space
space
space
<<
เมษายน 2563
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
space
space
10 เมษายน 2563
space
space
space

เถียง ๒๕๒๘ ตอน น้ำแก่งแตก
         น้ำแก่งแตก..เป็นคำที่พวกเราชาวบ้านใช้เรียกเหตุการณ์น้ำจาก "ห้วยผับ" เอ่อล้นออกมาสองฝั่งท่วมทุ่งนาจนถึง "ตีน" บ้านหรือริมหมู่บ้านของเรา ถ้าเป็นคนริมแม่น้ำคงคล้ายๆกับ "น้ำท่วม" นั้นละแต่ของเราจะไม่ได้ ท่วมแบบเอาจริงเอาจัง จะเป็นอยู่ประมาณไม่เกินอาทิตย์ก็จะลดลงไปเรื่อยๆเหลือที่ขังตาม "ไฮ่นา" หรือ แปลงนาดำตามตีนบ้าน ส่วนทุ่งนาแถวนาผายนั้นก็ยังมากอยู่แม่ได้ไม่ท่วมแบบมิดยอดข้าวเลย นั้นละที่เราเรียกว่า "น้ำผับแตก" 
        "้ห้วยผับ" เป็นหนึ่งในลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูล สายเลือดสำคัญของคนอิสาน มีน้ำไหลและน้ำขังตลอดปี ทำให้มีปลาและสัตว์น้ำมากมายอาศัยอยู่ แต่ไม่ใช่สายเลือดของพวกเรา เพราะทั้งแม่น้ำมูลและห้วยผับไม่ได้ไหลผ่านที่นาเรา หรือ หมู่บ้านเรามันห่างจากหมู่บ้านเราประมาณ 5 กิโลเมตรถึงห้วยผับ ส่วนแม่น้ำมูลนั้นเป็น 10 กว่ากิโลเมตรเห็นจะได้ แต่ก็จะได้ประโยชน์ก็ตอนที่ "น้ำแก่งแตก" นี่ละที่พวกเราได้ประโยชน์เต็มที่  อย่างไรก็ตามมีหลายครั้งที่พวกเราปั่นจักรยานหรือเดินไปเที่ยวหรือเล่นน้ำห้วยผับ ในหน้าแล้งหรือหน้าหนาว ส่วนหน้าฝนไปไม่ได้เด็ดขาดน้ำมันมากอาจตายได้และน้ำมันทั้งลึก ทั้งเชี่ยว พวกเรามัน "สิงห์น้ำตื้น" คือ หากินได้กับน้ำตื้นๆไม่ท่วมหัว หากเกินหัวไปแล้วหากินไม่เป็น 555 เราเรียกพวกนี้ว่า สิงห์น้ำตื้น พวกกินปลาตัวเล็กๆ ไม่เหมือนสิงห์น้ำลึกที่หากินตามแม่น้ำใหญ่ ได้ปลาตัวใหญ่ หลายสิบกิโลกรัม วิธีการหากินก็ต่างๆกัน เทคนิดก็ต่างกัน ปลาก็ต่างกัน ฝีมือก็คนละอย่าง อุปกรณ์ก็คนละอย่าง ฯลฯ 
        คราวนี้พอฝนตกมากๆเข้าทางต้นและกลางแม่น้ำมูล แถวโคราช บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด ศรีษะเกษ ก็ทำให้น้ำล้นตลิ่ง และไหลย้อนออกมาตามแม่น้ำสาขาต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ ห้วยผับ ยิ่งห้วยพับอยู่ระดับต่ำกว่าแม่น้ำมูลยิ่งทำให้ไหลเอ่อออกมาได้ง่ายขึ้น จากนั้นน้ำเหล่านี้ก็จะไหลท่วมตามสองข้างฝั่งของห้วยผับอย่างกว้างขวาง จนมาถึงหมู่บ้านต่างๆ หนอง คลอง บึง รวมทั้งสระและนาของชาวบ้าน แหล่งน้ำต่างๆในหมู่บ้านทั้งหลายจะเต็มไปด้วยน้ำเหล่านี้ รวมกับน้ำฝนที่สะสมเดิมอยู่แล้วก็ยิ่งมากขึ้น มีบางปีที่น้ำแก่งแตกออกมามากๆมันเข้ามาถึงสวนในบ้านของเราเลยทีเดียว อยู่หลายวันด้วย ลักษณะของน้ำแก่งนี้จะคล้ายๆกับนำ้ดันขึ้นไปตามที่สูงต่างๆ น้ำไหลขึ้นตลอดเวลา ไหลย้อนขึ้นมา จนในที่สุดมันเจอหมู่บ้าน เจอที่สูง เจอเนินต่างๆก็ไม่สามารถไปต่อไป พออยู่ได้หลายๆวันก็จะกลายเป็น "น้ำนิ่ง" เฉยๆ พอน้ำมูลลดลงหรือไหลผ่านไปแล้ว น้ำเหล่านี้ก็จะไหลคืนห้วยผับ คืนแม่น้ำมูลดังเดิม ส่วนพวกที่ไหลคืนไม่ได้ติด หนอง สระ คลอง บึง นา ถนน หมู่บ้าน ก็จะขังอยู่ตามที่ต่างๆเต็มไปหมด 
       ตอนที่น้ำแก่งแตกนี้ มันจะท่วมคันแทนาหรือที่สูง ทำให้ใส้เดือน มดแดง แมงมุม งู จิ้งหรีด ตั้กแต ฯลฯ  ที่ไม่ชอบน้ำมาอยู่กองกันเป็นจุดๆ ย่อมๆ เป็นกองๆกันเลยทีเดียว มองเห็นภาพว่าใส้เดือนหลายพันตัวมารวมกลุ่มกันบนเนินย่อมเล็กๆเต็มไปหมด มีปลามา "ตอด" มา "สวบ" กินตามข้างๆ หรือ มีมดลอยกันเป็นแพๆ เป็นกลุ่มๆไม่ให้จมน้ำ มีปลาคอย "สวบ" กินมด แบบเขาเรียกว่า "น้ำมาปลากินมด" 
        ปลาตัวเล็กตัวใหญ่ที่มากับแม่น้ำมูลจะวิ่งกันให้พล่านตามที่น้ำท่วมถึงนะ ตามคันแท ตามเนินน้ำท่วม ตามถนน นี้เราเรียกว่า"ปลาขึ้น" วิ่งกันเห็นๆ พวกเราจะจะเอา แห อวน ตาข่าย ฉลาก ไซ ลอบ ฯลฯ ไปจับปลากัน ให้ได้มากที่สุด เพราะปลามันเยอะมากจริงๆ เช่น ปลาขาว ปลาหลด ปลาหมอ ปลาซิว ปลากิเหลิด ปู  เราจะไม่ใส่เบ็ดหรือตกเบ็ดกัน เพราะว่า อาหารปลามันมีมากเกินไป เลยไม่คุ้ม ไปหากินวิธีอื่นๆ ดีกว่า   พวกที่จะได้ปลาเยอะก็พวก ตึกแห กับ ใส่มองหรือใส่ตาข่าย เพราะปลามันวิ่งหรือเล่าน้ำหรือตื่นเต้นนั้นละ เลยเป็นโอกาสจับได้ง่ายๆ พวกตึกแหก็ไปที่ "สะพาน" ส่วนพวก "ใส่มอง" นี้ก็ไปตามถนน ตามคันแทนา ตามทุ่งนา ตามเนินที่น้ำท่วม เอา "มอง" ไป ใสไว้หลายๆ "ตอน" ตามช่องที่คิดว่าปลาจะผ่านมา แต่ไม่ไปที่น้ำลึกน้ำมันจะไม่ค่อยได้ปลา เราที่น้ำตื่นๆก่อนแล้วไล่หรือเลื่อนลงไปเรื่อยๆ 
       พอน้ำแก่งอยู่ได้สักหลายวัน พอมันเริ่มลง ปลาก็จะลงไปน้ำ เราเรียกว่า "ปลาลง" ก็เป็นอีกช่วงหนึ่งของการหาปลา แต่ส่วนมากจะเป็นการตึกแห ใส่มอง น่ะ ชาวนาอย่างเราได้ปลามาอีกช่วงหนึ่ง แต่ไม่เยอะเท่าตอน "ปลาขึ้น" นะ เพราะบางส่วนมันอยู่ตามนาหรือแหล่งน้ำ มันไม่ลงตามน้ำไป หรือโดนกักอยู่จากคันแทนา ถนน หรือลงไม่ทัน ก็ไว้ได้
       ช่วงที่น้ำแก่งแตก เราชอบมากที่สุดก็การไปตึกแหกับใส่มองนะ มันมีปลาเยอะ ได้ทีเป็นกระสอบหรือเต็ม "ค่อง"ก็ว่าได้ ยิ่งหากนาใครมีคันแทนนาสูงป้องกันน้ำท่วมหรือน้ำแก่งได้ ให้เข้าตามช่องที่ทำไว้ สามารถใส่ไสได้ นี่ละดีมากเลย จะได้ปลาทีละหลายลำเรือเลยละ แต่นาเราไม่ใช่เพระาคันแทนาใหญ่ก็ตาม มันไม่พอที่จะกันน้ำได้แบบนั้น 
       นอกจากนี้ ใครที่ขุดสระเอาไว้ พวกปลาต่างๆจากแม่น้ำมูลก็จะมาอยู่กันหรือลงไปกับน้ำไม่ได้ก็ตกข้างในสระนี้ละ ยิ่งทำสระใหญ่ยิ่งได้ปลาเยอะ หรือเอา "ขอน" ไปให้มันหลบซ่อนกัน ยิ่งได้ปลาเยอะนะ พอวิดสระทีหนึ่งได้เป็นคันรถเลยละ แบบว่าเราไม่ต้องเอาปลาไปเลี้ยง ไม่ต้องปล่อย น้ำแก่งมาทีหนึ่ง ปลาเต็มไปหมดเลย
       พวกเราจะได้ประโยชน์จากน้ำแก่งแตกเป็นจำนวนมาก ปีไหนที่น้ำแตกมากก็จะได้ปลามาก ปีไหนน้ำแตกน้อยจะได้ปลาน้อย น้ำอยู่นานก็ได้ปลามาก น้ำอยู่ไม่นานก็ได้ปลาน้อย แต่คำว่าน้อยนี้ไม่น้อยนะ ได้ปลาร้ากันไหลาย "ไห" กันเลยทีเดียว  
      นี่ละ "น้ำแก่งแตก" เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำเกือบจะทุกๆปี ที่พวกเรารอคอยให้มันเกิดขึ้น หากเรียกว่า เป็นน้ำท่วมมัย คงจะใช่ละ แต่พวกเราไม่ได้คิดว่ามันน้ำท่วม เพราะมันมาแล้วก็ไปไม่นาน ข้าวยังไม่ตาย "น้ำแก่งแตก" ......



Create Date : 10 เมษายน 2563
Last Update : 12 เมษายน 2563 8:56:27 น. 0 comments
Counter : 315 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
space

Dr Chang
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




- เป็น เป็นวิทยากร เป็นคนบรรยาย เป็นผู้บริหาร หน่วยงานของรัฐ
- ชอบ ชอบอ่านนวนิยายจีนกำลังภายใน ชอบป่า ชอบน้ำ
- ทำ ทำงานพัฒนา ทำงานท่องเที่ยว ทำสวนเกษตร
- ขาย ขายประกัน ขายของทะเลแห้ง ขายเกลือ ขายคอนโด
- เรียน จบ ป.เอก ม.โพธิศาสตร์ ป.โท นิด้า ป.ตรี ม.ราม

space
space
space
space
[Add Dr Chang's blog to your web]
space
space
space
space
space