happy memories
Group Blog
 
All blogs
 

อำลา...อาลัย (3)




รำลึกถึง ครูสง่า อารัมภีร ครั้งหนึ่งที่ได้ใกล้ชิด


ลงเรือเล่นฟองท่องท้องทะเล
ดอกประดู่เห่ส่งครูเข้าประตูสวรรค์
ฟองคลื่นขาวราวไหมมาลัยกำนัล
เป็นของขวัญครูเพลงบรรเลงรมย์

บรรเลงเพลง "สีชัง" อักครั้งหนึ่ง
ส่งความรักความคิดถึงครูสร้างสม
"สีชัง ชังแต่ชื่อ" บรรลือลม
หวานพริ้วพรมพร่างเพราะเสนาะใจ

"สง่า อารัมภีร์" ครูคีตศิลป์
เกิดจากแดนดินสู่ฟ้าชลาลัย
ฟ่องฟองคลื่นครวญคร่ำจำอาลัย
จำใจช่มใจไปจากครู

ร้องกรองโดย สวรรณ พันธุ์ศรี
สีชัง / เสาร์ที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๔๒
จากจุดประกายวรรณกรรม ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๒


การจากไปของปูชนียบุคคลด้านดนตรีย่อมนำมาซึ่งความโศกเศร้าแก่คนทั่วไป ไม่เฉพาะแต่วงการเพลงเพราะเป็นการสูญเสียบุคคลอันทรงค่ามหาศาล อันเปรียบได้กับอัญมณีทีส่องประายเจิดจ้าของเมืองไทย ในทางดนตรีแล้วยากที่จะหาใครทัดเทียม ครูสง่า อารัมภีร ผู้มีจิตวิญญาณของ"ครูเพลง" อันเต็มเปี่ยมด้วยความสามารถอันสูงส่งและด้วยคุณสมบัติอันเพียบพร้อมนานัปการได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล) เมื่อปี ๒๕๓๑

คุณงามความดีของผู้ที่จากโลกนี้ไปวัดได้จากผู้ที่ไปร่วมงานศพว่ามีมากน้อยเพียงใด ความเคารพรักและอาลัยถึงผู้ที่อยู่ข้างหลังที่มีต่อครูสง่า อารัมภีร์ก็เช่นเดียวกัน เพราะผู้คนที่ไปร่วมงานศพซึ่งตั้งสวดอภิธรรมที่วัดมกุฏกษัตริย์ ศาลา ๘ นั้นคับคั่งจนไม่มีที่นั่ง หลายคนจับกลุ่มยืนออกันอยู่นอกศาลา บางคนนั่งอยู่ที่ขั้นบันใดพระอุโบสถหลังเล็กที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน

วันสุดท้ายคือวันที่ ๗ ของการสวดอภิธรรมนั้น สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกัน เมื่อสองสมาคมจับมือกันเป็นเจ้าภาพผู้คนยิ่งมากหน้า ทางฝ่ายสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยนั้นเท่าที่จำได้ก็มี เพ็ญศรี เคียงศิริ หรือ ราวดี นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ประยอม ซองทอง อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยและวุฒิสมาชิก สุภัทร สวัสดิรักษ์ บรรณาธิการอาวุโส นิตยสารสกุลไทย คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ หรือกุลทรัพย์ รุ่งฤดี ชมัยภร แสงกระจ่าง หรือ ไพลิน รุ้งรัตน์ เพ็ญแข วงศ์สง่า กฤษณา อโศกสิน ประสพโชต เย็นแข ทวีสุข ทองถาวร อำพล สุวรรณธาดา ฯลฯ

ด้านสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยมีผู้ไปร่วมงานได้แก่ มีศักดิ์ นาครัตน์ ชาลี อินทรวิจิตร วินัยพันธุรักษ์ อรสา อิสรางกูร ณ อยุธยา ละนักร้อง นักดนตรีอีกหลายต่อหลายคน นอกจากนี้ก็ยังมีสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสารและผู้สื่อข่าวสถานิวิทยุโทรทัศน์

แม้ว่าวันนั้นจะชุ่มฉ่ำด้วยสายฝนพรำ และเวลาล่วงไปจน ๒ ทุ่ม ผู้คนก็ยังไม่แยกย้ายกันกลับบ้าน ช่วงเวลาที่ผมอยู่ในบรรยากาศของงานสวดอภิธรรมศพนั่นเอง ทำให้ผมนึกอะไรขึ้นมาได้บางอย่าง ทั้ง ๆ ที่ผ่านมาเป็นเวลาราว ๕ ปีแล้วก็ตาม...

ผมนึกถึงใบหน้าอันสงบนิ่งหากแฝงไว้ด้วยความเมตตาของผู้อาวุโสท่านหนึ่ง ซึ่งนั่งติดกับผนังห้องประชุมศูยน์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ ในวันนั้นสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยได้จัดเสวนางานรวมใจนักเขียนขึ้นเป็นครั้งแรก และมีการอภิปรายในหัวข้อ "นักเขียน...เขียนและอยู่อย่างไรในสังคมปัจจุบัน" รวมทั้งให้โอกาสนักเขียนทุกคนได้เปิดเผยความในใจด้วย งานในวันนั้นเต็มไปด้วยความคึกคักและเป็นกันเอง แม้ว่าชายสูงวัยผู้นั้นจะไม่มีส่วนร่วมอะไรนอกจากการนั่งฟัง แต่ผมสังเกตเห็นว่าให้ความสนใจฟังอยู่ตลอดเวลา

ผมจับสายตาอยู่ที่ร่างท้วมสมวัยเกือบตลอดเวลา หลังจากได้รู้ว่าคือ "ครูสง่า อารัมภีร" ซึ่งผมเคยได้ยินชื่อเสียงของท่านมาเป็นเวลานานมากแล้ว ตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กรุ่นๆ ไม่รู้จักหน้าค่าตาท่าน ได้ยินแต่เพลงที่ท่านแต่งให้นักร้องขับร้องนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นเพลง ดวงใจ, น้ำตาแสงไต้, คุณจะงอนมากไปแล้ว และอีกหลายต่อหลายเพลงที่ส่งให้นักร้องในยุคนั้นมีชื่อเสียงโด่งดังได้แก่ สุเทพ วงศ์กำแหง สวลี ผกาพันธ์ ชรินทร์ นันทนาคร จินตนา สุขสถิตย์ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ฯลฯ

การจัดงานในวันนั้นสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ ตอนพักเที่ยงอาหารการกินจึงมีให้พร้อมทุกอย่าง ทั้งของคาวและของหวาน ตลอดจนน้ำชากาแฟ ทุกคนกินกันอย่างเอร็ดอร่อยและอิ่มหนำสำราญ แต่ครูสง่า อารัมภีรนั่งกินข้าวเงียบๆอยู่เพียงลำพัง ผมจึงเข้าไปทำความรู้จักับท่านและยกจานผลไม้กับน้ำดื่มไปบริการท่าน ผมยังจำได้ว่าท่านกล่าวขอบใจผมเบา ๆ

ผมถามถึงสุขภาพและอายุของท่าน ท่านบอกว่าปีนี้อายุ ๗๒ ปี ตาขวาเสียเพราะเป็นต้อ ผมจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าท่านจะผ่าตัดตาในเวลาอีกไม่นานนี่แหละ ผมคุยกับท่านถึงเพลงที่แต่งว่ามีที่มาอย่างไร ครูสง่า อารัมภีรจึงเล่าถึงเพลง "ดวงใจ" ห้ฟังว่า เบื้องหลังการแต่งเพลงนี้ได้มาโดยบังเอิญบนรถรางที่วังบูรพาเมื่อปลายปี ๒๕o๙

"มีหนุ่มสาวคู่หนึ่งทะเลาะกันแล้วก็หยิกกัน พอผู้หญิงลงจากรถราง ผู้ชายคนนั้นก็ชี้หน้าผู้หญิงพร้อมกับพูดว่า "ถึงยังไงฉันก็มีสิทธิ์รักเธอ" ผมเลยคิดเนื้อสองวรรคแรก ดวงใจ ทุกคนมีสิทธิ์จะรักกันได้ ถึงอยู่ห่างไกลก็ยังส่งใจไปถึง ตามด้วย melody เป็นโน๊ตจนจบแล้วไปแต่งเนื้อต่อที่บ้าน"

เพลงนี้โด่งดังไม่แพ้เพลงอื่นๆของครูสง่า อารัมภีร ขับร้องโดย สวลี ผกาพันธ์ นักร้องผู้มีเสียงหวานใส ขวัญใจคนฟังในยุคนั้น เพลงนี้ติดหูมากจนร้องกันไปทั่วบ้านทั่วเมือง ผมมารู้ในภายหลังว่าเพลง "ดวงใจ" เป็นเพลงเอกในภาพยนตร์เรื่อง "เพชรตัดเพชร" ด้วย

ครูสง่า อารัมภีรคุยต่อว่า เพลงในสมัยก่อนจะแต่งเพื่อใช้ประกอบการแสดงละครเวทีเป็นส่วนใหญ่ เป็นยุคที่ละครเวทีเฟื่องฟู โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลง "น้ำตาแสงไต้" นั้นท่านแต่งได้เพราะความฝัน

"ฝันเห็นคนแต่งกายแบบโบราณนั่งดีดเปียโนอยู่ ตื่นขึ้นมายังจำทำนองได้ ไปดีดเปียโนนิ้วก็เลยพาไปเลย" เบื้องหลังความเป็นมาก่อนที่ครูสง่า อารัมภีรจะแต่งเพลง "น้ำตาแสงไต้" มีอยู่ว่า ตอนที่พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล หรือเสด็จพระองค์ใหญ่จะจัดแสดงเรื่อง "พันท้ายนรสิงห์" ขึ้นในปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๘ แต่ยังหาเพลงประกอบละครไม่ได้ จึงมีดำรัสให้ครูสง่า อารัมภีรเป็นคนแต่ง เพื่อให้ตัวเอกของเรื่องคือ พันท้ายนรสิงห์ร้องตอนรำพึงรำพันถึงนวลคู่ทุกข์คู่ยาก

เพลง "น้ำตาแสงไต้" อันหวานเยือกเย็นและเศร้าจึงได้เกิดขึ้น หลังจากที่ครูสง่า อารัมภีรตื่นขึ้นมาจากความฝัน ซึ่งนอนหลับฟุบอยู่กับเปียโนในโรงละคร เรียกว่าตื่นขึ้นมาก็แต่งได้ในทันทีทันใด เป็นเรื่องที่อัศจรรย์มาก ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้นั่งแต่งอยู่หลายวันก็ไม่สำเร็จ ถือได้ว่าเพลง "น้ำตาแสงไต้" เป็นเพลงเกียรติยศในชีวิตของครูสง่า อารัมภีร เพราะเพลงนี้ได้รับความนิยมสูงสุดเป็นครั้งแรกในชีวิตของท่าน ใครที่ได้ดูละครเรื่อง "พันท้ายนรสิงห์" พอถึงตอนที่พระเอกออกมาครวญเพลง "น้ำตาแสงไต้" ต่างก็น้ำตาไหลด้วยความซาบซึ้ง

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ เพลง "น้ำตาแสงไต้" สามารถเรียกคะแนนนิยมจากประชาชนได้อย่างท่วมท้น เพราะใช้ร้องประกอบการแสดงเรื่อง "พันท้ายนรสิงห์" ถึง ๒๘ รอบด้วยกัน

ครูสง่า อารัมภีรตอบรับด้วยรอยยิ้มเมื่อผมบอกว่า ผมจะเขียนถึงเบื้องหลังของเพลงต่าง ๆ โดยมีเพลงของท่านด้วย เพราะผมมีความประทับใจและซาบซึ้งในคุณค่าของเพลงเก่ามาก งดงามไปด้วยวรรณศิลป์ กว่าจะกลั่นกรองออกมาได้ต้องประดิดประดอยถ้อยคำด้วยความวิจิตรบรรจง ไม่ใช่สักแต่ว่าใช้คำเพียงดาด ๆ ขาดวรรณศิลป์เหมือนเพลงวัยรุ่นในยุคปัจจุบัน

หลังจากผมแสดงความตั้งใจให้ทราบ ครูสง่า อารัมภีรก็ดึงนามบัตรออกมาจากกระเป๋าเงินให้ผม บอกว่าถ้ามีอะไรให้โทรไปคุยกับท่านได้ ผมดูที่นามบัตรจึงรู้ว่า นอกจากท่านจะได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติแล้ว ท่านยังได้รับการยกย่องให้เป็นพ่อตัวอย่างเมื่อปี ๒๕๓๖ อีกด้วย

ความตั้งใจของผมในตอนนั้น ผมจะเปิดคอลัมน์เกี่ยวกับเบื้องหลังเพลงสมัยเก่าที่นิตยสาร สตรีสาร โดยสืบค้นถึงรากเหง้าและความเป็นมาของเพลงรุ่นลายครามเหล่านี้จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ โดยเฉพาะครูเพลง เรื่องนี้เป็นงานหนักมาก ต้องใช้เวลาและความอดทนมาก เพราะต้องตระเวนไปเคารพครูเพลงที่มีอยู่ในประเทศไทย เพื่อสอบถามถึงความเป็นมาของเพลงที่ท่านแต่ง ด้วยภาระการงานและส่วนตัวที่ต้องดูแลบิดามารดา จนแล้วจนรอดผมก็ไม่ได้ลงมือทำสักที จนกระทั่งนิตยสารสตรีสารปิดตัวลงอย่างน่าเสียดายในปี ๒๕๓๘

มีเรื่องน่าขันแต่ตลกไม่ออกที่ครูสง่า อารัมภีรเล่าให้ผมฟังคือ มีบริษัทสร้างละครโทรทัศน์โทรศัพท์ไปบอกว่า อยากให้แต่งเพลงละครให้ด้วย จะให้ค่าแต่งเพลงสองพันบาท เขาพูดอยากออกตัวว่าบริษัทให้ได้แค่นี้ (แต่ทั้งเนื้อร้องและทำนอง) ครูสง่า อารัมภีรตอบไปอย่างสุภาพว่า ถ้าให้ได้แค่นี้ก็ให้คนอื่นแต่งเถอะ

ผมฟังแล้วรู้สึกสังเวชใจ เขาพวกนั้นตีค่างานศิลปะระดับบรมครูที่เป็นศิลปินแห่งชาติเพียงเท่านี้เองหรือ ผลงานเพลงอันทรงคุณค่าของครูสง่า อารัมภีรประดุจเพชรเม็ดงามที่ต่ค่าไม่ได้ด้วยซ้ำ ท่านเป็นบรมครูสองพันเพลงที่เจียระไนแล้วจนแวววาวจนใคร ๆ ต่างก็ยกย่องว่าเป็น "ครูเพลง"

ครูสง่า อารัมภีรคุยกับผมได้สักพักท่านก็ขอตัวกลับ ท่านบอกว่าลูกเป็นห่วงไม่อยากให้มาเท่าไหร่ ผมเดินไปส่งท่าน เมื่อท่านบอกว่าขากลับต้องกลับเอง ตอนมาลูกมาส่ง ขณะที่เดินไปตามทางเดินที่ลาดด้วยกระเบื้องขัดมันเป็นทางยาว ผมพยายามเดินช้า ๆ ที่สุด ซึ่งปกติผมเป็นคนเดินเร็วเพราะท่านเดินต้วมเตี้ยมอย่างเชื่องช้าตามวัย เดินไปพลางคยุกันไปพลาง ผมรู้สึกภาคภูมิใจมากที่ได้มีโอกาสได้ใกล้ชิด "ครูเพลง" ครูสง่าอารัมภีร ซึ่งครั้งหนึ่งผมเคยได้ยินแต่เพลงของท่านและเห็นแต่ชื่อของท่านในหนังสือเพลง

ยามรักษาการณ์ที่ยืนอยู่ใกล้ ๆ บริเวณทางออกยิ้มบานให้ครูสง่า อารัมภีร เมื่อเห็นท่านเดินมาก็รีบไปเรียกรถแท็กซี่ให้ ครู่เดียวรถแท็กซี่ก็วิ่งมาจอดเทียบใกล้ ๆ ก่อนที่ครูสง่า อารัมภีร์จะเดินไปขึ้นรถแท็กซี่ ท่านยัดเงินใส่มือยามคนนั้นเป็นน้ำใจ ผมมองตามจึงรู้ว่าเป็นใบละ ๕o บาท ผมรีบทักท้วงเบา ๆ ว่า เยอะเกินไปครับ ท่านตอบสั้น ๆ ว่า "ช่างเถอะ ให้เขา"

เมื่อยามรักษาการณ์คนนี้ได้เงินยิ่งยิ้มบานกว่าเดิม ผมยืนส่งท่านด้วยสายตาจนกระทั่งท่านก้าวขึ้นรถแท็กซี่ และรถก็วิ่งออกไปจากศูยน์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยจนลับสายตา

ผมพบกับครูสง่า อารัมภีรอีกประมาณ ๒ - ๓ ครั้งหรือกว่านั้นในงานของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ผมเดินเข้าไปไหว้ท่านทุกครั้งแม้ท่านจะจำผมไม่ได้ก็ตาม เพราะท่านสูงวัยแล้วอีกอย่างนาน ๆ จะเจอท่าน ท่านจะนั่งฟังอยู่ด้านหลังสุดของห้องอย่างสงบนิ่ง เหมือนครั้งที่ผมเจอท่านครั้งแรกที่ศูยน์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ในงานวันนักเขียนปีหนึ่ง ผมเข้าไปไหว้ครูสง่า อารัมภีรเหมือนเคย ท่านทำหน้าฉงนเช่นเดิม เมื่อผมแนะนำตัวและท้าวความหลัง เป็นธรรมดาที่ท่านจำไม่ได้เพราะนาน ๆ จะเจอกันสักครั้งและไม่ได้คลุกคลีใกล้ชิดกับท่านด้วย ท่านให้คนไปซื้อเบียร์กระป๋องเย็นเจี๊ยบมาเป็นโหล แล้วดื่มอย่างมีความสุข ยังชวนใคร ๆ รวมทั้งผมดื่มด้วย

ผมนึกถึงความใจดี มีเมตตาของท่านเมื่อครั้งที่ท่านยัดเงินใบละ ๕o บาทให้ยามรักษาการณ์ของศูยน์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย พลางมองถุงพลาสติกใส่เบียร์กระป๋องที่วางอยู่บนโต๊ะซึ่งท่านให้ซื้อมาเลี้ยง ทำให้เข้าใจยิ่งขึ้นว่าท่านเป็นคนมีน้ำใจเผื่อแผ่ต่อคนอื่น ๆ แม้กระทั่งกับผู้ที่ด้อยกว่า ไม่ถือตัว แต่ผมรู้สึกกระดากที่จะดื่มเบียร์กับท่าน เพราะในความรู้สึกของผมนั้นท่านเป็น "ครูเพลง" ที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่ผมจะร่วมวงกับท่านได้จึงขอตัวไปนั่งที่อื่น

ผมพบกับครูสง่า อารัมภีรอีกหลายครั้งที่สมาคมนักเขียนฯในราวปลายปี ๒๕๔๑ ถึงต้นปี ๒๕๔๒ คราวนี้ท่านไปกับลูกชายของท่านคือ คุณบูรพา อารัมภีรและว่าที่สะใภ้ คุณญาดา อรุณเวช ก่อนที่จะเป็นญาดา อารัมภีรเมื่อ ๓ เดือนก่อนเห็นจะได้ หลังจากนั้นก็ได้ข่าวว่าท่านล้มป่วยจนกระทั่ง...

ท้องฟ้าในคืนแรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๗ ของวันพฤหัสบดีที่ ๑o มิถุนายน ๒๕๔๒ มืดมิดขับบรรยากาศในงานสวดอภิธรรมศพให้ยิ่งดูหม่นเศร้า ราวกับจะไว้อาลัยต่อการจากไปของครูสง่า อารัมภีร แม้จะเป็นเวลา ๒ ทุ่มกว่าแล้ว แต่ผู้คนยังคงอยู่ในงานศพเนืองแน่นจนร้อนอ้าว กระทั่งเวลาประมาณ ๓ ทุ่มเมื่อมีการเคลื่อนย้ายโลงศพไปบรรจุที่ศาลาเก็บศพ ผู้คนส่วนหนึ่งจึงเดินตามไป อีกส่วนหนึ่งต่างทยอยกลับ ขณะที่สายฝนเริ่มโปรยละลิ่วลงมาพอชุ่มฉ่ำ

ศาลาเก็บศพคับแคบเกินกว่าที่จะจุคนได้ทั้งหมด ผู้คนกลุ่มหนึ่งจึงยืนออจุกกันที่ประตู แต่ผมพยายามมุดเข้าไปข้างในจนได้เพื่อซึมซับภาพทุกอย่าง เพื่ออยู่ใกล้ชิดครูสง่า อารัมภีรเป็นครั้งสุดท้าย หลังจากพระสงฆ์ทำพิธีสวดเสร็จ ทุกคนต่างพากันเข้าไปวางดอกไม้จันทน์ และเคารพศพด้วยจิตอธิษฐานต่ออีกว่า ขอให้ผมมีโอกาสมีชื่อเสียงบ้าง ไม่ขอและไม่หวังว่าจะต้องโด่งดังเป็นพลุ

ผมทั้งเบียดและทั้งมุดเข้าไปถ่ายรูปตรงที่บรรจุศพครูสง่า อารัมภีรจนสำเร็จ เพื่อเก็บภาพนี้ไว้เป็นอนุสรณ์และประทับแน่นในความทรงจำ ศพของท่านบรรจะชั้นบน ข หมายเลข ๒ เมื่อเก็บไว้ครบ ๑oo วัน จะมีการพระราชทานเพลิงศพอย่างสมเกียรติของครูเพลงระดับศิลปินแห่งชาติ

หลังจากวางดอกไม้จันทน์และเคารพจนครบทุกคนแล้ว เมื่อเดินออกไปนอกศาลาสายฝนก็หลั่งรินลงมาแรงกว่าเดิม ราวกับจะร่ำไห้และแสดงความอาลับต่อร่างที่ดับสังขารของครูสง่า อารัมภีร

เมื่อผมค้นคว้าเพื่อเขียนเรื่องนี้ ทำให้ผมทราบว่าเพลงที่โด่งดังอีกหลายเพลงซึ่งได้ยินกันจนติดหูนั้น ล้วนเป็นฝีมือการแต่งของครูสง่า อารัมภีรทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเพลง ทาษเทวี สไบแพร เธออยู่ไหน ฯลฯ แม้ว่าบางเพลงท่านจะแต่งแต่ทำนองก็ไพเราะกลมกลืนกับเนื้อเพลง เช่น เพลงหนึ่งในร้อย ซึ่งแต่งคำร้องโดยแก้วฟ้า ฟังดนตรีเถิดชื่นใจ อันเป็นพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๖ คืนหนึ่ง แต่งคำร้องโดย พระองค์เจ้าภาณุพันธโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงเรือนแพอันแสนจะไพเราะ ที่ ด้วยภาษาอันงดงามนั้น ท่อนสุดท้ายของเพลงซึ่งปกติของเพลงทั่วไปทำนองจะเหมือนกับท่อนแรก แต่เพลงเรือนแพกลับมีทำนองต่างออกไป ผมได้ยินนักแต่งเพลงรุ่นเก่าเขาเรียกกันว่าท่อน "เลี้ยว" คือตรงท่อนจบที่ร้องว่าครูชาลี อินทรวิจิตร เป็นผู้แต่งคำร้อง ด้วยภาษาอันงดงามนั้น ท่อนสุดท้ายของเพลงซึ่งปกติของเพลงทั่วไปทำนองจะเหมือนกับท่อนแรก แต่เพลงเรือนแพกลับมีทำนองต่างออกไป ผมได้ยินนักแต่งเพลงรุ่นเก่าเขาเรียกกันว่าท่อน "เลี้ยว" คือตรงท่อนจบที่ร้องว่าถึง

"วิมานน้อยลอยริมฝั่ง
ถึงอ้างว้างเหลือใจรำพัน
หิวหรืออิ่มก็ยิ้มพอกัน
ชีวิตกลางน้ำสุขสันต์...
โอ้สวรรค์ในเรือนแพ"


นอกจากครูสง่า อารัมภีรจะแต่งเพลงไทยสากลให้นักร้องหลายคนมีชื่อเสียงโด่งดังแล้ว บางคนอาจจะไม่รู้เลยว่า ท่านยังสามารถแต่งเพลงให้วงดนตรีวัยรุ่นเมื่อเกือบ ๓o ปีก่อน ซึ่งสมัยนี้เรียกว่า เพลงสตริง มีชื่อเสียงโด่งดังทะลุฟ้าเมืองไทยมาแล้ว จนเป็นตำนานกล่าวขานถึงวงดนตรีวงนี้กระทั่งปัจจุบันก็คือ วงดิอิมพอสสิเบิ้ล

ครูสง่า อารัมภีรทั้งแต่งเองคนเดียวและแต่งร่วมกับครูเพลงท่านอื่น ๆ ที่เคยร่วมงานกันมา ได้แก่ ครูชาลี อินทรวิจิตร, ครูสุรพล โทนะวณิก, ครูพยงค์ มุกดา ฯลฯ แต่ไม่ใช่แต่งชนิกดสุกเอาเผากินแบบ "พาณิชย์ศิลป์" โดยใช้ถ้อยคำที่ไม่มีวรรณศิลป์เหมือนนักแต่งเพลงสมัยนี้ ครูสง่าอารัมภีร์ยังคงประณีตในการใช้คำและงามปลั่งด้วยวรรณศิลป์ ทำนองก็ไพเราะถูกใจทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเพลง ทะเลไม่เคยหลับ เจ้าพระยา ล่องวารี ค่าของรัก ฯลฯ

ครูสง่า อารัมภีรสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการแต่งเพลงทั้งเนื้อร้องและทำนอง ให้เข้ากับผู้คนและยุคสมัยได้อย่างกลมกลืน ทำให้วงดิอิมพอสสิเบิ้ลเรียกได้ว่าฟังได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ถึงตรงนี้ผมนึกถึงถ้อยคำของครูสง่า อารัมภีรซึ่งผมคัดลอกมาจากนิตยสารสารคดีปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๘ ประจำเดือนธันวาคม ๒๕๓๒ ที่เขียนเอาไว้ว่า "กาลเวลาทำให้ศิลปะต้องปรับตัว ศิลปะมันขึ้นกับกาลเวลาและสิ่งแวดล้อม"

หากการปรับตัวในงานเพลงของครูสง่า อารัมภีร เป็นการปรับตัวอย่างมีศิลปะและมีชั้นเชิงสมกับเป็นฝีมือของบรมครู ไม่ใช่เพื่อ "พาณิชย์ศิลป์" ป็นใหญ่ สามารถทำให้คนทุกกลุ่มยอมรับได้อย่างเต็มใจและเต็มภาคภูมิ โดยไม่รู้สึกว่าถูกยัดเยียดหรือถูกกรอกหูให้ยอมรับ

ผมรู้สึกสะเทือนใจอยู่ลึก ๆ เมื่อรู้ว่าเพลงของวงดิอิมพอสสิเบิ้ลสองเพลงที่เป็นเพลงโปรดของผม ซึ่งผมเล่นกีตาร์อยู่เป็นประจำนั้น เป็นฝีมือการแต่งทั้งคำร้องและทำนองของครูสง่า อารัมภีร์ นั่นก็คือ ลำนำเพลงรัก และเพลงยอดเยาวมาลย์ ทั้งสองเพลงนี้ไพเราะมากเหลือเกินในความรูสึกของผม

ผมเล่นเพลงลำนำเพลงรักและร้องไปด้วยตั้งแต่สมัยวัยรุ่น จนกระทั่ง ๒o กว่าปีให้หลังผมก็ยังทั้งเล่นและร้องโดยไม่รู้กระดากว่าพ้นวัย ทั้ง ๆ ที่มีการโซโล (solo) กีต้าร์ และมีจังหวะกระแทกกระทั้นแบบวงสตริงสมัยนี้ แต่เพลงนี้ยังคงงดงามอยู่ในใจผมเช่นเดียวกับเพลงยอดเยาวมาลย์ ซึ่งเกลากีต้าร์ดังกรุ๊งกริ๊งเสียงใส ๆ ฟังดูคล้ายเสียงน้ำตกที่ดังแผ่วอยู่ไกล ๆ กล่อมอารมณ์ให้เคลิบเคลิ้มตาม โดยเฉพาะในที่เงียบสงัด ใครได้ฟังจะตกอยู่ในภวังค์โดยไม่รู้ตัว ดังที่ผมเคยเกลากีต้าร์เพลงยอดเยาว์มาลย์เปล่า ๆ สมัยเมื่อวัยรุ่น ให้เพื่อน ๆ ต้องเงี่ยหูฟังมาแล้ว แต่ผมช่างโง่เขลาสิ้นดีที่ตลอดเวลาเกือบ ๓o ปีที่ผ่านมากลับไม่รู้เลยว่า สองเพลงนี้ครูสง่า อารัมภีรเป็นคนแต่ง

ผมเพิ่งรู้ว่าความจริงผมใกล้ชิดครูสง่า อารัมภีรมาก่อนหน้านี้เป็นเวลานานแล้ว ด้วยมนต์ขลังในบทเพลงของท่านที่ผมชื่นชอบและหลงใหล

ขอให้ดวงวิญญาณของครูสง่า อารัมภีรได้โปรดรับรู้ด้วยว่า ผลงานของท่านจะยังคงใกล้ชิดและสถิตในใจผมด้วยความงดงามตลอดไป ดังที่เคยเป็นมาอย่างไม่เสื่อมคลาย และยังคงกังวานอยู่ในใจของใครต่อใครอีกหลายคน

โดยยูร กมลรัตน์ จากหนังสือวัฒนธรรมไทย



ดนตรีบรรเลงสั่งลา...ครูแจ๋ว - สง่า อารัมภีร

วันที่ฟ้าร้องไห้ ครูสง่า อารัมภีร หรือ ครูแจ๋ว ทอดร่างนอนอย่างสงบ ปล่อยให้เวลาของโลกหมุนเวียนเปลี่ยนโมงยามไปตามวิถีแห่งธรรมชาติ...ลูกศิษย์ลูกหาและผู้คนมากมาย หลั่งไหลจากทั่วสารทิศ เพื่อมาคารวะดวงวิญญาณของสุภาพบุรุษนักประพันธ์ผู้นี้ ผู้ที่เป็นนักดนตรี - นักแต่งทำนองและเนื้อร้องที่มีผลงานกว่า ๒,ooo เพลง บรรเลงทั่วไทยและทั่วโลกมาเกือบ ๕ ทศวรรษ ผลงานมากมายที่กลายเป็นเพลงอมตะตราบเท่าทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น น้ำตาแสงไต้, หนึ่งในร้อย, เรือนแพ, ทหารเสือพระนเรศวร ฯลฯ

เป็นนักคิดนักเขียน หลากนามปากกา อาทิ มหาเมฆ, อัญชลี ณ เวียงฟ้า, แจ๋ว วรจักร ประจำหนังสือพิมพ์ยุคก่อน อาทิ พิมพ์ไทย, ดาราไทย, สยามสมัย, เสียงปวงชน, ฟ้าเมืองไทย, ไทยโทรทัศน์, ฟ้าเมืองทอง, ถนนดนตรี ฯลฯ

เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล) พ.ศ. ๒๕๓๑

เป็นพ่อตัวอย่างของประเทศปี ๒๕๓๘ และเป็นพ่อตัวจริงของลูก ๔ คน

เป็นคนที่มีคติประจำใจตลอดมา ชีวิตคือ "มีแต่ความรัก และอภัยให้แก่ผู้อื่น"

เป็นผู้มีตำนานความรักที่บริสุทธิ์ สะอาด มั่นคงจวบจนวินาทีสุดท้ายแห่งชีวิต

ฯลฯ

เติบโตมาพร้อมเสียงเพลง

ครูแจ๋วเกิดที่ตำบลบางขุนพรหมเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๔๖๔ เป็นหนึ่งในพี่น้อง ๗ คนของครอบครัวที่ค่อนข้างยากจน โดยฝ่ายพ่อสมบุญ มีอาชีพทำดอกไม้ไฟ และแม่ชื่อพิศ เป็นชาวนา ต่อมาพ่อแม่ได้ยกให้เป็นลูกบุญธรรมของนาวาอากาศเอก ชุณสวัสดิ์ทิฆัมพร และนางพิศวง (หรือทรงสอางค์) ทิฆัมพร ทั้งยังมีการเปลี่ยนดวงชะตามาเป็นคนเกิดวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๔๖๖ โดยเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตครูแจ๋วดีขึ้น

ครูแจ๋วเติบโตมาพร้อม ๆ กับเสียงดนตรีที่เป็นเพื่อนในวัยเด็ก ซึ่งครั้งหนึ่งครูแจ๋วเคยให้สัมภาษณ์ว่า "ตั้งแต่จำความได้ ครูก็ผูกพันอยู่กับเสียงดนตรีแล้ว เพราะสมัยเด็กครูอยู่บ้านแถวบางขุนพรหม ซึ่งละแวกนั้นเต็มไปด้วยนักดนตรีมากมาย เราได้ยินได้ฟังบ่อยๆเข้าก็รู้สึกสนใจ และตอนนั้นครูชอบฟังเพลงของพรานบูรพ์ ซึ่งเป็นเพลงประกอบการแสดงละคร ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ฝังใจให้คิดอยากจะแต่งเพลงประกอบละครขึ้นมาบ้าง"

ทางด้านการเรียนของครูแจ๋วอยู่ในเกณฑ์ดีมาก รักการอ่านหนังสือมาตั้งแต่อายุ ๑o ขวบ ชอบอ่านนวนิยาย รักบทประพันธ์ประเภทกาพย์ห่อโคลงเป็นพิเศษ แต่เรียนจบแค่ชั้นมัธยมปีที่ ๓ จากนั้นก็เริ่มฝึกงานแก้เครื่องยนต์ที่หมวดการบินน้อยที่ ๔ จังหวัดลพบุรี

เมื่อครอบครัวย้ายกลับมาประจำกองทัพอากาศ กรุงเทพฯ ครูแจ๋วได้เรียนดนตรีอย่างจริงจังกับครูคนแรกในชีวิตคือ เรืออากาศโทโพธิ์ ศานติกุล (โพธิ์ดำ) ต่อมาได้เป็นศิษย์ครูโพธิ์ ชูประดิษฐ์(โพธิ์ขาว) นอกจากนี้ยังได้รับใช้ใกล้ชิดพระเจนดุริยางค์ ผู้แต่งทำนองเพลงประกอบ และขุนวิจิตรมาตราผู้แต่งเนื้อร้องเพลงประกอบภาพยนตร์

อมตะกับเพลง "น้ำตาแสงไต้"

ช่วงที่พ่อแม่บุญธรรมได้ก่อตั้งคณะละครศิวารมณ์ขึ้นในปี ๒๔๘๗ และแสดงประจำที่ศาลาเฉลิมกรุง ครูแจ๋วจึงได้เป็นนักดนตรี นักแต่งเพลงประจำคณะ โดยเฉพาะเพลง "น้ำตาแสงไต้" ในละครเรื่องพันท้ายนรสิงห์

แต่เพลงน้ำตาแสงไต้ไม่ใช่เพลงแรกที่ครูแจ๋วแต่ง แต่เป็นเพลงแรกที่ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ กลายเป็นเพลงอมตะจนทุกวันนี้ เพลงแรกที่แต่งคือเพลง "บัวงาม" แต่งในช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี ๒๔๘๕
"แต่งเพลงแรกๆยังไม่ได้ค่าจ้างเท่าไหร่หรอก เพราะเป็นงานของราชการ จนเมื่อครูลาออกจากทหารอากาศ แล้วมาเป็นนักแต่งเพลงประจำคณะละครศิวารมย์ แต่งเพลงประกอบละครเวทีแล้วนั่นแหละจึงได้ค่าจ้างกับเขา จำได้ว่าแต่งเพลงประกอบละครเวทีครั้งแรกครูได้ค่าจ้างมาหนึ่งชั่ง...โอ้โฮ! มากทีเดียวนะ เพราะสมัยนั้นทองคำบาทละ ๔o บาทเท่านั้นเอง เงินชั่งที่ใช้มายังไม่หมด"

ชื่อเสียงจาก "น้ำตาแสงไต้" ส่งผลให้ครูแจ๋วเนื้อหอมในแวดวงคณะละคร มีการติดต่อขอให้แต่งเพลงกับหลายคณะ นับจำนวนเพลงที่ผลิตในยุคนั้นไม่น้อยกว่า ๒๕o เพลง

"สมัยก่อนพอนักร้องเขาจะร้องเพลงของครูอัดเสียง เขาก็จะโทรมาบอก ผมจะอัดเพลงของครูนะ เราก็จะฝากให้นักร้องช่วยเบิกเงินค่าลิขสิทธิ์เพลงให้เราด้วย แต่ส่วนมากไม่ค่อยได้เพราะเขามักจะหนีเรา (หัวเราะ) ไม่ค่อยยอมจ่าย แต่สมัยนี้ เวลาที่ห้างเทปจะนำเพลงครูไปอัดใหม่ เขาจะโทรมาบอกแล้วก็ส่งธนาณัติมาให้ ปีก่อนได้เพลงละห้าพันบาท มาปีนี้เพิ่มให้เพลงละหมื่นซึ่งครูก็พอใจแล้ว ส่วนเขาจะเอาเพลงเราไปอัดขายได้มากมายกี่แสนกี่ล้านมันก็เรื่องของเขา เราไม่ค่อยมานั่งคิดในจุดนี้" ครูแจ๋วให้สัมภาษณ์ในหนังสือ "คอนเสิร์ตเชิดชูครูเพลง สง่า อารัมภีร" เมื่อปี ๒๕๓๘"

"เท่าที่ผ่านมาครูมีรายได้จากการแต่งเพลงนี่แหละที่นำมาเลี้ยงดูครอบครัวและลูก ๆ สี่คน จนกระทั่งเขาเติบโตและมีงานการทำกันหมดแล้ว...เราได้มาเท่าไหร่เราก็ใช้เท่านั้น ไม่ได้ฟุ่มเฟือยอะไรมันก็พออยู่รอด

ความรักของครูแจ๋ว

ชีวิตรักของ "ครูแจ๋ว" บางครั้งก็เศร้าแสนเศร้า แต่งบางคราวก็สุขสดชื่น หรือนี่เป็นที่มาของบทเพลงรักอมตะหลายต่อหลายเพลง ในบทบันทึก (สาธารณะ) ที่ครูแจ๋วเขียนถึง "นางในดวงใจของข้าพเจ้ามีอยู่ ๓ คนด้วยกัน" ณ วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๓๘ เวลา ๑๘.๓o น. คงพอจะฉายภาพความรักของศิลปินผู้นี้ได้บ้าง

คนแรกเป็นศิษย์เรียนเปียโน แต่ต่อมามีนายทหารนักบินมาโฉบเธอเอาไป สร้างความเสียใจให้ครูอย่างสุดซึ้ง แต่อกหักครั้งนี้ ครูแจ๋วได้ตั้งปฏิญาณไว้ว่าจะต้องเป็นนักแต่งเพลงที่โด่งดังให้ได้

คนที่สองเป็นนางเอกคณะละครศิวารมย์ ซึ่งต่อมาได้แต่งงานกับนักแสดงด้วยกัน ความร้าวรอนจากความรักทำให้เพื่อนอย่าง ชาลี อินทรวิจิตร มองเห็นศักยภาพการเป็นนักแต่งเพลงของเพื่อนอย่างเต็มเปี่ยม

"ตรงนี้มั้งที่ทำให้เพลงของสง่า อารัมภีรมีมนต์ขลัง แม้หัวใจสลายฉีกขาดเป็นเสี่ยง ๆ เพลงทุกเพลงก็มีตัวโน้ตแห่งน้ำตา ไม่ว่าจะเป็น แม้แต่ทะเลยังระทม รักข้ามขอบฟ้า เสียสละรัก เมื่อคืนนี้ พี่ยังรักเธอไม่คลาย...

ก็ยังแฝงความวิปโยคไว้ในเพลงเกือบจะทุกเพลง นั่นแหละเสน่ห์ของเพลงล่ะ ที่ใคร ๆ ก็ค้นหาไม่พบ แต่แจ๋ว หรือสง่า อารัมภีร์พบมันแล้วกอดมันเหมือนเพื่อนสนิท เหมือนท้องฟ้ากอดขุนเขา"

คนรักคนท้ายสุดและสุดท้ายคือ วิภา ชาติบุตร์ มีชื่อเล่นๆว่า "อู๊ด" เป็นหญิงสาวที่ครูแจ๋วได้แต่งเพลง "รักคนที่เขารักเราดีกว่า" และเป็นคู่ชีวิตคนเดียวมาตลอดชั่วชีวิตของครู...
"ขอมีลูก ๑๖ คนได้ไหม จะตั้งชื่อให้เป็นทิศเลยว่า อุดร อุตลีสาน อิสาน ปุริมิสาน บูรพา ปุริอาคเนย์ อาคเนย์ ทักษิณอาคเนย์ อุดร พายัพ ปัจฉิมพายัพ ฯลฯ วิภาหัวเราะตอบว่า "ถ้าช่วยกันท้องก็จะเลี้ยงให้ทั้ง ๑๖ คน

ดังนั้น เมื่ออยู่กินเพราะเข้าหาแบบโบราณก็มีลูกได้ ๔ คน ในปี ๒๔๙๒ ชื่อพัทยา ปี ๒๔๙๔ ชื่ออาคเนย์ ปี๒๔๙๖ชื่อบูรพา และปี ๒๔๙๘ ชื่อพายัพ

...เราอยู่กันอย่างมัธยัสถ์ ไม่เคยทะเลาะเบาะแว้งกันเลยครับ ไม่มีเรื่องก็ไม่พูดกัน มองตากันก็รู้ ได้เงินมาผมแบ่งเป็นสี่ส่วน ให้อู๊ดไว้ ๓ ส่วน ซื้อข้าวปลาอาหาร ๑ เครื่องแต่งตัว หนังสือเรียนของลูกๆ ๑ ค่าเจ็บไข้ได้ป่วย ๑ ซึ่งพวกเราไม่ค่อยได้เจ็บไข้ได้ป่วย เก็บติดตัวไว้ซื้อเหล้าอาหารแกล้มแต่ไม่ค่อยได้จ่าย เพราะนายห้างกมล สุโกศล และพี่บุญวงศ์ อมาตยกุลและแม่ทัพกฤษณ์ สีวะรา ท่านสั้งคนเก็บเงินให้เข้าบัญชีของท่าน ท่านว่า "เลี้ยงได้แจ๋วน้องชาย มันไม่สิ้นเปลืองเท่าไหร่หรอกเว้ย"

ท่านจากไปแล้วผมยังทำบุญไปให้ท่านเสมอ ๆ และทำบุญให้คนรักที่จากไปโลกอื่นด้วย อยู่กันในโลกนี้หากันกันเองก็แล้วกันครับผม...

นั่นเป็นบันทึกแห่งความรักก่อนการจากไปของครูแจ๋วเพียง ๕ ปี...เวลานี้ในวันวัยที่ ๗๘ ปี กับมรสุมโรคร้ายรุมเร้า "ครูแจ๋ว" ได้สละร่างสิ้นแล้ว คงฝากผลงานอันมีค่ามหาศาลไว้กับแผ่นดิน พร้อมกับเมล็ดพันธุ์แห่งความรัก ความศรัทธาต่อเพื่อนมนุษย์ไว้ตราบนานเท่านาน...

โดยนันทพร ไวศยะสุวรรณ์ จากหนังสือเนชั่นสุดสัปดาห์


บีจีจากคุณยายกุ๊กไก่ ไลน์จากคุณญามี่

Free TextEditor





 

Create Date : 22 ธันวาคม 2548    
Last Update : 29 กุมภาพันธ์ 2555 22:03:58 น.
Counter : 3716 Pageviews.  

อำลา...อาลัย (2)




การทำงานอันยาวนาน


หลังจากการรดน้ำศพลุงแจ๋วหรือ สง่า อารัมภีร์เรียบร้อย ถึงเวลาเย็นย่ำค่ำ ผมก็ตามคณะพรรคไปที่ร้านอาหารจีนเก่าแก่แห่งหนึ่งแถวนางเลิ้งขื่อ ร้านศรีนคร กินข้าวกินเหล้าและกล่าวเรื่องราวรำลึกถึงลุงแจ๋ว ซึ่งเป็นสมาชิกประจำของวงเหล้าเรา พรรคพวกคนหนึ่งก็ชงเล้าแก้วหนึ่ง จบวันทาบอกว่า นี่แก้วลุงนะ แล้วก็ตั้งไว้ที่หัวโต๊ะ

เพื่อนบอกว่า ลุงแจ๋วชอบทำอย่างนี้เวลาเพื่อนร่วมวงเก่าๆของลุงตายใหม่ ๆ ลุงไปกินเหล้าที่ไหนก็จะชงเหล้าอีกแก้วหนึ่งตั้งไว้ให้เพื่อน เราก็ชงเหล้าแก้วหนึ่งตั้งไว้ให้ลุงบ้าง ผมนั่งใกล้กับหัวโต๊ะที่แก้วเหล้าของลุงตั้งอยู่ก็ชนแก้วกับลุง เหมือนว่าลุงนั่งอยู่ด้วยอย่างที่เคยชนแก้วกันมา ใกล้ ๆ กับโต๊ะที่เรานั่งมีเครื่องดนตรีและมีคาราโอเกะ ทางร้านเขาก็เปิดเพลงอยู่ หมดเหล้าขวดแรกก็ชวนกันร้องเพลงลงแจ๋วกันดีกว่า ก็ร้องเพลงลุงแจ๋วกันไปจนวงเหล้าเลิกรา ต่างคนต่างแยกย้ายกลับบ้าน ผมกลับบ้านก็นึกถึงลุงแจ๋วไปตลอดทาง นึกถึงอายุการทำงานอันยาวนานของลุงแจ๋วแล้ว ก็นึกเปรียบเทียบกับการทำงานของตัวเอง

ลุงแจ๋วมีชื่อในฐานะนักแต่งเพลง ซึ่งเป็นเพลงประกอบเมื่ออายุยี่สิบกว่าปี ดูเหมือนจะยี่สิบสี่ปี และทำงานเกี่ยวกับการแต่งเพลงมาโดยตลอด จากการแต่งเพลงประกอบละครก็มาแต่งเพลงประกอบหนัง และเพลงอื่นๆอีกมากกมาย รวมถึงการเขียนหนังสือด้วย รวมเวลาที่ลุงแจ๋วท่องยุทธจักรอยู่ก็นับได้ห้าสิบกว่าปี เกือบหกสิบปี

เรียกได้ว่าลุงแจ๋วท่องยุทธจักรอยู่จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต เพราะก่อนจะเจ็บจนต้องเข้าโรงพยาบาลนั้น ลุงแจ๋วก็ไปงานอะไรงานหนึ่งในยุทธจักร

หนังสือลุงก็ยังเขียนอยู่ ก็ยังมีข้อเขียนให้ผมอ่านเมื่อไม่นานปีมานี่เอง เพลงลุงก็ยังแต่ง ลุงมีความคิดที่จะแต่งเพลงเกี่ยวกับแม่น้ำ เคยชวนผมไปล่องแม่น้ำแถวลพบุรีแต่ผมไม่มีจังหวะไป แต่ก็ได้ไปล่องแม่น้ำท่าจีนกับลุงครั้งหนึ่ง แม่น้ำสุพรรณบ้านผมนั่นแหละ เป็นที่เพลิดเพลินกันมาก

ลุงก็บอกให้ผมเขียนเนื้อเพลงเรื่องแม่น้ำสุพรรณมา จะใส่ทำนอง ผมก็ไม่รู้ว่าจะเขียนยังไง ผมเขียนเพลงไม่เป็นประสา ลุงก็บอกว่าเขียนกลอนหกมาก็แล้วกัน นี่จนลุงเรียบร้อยศาลาวัดมกุฏฯไปแล้ว เนื้อเพลงแม่น้ำสุพรรณของผมก็ยังไม่มี ได้แต่คิด คิดแล้วก็ครั่นคร้าม ผมกลัวกลอนผมเชยหรือไม่ได้เรื่องราว กลัวเนื้อเพลงที่เขียนจะไม่ได้ ไม่ควร ไม่เหมาะกับฝีมืออันล้ำเลิศในการใส่ทำนองดนตรีของลุงแจ๋ว

ผมโตทันและประกอบกับการอ่านหนังสือมาพอที่จะรู้เรื่องราว และลักษณะชีวิตการทำงานของลุงแจ๋วอยู่เหมือนกัน ละครเวทีทำนองเดียวกับยุคที่ลุงแต่งเพลงประกอบให้ก็เคยได้ดูอยู่บ้างตอนเด็ก ๆ อ่านหนังสือที่ลุงเขียนเล่า และคนในวงการเดียวกับคนอื่นๆเขียนถึงพูดถึงก็พอจะทำให้นึกออก และผมเองก็แวะเวียนอยู่ในแวดวงทำนองเดียวกับลุงเคยอยู่ คือแวดวงหนังละครเพลงและหนังสือเพียงแต่ต่างยุคสมัย

ลุงแจ๋วเข้าวงการมาด้วยการแต่งเพลง ผมเข้าวงการมาด้วยการแต่งหนังสือ

ลุงแจ๋วเคยเขียนเล่าเรื่องสมัยที่เข้าวงการใหม่ๆในข้อเขียน "น้ำตาแสงไต้แห่งความหลัง" พูดถึงสมัยปีสองสีบแปดแปดที่ทำละครพันท้ายนรสิงห์ตอนหนึ่งว่า "...ข้าพเจ้าเป็นนักดนตรีใหม่ๆ ยังไม่ถึงปีเลย เพลงก็แต่งกับเขายังไม่เป็น และยังไม่เคยคิดเลยว่าจะแต่งกับเขาได้ยังไง ได้แต่ดูเขาแต่งเท่านั้น วันหนึ่งๆก็ได้แต่ดีดเปียโนจนเมื่อยนิ้วไปหมด"

ผมว่าผมเข้าวงการนักเขียนหรือนักหนังสือพิมพ์ด้วยก็ได้ เป็นอะไรทำนองเดียวกับที่ลุงแจ๋วเขียนถึงตัวเองนี่เหมือนกัน

ผมเขียนกลอนมานาน ได้ชื่อว่าเป็นนักกลอนคนหนึ่ง จนเรียนจบมหาวิทยาลัยก็ไปทำงาน ทำงานหนังสือพิมพ์ก็ทำหน้าที่แปะอาร์ตเวิร์ก ไม่ได้เป็นงานกองบรรณาธิการ ไม่เคยนึกเคยรู้สึกว่าดัวเองจะเขียนข้อเขียนอะไรลงตีพิมพ์ได้

ระยะนั้น สุจิตต์ วงษ์เทศ กับขรรค์ชัย บุนปานกำลังวิ่งเต้นซื้อหัวหนังสือพิมพ์รายวันเพื่อมาทำ ยังจำได้ว่าพยายามจะไปซื้อหัวหนังสือพิมพ์รายวัน "เสรีไทย" หนังสือพิมพ์รายวัน เจ้าของเป็นคนที่ผมรู้จักชื่อ คุณสถิตย์ ปรีชาศิลป์ เป็นคนสุพรรณบุรีบ้านเดียวกับผม พวกบ้านผมเรียกกันว่าเฮียเอี๋ยว

เฮียเอี๋ยวเป็นเจ้าของรถเมล์สายหก บุคคโล-บางลำพู สีเขียวคาดเหลือง และเป็นเจ้าของไนต์คลับโรเฟโน่ที่อยู่ตรงข้ามศาลาเฉลิมไทย ไนต์คลับโรเฟโน่นี้พวกสุพรรณฯบ้านผมอยู่กันเป็นดงเลย มีทั้งบ๋อย กัปตัน และผู้จัดการ ผมแวะไปบ่อย

ได้ข่าวว่าซื้อไม่สำเร็จ เขาจะเอาตั้งล้าน สุจิตต์-ขรรค์ชัยก็เลยมาเปิดโรงพิมพ์ ก็โรงพิมพ์พิฆเณศ อยู่ตรงแพ่งสรรพศาสตร์

อรุณ วัชระสวัสดิ์เพื่อนผมไปทำงานที่พิคเณศผมก็ตามไป ไปเกาะวงเหล้าของสุจิตต์ที่ร้านนามชัย ซึ่งอยู่เยื้องๆกับประตูแพร่ง วงเหล้าของสุจิตต์ขยับไปตรงไหนผมก็ไปเกาะด้วยทุกครั้งที่มีโอกาส ตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์สิบสี่ตุลาจนหลังเหตุการณ์สิบสี่ตุลา เขาไปทำหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวันกัน ผมก็ตามไปเกาะ

ผมเกาะเวลาวงเหล้าฟังเขาพูดคุยกัน เรื่องการบ้านการเมือง เรื่องสังคม คนนี้จะเขียนเรื่องนั้น คนนั้นจะเขียนเรื่องนี้ เขามีข้อเขียนเป็นนักเขียนที่มีชื่อกันแล้วแทบทุกคน ผมยังไม่รู้เลยว่าผมจะเขียนอะไรได้

เกาะวงเหล้าร้องเพลงลูกทุ่งให้สุจิตต์ฟัง จนสุจิตต์บอกว่ามึงน่าจะเขียนเรื่องเพลงลูกทุ่งได้ ผมก็เขียนคอลัมน์เพลงลูกทุ่งลงในประชาชาติรายวันอยู่สองสามตอน แล้วก็มีอันได้โอกาสไปอเมริกา กลับมาถึงได้เขียนหนังสือเป็นพายุบุแคม

อายุงานในแวดวงตอนนี้ นับตั้งแต่เริ่มเกาะวงเหล้าของสุจิตต์ก็เกือบสามสิบปีแล้วละครับ ยังอยู่อีกเกือบๆสามสิบปีถึงจะเท่าอายุงานของลุงแจ๋ว

โดยวานิช จรุงกิจอนันต์ จากหนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๙๘๓





"น้ำตาแสงไต้" หลั่งให้ "สง่า อารัมภีร์"


แม้นามปากกา "แจ๋ว วรจักร" ในปัจจุบันจะไม่ปรากฏบนหน้ากระดาษ แต่นามปากกานี้เคยเป็นที่รู้จักกันมาแล้วในนิตยสาร และหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่างไทยรัฐ

แจ๋ว วรจักร หรือ จ้อน บางกระสอ เป็นนามปากกาที่ สง่า อารัมภีร์ เขียนบทวิจารณ์หนังทั้งใน ชาวกรุง และหนังสืออื่นๆ

เรื่องราวของสง่า อารัมภีร์ ในความทรงจำของคนวัยไล่เลี่ยกันอย่าง อาจินต์ ปัญจพรรค์ ย่อมเป็นความทรงจำที่มีเรื่องราวและสีสัน



อาจินต์ ปัญจพรรค์



ข่าวคราวการแยกจิตออกจากสังขารของครูสง่า อารัมภีร์ หรือ ครูแจ๋ว ย่อมนำความเศร้าเสียใจมาสู่ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ อาจินต์ ปัญจพรรค์เป็นอย่างมาก แม้จะต้องทนต่อความเจ็บปวดเนื่องจากดวงตาเจ็บ แต่ด้วยความรักและเคารพผู้จากไป อาจินต์จึงยินดีเล่าเรื่องราวที่ผ่านมาด้วยความเต็มใจ

"เรื่องที่มีเกียรติที่สุดของครูแจ๋วคือ วิจารณ์ทีวีวันแรกที่ออกอากาศของเมืองไทย วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นช่องสี่บางขุนพรหม" อาจินต์เริ่มเรื่องด้วยเสียงปร่าแปร่ง ดวงตาหม่นเศร้า

:ก่อนนั้นครูแจ๋วทำอะไรอยู่?
"ครูแจ๋วพักจากการเล่นเพลงของโรงละคร เพราะตอนนั้นโรงละครกำลังเงียบเหงา ครูแจ๋วก็หางานทำเพื่อเลี้ยงครอบครัว"

:ทำงานอะไรบ้าง?
"ก็ไปได้งานที่นิตยสาร ดาราไทย-รายสัปดาห์ ของคุณสุรัตน์ พุกกะเวส ผู้มีความรู้เรื่องหนัง ละคร และเป็นนักแต่งเพลง แต่งเพลงให้สุนทราภรณ์ด้วย ฉบับแรกที่ครูแจ๋วเขียนให้หนังสือดาราไทยก็เขียนวิจารณ์ทีวี.ช่องสี่ บางขุนพรหมด้วยคำชมหนึ่งคอลัมน์เลย ใช้นามปากกา แจ๋ว วรจักร นับเป็นคนแรกที่เขียนวิจารณ์ทีวี.ในประเทศไทย"

:การทำงานในแวดวงคนทำหนังสือ?
"เขาอยู่ในทุกที่ เขียนคอลัมน์ มองศิลป์ในด้านดีในไทยรัฐ เขาจะเล่าว่าวันนี้เขาไปทำอะไร ไปเจอใคร ใครทำอะไรที่ไหน เขาเขียนในไทยรัฐนานปี งานชิ้นนั้นรวมทั้งที่เขียนในฟ้าเมืองไทยด้วย มีคนให้ไปรวบรวมมาพิมพ์เป็นเล่มไว้ เพื่อให้เป็นที่รู้กันในวงการบันเทิงไทย นอกจากในคอลัมน์มองศิลป์ในด้านดีในไทยรัฐแล้ว เขายังมีคอลัมน์เขียนในหนังสืออื่นๆอีกมาก มีผู้ติดตามอย่างกว้างขวาง"

:โดยสรุปแนวเนื้อหาที่เขียนเป็นอย่างไร?
"เป็นการเขียนเพื่อผดุง ชื่นชม และชมเชยศิลปินดนตรีของไทยทั้งหมด ให้เกียรติ ให้กำลังใจ เชียร์ให้ซื้อตั๋วไปชม สง่า อารัมภีร์เป็นผู้มีคุณค่าต่อทุกชีวิตในเพื่อนร่วมรุ่น เขามีจิตใจที่จะสนับสนุน แม้จะไม่ได้ร้องเพลงเขา เขาก็ไม่ได้เกี่ยงงอน"

:วงดนตรีที่ สง่า อารัมภีร์ ทำงานอยู่?
"เขามีวงส่วนตัวชื่อกระชับมิตร เขามีอยู่ด้วยกันสี่ห้าคน มีเครื่องดนตรีไม่กี่ชิ้น เขาเรียกว่า ควอเต็ท หรือ แชมเบอร์มิวสิค แต่ก่อนนั้นเขาอยู่วงดนตรีทหารอากาศ
:ด้านความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่าง อาจินต์ ปัญจพรรค์ กับ สง่า อารัมภีร์ เป็นมาอย่างไร?
"เจอกันที่ไทยทีวี.ช่องสี่ ผมเป็นฝ่ายจัดรายการและโฆษณา เป็นเบ้ของ จำนงค์ รังสิกุล ผมคุมบัญชีโฆษณา ครั้งหนึ่ง สอ เศรษฐบุตรก็ไปหาให้ทำโฆษณาพจนานุกรมภาษาอังกฤษให้ ครูแจ๋วเขาก็ไปหาเพื่อจะให้โฆษณาตู้เย็นยีอีที่ กมลสุโกศล โฆษณาขายทางทีวี. ผมก็พาครูแจ๋วจากกรมประชาสัมพันธ์ขึ้นรถรางมาบางขุนพรหม ค่าโดยสารคนละห้าสิบสตางค์ บางขุนพรหมเป็นออฟฟิศใหญ่ เสร็จงานแล้วแราก็จากกัน เขากลับไปบริษัทที่สามยอด ส่วนผมกลับออฟฟิศที่หลังกรมโฆษณาการ เมื่อถึงกำหนดโฆษณาออกฉาย ครูแจ๋วก็เอาเงินจากนายเขามาจ่าย แต่เขายังไม่กลับ ไปนั่งกินเหล้าอยู่ที่ร้านอาหารซึ่งอยู่ใต้ถุนอาคารที่เราทำทีวี. พองานผมเลิกผมจะต้องเอาแผนผังรายการมาส่งให้คนทำทีวี.ทุกคนรู้ ผมแจกเสร็จก็เดินมาที่ร้านอาหาร เห็นครูแจ๋วนั่งอ่านหนังสืออยู่ ทักทายกับผมก็รู้จักกันมากยิ่งขึ้น




สุเทพ วงศ์กำแหง กับครูแจ๋วผู้เล่นเปียโน
ในรายการทีวีหนึ่งทางช่อง ๔ บางขุนพรหม ปี ๒๕๓o


:จำได้ไหมครูอ่านหนังสืออะไร?
"แกอ่านหนังสือ ห้วงมหรรณพ ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเพิ่งจะออกในวันนั้น แสดงว่าครูแจ๋วเป็นนักอ่าน อ่านแต่หนังสือดีๆ ไม่ว่าจะเป็น ขุนช้าง ขุนแผน เวตาล แกเป็นคนอ่านหนังสือมาก ผมเคยไปเที่ยวบ้านแก ผมมีหนังสือเก่าๆยังมีไม่เท่าแกเลย"

:ช่วยเล่าตอนที่ ครูแจ๋ว เข้ามาเขียนใน ฟ้าเมืองไทย?
"ผมมาทำฟ้าเมืองไทยเมื่อ ๒๕๑๒ ก่อนนั้น ครูแจ๋วทำเพลงละครให้กับรพีพร ไม่ว่าจะเป็นเจ็ดโจร ขุนศึก ครูแจ๋วเป็นคนทำเพลง ส่วนรพีพรเป็นนักเขียนบทที่ยิ่งใหญ่มาก ตอนนั้นผมยังทำไทยโทรทัศน์รายเดือนอยู่ ปี ๒๕๑๒ ผมก็ออกจากทีวี.มาเข้าหุ้นกับลูกจีนคนหนึ่งทำฟ้าเมืองไทย ครูแจ๋วเขาก็มาร่วมเขียนตั้งแต่เริ่มเลย ผมเปิดคอลัมน์ หนังสือ หนังดี ดนตรี ทีวี. กีฬา วาทะ ทัศนาจร เป็นคอลัมน์เรียงร้อยกันไปเลย อ่านนี่จบถึงจะไปขึ้นเรื่องสั้น เรื่องราว"




ครูแจ๋ว (คนยืน) กับมงคล ชัยบุรินทร์ หัวหน้าออมสินภาคอิสาน ผู้เป็นคนคิดคำว่า "ดวงใจ ทุกคนมีสิทธิ์จะรักกันได้"



:ครูแจ๋วเขียนเรื่องอะไรบ้าง?
"หนังสือผมเขียน หนังสือคือ หนังทีวี. และหน้าโรง ดนตรี ทัศนาจร ครูแจ๋วเขียน แต่นอกจากนั้นหากไม่มีใครทำผมทำ เพราะแต่ละหัวข้อเขียนเพียงหน้ากระดาษเดียว

:แล้วยังมีคอลัมน์อะไรอีก?
ยังมีคอลัมน์ประจำชื่อ แจ๋วเจอผี คอลัมน์นี้แสดงความฉลาดของแจ๋ว แกอยากเขียนเรื่องผีอย่าง เหม เวชกร แกเล่นดนตรีแต่มีจิตใจละเอียดอ่อนแบบพี่เหม ผมออกฟ้าเมืองไทยได้ ๖ เล่มพี่เหมก็เสียชีวิต นอกจากเรื่องจากย่ามความทรงจำของเหม เวชกรก็งดไป เพราะแกเสียชีวิต เมื่อครูแจ๋วจะเขียนผมก็ให้เขียน จึงเกิดคอลัมน์ แจ๋วเจอผี เรื่องผีนี่คนชอบอ่านมากทำให้หนังสือขายดี




ครูแจ๋วไปที่ไหนต้องมีเสียงเพลงที่นั่น ส่วนคนขวามือคือ นพพร บุณยฤทธิ์



:ทำไมคนถึงชอบอ่านเรื่องผี?
"ตราบใดที่โลกยังมีความมืด ตราบนั้นเรืองผีจะต้องขายดี เพราะคนเรากลัวความมืด"

:ผลงานรวมเล่มของครูแจ๋วมีอะไรบ้าง?
"แกเป็นนักเขียนคอลัมน์ นอกจากเขียนคอลัมน์ แจ๋วเจอผี ในฟ้าเมืองไทย ตอนหลังแกมาเขียนความหลังในการเล่นละคร ผมก็รวมเล่มให้แกชื่อว่า ความเอยความหลัง ต่วยตูนมาซื้อไป มีคำนำของผมด้วย ตอนผมรวมเล่มผมให้ พนม สุวรรณบุณย์ เขียนรูปให้แจ๋วนั่งอยู่หน้าแสงเทียนเหมือนเรื่อง น้ำตาแสงไต้ แล้วนัยน์ตาของแกเกิดประกายวับขึ้นมาจากแสงเทียน"

:ช่วยเล่าความสัมพันธ์ส่วนตัว และบุคลิกลักษณะของครูแจ๋วตามมุมมองของอาจินต์ ปัญจพรรค์?
"ผมรักพี่แจ๋วเหมือนพี่ชายของผมคนหนึ่ง ผมร่วมเที่ยว กินเหล้า กินอยู่ หลับ นอน มาด้วยกัน ผมกินเหล้าเมาแกก็พาไปนอนบ้านแก เช้าแกก็มาส่งที่ทีวี. บางวันกินเหล้าเมาแกพาไปเที่ยวที่บางปู ที่นั่นมีห้องให้เช่านอนอยู่ริมทะเลเลย รุ่งเช้าก็กลับมาทำงานกัน มีอยู่สมัยหนึ่งที่เรากินเหล้าด้วยกันทุกเย็น เที่ยวไนท์คลับด้วยกันทุกคืน ถ้าเป็นวันปีใหม่ก็ไปกินเหล้ากันจนเช้า พอพระมาบิณฑบาตก็ซื้อข้าวที่ร้านเหล้าใส่บาตรด้วยกัน




การดวลแอคคอเดียนระหว่างครูแจ๋วกับปฐมทัศน์ สัชฌุกร ในงานเลี้ยงวันเกิด อาจินต์ ปัญจพรรค์ ปี ๒๕๒๒



:ผลงานเขียนของครูแจ๋วในสายตาอาจินต์ ปัญจพรรค์?
"ครูแจ๋วแกเขียนด้วยภาษาง่ายๆ เหมือนคนเขาพูดกัน เขาไม่ได้จบอักษรศาสตร์มา ทำให้เนื้อเพลงของเขาสวย มีความฟูเฟื่องทางด้านศิลปะ เหมือนนักด้นกลอนลิเกเพราะแกศึกษามามาก แกอ่านหนังสือทุกเล่มที่เป็นวรรณคคีไทย"
:บุคลิกของครูแจ๋ว?
"เขาเป็นคนอ่อนน้อม ไม่เบ่ง ทำตัวเป็นคนโบราณ แต่เขามีคำพูดดี ๆ สนุก ขี้เล่น ขี้ล้อ เขาเป็นคนง่ายๆมีเสน่ห์ เสน่ห์ที่เกิดจากความเรียบง่าย และเป็นคนติดดิน ภูมิปัญญาชาวบ้านเขามีเต็มตัว เขามีความรู้ด้านวรรณคดีทำให้เขานำมาประกอบกับตัวโน้ต เนื้อเพลงของเขาถึงได้ไพเราะจับใจคน"

ชีวิตที่เรียบง่ายแต่งดงามของ ครูสง่า อารัมภีร์ หรือ แจ๋ว วรจักร หรือจ้อน บางกระสอ หรือครูแจ๋ว แม้ "กาย" จะถึงกาลสูญสลาย หากแต่วิญญาณยังคงอยู่-ยังอยู่ในเนื้องานที่เคี่ยว กลั่นออกมาฝากไว้ในโลกดนตรีและวรรณกรรมหลายเรื่อง หลายรส หลายอารมณ์ ต่อแต่นี้ไปถ้าจะถามถึงกายครูแจ๋ว คงต้องมองรูปถ่าย ถ้าหากถามถึงชิวิตและจิตวิญญาณของครูแจ๋ว ก็มีให้เห็นในข้อเขียนต่าง ๆ และท่วงทำนองของดนตรี

น้ำตาอาบแก้ม เพียงแซมเพชรไสว แวววับจับหัวใจ เคล้าแสงไต้งามจับตา...



ครูแจ๋ว (คนหันหลังใส่หมวก) กับอาจินต์ แวะกินข้าวแกงที่สุโขทัย ขณะไปเยี่ยมบ้านครูนิมิตร ภูมิถาวร ปี ๒๕๒o

โดยสัจภูมิ ละออ เรื่องจากปกหนังสือจุดประกายวรรณกรรม วันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๒


บีจีจากคุณยายกุ๊กไก่ ไลน์จากคุณญามี่

Free TextEditor





 

Create Date : 21 ธันวาคม 2548    
Last Update : 29 กุมภาพันธ์ 2555 21:54:55 น.
Counter : 3525 Pageviews.  

อำลา...อาลัย (1)





สง่า สงบระงับด้วย ใจงาม
อา พาธยิ่งพยัคฆ์ยาม ป่วยไข้
รัม บาญโรคคุกคาม สงบสกัด
ภีร ภาพพ่อผู้ให้ โลกนี้สรรเสริญ

ลางท่านอาจเรียกท่านว่า ลุงแจ๋ว
หมายถึงพี่ชายของพ่อ
แต่ลางท่านเรียก ตาแจ๋ว
หมายถึงบิดาของแม่
ไม่มีใครในแผ่นดินนี้ ไม่รู้จัก สง่า อารัมภีร์
ผู้เกิดมาจรรโลงโลกด้วยเสียงเพลง เสียงดนตรีและท่วงทำนองเสนาเพราะพริ้ง
เพลงที่ไม่มีพิษ ดนตรที่ไม่มีภัย เสนาะทำนองอันพราวเพริศ
กวีผู้สง่างามด้วยความยิ่งใหญ่ ด้วยคำ ๗ คำ
จำใจข่มใจไปจากนวล...

มติชน ทั้งระบบเหมือนจอมปลวกน้อย ๆ ริมทาง ท่ามกลางแผ่นฟ้า แผ่นดินแห่งห้วงวรรณศิลป์อันไพศาล
บางเวลา ริมทางรื่นร่มรมเยศ บรรเทิงเริงรมย์ก็บรรเลงตามลีลา
ลุงแจ๋วนั่งอยู่ตรงนั้นตลอดงาน
ด้วยรอยยิ้ม ด้วยความรู้ ด้วยความรักและเมตตา
หลายคนตะเบ็งเนื้อเพลงผิด ทำนองพลั้ง
ลุงแจ๋วแก้ให้
หลายคนห่างไกลอารมณ์เพลง
ลุงแจ๋วเติมเมตตากับความรัก
ลุงแจ๋วหรือตาแจ๋ว ไม่เคยนินทาว่าร้ายใครในโลกนี้
บางทีเมรัยรสสำลักล้น บางคนทะลึ่งและทะเล้นจ์
เผลอเรียกตาแจ๋วว่า คุณลุง สะหงี่ อารัมพา
ลุงแจ๋วยิ้มบริสุทธิ์ เอื้อมมือมาโอบ กระซิบเบา ๆ
...ให้ลุงหอมแก้มที

ชีวิตมีรายรับมหึมาคือการเกิด
รายจ่ายของมันคือความป่วยไข้
ก่อนถึงรายจ่ายก้อนสุดท้ายคือความตาย
จอมปลวกน้อยริมทางได้รับทราบด้วยความเจ็บปวด
ลุงแจ๋วสูญเสียอวัยวะบางส่วนเพื่อรักษาชีวิต
บรรณาธิการใหญ่ศิลปวัฒนธรรม นิวัติ กองเพียร รับเป็นผู้ประสานสารทุกข์สุขดิบด้วยเดิมพันหมดหน้าตัก เท่าไหร่เท่ากัน ถึงไหนถึงกันขอลุงแจ๋วคืนมา
คำตอบคือ ขอบใจ ไม่รบกวนอะไรใครทั้งสิ้น
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับเป็นคนไข้ในพระบรมราชินูปถัมภ์แล้ว
โอ้...อาพาธยิ่งยามพยัคฆ์ ป่วยไข้

ความตายเป็นรายจ่ายก้อนสุดท้ายของการเกิดมามีชีวิตก็จริง
แต่มันก็เป็นบำเหน็จก้อนใหญ่ก้อนสุดท้ายของชีวิตด้วย
หลับอยู่ในความรักและความชื่น ชั่ววันและคืนเช่นนี้
กลิ่นดอกไม้รัญจวน ยังอบอวลยวนยี สุดที่จะพรรณนา
วิมานน้อยลอยริมฝั่ง...
ความรักและความสดชื่นจงเป็นของลุงแจ๋วนิรันดร
วันที่ลุงแจ๋วจากไป
ขาวจำปี จำปาเหลืองอ่อน ระดะซ้อนแทรกใบสะพรั่งปลายยอดเต็มต้น ทุกช่อช้อยค้อมคารวะ
ร้อยจำปีสีขาวเคล้าจำปา
ลูกประจงจัดมาบูชาครู...

โดยขรรค์ชัย บุนปาน จากคอลัมน์ "เบาบ้าง หนักบ้าง"
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๒




ครั้งหนึ่งแห่งความทรงจำของ "ครูแจ๋ว" สง่า อารัมภีร์

"แม้ตัวจะจากไปแต่ใจยังคิดถึง"

นี่คือคำกล่าวของบุคคลที่ได้ใกล้ชิดกับเขา ครูแจ๋ว สง่า อารัมภีร์ ผู้เขียนก็เช่นกัน เคยได้พบได้พูดคุยกับครูแจ๋ว แม้ไม่มากแต่ก็มีความรู้สึกชื่นชอบในตัวท่าน ครูแจ๋วมีเสน่ห์ในตัวเองไม่เฉพาะผู้เขียน บุคคลหลายวัยทั้งรุ่นพี่รุ่นน้องจนมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ถ้าได้อยู่ใกล้ชิดท่านจะรู้สึกชื่นชอบในตัวท่าน ท่านไม่ใช่เป็นคนช่างพูด ทุกครั้งที่เห็นท่านจะเห็นท่างเงียบ คอยรับฟังการสนทนาของคนอื่น ใครถามอะไรก็ตอบเป็นประโยคๆไป บุคลิกนี้ผู้เขียนเคยสงสัยว่าเป็นบุคลิกประจำตัวของท่านมาตั้งแต่หนุ่ม ๆ หรือ จนกระทั่งไปพบคำตอบจากหนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ แก้ว อัจฉริยะกุล(แก้วฟ้า) ที่แก้วฟ้าได้ถามครูแจ๋วว่าเปลี่ยนแปลงไปมาก ดื่มเหล้าแล้วไม่คุยเลย คำตอบของครูแจ๋วก็คือ สังคมปัจจุบันมันวุ่นวายเหลือกำลังจนปรับตัวไม่ทัน ผมจึงนิ่งเฉยเสีย ทำใจให้สงบ เอาอย่างแม่น้ำเจ้าพระยา ใครจะ...(ถ่ายหนัก) จะ...(ถ่ายเบา)ทิ้งลงลำน้ำก็ทนได้ ผู้เขียนจึงทราบว่าทำไมครูแจ๋วจึงพูดน้อย

มีหลายเรื่องในชีวิตครูแจ๋วที่น่าสนใจ ครูแจ๋วนี้เป็นเสมือนสื่อกลางของเพื่อนฝูงมาตั้งแต่ครั้งยังหนุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดเพื่อน ๆ ก็จะนึกถึงเขาเสมอ อย่างเมื่อครั้งหนึ่งสมัยหนุ่ม ๆ คอเหล้าที่ประกอบไปด้วย ครูดาบ มงคล จันทนบุปผา, แก้ว อัจฉรยะกุล, ส. อาสนจินดา และสง่า อารัมภีร์ ทุกท่านดื่มเหล้ากันจนได้ที่ เที่ยงคืนกว่า ครูแจ๋วนั่งรถสามล้อถีบกลับก่อน ต่อมาก็ป๋า ส. เหลือแต่แก้วฟ้ากับครูดาบ ทั้งคู่ดันนึกอยากจะแสดงละครก็เลยจะเอาแบบอย่างหนังเรื่อง เพื่อนยาก ที่มี โทนี่ เคอร์ติส กับ ซิดนี่ย์ ปอยเตียร์ แสดงนำ โดยการเอากุญแจมือที่ครูดาบเตรียมมาใส่ข้อมือแก้วฟ้าและข้อมือตนเอง แรกๆก็สนุกดีแต่พอนึกขึ้นได้ว่าไม่มีกุญแจไขก็เริ่มหน้าเสียกัน นึกได้ว่าก็ไปโรงพักให้ตำรวจเอาออกให้ พอไปโรงพักตำรวจดันไม่รู้จักคนทั้งคู่ และคิดว่าทั้งคู่คือผู้ร้ายหนีตำรวจมาเลยจับเข้าห้องขัง ทั้งสองนึกถึงครูแจ๋วในทันทีพร้อมกัน จึงให้คนบนโรงพักติดต่อครูแจ๋วให้ แล้วก็เป็นจริง พอครูแจ๋วมาถึงรู้จักกับตำรวจที่เป็นเพื่อนให้ช่วยเคลียให้ เรื่องจึงจบ นี่คือส่วนหนึ่งในชีวิตครูแจ๋ว

ไม่แค่นี้ แม้แต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ยังอยากจะเป็นมิตรกับครูแจ๋ว อย่างเรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้ คือเรื่องที่มาแห่งเพลง น้ำตาแสงไต้ ในหนังและละคร พันท้ายนรสิงห์ เรื่องนี้เกิดเมื่อราวเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๘ ตอนนั้น คณะศิวารมณ์กำลังเตรียมที่จะทำละครเรื่อง พันท้ายนรสิงห์ โดยมีโปรแกรมจะแสดงในวันที่ ๑o พฤศจิกายน ๒๔๘๘ ที่ศาลาเฉลิมกรุง มีการซ้อมกันตั้งแต่เช้าถึงเย็น ครูเนรมิต กับ ครูมารุต ช่วยกันกำกับบท สรสิทธิ์ สัตยวงศ เล่นเป็น พันท้ายนรสิงห์ จอก ดอกจันทร เล่นเป็น พระเจ้าเสือ ผู้รับหน้าที่แต่งเพลงให้กับ คณะศิวารมย์ ตอนนั้นคือ ประกิจ วาทยกร และ โพธิ์ ชูประดิษฐ์ เวลานั้นแจ๋วยังเป็นเพียงนักดนตรีใหม่อยู่ อีก ๕ วันจะเปิดการแสดง เพลงในละครที่สำคัญคือเพลงน้ำตาแสงไต้ ยังทำทำนองไม่เสร็จ นักแต่งเพลงทั้งสองท่านแต่งมาก็ใช้ไม่ได้ ทุกคนในคณะเครียดมากในเวลานั้น พ้นไปอีกวัน เย็นวันต่อมาครูแจ๋วได้พบกับ ทองอิน บุณยเสน ก็ไปนั่งดื่มเหล้าจนได้ที่ก็เมาหลับที่ชั้นใต้ดินของศาลาเฉลิมกรุง ครูแจ๋วฝันไปว่าที่โรงเล็กของเฉลิมกรุงอันเป็นที่ตั้งของเปียโน มีชาย ๓ หญิง ๑ แต่งกายด้วยชุดโบราณ แม้ว่าครูแจ๋วจะเดินไปใกล้เปียโนก็ไม่มีใครเห็น ทุกท่านจะขมักเขม้นในการซ้อม มีการนำเอาเพลงเขมรไทรโยคมาบรรเลง ต่อด้วยเพลงลาวครวญ แล้วก็ได้มีการเอาเพลงทั้งสองมารวมกัน ทั้งหวานเย็นและเศร้าสร้อย ครูแจ๋วมาสะดุ้งตื่นเอาตอนเช้า ถูกทีมงานบ่นเอาว่าทุกคนกำลังกลุ้มกับเพลงน้ำตาแสงไต้อยู่ พอบ่าย ๓ โมง เหลือ ครูแจ๋ว ครูเนรมิต ครูมารุต สุรสิทธิ์ และครูแจ๋ว ทุกคนกำลังกลุ้มเพราะเหลืออีก ๓ วัน ครูแจ๋วไม่รู้จะทำอะไรก็เลยเล่นเปียโน แต่ไม่ทราบว่ามนต์อันใดที่ทำให้นิ้วของครูแจ๋วเล่นเพลงในฝันนั้นออกมา ครูเนรมิต เป็นคนแรกที่ถามว่าเล่นเพลงอะไร และ ครูมารุต ก็ตอบว่า นี่แหละเพลงน้ำตาแสงไต้ และเริ่มทำการจดโน้ต ครูมารุต ขึ้น "นวลเจ้าพี่เอย..." ครูเนรมิต ต่อ..."คำน้องเอ่ยล้ำคร่ำครวญ..." จนกระทั่งได้เป็นเพลง "น้ำตาแสงไต้" นี่คือที่มาของเพลงที่เกิดจากวิญญาณโดยแท้จริง เรื่องราวนี้ได้ข้อมูลมาจากหนังสือหนังสืองานศพครูแจ๋ว คิดดูขนาดวิญญาณยังอยากเป็นเพื่อนครูแจ๋ว ที่ผู้เขียนเขียนถึงเพราะคิดถึงครู ยังมีอีกหลายเรื่องที่ครูเคยเล่าให้ฟัง ถ้ามีโอกาสจะนำมาเสนอให้ผู้อ่านอีกวันหน้า

โดย ชัยโรจน์ บ่อเหม จากคอลัมน์ "บันเทิงเรื่องอดีต" หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ





รำลึกถึงครูสง่า อารัมภีร์ ปูชนียบุคคลวงการเพลงไทย


ค่ำคืนที่ฝนพร่างพรม กลับจากงานสวดอภิธรรมศพบำเพ็ญกุศล ครูแจ๋ว สง่า อารัมภีร์ ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม นั่งอยู่ในห้อง ปิดไฟมืดสนิท จุดเทียน แสงนวลริบหรี่ น้ำตาเทียนย้อยลงทีละหยดเหมือนคร่ำครวญ เพ่งมองแผ่นซีดีงานบรรเลงเดี่ยวไวโอลินของครูแนบ โสตถิพันธุ์ ตั้งโปรแกรมเปิดเพลง "น้ำตาแสงไต้" ให้หมุนเวียนซ้ำ ๆ ศิลปะการประพันธ์ดนตรีอันเพียบพร้อมสุดยอดในแง่ความงาม พลิ้ว เศร้า ล้วงโหยลึก ถวิลหาในอารมณ์คนฟังอย่างถึงก้นบึ้ง บรรเลงผ่านเสียงไวโอลินและเสียงเปียโน คลอประสานกังวาน ช่างครบถ้วนสมบูรณ์แบบ

น้ำตาฟ้าเหมือนจะราดรดลงสู่หัวใจของคนที่รักสุนทรียะของบทเพลงที่ไพเราะ ตราตรึงอยู่ในหัวใจคนไทยมาตลอดระยะเวลาเกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

ครูแจ๋ว สง่า อารัมภีร์ ได้เสียชีวิตลงเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และนำศพบรรจุเก็บไว้ ๑oo วัน เพื่อรอพระราชทานเพลิงในช่วงเดือนกันยายนปีนี้

วันเวลาที่ล่วงเลย อายุขัยที่มากขึ้น เป็นธรรมดาแห่งการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่หนีไม่พ้น

ผลงานที่รังสรรค์แต่งแต้มท่วงทำนองลีลาดนตรีอันละเมียดละไม แผ่วหวานก็ยังจำหลักจารึกไม่มีวันสิ้นเสียง ขับกล่อมโสตประสาทของคนฟังให้เคลิบเคลิ้มอยู่ในภวังค์สุขตราบชั่วกาลนาน ถึงตัวตายแต่ผลงานที่ทรงคุณค่ายังคงอยู่ ไม่มีวันหายไปหรือสูญสิ้น

"เรือนแพ" คือบทเพลงอีกชิ้นที่อยู่ในชั้นงานชั้นเยี่ยม (มาสเตอร์พีซ) ที่ยังก้องกังวานอยู่ทุกยุคสมัย ถึงแม่น้ำจะบอบช้ำถูกทำร้ายจนช้ำชอกหม่นหมอง เมื่อได้ฟังเพลงนี้ก็ได้กลิ่น ตกอยู่ในห้วงจินตทัศน์ของความสดชื่น แม่น้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คน ตำนานความรักของหนุ่มสาวในยุคที่แม่พระคงคายังแย้มยิ้มไม่บึ้งตึง โชยพลิ้วด้วยสายลมเย็นพัดพาหัวใจให้รื่นรมย์

ก็ยังเสียดายอยู่ไม่หายที่ครูแจ๋วมีโครงการจะแต่งเพลงเกี่ยวกับแม่น้ำทั่วเมืองไทยมารวบรวมเป็นอัลบั้ม โดยใช้คนเขียนเนื้อเพลงซึ่งเป็นเพื่อนซี้ร่วมยุค สุรพล โทณะวิณิก กับ ครูชาลี อินทรวิจิตร แต่เขียนเสร็จแค่เพลงเดียวคือ "แม่น้ำลพบุรี" ก็ไม่ได้สานต่อความฝันให้จบ ไม่เช่นนั้น คนไทยคงมีอัลบั้มที่เยี่ยมยอดเปี่ยมอรรถรสทางดนตรีขึ้นมาอีกหนึ่งชิ้น

คุณูปการที่ครูแจ๋วทำมาตลอดชีวิตได้สร้างความสุข รอยยิ้มแก่คนฟังเพลงมาทุกยุคทุกสมัย งานเพลงที่เป็นอมตะนับร้อย ๆ บทเพลงจากจำนวนกว่าสองพันเพลง ที่คนไทยสามารถร้องตามได้อย่างสบาย หากไม่นับเป็นปูชนียบุคคลก็ดูกระไรอยู่ แค่ศิลปินแห่งชาติยังน้อยไป

เพราะอะไร? สิ่งหนึ่งซึ่งคิดว่ายังค้างคาใจครูแจ๋วอยู่จนกระทั่งวันตาย หรือสืบทอดสู่ทายาทลูกหลาน คือลิขสิทธิ์งานเพลงชั้นยอดที่อยู่ในมือบริษัทแผ่นเสียงแห่งหนึ่งมาสิบกว่าปีแล้ว โดยการเซ็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ถึงขณะนี้การเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ยังมีอยู่ไม่สิ้นสุด โดยที่ครูแจ๋วและทายาทได้รับส่วนแบ่งแค่ ๕o % การดูแลลิขสิทธิ์ในทำนองนี้เปรียบเสมือนการทำนาบนหลังคน เคยมีการขอซื้อลิขสิทธิ์เพลงกลับคืน แต่ถูกโก่งราคาให้สูงลิบ จากราคาเดิมที่ขายไป ๑,ooo,ooo บาทเป็นสิบ ๆ เท่าจนต้องถอยกลับ

มันเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ทำไมเรายกย่องเชิดชูคนๆหนึ่งด้วยเห็นในความดีความงาม และงานชั้นยอดที่เขาได้ถ่ายทอดรังสรรค์สู่โลกใบนี้ แต่ในทางปฏิบัติกลับเป็นอีกอย่าง ปากปราศรัยน้ำใจเชือดคอ ทางสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) และกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็นิ่งเฉย เป็นได้เพียงเสือกระดาษนั่งมองเหตุการณ์ที่บังเกิดอย่างเยือกเย็น ปล่อยให้มันเป็นไป

ลองกลับไปอ่านคอลัมน์ "พ่อกับเพลง" ที่ บูรพา อารัมภีร์ เขียนถึงการแต่งเพลงของพ่อในแต่ละเพลงที่เขาได้สมัผัส และพ่อเล่าให้ฟังในนิตยสารสกุลไทย เพลงที่แต่งขึ้นมาแต่ละเพลงมันกลั่นมาจากประสบการณ์ วิญญาณ เลือดเนื้อและน้ำตา

เพราะฉะนั้น ลิขสิทธิ์เพลงต้องกลับมาเป็นของครูสง่า อารัมภีร์และทายาท เพื่อความชอบธรรมแห่งความเป็นมนุษย์ ต้องสำเหนียกกันเสียทีกับการทำอะไรที่ไร้ยางอาย แล้วให้สังคมดูถูกดูหมิ่นเหยียดหยามสำหรับบริษัทเพลงที่เอาเปรียบศิลปินทั้งหลาย

โดย พอล เฮง จากคอลัมน์ "อันดนตรีมีคุณ" ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน





ผมรื้อตู้หนังสือเพื่อค้นหาหนังสือเล่มหนึ่งมาอ่านดูอีกครั้ง หนังสือเล่มนั้นคือ "รวมเพลงเอกของ สง่า อารัมภีร์" ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาสน์ เมื่อปี ๒๕๑๑ สมัยที่สำนักพิมพ์ยังตั้งอยู่ที่เวิ้งนครเขษม และราคาหนังสือในตอนนั้นก็เพียง ๓๕ บาทเท่านั้นเอง

ผมซื้อหนังสือเล่มนี้ที่ร้านแบกะดินแถวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิในค่ำคืนหนึ่ง จำได้ว่ากำลังจะไปขึ้นรถกลับบ้าน แต่พอดีเห็นมีร้านหนังสืออยู่ที่นั่นจึงถือโอกาสแวะดู และบังเอิญเหลือเกินที่เห็นหนังสือเล่มนี้วางอยู่ จึงควักเงินซื้ออย่างทันทีทันใดแต่ก็จำไม่ได้แล้วว่าซื้อมาเท่าไหร่

ในหนังสือเล่มนี้ นอกจากจะรวบรวมบทเพลงที่ครูแจ๋วแต่งคำร้องและทำนองไว้มากมายหลายเพลงแล้ว บางเพลงยังมีโน๊ตเพลงอีกด้วย โดยบทเพลงเหล่านั้นจะแบ่งหมวดตามที่นักร้องแต่ละคนที่นำไปร้อง ซึ่งเท่าที่ดูแล้ว ก็ล้วนแล้วแต่เป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น สุเทพ วงศ์กำแหง, ชรินทร์ นันทนาคร, จินตนา สุขสถิตย์, ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา, รวงทอง ทองลั่นทม, เพ็ญศรี พุ่มชูศรี, ธานินทร์ อินทรเทพ, นริศ อารีย์, ชาญ เย็นแข...และในจำนวนนี้ก็ยังมีนักแสดงบางคนด้วย เช่น พิศมัย วิไลศักดิ์, สุพรรณ บูรณพิมพ์, สุริสิทธิ์ สัตยวงศ์...ซึ่งมีเพลงเป็นจำนวนมากที่กลายเป็นเพลงอมตะ และยังเป็นที่ชื่นชอบของนักฟังเพลงมาจนถึงทุกวันนี้

สำหรับเพลง "น้ำตาแสงไต้" นั้น ครูแจ๋วเขียนเอาไว้ว่า...เราประพันธ์คำร้องกันเดี๋ยวนั้น ในราว ๑o นาทีเท่านั้นเอง สุดท้ายเพลงก็ทันละครแสดง

และนี่คือความยิ่งใหญ่ของ "สง่า อารัมภีร์" ผู้สร้างสรรค์เสียงเพลงให้กับแผ่นดิน

โดยนิรันดร์ศักดิ์ บุญจันทร์ จากบทบรรณาธิการหนังสือจุดประกายวรรณกรรม


บีจีจากคุณยายกุ๊กไก่ ไลน์จากคุณญามี่

Free TextEditor





 

Create Date : 21 ธันวาคม 2548    
Last Update : 29 กุมภาพันธ์ 2555 21:52:59 น.
Counter : 4182 Pageviews.  

ภาพแห่งความหลัง



โล่และเข็มเชิดชูเกียรติ "ศิลปินแห่งชาติ" ปี ๒๕๓๑ ของครูสง่า อารัมภีร์






กับศรีภรรยาและทายาททั้ง ๔ คน




ลูกชายคนโต บูรพา อารัมภีร์




ชีวิตคืองาน งานคือชีวิต ณ บ้านพัก




บ้านพัก คลังสมอง โต๊ะทำงาน




ส่วนหนึ่งของรางวัลเกียรติยศ




ครูแจ๋วกับงานดนตรีและผู้เป็นกัลยาณมิตรในแวดวงศิลปะการแสดงดนตรี






กับพระองค์ชายใหญ่




เพลงรักครูสมาน เพลงหวานครูสง่า








บีจีจากคุณยายกุ๊กไก่ ไลน์จากคุณญามี่

Free TextEditor





 

Create Date : 16 ธันวาคม 2548    
Last Update : 29 กุมภาพันธ์ 2555 21:50:32 น.
Counter : 5499 Pageviews.  

ผลงานเพลง

เนื้อเพลงจากหนังสือ "คอนเสิร์ตเชิดชูครูเพลงครั้งที่ ๓" และ "เบื้องหลังเพลงรัก" เรียงลำดับตามตัวอักษร

กล่อมนางนอน (จังหวะวอลท์ซ-แทงโก้)

สายสมรนอนเถิดพี่จะกล่อม
เจ้างามจริงพริ้งพร้อมดังเลขา
นวลละอองผ่องพักตร์โสภา
ดังจันทราทรงกลดหมดมลทิน

งามเนตรดังเนตรมฤคมาศ
งามขนงวงวาดดังคันศิลป์
อรชรอ้อนแอ้นดังกินริน
หวังถวิลมิได้เว้นวายเอย





กัลปังหา (จังหวะโบเลโร่)

กัลปังหา ชลดาคือมาตาปิตุภูมิ
เติบโตเต่งตูม อยู่ใต้ร่มหาชลาลัย
ถึงม้วยดินสิน้ฟ้ามหาสมุทร
กัลปังหายังคงพิสุทธิ์ผุดผ่องอำไพ
ความรักเท่านั้นจะดั้นด้นไป
พบเจ้าได้ประทับใจประดับวิญญาณ

กัลปังหา เจ้านั้นเกิดมาด้วยฟ้าประทาน
ชลดาสายธาร คือสายลำธารแห่งรักสลักใจ
หนึ่งในดวงใจข้านั้นคือกับปังหา
เจ้าคือขวัญชีวาที่ฟ้ามอบให้
ถึงสิ้นแสงสุรีย์ฉาย
ชลาลัยเหือดแห้งไป
แต่ใจภักดิ์ก็ไม่เปลี่ยนไป
ไม่เปลี่ยนไปจากกัลปังหา





กุลสตรี (จังหวะสโลว์)

มองดูดอกไม้วิไลชูช่อชวนชื่น
พริ้วลมระรื่นฉันชมฉันชื่นบุปผา
ฉันมองดอกไม้ฉันรักดอกไม้เหลือคณา
จึงรู้ว่าดอกไม้เกิดมาเพื่อความดี
รวยรินกลิ่นหอมพยอม ชงโค ยี่สุ่น
แพ้ความหอมกรุ่นของคุณสมบัติสตรี
ฉันมองบุปผาฉันรักบุปผารักมาลี
รักเหมือนสตรีรักคุณความดีของตน

นารีมีความสวยสามประการ
สวยน้ำคำร่ำกล่าวขานหวานกับทุกคน
สวยน้ำใจใสเย็นเช่นหยาดฝน
สวยน้ำมือคือน้ำมนต์รู้จักปรนนิบัติทั่วไป
อันกุลสตรีเหมือนดวงมณีมีค่า
สวยเอยสวยกว่าหอมเอยหอมกว่ามวลไม้
ฉันรักบุปผาฉันนำบุปผามาร้อยมาลัย
ให้ทุกสตรีหอมคุณความดีมีความสุขเอย




เกล็ดแก้ว (จังหวะวอลท์ซ)

เกล็ดเอ๋ย เกล็ดแก้ว คำรักแว่วเกล็ดแล้วแรมรา
ทะเลรายกลายเป็นน้ำตา ฝั่งคงคาร้างราดังป่าไพร
ยามเมื่อน้ำทะเลล้นฝั่ง กระซิบสั่งว่าสุดอาลัย
เมื่อน้ำลดแห้งไป เจ้าเปลี่ยนใจไม่เห็นเช่นวารี
เคยชี้ชวนชมคลื่น ครั่นครื้นทั่วพื้นนที
เคยชมเสียงลมเสียดสี เคล้าเสียงเพลงที่เธอร้อง
ชั่วนิจนิรันดร ริมชะง่อนโขดขอนเคยปอง
ลมสงัดหยุดพัดลำพอง คลื่นหยุดคึกคะนอง
หมู่นกทะเลหยุดร้อง ด้วยปองอิจฉาสองเรา
เกล็ดแก้ววับวาวกว่าดาว เหตใดเล่าเจ้าร้างพี่ไป





ของเธอคนเดียว (จังหวะสโลว์)

ชีวิตพี่เป็นของเธอคนเดียว
ของเธอคนเดียวทั้งวิญญาณและร่าง
พี่รักภักดีจริงๆ เกียรติลูกผู้หญิงทุกอย่าง
พี่จะเทิดกลางหว่างดวงใจ

ชีวิตพี่เป็นของเธอคนเดียว
ของเธอคนเดียวทุกๆชาติไป
พี่รักเธอนิรันดร์ ไม่มีคลายคลอนถอนใจ
รักพี่แทรกไปทั่วท้องนภา

รักกระซิบอยู่ในสายน้ำ
รักหวานฉ่ำกับมวลบปผา
รักลิ่วลอยตามลมจูบไล้กายา
นั่นคือสัญญาพี่รักน้องนาง

ชีวิตพี่เป็นของเธอคนเดียว
ของเธอคนเดียวทั้งวิญญาณและร่าง
พี่รักภักดีต่อเธอ รักมั่นเสมอทั่วสรรพางค์
ไม่มีอำพรางของเธอคนเดียว





คืนหนึ่ง (จังหวะสโลว์)

คืนหนึ่งยังซึ้ง ตรึงใจ ตรึงใจเรา
ฉันยังเฝ้าอิงแนบแอบอกอุ่น
ลมโชยโปรยกลิ่นผกากรุ่น
รุ่งอรุณ เริ่มรางสว่างฟ้า
ฉันบอกสมัคร ขอรักชั่วชีวา
ขอเตือนเธออย่าลืมวาจา
ที่เคยสัญญากันไว้ในคืนนั้น





ความรัก (จังหวะสโลว์)

(ญ) ความเอ๋ยความรัก
เริ่มสมัครชั้นต้น ณ หนไหน
เริ่มเพาะเหมาะกลาง หว่างหัวใจ
หรือเริ่มในสมอง ตรองจงดี
แรกจะเกิดเป็นไฉนใครรู้บ้าง
อย่างอำพรางตอบสำนวน ให้ควรที่
ใครถนอม กล่อมเกลี้ยงเลี้ยงระตี
ผู้ใดมีคำตอบ ขอบใจเอย

(ช) ตอบเอ๋ย ตอบถ้อย
เกิดเมื่อเห็นน้องน้อย อย่าสงสัย
ตาประสบตารักสมัครไซ้ร
เหมือนหนึ่งให้อาหาร สำราญครัน
แต่ถ้าแม้สายใจไม่สมัคร
เหมือนฆ่ารักเสียแต่เกิด ย่อมอาสัญ
ได้แต่ชวนเพื่อนยา มาพร้อมกัน
ร้องรำพันสงสารรัก หนักหนาเอย





งอนจนเกินงาม (จังหวะวอลท์ซ)

งอนจนเกินงาม แล้วยังไม่กลับใจ
มองนานๆไป สวยสิ้น เพราะความงอน
คนเราจะสวย และงามอย่างแน่นอน
ใช่เพราะงอน อยู่ที่ใจ และไมตรี

งอนจนเกินไป แล้วยังทำอวดดี
รวยๆไปซิ หญิงอื่นเขาคงมีใจ
คนจนนี่หนา ช้ำอุรา เรื่อยไป
พูดครั้งใด เจ็บหัวใจ สาปจนตาย





จำปาทอง (จังหวะวอลท์ซ)

ญ. โอ้จำปาทอง น้องงามจนดวงเดือนอาย
งามพรรณรายสวยเกินมิ่งไม้สวรรค์
งามลึกซึ้งพร้อมคุณธรรมอนันต์
จำปาทองเจ้าเฉิดฉันแม้กระทั่งเงา

ช. จำปาทองน้องเจ้าพี่เอย พี่รักเธอเคยรู้หรือเปล่า
คอยเวลาจนปวดร้าวใจ คอบบอกกับเจ้าว่ารักเหลือเกิน
จะกินจะนอน ร้าวรอนเพราะกลัวเจ้าจะเมิน
กรุณาอย่าให้เนิ่นนาน พี่รักเหลือเกินน้องจงเห็นใจ

จำปาทองน้องโปรดเมตตา พี่รักเธอเหลือ
คณานับได้ ดูนัยน์ตาของพี่เป็นไร
จะบอกเจ้าได้วา่ รัก รักจริง
อย่าเมินยอดรัก สายตาเจ้าประจักษ์ทุกสิ่ง
เจ้าก็รักเจ้าจริง อย่าอาย นิ่งๆให้พีรับขวัญที่แก้มเอย





ชีวิตฉันขาดเธอไม่ได้ (จัวหวะวอลท์ซ)

สุขใดจะเสมอ เท่าฉันมีเธอ เป็นยอดดวงใจ
เคลียคลอ อยู่ทุกวันไป เหมือนทิวาคู่ราตรี
ดังแผ่นน้ำ คู่ฟ้า ไปตลอดปี
รักมั่นภักดี เหมือนปลารัก ท้องนทีธรา

หากชีวิตของฉัน ถ้าแม้นขาดเธอ คงหมดจิตใจ
คงครวญ คร่ำหวนอาลัย เหมือนคนที่ไร้วิญญาณ
เธอได้ฟัง ฟังฉัน รำพันกล่าวขาน
จงได้สงสาร เห็นใจในรัก ที่ภักดี

(ฮัม)..................

สุขใดจะเสมอ เท่าฉันมีเธอ เป็นคู่ดวงใจ
เคลียคลอ อยู่ทุกวันไป เหมือนทิวาคู่ราตรี
ดังแผ่นน้ำ คู่ฟ้า ไปตลอดปี
รักเธอ เท่าชีวี ดังปลารักน้ำ นิรันดร....





ชบาไพร (จังหวะโบเลโร่)

ชบาไพร สวยเกินไม้ในพนา
สีงามซาบซึ้งนัยนา
เจ้างามเหนือไม้ป่าที่สูงค่าทั่วไป
เปรียบกุลสตรี ผิวพรรณผู้ดีมีถมไป
สรรค์หาคนทีมีน้ำใจ
ช่างหายากกระไรเหมือนชบาไพรเรืองรอง

รอยยิ้มติดตา
วงหน้าติดตรึงงามเป็นหนี่งไม่มีสอง
ทั้งเดือนและดาวมาเปรียบก็แพ้เป็นรอง
งามหยาดฟ้ามาต้องดังทองน้องงามกรีดใจชายให้เศร้า

ชบาไพร
สวยงามจับใจกระทั้งเงา
รักชบาจนล้นทรวงเรา
แต่บุญครั้งก่อนเก่ามีไม่ถึงจึงตรม





ชะตารัก (จังหวะสโลว์)

มองดูบุปผานานาพรรณราย
ต้องสายลมโชยเอียงอายดั่งหญิงถูกชายเกี้ยวพา
สะเทิ้นเมินเหนียมเบือนเหมือนว่า
ลมเอ๋ยพริ้วพารักมาหรือลวงให้ข้าช้ำใจ

รำพึงได้คิดเมื่อมองมาลี
เปรียบคล้ายพวงเราสตรีแรกบานตระการสดใส
แม้คืนและวันผันไป
ความรักและความไฉไลก็คงจะร่วงโรยรา

นึกถึงตัวเรา
กรรมคงเข้าขีดโชคชะตา
รักเราจึงเกินไขว่คว้า
อนิจจาเจ้าลอยไปไม่คืนหลัง

จำทนเมื่อคิดคำนึงคราใด
ชาตินี้คงไม่เป็นไปดั่งใจจิตเราเฝ้าหวัง
รักจีงเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง
คงเหลือไว้เพียงความหลังให้เราระทมเอย...





เชลยศักดิ์

จะว่าบุญว่าบาป ใครหนอสาปให้พี่
ภักดีน้องแทบขาดใจ พี่เป็นทาษเจ้าแล้วนะ
ไม่แคล้วครวญใคร่ เปี่ยมปองรักแค่ไหน
ดวงใจอย่าหวาด ใฝ่ถึงเพียงหนึ่งนาง
ไม่ร้างแรมสวาท ชาตินี้ทั้งชาติ ขอยอมเป็นทาษนงเยาว์

สาวเอย พี่เป็นเชลยของเจ้า ไฟรักรุมเร้า (ฮัม)
ชุนเขายังกร่อน ทะเลแม้เป็นดอน
แต่พี่รักไม่คลอนหาย ไม่รู้วันสลายหน่ายหนี
รักพี่สุดเปรย เป็นชะเลยรักจนวันตาย





ซ่อนรัก (จัวหวะสโลว์)

โอ้ความรักที่ซ่อนในดวงจิต
ตามเฝ้าสะกิดให้เราระทมอุรา
วันคืนล่วงไป ใจยิ่งใฝ่หา
อยากพบและเห็นหน้าทุกเวลาจนหมองไหม้

สุดจะรั้งใจซ่อนรักอยู่
จึงเตือนให้โลกรู้ล่องลอยตามสายลมไป
แม้เธอได้ยิน รักรินจากใจ
โปรดยิ้มนิดพอให้ความหมองไหม้พี่คลาย

ถึงจะมีแหวนแทนต่างหน้า
เพียงแค่เตือนสัญญาไม่เหมือนน้องเคียงกาย
ไม่เหมือนน้องเคียงกาย
พี่จึงช้ำใจไม่วายเมื่อไหร่หนอจะได้พบกัน

โอ้หนอกระไรสายสวาท
หัวใจพี่แทบขาดด้วยคิดถึงยอดชีวัน
ตัวพี่พร่ำเพ้อเฝ้าเหม่อรำพัน
ด้วยความรักเธอนั้นซ่อนไม่ไหวแล้วเอย





ดวงใจ (จังหวะสโลว์-โบเลโร่)

ดวงใจ... ทุกคนมีสิทธิ์จะรักกันได้
ถึงอยู่ห่างไกล ก็ยังส่งใจไปถึง
อ้อมแขนของฉัน คอยสัมพันธ์รักอันตราตรึง
คอยวันสุดซึ้ง จากดวงใจที่จริงจังมั่นคง

เธอเป็นคนต่างแดน แต่แนบแน่นด้วยไมตรีสูงส่ง
มีใจรักมั่นคง(ฮัม) ไม่มีผู้ใดเสมอ
เธอเป็นความสว่าง พร่างดังเพชรประกายเลิศเลอ
ฉันได้จุมพิตจากเธอ ฉันภูมิใจและสุขใจทุกคืนวัน...





ดาวเรือง (จังหวะสโลว์)

ดาวเรืองเจ้าเอ๋ย ฟังน้ำคำพี่เอ่ยสักหน
ฟังว่าคำคนจน พูดออกจากดวงกมล ว่ารักจริง จริงแค่ไหน
ดาวเรืองคนสวย บุญสองเรานั้นช่วยดลใจ
เราต่างคนต่างอยู่ไกล บุญช่วยดลบันดาลให ้อยู่ใกล้เสียใจตรงกัน

รักดาวยิ่งชีวี จิตใจพี่นี้สยบจำนรรจ์
ใจพี่เต้นทุกวัน เฝ้าครวญรำพันว่า รักดาวเรืองเหลือคณา
ดาวเรืองยอดรัก ดาวน้องจงประจักษวาจา
ดาวจะถือเป็นสัญญา พี่ได้ยอมมอบชีวา อยู่ใต้บัญชาทุกนาที





ดาวประดับใจ (จังหวะวอลท์ซ)

ชีวิตฉัน ศรัทธาฉัน รุ่งเรืองเพราะคุณ
แม่ยอดรัก เฝ้าการุณ ร่วมสร้าง
ชีวิตจึง เดินไป ตรงทาง
ไม่อ้างว้าง เพราะเธอเป็น "ดาวประดับใจ"

ชีวิตเรา ที่จีรัง เพราะสัจจะ
ต่างมานะ พยายาม ให้อภัย
จะมีน้อย ก็แบ่งปัน กันได้
เพราะสองเรา จริงใจ ไม่จึดจาง

ชีวิตฉัน ศรัทธาฉัน รุ่งเรืองเพราะคุณ
แม่ยอดรัก เฝ้าการุณ ร่วมสร้าง
เรารักกัน เรารักกัน ไม่อำพราง
ไม่อ้างว้าง เพราะเธอเป็น "ดาวประดับใจ"...





ดาวประกาย (จังหวะแมมโบ้)
ดาวประกายวับวาวพราวพร่าง ทรงสอางค์ไฉไลบนท้องนภา
ดาวประกายนั้นคือดวงตา สวรรค์ส่องมาให้ศรัทธารักมั่นเรื่อยไป

ดาวประกายสายใจของพี่ ดาวคนดีหนีมาจากฟ้าหรือไร
ดาวประกายถึงกำดวงใจ ของพี่สยบในอุ้งมือเธอทุกคืนวัน

โอ้ละเนอ โอ้ละหนอดาวเอย
โอ้ละหนอตั้งแต่เกิดมา ไม่เคยพบใครลาวัลย์

ดาวประกาย ดวงนี้เท่านั้น
ที่งามเฉิดฉันท์ ใครเห็นงงงันอัดอั้นอุรา

ดาวประกายสายใจของพี่ จงปรานีมองพี่ให้ซึ้งวิญญา
ดาวประกายน้องจงหันมา ให้พี่สบตาเพื่อเป็นสัญญาแห่งใจ





ดวงชีวัน (จัวหวะวอลท์ซ)

ดวงชีวันคือพระจันทร์ขวัญใจโลก
ดวงชีวันนั้นคือโชคนำชีพฉัน
ดวงชีวันคือสร้อยทองคล้องรักมั่น
ดวงชีวันฉันรักเธอยิ่งดวงใจ

ฉันรักเธอยิ่งกว่าดินถวิลฟ้า
ฉันรักเธอยิ่งกว่าปลารักธาราใส
ฉันรักเธอซึ่อต่อเธอจนสุดใจ
ฉันรักเธอทุกชาติไปดวงชีวัน





ถ่านไฟเก่า (จัวหวะสโลว์)

หญิงชายทุกคนไม่อาจลืมรักครั้งแรก
เพราะรักนั้นแทรกเข้าวิญญาณซึมทั่ว
พอสบตาใจสั่น ดวงจิดพลันระรัว
เหมือนมนต์สะกดทั่วสรรพางค์

เห็นเพียงแว๊บเดียวซ่านเสียวสะท้านความเก่า
คิดไปใจเศร้ากลับเสียดายไม่สร่าง
จำติดตารอยจูบ จำติดใจเนื้อนาง
ยังหอมไม่จางจับขั้วหัวใจ

ถ่านไฟเก่าคุกรุ่น
จิตใจวุ่นเรื่อยไป
หวัวว่าคุณคงเห็นใจ
ซึมซาบอยู่ในทรวงดี

หวังความเมตตาจากคุณเหมือนครั้งก่อน
ทุกข์ใจจะผ่อนหากว่าได้ไมตรี
เพียงแต่ชายตาหน่อย เพียงแต่รอยยิ้มมี
วิญญาณชีวีมอบแทบเท้าคุณ





ทาษเทวี (จัวหวะสโลว์-โบเลโร่)

บุญฉันมีแต่คงไม่ถึง ฟ้าจึงไม่เวทนา
คอยเฝ้าแต่คอยทุกครา ดวงจันทราไม่ลอยเลื่อนมาใกล้เรา
คงแหงนคอยแต่คอยหาย เสียดายดวงจันทร์ไม่บรรเทา
ลอยลับไม่เหลือแม้เงา รู้หรือเปล่าว่าเรานี้ช้ำชอกฤดี
เธอเป็นดอกฟ้า รู้ไหมว่าเราเป็นดั่งทาษเทวี
แม้ไม่ปรานี ทาษนี้คงระทมอยู่เรื่อยไป
รอฉันรอด้วยใจวิงวอน ขอบังอรเมตตารับฝากใจ
เพียงยิ้มสักนิดฤทัย ฉันคงพองเรื่อยไป ด้วยธุลีเมตตาของเธ





ทัดดาว-บุษยา (จัวหวะโบเลโร่)

ทัดดาวบุษยา เธอสวยกว่านางในสวรรค์
ดวงใจพระอินทร์ทั้งสี่องค์นั้น งามไม่เทียมทันทัดดาวบุษยา
เธอน่ารัก รักษาศักดิ์มีใจภักดิ์และกรุณา
กตัญญูผู้มีคุณทั่วหน้า ทัดดาวบุษยาเธอคือยอดขวัญ
เธองามพร้อมทั้งใจและกาย จับจิตใจชายยิ่งกว่าเดือนรักตะวัน
ได้ใกล้เธอเหมือนใกล้สวรรค์ ทัดดาวบุษยา ฉันรักเธอ





ที่รักเราไม่ควรพบกันเลย (จังหวะสโลว์)

ก่อนฉันจากไปเป็นของคนอื่น
กอดฉันให้ฉ่ำจูบฉันให้ชื่นฤทัย
ถึงสุดจะขมถึงแสนจะขื่นทรวงใน
สู้ทนปวดใจกลืนกินน้ำตา

ฉันขอสุขเพียงสุดท้ายเพียงครั้งเดียว
จากกันจากเกลียวที่ไม่เคยสมสักครา
ขอให้จุมพิตทิ้งรอยชิดแนบอุรา
เพื่อปลอบใจคราคนึงถึงเธอ

กรรมใดชักนำเรามาพบกัน
ให้รักให้ฝันหมายมั่นเสมอ
ให้เฝ้าโหยหวนครวญคร่ำละเมอ
แล้วใยนะเออกรรมแกล้งแสร้งใจ

จะพบทำไมเพราะพบเพื่อจาก
ให้รักให้พรากกระชากโคนฤทัย
ฉันต้องทรมานและซมซานอยู่เรื่อยไป
ที่รัก เราไม่ควรพบกันเลย





ธรรมชาติชาวเกาะ (จังหวะฟ็อกซ์ทร็อต)

สุขในดวงใจ สุขรื่นฤทัย
ฟังเสียงลมครืน ฟังเสียงคลื่นครวญ

แว่ววังเวงหวาน แว่วกังวานชวน
ลมทะเลครวญ คราต้องสน

พันธุ์บุปผาหอมตามลม เคล้าผสมลมโชยชื่นกมล
มวลปักษาบินมาเวียนวน ฟ้าสีหม่นจับตาหาไหนเหมือน

เมฆลอยลมพริ้ว เมฆลอยปลิวเกลื่อน
ทินกรเลื่อน ลับจากตา
(จากละครเรื่อง "อธิราชทมิฬ" ของ "อรวรรณ"





น้ำตาแสงไต้ (จังหวะสโลว์ ทำนองสง่า อารัมภีร์ คำร้อง มารุต-เนรมิต)

นวลเจ้าพี่เอย คำน้องเอ่ยล้ำคร่ำครวญ
ถ้อยคำเหมือนจะชวน ใจพี่หวนครวญคร่ำอาลัย
น้ำตาอาบแก้ม เพียงแซมเพชรไสว
แวววับจับหัวใจ เคล้าแสงไต้งามจับตา

นวลแสงเพชร เกล็ดแก้วอันล้ำต่า
คราเมื่อแสงไฟส่องมา วับวาวชวนชื่นชม
น้ำตาแสงไต้ ดื่มใจพี่ร้าวระบม
ไม่อยากพรากขวัญภิรมย์ จำใจข่มใจไปจากนวล





น้ำค้างบนแก้มสาว (จัวหวะสโลว์)

น้ำต้างบนแก้มสาว ประกายพราวชวนพี่ชม
อาบพักตร์งามสวยสม เพียงจะข่มนวลเพ็ญจันทร์
น้ำค้างบนแก้มสาว ยามพี่เฝ้าประคองขวัญ
ลูบไล้พักตร์ผ่องพรรณ โอ้งามขวัญพริ้มเนตรนอน

แก้มสาวพราวน้ำฟ้า ตรึงอุราข้าฯสะท้อน
ใคร่แนบแก้มสมร คราเจ้านอนพี่แนบชม
น้ำค้างบนแก้มเจ้า ช่างยวนเย้าพี่ภิรมย์
ใคร่เป็นน้ำค้างพรม บ่มแก้มเจ้าเคล้าแก้มนวล





นางแก้วในดวงใจ

นางแก้วพี่เอย พี่สุดเอ่ยเฉลยคำพร่ำ
นอนยังฝันวันยังค่ำ ดวงใจเพ้อพร่ำร่ำพรรณนา

นางแก้วคู่ใจ เจ้าจากไปพี่ครวญหา
ใจโศกซึ้งถึงแก้วตา รำพึงถึงหน้าโฉมสมร

เจ้าห่างพี่ไป ห่วงอาลัยใจอาวรณ์
พี่ฝันถึงงามงอน รักรุมร้อน เร้าฤดี

เจ้าจากพี่ไป คงห่วงใยฝันถึงพี่
แม้นเจ้าฝันจงฝันดี จงฝันถึงพี่นางแก้วเอย





บวงสรวง (จังหวะสโลว์)

ญ. ข้าฯ ขออัญเชิญ เทพบุตรธิดา
โปรดคุ้มรักษา ให้ประชาชาวไทยสำราญ

ช. ข้าฯ ขออัญเชิญ เทพไท้ทุกพิมาน
โปรดจงดลบันดาล ให้ภัยผ่านชาติเราไปไกล

คู่ เราขอบวงสรวง ปวงเทวารักษาชาติไทย
นำสันติภาพให้ ชาวไทยร่มเย็นสวัสดี

คู่ ทั่วแผ่นดินทอง ไทยพี่น้องสามัคคี
อภัยและปรานี คุณธรรมความดีทั่วกันทุกคน





บางรัก (จังหวะสโลว์-โบเลโร่)

เมื่อก่อนบางรักชักใจให้พี่หลงผิด
คิดว่ารักไม่ศักดิ์แม้เพียงนิดเดียว
มีหรือทั้งบางรักไม่จางใจเลยเจียง
จะรักกันอย่างแน่นเหนียวเชียวหรือน้ำใจ

แต่ยิ่งคบกันสัมพันธ์ขันเกลียวซึ้งแน่น
สาวบางรักนั้นมีใจมีแก่นเพราะธรรมภายใน
พูดจริงรักจริงซึ้งยิ่งกว่าสิ่งใดๆ
ใกล้ชิดเป็นมิตรกันไปยิ่งหลงใหลทุกที

เพ่งสาวบางรักก็ชักหวิวทรวง
ทุกนางน่ารักน่าห่วง น่าหวงยิ่งชีวี
ไม่งามแม้กายน้ำใจก็งามเหลือที
อยากมอบรักฝากไมตรีสาวเจ้าทั้งบาง

บัดนี้บางรักชักใจให้พี่รู้แจ้ง
พ้นจากความแห้งแล้งระรื่นสรรพางค์
เพราะสาวบางรัก รักไม่มีจืดมีจาง
สาวอื่นทุกบางไม่รักอย่างสาวบางรักเอย





บัวสวรรค์ (จังหวะสโลว์)

โอ้บัวสวรรค์ จะเย้ยจันทร์หรือไรเจ้าดอกบัว
สวยทุกคืนตื่นตา ยามแสงจันทร์ลาฟากฟ้านภารุ่งรางสลัว

ตั้งตูมมองเห็นอยู่ ดังจะเย้ยใจยั่ว
บัวน้อยลอยสล้าง เหมือนดั่งประทุมน้องนางสถิตอยู่กลางสระสวรรค์

บัวเจ้าไหวก้าน งามตระการยั่วใจฉัน
อยากเอื้อมเด็ดบัวสวรรค์ เกรงเจ้านั้นจะมีเจ้าของ

บัวน้อยเจ้าลอยยั่วหรือ กลัวจะไม่มีใครปอง
ใคร่จะขอจองเก็บประทุมน้อง ไว้กลางใจฉันเอย





บุหงาตันหยง (จังหวะกะรนจ็อง)

บุหงาตันหยงเอวองค์เธอช่างโสภี
ฉันชอบสาหรีเธอใช้คลุมกาย
ฉันชอบทุกอย่างของเธอของแท้ในกาย
ฉันชอบไม่หน่าย ไม่หน่ายจริงๆแม่คุณ

กลิ่นกายช่างหอมละมุน
กลิ่นเหมือนพิกุล หอมจริงบุหงาตันหยง
โอเล โอเล เนื้อคุณ
กลิ่นเหมือนพิกุล หอมกรุ่นชื่นใจไม่วาย





บุหลันลันตู (จังหวะกะรนจ็อง)

ไม่มีความสุขใดจะซึ้งใจ เท่ากับได้มีเธอที่รักเคียงกัน
แจ่มจันทร์สาดแสงนวลทั่วสรรพางค์
แดนและนวลนางงามไม่ผิดกัน

ไม่มีความสุขใดจะซึ้งใจ
เท่ากับได้กอดเธอที่รักกลางจันทร์
โอ้ดวงตาของเธอเลิศล้ำลาวัลย์
กายและใจของฉันนั้นเป็นทาสเธอ

โอ้บุหลันเอย บุหลันลันตู
ยอดพธูเอย ฉันนี้รักเธอฉันรักมั่นแต่เธอเสมอ
ยอดพธูเอย ฉันนี้รักเธอ
ฉันรักเธอเสมอ นิรันดร

ไม่มีความสุขใดจะซึ้งใจ
เท่ากับได้กล่อมเธอทีรักให้นอน
หลับตาเถิดยอดรักอย่าอาวรณ์
นอนในอ้อมแขนของคนที่รักเธอ


บีจีจากคุณยายกุ๊กไก่ ไลน์จากคุณญามี่

Free TextEditor





 

Create Date : 16 ธันวาคม 2548    
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2552 13:29:40 น.
Counter : 4070 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  

haiku
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.