space
space
space
 
มีนาคม 2563
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
space
space
30 มีนาคม 2563
space
space
space

เถียง ๒๕๒๘ ตอน นาผาย
      เขาเล่าว่า คนทำนาจะทำงาน 3 ฤดู หน้าแล้งเดินฝ่าพยับแดด ทะเลเปลว กลิ่นขี้เถ้าฟาง ขี้เถ้าหญ้า ทางที่เดินไปมีร่องรอยเท้าคน ควาย ปู หนู ไปทางเดียวกัน เสียงเรไร จักจั่นร้องบนคาไม้ นกยาง นกเจ่า บินหาปลาตามหนองน้ำน้อย ตามทางเกวียนเก่า ช่วงท้ายๆของหน้าร้อนนี่จะเริ่มทำนากันแล้ว เข้าสู่ช่วงหน้าฝน น้ำจะเริ่มเทลงมา ดินชุ่ม ดินชื่น กลิ่นสาปน้ำ เสียงปลา เขียดกบ นกร้องระงม ลุยน้ำลุยตมเข้านาเข้าที่ เฮาฮาปูปลามากมาย เย็นฉ่ำน้ำหลากขาวโพลน ช่วงสุดท้ายหน้าหนาว หนาวนักนา กลิ่นสาปโคน หอมรวงข้าว หอมกลิ่นดินแห้ง ดอกไม้หน้าหนาวออกระรานตา นอนนาเฝ้าข้าวลัดเลาะลานพี่ลานน้องกลางคืนค่ำ ร่ำสุรา     
    สมัยก่อนพวกเราทำนาได้ปีละ  1 ครั้ง ดังนั้นจึงทุ่มเททุกอย่ากับการทำนา หรือการทำนาเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดของพวกเรา เป้าหมายหลักๆคือ เอาไว้กิน รองลงมาคือเอาไว้ขาย หากมันเหลือนะ หรืออยากได้เงิน    นาที่ทำมี นาผายหรือนาหว่าน กับนาดำ มี 2 พวกเท่านั้น ส่วนนาอื่นๆเช่นนาปัง ไม่เคยทำ ไม่เคยได้ยิน สงสัยไม่มีน้ำเลยไม่ทำกัน หรือไม่มีคนมาส่งเสริม แม้ส่งเสริมก็ไม่มีน้ำอยู่ดี 
    "นาผาย" หรือ   "นาหว่าน" นาที่ทำกัน นาที่เคยทำ สมัยก่อน...อย่างที่เคยเล่าให้ฟังมาแล้วว่าสมัยก่อนตอนไปทำนานั้น ต้องเดินผ่านทางเกวียน ทางควาย ทางคน และ "คันแท" ไปจนกว่าจะถึงนา มันไกลเหมือนกัน ทำให้พวกเราต้องเลือกการทำนาแบบที่สะดวกและเหมาะกับพื้นนาของเรา ซึ่งอยู่ไกล เป็นที่ลุ่ม น้ำท่วมถึง น้ำท่วมขัง ดินเหนียว ไปมาตอนหน้าฝนลำบาก ดังนั้นพวกเราจึงเลือกเป็น  "นาหว่าน" มาใช้   มันคืออะไรหรือ "นาหว่าน"  วันนี้จะได้มาเล่าเรื่องราวของการทำนาหว่านของที่บ้านให้ฟังกัน  
       นาของพวกเรามีผืนเดียว 10 กว่าไร่ เป็นแปลงใหญ่แปลงเดียว มี "คันแท" ใหญ่รอบ 4 ด้านของผืนนา เพื่อกักเก็บน้ำหรือป้องกันน้ำท่วม หรือเอาไว้เดินกัน เราเรียกว่า"คันแท" เมื่อหน้าแล้งมาถึงก็จะเกิดไฟนา หรือไฟป่ามาไหม้พวกพืชแห้งๆหญ้าแห้งๆจนหมด กลายเป็นผืนนาโล่ง สุดลุกหูลุูกตา ยกเว้นจะมี เถียง ต้นไม้รอบเถียง ต้นไม้บนคันแทนาใหญ่ๆ โพน ทางเกวียน มากั้นสายตาเอาไว้ หลายคนอาจจะจินตนาการว่า มันต้องเหมือนภาพวาดสิ มีเถียง มีนา มีควาย มีวัว มีกองฟาง มีหนองน้ำ มีนกบิน มีดวงอาทิตย์ 555 อันนี้ไม่ใกล้เคียงเลยครับ ไม่ใช่ภาพนั้นนะ  หากเดินมาช่วงหน้าแล้งหรือ โอวว ทะเลเต็มผืนนาเลยนะ ไม่ใช่ทะเลมีน้ำนะ "ทะเลแดด" ระยิบระยับ เดินไปแตะฝุ่นไป แตะขี้เถ้าไป ดำๆๆๆ 555 
      "ข้าวเหนียว" ในฐานะที่พวกเรากินแต่ข้าวเหนียว ทั้งนาเราก็เลยปลุูกแต่ข้าวเหนียว ส่วนข้าวจ้าวนี้ไม่มี หากจะกินก็เอาข้าวเหนียวเปลือกหรือข้าวสาร ไปแลกเอากับข้าวอื่นๆ ที่เขาปลูก ทั้ืงนี้ก็เนื่องจากพื้นที่ไม่อำนวยในการปลุกข้าวอย่างอื่นๆ  มันจะโดนน้ำตายหมด พวกที่มีนาดอน นาตีนบ้าน เขาจะมีข้าวจ้าว ข้าวก่ำ เอาไว้ปลูกด้วย เพราะน้ำไม่ท่วม 
      "ข้าวพันธุ์"  ตามหลักวิชาการการปลูกข้าวเขาบอกให้เปลี่ยนพันธุ์ข้าวทุกปีหรือบ่อย  เท่าที่จำความได้ พวกเราไม่เคยเปลี่ยนเลย 555 เราจะเหลือข้าวเปลือกในยุ้งเอาไว้มุมหนึ่ง ไม่กินหมด ไม่ขายหมด เอาไว้ไปปลูกในปีต่อไป นั้นละทำให้ข้าวของพวกเรามีผสมปนเปกันเพรียบ ทั้งข้าวจ้าว ข้าวเหนียว ข้าวนก เม็ดหญ้า  ส่วนมากเป็น พันธุ์ กข 6 เป็นข้าวนาปีนะ ปีละครั้ง หอม นุ่ม อร่อย  เราแปลกใจเหมือนกันว่าทำไมเราไม่เปลียนพันธุ์ข้าวกัน ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามันต้องเปลี่ยนมั้ง จนกว่ามันจะเป็นข้าวแข็ง มีข้าวจ้าวผสมมาก มีข่าวนกผสมมาก นั้นละ การเปลี่ยนก็ไม่ได้ไปซื้อที่ไหนนะ ไปหาคนข้างบ้าน คนรู้จัก ข้าวเขาสวย ข้าวเขาดี ก็ขอแลกเอามาทำพันธุ์ ประมาณนั้น เม็ดใหญ่ รวงใหญ่  กอใหญ่ ต้นสูง นั้นละของดี 

      "หารถไถ" เป็นรถไถใหญ่ครับ พวก ฟอร์ด นั้นละแรงดี ไม่ใช่รถไถเล็กๆคูโบต้า เพราะดินมันแข็ง ไม่มีน้ำ เป็นดินเหนียว ดินดาน สักผ่าน 7 นี่ละดินร่วนดี ไม่ได้เป็นก้อนเหมือนฝาน 3 ฝาน 4 เราต้องนัดวันเวลาและราคาให้เรียบร้อย ซึ่งช่วงนั้นรถไถยังหายากอยู่มาก โทรศัพท์ก็ไม่มีนะตอนนั้น ต้องขี่มอเตอร์ไซค์ หรือ จักรยาน ตามหาเอากัน หรือเดินไปหา เมื่อได้ยินเสียงรถไถที่เขาไถนาอื่นๆอยู่ ซึ่งเราจะเป็นที่รู้กัน ราคาก็คิดเป็น ไร่ๆละกี่บาทว่ากันไป ตามตกลง  
      "หว่านข้าว" พอถึงช่วงปลายหน้าแล้งก็ได้เวลาที่ต้องไปทำนากัน ก็หาบ ข้าวพันธุ์ กับข้าวกับปลา น้ำกิน ไปตามทุ่งนาละครับ คนละไม้คนละมือ หรือบางคนก็ ฝากรถไถที่รับจ้างไปเพราะมันหนัก มันมาก ซึ่งนัดหมายรถไถรับจ้างเอาไว้แล้ว  เมื่อไปถึงก็จัดแจงเอาข้าวพันธุ์ใส่ตระกร้า ใส่คุ แล้วเดินไปหว่านให้ทั่วๆนาได้เลย เดินไปหว่านไป จนครบ  ห่างหรือถี่ของเม็ดข้าวก็แล้วแต่ชอบ ถี่ไปก็เป็นผืนๆ ไม่มีเม็ด หรือเม็ดน้อย ห่างไปกอโต แต่ได้น้อยกอ  อันนี้ต้องอาศัยภูมิปัญญาและความเชี่ยวชาญ ตรงไหนเป็นที่ลุ่ม เป็นที่ดอน เป็นที่ร่องน้ำ เป็นที่น้ำท่วมก่อน ต้องดูดี หว่านดีๆ  "ไถกลบ" เมื่อหว่านเสร็จก็ได้เวลาไถกลบเลยละ รถไถก็ดำเนินการวิ่งไถไปทั่วๆ จนแล้วเสร็จก็กลับบ้านได้ ง่ายมัยละทำนาหว่าน แค่นี้ก็เสร็จเรียบร้อย หว่าน -ไถ แค่นี้เอง พวกเราจึงชอบที่ทำนาหว่าน อีกเหตุผลอาจจะเป็นเพราะที่บ้านมีร้านของยชำเอง ต้องไปทำไร่ ต้องไปทำสวนผัก ด้วย เลยไม่มีเวลามาทำนาอย่างอื่นๆ เหมือนคนอื่นเขา  ตอนที่ไถนานี่เราจะเดินตามรอยรถไถนะ หา "กบพ่ง" หรือกบถ้ำ ที่อยู่ในดินตื้นๆ แต่ตัวใหญ่มาก บางครั้งก็ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แล้วแล้วเจอมัย 

      "รอฝน"  ข้าวนาปี แบบเรานี้จะต้องรอน้ำฝนอย่างเดียว เมื่อหว่านเสร็จต้องรอจนกว่าฝนจะมาให้ความชื่นชุ่ม จนเม็ดข้าวสามารถงอกออกมาจากดินได้ ระหว่างนั้น มีนำ หนู มด เจาะกินเม็ดข้าวไปเป็นปกติ ตามแต่ว่าจะไถดีมัย กลบมิดมัย ต้องลุ้นกับธรรมชาติเอา ตามสภาพหรือตามยถากรรม ไม่มีการผสมยาสารเคมี เหมือนมันสำปะหลังหรือข้าวโพด นี่ละชาวนา 
      "ต้นอ่อน" ช่วงที่ข้าวงอกพ้นดินมา เราจะเห็นข้าวกับหญ้าขึ้นเต็มไปหมด เขียวเชียวละ ทั้งหญ้า ทั้งข้าว ใครขยันก็ต้องลงไปนา ไปเอาหญ้าออก ให้หมด แต่ระวังเหยียบข้าวนะ ช่วงนี้เราจะรู้แล้วว่าข้าวออกดีมัย ตรงไหนแว่งไปบ้าง ตรงไหนเสียหายไปบ้าง บางคนก็พยายามซ่อม โดยการเพราะกล้าไว้ แต่ของเราไม่เคยซ่อมเลยนะ 555  หากช่วงนี้ ฝนทิ้งช่วงไปนาน ข้าวนี่ตายแดดได้เลยละ หากตายๆมาก ต้องทำใหม่ หว่านใหม่ ไถใหม่ กันเลยทีเดียว พอเข้าช่วงต้นหน้าฝนมีน้ำมาประมาณหลังเท้านี้ละ ก็จะออกไปนา ไปเอา "หุ่น" เอาหญ้า เอาข้าวนกออก ถอนออกให้หมด อย่าให้เหลือนะ มันจะแย่งข้าวโต  พร้อมกับหาบปุ๋ยเคมีไปหว่านกัน ก็อาศัยช่วงนี้ละ มีน้อยนิดหน่อย หว่านปุ๋ยคอยฝน ใหญ่ มาพอดี (พวกเราก็คตคิดแบบนี้) ตอนนี้จะมีปลาตัวเล็กๆตัวน้อย ไม่รู้มาจากไหน พอได้ "อ๋อ" ได้คั่ว มีปู มีหอย มีเขียด แมงเงี่ยง ฯลฯ ประกอบด้วย พอได้ "อ๋อ" ได้ต้มกัน  อร่อยมา เพราะเป็นปลาต้นปี ต้นน้ำ ไม่ได้มันอะไรร้อก แต่เพิ่งจะมีให้กินงัย หลังจากผ่าน หน้าหนาว หน้าแล้ง ก็เข้าหน้าฝน 
        " น้ำมา" ช่วงนี้ข้าวโตแล้ว แตกกอ แตกต้น ออกมากมาย หากปกติน้ำหลากจะมาพอดี มาเต็มนาเลย แต่หากมามากจะท่วม ๆ นานไปก็ตายไป 5555 เศร้าๆ พอน้ำมาก แน่นอน ปลา ปู กบ เขียด มากมายเลยละ สนุกสนานในการหาปลา เอาไปทำ "ปลาร้า"  เอาไว้กิน เอาไว้ขาย ยิ่งได้ได้น้ำจากแม่น้ำมูลทะลักออกมาท่วม จะพาปลาแม่น้ำมาเพรียบเลยละ เราเรียกว่า "น้ำผับแตก" คือ ห้วยที่ไกล้นาเราคือ "ห้วยผับ" เป็นสาขา "แม่น้ำมูล" ปลาเลยมาถึงกันได้ เลยกลายเป็นช่วงการกอบโกยปลาเอามาทำปลาร้าและกินกัน  
      "ข้าวเม่า" พอปลายหน้าฝนข้าวจะออกรวงแล้ว มี "น้ำนม" ในเม็ด จากนันจะเริ่มแข็งตัวกลายเป็นเม็ดข้าวสารนั้นละ เปลือกยังเขียวๆอยู่ พวกเราจะลุยน้ำไปนากัน ไปเกี่ยวเอาข้าวอ่อนนี่ละมาทำ "ข้าวเม่า" กินกัน แก่ไปก็แข็ง ไม่หอม จะคล้ายข้าวสาร อ่อนไปก็เป็น "ขี้แมว" เหนียว ติดกันเป็นก้อน ดังนั้น ก่อนเกี่ยวต้องแกะเม็ดในดูก่อน ไม่อ่อน ไม่แก่ เกินไป ข้าวเม่าของเราจะต่างจากข้าวเม่าของภาคกลางน่ะ วันหน้าจะเล่าให้ฟังเป็นการ เฉพาะ 
        "ข้าวแก่" ตอนนี้น้ำจะลดลงเกือบหมดละ เหลือไม่เท่าไหร่ มองเห็นดินในบ้างจุดแล้ว หน้าหนาวก็เริ่มมา ลมหนาวมา หญ้าที่ไม่ชอบน้ำก็จะขึนแล้ว เป็นต้นเล็ก มีดอกเหมือนลูกสนสามใบ กลิ่นฉุนๆ เกิดเป็นพผืนเลย  ใต้ป่าข้าวเหนียว เวลาออกดอกหรือเกษรจะมีสีเหลืองโพล่ขึ้นมาจากดอกใหญ่ สวยงาม กับมีดอกไม้หน้าหนาวอีกหลายๆอย่างที่เกิดตามๆกันมาเต็มผืนนา ก็ใกล้เวลาเกี่ยวข้าวละ
        "เกี่ยวข้าว" เวลาที่เราไปนาในช่วงนี้ น้ำตามทางจะมีบ้าง แห้งบ้าง โคลนบ้าง สลับกันไป กลิ่นเฉพาะของมันก็หอมดี เดินไปทางทางเกวียนนันละ หาบข้าวหาบน้ำไปกัน ส่วนมากก็คนในครอบครัว ไม่ค่อยได้จ้าง เพราะคนอื่นๆ ก็เกี่ยวข้าวพร้อมๆกันนี่ละ เกี่ยวเป็นกำๆประมาณศอกหนึ่ง หรือ เลย ข้อปลายสุด ก่อนเป็นรวงมา หน่อยนั้นเอง พอได้กำๆก็เอาวางให้พ้นน้ำ พ่นโคลน หรือบนกอข้าวที่เกี่ยวนั้นละ ตากแดดเอาไว้ให้มันแห้ง เพราะเราไม่ทิ้งข้าวในนาให้จนแห้งคากอ แบบนี้เวลาเกี่ยวจะ "คอหัก" หมด รวงจะขาดออก ต้องเก็บกองๆเอาไว้ เลยต้องเกี่ยวไป ลุยโคลนไป ลุยน้ำไป แบบนี้ ตอนวางกำข้าวที่เกี่ยวแล้วต้องดูดีๆ วางเป็นแนวๆ จุดๆ ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ 
        "มัดข้าว" ตอนเช้าตรู่ ที่น้ำค้่งตกแล้ว กำข้าวมันจะอ่อน เหนียว บีบได้ หากมันโดนแดด เราก็จะหยุดมัดก่อน พวกเราคนโตจะถือ "ตอก" เอาไปมัดกำข้าวให้รวมกันเป็น "ฟ่อนข้าว" คือ เอาหลายกำมารวมกัน ให้ได้ขนาด น่องขานี้ละ ฝีมือในการมัดข้าวต้องเนียบน่ะ หากไม่เนียบ มัดไม่ดี เวลาขน เวลาย้าย เวลาตี เวลานวดข้าว มันจะหลุดหลุ่ยเลยละ เสียของ ต้องมัดใหม่ซึ่งยากกว่าเดิมเพราะมันแข็.ตัวแล้ว มัดเสร็จก็วางตากแดดเอาไว้ก่อน แล้วก็ไปกินข้าวหรือเกี่ยวข้าวต่อไป
          ช่วงนี้บางทีเราอยากกินข้าวใหม่ที่หอม หวาน มัน อร่อย หรือเอาไปทำข้าวหลาม พวกเราก็ "หยีข้าว" กันไปสีกิน อารมณ์ว่าอยากจะกินไวๆ นั้นเอง วิธีการ หยีข้าว คือ เอาฟ่อนข้าวมาวางบนกระสอบหรือ "ผ้ายาง" แล้วเอาเท้าขยี้ๆเอาเม็ดข้าวออกจากฟางข้าวนั้นละ จนมันเม็ดหมด หยีจนกว่าจะพอใจ ได้ข้าวก็กเอาไปสีมาลองกินข้าวใหม่กัน แน่นอนต้องหาบขึ้นไปที่บ้านโน้นน่ะ เพราะต้องสีโรงสีข้าว ในหมู่บ้าน ซึ่งมี 2 -3 เจ้าของ  
        "กองข้าว" เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จแต่ละวันพอแดดร่มลมตก พวกเราจะช่วยกันขน บางคนก็แบก บางคนก็อุ้ม แล้วแต่ถนัด เอาฟ่อนข้าวที่มัดเอาไว้แล้ว ไป "กอง" ๆ รวมกันแบบเป็นระเบียบ คล้ายบังเกอทหารนั้นละ กระจาย เป็นจุด ตามระยะแรงท้าวที่เดินถึง ส่วนมากจะกองเอาไว้ที่เนินหน่อย ดินแห้ง ก่อนกองก็เกี่ยวกอข้าวมารองพื้นหน้าๆเอาไว้ ไม่ให้ความชื่นมาขึ้นฟ่อนข้าว  กองข้าวนี้จะเป็นที่โปรดปานของนกและหนูมากมาทำรังเลยก็มี มาทำรูใต้กองข้าวเลยก็มี ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการกองไว้ หากนานไปก็มากันหลายตัวเลยละ ข้าวกำลังมัน กำลังใหม่แบบนี้หนู นกชอบ  เราเลยต้องไม่กองเอาไว้นานมากเกินไป รีบเกี่ยวข้าวให้เสร็จจะได้มานวดมาฟาดข้าวกัน 
         "ลานข้าว" เหมือนกับลานตากมันนั้นละ เราจะเลือกเนินดินที่แห้งแล้ว ถากๆหญ้า กอหญ้า ต้นไม้เล็กออกให้เรียบที่สุด ไม่ให้มีหลุมมีบ่อมีรอยแตก จากนั้นจะเอาขี้ควายมาผสมน้ำแล้วเทลาดและละเลงให้ทั่วลานข้าวนี่ เพื่อให้มันไปปิดรูปิดหลุม ข้าวจะได้ไม่หลุดลงไปเสียของ พอให้แห้งก็เป็นกันว่าใช้ได้แล้ว เรียกว่า "ลานข้าว" ส่วนมากจะอยู่ใกล้เคียง ใกล้ร่มไม้ เพราะจะนวดข้าวกันที่ตรงนี้ กินข้าวกันก็ตรงนี้ นอนกันก็ตรงนี้ ทำ "ซุ้มฝาง" หรือ กระท่อมฝาง ก็ตรงนี้ละ 
         "ขนข้าวขึ้นลาน" พวกเราจะช่วยกันหาบโดย "ไม้หลาว" เป็นไม้ไผ่ทั้งลำ แหลมหัวแหลมท้าย เอาไว้เสียบฟ่อนข้าวซ้ายขวา แล้วแต่น้ำหนักที่ ตนเองชอบ  ตรงที่กองข้าวจะมีไม้ไผ่ขวางกันเป็ฯขาตั้งหลาว วางแล้วเสียบฝ่อนข้าว เพ่อผ่อนแรง ไม่ให้เจ็บบ่า เมื่อเต็มแล้วก็เดินไปที่ลานข้าว เอาไปเทไว้ รวมๆกันก่อน  เรามักจะทำตอนเย็นๆ น่ะ ตอนเช้ามัดข้าว ตอนสายเกี่ยวข้าว ตอนเย็นกองข้าวและขนข้าว ทำแบบนี้จนนาเสร็จก็ได้ขั้นตอนต่อไป
        ช่วงที่ทำลานเสร็จนี้พวกเราจะขนเครื่องนอนมานอนที่นาแล้วละ เพราะต้องมานวดข้าว เฝ้าข้าวต่างๆ เอาหมอนมุ้ง ผ้าหุ่มและของกินกันมาแล้ว ที่เด็ดคือบางลานจะทำ "น้ำสาโท" หมักใส่ไหเอาไว้หลายๆไห เอาไว้ให้เพื่อนกินตอนที่นวดข้าว และขนข้าวเข้าบ้าน เพื่อนๆจะมาช่วยกันมากเลยต้องเตรียมน้ำเอาไว้ให้กิน แน่นอนช่วงนี้หนาวมากแล้ว เป็นช่วงที่คนทำนามีความสุขที่สุด แบบข้าวใหม่ปลามัน  
           "กองข้าวใหญ่" เมื่อขนข้าวมาเทๆเอาไว้ในลานแล้วแต่ละวันก่อนนอนพวกเราก็ช่วยกันจัดเรียงฟ่อนข้าวที่เทกองรวมกันให้เป็นกองข้าวที่ใหญ่ที่สุดอยู่ด้านหลังลานข้าว เอาไว้ให้เป็นระเบียบ รอการนวดการสีการตีต่อไป ส่วนมากก็ทำเป็นกองเดียวใหญ่ๆนะ จะได้ไม่เกะกะ มองมาแต่ไกลๆจะเห็นกองข้าวใหญ่โดดเด่นเลยละ มองไปทางไหนก็เห็นแบบนี้ในนาต่างๆ และเป็นที่หมายว่า นานี้เขากองข้าวแล้วนะ นานี่เอาข้าวขึ้นลานแล้วนะ นานี่ฟาดข้าวแล้ว นานี่ฟาดเสร็จแล้ว ประมาณนี้ เป็นหมายได้อย่างชัดเจนเลยที่เดียว
           "ฟาดข้าว" อีกหนึ่งขั้นตอนการทำนาที่สนุกที่สุด  เป็นการตีฟ่อนข้าวเอาเมล็ดออกจากรวงข้าว เราจะทำ "ม้า" คือ ไม้แผ่นหนาๆใหญ่ เจาะรู 1 แห่ง เอาไม้สามเหลี่ยม เสียบเข้าไปเป็นขาตั้ง ให้ตั้งได้เอียงๆ กับอีกสิ่งที่ต้องทำคือ "ไม้คีบ" เป็นไม่ไผ่ของท่อน มีเชือกฝั้นตรงกลาง เอาไว้หนีบฝ่อนข้าวแล้วตีกับม้าไม้ให้เม็ดข้าวหลุดออกมา ตีๆแบบนี้จนกว่าข้าวจะหมด ระวังมือจะเจ็บเอาเพราะมันกระแทก ยังไม่พอ ต้องระวังไม่ให้ไม้ตีกับม้ามันจะกระเด็น หรือดังปอกๆ ช่วงเวลาการฟาดข้าวที่เหมาะคือเย็นๆ หรือกลางคืน บางลานตียันสว่างเลย วันไหนพระจันทร์เต็มดวงยิ่งชอบ เพราะอากาศหนาวๆ ก่อกองไฟ ฟาดข้าว มีน้ำสาโท มีมาม่าสักหน่อย ต้มไก่อีกนิด อันนี้ละสุดยอด
          เม็ดข้าวที่ตีออกมาก็จะกองขึ้นสูงเรื่อยๆ ม้าเรา ก็จะวางอยู่สูงขั้นเรื่อยๆ ตามขนาดกองข้าวเปลือกนะ บางคนก็เอากระดังไปฝัดไปวีให้เม็ดลีบปลิวออกไป บางคนก็เอาคราดไม้มาเชี่ยเอาฟางที่ขาดออกไปจากกองข้าว ให้เหลือแต่เม็ดข้าวที่สมบูรณ์ที่สุด
            "ฟ่อนเฟียง"  ตอนที่ฟาดข้าวนี้ พอเม็ดขาวออกหมดแล้วจะตั้งชื่อใหม่ว่า "ฟ่อนเฟียง" หรือ ฟางนั้นละ แต่เรายังไม่ทิ้งนะ เราจะเอามีดตัดตอกออก แล้วเอามือจับปลายฟ่อนเฟียง เขย่าๆ เผื่อมัรวงข้าวส้นๆติดอยู่ตรงตอกมัดนั้นละ จะได้เม็ดข้าวเพิ่มอีกงัย เมื่อได้รวงข้าวพวกนั้นมาก็เอาไม้ "แส้" ไม้ไผ่เล็กๆยาวๆ ตีเอา ตีเอา เรียกว่า ต "ข้าวนุ"  เมื่อได้แล้วก็เอา "กระดัง" มาฝัดมาวีเอาเม็ดข้าวดีๆไว้ เฟียงเล็กหรือข้าวลีบจะได้ปลิวออกไป 
              ช่วงการฟาดข้าวนี้เป็นช่วงที่พวกเราชาวนา ที่นอนแต่ละลาน จะเดินไปเที่ยวลานนัน ลานนี้ใกล้ไกลแล้วแต่ชอบ ไปตอนกลางคืนนะ กินข้าวเสร็จก็ไป ไปเที่ยว ไปชม ไปเยียมกัน ไปถึงก็ลงมือฟาดข้าวกัน กินของกัน เจ้าของลานก็หาของมาให้กิน  เราก็เอาแรงไปฟาดขาวช่วยกัน ฟาดไป คุยไป จีบสาวไปก็มีหากเขามีสาว จนดึกดื่นก็ค่อยเดินกลับลานตนเอง จะเป็นแบบนี้ทุกๆคืนนะ ชีวิตชาวลานข้าว
             เราจะไม่ฟาดข้าวตอนกลางวันร้อนๆนะ เพราะ "คายข้าว" "คายเฟียง" มันเยอะ  คือ ฝุ่นจากข้าวและจากเฟียง ปลิ้วว่อน ยิ่งได้แดดเข้าไปแล้วนี่ เกากันเต็มแล้ว เราจึงทำตอนเย็น ตอนกลางคืนในการฟาดข้าว สนุกและสบายกว่าเยอะเลย 
             ความสนุกอีกอย่างของพวกเราคือการนอ "กองเฟียง" หรือการ ทำ "ซุ้มเฟียง" พอเราฟาดข้าวได้มากๆแล้วก็ เอาเฟียงนั้นละมาทำที่นอน บางคนก็หมุดบนกองเฟียงเลย บางคนก็เอามาทำกระท่วมเล็กๆ ข้อดีคือมันอุ่นมาก เฟียงนี้จะดีมากตอนกลางคืนแก้หนาวได้สบายๆ แต่กลางวันนี้ไม่ไหว คายมาก คัยมากเลย 555 
              อีกอย่างที่สนุกมากๆ คือ การหาปลาในช่วงนี้ ปลาจะอร่อยมาก สำนวนว่า "ข้าวใหม่ ปลามัน" นั้นละ น้ำจะลดลงไปมาก จนปลาไปติดตามร่องน้ำ ตามแอ่ง ตามคลอง ต่างๆ เราก็ไปจับเอาง่ายๆ ได้มากๆ เอามาปิ้ง มาต้ม มาแกง มาย่าง กันเป็นมื้อๆไป จนกว่าจะฟาดข้าวเสร็จ สุดท้ายเราจะวิดบ่อ วิดคลอง วิดแอ่ง จับปลาให้หมดแล้วพาขึ้นไปบ้านพร้อมกัน เดี๋ยวคนอื่นๆ จะมาหากินที่นาของเราแทน ไม่ทันเขา 
              ขั้นตอนสุดท้ายก็ "ขนข้าว" ขึ้นบ้าน จะทำได้ต้องรอให้นาแห้งก่อนนะ กับนาข้างๆแถวๆนั้นเขาตัดทางชั่วเคราว ตัดคันแท เป็นทางรถก่อน ใครทำก่อนก็ต้องขุดคันนาชาวบ้านเขาๆก็ไม่ว่านะ แต่คนสุดท้ายต้อง "ป้านคันแท" ให้เขาคืน บางครั้ง ดินนาไม่แห่งก็ติดหล่มกัน ต้องเข็น ต้องขุด ต้องเลี่ยง ต้องรองพื้นล้อกันสนุกไป จมมิดล้อก็มี ทั้งขาไปขากลับเลยละ เมื่อคิดว่าดินแน่น ดินแข็งแล้ว ทางพร้อมแล้ว เราก็จ้างรถสี่ล้อ หกล้อ มาขนข้าว ขนอุปกรณ์ทุกอย่าง ไปเข้า "ยุ้งข้าว" ที่บ้าน ช่วงนี้เพื่อนๆชาวนาที่เห็นๆก็มาช่วยกัน จนเสร็จ เรกา็ทำอาหารเลี้ยงเขาอย่างดี บางคนก็ไม่ตามไปที่บ้าน กลับนาเขา บางคนก็ตามไป แล้วเขาจะกลับมาเอง ส่วนเราก็ต้องคอยสังเกตว่า อนาคตลานอื่นๆเขาจะขนข้าวกันวันไหน เราจะได้มาช่วย คืนแรงเขา งัย เป็ฯแบบ เอาแรงกันนะ การขนข้าว เพราะมันเหนื่อย มันคายมาก  
                นี่ละ วิถี  คน ทำ นาหว่าน กลางทุก ได้ข้าวมากมัย น้อยเลย สู้นาดำ ไม่ได้ เพราะมันตาย ไม่ค่อยเกิด น้ำแล้ง น้ำท่วม ปุ๋ยน้อย แต่มันก็เหมาะกับสภาพนาแต่ละคน และของเราแล้ว ละ ....

ปล. ถาพข้าวแท้ๆ แต่ไม่ใช่นาผาย ภาพ ช่างวัช สุโขทัย ขายมาร่า



Create Date : 30 มีนาคม 2563
Last Update : 15 เมษายน 2563 19:15:54 น. 0 comments
Counter : 847 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
space

Dr Chang
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




- เป็น เป็นวิทยากร เป็นคนบรรยาย เป็นผู้บริหาร หน่วยงานของรัฐ
- ชอบ ชอบอ่านนวนิยายจีนกำลังภายใน ชอบป่า ชอบน้ำ
- ทำ ทำงานพัฒนา ทำงานท่องเที่ยว ทำสวนเกษตร
- ขาย ขายประกัน ขายของทะเลแห้ง ขายเกลือ ขายคอนโด
- เรียน จบ ป.เอก ม.โพธิศาสตร์ ป.โท นิด้า ป.ตรี ม.ราม

space
space
space
space
[Add Dr Chang's blog to your web]
space
space
space
space
space