆ ทั้งนั้น เลือกไม่ถูกว่าจะแปะเพลงไหนดี เดี๋ยวนี้ในยูทูบมีคนโหลดเพลงเก่าแบบเป็นชุดเยอะมาก เสียดายที่ส่วนใหญ่จะหวง ไม่มีโค้ดให้แปะลงบล็อก


อากาศช่วงนี้เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็น เพื่อน ๆ รักษาสุขภาพกันนะคะ



พักนี้มีงานนิทรรศการศิลปะและวัฒนธรรมหลายงาน อัพใหม่ได้สองบล็อกเลย

เสพงานศิลป์ ๘๓
เสพงานศิลป์ ๘๔













นักร้องหญิงมากล้นด้วยพรสวรรค์ 'รวงทอง ทองลั่นธม'
อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของวง 'สุนทราภรณ์'



รวงทอง ทองลั่นธม เดิมชื่อ ก้อนทอง ทองลั่นธม เกิดเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๔๘o ที่ตำบลบ้านโพ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อเกิดได้เพียง ๒ ปี มารดาเสียชีวิตจึงไปอยู่กับยายจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๔ เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ และ พ.ศ. ๒๔๘๕ เกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ อย่างหนัก ยายจึงอพยพไปอยู่ที่อยุธยาแล้วย้ายกลับมาที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง






ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนนันทศึกษา จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ แล้วไปเรียนต่อที่โรงเรียนขัตติยาณีผดุง และเพราะทราบดีว่าฐานะทางบ้านยากจน จึงตั้งใจเรียนจนสอบได้ที่หนึ่งและเป็นหัวหน้าชั้นด้วย ระหว่างที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ พ่อทำงานไม่ไหวเพราะสุขภาพไม่ดี จึงต้องลาออกจากโรงเรียนเมื่ออายุเพียง ๑๗ ปีเท่านั้น






แต่เพราะเป็นคนที่ชอบการร้องเพลง ญาติผู้ใหญ่ที่นับถือจึงนำไปฝากกับ ครูเอื้อ สุนทรสนาน เนื่องจากชอบร้องเพลงและมีเสียงไพเราะ ได้ฝึกหัดร้องเพลงกับ พลโท หม่อมหลวงขาบ กุญชร และ ครูชอุ่ม ปัญจพรรค์ ซึ่งเป็นผู้ตั้งชื่อให้ว่า รวงทอง ทองลั่นธม






“รวงทอง” เข้าเป็นนักร้องประจำวงดนตรีสุนทราภรณ์ และเริ่มมีชื่อเสียงจากการร้องเพลง รักบังใบ ของครูชอุ่ม ปัญจพรรค์ มีชื่อเสียงโด่งดังจากเพลง จำได้ไหม (คำร้องโดย ธาตรี ทำนองโดย เอื้อ สุนทรสนาน) และขวัญใจไอ้ทุย (โดย สมศักดิ์ เทพานนท์) พ.ศ. ๒๕oo





บนซ้าย-พลโท หม่อมหลวงขาบ กุญชร...ขวา-ครูแก้ว อัจฉริยกุล
ล่างซ้าย-ครู สมศักดิ์ เทพานนท์...ขวา-ครูชอุ่ม  ปัญจพรรค์
ภาพจากเวบสุนทราภรณ์, วิกิพีเดีย และ เวบสายสัมพันธ์



ทั้งนี้ยังได้เป็นนางเอกละครโทรทัศน์ทางไทยทีวี ช่อง ๔ บางขุนพรหม เรื่อง จุฬาตรีคูณ คู่กับ อาคม มกรานนท์ ในปีนั้นด้วย รวมทั้งมีงานเพลงประกอบภาพยนตร์ เด่น ๆ เช่น ปาหนัน, สร้อยไข่มุก, วนาลี ฯลฯ ยุคนั้น รวงทอง นับเป็นดารานักร้องใหม่ล่าสุดที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชนอย่างยิ่งในช่วงเวลานั้น






แต่เนื่องจากงานเพลงประจำและงานพิเศษ รายการวิทยุและโทรทัศน์ มีจำนวนมากจึงไม่มีเวลา ทำให้ปี พ.ศ. ๒๕o๖ รวงทองได้ลาออกไปเป็น นักร้องอิสระ และเป็นผู้จัดและนำแสดงในละครโทรทัศน์ ททบ.๗ (ขาวดำ) สนามเป้า (ททบ.๕ ปัจจุบัน) เช่น จุฬาตรีคูณ คู่กับ ตรัยเทพ เทวะผลิน และร่วมแสดงภาพยนตร์ เช่น ในฝูงหงส์






รวงทอง ทองลั่นธม ได้รับรางวัลใบโพธิ์ทองพระราชทาน จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ (ในฐานะนักร้องผู้เผยแพร่ภาษาไทยได้ชัดเจนถูกต้อง ), รางวัลแผ่นเสียงทองพระราชทาน จากเพลง วนาสวาท, รักเธอเสมอ ในปี พ.ศ. ๒๕o๘ และได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงไทยสากล) ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๙






รวงทอง เป็นผู้ที่อนุรักษ์เพลงอมตะของครูเพลงทั้งหลายอย่างต่อเนื่อง เพราะยังขับร้องตามงานคอนเสิร์ตการกุศลร่วมกับวงดนตรีสุนทราภรณ์อยู่เสมอและเป็นผู้ที่ศิลปินรุ่นหลัง ๆ ให้ความเคารพนับถือและเอาเป็นแบบอย่างตลอดมา





ครูเอื้อ สุนทรสนาน
ภาพจาก palungjit.org



“ครูเอื้อ สุนทรสนาน” เขียนถึง “รวงทอง ทองลั่นธม” (จากหนังสือพระเจ้าทั้งห้าตำนานความเป็นมาของสุนทราภรณ์)


รวงทองเป็นศิษย์คนหนึ่งของผม ในจำนวนหลาย ๆ คนที่ผมภาคภูมิใจ เราได้ร่วมงานเพลงกันมาสมัยหนึ่ง เธอเป็นผู้ที่ได้รับผลสำเร็จจากการร้องเพลงอย่างดียิ่ง ในแบบฉบับของตนเอง ตลอดเวลาที่อยู่ในความดูแลของผลตั้งแต่อายุ ๑๗ ปีได้เริ่มต้นฝึกฝนร้องเพลงกับวงดนตรีสุนทราภรณ์เพียง ๒ ปี ก็ได้ร้องเพลงแรกชื่อ “รักบังใบ” จากคำร้องของครูชอุ่ม ปัญจพรรค์ ร้องส่งวิทยุกระจายเสียง เมื่อสิ้นเสียงของเธอ บรรดาแฟนเพลงถึงกับวิ่งเกรียวกราวมาขอดูตัวนักร้อง ตลอดจนผู้ใหญ่ และผู้อุปการะวงดนตรีได้ให้ความสนใจโทรมาไต่ถาม และขอฟังเพลงนี้อีกครั้งในรายการเดียวกัน






เพลงที่ทำชื่อเสียงให้เธอเป็นอย่างมาก คือเพลง “จำได้ไหม, “ขวัญใจเจ้าทุย”, “หญิงก็มีหัวใจ”, “เสียงกระซิบจากเกลียวคลื่น” และอีกหลาย ๆ เพลง ผู้ที่มีส่วนช่วยส่งให้เธอมีชื่อเสียงยิ่ง ๆ ขึ้นไปก็มี ครูแก้ว อัจฉริยะกุล, ครูชอุ่ม ปัญจพรรค์, ครูธาตรี (วิชัย โกกิละกนิษฐ) และครูสมศักดิ์ เทพานนท์ เพลงที่เราแต่งให้เธอจนบัดนี้ก็ยังอยู่ในความนิยมของแฟนเพลงตลอดมา






รวงทองเป็นอะไรได้หลายอย่างจากพรสวรรค์ มีความสามารถ มีความอดทน ไม่ใช่เพียงร้องเพลงให้คนซาบซึ้ง แต่สามารถทำให้เพลงเข้าไปในอารมณ์ของผู้ฟังจนเป็นที่ประทับใจ เธอยังพิสูจน์ได้ว่า ความเป็นศิลปินนักร้องต้องมีศิลปะในการร้องด้วย เธอเล่นละครได้ดี โดยเฉพาะละครเพลง แสดงได้ทั้งบทรักกระจุ๋มกระจิ๋ม หรือเศร้าโศกสูญเสีย ระทมทุกข์ แสดงได้ดีเหมือนกัดขึ้นกับตนเอง






ในด้านอุปนิสัยของรวงทองที่มีต่อเพื่อนร่วมงาน ร่วมอาชีพ จัดว่าเธอเป็นคนดีมาก ใจคอกว้างขวาง ผมขอรับรองได้ว่า ไม่เคยได้ยินรวงทองติฉินนินทาผู้ใดเลย ตลอดจนไม่เคยนำเรื่องใด ๆ อันเป็นข้อผิดพ้องหมองใจของนักดนตรี นักร้อง เพื่อนฝูงมาเล่าให้ผมหรือผู้ใดทราบ ภายหลังที่รวงทองออกจากวงดนตารีของผมไปแล้ว ทุกครั้งที่มีโอกาสพบกัน เธอก็ยังคงปฎิบัติตนเป็นศิษยานุศิษย์ที่ดี นับว่าเธอเป็นผู้ที่กตัญญูกตเวทีต่อครูบาอาจารย์โดยสม่ำเสมอ วันไหว้ครู ปีใหม่ วันเกิด ถ้าเธอไม่ติดธุระหรือป่วยไข้ เธอจะพยายามมาอวยพรต่อผม ต่อผู้มีอุปการคุณตลอดมา







รวงทอง ทองลั่นธม มีความสุขในวัย ๗๗ ปี กับคู่ชีวิต คือ พ.ต.ท.วรพล สุคนธร มีบุตร-ธิดา ๒ คน คือ เอกอดุลย์ และ ศยามล และในวันอาทิตย์ที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๗ มูลนิธิสุนทราภรณ์จะเป็นเจ้าภาพจัดงานคอนเสิร์ต "ด้วยมนตราแห่งเสียงอันพิจิตรเรืองรุ่ง ทาบทานาทุ่งรวงทอง...ขอทดแทนคุณสุนทราภรณ์" ให้กับรวงทอง โดยมีศิลปินแห่งชาติรับเชิญอีก ๒ ท่านคือ ดอกดิน กันยามาร ที่จะมาขับร้องเพลงร่วมกับคุณรวงทอง และ ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ จะจัดทำละคร “พระลอ เรื่องนี้เป็นพิเศษ สำหรับคุณรวงทอง” เพื่อมอบรายได้สนับสนุนในการรักษาพยาบาล ซึ่งขณะนี้รวงทองป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ถึง ๖ โรคด้วยกัน






และที่ผ่านมามีผลงานที่สร้างชื่อเสียงกับวงดนตรีสุนทราภรณ์ ซึ่งรวมอยู่ CD แฟนคลับสุนทราภรณ์ ทั้งชุดเพลงเดี่ยว และ เพลงคู่ อาทิ จำได้ไหม, ไม่ใกล้ไม่ไกล, มั่นใจไม่รัก, วิมานสีชมพู, เสียงกระซิบจากเกลียวคลื่น, ลืมเสียเถิดอย่าคิดถึง, ขวัญใจเจ้าทุย, รอพี่, ขอรักคืน, ตัดสวาท, ปาหนัน, ฝันถึงกันบ้างนะ, อย่าซื้อฉันด้วยเงิน, สนต้องลม, แสนสียดาย, เอื้องกำศรวล, บนลานลั่นทม, อย่าลืมกันนะ, หญิงอ่อนโลก, แผลรักในใจ, ปลอบใจเจ้าทุย, ดอนทรายครวญ, ชีวิตบ้านนา, ลมพาฝัน, ระทมในลั่นทม, ราตรีสิ้นดาว, ยามร้าง, รอคำรัก, หวานรัก, ถึงเธอ, เพื่อคุณ, อย่าปันใจให้ฉัน, ผู้หญิงก็มีหัวใจ, สั่งรัก, รักเธอคนเดียว, เพื่อนใจ, อย่าห้ามรัก, อุ่นไอรัก, เพ้อฝันไป, ขยี้ใจ, หนีนรก, รักบังใบ, กุญแจใจ, รักเร่, ชีวิตกับความรัก, เพลงรักจากดวงใจ, อยู่เพื่อรัก, รักจำพราก, ชื่นสุข, ฝากใจกับจันทร์, แนวหลัง, คำรำพัน, ชีวิตบ้านนา, มองฉันทำไม, รักเธอเสมอ, หงส์กับกา, สำคัญที่ใจ, พระจันทร์วันเพ็ญ, ยอดรักยอดขวัญ ฯลฯ











ภาพและข้อมูลจาก
naewna.com
fantom-xp.com
plengpakjai.net
บล็อกคุณ yyswim
metrorecords.co.th

เฟซบุครวงทอง ทองลั่นทม




บล็อกนี้อยู่ในหมวดแฟนคลับค่ะ




บีจีจากคุณลัคกี้ ไลน์จากคุณ Hawaii_Havaii


Free TextEditor





 

Create Date : 21 กุมภาพันธ์ 2557    
Last Update : 26 กุมภาพันธ์ 2557 8:46:22 น.
Counter : 13772 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  

haiku
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.