happy memories
Group Blog
 
<<
กันยายน 2557
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
14 กันยายน 2557
 
All Blogs
 
เสพงานศิลป์ ๑๔o




ภาพจากเวบ deviantart.com





"ฉันได้จากโลกนี้ไปแล้วโดยไม่เสียใจ

เพราะฉันได้อุทิศชีวิตของฉันให้กับ

บางสิ่งที่เป็นประโยชน์

ในฐานะเป็นผู้รับใช้ที่ต่ำต้อย

ในงานศิลปของฉัน

ชีวิตนั้นสั้น....แต่ศิลปะยืนยาว


ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี





Romance - Yuhki Kuramoto






2


รำลึก ๑๖๑ ปี พระพุทธเจ้าหลวง งานร้อยศรัทธาของคนสีชัง


เกาะสีชังไม่ได้เป็นเพียงแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง หากใครไปเยือนในช่วงวันที่ ๑๙-๒o กันยายนนี้ ก็จะได้เห็นประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานของเกาะสีชัง อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ใน งานรำลึก ๑๖๑ ปี วันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระปิยมหาราช เกาะประวัติศาสตร์แห่งนี้มีความสัมพันธ์กับองค์พระมหากษัตริย์ของไทยหลายรัชกาล โดยเฉพาะ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระจุฑาธุชราชฐานขึ้น ถือเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นอยู่คู่เกาะสีชังมาจนถึงปัจจุบัน


งานรำลึก ๑๖๑ ปี วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระปิยมหาราช เป็นงานที่เทศบาลบตำบลเกาะสีชังและชาวเกาะสีชังจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ ๑๕ มีการน้อมรำลึกถึงบุญบารมีและวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งพระองค์พระราชสมภพเมื่อวันอังคาร เดือน ๑o แรม ๓ ค่ำ ปีฉลู ตรงกับวันที่ ๒o กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๖ ชาวสีชังทั้งเกาะจะร่วมพิธีบวงสรวงและถวายราชสักการะด้วยดอกกุหลาบสดสีชมพูต่อพระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ ณ พระจุฑาธุชราชฐาน


มีการแสดง แสง เสียง และสื่อผสม ชุด "ร้อยดวงใจ ร้อยศรัทธา ปวงประชาน้อมรำลึก พระพุทธเจ้าหลวง" เป็นโอกาสที่ทุกคนจะได้ซาบซึ้งถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และซึมซับเรื่องราวเกาะสีชังอย่างตระการตา สื่อแทนความรักและเทิดทูนต่อพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถ งานรำลึกจึงทำอย่างงดงามที่สุด ไม่นับการแต่งกายย้อนยุค ทั้งข้าราชการ ขุนนาง ชาวเกาะสีชัง ที่สร้างบรรยากาศไม่ต่างจากอดีตมากนัก บนเวทีตลอด ๒ วัน จัดการแสดงศิลปวัฒนธรรมสร้างความสุขให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปร่วมงานปีนี้


ดำรงค์ เภตรา นายกเทศมนตรีตำบลเกาะสีชัง กล่าวว่า งานรำลึก ๑๖๑ ปี พระปิยมหาราชในปีนี้ ชาวเกาะสีชังจัดงานแทนความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงได้พัฒนาและสร้างความเจริญ สร้างโบราณสถาน โบราณวัตถุขึ้นที่เกาะสีชังอย่างมากมาย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการตรวจทำแผนที่หยั่งน้ำสำรวจหินโสโครก วางทุ่นเหล็ก นอกจากนี้ ทรงรังสรรค์ตึกวัฒนา ตึกผ่องศรี ตึกอภิรมย์ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดอัษฎางคนิมิตร บ่ออัษฎางค์ สะพานอัษฎางค์ ศาลศรีชโลธรเทพ อัษฎางค์ประภาคาร เสาธงอัษฎางค์ พระจุฑาธุชราชฐาน ที่ทุกคนได้เห็น การพัฒนาเหล่านี้ส่งผลให้เกาะสีชังเป็นดุจทิพย์สถานที่ได้รับการเสกรังสรรค์เป็นมรดกของแผ่นดินไทย


"ชาวเกาะสีชังร่วมใจจัดงานวันรำลึก ระหว่างวันที่ ๑๙-๒o กันยายน นี้ ที่พระจุฑาธุชราชฐาน ใครมาร่วมงานเหมือนได้ย้อนรำลึกประวัติศาสตร์ หลายคนรู้จักชื่อเกาะสีชัง แต่ไม่รู้ประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรม ที่สืบทอดมา เทศบาลตำบลเกาะสีชังเตรียมกิจกรรมมากมายให้ความรู้กับคนรุ่นใหม่หรือนักท่องเที่ยว เราส่งเสริมให้เยาวชนได้เรียนรู้เรื่องอดีตควบคู่กับการพัฒนา รวมถึงช่วยกันดูแลโบราณสถาน ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติรอบเกาะสีชัง" นายกเทศมนตรีตำบลเกาะสีชัง และประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอเกาะสีชัง ชวนคนไทยร่วมเดินทางมาแสดงความจงรักภักดีต่อพระพุทธเจ้าหลวงของไทย


งานนี้ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของเกาะสีชังบนพื้นฐานของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การจัดงานอย่างต่อเนื่อง เนื่องจาก จ.ชลบุรีมีศักยภาพและความพร้อมด้านการท่องเที่ยวทางภาคตะวันออก นอกจากนี้ ในการจัดการงานดังกล่าวชวนให้มีการแต่งกายย้อนยุคสมัยรัชกาลที่ ๔ รัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ หรือใครจะสวมใส่เสื้อผ้ามันหลากสีเข้าร่วมก็เข้าบรรยากาศ จะมีเสื้อผ้ามันขายที่ซุ้มประตูทางเข้างาน มีอาหารอร่อยของดีสีชังชวนชิมในงานมากมาย


ด้านการบริการสู่เกาะสีชัง มีเรือโดยสารบริการผู้ที่ไปร่วมงานฟรี วันที่ ๑๙ กันยายน เกาะลอย-เกาะสีชัง เวลา ๑๗.๓o น. เกาะสีชัง-เกาะลอย เวลา ๒๓.oo น. และเวลา ๒๔.oo น. วันที่ ๒o กันยายน เกาะลอย-เกาะสีชัง เวลา ๑๕.oo น. และ ๑๗.oo น. เกาะสีชัง-เกาะลอย เวลา ๒๒.oo น., ๒๓.oo น., ๒๔.oo น. และเวลา o๑.oo น. เดินทางนอกเวลาที่กำหนด เสียค่าโดยสารตามปกติ.







พระบรมฉายาลักษณ์และข้อมูลจากเวบ
ryt9.com
ohio5.org
chula.ac.th














เรื่องเล่าจากโต๊ะทรงงาน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ


ตลอดเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเยี่ยมเยือนพสกนิกรชาวไทยมาแล้วทุกหนแห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทห่างไกลและทุรกันดาร ทรงตรากตรำพระวรกาย บุกป่าฝ่าดง ขึ้นเขาลงห้วย เพื่อจะได้ทรงทราบถึงปัญหาทุกข์ร้อนของราษฎรด้วยพระองค์เอง และพระราชทานความช่วยเหลือที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาแท้จริง เพื่อให้พสกนิกรของพระองค์มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น พออยู่พอกิน และเป็นรากฐานไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างมั่นคงยั่งยืน






เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๒ พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง จัดงานเสวนา “สิ่งที่แม่สอน : เรื่องเล่าจากโต๊ะทรงงาน” เพื่อร่วมเผยแพร่พระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรไทย ในฐานะรองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ “ท่านผู้หญิงภรณี มหานนท์” ซึ่งถวายงานด้านการต่างประเทศ และนั่งประจำโต๊ะทรงงาน ขณะเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปเยี่ยมราษฎรตามถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ






บอกเล่าถึงน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยราษฎรว่า พระองค์ทรงมีวิธีการทรงงานและให้ความช่วยเหลือราษฎรอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยก่อนที่จะเสด็จฯในแต่ละพื้นที่ จะทรงส่งทีมล่วงหน้าไปสำรวจเพื่อซักถามเก็บข้อมูลเบื้องต้นว่า ชาวบ้านเป็นใครมาจากไหน มีความทุกข์ร้อนเรื่องใดบ้าง ในทีมล่วงหน้าจะมีทั้งกองราชเลขานุการฯ, หน่วยงานทหาร, หน่วยแพทย์, เจ้าหน้าที่เกษตร และเจ้าหน้าที่ประมง เมื่อพระองค์เสด็จฯ มาถึง คณะสำรวจจะคัดชาวบ้านที่ทุกข์ยากสุดขึ้นไปเข้าเฝ้าฯ เป็นกลุ่มๆ


พระองค์ทรงสอนว่า คนเราดูจากเสื้อผ้าไม่ได้หรอก การจะคัดเลือกคนเข้าเฝ้าฯ จึงต้องดูจากแววตาของเขา คนเรามีสุขหรือทุกข์จะแสดงออกทางสีหน้าแววตา โดยจะทรงซักถามรายละเอียดเพิ่มเติมด้วยพระองค์เองทุกครั้ง ใครมีปัญหาอะไร ทำมาหากินอะไร ใช้ชีวิตกินอยู่อย่างไร จากนั้น ก็จะทรงจดบันทึกอย่างละเอียด และหาทางแก้ปัญหาให้พวกเขาทันทีโดยไม่รั้งรอ หากเป็นปัญหาใหญ่ก็จะทรงนัดแนะไปสำรวจในภายหลัง และทรงติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง






“ท่านผู้หญิงภรณี” บอกเล่าอีกว่า เวลาทรงงานจะประทับกับพื้น ไม่ได้ประทับกับเก้าอี้ จะมีพรมปูและมีเบาะบางๆ สำหรับประทับพับเพียบ มีสมุดจดกับปากกา แฟ้มประวัติ แล้วก็มีโต๊ะเตี้ยๆ อยู่ตรงหน้า เพื่อทรงงานกับชาวบ้านที่หมุนเวียนเปลี่ยนกันเข้ามาทีละคนทีละกลุ่ม โดยไม่ทรงลุกไปไหนนานนับ ๔-๕ ชั่วโมง พระองค์ทรงจำเรื่องราวของประชาชนได้หมด บางรายทรงจำชื่อได้ด้วยซ้ำ นอกจากนี้ ยังทรงมีพระปรีชาสามารถในการซักถามเรื่องราวชีวิตของประชาชนได้ละเอียดลึกซึ้ง และสามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อให้การช่วยเหลืออย่างถูกวิธี






ใครที่เคยตามเสด็จฯ จะได้เห็นจนเจนตา เวลาที่ทรงงานประทับพับเพียบนานหลายชั่วโมง บางครั้งถึงเที่ยงคืนมืดค่ำ หากงานไม่เสร็จ จะไม่ทรงหยุดพักเลย พระทัยจดจ่ออยู่กับงาน และจดจ่ออยู่กับการบำบัดทุกข์ให้ประชาชน โต๊ะทรงงานของพระองค์มิได้โก้หรูแต่อย่างใด ทว่า โต๊ะทรงงานของพระองค์ คือ ทุกที่ทุกถิ่นทั่วไทยที่มีราษฎรยากจนที่สุดทุกข์เข็ญที่สุดอาศัยอยู่.







พระฉายาลักษณ์และข้อมูลจากเวบ
welovethaiking.com/














ฝากไว้ในทางศิลป์ ๘o ปี ทวี รัชนีกร


"วิถีไทยแบบ หัวหก ก้นขวิด" อีกหนึ่งชื่อไทย ๆ ของนิทรรศการศิลปะที่คนหัวใจศิลป์ภายใต้รูปลักษณ์หนวดเครายาวถือไม้เท้าคู่ใจ ทวี รัชนีกร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปั้นแต่งขึ้นจากมุมมองส่วนตัวอันสะท้อนเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตลอด ๘o ปีที่เขาคลุกคลีอยู่ในแวดวงศิลปะ เนื้อหลัก ๆ ปกคลุมไปด้วยปรัชญาการใช้ชีวิต การประชดประชัน อีกทั้งวิถีการเมืองอันยุ่งเหยิงในช่วงวิกฤติที่คนในชาติพยายามควานหาทางออก ทั้งหมดนี้เล่าเรื่องอย่างเข้มข้นภายในนิทรรศการที่จบลงไปแล้วบริเวณโถงแสดงนิทรรศการ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า


ศิลปินชั้นครูอันมีทางศิลป์เฉพาะตัว เผยจากใจว่า ในโอกาสเดินทางมายาวนานถึง ๘o ปีว่า ได้เอาพลังชีวิตมาให้คนดู เอาสุนทรียภาพมานำเสนอ เพราะมนุษย์จะเป็นมนุษย์ได้ ไม่ใช่แค่ดำรงชีวิตอยู่เท่านั้น ต้องมีสัจจะ ธรรมะ และสุนทรียะ นั่นคือความจริง ความดี ความงาม เป็นแก่นแท้ของชีวิต ต่างจากสัตว์ที่มีเพียงสัญชาตญาณ ดังนั้นจึงต้องดำรงชีวิตให้อยู่ได้ แต่ต้องตั้งคำถามให้ตัวเองว่าอยู่เพื่ออะไร






"เราต้องแสดงคุณค่าของมนุษย์ตลอดชีวิต มนุษย์ไม่ใช่แค่กิน นอน สืบพันธุ์ หรือแสวงหาทรัพย์เพื่อความอยู่รอดเท่านั้น ต้องแสวงหาคุณธรรมด้วย ทั่วโลกคิดได้นานแล้ว แต่เรายังหลงอยู่ในวังวน สุดท้ายกลายเป็นประเทศที่ไร้สาระ สำหรับผมหัวหกก้นขวิดมาตลอดชีวิต เคยเข้าคุกเข้าตารางมาแล้ว เหมือนบ้านเมืองเราที่หัวหกก้นขวิดเพราะไปไม่ถูก เสรีภาพไปยังไง เรื่องศาสนา ศิลปะ การศึกษา การพัฒนาประเทศไปอย่างไร ไม่มีใครตอบได้" เจ้าของนิทรรศการชื่อแปลก กล่าว


หากนับจำนวนชิ้นงานที่เขาบรรจงสร้างสรรค์มาตลอดชีวิตคงไม่ถ้วน เจ้าตัวจึงเลือกมาเพียง ๓oo ชิ้นเพื่อสื่อสารกับคนดู อย่างผลงานสะท้อนความเห็นแก่ได้ของมนุษย์ชื่อ "ป่าตาย คนตาย" ศิลปินยอมรับว่าทนเห็นความไม่ถูกต้องไม่ได้ ตั้งแต่การสร้างเขื่อนแล้วไปทำลายแม่มูล ทำลายวิถีชีวิตชาวบ้าน ซึ่งผลงานลักษณะนี้ยังมีอีกหลายชิ้น แต่ไม่อาจนำมาจัดแสดงได้ทั้งหมด แต่ละเส้นสีต้องการบอกว่าตัวเองคลุกคลีตีโมงกับนักอนุรักษ์ป่าจนสามารถเห็นปัญหาที่รุนแรง เหนืออื่นใดแรงบันดาลใจมาจากความศรัทธาในตัว สืบ นาคเสถียร นักอนุรักษ์ในตำนาน ซึ่งถ้าไม่มีการต่อต้านกลุ่มคนทำลายป่าก็เหมือนเป็นการยอมให้ถูกตัดหัวเสียบประจาน






สังเกตให้ดีสไตล์การทำงานของ อ.ทวี เน้นการสื่อความหมายให้แรง โดยเฉพาะในส่วนของจิตรกรรมให้อารมณ์รุงแรงมาก ศิลปินจึงต้องลดทอนความร้อนลงด้วยศิลปะเชิงสามมิติอย่างประติมากรรม อาจเพราะตัวเขาเองเป็นผู้บุกเบิกหัตถกรรมดินเผ่าด่านเกวียนด้วย จึงอยากสร้างสรรค์ออกมาให้มีหลากหลายมุมมอง พร้อมหยิบจับวัสดุใกล้ตัวมาทำชนิดที่ไม่ต้องให้พิสดารก็สามารถความหมายออกมาได้ลึกซึ้ง


และในความเป็น ทวี รัชนีกร หากไม่มีงานชิ้นขนาดใหญ่หลายเมตรก็ดูเหมือนจะขาดความสมบูรณ์ จึงได้เห็นภาพวาดแนวล้อการเมืองขนาดยักษ์ เด่นสะดุดตาเชิญชวนให้ก้าวเท้าเข้าไปพินิจวิเคราะห์ใกล้ๆ โดยศิลปินชั้นครูอธิบายว่า ภาพนี้สร้างสรรค์ขึ้นขณะเกิดวิกฤติการเมืองครั้งสำคัญเมื่อ ๒-๓ ปีก่อน ภายใต้สีสันดุเดือดสะท้อนว่าผู้คนที่รับกรรมที่สุด หรือ "เหยื่อการเมือง" คือผู้เดินขบวนชุมนุม ผิดจากนักการเมืองหรือนักธุรกิจผู้ได้รับผลประโยชน์ที่ไม่เดือดร้อนอะไรเลย






"ภาพนี้ผมเขียนก่อนที่เขาจะฆ่ากันนะ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ผมเกลียดมากนะคนที่ฆ่าฟันกัน ผมจะหยุดเขียนเลย ผมสงสาร ไม่ชอบ ผมชอบสันติภาพ แต่นี่ผมรู้ว่าในที่สุดพวกเขาต้องมีจุดจบอย่างไร ผมวางจุดยืนให้ตัวเองเกี่ยวกับการเมืองว่า งานศิลปะไม่มีเป้าหมาย แต่เป็นกระบวนการทำงาน กระบวนการทางศิลปะ หรือศิลปินที่ทำงานศิลปะก็ทำไปเรื่อย ๆ อะไรมากระทบก็ทำ บางครั้งอยากกระทบธรรมะก็ทำ อย่างงานหลายชิ้นก็เกี่ยวกับการปลง" เจ้าของผลงาน บอกพร้อมกับเสริมว่าบนถนนสายนี้ถ้าเคยเห็นภาพของปีกัสโซ่ ที่วาดคนออกมาทำตาลุกโพลง ไม่ใช่เพราะกลัว แต่เพราะเห็นแล้วอยากทำงานศิลปะออกมามาก ๆ เช่นเดียวกับตัวเองอายุ ๘o ปีแล้วยังอยากทำอะไรอีกมากหากไม่ตายเสียก่อน






"ไมเคิล แองเจโล่ บอกว่า ศิลปะมีแต่หัวไม่มีหาง จนเดียวนี้ก็ยังไม่จบ ถ้าผมตายงานก็ยังค้างอยู่ ถ้าใครเห็นมีค่าก็สืบต่อไป ฉะนั้นจึงต้องมีพิพิธภัณฑ์ศิลปะในเมืองไทย ผมเริ่มทำงานศิลปะมาหลายทศวรรษ ถ้ามีสถานที่เก็บสำหรับให้คนได้เรียนรู้เหมือนต่างประเทศเราก็จะพัฒนาไปได้ แต่เมืองไทยปัจจุบันเราไปไม่ถูกเหมือนหัวหกก้นขวิด เมืองไทยถือว่าไม่มีพิพิธภัณฑ์ศิลปะเลย อย่างของคุณบุญชัย เบญจรงคกุล ก็เป็นส่วนตัว ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะของผมที่นครราชสีมามีคนไปดูกันเยอะ คนหิวกระหายศิลปะ" ศิลปินวัยไม้ใกล้ฝั่ง สะท้อนมุมมอง


ท้ายสุดแล้ว อ.ทวี บอกว่าทุกวันนี้ใช้ชีวิตอยู่กับศิลปะ เพราะเวลาเหลือน้อยเต็มที จะเดินตาม ศ.ศิลป์ พีระศรี ที่จริงจังและอุทิศชีวิตเพื่อศิลปะ พร้อมกับฝากถึงศิลปินรุ่นเยาว์ว่า ถ้าเชื่อมั่นว่าอยากเป็นศิลปิน รักศิลปะ จงทุ่มเท ฟันฝ่าความยากลำบากให้ได้ อย่าคิดว่าเป็นศิลปินแล้วจะรวย ไม่จนก็บุญแล้ว...



ภาพและข้อมูลจากเวบ
komchadluek.net














เปิดคุณค่าเมืองเชียงใหม่ สู่เส้นทางขึ้นมรดกโลก


ในวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๗ ที่โรงละครวังหน้า ใกล้โรงละครแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเสนอเมืองเชียงใหม่สู่มรดกโลก กำหนดจัดการประชุมครั้งใหญ่หัวข้อ "เชียงใหม่สู่มรดกโลก" เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงและหลักฐานสำคัญใช้นำเชียงใหม่สู่การขึ้นบัญชีของสหประชาชาติ หรือยูเนสโก


โครงการผลักดันเมืองเชียงใหม่สู่มรดกโลกเพื่ออนุรักษ์และพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมของล้านนา ทั้งด้านสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม กลุ่มคณะกรรมการโครงการเคลื่อนไหวรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนจัดทำเอกสารเสนอเชียงใหม่เข้าสู่กระบวนการมรดกโลกในขั้นแรก โดยคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จัดประชุมนำร่อง เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ตั้งแต่วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๖ พบว่า ร้อยละ ๙๗ ยินดีต่อการพัฒนาเมืองเชียงใหม่สู่การเป็นเมืองมรดกโลก แล้ววันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๖ ที่ประชุมพระสังฆาธิการทั่วจังหวัดใหม่ยังลงมติร่วมผลักดันเข้ามรดกโลก ฟันธงได้ว่าคนจำนวนมากเห็นด้วยกับการเสนอครั้งนี้


อนันต์ ลี้ตระกูล ผู้ริเริ่มโครงการเชียงใหม่สู่มรดกโลก โดยการหาการสนับสนุนจากบุคคลและหน่วยงานในการเดินทางสู่ความเมืองมรดกโลก เขาเชิญสาวิตรี สุวรรณสถิตย์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโกของไทย และที่ปรึกษากระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมแนะนำแนวทางจัดทำเอกสารจนข้อเสนอเสร็จ และให้คณะวิจิตรศิลป์ มช. สนับสนุนโครงการนำข้อเสนอต่อไปยังกรมศิลปากรและคณะอนุกรรมการมรดกโลก ในที่สุดได้มติอนุมัติให้เชิดชูเชียงใหม่เป็นมรดกโลก และเสนอต่อไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๗ ก้าวต่อไปคือการเสนอของรัฐต่อยูเนสโก ซึ่งเป็นเรื่องต้องใช้เวลา


อนันต์มองเชียงใหม่เป็นมรดกโลกในสองเหตุผล ด้านหนึ่งคืออยากให้ประชาคมโลกได้รับรู้ถึงอัจฉริยภาพพระเจ้ามังราย ผู้เสาะหา "ชัยภูมิ" สร้างเมืองหลวงที่เจริญรุ่งเรืองมาถึง ๗oo ปี จนทุกวันนี้ อีกด้านหนึ่งอยากให้โลกรับรู้ถึงความสวยงามและวิถีชีวิตของคนเมืองเชียงใหม่ พระเจ้ามังรายใช้หลักคุณธรรมนำเมือง เมืองที่มีเนื้อที่เพียง ๑ พันไร่ แต่มีวัดอยู่ถึง ๕๑ วัด อบรมบ่มเพาะชาวเมือง เกิดวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม เขามองว่าการขึ้นบัญชีมรดกโลกจะสร้างสมดุลระหว่างอดีตกับอนาคต และความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจกับความสมบูรณ์ทางวัฒนธรรมได้


ด้าน เอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากรมีแหล่งมรดกวัฒนธรรมจำนวน ๑๔ แห่ง ที่เป็นไปได้ในการเสนอเข้าสู่บัญชีรายชื่อชั่วคราวของคณะกรรมการมรดกโลก ปรากฏว่าการเสนอโบราณสถานในเมืองเชียงใหม่ ภายใต้ชื่อ "Monument, Sites and Cultural Landscape of Chiangmai, Capital of Lanna" มีความพร้อมเป็นลำดับแรก


"โบราณสถานในเมืองเชียงใหม่แสดงคุณค่าโดดเด่นเป็นสากล หากย้อนไป พญามังรายรวมชีวิตชาวล้านนา มีวิถีชีวิตล่วงเลยมา ๗oo ปี สะสมวัฒนธรรมประเพณีสืบทอดถึงทุกวันนี้ มีแม่น้ำสายหลักหล่อเลี้ยงเป็นชัยมงคลของเมือง มีกำแพงเมือง แจ่งเมือง ที่สำคัญมีวัดขึ้นทะเบียนโบราณสถานทั้งในเมือง นอกเมือง เหมาะสมเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมของไทยอีกแห่ง ซึ่งชุมชนชาวเชียงใหม่ช่วยกันรักษาตลอดมา" อธิบดีกรมศิลปากรยืนยันสนับสนุนทุกขั้นตอนและจะช่วยทำให้สำเร็จ


สำหรับ สาวิตรี สุวรรณสถิตย์ ที่ปรึกษา วธ. ผู้มากความรู้และประสบการณ์เรื่องมรดกโลก กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีมรดกโลก ๙oo กว่าแห่ง ถ้าขึ้นบัญชีแล้วไม่ช่วยกันดูแลรักษา ยูเนสโกจะตักเตือน หากไม่แก้ไขจะขึ้นบัญชีเสี่ยงภัย และถ้ามีการทำลายคุณค่าโดดเด่นเป็นสากลจะถอดจากมรดกโลก ฉะนั้นการมีส่วนร่วมของชุมชน และความรู้ความเข้าใจของสาธารณชนสำคัญมาก การผลักดันโครงการเชียงใหม่สู่มรดกโลกคนในพื้นที่ตอบรับดี เพราะเห็นความสำคัญมรดกชาติ


เชียงใหม่มีความพร้อมสู่มรดกโลก ที่ปรึกษา วธ.ยืนยันเชียงใหม่เข้าเกณฑ์คุณค่าโดดเด่นของยูเนสโก ตั้งแต่ผังเมืองเป็นตัวแทนผลงานชิ้นเอกของพญามังรายสร้างเมืองมีคูน้ำ คันดินล้อมรอบตอบสนองการใช้งาน เมืองเชียงใหม่ยังมีวัฒนธรรมที่หลากหลาย ภายในพื้นที่มีชุมชนเมือง ชุมชนไทยลั้วะ จีนฮ่อ มุสลิม ฝรั่ง หลอมรวมกัน อีกความโดดเด่นคือสถาปัตยกรรมล้านนางดงามอลังการ เมืองเชียงใหม่ยังมีลักษณะพิเศษของการสืบทอดวัฒนธรรม ทั้งจารีต ประเพณี พิธีกรรม พุทธศาสนา แบบแผนดำรงชีวิต ในการจัดทำเอกสารนำเสนอเมืองเชียงใหม่เข้าสู่บัญชีรายชื่อชั่วคราวเพื่อเสนอเป็นมรดกโลกตามขั้นตอน ไม่ได้เสนอทั้งเมืองเชียงใหม่ แต่เสนอเป็นกลุ่มหรือย่านด้านวัฒนธรรมให้ยูเนสโกตัดสิน เส้นทางสายนี้ไม่ได้ง่าย แต่คุณค่าของเมืองเชียงใหม่ก็ไม่แพ้ชาติใด.







ภาพและข้อมูลจากเวบ
thaipost.net
thairath.co.th
prcmu.cmu.ac.th














เมื่อระนาดจะดูโอกับโกโตะ
ขุนอิน


ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ผมมีโอกาสไปทัวร์คอนเสิร์ตที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์กับศิลปินมือเปียโนระดับโลก มิสเตอร์ฟรองซัวส์ ลินเดอร์แมน และนักเป่าแซกโซโฟนชื่อดังชาวไทยเรา พี่ต๋อง เทวัญ ทรัพย์แสนยากรณ์ เมื่อสิ้นสุดการทัวร์คอนเสิร์ต ใน ๕ เมือง ก็ทำอัลบั้มขึ้นมาชุดหนึ่งในแนวเพลงคอนเทมโพรารี่ ซึ่งอีกไม่นานต่อจากนั้นพี่ต๋องเทวัญ ก็ได้นำอัลบั้มชุดนี้มาวางแผงที่เมืองไทยที่มีชื้ออัลบั้มว่า "๒ ขั้วจั่วแจ๊ส" หลังจากนั้น มิสเตอร์ฟรองซัวส์ ลินเดอร์แมน ก็มาโด่งดังในเมืองไทยกับคอนเสิร์ตที่ชื่อ "piano 7" ของเขานั่นเองครับ


ในปีพ.ศ. ๒๕๕๒ มิสเตอร์ฟรองซัวส์ ลินเดอร์แมน ได้มาแสดงคอนเสิร์ตที่ร้านอาหารอิตาเลียนชื่อดังแห่งหนึ่งแถวย่านสีลม บ้านเรา ซึ่งก็ได้เชื้อเชิญให้ผมได้ไปชมการแสดงในคืนนั้นด้วยครับ ครั้งนั้นมิสเตอร์ฟรองซัวส์ ได้เชิญศิลปินญี่ปุ่นท่านหนึ่งเป็นนักดีดโกโตะสาวทีชื่อว่า หรือคุณโนริโกะ ทซึโบอิ มาร่วมแสดงด้วยกัน ซึ่งก็ต้องบอกว่าการแสดงคอนเสิร์ตในครั้งนั้น ได้สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ชมที่ได้รับชมการแสดงอยู่ในห้องอาหารอิตาเลียนแห่งนั้น ไม่เว้นแม้แต่ตัวผมเองอีกด้วยครับ


โกโตะ เป็นเครื่องดนตรีญี่ปุ่น ถ้าจะเปรียบเป็นเครื่องดนตรีของไทยเราก็คงไม่พ้นจะเข้ แต่รูปร่างนั้นจะคล้ายกับ กู่เจิ้ง ของประเทศจีนมากที่สุด ส่วนทางเกาหลีก็มีเครื่องดนตรีที่เหมือนกันแบบนี้ชื่อว่า "คายายึม" ในส่วนตัวคุณโนริโกะ ทซึโบอิ ท่านเป็นชาวเมืองฟุกุโอกะ เมืองที่มี "ราเม็ง" หรือก๋วยเตี๋ยวญี่ปุ่นอร่อยที่สุดของประเทศญี่ปุ่น คุณโนริโกะนั้นมีคุณแม่ที่ชื่อว่า มิสุเอะ ทซึโบอิ ซึ่งเป็นนักดีดโกโตะที่เก่งกาจและเป็นครูสอนดีดโกโตะอีกด้วย ดังนั้นแล้วคุณโนริโกะ จึงได้ร่ำเรียนและฝึกฝนการดีดโกโตะมาจากคุณแม่ ตั้งแต่วัยเพียง ๘ ขวบ และด้วยสายเลือดโกโตะที่เข้มข้น พอเมื่อคุณโนริโกะจบการศึกษาจากโรงเรียนระดับไฮสคูลแล้ว คุณโนริโกะ ก็เลือกที่จะไม่เข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย โดยคุณโนริโกะ นั้นเลือกที่จะไปเรียนที่สถาบันดนตรีซาวาอิ (sawai) ในมหานครโตเกียว และสถาบันดนตรีซาวาอิแห่งนี้เป็นสถาบันการเรียนดนตรีพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของประเทศญี่ปุ่น และเมื่อจบออกมาในปี พ.ศ. ๒๕๓o แล้วนั้น คุณโนริโกะ จึงได้รับใบประกาศนียบัตรเป็นครูสอนโกโตะ และยังได้สำเร็จหลักสูตรดนตรีประเพณีจากองค์การบริการกระจายเสียงและแพร่ภาพ สาธารณะญี่ปุ่นหรือ NHK อีกด้วยครับ


ต่อจากนั้นในปีพ.ศ. ๒๕๓๕ คุณโนริโกะ ก็ได้รับเชิญให้ไปสอนโกโตะ ที่มหาวิทลัยแคลิฟอร์เนีย หรือ University of California, San Diego รวมถึงได้เป็นผู้ควบคุมวงโกโตะของมหาวิทยาลัยและก็ได้จัดคอนเสิร์ต ที่แคลิฟอร์เนีย อยู่หลายครั้งจนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ก็มาอยู่ที่เมืองไทยเราและได้ทำงานอยู่ที่มูลนิธิญี่ปุ่น หรือ Japan Foundation จนถึงทุกวันนี้ และก็ยังมีคอนเสิร์ตที่เมืองไทยเราอยู่เรื่อยๆ รวมถึงยังต้องบินไปแสดงคอนเสิร์ตที่ซานฟรานซิสโก อยู่ทุก ๆ ปี เนื่องจากเป็นหนึ่งในสมาชิกของวง Lantana Koto Group ซึ่งเป็นวงดนตรีร่วมสมัยของเมืองซานฟรานซิสโก นั่นเองแถมด้วยในเดือนพฤศจิกายน ของปีนี้ ก็ต้องไปแสดงคอนเสิร์ตที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์กับมิสเตอร์ฟรองซัวว์ ลินเดอร์แมน มือเปียโนเจ้าเก่าอีกครั้งด้วยครับ


และที่สำคัญไปกว่านั้นในค่ำวันนี้ ก็คือวันพฤหัสบดีที่ ๑๑ กันยายน คุณโนริโกะ นั้นจะร่วมแสดงคอนเสิร์ตการกุศล ไทย-ญี่ปุ่น ที่หอประชุมเล็กศูนย์วัฒนธรรมฯ ซึ่งแน่นอนที่สุดก็จะเป็นการพบกันครั้งแรกบนเวทีระหว่างโกโตะของคุณโนริโกะกับระนาดเอกของขุนอิน ก็คือตัวผมเองนี่แหละครับ เราสองคนต่างตื่นเต้นและดีใจด้วยกันทั้งคู่ที่จะได้ร่วมแสดงบนเวทีเดียวกันเนื่องจากเราจะชื่นชมและเคารพฝีมือซึ่งกันและกันเป็นอย่างมาก และในคอนเสิร์ตค่ำคืนวันนี้นอกจากจะมีคุณโนริโกะ กับตัวผมแล้วนั้นก็จะมีเสียงขลุ่ยไทยจาก ท่านอาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี และ เคอิโกะ ซูซูกิ นักดีดโกโตะสาวฝีมือดีอีกท่านหนึ่งซึ่งบินตรงจากญี่ปุ่นเพื่อคอนเสิร์ตนี้โดยเฉพาะ เท่านั้นยังไม่พอยังมี yuika นักร้องสาวสวยชาวญี่ปุ่นรวมถึงการแสดงกลองญี่ปุ่นไทโกะ และขาดไม่ได้จริงๆ ก็คือวง Jazz of siam ของผมเองด้วยครับ ยังสามารถจองบัตรได้ที่ ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ และสอบถามรายละเอียดได้ที่ คุณดารารัตน์ พิจิตรคุรุการ เบอร์โทร o๘-๑๗๓๕-๑๓๖๓ ครับท่าน


บัตรราคา ๗oo และ ๙oo บาทผมรับรองว่าจะคุ้มค่าอย่างแน่นอนเพราะนอกจากท่านจะได้ชมดนตรีแล้วเงินทุกบาททุกสตางค์ของท่านจะนำไปสมทบทุนช่วยเหลือเด็กชาวเขาที่ยากไร้อีกด้วยครับ และที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการบรรเลง DUO ระนาดเอกกับโกโตะในบทเพลงญี่ปุ่นที่ชื่อว่า "ซากุระ" ของค่ำคืนวันนี้จะเป็นอะไรที่หาฟังได้ยากยิ่งจริง ๆ ครับ



ภาพและข้อมูลจากเวบ
komchadluek.net














เล่ามุมต่างผ่านจิตรกรรมฝาผนัง


ศิลปินร่วมสมัย ๗ คน จากประเทศไทยและเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนได้ตีความงานสะสมของพิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน ในรูปแบบของตัวเอง ผ่านนิทรรศการ "ทรานสมิชชั่น" สำรวจวิธีการส่งผ่านและแบ่งปันองค์ความรู้ทั้งระหว่างผู้คนและระหว่างกลุ่มคนที่ก้าวข้ามพื้นที่ และกาลเวลาว่าเป็นอย่างไร ซึ่งคำถามนี้ไม่อาจถูกถามขึ้นในช่วงเวลาอันประจวบเหมาะไปได้มากกว่านี้อีกแล้ว เมื่อชาติต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเตรียมพร้อมรับการรวมตัวทั้งในเชิงการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมขึ้นเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปีหน้า


เมื่อมองผ่านพรมแดนชาติ ศิลปินแต่ละคนล้วนผสมผสานภูมิความรู้จากอดีต และประเพณีเดิมเข้ากับเทคนิคการสร้างงานศิลปะสมัยใหม่ ทั้งศิลปะนามธรรม ศิลปะเชิงแนวคิด และศิลปะสื่อใหม่ หรือ นิวมีเดีย เห็นได้ชัดกับผลงานชื่อ "ประวัติศาสตร์บนฝาผนัง" ของ สาครินทร์ เครืออ่อน ผู้เชี่ยวชาญทางจิตรกรรมไทยแบบประเพณี สร้างสรรค์ภาพเขียนที่ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดสุทัศน์เทพวราราม ราชวรมหาวิหาร และวัดสุวรรณาราม ราชวรวิหาร ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักที่สุดในกรุงเทพฯ หากแทนที่จะเล่าเรื่องราวเทพเทวดาบนสวรรค์ชั้นฟ้า สาครินทร์ กลับเลือกถ่ายทอดออกมาเป็นชีวิตประจำวันของคนธรรมดาๆ ที่มีขึ้นลง


หลังจากศึกษาภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่าง ๆ ศิลปินเจ้าของผลงาน เปิดประเด็นให้ฟังว่า ภาพที่คัดเลือกมาจัดนิทรรศการเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานทั้งหมดที่เคยนำไปจัดแสดงที่ประเทศเยอรมัน พูดถึงบริบทของลักษณะความคิดของคนที่มีต่อสังคม ณ เวลานั้น จริง ๆ แล้วภาพทั้งหมดคงไม่เรียกว่าเป็นจิตรกรรมฝาผนัง หากเป็นงานคัดเลือกลงบนแผ่นไม้ขนาดเล็ก ย่อส่วนจากที่เคยมีแล้วในฝาผนัง แต่ละอันมีเรื่องราวแตกต่างกันออกไป ทว่าสิ่งหนึ่งที่มีเหมือนกันคือไม่ได้พูดถึงเรื่องศาสนา หรือความเชื่อทางอุดมคติอะไรเลย แต่เป็นภาพวิถีชีวิตทั่วไปที่ซ่อนอยู่...


"จริงแล้วตามโบสถ์ วิหารวัดต่าง ๆ ที่อายุเก่าแก่ก็จะมีพระพุทธรูปประธานอยู่ตรงกลาง แล้วก็มีจิตรกรรมฝาผนังรายรอบ เราก็จะโฟกัสไปที่เรื่องราวศาสนา พุทธประวัติ หรือไตรภูมิ หรือความเชื่อตามอุดมคติที่มีต่อชีวิตเราเอง เป็นความรู้ที่ตกทอดต่อ ๆ กันมา เรื่องราวเหล่านี้ถ่ายทอดเป็นจิตรกรรมฝาผนังให้คนที่นับถือศาสนาเดียวกันซึมซับให้รู้ยิ่งขึ้น รวมถึงขยายความในคัมภีร์ให้กระจ่างแจ้งขึ้น เป็นผลให้สังคมมีความสงบสุข แต่ภาพต่าง ๆ ที่ผมคัดลอกมาเป็นภาพเล็ก ๆ ที่น่าสนใจคือวิถีชีวิต เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน" ศิลปินจิตรกรรมไทยประเพณี เกริ่นถึงที่มาที่ทำให้เกิดนิทรรศการครั้งนี้


ในความสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับความคิดความอ่านของจิตรกรยุคก่อน สาครินทร์ยกตัวอย่างภาพชายสองคนสูบบุหรี่และคุยกันในป้อมระหว่างเฝ้ายาม ซึ่งไม่เกี่ยวกับพุทธประวัติเลย แต่ผู้เขียนภาพพยายามสอดแทรกความเห็นส่วนตัวเข้าไป หรืออยากจะบอกเล่าในวิถีชีวิตที่ตัวเองสัมผัสมา โดนใช้แนวระนาบบนฝาผนังวัดเป็นสื่อกลาง หรือภาพสาวน้อยที่กำลังแอบมองชายหนุ่มผ่านทางช่องเล็ก ๆ อย่างตั้งใจ เช่นเดียวกับภาพหญิงสาวสองคนนั่งเอามือจับนมกันสื่อถึงเพศสภาพที่มีที่มาจากอดีต ทำให้เห็นว่าเรื่องราวของคนทั่วไปที่ดูไม่สำคัญแต่ศิลปินมองว่าสำคัญ เพราะอะไรที่ทำให้รู้เรื่องประวัติศาสตร์นั่นคือ "ความโรแมนติก" ชวนมองกลับไปว่าจริง ๆ แล้วอะไรบางที่ไม่เป็นขนบหรือแบบแผน ทำให้ชีวิตประจำวันของคนมีความสุขขึ้น ซึ่งการหวนกลับไปดูอะไรที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง บางทีอาจทำให้เรามีตัวเลือกนอกเหนื่อไปจากเดิม


"ภาพบางภาพอาจดูไม่มีอะไร แต่ชวนคิดสำหรับผม อย่างภาพอดีตพุทธ หรือภาพพระพุทธเจ้าก่อนจะมาถึงองค์สุดท้าย ในจิตรกรรมฝาผนังภาพพระเวชสันดร จะเห็นมีธรรมเนียมการหมอบคลาน ซึ่งไม่แปลกอะไร สังคมไทยไม่ได้นั่งบนโต๊ะเก้าอี้ แต่เป็นสังคมติดพื้นมาแต่ไหนแต่ไร คนที่ให้ความเคารพอีกคนหนึ่งก็คือต้องยกย่องให้ความสำคัญ ซึ่งการยกย่องวิธีหนึ่งคือการทำตัวเองให้ต่ำลง เป็นวัฒนธรรมที่ไม่น่าตื่นเต้นอะไร หรือจิตรกรรมใน "สิม" หรือ โบสถ์ขนาดเล็กในแถบอีสาน มีการนำนิทานพื้นบ้านสอดแทรกเข้าไป โดยคนเขียนเขียนตามความเข้าใจ ความซื่อตรงไปตรงมา จึงกลายเป็นภาพจิตรกรรมที่คนชื่นชอบกันมาก เพราะมีความสด เป็นความใสซื่อที่พยายามอธิบายปรากฏการณ์ในสังคมได้อย่างไม่เสแสร้ง" เจ้าของภาพคัดลอกเล็กๆ แต่เปี่ยมเรื่องเล่าสะท้อนมุมมองส่วนตัวทิ้งท้าย


แนวคิดแตกต่างของศิลปินที่ถ่ายทอดเรื่องราวออกมา ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเปิดกว้างของสังคมยุคก่อนที่แม้ตามจารีตสิ่งเหล่านี้อาจถูกกดไว้ แต่ในบริบทของศิลปะนั้นเปิดโอกาสให้สามารถสร้างสรรค์งานศิลป์ตามความคิดอ่านได้อย่างอิสระ เช่นเดียวกับศิลปินยุคนี้ที่ (แอบ) สอดแทรกมุมมองส่วนตัวไว้ในจิตรกรรมฝาผนังดังปรากฏเป็นข่าวอยู่เป็นระยะ แต่จะเพิ่มคุณค่าหรือลดราคางานศิลป์ปล่อยให้เป็นเรื่องของทัศนคติ


เอาเป็นว่า ผู้สนใจสามารถค้นคำตอบเพิ่มเติมได้ในประวัติศาสตร์บนฝาผนังไปจน ๓o กันยายนนี้ ที่หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน ซอยเกษมสันต์ ๒ กรุงเทพฯ



ภาพและข้อมูลจากเวบ
komchadluek.net














'บัวหลวง' กับ 'เทศกาลศิลปะ' ความงดงามที่งอกเงย
นันทขว้าง สิรสุนทร


ความงดงามของศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาตินั้น มี “ต้นทาง” มาจากที่ใดหรือ?


จากโน้ตเพียงน้อยตัว ที่ล่องลอยผ่านมือไม้ของ สุบิน เมธา หรือจากละครเด็กที่เดินทางมาจากอังกฤษ, จากท่าเต้นของเหล่า “หงส์ขาว” เจ้าประจำหรือจากท่วงทำนองของกายกรรมแห่งกรุงปักกิ่ง?


คำตอบไม่ได้อยู่ในสายลมแบบเพลง บ็อบ ดิแลน เพราะในบทสำรวจทุกๆ ปีของบรรดา ”นักคิด-นักเขียน” และคอลัมนิสต์บ้านเรานั้น หลายๆ คนเลือกงานมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ ติดอยู่ใน ๑o ความชอบแห่งปีอยู่เสมอ


หรือถ้าเอาจากอีเมล nantakwang24@gmail.com จากคนอ่านหนังสือพิมพ์เครือเนชั่นและนิตยสารต่างๆ ที่ผมเขียนอยู่ ก็จะมีมาถามอยู่ทุกปีว่า มีอะไรน่าดูบ้าง อันที่จริงนั้น ในการจัดงานมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ หรือราว ๆ ๑๕ ปีมานี้ แต่ละครั้งจะมีไฮไลท์ที่ผู้จัดวางเอาไว้


เท่าที่ดูมาตั้งแต่ปีแรกจนถึงล่าสุด จะมีโชว์หลัก ๆ ที่ผู้จัดได้รู้แล้วว่า คนไทยชอบการแสดงลักษณะไหน รสนิยมแบบใด บางโชว์ก็เป็นการทดลองนำเข้ามา ขณะที่บางอย่างถูกเรียกร้องโดยไม่รู้เบื่อของคนดูเอง


งานมหกรรมหรือที่เราเรียกกันติดปากว่า มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาตินั้น จะจัดระหว่างวันที่ ๑๓ กันยายน ไปจนถึง ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๗ และน่าจะเป็นปีแรก ๆ ในช่วงหลัง ๆ ที่น่าสนใจที่สุด เพราะนี่คือโชว์ที่หลุดพ้นภาวะทางการเมืองและม็อบที่อุดอู้มาหลายปี (บางปี นักแสดงต้องขอยกเลิก เพราะไม่เคลียร์กับข่าวการเมืองบ้านเรา)


เมื่อการจัดงานสอบผ่านและกลายเป็นความบันเทิงที่ขาดไม่ได้ของสังคมไทยนั้น เราน่าจะกลับไปชื่นชมผู้อยู่เบื้องหลังหลายค่ายที่ช่วยกันส่งเสริมมายาวนาน แต่ที่อยู่คู่มาเหมือนเป็น “คู่ชีวิต” ก็คือ ธนาคารกรุงเทพ หรือแบงก์บัวหลวง ที่ครองแชมป์พอร์ตสูงสุดของเศรษฐีในบ้านเรา ต้องบอกว่าเป็นแบงก์ผ้าขี้ริ้วห่อเพชร (ฮา)


ต้องเข้าใจก่อนว่า แม้สังคมเราจะมีที่ทางและเปิดรับงานศิลปะมากมายหลายอย่างในแต่ละปี ทว่า สิ่งหนึ่งที่หลายคนไม่รู้ก็คือ การสนับสนุนของสินค้า บริษัท ห้างร้าน ซึ่งจำเป็นต่อการมีอยู่ของงานเหล่านี้ เนื่องเพราะแค่ “ตั๋วขายหมด” นั้น ไม่เพียงพอสำหรับการดูแลทุกส่วน ลำพังนักแสดงก็ไม่พอแล้วนะครับ


ทางออก หรือ solution ของคนจัดงานแนวทางนี้ก็คือ น้ำจิตน้ำใจขององค์กรต่าง ๆ ที่เข้ามายื่นมือช่วยเหลือ ผมชอบแบงก์กรุงเทพที่ช่วยจัดดงานมาตั้งแต่ปีแรก ซึ่งในตอนนั้น คนไทยจะรู้จักหรือยังไม่ทราบ


ชอบเหมือนที่เคยชอบ “ไทยประกันชีวิต” ทุ่มเงินให้หนังไทยมากมาย, ชอบที่สิงห์-ช้าง สนับสนุนบอลไทยลีก และกีฬามากมาย, ชอบที่ เอไอเอ และเมืองไทยฯ สนับสนุนฟุตบอลผ่านสโมสรต่าง ๆ, การเป็นแบ็กอัพให้งานต่าง ๆ นั้น ทำให้ในทางอ้อม ตัวงานค่อย ๆ เติบโตและสร้างความเข้าใจ ส่องแสงไปยังศิลปะหลาย ๆ มุม


ศิลปะนั้นดีแน่ ไม่ต้องไปสงสัย แต่มันอาจค่อย ๆ สร้างความงามอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่คำตอบที่ใครจะเอาแบบรูปธรรม (เช่นกำไรมั้ย ขาดทุนเท่าไหร่ปีนี้) เด็กตัวเล็ก ๆ ที่ไปดูงามมหกรรรมปี ๒๕๔๗ อาจเกิดแรงบันดาลใจไปเรียนละครหรือดนตรี กลับมาเป็นครูสอนในบ้านเรา หรือผู้ใหญ่ที่ทำงานนอกวงการ เมื่อได้เห็นความหลากหลายในงานมหกรรม ก็อาจนำเอาความต่างทางเนื้อหามาปรับใช้กับศิลปะบ้านเรา (ดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง)


ผมยังจำได้อีกว่า การบินไทยก็เป็นผู้ร่วมสนับสนุน เหมือนที่ เอสซีจี ก็เคยยืนเคียงข้างอยู่หลายปี ถ้าพูดแบบอคติ ผมยังคิดว่า การที่หลายห้างร้านและหน่วยงานมาสนับสนุนงานแบบนี้ น่าจะดีกว่าเอาเงินไปสนับสนุนพรรคการเมือง เพราะในความเป็นจริง คนในพรรคการเมืองก็ไม่ค่อยมาดูงานศิลปะ บางคนก็มีรสนิยม แต่หลายคนหัวไม่ถึง แต่ศิลปะนั้นก็ยังเปิดรับพวกเขาอยู่


แล้วมีอะไรน่าดูบ้างล่ะปีนี้?


ถ้าเอาไฮไลท์แบบไม่มาบ่อยเลยก็คือ ค่ำวันที่ ๒o ตุลาคม ซึ่งจะมีโชว์ของ สุบิน เมธา สุดยอดวาทยกรโลกที่ตั๋วขายหมดเร็วที่สุด (ผมได้ไปดูตอนมาครั้งแรก รู้สึกจะปี ๒๕๕๑) จำได้ว่าคนเข้าไปนั่งก่อนการแสดงนานมาก คงไม่อยากพลาดอะไรสักวินาทีเดียว


แต่ที่ผมอยากชวนหลายคนไปดู เพราะตั้งใจจะว่าไปดูกับแม่ก็คือ กายกรรมจากปักกิ่งที่คว้ารางวัลมากมาย เหรียญหรือถ้วยแชมป์ไม่ต้องถาม ตู้เก็บคงแน่นหมดแล้วจากความสามารถของคณะนี้


โชว์กายกรรมนั้นน่าจะเป็นงานหนึ่งที่คนไทยชอบ เพราะเล่นกับความตื่นเต้น แถมไม่มีเมสเสจ อะไรให้ต้องตีความ (ซึ่งก็ไม่ทราบว่า ตั๋วจะหมดไปหรือยังนะครับ) และเชื่อเถอะว่า ความสนุกอย่างหนึ่งในงานมหกรรมแบบนี้ก็คือ การได้ทดลองดูโชว์ที่ไม่คุ้น การเดินออกนอกเส้นทางหลักบ้าง ก็ทำให้เราได้พบอะไรดี ๆ (เหมือนที่ กวี โรเบิร์ต ฟรอสต์ เขียนกลอน The road not taken และไม่เดินตามทางที่ผู้คนเคยย่ำเท้าไป)


แต่ถ้าให้ดี ทุกท่านต้องลองด้วยตัวเอง อย่างน้อยที่สุดถ้าจะไม่รู้อะไรมาก่อน ก็จะได้ล่วงรู้และพบคำตอบว่า ความงดงามของศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาตินั้น มี “ต้นทาง” มาจากที่ใดหรือ ?


จากโน้ตเพียงน้อยตัว ที่ล่องลอยผ่านมือไม้ของ สุบิน เมธา หรือจากละครเด็กที่เดินทางมาจากอังกฤษ, จากท่าเต้นของเหล่า “หงส์ขาว” เจ้าประจำหรือจากท่วงทำนองของกายกรรมแห่งกรุงปักกิ่ง?



ภาพและข้อมูลจากเวบ
komchadluek.net












พลโท วีรัณ ฉันทศาสตร์โกศล, มร.เจ เอส อูเบรอย และ ออท.สวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย
ฯพณฯ คริสตีน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ร่วมแถลงข่าวการจัดงาน
“มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 16




คสช.คืนความสุขครั้งใหญ่ร่วมสนับสนุนงานมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ


คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และคณะทูตจากนานาประเทศ ร่วมสนับสนุนงานมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ครั้งที่ ๑๖ ซึ่งยกทัพนักแสดงและศิลปินระดับโลกกว่า ๖oo ชีวิต จาก ๑๔ ประเทศทั่วโลก มาโชว์สุดยอดการแสดงรวม ๑๖ ชุด ๒๑ รอบการแสดง ระหว่างวันที่ ๑๓ กันยายน ถึง ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๗ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อมอบความสุขแก่ชาวไทยและชาวต่างชาติ พร้อมส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยต่อสายตานักท่องเที่ยวต่างประเทศ


พลโท วีรัณ ฉันทศาสตร์โกศล ผู้แทนหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวว่า “มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ จัดเป็นกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมที่มีคุณค่าและมีความสำคัญอย่างหนึ่งของประเทศไทย ในปีที่ ๑๖ นี้ยิ่งใหญ่มากขึ้นด้วยการสร้างและคืนความสุขให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ผ่านการแสดงและดนตรีที่ถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมของนานามิตรประเทศ มหกรรมฯ นี้มีส่วนช่วยสร้างเสริมภาพลักษณ์ที่ดี และช่วยกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและนานาประเทศ ในขณะนี้ คสช.และภาครัฐ ล้วนเดินหน้าทุกมิติเพื่อให้ชาวไทยและชาวต่างชาติสามารถใช้ชีวิตและท่องเที่ยวอย่างปกติมีความสุขในประเทศไทย รวมทั้งร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ”






มร.เจ เอส อูเบรอย กรรมการจัดงานมหกรรมฯ กล่าวว่า “มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ เริ่มจัดแสดงครั้งแรกเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖ รอบ เมื่อพ.ศ. ๒๕๔๒ ปัจจุบันได้รับพระกรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์อุปถัมภ์ โดยนับตั้งแต่เริ่มต้นจนวันนี้ เวทีแห่งนี้ได้นำเสนอผลงานการแสดงและดนตรีเชิงศิลปวัฒนธรรม โดยศิลปินฝีมือระดับโลกจากนานาประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งมอบทั้งความสุข ความเพลิดเพลิน และความรู้แก่ผู้ชมกว่า ๑๕ ปีที่ผ่านมา เวทีมหกรรมฯ นอกจากจะเป็นที่รู้จักของผู้ชมทั้งชาวไทยและต่างชาติมากยิ่งขึ้น ยังเป็นที่ยอมรับและดึงดูดศิลปิน นักแสดง และนักร้องคุณภาพจากนานาประเทศมาร่วมแสดงบนเวทีนี้ ยิ่งไปกว่านั้นยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่กรุงเทพฯ ในฐานะเมืองแห่งวัฒนธรรม”


ฯพณฯ คริสตีน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ เอกอัครราชฑูตสวิตเซอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ในแต่ละปีมีความยอดเยี่ยมและสมบูรณ์แบบ ตลอด ๕ ปีที่อยู่ที่นี่ดิฉันรู้สึกยินดีมากที่มีโอกาสมีส่วนร่วมในมหกรรมฯ นี้ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมความแตกต่างของนานาวัฒนธรรม และทำให้นานาประเทศมาพบกันผ่านศิลปะการแสดงและดนตรี คณะทูตจากนานาประเทศต่างยกย่องการจัดงานและการนำเสนอผลงานบนเวทีมหกรรมฯ ว่าไร้ที่ติและเป็นมืออาชีพอย่างยิ่ง น่าชื่นชมและชื่นใจที่ประเทศไทยมีกิจกรรมที่ดีเช่นนี้






ในปีนี้ สวิตเซอร์แลนด์ นำวงออร์เคสตรา Zurcher Krammer มาร่วมสร้างความสุขให้แก่ผู้ชม นอกจากนี้ หลายประเทศยังนำการแสดงและดนตรีที่พลาดไม่ได้มาร่วมอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นซิมโฟนีออร์เคสตราจากอิตาลีและอิสราเอล ขณะที่ฝรั่งเศส เยอรมนี นำเสนอบัลเลต์ อิตาลี มอบสุดยอดโอเปร่าแก่ผู้ชม เดนมาร์กโชว์บัลเลต์ร่วมสมัย ส่วนอินเดียและโคลอมเบียโชว์สเต็ปแดนซ์สุดอลังการ สเปน สวีเดน กรีซ โปรตุเกส และสหราชอาณาจักร มาพร้อมกับการแสดงดนตรีที่โด่งดัง สำหรับจีนจัดสุดยอดโชว์ที่แทบลืมหายใจมาให้ชม ทั้งหมดนี้ล้วนพลาดไม่ได้สำหรับผู้ที่ต้องการประสบการณ์ทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่า”


บัตรชมการแสดงมีจำหน่ายที่ ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ //www.thaiticketmajor.com และเคาน์เตอร์ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ทุกสาขา สายด่วนโทร.o๒-๒๖๒-๓๑๙๑ ข้อมูลเพิ่มเติมดูได้ที่ //www.bangkokfestivals.com หรือ facebook.com/BangkoksInternationalFestivalOfDanceMusic



ภาพและข้อมูลจากเวบ
naewna.com














ปั้นนักพิพิธภัณฑ์สายพันธุ์สยาม ครั้งที่ ๕"


มิวเซียมสยาม และ โครงการปั้นนักพิพิธภัณฑ์สายพันธ์สยาม ครั้งที่ ๕ (โครงการ Young Muse Project 5) ชวนคนรุ่นใหม่ปล่อยพลังให้สุดแรง


WOW!! Project เด็กกล้าท้าเปลี่ยน ปรับ-ปั้น-ปลุก พิพิธภัณฑ์ไทย ไฉไลกว่าเดิม


เพราะคุณคือส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ยุคใหม่! ส่งแผนงานสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาพิพิธภัณฑ์ที่คุณสนใจ ภายใต้แนวคิด “Discovery Museum” มาประกาศศักยภาพความคิดสร้างสรรค์ของคุณให้กระหึ่ม! ทั่วไทย ชิงทุนเปลี่ยนแผนงานในฝันให้เป็นจริงกว่า ๖oo,ooo บาท


ผู้เข้าประกวดต้องเลือกพิพิธภัณฑ์ที่ต้องการพัฒนามา ๑ แห่ง และเลือกแผนงานพัฒนา ๑ หมวด ดังนี้
• หมวดนิทรรศการ
• หมวดกิจกรรมการเรียนรู้
• หมวดประชาสัมพันธ์และการตลาด


โดยนำเสนอในรูปแบบไฟล์ Powerpoint จำนวนไม่เกิน ๒o หน้า


เปิดรับสมัคร ตั้งแต่วันนี้ - ๑๕ กันยายน ๒๕๕๗
ประกาศผล ๑o ตุลาคม ๒๕๕๗


คลิกดาวน์โหลดรายละเอียด ๑
คลิกดาวน์โหลดรายละเอียด ๒
คลิกดาวน์โหลดใบสมัคร



ภาพและข้อมูลจากเวบ
museumsiam.com
thailandexhibition.com














คืนความสุขให้เด็ก ด้วยโลกใบจิ๋ว


ข่าวดีสำหรับเด็ก ๆ งานมหกรรมของจิ๋ว


วันที่ ๖-๒๘ กันยายน ๒๕๕๗ ที่ ชั้น ๑- ๓ โรงแรมแกรนด์ไชน่า


สี่แยกราชวงศ์ ถ.เยาวราช กรุงเทพมหานคร


งานนี้คืนความสุขให้เด็ก ๆ ด้วยโลกใบจิ๋ว ๆ


ขอเชิญเด็ก ๆ ทุกคนไปปั้นของจิ๋วฟรีได้


เปิดให้ชมเวลา ๙.oo-๒๑.oo น . เข้าชมฟรี


แนะนำว่าไปแท๊กซี่ดีที่สุดเพราะที่จอดรถมีจำกัด



ภาพและข้อมูลจากเวบ
happyfamilyday.com
thaiminiaturemobilemuseum.webiz.co.th




บีจีจากคุณเนยสีฟ้า ไลน์จากคุณญามี่ กรอบจากคุณ Hawaii_Havaii

Free TextEditor




Create Date : 14 กันยายน 2557
Last Update : 14 กันยายน 2557 22:11:25 น. 0 comments
Counter : 2091 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.