Group Blog
 
<<
เมษายน 2556
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
3 เมษายน 2556
 
All Blogs
 

อริยสัจจากพระโอษฐ์ .. ปัญจุปาทานักขันธ์

.





ภิกษุ ท. !
กล่าวโดยสรุปแล้ว ปัญจุปาทานักขันธ์ เป็นตัวทุกข์เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุ ท. !
ปัญจุปาทานักขันธ์ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ ..
- ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือ รูป,
- ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือเวทนา,
- ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือ สัญญา,
- ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือ สังขาร,
- และขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือ วิญญาณ;
เหล่านี้แล เรียกว่า กล่าวโดยสรุปแล้ว ปัญจุปาทานักขันธ์ เป็นตัวทุกข์.
.
.
.
มหา. ที.๑๐/๓๔๓/๒๙๕



หมายเหตุ จขบ.
รูป -
ในขันธ์๕ หมายถึง ส่วนร่างกายตัวตน, ในอายตนะหมายถึง "ภาพ หรือรูป "ที่เห็น ซึ่งในบางครั้งใช้ครอบคลุมถึง "สิ่งที่ถูกรู้ทั้งหลาย" คือรูป, รส, กลิ่น, เสียง, สัมผัส, ความคิด (ธรรมารมณ์) ทั้ง๖, คือใช้แทนอายตนภายนอกทั้งหมด

เวทนา -
การเสวยอารมณ์ (ทั้งต่อใจและกาย), ความรู้สึก,ความรู้สึกในรสของอารมณ์ (Feeling) ; ความรู้สึกจากการรับรู้ ที่ย่อมต้องเกิดขึ้น เมื่อมีการกระทบสัมผัส(ผัสสะ)กับอารมณ์ต่างๆ อันมี รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(สัมผัสทางกาย) ความคิดนึก(ธรรมมารมณ์) ด้วยอายตนะภายในอันมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ; หรือ ความรู้สึกรับรู้ (รวมทั้งจําและเข้าใจ) ในสิ่งที่มากระทบสัมผัสทั้งทางใจและกาย อันหมายถึงความรู้สึกรับรู้พร้อมทั้งความจําได้ในสิ่งที่มากระทบสัมผัส หรือ เวทนา คือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการกระทบสัมผัส(ผัสสะ)อันพร้อมด้วยความจําได้หรือมีประสบการณ์ในสิ่งที่ผัสสะนั้นๆ

สัญญา -
การกำหนดหมาย, ความจำได้ ความหมายรู้ คือ
- หมายรู้ไว้ ซึ่ง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและอารมณ์ที่เกิดกับใจว่า เขียว ขาว ดำ แดง ดัง เบา เสียงคน เสียงแมว เสียงระฆัง กลิ่น ทุเรียน รสมะปราง เป็นต้น
- และจำได้ คือ รู้จักอารมณ์นั้นว่าเป็นอย่างนั้นๆ ในเมื่อไปพบเข้าอีก

สังขาร -
สิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น, สิ่งที่เกิดแต่เหตุปัจจัย, สิ่งหรือผลที่เกิดขึ้น มาจากการที่มีเหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยคือเครื่องสนับสนุน ปรุงแต่งกันขึ้น จึงครอบคลุมสังขารทั้งฝ่ายรูปธรรม และ นามธรรม ได้แก่ ขันธ์ ๕ ทั้งหมด, จิต, สิ่งของวัตถุ, ตัวตน ฯลฯ. กล่าวคือจึงครอบคลุมทั้งหมดทั้งสิ้น พึงยกเว้นแต่เพียงเหล่าอสังขตธรรมเท่านั้น อันคือ สภาวธรรม ทั้งปวง ดังเช่น พระนิพพาน. (ในภาษาไทย บางทีใช้คำว่า สังขาร ในความหมายว่าร่างกาย เช่น "สังขารแก่เฒ่าลงไปทุกวัน" ที่หมายถึงรูปสังขารคือร่างกาย จนบางครั้งก่อความสับสนในการพิจารณาธรรม คือ คิดนึกถึงตีความไปหมายถึงแต่ร่างกายเสียแต่ฝ่ายเดียว จนเสียการ)

อธิบายสังขารที่ทำหน้าที่ต่างๆ เพื่อการพิจารณา ป้องกันการสับสนในการพิจารณา พอจะแยกได้เป็น ๓

- ในขันธ์ทั้ง ๕ มีสังขารขันธ์ที่หมายถึง การกระทำ กล่าวคือ สภาพที่ปรุงแต่งทางใจ ให้เกิดการกระทำ(กรรม)ขึ้น, เจตนาที่แต่งกรรม หรือปรุงแต่งการกระทำ มี ๓ อย่าง คือ กายสังขาร(ทางกาย) วจีสังขาร(ทางวาจา) มโนสังขารหรือจิตตสังขาร(ทางใจ) ; นอกจากนั้นแล้วในภาษาไทย ร่างกาย ก็ยังเรียกกันโดยทั่วไปว่าสังขารก็มี ที่หมายถึงสังขารร่างกาย หรือรูป,รูปขันธ์, ส่วนกายสังขาร หมายถึง การกระทำทางกาย

- สังขารในปฏิจจสมุปบาท หมายถึง สิ่งปรุงแต่งทางใจตามที่ได้สั่งสม,อบรมไว้แต่อดีต จนเกิดสังขารการกระทำต่างๆ เช่น ความคิด,การกระทําทางกาย,วาจา,ใจ ด้วยเครื่องปรุงที่มีคุณสมบัติต่างๆที่เป็นความเคยชิน เคยประพฤติ เคยปฏิบัติ หรือตามที่ได้เคยอบรมหรือสั่งสมไว้มาก่อน(อดีต)จึงนอนเนื่องซึมซาบย้อมจิต หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นสังขารวิบาก คือ สังขารที่เกิดจากผลของการเคยกระทําหรือเคยประพฤติปฏิบัติทั้งทางกาย,วาจา,ใจ อันได้สั่งสมไว้ อบรม เก็บบ่มไว้ หรือสังขารวิบากก็คือผลที่รับจากการกระทํา(กรรม)ในอดีตนั่นเอง และเป็นสังขารกิเลสด้วย หมายถึง สังขารที่ประกอบด้วยกิเลส (กิเลสที่นอนเนื่องในอาสวะกิเลสนั่นเอง)

- สังขารในไตรลักษณ์หมายถึงทุกๆสรรพสิ่งที่เกิดแต่เหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมา จึงครอบคลุมทั้งรูปธรรม,นามธรรมและธรรมทุกชนิดรวมทั้งโลกุตรธรรม อันยกเว้นเพียงอสังขตธรรม ดังเช่น นิพพานอันเป็นสภาวะหรือสภาวธรรมหรือสภาวะของธรรมชาติ, ดังนั้นจึงครอบคลุมทั้งสังขารในขันธ์ ๕ และสังขารในปฏิจจสมุปบาท และทุกสรรพสิ่ง ยกเว้นแต่นิพพานและสภาวธรรมหรือสภาวะของธรรมชาติ

วิญญาณ -
ในปฏิจจสมุปบาทและขันธ์๕ อันหมายถึงการรับรู้จากอายตนะ หรือความรู้แจ้งอารมณ์ หรือระบบประสาทอันทําหน้าที่ในการสื่อสาร ดังเช่น จักขุวิญญาณ ระบบประสาทรับรู้ของตา กล่าวคือ การรับรู้หรือรู้แจ้งในรูป ที่มากระทบตา

- ความรู้แจ้งอารมณ์, จิต(ก็เรียกกัน), ความรู้ที่เกิดขึ้นเมื่ออายตนะภายในและอายตนะภายนอกกระทบกัน เช่น รูปอารมณ์ ในเวลาเมื่อรูปมากระทบตา เป็นต้น ได้แก่ การเห็น การได้ยิน เป็นอาทิ;

วิญญาณ ๖ คือ
๑. จักขุวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางตา (เห็น)
๒. โสตวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางหู (ได้ยิน)
๓. ฆานวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางจมูก (ได้กลิ่น)
๔. ชิวหาวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางลิ้น (รู้รส)
๕. กายวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางกาย (รู้สิ่งต้องกาย)
๖. มโนวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางใจ (รู้เรื่องในใจ)





 

Create Date : 03 เมษายน 2556
0 comments
Last Update : 3 เมษายน 2556 5:44:06 น.
Counter : 730 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


สดายุ...
Location :
France

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 151 คน [?]









O ใช่แน่หรือ ? .. O






O หรือธรรมชาติผ่านเวียน .. คอยเปลี่ยนโลก ?
ทั้งสุขโศกเร่งรุดยากหยุดไหว
หรือกำหนดยุดยื้อจากมือใด
จัดการให้แปลกแยกได้แทรกตัว
O หรือพบกันครั้งแรก, ความแตกต่าง
ถูกบ่มสร้างเหมาะควรอย่างถ้วนทั่ว
แต่ตา-รูป .. สบกัน, ที่สั่นรัว-
แรกที่หัวใจคน .. เริ่มอลเวง
O ละห้อยเห็นในยามห่างนามรูป
แต่ละวูบเนรมิตคอยพิศเพ่ง
งามทุกงามจารจรดเยี่ยงบทเพลง
พร้องบรรเลงด้วยมือช่วยยื้อยุด
O ย่อมเป็นมือสร้างเหตุแทรกเจตนา
ผ่านรูปหน้าอำนวยเข้าฉวยฉุด
ร้างไร้ความกริ่งเกรง, หากเร่งรุด
แทรกลงสุดหัวใจเพื่อไขว่คว้า
O แน่นอนว่ายากเว้น .. อยากเห็นรูป
และชั่ววูบวาบเดียวที่เหลียวหา
หวังทุกหอมรินไหลผ่านไปมา
ทั้งหางตาที่ชม้อยเหลือบคอยปราย
O โลกย่อมงามพร่างแพร้วเมื่อแผ้วผ่าน
ด้วยอ่อนหวานอ่อนโยนที่โชนฉาย
แม้นมิอาจโยกคลอนให้ผ่อนคลาย
ก็อย่าหมายโยกคลอนให้ผ่อนลง
O จะกี่ครั้งกี่ครา, ความอาวรณ์
เวียนรอบตอนจับจูงจนสูงส่ง
ด้วยรูปนามเทียบถวัลย์อย่างบรรจง
แตะแต้มลงผ่านจริตจนติดตรึง
O ความรู้สึกในอกย่อมยกตัว
หวานถ้วนทั่ว, รสประทิ่น, ถวิลถึง
เหมือนรุมล้อมหยอดย้ำลงคำนึง
ให้เสพซึ้งรสงามของ .. ความรัก
O วัฏฏจักรแห่งธรรม .. ย่อมย่ำผ่าน
เข้าขัด-คาน จับจูงความสูงศักดิ์
ของอาวรณ์หลบเร้น เพื่อเว้นวรรค
ที่เข้าทักทายทั่วทั้งหัวใจ
O หรือแท้จริงตัวตนถูกค้นพบ
การบรรจบ .. รูป-จริต แล้วพิสมัย
ปรารมภ์ของฝั่งฝ่าย .. นั้น-ฝ่ายใด
เพิ่งยอมให้เรื่องเฉลย .. ยอมเผยความ ?



Friends' blogs
[Add สดายุ...'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.