ตอนนี้เป็นตอนที่ 6 แล้วจะมาเล่าสู่กันฟังถึงบทบาทและหน้าที่ของสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ของ UNESCO ว่าเมื่อได้เป็นเมืองสร้างสรรค์แล้วมีบทบาทและหน้าที่อย่างไรบ้างมาดูกัน ตอนที่จะได้เป็นเมืองสร้างสรรค์ ตอนที่พัฒนาเมืองให้ได้ตามเกณฑ์เมืองสร้างสรรค์ นับว่ายากแล้วนะ แต่พอได้เป็นแล้วนั้นก็ยังยากอีกด้วย ขอย้ำก่อนว่า "เมืองสร้างสรรค์" ของ UNESCO มันมีเงื่อนไขทั้งก่อนเป็น และหลังเป็น ดังนั้น ต้องศึกษารายละเอียดต่างๆให้ชัดเจนด้วย ครานี้เรามาดูกันว่า UNESCO เขากำหนดเอาไว้อย่างไรบ้างเมืองได้เป็นเมืองสร้างสรรค์แล้ว มี 4 ข้อใหญ่ๆ ย้ำว่าใหญ่ๆ ส่วนข้อย่อยๆมีอีก จะเล่าให้ฟังในตอนต่อๆไป 1. การเข้าร่วมเครือข่ายอาศัยเจตนารมณ์ที่หนักแน่นและความมุ่งมั่นในระยะยาวที่เมืองจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการพัฒนา เมืองสร้างสรรค์ต้องยังคงความตั้งใจเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงว่าเมื่อเราเป็นเมืองสร้างสรรค์แล้วต้องมีการทำงานอย่างต่อเนื่อง พัฒนาเมืองตามแนวทางสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุด ไม่พอ ไม่ขาดตอน ไม่ใช่เป็นเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO แล้วหยุดกับที่ อันนี้ไม่ใช่ การได้เป็นเมืองสร้างสรรค์คือการไปบอกและยืนยันกับ UNESCO ว่าเราจะพัฒนาเมืองตามแนวทางเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO น่ะ ไม่ใช่รางวัลที่ได้แล้วจบไป ต้องเป็นสิ่งที่ต้องรักษาและดำเนินการต่อเนื่องตลอดไป สุโขทัยเราโชคดีเพราะเราทำกันมาตั้งแต่ปี 2560 ก่อนจะเป็นเมืองสร้างสรรค์อีก หรือเรียกได้ว่าทำมาก่อนหน้านั้นด้วย เพราะการพัฒนาของเราเป็นการพัฒนาตามแนวทาง UNESCO อยู่แล้ว ในการเอาทุนเดิม ทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์ผลผลิตต่างๆ 2. มีแผนการดำเนินงานและโครงการที่ชัดเจน สามารถผลักดันให้เป็นจริงได้ต่อเนื่องและต่อยอดมุ่งเน้นการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์โดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม แน่นอนว่าเมืองสร้างสรรค์เมื่อได้เป็นแล้วต้องมีการทำแผนงาน ทำโครงการต่างๆที่จะพัฒนาเมืองของตนเองตามแนวทาง UNESCO ที่กำหนดเอาไว้ พร้อมกับกิจกรรมสร้างสรรค์นวัตกรรมที่กำหนดเอาไว้ในใบสมัครด้วย สุโขทัยของเราได้ทำแผนพัฒนาสุโขทัยเมืองสร้างสรรรค์และนวัตกรรม ระยะ 20 ปี (2561-2580) เอาไว้แล้ว และเมื่อได้เป็นเมืองสร้างสรรค์เมื่อปี 2562 เรายังได้ทำแผนพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ระยะ 5 ปี 2564-2569 เพิ่มขึ้นมาอีกเพื่อพัฒนาเมืองของเราตามเงื่อนไขและพันธกิจของ UNESCO ในการเป็นเมืองสร้างสรรค์ 3. เมืองเครือข่ายต้องเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และแนวปฏิบัติอันเป็นประโยชน์ต่อมวลสมาชิกคนอื่นๆ ชื่อของโครงการนี้ UNESCO ให้ชื่อว่า เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ การเป็นเครือข่ายก็บอกตั้งแต่แรกแล้วต้องมีการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยน เรียนรู้ บูรณการ ช่วยเหลือ เกื้อกูลกันในด้านต่างๆ ซึ่ง UNESCO ก็ระบุเขาไว้ตั้งแต่การสมัครเข้าร่วมแล้ว ดังนั้น เมืองต่างๆที่เป็นเมืองสร้างสรรค์ จึงต้องดำเนินงานเข้าร่วมเครือข่ายใหญ่ เครือข่ายย่อย เครือข่ายด้าน หรือ ร่วมกับเมืองในประเทศ เมืองในต่างประเทศ เมืองด้านเดียวกัน เมืองต่างด้าน แบบทวิภาคี หรือพหุภาคี แบบว่าต้องร่วมให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะได้ประโยชน์ในทุกๆด้าน ยิ่งทำมาก ยิ่งร่วมมาก ยิ่งได้มากนั้นเอง 4. ตลอดจนตรวจสอบความก้าวหน้าและจัดทำรายงานผลดำเนินงานตามเกณฑ์ของโครงการ ทุก 4 ปี เมืองต้องรายงานความก้าวหน้าของการพัฒนาให้กับ UNESCO ได้รับรู้ โดยเมืองสมาชิกต้องมีการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานตลอด 4 ปีหลังจากที่ได้รับการรับรองเป็นเมืองสร้างสรรค์แล้ว ซึ่ง #UNESCO กำหนดรายละเอียดหัวข้อการรายงานผลเอาไว้เป็นมาตรฐานให้ทุกเมืองรายงานผลทุก 4 ปี หากพูดแบบง่ายๆก็คือทุก 4 ปีจะมีการติดตามและประเมิน 1 ครั้ง นั้นเอง นี่ละสิ่งที่ต้องทำต่อไปหลังจากได้เป็นเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO แล้ว #creativecity #sukhothai ปล. ขณะนั่งเขียนอยู่ได้ยินเสียงตูมตามตรุษจีนพอดี เขามาจุดตอน 6 โมงเช้า อากาศปีี้ก็หนาวเย็นยาวนานนะ นี่ต้องใส่เสื้อกันหนาวเขียนทีเดียว
Create Date : 30 มกราคม 2564 |
|
0 comments |
Last Update : 11 กุมภาพันธ์ 2564 6:17:59 น. |
Counter : 523 Pageviews. |
|
|
|