happy memories
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2557
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
20 กรกฏาคม 2557
 
All Blogs
 
เสพงานศิลป์ ๑๑๘




ภาพจากเวบ deviantart.com





"ฉันได้จากโลกนี้ไปแล้วโดยไม่เสียใจ

เพราะฉันได้อุทิศชีวิตของฉันให้กับ

บางสิ่งที่เป็นประโยชน์

ในฐานะเป็นผู้รับใช้ที่ต่ำต้อย

ในงานศิลปของฉัน

ชีวิตนั้นสั้น....แต่ศิลปะยืนยาว


ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี





Romance - Yuhki Kuramoto









"๑ วัน ๓ วัด ตามรอยมรดกธรรม สังฆราชา”


สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์นับแต่สร้างกรุงจวบจนวันนี้มีทั้งสิ้น ๑๙ องค์ และแม้ว่าสมเด็จพระสังฆราชองค์ล่าสุดจะสิ้นพระชนม์ไปแล้ว และยังไม่มีการสถาปนาองค์ใหม่ หาก "ธรรมะ" ของประมุขแห่งสงฆ์ยังคงสถิตอยู่ในใจชาวพุทธอย่างไม่มีวันสูญสิ้น เพื่อรำลึกถึงมรดกธรรมที่ได้จารึกไว้ในแผ่นดิน "เดอะ วิสดอม" ธนาคารกสิกรไทย จึงจัดกิจกรรมแห่งศรัทธาในแนวคิด "ตามรอยสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์" พาชาวพุทธลูกค้าธนาคารเดินทางจาริก ๓ วัดใน ๑ วันที่พระสังฆราชเคยประทับอยู่ ได้แก่ วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร, วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร และ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร


งานนี้นอกจาก ปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จะนำท่องธรรมแล้ว ยังได้นักโหราศาสตร์คนดัง "อ.ช้าง" ทศพร ศรีตุลา ร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับพระจริยวัตรของสมเด็จพระสังฆราชแต่ละองค์ เริ่มจากวัดบวรฯ พระอารามหลวงชั้นเอก ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.๕ และ ร.๙ ขณะทรงครองสมณเพศ และสมเด็จพระสังฆราชเจ้า (พระสังฆราชที่เป็นเชื้อพระวงศ์) ถึง ๓ พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ กับอีกหนึ่งพระสังฆราชที่มาจากสามัญชน คือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระสังฆราชองค์ที่ ๑๙


ช่วงหนึ่งของการสนทนาธรรม พระ ดร.อนิลมาน ธมฺมสากิโย หรือ "พระศากยวงศ์วิสุทธิ์" ผู้สนองงานสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๙ เล่าว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงเปรียบเสมือนพ่อบังเกิดเกล้า เพราะทรงสั่งสอนและถ่ายทอดวิชาความรู้เรื่อยมา หากจะให้พูดถึงพระจริยวัตรของพระองค์คงใช้เวลาเป็นวันเพราะมากเหลือคณา โอกาสนี้ขอยกเรื่องพระเมตตาต่อสรรพสัตว์ ทรงเลี้ยงไก่ชื่อ "เจ้าบอด" และทรงเลี้ยงสุนัข เวลาทรงตรวจวัดทุกเย็นทั้งเจ้าบอดและสุนัขทรงเลี้ยงจะมาคลอเคลียอยู่ไม่ห่าง นอกจากนี้ยังทรงมีวิธีสอนสั่งธรรมะอันมีลักษณะเฉพาะของพระองค์


"ครั้งหนึ่งชาวต่างชาติมาถ่ายทำรายการแล้วเห็นแต่คนแก่เข้าวัด เลยสงสัยว่าประเทศไทยเป็นเมืองพุทธแต่ทำไมคนเข้าวัดน้อย จึงทรงตรัสว่าพระพุทธศาสนาอยู่ในสายเลือดทุกหยดของคนไทย หาใช่อยู่ที่วัดไม่ ขณะที่ด้านวิชาการทรงนิพนธ์เกี่ยวกับการศึกษาไว้มากมาย ทรงตั้งคำถามว่าที่ผ่านมาเรามักบอกว่าให้นำความรู้บรรจุไว้ที่สมอง ทั้งที่จริงแล้วเราเคยคิดนำมาบรรจุไว้ที่ กาย วาจา ใจ บ้างหรือไม่ นั่นเป็นวิธีสอนที่แยบยล" ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช กล่าว






มาที่ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอก ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย นอกจากจะเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๕ โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรม และศิลปกรรมผสมผสานสยามกับยุโรปแล้ว ยังเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชถึง ๒ พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ (องค์ที่ ๑๑) และสมเด็จพระสังฆราชเจ้า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) (องค์ที่ ๑๘) โดย ท่านเจ้าคุณสิริวัฒโนดม ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ฟื้นความทรงจำสมัยเป็นศิษย์ก้นกุฏิรับใช้ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) ว่า ทรงปฏิบัติธรรมอย่างเข้มงวด ทรงตรัสว่า "สีจีวรไม่เกี่ยว จิตนั้นเป็นสำคัญ" ทรงเป็นพระสังฆราชองค์แรกที่เสด็จไปครบทุกจังหวัด ทรงโปรดให้ชาวพุทธอาราธนาศีล ๕ ด้วยเสียงดัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวพุทธควรปฏิบัติเป็นเบื้องต้นไปสู่ความสุข จนได้ชื่อว่า "สมเด็จพระสังฆราชศีล ๕"


"ขณะที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ทรงมีพระเมตตามาก ไม่โปรดตรัสคำหยาบ หรือดุ อีกทั้งยังตรัสเรื่องความสามัคคีอยู่บ่อย ๆ เปรียบกับการกำมือชก ถ้ากำไม่แน่นก็ไม่มีพลัง ทรงสอนเรื่องความสามัคคีและให้อภัยเสมอ " ผู้ช่วยเจ้าอาวาส กล่าวพร้อมกับเสริมว่าทุกวันนี้ที่บ้านเมืองไม่สงบสุขก็เพราะใจยังอาฆาตกัน


หากมองอีกมิติหนึ่งหลักธรรมคำสอนของสมเด็จพระสังฆราชแต่ละองค์ไม่เคยล้าสมัย ดังคำสอนที่อุบัติขึ้น จากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ หรือ "วัดโพธิ์" พระอารามหลวงชั้นเอก ฝ่ายมหานิกาย ที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช ๒ พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส (พระองค์เจ้าวาสุกรี สุวัณณรังสี) (องค์ที่ ๗) และสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) (องค์ที่ ๑๗) ซึ่ง พระสุธีธรรมานุวัตร หรือ "ท่านเจ้าคุณเทียบ" ผู้ช่วยเจ้าอาวาส แสดงธรรมเทศนาพร้อมยกธรรมะของพระสังฆราชว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงเชี่ยวชาญเรื่องกวีนิพนธ์ เมื่อศึกษาชีวิตของพระองค์จะเห็นว่าทรงมี "ความเพียร วิริยะ อุตสาหะ" อย่างมาก ส่วนสมเด็จพระสังฆราช ปุ่น ปุณฺณสิริ ธรรมมะของพระองค์คือ "เมตตา" ทรงสอนเสมอว่าคนเราต้องมีความรักกัน ถ้าไม่มีความรักก็จะเดือดร้อน จึงทรงเปรียบ "จิตเหมือนปลา เมตตาเหมือนน้ำ" คุณธรรม ๒ ข้อนี้ถ้าทำได้ก็จะมีความสุขตลอดไป...


กิจกรรมนี้นอกจากพุทธศาสนิกชนจะได้ทราบซึ้งในรสพระธรรมของประมุขแห่งสงฆ์ที่ฝากไว้ชั่วกาลนานแล้ว ยังได้ชมความงามของวัดวา รวมถึงเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ ของสมเด็จพระสังฆราชที่เก็บรักษาไว้เป็นที่รำลึกอีกด้วย



ภาพและข้อมูลจากเวบ
komchadluek.net














นิทรรศการ "ขัตติยนารี ศรีพัชรินทรา”


สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิดนิทรรศการ "ขัตติยนารี ศรีพัชรินทรา" ณ พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ พระราชวังพญาไท ถนนราชวิถี ในวาระครบ ๑๕o ปี วันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเพื่อรำลึกพระราชกรณียกิจที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนไทยและในอารยประเทศ ที่ทาง "ยูเนสโก" ได้ประกาศเฉลิมพระนามาภิไธย ให้พระองค์ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ในฐานะทรงมีผลงานดีเด่นด้านการศึกษาสำหรับเด็กและสตรี การศึกษาด้านสาธารณสุขศาสตร์ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ประยุกต์ และสังคมและมนุษยศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒o พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๖ ซึ่งนิทรรศการดังกล่าวจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๕-๒o กรกฎาคม โดยเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมฟรีไม่เสียค่าเข้าชม


สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเป็นประโยชน์สุขแก่ประเทศชาติและประชาชนเป็นอเนกประการ โดยทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป โดยทรงก่อตั้งสภาอุณาโลมแดง ทรงพัฒนาการศึกษาของสตรี และยกย่องฐานะของสตรีไทยให้ทัดเทียมในสังคมการศึกษา ทรงก่อตั้งโรงเรียนและรับโรงเรียนไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์จำนวนมาก พระราชกรณียกิจ พระมหากรุณาธิคุณและพระเกียรติคุณแห่งสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ จึงเป็นที่ประจักษ์แก่ประเทศและนานาชาติสืบมาจวบปัจจุบัน


สำหรับนิทรรศการ "ขัตติยนารี ศรีพัชรินทรา" เป็นนิทรรศการเฉลิมฉลองพระอัจฉริยภาพตลอดระยะเวลา ๑ ปี (๒๕๕๗-๒๕๕๘) ที่รวมไว้ซึ่งพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ ของพระองค์ อาทิ ด้านการทำนุบำรุงศาสนา ด้านการทหาร โดยพระองค์เสด็จทอดพระเนตรการซ้อมรบของทหารตามจัดจังหวัดต่าง ๆ เช่น ราชบุรี พระนครศรีอยุธยา ในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ ๖ รวมถึงพระราชกรณียกิจด้านการพยาบาล และการ ผดุงครรภ์สมัยใหม่ โดยพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ในการก่อตั้ง "โรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และการพยาบาลไข้" หรืออีกชื่อหนึ่งว่า "โรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์ และหญิงพยาบาลของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ" ตลอดจนการแสดงเครื่องมือที่ใช้ในการแพทย์สมัยนั้น รวมถึงเครื่องใช้ไม้สอย อาทิ ภาชนะกระเบื้องเคลือบ เครื่องแต่งกาย และเหรียญเกียรติยศต่าง ๆ โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ ๑๖-๒o กรกฎาคม เวลา ๑o.oo-๑๖.oo น.



ภาพและข้อมูลจากเวบ
ryt9.com
เวบมณฑลทหารบกที่ ๒๓














"แสตมป์ ๑๕o ปีพระพันปีหลวง”


๑๕๐ ปี วันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ทรงมีผลงานดีเด่นด้านการศึกษาสำหรับเด็กหญิงและสตรี การศึกษาด้าน สาธารณสุขศาสตร์ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ประยุกต์ สังคมและมนุษยศาสตร์ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติและประชาชน องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO จึงได้มีมติยกย่องสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เป็นบุคคลสำคัญของโลก


ภาพแสตมป์เป็นพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถทรงพระอักษร พร้อมตราสัญลักษณ์งานฉลอง ๑๕๐ ปี วันพระราชสมภพฯ กำหนดวันแรกจำหน่าย ๑ เมษายน ๒๕๕๗ ชนิดราคา ๓ บาท เต็มแผ่น ๓๐ บาท (๑๐ ดวง) ซองวันแรกจำหน่าย ๑๐ บาท



















ภาพและข้อมูลจากเวบ
thailogolover.blogspot.com
เฟซบุคฉลอง 150 ปี ปฐมบรมราชินีนาถของไทย














"โขนพระราชทาน ศิลปะไทยล้ำค่าทั่วจักรวาล
งานประกวดแกะสลักผัก-ผลไม้ ผสานงานใบตอง ดอกไม้สด ครั้งที่ ๑๖”


เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๘๒ พรรษาในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ศกนี้ เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงห่วงใยพสกนิกรชาวไทยเสมอ โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพ ฟอร์จูน จึงร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดงานประกวดแกะสลักผัก-ผลไม้ ผสานงานใบตอง ดอกไม้สด ครั้งที่ ๑๖ ในหัวข้อ “โขนพระราชทาน ศิลปะไทยล้ำค่าทั่วจักรวาล” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๔ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น๓ ของโรงแรมฯ ตั้งแต่เวลา ๘.oo น. - ๑๗.oo น.


อารยา อรุณานนท์ชัย ประธานจัดงานประกวดกล่าวว่า แนวคิดของงานประกวดในปีนี้เนื่องมาจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชเสาวนีย์ว่า ทุกวันนี้ประชาชนชาวไทยไม่ใคร่มีโอกาสได้ชมโขน เนื่องจากการจัดการแสดงโขนแต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโขน และงานหัตถศิลป์แขนงต่าง ๆ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนขึ้นใหม่สำหรับใช้ในการแสดงโขนพระราชทาน โดยทรงกำชับให้ยึดถือรูปแบบเครื่องแต่งกายโขนแบบโบราณ แต่มีความคงทนและสวยงามยิ่งขึ้น โขน เป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยที่หลอมรวมศิลปะของชาติหลากหลายแขนง นับแต่วรรณกรรม วรรณศิลป์ นาฏศิลป์ คีตศิลป์ หัตถศิลป์ และพัสตราภรณ์อันงดงามตามแบบฉบับโบราณ รวมถึงการจัดฉากและแสง เสียง ที่ยิ่งใหญ่ ตลอดจนการฝึกซ้อมเพื่อความพร้อมของการแสดง


อีกทั้งถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๑๒ สิงหา การประกวดแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทคือประเภทโรงแรม- ประชาชนทั่วไป และสถาบันการศึกษา โดยผู้เข้าร่วมประกวดต้องนำผัก-ผลไม้ มาแกะสลัก ผสมผสานงานใบตอง ดอกไม้สด จำลองเป็นผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรมที่ศูนย์ศิลปาชีพทั่วประเทศ ถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ


โดยทางโรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพ ฟอร์จูน ได้เปิดห้องพักอย่างดีไว้ให้ผู้เข้าประกวดจากต่างจังหวัดได้เข้าพักฟรี พร้อมทั้งบริการสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม ฯลฯ และผู้เข้าประกวดทุกท่านจะได้รับประกาศนียบัตรอันทรงคุณค่าจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยอีกด้วย


ผู้สนใจสามารถสอบถาม และสมัครการประกวดได้ฟรีที่ฝ่ายสื่อสารการตลาด โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพ ฟอร์จูน โทร. o๒-๖๔๑-๑๕oo ต่อ ๑๑o๒, ๑๑๓๒



ภาพและข้อมูลจากเวบ
healthandcuisine.com












อ.ถวัลย์ ดัชนี



"๔ ครูศิลปิน เอกฉันท์ให้ 'มารผจญ หมายเลข ๑๑'
คว้ารางวัลยอดเยี่ยมจิตรกรรมเอเชีย พลัส ครั้งที่ ๔”


หลังจากที่บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) ประกาศจัดการประกวดจิตรกรรมเอเซีย พลัส ครั้งที่ ๔ ภายใต้หัวข้อ “ลีลาแสงและสี” ไปเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา แม้จะอยู่ในช่วงกระแสคุกรุ่นทางด้านการเมือง แต่ก็มีทั้งศิลปินหน้าใหม่และหน้าเก่าให้ความสนใจร่วมส่งผลงานเข้าประกวดจากทั่วประเทศมากถึง ๑๔๓ ผลงาน จากศิลปิน ๑o๖ ท่าน ซึ่ง อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินการประกวดได้กล่าวถึงผลงานในปีนี้ว่า “ปีนี้แปลก ทุกเวทีการประกวดใหญ่ ๆ ศิลปินส่งผลงานกันน้อยลง อาจจะด้วยสภาพทางการเมืองความวุ่นวาย ความเครียดของศิลปินสูง แต่ในทางกลับกัน คุณภาพงานไม่ได้ด้อยลงเลย ปีนี้ในการประกวดจิตรกรรมเอเชีย พลัส เราได้เห็นหลายผลงานทีมีเทคนิคใหม่ ๆ ไม่เคยเห็นมาเลย และหากได้รับการสนับสนุนให้พัฒนาผลงานต่อ ก็จะก่อให้เกิดความสมบูรณ์ทางศิลปะมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็ตรงกับเป้าหมายของการจัดประกวดจิตรกรรมเอเซีย พลัส ในทุก ๆ ครั้ง”





อ.อิทธิพล ตั้งโฉลก



การตัดสินถูกจัดขึ้นที่ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) โดยมีคณะกรรมการที่เป็นศิลปินชั้นบรมครูในวงการศิลปะ อย่าง อ.ถวัลย์ ดัชนี, อ.อิทธิพล ตั้งโฉลก, อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, อ.สมศักดิ์ รักษ์สุวรรณ ร่วมด้วย ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธาน และ ณินทิรา โสภณพนิช กรรมการบริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส จำกัด (มหาชน) ซึ่งทั้งสองเป็นนักสะสมผลงานศิลปะจากทั่วทุกมุมโลก คณะกรรมการมีหลักเกณฑ์ในการตัดสิน นอกจากเรื่องของเทคนิค องค์ประกอบที่ให้คุณค่าทางศิลปะ อารมณ์ ความรู้สึก ความคิดคำนึงและตอบโจทย์ ลีลาแสงและสีแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาฝีมือและศักยภาพของตัวศิลปินเองด้วย โดยคณะกรรมการต้องเลือกรางวัลยอดเยี่ยมเพียง ๑ รางวัล และรางวัลดีเด่นอีก ๕ รางวัล





อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์



อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ให้ความเห็นถึงงานที่จะถูกคัดเลือกว่า “งานศิลปะต้องพัฒนามากขึ้น ศิลปินที่สร้างผลงานในแบบเดิม ๆ ซึ่งคณะกรรมการได้เห็นผลงานของพวกเขาผ่านหลายเวที ได้เห็นผลงานที่สุดของเค้ามาแล้ว แม้ผลงานชิ้นนั้นยังดีอยู่แต่ความดีนั้นต้องมีมากขึ้น ไม่ใช่ยังคงดีเหมือนเดิม”





อ.สมศักดิ์ รักษ์สุวรรณ



อ.อิทธิพล กล่าวเสริมว่า เห็นด้วยกับการที่ศิลปินต้องพัฒนาตัวเอง “ เวลาหาตัวตนในทางศิลปะเนี่ยเป็นเรื่องยาก ตัวตนของเราต้องเป็นต้นแบบ เป็นปัจเจกลักษณ์ และอัตลักษณ์ กว่าจะหาได้แทบแย่แต่เราก็ต้องหนีตัวเองเพื่อพัฒนาต่อ อย่างผลงานบางชิ้นจะเห็นได้ชัด การหนีตัวเองเป็นการยากกว่าค้นพบตัวเองเสียอีก”





ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ



กรรมการทั้ง ๖ คนก็ลงความเห็นเป็นนเอกฉันท์มอบรางวัลยอดเยี่ยมให้กับผลงานที่ชื่อว่า “มารผจญ หมายเลข ๑๑” ของ สิทธิวูธ ยาวิชัย ซึ่ง อ.ถวัลย์ ดัชนี กล่าวชื่นชมผลงานชนะเลิศในครั้งนี้ว่า “ เห็นวิวัฒนาการในรอบ ๑๕ ปีของเขา เห็นเขาโลดแล่นในวิถีนี้ไม่ต่ำกว่า ๑o ครั้ง พัฒนาจากการเขียนดินสอขาวบนพื้นดำ จนมาถึงงานชิ้นนี้ที่นำเอาเทคนิคซึ่งเป็นทองและสีดำ สีเงินยวงและกระจกเข้ามาใส่ ทำให้เห็นการสะท้อนของกระจก พื้นผิวน้ำสีดำ มองแล้วลายทอง มีลายไทย ความสมบูรณ์ในเนื้อหาทั้ง concept ความคิดคำนึง อารมณ์โดยรวมที่เป็น emotion และ expression การแสดงออกที่เป็นรูปแบบอิสระ เทคนิคการประสานกลมกลืนและปัจเจกภาพส่วนบุคคล เป็นการบรรลุนิติภาวะทางความคิดสมบูรณ์ที่สุด” ส่วนรางวัลดีเด่นทั้ง ๕ รางวัล ได้แก่ ภาพ “มหัศจรรย์แห่งความงาม” ของพงษ์สิริ คิดดี, ภาพ “บ้าน” ของ นอเดียนา บีฮิง, ภาพ “เหตุการณ์นั้น ฉันรู้สึก” ของ นูรียา วาจิ, ภาพ “นิทานของแม่” ของ นิโรจน์ จรุงจิตวิทวัส, ภาพ “บ้านหลังน้อย” ของธนโชติ สุขกันตะ






ทั้งนี้พิธีมอบรางวัลในปีนี้จะจัดขึ้นในวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๗ ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยผลงานที่ได้รางวัลยอดเยี่ยมและรางวัลดีเด่นทั้ง ๕ ภาพ รวมถึงรวมถึงผลงานที่ได้รับการคัดเลือกอีก ๕๗ ชิ้น ในการประกวดจิตรกรรมเอเซีย พลัส ครั้งที่ ๔ นี้จะถูกนำไปจัดแสดงในนิทรรศการภาพจิตรกรรม ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตั้งแต่วันที่ ๒-๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนที่รักงานศิลปะได้เข้าชื่นชมร่วมกัน











ภาพและข้อมูลจากเวบ
naewna.com














"ศูยน์ประติมากรรมกรุงเทพ...ไม่ไปไม่ได้แล้ว”


ไม่ต้องเดินทางไปหาไอ้จุดถึงราชบุรี 'แอปเปิล' ของ 'โลเล' อยู่ที่นี้ ใกล้ๆกับประติมากรรมของ 'อเล็กซ์ เฟซ' นี่ไง


๑o ปีแล้วที่ ศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมผลงานสะสมของ เสริมคุณ คุณาวงศ์และครอบครัว หากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาศูนย์ศิลปะแห่งนี้ได้มีการนำผลงานในคอลเลคชั่นใหม่ๆที่น่าสนใจมาเพิ่มเติม พร้อมกับปรับปรุงพื้นที่ให้มีความสอดคล้องไปด้วยกันอย่างน่าชื่นชม


ใครที่อยากเห็นว่าประติมากรรมสามารถสร้างสุนทรียศิลป์ให้กับอาคารสำนักงานทั้งภายในและภายนอกได้อย่างไร ขอแนะนำให้ไปชมกันได้ที่นี่ เนื่องด้วยที่ตั้งของศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพฯอยู่ในอาคารเดียวกันกับสำนักงานของ บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด ( เดิมรู้จักกันในนาม ซีเอ็ม ออร์กาไนเซอร์) ผู้นำธุรกิจด้านการสร้างสรรค์และบริหารจัดการอีเวนท์ชั้นนำ






เสริมคุณ คุณาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ กล่าวในงาน A Decade of Heritage Journey ฉลองครบ ๑o ปี ของศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ ว่าต่อไปนี้ได้มอบหมายให้ลูกสาวทั้งสองคน คือ เหมือนฝัน และ วาดฝัน ซึ่งร่ำเรียนมาทางด้านศิลปะเป็นผู้สืบทอดและดำเนินงานต่อ โดยจัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประติมากรรมของไทยสำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้ที่สนใจงานศิลปะประติมากรรม


สำหรับผลงานที่จัดแสดงในศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ แบ่งเป็น ๕ กลุ่มหลัก ได้แก่

# งานพุทธศิลป์ จัดแสดง พระพุทธรูปศิลปะสมัยทวาราวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ จนถึงพระพุทธรูปในสมัยรัชกาลปัจจุบัน เช่น พระพุทธมหาบารมีนุภาพิสุทธิ์อนุตตรสังคายวิชัย ผลงานของ จักรพันธุ์ โปษยกฤต, พระพุทธเมตตาบารมี ผลงานของ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, พระปางสมาธิ ผลงานของ นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน เป็นต้น

# ยุคศิลปะเหมือนจริง จัดแสดง พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระรูปเหมือน สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผลงานของ ศ. ศิลป์ พีระศรี, “ครุฑ” ออกแบบและปั้นโดย ศ. ศิลป์ พีระศรี และคณะศิษย์

# ยุคศิลปะสมัยใหม่ของไทย เช่น “เสียงขลุ่ยทิพย์” “แม่กับลูก” ผลงานของ เขียน ยิ้มศิริ, “วัยรุ่น-วัยสับสน (หญิงสาว)” ผลงานของ สมโภชน์ อุปอินทร์, “คิดคำนึง” ผลงานของ ชำเรือง วิเชียรเขตต์ เป็นต้น

# ยุคนามธรรม เช่น “เตียงโยก” ผลงานของ อินสนธิ์ วงศ์สาม, “เติบโต” ผลงานของ นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน, “คลื่นและลม” ผลงานของ ฉายนภา เลปาจารย์, “ผู้หญิงนอน” ผลงานของ ชีวา โกมลมาลัย ฯลฯ

# ผลงานสื่อประสม ได้แก่ “สิงโต” ผลงานของ ช่วง มูลพินิจ, “มีด” ผลงานของ ถวัลย์ ดัชนี, “ตู้พระธรรม” ผลงานของ ปรีชา เถาทอง, “คชา” ผลงานของ คำอ้าย เดชดวงตา, “รูปคนในภูมิทัศน์” ผลงานของ มานพ สุวรรณปิณฑะ เป็นต้น และในปีนี้ได้เพิ่มส่วนจัดแสดงที่ด้านหน้าอาคาร ด้วยผลงานแนว Pop Art อาทิ “JohnnyAppleSex” ผลงานของ ทวีศักดิ์ ศรีทองดี, “Chair-ring 2013” ผลงานของ พัชรพล แตงรื่น (Alex Face) ฯลฯ






"ศิลปินคนสำคัญของไทยหลายคนสร้างผลงานที่มีคุณค่ามากมาย แต่งานเหล่านั้นกลายเป็นซากสูญสลายไปหลังความตายเพราะถูกทิ้งขว้าง ไม่ได้รับความสนใจ อยากให้คนไทยและรัฐบาลไทยตระหนักถึงคุณค่าของงานศิลปะซึ่งสะท้อนถึงศักดิ์ศรีเกียรติภูมิของชาติไทย ที่ศิลปวัฒนธรรมของเราทัดเทียมกับนานาอารยประเทศหรืออาจเหนือกว่าด้วยซ้ำ แม้จะเป็นรองในด้านเทคโนโลยี


ที่สำคัญคือศิลปะช่วยยกระดับจิตวิญญาณให้มีสุนทรียภาพ สร้างจินตนาการและแรงบันดาลใจ ที่จะพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้แปลกแตกต่าง ไม่ลอกเลียนกัน ซึ่งจำเป็นสำหรับทุกศาสตร์ การปลูกฝังและส่งเสริมให้รักและเห็นคุณค่าในศิลปะจึงเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก” เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ กล่าวถึงความสำคัญของศิลปะ พร้อมขอบคุณเสริมคุณและครอบครัวที่ได้เสียสละทั้งทุนทรัพย์ เวลา กำลังกายและใจ ในการดำเนินงานจนถึงปีที่ ๑o


ศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ เปิดให้เข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทุกวันอังคาร - เสาร์ เวลา ๑o.oo - ๑๖.oo น.โทร. o๒-๗๙o-๓๘๘๘ ต่อ ๑๓o๓ หรือ ๑๓๑๔ สำหรับหน่วยงานหรือประชาชนที่สนใจเข้าชมเป็นหมู่คณะ มีบริการบรรยายและนำชม







ภาพและข้อมูลจากเวบ
เฟซบุคกรุงเทพธุรกิจวันอาทิตย์














"ประกวดผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน สืบสานพระราชดำริในสมเด็จพระราชินี”


เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ดร.จรัลธาดา กรรณสูต ที่ปรึกษาสำนักราชเลขาธิการ เป็นประธานเปิดการประกวดผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน การออกแบบชุดผ้าไหมและผลิตภัณฑ์หม่อนไหมประจำปี ๒๕๕๗ ณ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ


ดร.จรัลธาดา กรรณสูต ที่ปรึกษาสำนักราชเลขาธิการ กล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงให้ความสำคัญและทรงมีพระมหากรุณาธิคุณด้านหม่อนไหมมาช้านาน พระองค์ได้มีกระแสพระราชดำรัสว่าคนไทยนั้นมีความผูกพันกับผ้าไหมเป็นเวลานับพันปี ซึ่งผ้าไหมไม่เพียงแต่เป็นเครื่องแต่งกายที่สวยงามเท่านั้น ยังเป็นสมบัติอันทรงคุณค่าของแผ่นดินที่ถ่ายทอดเรื่องราวในชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมลงบนผืนผ้า สามารถบอกเล่าประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของคนไทยได้เป็นอย่างดี


"พระองค์ทรงเห็นว่าการทอผ้าไหม เป็นมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น รวมทั้งขั้นตอนที่กว่าจะได้มาเป็นผืนผ้าต้องใช้ศิลปะและระยะเวลาที่ยาวนาน จนก่อเกิดเป็นลายผ้าที่งดงาม วิจิตรบรรจง มีลักษณะพิเศษเป็นเอกลักษณ์อันทรงคุณค่าของชาติ ควรได้รับการอนุรักษ์ให้คงอยู่ต่อไป จึงทรงทุ่มเทเสียสละพระวรกายและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ในการสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมมาอย่างยาวนาน รวมทั้งมีพระราชประสงค์ให้มีการประกวดผ้าไหม เพื่อกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาผ้าไหมไทยมาอย่างต่อเนื่อง จนผ้าไหมไทยได้รับการชื่นชมและการยอมรับจากนานาประเทศทั่วโลก"


การประกวดผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน การออกแบบชุดผ้าไหม และผลิตภัณฑ์หม่อนไหมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสืบสานพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนาคุณภาพและรูปแบบของสินค้าไหมไทยให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้ผลิตผลงานที่ดีให้เป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไป ซึ่งจากผลงานทั่วประเทศที่ส่งเข้ามาประกวดเป็นจำนวนมาก ทำให้เห็นถึงการตื่นตัวของเยาวชน กลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบกิจการผ้าไหมในการร่วมกันพัฒนาผ้าไหมไทยได้เป็นอย่างดี


ด้านนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า ผ้าไหมไทยเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกทั้งในด้านความสวยงาม และความมีเอกลักษณ์ การผลิตผ้าไหมไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลาน โดยมีการนำเอาประเพณีวัฒนธรรมเข้ามาผสมผสานในหัตถกรรมการผลิตผ้าไหมไทย เพื่อเป็นการสืบสานตามพระราชปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ


กรมหม่อนไหมจึงได้จัดให้มีการประกวดผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน การออกแบบชุดผ้าไหม และผลิตภัณฑ์หม่อนไหมระดับประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลงานด้านภูมิปัญญาการผลิตผ้าไหมไทย ให้ได้รับการเชิดชูและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนารูปแบบในการนำผ้าไหมมาใช้ในชีวิตประจำวัน อันจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าและสามารถขยายตลาดผ้าไหมไทยให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่ผู้ผลิตงานที่มีคุณภาพ


การประกวดครั้งนี้จัดแบ่งเป็น ๙ ประเภท สำหรับผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ผ้าไหมที่ชนะการประกวดระดับประเทศจะนำไปจัดแสดงในงาน “ตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย” ครั้งที่ ๙ ระหว่างวันที่ ๒๑-๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๗ ณ ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี.



ภาพและข้อมูลจากเวบ
thaipost.net
thainews70.com














"ละครเวที "ศรีบูรพา" บันทึกแห่งอิสรา”


ในห้วงที่เต็มไปด้วยการต่อสู้ทางความคิด มิตรกลายเป็นศัตรู นักสู้บางคนถูกจับกุมคุมขัง บ้างถูกปล้นวิญญาณไปซึ่ง ๆ หน้า ฝุ่นตลบฟุ้งเคืองตาจนไม่รู้ว่าทางข้างหน้าที่ รออยู่เป็นอย่างไร เราอาจคิดถึงใครสักคน ที่จะเป็นเหมือนแรงบันดาลใจ คนที่จะช่วยปลุกพลังในหัวใจให้ลุกโชนอีกครั้ง


เมื่อนั้นเราอาจคิดถึงชีวิตของ "กุหลาบ สายประดิษฐ์" หรือ "ศรีบูรพา" ผู้ที่บอกตัวเองและคนอื่นว่า "กรงขังไม่ใช่อุปสรรคแห่งเสรีภาพหรอก แต่จิตใจที่ยอมจำนนต่างหาก ที่ไร้อิสระที่จะเรียกร้อง ซึ่งความชอบธรรม"


ลึกเข้าไปในซอยพระนาง ถนนราชวิถี เขตพญาไท บ้านสีขาว ทรงฝรั่ง ตั้งเด่น อยู่กลางร่มไม้เขียวขจี บนชั้น ๒ ของบ้านมีระเบียงยื่นออกมาทางด้านหน้า มองเห็นสนามหญ้าขนาดไม่ใหญ่นัก แต่ดู น่ารักด้วยดอกไม้สีสดใสที่ปลูกแซมไว้โดยรอบ จนแทบดูไม่ออกว่าบ้านหลังนี้มีอายุเกือบ ๘o ปีแล้ว


ที่น่าสนใจกว่าตัวบ้าน คือเรื่องราวของ "กุหลาบ สายประดิษฐ์" นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ยุคบุกเบิก ผู้เป็นเจ้าของ ซึ่งแม้จะลงมือสร้างบ้านหลังนี้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง บนที่ดินซึ่ง ม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ มอบให้เป็นของขวัญในวันแต่งงานกับภรรยา "ชนิด สายประดิษฐ์"





แถลงเปิดตัวละครเวทีศรีบูรพา บันทึกแห่งอิสรา



แต่ก็มีโอกาสได้ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ไม่นานนัก ด้วยชะตาชีวิตที่พลิกผัน ทั้งถูกคุมขังอยู่ ในเรือนจำ และต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ เหตุเพราะการต่อสู้ด้วยอุดมการณ์อันแน่วแน่ และไม่เคยยอมแพ้ต่อความอยุติธรรมในสังคม


"ครั้งแรกที่ถูกจับเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๕ มีคนมาตะโกนเรียก คุณกุหลาบครับ คุณกุหลาบครับ คุณกุหลาบอยู่ไหมครับ คุณกุหลาบก็ออกมายืนดูที่ระเบียง ขณะนั้นคุณชนิดนอนอยู่ในบ้านก็ถามว่าใครมา คุณกุหลาบบอกว่าตำรวจมา ภรรยาไม่เชื่อเพราะยังเช้าอยู่ ไม่คิดว่าตำรวจจะมาล้อมบ้าน ครั้งนั้นคุณกุหลาบถูกจำคุก ๘๔ วัน แต่อัยการสั่งไม่ฟ้อง"


วาณี สายประดิษฐ์ ลูกสะใภ้ที่มีโอกาสได้ใกล้ชิดกับบุคคลทั้งสอง ก่อนที่ท่านจะถึงแก่กรรม ถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นในบ้านหลังนี้ ในช่วงที่กุหลาบถูกจับข้อหากบฏ หลังเขียนบทความคัดค้านรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ร่วมกับญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ และคัดค้านการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย


หลังออกจากคุกได้ไม่นาน พ.ศ. ๒๔๙๕ กุหลาบก็ถูกคุมขังอีกครั้ง ในกรณี "กบฏสันติภาพ" เคลื่อนไหวต่อต้านสหรัฐอเมริกาที่ใช้กำลังเข้าไปในเกาหลี ต้องโทษถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำบางขวางเกือบ ๕ ปี


แต่กรงขังก็ไม่ใช่อุปสรรคแห่งเสรีภาพอย่างที่กุหลาบว่าไว้ ระหว่างนั้นเขาได้ผลิตงานเขียนที่มีชื่อเสียงชิ้นหนึ่ง ในนามปากกา "ศรีบูรพา" นั่นคือนวนิยายเรื่อง "แลไปข้างหน้า" กล่าวถึงความแตกต่างระหว่าง เมืองกับชนบท การแบ่งแยกชนชั้น ทัศนคติ และค่านิยมที่ล้าหลังต่าง ๆ รวมถึงข้อเขียนต่าง ๆ อีกหลายเรื่อง


ราว ๑ ปีหลังพ้นโทษ ศรีบูรพานำคณะผู้แทนส่งเสริมและ แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไปเยือนสาธารณ รัฐประชาชนจีน ระหว่างนั้นทราบข่าวว่าทางเมืองไทยมีการปฏิวัติ


จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สั่งจับกุมคุมขังผู้รักประชาธิปไตยจำนวนมาก กุหลาบจึงตัดสินใจลี้ภัยอยู่ ในจีน และอยู่จนวาระสุดท้ายของชีวิต





๑.วาณี สายประดิษฐ์ ๒. กุหลาบ สายประดิษฐ์
๓. บินหลา สันกาลาคีรี ๔. ประดิษฐ ประสาททอง



ในโอกาสครบรอบ ๔o ปี การจากไปของกุหลาบ สายประดิษฐ์ สำนักพิมพ์ไรเตอร์ ร่วมกับคณะละครอนัตตา โดยการสนับสนุนของสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกันจัดการแสดงละครเวทีเรื่อง "ศรีบูรพา บันทึกแห่งอิสรา" เพื่อรำลึกถึงคุณูปการของกุหลาบ ต่อวงการวรรณกรรม สื่อมวลชน และสังคม


รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้กับสังคมไทยในภาวการณ์ปัจจุบัน ที่ศรัทธาหลายๆ ด้านสั่นคลอน และจริยธรรมของสื่อมวลชนถูกถามถึงมากที่สุดยุคหนึ่ง


งานแถลงข่าวจัดขึ้นอย่างเรียบง่ายที่บ้านศรีบูรพา เปิดตัวด้วยฉากที่กุหลาบได้ยินเสียงชายฉกรรจ์มาร้องเรียกอยู่หน้าบ้าน จึงออกมายืนดูที่ระเบียงบนชั้น 2 จากนั้นเป็นบทร้องโต้ตอบระหว่างกุหลาบ และภรรยา เนื้อหาสละสลวยตาม อย่างงานเขียนของศรีบูรพา และใช้ทำนองที่ร้องกันในช่วงหลังสยามเปลี่ยนแปลงการปกครอง


บินหลา สันกาลาคีรี บรรณาธิการนิตยสารไรเตอร์ ต้นคิดในการ จัดแสดงละครเวทีเรื่องนี้เล่าว่า เมื่อ ๔-๕ ปีที่แล้ว มีโอกาสได้ดูละคร เรื่องนี้แล้วครั้งหนึ่ง โดยครั้งนั้นจัดขึ้นในโรงละครขนาดเล็ก มีผู้ชมประมาณ ๓o-๔o คน แต่พลังของละครส่งมาถึงคนดูอย่างล้นเหลือ เมื่อมีโอกาส มีกำลัง จึงอยากจะนำละครเรื่องนี้ออกมาแสดงอีกครั้ง ให้ผู้ชมจำนวนมากได้เห็น


"ผมสรุปชีวิตของคุณกุหลาบว่า เป็นทั้งคนดี คนเก่ง และมีสุน ทรียะ ที่สำคัญคือเป็นคนกล้าหาญ และมีชีวิตไม่ได้โรย ด้วยกลีบกุหลาบเหมือนชื่อ" นักเขียนดังพูดถึงจุดเริ่มต้นของละครเรื่องนี้





(ซ้าย) บ้านศรีบูรพา (ขวา) มนทกานต์ รังสิพราหมณกุล



ด้านผู้รับหน้าที่เขียนบทและกำกับ การแสดง คือ ประดิษฐ ประสานทอง ผู้ก่อตั้งคณะละครอนัตตา และเคยนำชีวิตของ ศรีบูรพามาแสดงเป็นละครเวทีแล้วถึง ๒ ครั้ง


"คุณกุหลาบเป็นทั้งนักคิด นักเขียน นักต่อสู้เพื่อความชอบธรรมในสังคม มีความกล้าหาญที่จะยืนหยัดบนความถูกต้อง ในขณะเดียวกัน สิ่งที่คุณกุหลาบมีมากกว่านักข่าวคนอื่นๆ คือมีความเป็นศิลปินในการย่อยและกลั่นกรองถ้อยคำ บทความที่นำเสนอจึงไม่ได้เขียนอย่างทื่อ ๆ แต่มีชั้นเชิงของศิลปะ ซึ่งเป็นสุนทรียะที่จรรโลงสังคมให้งดงามด้วย"


"อีกประการคือ ไม่ว่าท่านจะอยู่ใน สภาวการณ์ใด ท่านจะมองโลกด้วยความหวัง มองโลกด้วยความสวยงาม และเห็นแสงสว่างอันริบหรี่ที่อยู่ในความมืดมนนั้นเสมอ"


ประดิษฐกล่าวถึงชีวิตอันเป็นแรงบัน ดาลใจ ก่อนอธิบายว่าช่วงชีวิตของศรีบูรพา ที่จะนำมาเสนอ คือช่วงที่ถูกจำกัดอิสรภาพทางกายอยู่ในคุก ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๕-๒๕oo


โดยนำเสนอให้เห็นว่า แม้ตัวจะถูกจำกัด แต่อิสรภาพทางความคิดไม่ได้ถูกจำกัด ไปด้วย ผลงานต่าง ๆ ยังคงได้รับการตีพิมพ์ อยู่สม่ำเสมอ ด้วยความสนับสนุนจากภรรยาที่ฟ้าส่งมาให้คู่กัน


"ทุกวันนี้เราอาจคุ้นชินกับสื่อที่ปลุกเร้า ให้ลุกขึ้นไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด โดยที่คิดน้อยลง ผมจึงอยากนำเสนอสื่ออีกชนิดหนึ่งที่ทำให้ คนนั่งนึก ตรึกตรอง และคิดให้มากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นช่องทางหนึ่งที่จะสร้างสมดุล ให้สถานการณ์ที่กำลังร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ได้" ผู้กำกับฯหนุ่มตั้งความหวัง


ส่วน มนทกานต์ รังสิพราหมณกุล ผู้รับบทเป็นภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของกุหลาบ เล่าความประทับใจว่า ชนิด สายประดิษฐ์ ไม่ได้เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคน เนื่องจากเป็นคนที่เข้มแข็งไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคในชีวิต และไม่ได้ช่วยเหลือเฉพาะสามีเท่านั้น แต่ตัวเองยังเป็น นักเขียนที่มีฝีมืออีกด้วย


"เรื่องราวในสังคมของเรามันซ้ำไปซ้ำมา สิ่งที่ทำให้คุณกุหลาบต้องเข้าไปอยู่ในคุกนานกว่า % ปี เป็นเพราะการแสดงความคิดเห็น ของนักเขียนคนหนึ่งที่มีต่อสังคม และสิ่งต่าง ๆ รอบตัว"


"การชมละครเรื่องนี้นอกจะได้เรียนรู้ชีวิตของคุณกุหลาบแล้ว ยังได้เรียนรู้ว่าเราต้อง เปิดใจรับฟังความแตกต่างจากทุกฝ่าย และ ในขณะเดียวกันก็ต้องกล้าแสดงความคิดเห็นที่ไตร่ตรองมาอย่างดีแล้ว ไม่ใช่ด้วยอารมณ์ หรือด้วยอคติ อย่าให้ใครในวันนี้หรือวัน ข้างหน้า จะต้องประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับที่ครอบครัวสายประดิษฐ์ประสบอีก" นักแสดงสาวฝากแง่คิด


ละครเวที "ศรีบูรพา บันทึกแห่งอิสรา" กำหนดแสดงในวันที่ ๒๘-๓๑ ส.ค. ที่ห้องสตูดิโอ ชั้น ๔ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร บัตรราคา ๖ oo บาท จองบัตรและดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุค







ภาพและข้อมูลจากเวบ
khaosod.co.th
เฟซบุคศรีบูรพาบันทึกแห่งอิสรา














"เทพธิดาผ้าซิ่น”


วันที่ : ๖ สิงหาคม - ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๗
สถานที่: People's Gallery P1-P2 ชั้น ๒
โดย ไพศาล สิงธรรม
พิธีเปิดนิทรรศการ วันอังคารที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๘.๓o น.


วัฒนธรรมอีสาน มีความงดงาม และเรียบง่าย เสื้อผ้า เครื่องแต่งกายล้วนถูกออกแบบได้วิจิตรบรรจง สาวอีสานนุ่งผ้าซิ่น ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่บ่งบอกถึงที่มาของพื้นถิ่น กิริยาอันอ่อนหวานเป็นอีกหนึ่งความงามที่เราสัมผัสได้ไม่ยาก ความงามเหล่านี้ช่างงดงามยิ่งนัก มันบ่งบอกถึงความพอดี ไม่ประดิษฐ์มากจนเกินไป เป็นความประทับใจที่ไม่อาจลืมเลือนได้โดยง่าย เพราะมันฝังรากลึกอยู่ในสายเลือดลูกหลานอีสาน


ผลงานจิตรกรรมชุด “ธิดาผ้าซิ่น” นี้กำลังเล่าเรื่อง “ความงามที่เรียบง่าย” ผ่านภาษาทางศิลปะ อากัปกิริยาของหญิงสาวที่นุ่งห่มเครื่องแต่งกายพื้นถิ่น โดยเฉพาะ “ผ้าซิ่น” ผ้าทอมือที่สวยงามวิจิตรบรรจง ผ่านกระบวนการมากมายกว่าจะได้มาซึ่งผ้าให้สวมใส่ แต่ทว่านำเสนอโดยการสวมใส่ที่เรียบง่าย


ผลงานงานจิตรกรรมชุดนี้ จึงเป็นภาพสะท้อนความงาม ที่เกิดจากความพอดี ทั้งยังพยายามให้เห็นถึง ความสำคัญชองชีวิตชนบทที่มีความพอเพียง ไม่อยากได้เกินความจำเป็น หญิงสาวในภาพจิตรกรรมเหล่านี้ จึงเป็นภาพตัวแทน ให้เราหันกลับไปมองวัฒนธรรมที่งดงาม ไม่ใช้เพียงอิสาน แต่เป็นวัฒนธรรมพื้นถิ่นทั่วไป และหวังกระตุ้นให้เราหันกลับมามอง ให้เห็นถึง “ความสุขที่ยั่งยืน และเรียบง่าย” เพราะเราต่างก็ปรารถนาความสุข แต่เราอาจลืมไปว่ามันเริ่มต้นจากความเรียบง่าย ภายในตัวเรานี้เอง


ภาพและข้อมูลจากเวบ
bacc.or.th














"Experimental Video Art Exhibition, Thai-European Friendship 2004-2014 (EVA project)”


วันที่ : ๑๘ กรกฎาคม - ๗ กันยายน ๒๕๕๗
สถานที่: ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น ๗
โดยฝ่ายนิทรรศการ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ อาจารย์คมสัน หนูเขียว
พิธีเปิดงาน ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๗


เป็นโครงการที่ถูกทำขึ้นทุก ๆ ปี โดยเป็นการนำเสนอผลงานวีดีโอจากประเทศไทย และจากประเทศในแถบยุโรป โดยเริ่มต้นโครงการมาถึงปัจจุบันเป็นเวลา ๑o ปี แล้ว ซึ่งโครงการนี้ได้มุ่งประเด็นไปที่สุนทรียศาสตร์ และเนื้อหาของเทคนิควีดีโอ อันเป็นมีเดียที่สำคัญประการหนึ่งในโลกศิลปะปัจจุบัน โดยตัวของมันเองมีส่วนร่วมแสดงอย่างมากต่อโลกศิลปะร่วมสมัย หรืออาจจะมากกว่ามีเดียแบบเก่า (เทคนิค Painting, Print making, Sculpture) โดยวีดีโอมักใช้เทคนิคสมัยใหม่ ผ่านการคำนวนทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งใช้พื้นฐานของสุนทรีย์ศิลปะเป็นตัวแสดงออก และผลพวงจากสิ่งเหล่านี้นั้นมาจากสภาพแวดล้อมของเรา ๆ ทีมีชีวิตอันเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน โดยในประเทศไทย วีดีโอ อาร์ต (Video Art) ยังไม่ได้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในทางศิลปะนัก


โครงการ EVA ในตลอด ๑o ปีของโครงการ มีความตั้งใจที่จะแสดงให้เห็นถึงรูปแบบวีดีโอ ที่ศิลปินใช้ในปัจจุบัน และสำหรับการแสดงในประเทศไทย ทั้งนี้มีมหาวิทยาลัย ๙ แห่ง เข้าโครงการอันประกอบด้วย คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, คณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, วิทยาลัยช่างศิลป ลาดกระบัง, สาขาศิลปกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, คณะวิจิตรศิลป มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, คณะมนุษย์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี สมุทรปราการ, คณะศิลปวิจิตร สถาบัณฑิตพัฒนศิลป์ ศาลายา


วัตถุประสงค์ของโครงการเป็นการจัดขึ้นทุก ๆ ปีนั้นได้แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายจากผลงาน ทั้งจากผลงานของศิลปินนานาชาติ ผนวกกับผลงานของศิลปินไทย และนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลงานที่ทำผ่านเทคนิควีดีโอ โดยเฉพาะผลงานเหล่านี้จะเป็นตัวแสดงถึงสิ่งที่พวกเขาเกี่ยวข้อง ตลอดจนชี้ให้เห็นถึงวิธีคิดทฤษฎีต่าง ๆ โดยเฉพาะในความหลากหลายของพฤติกรรมที่สะท้อน และได้รับอิทธิพลจากเทคโนโลยีที่อยู่รอบ ๆ ตัวพวกเรา ผ่านการรับรู้และสุนทรีย์ทางศิลปะ โดยได้เชิญศิลปินชาวยุโรปผู้ซึ่งอาศัยและทำงานในประเทศเหล่านั้น อาทิ ศิลปินจาก เยอรมนี, ออสเตรีย, อิตาลี, สวิตเซอร์แลนด์, สโลเวเนีย, อังกฤษ และประเทศอื่น ๆ ในบริเวณโดยรอบ โดยสไตล์รูปแบบและขบวนการการทำงานได้บ่งบอกถึงความหลากหลาย โดยเบื้องหลังการแสดงออกผ่านทางวัฒนธรรม ขนมธรรมเนียม ประเพณี และความสนใจของศิลปิน ซึ่งประด็นต่าง ๆ เหล่านั้นชี้ให้เห็นการแก้ปัญหาอันเกี่ยวข้องกับสถานที่ เวลา ตามภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ตลอดทั้งศิลปินต่าง ๆ ที่มีส่วนร่วมในโครงการ ต่างมีความหลากหลายของพื้นเพ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราตั้งใจ เพื่อเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ในการทำความเข้าใจของความแตกต่างของวัฒนธรรมตลอดทั้งสุนทรีย์ศิลปะ


เพื่อเปิดโลกทัศน์ในระดับนานาชาติ และเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ในระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยด้วยกัน และต่อสถาบันการศึกษาในต่างประเทศให้แน่นแฟ้นมากขึ้น อาทิสถาบัน Academy of Fine Arts, Vienna, Austria, Academy of Media Arts, Cologne, Germany


จุดมุ่งหมายของเราเป็นบริบทหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพการศึกษาในประเทศไทย วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันซึ่งมีส่วนสำคัญต่อระบบการศึกษาศิลปะเป็นอันมาก โดยโครงการเป็นความตั้งใจประการหนึ่งเพื่อเปิดโอกาศแก่นักศึกษาได้ทำความเข้าใจ และรู้จักผลทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน ซึ่งที่โครงการถูกทำขึ้นมาตลอดทั้ง 10 ปีที่ผ่านมา และยังได้ให้การศึกษาเพิ่มความรู้ต่อมีเดียสมัยใหม่แก่นักศึกษาและผู้สนใจ และยังเป็นการร่วมมือเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างศิลปินไทย และศิลปินต่างประเทศด้วยอีกประการหนึ่ง อันได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าโครงการได้ประสบความสำเร็จจากการแสดงที่ผ่านมา โดยหวังว่าในอนาคตตัวโครงการจักนำพาสู่ความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น


ภัณฑารักษ์
คมสัน หนูเขียว
พาสเคาร์ เฟนเดริก
ซาบีน่า มาร์ทะ

รายนามศิลปิน

อเล็ก เฮม/ อันจา เคาอท์กาสเนอร์ซ/ อานนท์ ไชยแสนสุข, รัชต์ จุลชาต, ณัทภัทร ธรรมศาสน์, ณภัทร วัฒนกุลจรัส และบวร ขจรพันธุ์พงศ์/ อานนท์ นงเยาวน์/ บาบาร่า สตอร์ม/ บิลลี่ โรอส / โบริส อิมซสเช่/ ชญานิษฐ์ วงศ์ทองดี/ เดเนียร์ เบอร์ฮาดท์/ ดาร์ริอุสซ โควาล์ซขี/ ดาร์วิด ลาซเชอร์/ โดเร็กค์ โรเบอร์/ ดีเตอร์ โควาซ์/ โดริส ชามิสน์/ แอร์เบอท์ มิทเทลล์ชตัดท์/ เอวา วายนิการ์ทเน่อร์/ เอว่ามาเรีย ชาลคเล่อร์/ เกราร์ด ซาฮน์/ เกร์ทรูเดอ์ โมเซอ์-เวกจเนอร์/ จูริอาร์โน่ เวซ/ โกลว์ โบเอค์เล่อร์/ ฮารอล์ด ฮุน และพอลร์ โฮนน์/ เฮซอล คิม/ ไฮดรุนท์ โฮสฟายทด์/ ไฮดรุนท์ โฮสฟายทด์ และคริสท๊อฟ ดาร์อเกอร์/ อิทธิพล เชื้อทอง/ จาน อาร์ท/ ยัน มาฮาเชค์/ เจตน์ อยู่ยิ้ม/ จิฮเย พาร์ค/ โยฮัน ลูร์ฟ/ โจฮันน์ ลูรส/ จูเรีย วายด์เน่อร์/ จุงน์ ยังจ/ คณากร คชาชีวะ/ คาร์ริน ฟิชซทาเร่อร์/ คาร์ อินเกอร์ ลอยซ์/ เคทท์ พิเคอริงจ์/ เคอเทอร์รีนน่า ฮูเบอร์/ แข มังกรวงษ์/ กิตติ ศรมณี/ คมสัน หนูเขียว/ โฆษิต จันทรทิพย์/ ลีน่า ดิทเทอ นิสเซน/ ลีโอพอร์ด เคซ์เล่อร์/ ลีอา/ มากิ ซาตาคิ/ มานูเอล คเนพ/ มาเรีย เพทชเช่ซ์/ มาเตจ์ โมดรเจค/ มาทิอัส นอยอ์โฮเฟอร์/ เมนโน อาเดน/ มีเรียม ไบทาลา/ น้ำฝน อุดมเลิศรักษ์/ นันธนาส อินธิอัมพันธ์/ ณัฐณรัณ บัวลอย/ นวรัตน์ กาญจนินทุ/ นิโคล์ ชาดท์/ นิธิพัฒน์ หอยสังข์ทอง/ นงลักษณ์ ตรีธนาโชติ/ นอร์เบอร์ท พาร์เฟนท์บิสชเร่อร์/ โอริเว่อร์ สเตาทซ์/ อรวรรณ อรุณรักษ์/ ภาณุ แสง - ชูโต/ พาสเคาร์ เฟนเดอร์ริค/ พาสเคาร์ เฟนเดอร์ริค และเบอร์ ฮัพพ์เฟอร์/ พศุตม์ กรรณรัตนสูตร/ ปีเตอร์ คอนราด เบเยอร์/ ฟิลลิปพ์ แมสเซอร์/ พิริยะ อุ้ยไพบูลย์สวัสดิ์/ พุฒิพงศ์ พิสิฐกุลภาคย์/ รีมัส ซากาเลาซคาร์ส/ โรเบอรท์ วาเทอร์/ ซาบีน่า มาร์ทา/ ซูซานเน่ ชูอดา/ ซูซี่ เจร์คูสส์/ เทสซ่า คเนพ/ ธีรวัฒน์ เมษะสิทธิวิทย์/ โทรสเทน ชเนอเดอร์/ ทีน่า เฟงท์ค/ ทินทิน คูเพอร์/ ทักษิณา พิพิธกุล/ อัว โดมินโก เกนัด/ วุฒิกร คงคา/ โยชิฮิสะ นากานิชิ/ยุทธชัย ตั้งวงษ์เจริญ


นิทรรศการดำเนินงานโดย
ฝ่ายนิทรรศการ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ อาจารย์คมสัน หนูเขียว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
๙๓๙ ถนนพระราม ๑ แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ๑o๓๓o
โทรศัพท์ o๒-๒๑๔-๖๖๓o – ๘ โทรสาร o๒-๒๑๔-๖๖๓๙
bacc.or.th
เฟซบุคหอศิลป์กทม.


ภาพและข้อมูลจากเวบ
bacc.or.th




บีจีจากคุณเนยสีฟ้า ไลน์จากคุณญามี่ กรอบจากคุณ Hawaii_Havaii

Free TextEditor




Create Date : 20 กรกฎาคม 2557
Last Update : 20 กรกฎาคม 2557 17:55:07 น. 0 comments
Counter : 4054 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.