Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

โรคเอสแอลอี หรือ โรคลูปัส








โรคเอสแอลอี หรือ โรคลูปัส

โรคเอสแอลอี หรือ โรคลูปัส หรือที่เรียกกันว่า โรคพุ่มพวง เป็นโรคในกลุ่มข้ออักเสบและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นผลจากความผิดปกติในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ร่างกายสร้างสารโปรตีนชนิดหนึ่งต่อต้านเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกายตนเองและเกิดปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันที่เป็นพิษต่ออวัยวะขึ้น(แพ้ภูมิตนเอง)

ทำให้มีอาการและอาการแสดงได้กับ ทุกระบบในร่างกาย เช่น มีไข้ รู้สึกอ่อนเพลีย น้ำหนักลด มีผื่นแพ้แดดบริเวณใบหน้า ลำคอ หรือต้นแขน อาการปวดข้อ ข้ออักเสบบวม ปวดตามกล้ามเนื้อ ซีด จุดเลือดออกตามตัว บวม ไตอักเสบ ซึมเศร้า กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจหรือปอดอักเสบ เป็นต้น

การดำเนินของโรค อาการจะทรุดลงและดีขึ้นสลับกันไป โดยที่อาการแสดงและความรุนแรงในผู้ป่วยแต่ละคน จะมีความแตกต่างกันมาก บางรายอาจมีอาการน้อย เช่น ปวดข้อ มีผื่นที่หน้า แพ้แดด แต่ในบางรายอาจมีอาการรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้

โรคนี้พบได้เกือบทุกช่วงอายุ แต่ ในเพศหญิง ช่วงอายุ 10-39 ปี โดยพบได้มากกว่าเพศชายประมาณ 10 เท่า



สาเหตุของโรคเอสแอลอี

สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบ แต่เชื่อว่า โรคนี้อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับ ฮอร์โมนเพศหญิง พันธุกรรม แสงแดด หรือรังสีอัลตร้าไวโอเลต การติดเชื้อบางอย่าง หรือยาบางชนิดสามารถกระตุ้นให้โรคกำเริบขึ้นได้


แนวทางการวินิจฉัยโรค

แพทย์จะอาศัยการซักประวัติและการตรวจร่างกาย ร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ การถ่ายภาพรังสี ซึ่งการตรวจทางห้องปฏิบัติการจะมีประโยชน์มากในการวินิจฉัยและติดตามการรักษา

แพทย์จะให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ เมื่อพบว่ามีความผิดปกติดังต่อไปนี้ ตั้งแต่ 4 ข้อขึ้นไป

1. ผื่นที่หน้า รูปผีเสื้อ บริเวณโหนกแก้ม

2. ผื่นบริเวณผิวหนัง ตามหน้า ลำตัว แขนขา

3. แพ้แดด

4. แผลในปาก

5. ข้ออักเสบ

6. การอักเสบของเยื่อหุ้มปอด หรือ เยื่อหุ้มหัวใจ

7. ความผิดปกติทางไต เช่น มีโปรตีนในปัสสาวะ มีตะกอนในปัสสาวะ

8. ความผิดปกติทางระบบประสาท ที่หาสาเหตุไม่ได้

9. ความผิดปกติของระบบเลือด เช่น ซีด เม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ

10. ความผิดปกติทางระบบภูมิคุ้มกัน

11. การตรวจพบสาร antinuclear antibody ในเลือด


การวินิจฉัยโรค SLE นั้นใช้ criteria ของ systemic lupus international collaborating clinics (SLICC) ซึ่งต้องมีมากกว่าหรือเท่ากับ 4 ข้อ โดยต้องมีอย่างน้อย 1 ข้อจาก clinical และ laboratory criteria หรือ biopsy-proven LN ที่มี positive ANA or Anti-DNA

โดย Clinical criteria ประกอบไปด้วย Acute cutaneous lupus, Chronic cutaneous lupus, Oral or nasal ulcers, Non-scaring alopecia, Arthritis, Serositis, Renal, Neurologic, Haematologic anaemia, Leukopaenia, Thrombocytopaenia และ Immunologic criteria ซึ่งประกอบไปด้วย ANA, Anti-DNA, Anti-Sm, Antiphospholipid antibodies, Low complement (C3, C4, CH50), Direct Coomb's test (not corresponds to haemolytic anaemia)


ข้อควรสังเกตในการวินิจฉัย
1. ข้อวินิจฉัยนั้นต้องแยกภาวะที่เกิดจากการติดเชื้อและอื่นๆออกไปก่อน จึงจะสรุปว่าเป็นข้อวินิจฉัยของSLE ได้
2. ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแสดงไม่ครบเกณฑ์การวินิจฉัยSLE แต่ไม่มีสาเหตุอื่นๆที่จะอธิบายอาการแสดงทางคลินิกนั้นๆควรให้การวินิจฉัยว่าเป็นprobable SLE และให้การรักษาตามแนวทางการรักษาโรคSLE แต่ควรติดตามอาการและอาการแสดงในระยะยาวเพื่อการรวินิจฉัยที่แน่นอน
3. การวินิจฉัยโรคSLE อาศัยลักษณะอาการทางคลินิกเป็นหลักการตัดตรวจชิ้นเนื้อจึงทำเฉพาะในรายที่มีปัญหาในการวินิจฉัยหรือเพื่อประเมินความรุนแรงของพยาธิสภาพในอวัยวะนั้นๆรวมถึงการวางแผนการรักษา
( ที่มา แนวทางการรักษาโรคเอสแอลอี(systemic lupus erythematosus) พญ.ขวัญฤทัย ศรีพวาทกุล
https://www.medkorat.in.th/admin/ckfinder/userfiles/files/SLE-1.pdf )






แนวทางการรักษา

เนื่องจากโรคนี้จะมีช่วงระยะกำเริบ และ ช่วงระยะสงบสลับกันไป ทำให้อาการแสดง และ ความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยแต่ละรายจะแตกต่างกันได้มาก การรักษาจึงแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ในแต่ละช่วงเวลา โดยแพทย์จะพิจารณาว่าจะเลือกวิธีรักษาแบบไหนนั้นขึ้นอยู่กับ ความรุนแรง และ อวัยวะที่มีอาการ

ถ้าผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยา เพียงแค่ดูแลตนเอง และมาพบแพทย์เพื่อติดตามการดำเนินของโรคเป็นระยะปีละ 1-2 ครั้งก็พอ

ส่วนผู้ที่มีอาการมากอาจต้องมาพบแพทย์บ่อย ๆ หรือ ต้องนอนพักในโรงพยาบาลโดยเฉพาะในช่วงที่มีอาการมาก แต่เมื่ออาการดีขึ้นก็ค่อยปรับวิธีรักษาใหม่ เป็นครั้ง ๆ ไป


แนวทางการรักษาโดยทั่วไป ประกอบด้วย

1. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น แสงแดด ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ การติดเชื้อ ยาโรคหัวใจ หรือ ยาความดันโลหิตสูงบางชนิด ยาคุมกำเนิด ยาย้อมผม เป็นต้น

2. การรักษาทางยา เป็นส่วนสำคัญในการรักษาโรคนี้ ยาจะประกอบไปด้วยหลายกลุ่มซึ่งแล้วแต่ความรุนแรงของโรค และอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายที่มีอาการ

ยาที่ใช้รักษาได้แก่ ยาแก้ปวดลดการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาต้านมาลาเรีย ยาสเตียรอยด์ และ ยาต้านมะเร็ง หรือ ยากดภูมิคุ้มกันอื่น ๆ

ในช่วงที่โรคอยู่ในระยะสงบ ผู้ป่วยอาจต้องรับประทานยาต่อ และ มาตรวจตามแพทย์นัดเป็นระยะ เช่น ทุก 4 - 6 เดือน แต่ผู้ป่วยควรรีบมาพบแพทย์ ถ้ามีอาการซึ่งแสดงว่าโรคกำเริบ เช่น ไข้ น้ำหนักลด เกิดผื่นใหม่ ๆ ข้ออักเสบมากขึ้น หรือ มีจ้ำเลือดตามตัว เป็นต้น

เนื่องจากยาเหล่านี้มีผลข้างเคียงมาก ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์เมื่อมีปัญหา หรือสงสัยว่าจะเกิดผลข้างเคียงของยา ไม่ควรหยุดยาเอง เนื่องจากอาจทำให้โรคกำเริบได้

3. การรักษาอื่น ๆ ตามอาการที่เป็นอยู่เพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยาทาผิวหนัง ยากันแดด ยาลดความดันในรายที่มีความดันโลหิตสูง เป็นต้น


ผู้ป่วยควรทราบถึงลักษณะการดำเนินของโรค แผนการรักษาในแต่ละช่วง ผลข้างเคียงของการใช้ยา ตลอดจนวิธีดูแลตนเองเพื่อลดความเสี่ยงที่โรคจะกำเริบมากขึ้น และ ควรติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง เพราะในบางครั้งอาการอาจรุนแรงมากขึ้นจนทำให้เสียชีวิตได้


โรคนี้ถึงแม้จะรักษาไม่หายขาด แต่ก็สามารถรักษาให้อาการต่าง ๆ สงบลง จนผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติ ซึ่งบางครั้งอาจต้องใช้เวลาในการรักษาในช่วงแรก ๆ เป็นระยะเวลานานหลายเดือน ผู้ป่วยก็ต้องมีความอดทนที่จะรักษาอย่างต่อเนื่อง ถ้ามีปัญหาในการรักษาก็ต้องปรึกษากับแพทย์ที่รักษา อย่าปรับเปลี่ยนการรักษาเอง



การตั้งครรภ์และการคุมกำเนิด

การตั้งครรภ์และการรับประทานยาคุมกำเนิด อาจกระตุ้นให้โรคกำเริบมากขึ้น
ในผู้ที่สามารถควบคุมอาการได้และมีการสงบของโรคเป็นเวลานานพอควรจะสามารถตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรโดยมีภาวะแทรกซ้อนน้อยมากทั้งต่อแม่และเด็ก แต่ในผู้ที่ยังคุมอาการไม่ดี หรือ มีไตอักเสบกำเริบอยู่ ควรคุมกำเนิด เพราะมีโอกาสที่จะกำเริบรุนแรงถึงขั้นไตวายหรือเสียชีวิต โดยเฉพาะใน 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ หรือ ช่วงหลังคลอด

ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการคุมกำเนิดในช่วงที่โรคกำเริบ และ ช่วงเวลาเหมาะสมที่จะตั้งครรภ์


แนะนำอ่านเพิ่มเติม
 
เอกสารแนะนำข้อมูลโรคเอสแอลอี สำหรับประชาชน  สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย
https://www.thairheumatology.org/wp-content/uploads/2017/07/เอกสารแนะนำข้อมูลโรค-SLE-สำหรับประชาชน.pdf
แนวทางการรักษาโรคเอสแอลอี(systemic lupus erythematosus) พญ.ขวัญฤทัย ศรีพวาทกุล
https://www.medkorat.in.th/admin/ckfinder/userfiles/files/SLE-1.pdf
 
2019 European League Against Rheumatism/American College of Rheumatology classification criteria for systemic lupus erythematosus
https://ard.bmj.com/content/78/9/1151
 
Systemic Lupus Erythematosus (SLE) in Pregnancy
https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/index.php?option=com_content&view=article&id=1317:systemic-lupus-erythematosus-sle-in-pregnancy&catid=45:topic-review&Itemid=561
 
 
โรคข้ออักเสบ     https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=23-12-2007&group=5&gblog=1
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์     https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=05-01-2008&group=5&gblog=2
 
โรคเอสแอลอี หรือ โรคลูปัส     https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=08-03-2008&group=5&gblog=9
 
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ (ตรวจแลบ)     https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=10-02-2008&group=4&gblog=9
 
 
 




 

Create Date : 08 มีนาคม 2551   
Last Update : 2 กันยายน 2563 22:17:59 น.   
Counter : 16535 Pageviews.  

เกาต์



เกาท์


เกาต์ เป็นภาวะที่มีกรดยูริกในเลือดสูง และ มีการตกตะกอนของกรดยูริกในข้อ และ อวัยวะต่าง ๆ

ผู้ชายมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเกาต์มากกว่าผู้หญิง 20 เท่า และมักจะพบในผู้ชายอายุมากกว่า 40 ปี

ส่วนในผู้หญิงจะพบได้บ่อยเมื่ออายุมากกว่า 50 ปี หรือ ช่วงวัยหมดประจำเดือน

โรคเกาต์เป็นโรคเรื้อรัง แต่ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้หรือควบคุมอาการได้ ... ถ้ารักษาตั้งแต่เริ่มเป็น หลีกเลี่ยงสาเหตุนำที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ และรับประทานยาติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอ


อาการ และอาการแสดง …

• มีการอักเสบ ของ หลังเท้า ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อมือ หรือ ข้ออื่น

• เกิดการอักเสบฉับพลัน โดยข้อที่อักเสบจะ บวม แดง ร้อน และ ปวดมากชัดเจน หลังจากได้รับการกระตุ้นจากสาเหตุต่าง ๆ

ข้อที่อักเสบจะบวมขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 2 - 3 ชั่วโมง และข้อมักจะอักเสบเต็มที่ภายใน 24 ช.ม ผิวหนังในบริเวณข้อที่มีการอักเสบจะมีลักษณะแห้ง และบวมแดงเป็นมัน บางคนอาจจะมีไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว อาการอาจค่อย ๆ ทุเลาไปได้เอง จนหายสนิท ระหว่างที่ไม่มีอาการ จะไม่มีความผิดปกติใด ๆ ให้เห็น

• ระยะแรกจะมีการอักเสบครั้งละ 1-2 วัน เป็นข้อเดียว ปีละ 1-2 ครั้ง (ร้อยละ 60 จะมีอาการอีกภายใน 1 ปี) ถ้าไม่ได้รับการรักษา การอักเสบจะเป็นถี่ขึ้น จำนวนวันที่อักเสบนานขึ้น เป็นหลายข้อพร้อมกัน และกลายเป็นข้ออักเสบเรื้อรัง มีก้อนผลึกกรดยูริก ทำให้ข้อผิดรูป และ ข้อเสียอย่างถาวรได้

• ผู้ป่วยจะมีโอกาสเกิด นิ่วในไตได้ประมาณร้อยละ 20 และ มีโอกาสเกิด ไตวายได้ประมาณร้อยละ 10

• ในผู้ที่เป็นมานานก็อาจมี ก้อน ซึ่งเกิดจาก การตกผลึกของกรดยูริกใต้ผิวหนัง ในตำแหน่งต่าง ๆ เช่น ข้อศอก ข้อเท้า ใบหู ซึ่งถ้าก้อนใหญ่ก็อาจจะแตก และมีสารคล้ายชอล์กสีขาวออกมา แต่ถ้าก้อนไม่แตกเอง ก็ไม่ควรไปผ่า

• ผู้ที่มีลักษณะต่อไปนี้แสดงว่าเป็นโรคเกาต์แบบรุนแรง เช่น ปริมาณกรดยูริกในเลือดสูง มีก้อนผลึกกรดยูริก เริ่มเป็นตั้งแต่อายุน้อย มีอาการไตอักเสบ หรือ มีนิ่วในไต เป็นต้น


รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคเกาต์

• ประวัติความเจ็บป่วย อาการและอาการแสดงของการอักเสบ โดยเฉพาะถ้าอาการดีขึ้นจาก ยาโคชิซีน

• เจาะน้ำในข้อเพื่อตรวจผลึกของกรดยูริก

• ตรวจกรดยูริกในเลือด ปกติผู้ชายน้อยกว่า 7 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ผู้หญิงน้อยกว่า 6 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

• เอกซเรย์กระดูกหรือข้อ ในระยะแรกจะปกติ แต่ในรายที่เป็นมาก เป็นมานาน จึงจะพบความผิดปกติ


การวินิจฉัยโรคเกาต์โดยอาศัย ประวัติ และลักษณะอาการแสดง ไม่ได้อาศัยการเจาะตรวจยูริกในเลือด


ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเจาะเลือดทุกคน เพราะถึงแม้ว่าเจาะเลือดแล้วกรดยูริกสูงแต่ไม่มีอาการ ก็ไม่ได้เป็นโรคเกาต์ แต่ ถ้ามีประวัติ และอาการของโรคเกาต์ ถึงแม้ว่ากรดยูริกในเลือดไม่สูง ก็จะรักษาแบบโรคเกาต์

มีผลการวิจัย พบว่า

- ร้อยละ 30 ของผู้ป่วยที่มีข้ออักเสบเฉียบพลันแบบโรคเกาต์ มีระดับกรดยูริกในเลือดอยู่ในระดับปกติ
- ร้อยละ 20 ของคนปกติ (ไม่มีข้ออักเสบ) มีระดับกรดยูริกสูงกว่าค่ามาตรฐาน


แพทย์จะเจาะเลือด เมื่อจะให้ยาลดการสร้างกรดยูริกหรือยาเพิ่มการขับกรดยูริก เพื่อดูว่าตอบสนองต่อยาดีหรือไม่ หรือ เพื่อดูว่าจะหยุดการรักษาได้หรือยัง (จะหยุดยา เมื่อระดับกรดยูริกในเลือด ต่ำกว่า 5 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์)



สาเหตุที่กระตุ้นทำให้เกิดการอักเสบ …

- การบาดเจ็บ หรือ ข้อถูกกระทบกระแทก

- อาหารไม่ได้ทำให้เกิดโรคเกาต์ แต่จะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้

• เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ปีก (ไก่ เป็ด ห่าน) น้ำต้มกระดูก กุ้งชีแฮ้ ปลาหมึก หอย ซุปก้อน น้ำซุปต่าง ๆ กะปิ ปลาไส้ตัน ปลาซาร์ดีนกระป๋อง ปลาอินทรีย์

• พืชบางชนิด เช่น ถั่วต่าง ๆ เห็ด กระถิน ชะอม ใบขี้เหล็ก สะตอ ผักโขม หน่อไม้ ผักคะน้า แตงกวา

• ของหมักดอง เหล้า เบียร์ หรือ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อื่น ๆ

- อากาศเย็น หรือ ช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง เช่น ช่วงเช้า หรือ ก่อนฝนตก เป็นต้น

- ยา เช่น แอสไพริน ยารักษาวัณโรค ยาขับปัสสาวะ ( ซึ่งใช้เป็นยาที่ใช้ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง )



สำหรับอาหาร ... ต้องบอกไว้ก่อนว่า คนที่เป็นโรคเกาต์ ไม่ใช่ว่าต้องเลี่ยงอาหารทุกอย่างตามนั้น นะครับ

เพราะ ของแสลง ที่กระตุ้นให้เกิดอาการแต่ละคน ก็ไม่เหมือนกัน ... แล้ว ผู้ที่รักษาต่อเนื่อง คุมอาการได้ดี ก็สามารถทานอาหารได้ทุกอย่าง เพียงแต่ อาหารบางอย่าง อาจจำกัดปริมาณ ...

จึงต้องคอยสังเกตว่า อาหารอะไรที่เป็นของแสลง สำหรับ ตนเอง ..แล้วก็หลีกเลี่ยง ..

ปัจจุบัน นี้ มีแพทย์หลายท่านเชื่อว่า ไม่ต้องจำกัดอาหารแล้ว เนื่องจากปริมาณสารพิวรีน ( ที่จะกลายเป็นกรดยูริกในร่างกาย ) นั้น มีปริมาณน้อยมาก เมื่อเทียบกับ ปริมาณกรดยูริกที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเอง ในแต่ละวัน ...

แต่เท่าที่ผมได้รักษาผู้ป่วยมา พบว่า มีผู้ป่วยจำนวนมาก ที่มีอาการอักเสบของข้อ เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันหลังจากที่ได้รับประทานอาหารบางอย่าง ( ของแสลง ) ..

ผมจึงยังแนะนำให้สังเกต และ หลีกเลี่ยง ของแสลง นั้น แต่ไม่ใช่ว่าให้หยุดหมดทุกอย่างนะครับ ... เพราถ้าหยุดหมดก็ไม่มีอะไรกินกัน ยิ่งในผู้สูงอายุก็ทานอะไรไม่ค่อยได้อยู่แล้ว ยิ่งถ้าเป็น ความดัน เบาหวาน หัวใจ ก็จะกลายเป็นการทรมานคนไข้ ขึ้นไปอีก ...





แนวทางการรักษา

1.หลีกเลี่ยง สาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ซึ่งแต่ละคน ก็จะไม่เหมือนกัน

2.ลดการใช้งานของข้อที่อักเสบ ถ้าในช่วงที่มีอาการปวด อาการอักเสบมาก อาจจำเป็นต้องใส่เฝือกชั่วคราว

3.รับประทานยา ซึ่งจะแบ่งเป็น

3.1 ยาบรรเทาอาการปวดลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์

ยากลุ่มนี้จะเป็นยาบรรเทาอาการปวด ลดการอักเสบเท่านั้นไม่ได้รักษาโรคโดยตรง จะใช้ในช่วงที่มีอาการปวด อาการอักเสบมาก เมื่ออาการอักเสบลดลงก็ไม่จำเป็นต้องกินยากลุ่มนี้อีก

ผลข้างเคียงที่สำคัญของยาทุกตัวในกลุ่มนี้คือ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ แสบท้อง เป็นแผลในกระเพาะอาหาร อาจพบอาการบวมบริเวณหน้า แขน ขา ได้

3.2 ยารักษาโรคเกาต์โดยเฉพาะ มีชื่อเรียกว่า " โคชิซีน " ในช่วงที่มีอาการอักเสบมากก็อาจจะต้องรับประทานในปริมาณมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยามากขึ้นด้วย

ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ผิวหนังเป็นผื่นคัน ซึ่งถ้าเกิดมีอาการข้างเคียงมากก็จะต้องลดปริมาณยาลง หรือ หยุดยาไว้ก่อน

ยานี้ยังใช้เป็นยาป้องกันการอักเสบด้วย ซึ่งจะต้องรับประทานวันละ 1 - 2 เม็ด ติดต่อกันเป็นเวลานาน 1 - 2 ปี

3.3 ยาลดการสร้างกรดยูริก และ ยาเพิ่มการขับถ่ายกรดยูริก ซึ่งจะต้องรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานานอย่างน้อย 1-3 ปี

ยากลุ่มนี้จะใช้เมื่ออาการอักเสบของข้อดีขึ้นแล้ว (ข้อไม่มีอาการบวมแดง ไม่มีอาการปวดข้อ ไม่มีไข้) เพราะ ถ้าใช้ยากลุ่มนี้ในขณะที่กำลังมีการอักเสบ จะทำให้การอักเสบเป็นมากขึ้น

ขณะที่ใช้ยากลุ่มนี้ จะต้องดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันการเกิดนิ่วในไต

ยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงคือ ผื่นผิวหนัง คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย วิงเวียนศีรษะ ในผู้ป่วยที่รับประทานยาไม่สม่ำเสมอ กิน ๆ หยุด ๆ จะเสี่ยงต่อการแพ้ยามากขึ้น จึงไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถกินยาอย่างสม่ำเสมอได้

ไม่ควรใช้ยานี้ในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี หญิงตั้งครรภ์หรือในช่วงให้นมบุตร ผู้ที่มีนิ่วในไตหรือนิ่วในถุงน้ำดี

4. ฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อที่อักเสบ จะใช้ในกรณีที่มีการอักเสบอย่างรุนแรง และผู้ป่วยไม่สามารถกินยาได้ เท่านั้น เพราะ การฉีดยาเข้าข้อจะมีผลเสียค่อนข้างมาก เช่น มีโอกาสติดเชื้อในข้อ กระดูกอ่อนผิวข้อบางลง เกิดข้อเสื่อมเร็วขึ้น และกล้ามเนื้อที่อยู่รอบข้อจะลีบเล็กลง

ดังนั้นถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ก็ควรหลีกเลี่ยงการฉีดยาเข้าข้อ





เพิ่มเติมภาพบทความที่ลงใน นิตยสาร Men'sHealth  ฉบับ Sept 2012
ผมอยู่บ้านนอก เลยต้องใช้วิธีสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ แต่ก็ถือว่า คุณ T.A.dynamic เขียนสรุปเนื้อหาได้ดี นำมาฝากกัน ไม่เห่อ ไม่เห่อ จริงจริ๊งงงงงง ^_^



















............................

https://www.facebook.com/SOSspecialist/photos/a.857752197612737.1073741828.822694754451815/894073160647307/?type=1&theater

 
#มะเฟืองแก้เก๊าท์จริงหรือลวง ???

ตอนนี้ กระแสมะเฟืองแก้เก๊าท์ กำลังมาแรงนะครับ มีคำถามส่งมาใน inbox เรื่องนี้ทุกวัน หมอเลยอยากชี้แจงให้ทุกท่านเข้าใจก่อนว่า จริงหรือลวงอย่างไร ?

1 .#เราต้องเข้าใจก่อนว่าโรคเก๊าท์คืออะไรและเกิดขึ้นอย่างไร ?
ตอบ : โรคเก๊าท์คือ โรคปวดข้อชนิดหนึ่ง โดยมักเกิดการปวดข้อใหญ่ๆ ปวดแบบทันทีทันใด มีอาการปวดด้วย เช่น ข้อนิ้วหัวแม่โป้งเท้า - ตาตุ่ม แต่สามารถเกิดกับข้ออื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน
โรคเก๊าท์ เกิดจากร่างกายไม่สามารถขับ #สารพิวรีนจากอาหาร ได้ ทำให้ สารพิวรีน ไปค้างในกระแสเลือดและเปลี่ยนเป็น ผลึกยูริกไปสะสมตามข้อและเกิดการอักเสบตามมา

2. #เราต้องทราบว่ามะเฟืองมีคุณสมบัติอย่างไร ?
ตอบ ข้อดีของมะเฟืองมีมากมาย เช่น มีสาร Antioxident / มี Vitamin C มากรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน / #ลดน้ำตาลและ สร้าง glycogen #ดังนั้นมะเฟืองจึงเหมาะมากที่เป็นผลไม้ในผู้ป่วยเบาหวาน

3 #เราต้องทราบว่ามะเฟืองมีข้อเสียไหม ?
ตอบ มะเฟืองมีกรดออกซาลิกสูง ผู้ป่วยโรคไตและ #ผู้ป่วยที่ต้องฟอกไตไม่ควรกินมะเฟือง นอกจากนี้แล้วมะเฟืองมีฤทธิ์ต้านการออกฤทธิ์ของยาบางตัวโดยเฉพาะ #ผู้ป่วยที่กินยาลดไขมันและยาคลายเครียดตามคำแนะนำแพทย์จึงไม่ควรบริโภคมะเฟือง

ดังนั้นจากข้อมูลดังกล่าว เรา #ยังไม่พบว่ามะเฟืองสามารถขับสารฟิวรีน ออกจากกระแสเลือดได้นะครับ ดังนั้นจึงไม่สามารถรักษาโรคเก๊าท์ได้ครับ
ด้วยความปรารถนาดีจาก #ทีมแพทย์เฉพาะทางบาทเดียว

อ่านข้อมูลของมะเฟืองได้ที่ มุลนิธิหมอชาวบ้านะครับ
https://www.doctor.or.th/article/detail/8866

...........
 
เรื่องแบบนี้ ถ้าผู้ป่วยอยากจะลอง .. ผมไม่เคยห้ามผู้ป่วยเลย เพราะ ถึงแม้ทดลองแล้วไม่ได้ผลดี ผลเสียอย่างมากก็ปวดข้อ ทรมาน ไม่ถึงกับเสียชีวิต .. และ การห้าม ก็ไม่ค่อยได้ผล เพราะผู้ป่วยเชื่ออย่างนั้นอยู่แล้ว ที่มาถามหมอเพียงแค่ต้องการคำยืนยันเพิ่มเติมเท่านั้น หมอบอกไม่ช่วย ผู้ป่วยก็ยังเชื่ออยู่ ถ้าหมอห้าม ก็อาจกลายเป้นทะเลาะกัน
 
ดังนั้น ถ้ามีผู้ป่วยมาถาม ผมก็จะตอบว่า " ตามที่หมอเรียนมา ไม่มีข้อมูลเรื่องนี้ ถ้าอยากจะทดลองดูก็ได้ แต่โดยส่วนตัวหมอไม่แนะนำ "
 
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=01-03-2008&group=5&gblog=8
 
ปล. ประสบการณ์ส่วนตัว ..เคยมีผู้ป่วยในคลินิกผม มาถามแล้วก็ไปทดลองทั้ง มะเฟือง มะนาว ใบขี้เหล็ก ใบสาบเสือ ฯลฯ ที่แชร์กันในเนตในเฟส ... ผ่านไปสักพัก ก็ปวดอักเสบกลับมา ยังไม่เคยมีคนไข้คนไหน ที่กลับมาบอกเลยว่า กินแล้วหาย .



สรุป กระเทียมมาปั่นผสมกับมะนาว รักษาโรคเกาต์ได้ ... ไม่จริง นะครับ

สามารถติดตามบทความต่อได้ที่นี่...>>>https://oryor.com/อย/detail/media_specify/739


สูตรการรักษาแปลก ๆ โดยเฉพาะที่อ้างว่า การรักษาที่หมอไม่เคยบอก ฯลฯ .. ก็ให้คิดไว้ก่อนเลยว่า " ไม่จริง " ... อะไรที่มันดี หมอบอกหมด เพราะ ถ้ามันดีจริง ผู้ป่วยก็ดี หมอก็ดัง ^_^ ...

ที่หมอไม่บอก ก็เพราะ มันไม่ดี บอกไปหมอก็โดนด่า เสียชื่อหมอ นะครับ


"""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""

อายุรศาสตร์ ง่ายนิดเดียว
3 สิงหาคม 2565

 
ระดับกรดยูริกในเลือดกับการเกิดโรคเกาต์
ถึงเทศกาลการตรวจสุขภาพประจำปี (อีกแล้ว) คำถามที่ได้รับเป็นประจำคือ กรดยูริกของฉันสูงกว่าค่าปรกติ ฉันจะเป็นเกาต์ไหม และหลาย ๆ คนมองคำว่า กรดยูริกในเลือดสูง เท่ากับ เป็นโรคเกาต์กันเลยทีเดียว
 
เพื่อไปหาคำตอบนี้ ผมก็ไปพลิก ไปค้นวารสารต่าง ๆ ย้อนกลับไปหลายสิบปี ก็เห็นการเปลี่ยนแปลงของความรู้ ความเชื่อและการปฏิบัติมาหลายประการ จะขอมาเล่าให้ฟังสนุก ๆ นะครับ
 
1. ในอดีต ความรู้ทางการแพทย์เรื่องของ protein receptor ที่คอยควบคุมสารเคมีระหว่างเซลล์ ความรู้เรื่องยีนควบคุมโปรตีน ความรู้เรื่องของการแพทย์แม่นยำ ยังมีน้อยมาก ประเด็นการเกิดเกาต์ ก็มุ่งเน้นไปที่ระดับกรดยูริกในเลือด ซึ่งก็ไม่ผิดนะครับ แต่เมื่อเรามีการพัฒนาไปมากขึ้นเราก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง
 
2. ระดับกรดยูริกในเลือด กับ การตกตะกอนยูริกในข้อ กลับพบว่าไม่ได้สัมพันธ์กันสักเท่าไร และอะไรที่เป็นเหตุให้กรดยูริกมาอยู่ในข้อจนเกิดเกาต์ปัจจุบันก็ยังหาคำตอบได้ไม่หมด ปัจจุบันด้วยความรู้ทางพันธุกรรมและการศึกษา Genome-Wide Association Studies เราพบยีนมากมายที่เกี่ยวข้องกับสมดุลกรดยูริก ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมการสร้างหรือการขับกรดยูริก
 
3. สมดุลกรดยูริก เป็นผลลัพธ์ของการผลิต (การดูดซึมและการสร้าง) กับการขับออก ดังนั้นเมื่อเราเห็นค่าสมดุลกรดยูริกที่เราวัดได้ว่าสูง ก็ต้องคิดว่าเกิดจากสร้างมากหรือขับออกลดลง ซึ่งในความเป็นจริงแห่งการเกิดโรคเกาต์ มันจะเกิดจากการขับออกที่ลดลงเสียมากกว่า แต่เรามักจะไปหาว่าอาหารอะไรที่ยูริกสูงแล้วลดมันเสีย มันก็ดีนะครับ แต่ไม่ตอบโจทย์เท่าไร
 
4. การขับออกที่ลดลงก็จะมุ่งประเด็นไปที่การขับออกที่ท่อไต เกือบ 90% ของกรดยูริกที่เกินเกิดจากตรงนี้ นอกจากไตเสื่อมไตวายแล้ว กลไกการขับออกที่ท่อไตด้วยโปรตีนขับออกก็สำคัญมาก และเราพบยีนสำคัญที่ควบคุมโปรตีนนั้นเช่น SLC22A12, SLC2A9, ABCG2 จริง ๆ มีอีกหลายตัวเลยนะ ผมยกมาที่มีการศึกษาชัด ความผิดปกติของยีนต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้การทำงานของโปรตีนบกพร่องหรือขาดการทำงานไป แน่นอนกรดยูริกจะคั่ง
 
5. นอกจากนี้ ยีนดังกล่าวยังไปควบคุมโปรตีนสำคัญในการจัดการยูริกที่อวัยวะอื่นอีกด้วย ที่มีการศึกษามากคือ SLC2A9 ที่ปรากฏบนกระดูกอ่อนผิวข้อ ที่น่าจะอธิบายเรื่องการตกตะกอนของผลึกยูริกในข้อได้ และเจ้ายีนตัวนี้ยังไปควบคุมโปรตีนที่เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังบางจุด ที่น่าจะอธิบายการเกิดก้อนเกาต์ (gouty tophus) ที่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ หรือ ยีน ABCG2 พบที่ตับและลำไส้ ที่ควบคุมโปรตีนขับกรดยูริกนอกพื้นที่ไต ก็น่าจะมีส่วนของการรักษาสมดุลกรดยูริกด้วย
 
6. หลังจากมีการศึกษาเรื่องสมดุลการสร้าง การขับออก และรู้จักโปรตีน ยีนที่ควบคุมโปรตีนหลายตัว และพบว่าหากยีนเหล่านี้มีความผิดปกติ จะสัมพันธ์กับการเกิดเกาต์มากกว่าระดับสมดุลกรดยูริกในเลือด หรือแม้แต่ปัจจัยพื้นฐานดั้งเดิมหลายอย่างที่เราพบว่าสัมพันธ์กับการเกิดเกาต์มากกว่าระดับกรดยูริก เช่น ความอ้วน การดื้ออินซูลิน เส้นรอบเอว ค่าความดันโลหิตซิสโตลิก
 
7. ในยุคหลังที่การศึกษาเชิงลึกระดับโมเลกุลออกมาแล้วนั้น ได้มีการศึกษาที่รวบรวมงานวิจัยแบบ meta analysis ออกมาอีกหลายชิ้นงาน พบว่าระดับกรดยูริกในเลือดที่สูง สัมพันธ์กับการเกิดข้ออักเสบเกาต์เพียง 6-8% เท่านั้น เราพบปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการเกิดข้ออักเสบเกาต์ที่ชัดเจนกว่ามาก แต่ประเด็นคือ การตรวจทำได้ยาก ราคาแพง และทำได้เพียงบอกแนวโน้ม (ที่ดีกว่าระดับกรดยูริก)
 
8. โดยรวมแล้วการใช้ยีน คาดเดาการเกิดโรคเกาต์ได้ประมาณ 40-45% ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แค่ยีนอย่างเดียวที่ส่งผลกับการเกิดโรคข้ออักเสบเกาต์ แต่ก็ดีกว่าแม่นยำกว่าระดับกรดยูริกในเลือดหลายเท่า และ”ปัจจัยอื่น” ที่ไม่ใช่ยีน ก็มีสัดส่วนของผลจากระดับกรดยูริกในเลือดอยู่เพียงเล็กน้อย ดังนั้นถ้าถามว่าการวัดระดับยูริกในเลือด จะคาดเดาการเกิดเกาต์ได้ดีหรือไม่ ตอบว่า ไม่ครับ
 
9. แล้วทำไมยังใช้อยู่ ... ระดับกรดยูริกใช้ร่วมในการวินิจฉัยโรคเกาต์ได้ คือวินิจฉัยเกาต์ก่อน แล้วค่อยไปวัดระดับยูริก ไม่ใช่วัดระดับยูริกก่อนแล้วไปวินิจฉัยเกาต์หรือกลัวว่าจะเป็นเกาต์ อีกประการคือ แม้ระดับกรดยูริกจะสัมพันธ์กับการเกิดเกาต์ไม่ถึง 10% แต่เป็นการตรวจที่ทำได้ง่าย ราคาถูก ทำได้ทุกที่ เพียงแต่จะแปลผลนั้นต้องระวังมาก ๆ (คิดเหมือนการตรวจ PSA)
 
10. ถึงแม้ความรู้จะเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด แต่หลักการแห่งการวินิจฉัย คือ ประวัติ การตรวจร่างกาย ความเสี่ยงการเกิดโรค คือหลักในการคิดและประเมินความน่าจะเป็นก่อนการทดสอบ แล้วเลือกการทดสอบที่มีความไวความจำเพาะที่เหมาะสม หลังจากนั้นจึงเอาไปแปลผลเป็นโอกาสการเกิดโรคหลังทดสอบ อย่าให้เพียงผลการทดสอบอย่างเดียวมาแปลผลและวินิจฉัย ยังเป็นหลักการที่ดีและต้องใช้อยู่เสมอครับ

เครดิต

อายุรศาสตร์ ง่ายนิดเดียว
https://www.facebook.com/medicine4layman/posts/pfbid02cfyZk1dusF7frY1YwTVZ1hrgr9B93gXUATT8iqgXX25nHdH9auW5AF7SeJ799CjPl



 




 

Create Date : 01 มีนาคม 2551   
Last Update : 4 สิงหาคม 2565 1:09:21 น.   
Counter : 79883 Pageviews.  

การตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก (BONE DENSITOMERY)

 




การตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก (BONE DENSITOMERY)


การตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก(BONE DENSITOMERY)

โรคกระดูกพรุนหรือ กระดูกโปร่งบาง คือ ภาวะที่ปริมาณเนื้อกระดูกลดลง และมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในของกระดูก ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลงเกิดกระดูกหักได้ง่ายขึ้น

โรคกระดูกพรุนพบได้บ่อยเป็นลำดับที่2รองจากโรคข้อเสื่อม โดยที่ไม่แสดงอาการผิดปกติ

ผู้หญิงมีโอกาสเกิดโรคนี้ถึงร้อยละ30-40และพบว่าในผู้หญิงไทยอายุ 55 ปีเป็นโรคนี้ร้อยละ 20 แต่ในผู้หญิงที่อายุมากกว่า 65 ปี เป็นโรคนี้ถึงร้อยละ 60 ( 2/3 มีกระดูกสันหลังยุบ โดยไม่มีอาการปวด)

ขณะที่ผู้ชายมีโอกาสเกิดโรคนี้เพียงร้อยละ10 และมักเกิดเมืออายุมากกว่า 70 ปี

การสูญเสียมวลกระดูกเป็นการเปลี่ยนแปลงไม่สามารถเปลี่ยนกลับมาเหมือนเดิมได้วิธีที่ดีที่สุดก็คือ การค้นหาผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อป้องกันและให้การรักษาก่อนที่จะเกิดกระดูกหัก

 

การคัดกรองประเมินความเสี่ยงเบื้องต้นเช่น

-แบบประเมินความเสี่ยงการเกิดกระดูกหัก FRAX(https://www.shef.ac.uk/FRAX/tool.aspx?lang=th)

-OsteoporosisSelf-Assessment Tool for Asians (OSTA) = 0.2 x (น้ำหนัก – อายุ )

น้อยกว่า -4 หมายถึง ความเสี่ยงสูง (พื้นที่สีน้ำเงิน)

ระหว่าง -4 ถึง -1 หมายถึง ความเสี่ยงปานกลาง (พื้นที่สีขาว)

มากกว่า -1 หมายถึง ความเสี่ยงต่ำ (พื้นที่สีแดง)

 

- กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำไม่จำเป็นต้องตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก ยกเว้นในกรณีที่ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ

- กลุ่มที่มีความเสี่ยงปานกลางควรวัดความหนาแน่นกระดูก เพื่อใช้พิจารณาการให้การรักษา

- กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงควรวัดความหนาแน่นกระดูก แต่ถ้าในกรณีที่ไม่มีเครื่องตรวจวัดความหนาแน่นกระดูกสามารถให้การรักษาโรคกระดูกพรุนได้เลย

 

วิธีวัดความหนาแน่นของกระดูก(BMD,Bone Mineral Density )

-วิธีวัดความหนาแน่นของกระดูกด้วยคลื่นเสียงอัลตร้า (QUSt-SCORE , Quantitative Ultrasound t-score)เป็นวิธี ตรวจคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้น ว่ามีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนหรือไม่มีข้อดีคือ สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเสี่ยงกับการได้รับรังสี และ ราคาถูกแต่มีความคลาดเคลื่อนพอสมควร ถ้าวัดแล้วมีค่าผิดจากปกติมากเกินไป เช่นอายุน้อยแต่กระดูกบางมาก เป็นต้น ก็ควรตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่นๆ ก่อนให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคกระดูกบาง กระดูกพรุน

-วิธีวัดความหนาแน่นของกระดูกแบบ DEXA scan ( Dual Energy X-rayAbsortiometry) ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ใช้เพื่อวินิจฉัยโรคกระดูกพรุนโดยจะใช้ค่า T score (จากค่าที่วัดได้ เทียบกับ ค่ามาตรฐานของประชากร ที่มี เพศ อายุ เชื้อชาติ ใกล้เคียงกัน) เป็นเกณฑ์การวินิจฉัย คือ

ค่า T score ที่มากกว่า -1 (ลบ 1) ถือว่า ความหนาแน่นกระดูกปกติ

ค่า T score ที่อยู่ระหว่าง -1 ถึง -2.5ถือว่า กระดูกบาง (Osteopenia)

ค่า T score ที่น้อยกว่า -2.5 คือ กระดูกพรุน (Osteoporosis)

ค่า T score ที่น้อยกว่า -2.5 และมีกระดูกหัก คือ กระดูกพรุนขั้นรุนแรง

 

ข้อบ่งชี้ในการตรวจหาความหนาแน่นของกระดูก

· ผู้ที่มีปัจจัยความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุนสูง

· เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการเปรียบเทียบครั้งต่อไป

· เพื่อประเมินความรุนแรงของโรคหรือประเมินการสูญเสียเนื้อกระดูกว่ารวดเร็วหรือไม่

· ใช้ในการติดตามผลการรักษา
- ความหนาแน่นของกระดูกปกติ (T-score ไม่ต่ำกว่า - 1 SD) ตรวจทุก 5 ปี

- ภาวะกระดูกบาง (Osteopenia,T-score ระหว่าง -2.5 SD ถึง -1 SD) ตรวจทุก 2-5 ปี
- ผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนและอยู่ระหว่างการรักษา ตรวจติดตามผลไม่ถี่กว่า ทุก
2 ปี

 

ผู้ที่ควรตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก( มีปัจจัยความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน )

· ผู้หญิงอายุตั้งแต่ 65ปีขึ้นไป และผู้ชายอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป

· ผู้หญิงหลังหมดประจำเดือน(โดยเฉพาะผู้ที่อายุน้อยกว่า 45 ปี) หรือ ผู้ที่ผ่าตัดรังไข่ออกทั้งสองข้าง

· ถ่ายภาพเอกซเรย์ของกระดูกแล้วพบว่า กระดูกบางผิดปกติ

· มีกระดูกหักเกิดขึ้นทั้งที่เป็นอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรงเช่น ข้อเท้าพลิก ยกของหนัก ลื่นล้ม หรือตกจากเก้าอี้ โดยเฉพาะกระดูกหักในบริเวณ ข้อมือ ข้อไหล่ กระดูกสันหลัง ข้อสะโพกและ กระดูกส้นเท้า

· ผู้ที่มีกระดูกสันหลังผิดปกติเช่น หลังโก่ง หรือ ความสูงลดลงมากกว่า 4 เซนติเมตรเมื่อเทียบกับ ความสูงที่สุดช่วงอายุ25-30 ปี (เทียบเท่ากับความยาวจากปลายนิ้วทั้งสองข้าง) หรือ ความสูงลดลงมากกว่า 2 เซนติเมตรต่อปี

· ผู้อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงปานกลางขึ้นไปจากการตรวจคัดกรองด้วยOSTAscore

· เป็นโรคบางอย่าง เช่นไตวาย เบาหวาน รูมาตอยด์ ไทรอยด์ พิษสุราเรื้อรัง ธาลัสซีเมีย โรคมะเร็ง เป็นต้น

· ใช้ยาบางชนิดเป็นเวลานาน(มากกว่า3เดือน) เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาลดกรดในกระเพาะ(ยาน้ำขาว)ยาขับปัสสาวะ

· รูปร่าง ผอม (มีดัชนีมวลกายน้อยกว่า19 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) หรือ ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย

· มีประวัติครอบครัว เป็นโรคกระดูกพรุนหรือ มีกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน

· สูบบุหรี่ ดื่มสุราดื่มกาแฟมากกว่า 4 แก้วต่อวัน ดื่มน้ำอัดลมมากกว่า 1 ลิตรต่อวัน

 

แนะนำอ่านเพิ่มเติม
แบบประเมินความเสี่ยงการเกิดกระดูกหัก
FRAX https://www.sheffield.ac.uk/FRAX/tool.aspx?country=57

แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคกระดูกพรุนพ.ศ. 2553 / มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย. https://www.topf.or.th/read_hotnews_detail.php?dID=13

บทเรียนเรื่องBonemineral density measurement ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย https://www.cai.md.chula.ac.th/lesson/lesson4903/html/main_f.html

การตรวจมวลกระดูกประชุมวิชาการ 2556 https://www.slideshare.net/suwittaya/bmd-med-conf-56

Bone DensityExam/Testing https://www.nof.org/patients/diagnosis-information/bone-density-examtesting/


******************************************

รู้ได้อย่างไร…ใครเสี่ยงกระดูกพรุน กระดูกหัก
https://www.facebook.com/Lovebonethailand/posts/576503759594976

หนึ่งในเครื่องมือที่เราใช้ประเมินความเสี่ยงในการเกิดกระดูกหัก คือการตรวจวัดความหนาแน่นกระดูก (bone mineral density) ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานในการบอกว่าใครเป็นโรคกระดูกพรุน ใครเสี่ยงกระดูกหักมากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตามการตรวจนี้ต้องใช้เครื่องตรวจวัดเฉพาะ ซึ่งไม่ได้มีในทุกโรงพยาบาล และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

นอกจากการตรวจวัดความหนาแน่นกระดูกแล้ว เราจะมีวิธีการสำรวจตัวเองเบื้องต้นง่ายๆ อย่างไร ว่าใคร “เสี่ยง” เป็นโรคกระดูกพรุน หรือ กระดูกหัก และเมื่อไรควรไปพบแพทย์

วันนี้ กระดูกกระเดี้ยว ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ผศ.ดร.นพ.โพชฌงค์ โชติญาณวงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

อาจารย์เล่าให้ฟังว่าการประเมินความเสี่ยงนั้นทำได้หลายแบบ ตั้งแต่ใช้ข้อมูลแค่อายุเพียงอย่างเดียว (ยิ่งอายุมากยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักมาก) หรือใช้ประวัติอื่นๆประกอบด้วย เช่น เพศ น้ำหนัก ส่วนสูง ประวัติการใช้ steroid ประวัติกระดูกหักในครอบครัว ฯลฯ เพื่อให้การทำนายแม่นยำมากขึ้น

ลองมาทำความรู้จักเครื่องมือประเมินความเสี่ยงในการเกิดกระดูกพรุนกันค่ะ



1. FRAX
เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการทำนายโอกาสในการเกิด “กระดูกหัก” ที่สะโพก และที่ตำแหน่งสำคัญอื่นๆ ภายในระยะเวลา10 ปีข้างหน้า ว่าเป็นกี่ % โดยเราสามารถเลือกฐานข้อมูลของประชากรไทยได้
.
การประเมินด้วย FRAX® สามารถทำได้เองฟรี ดังนี้
.
1. เข้าไปที่ https://www.sheffield.ac.uk/FRAX/tool.aspx?lang=th
.
2. กรอกข้อมูลต่างๆ ลงไป
- ชื่อ/รหัส ไม่จำเป็นต้องกรอกก็ได้
- หากใส่อายุลงไปแล้ว วันเดือนปีเกิดก็ไม่ต้องใส่ได้ (ช่วงอายุที่สามารถประเมินได้โดยเครื่องมือคืออายุ 40-90 ปี)
- ระบุเพศ น้ำหนัก (กิโลกรัม) ส่วนสูง (เซนติเมตร)
- ตอบคำถามปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน 7 ข้อ
- หากไม่มีข้อมูลความหนาแน่นของกระดูกคอสะโพก (femoral neck BMD) ก็ต้องใส่ก็ได้
.
3. เมื่อใส่ข้อมูลครบแล้วให้กดคำนวณ
- สามารถเลื่อนลงไปดูความหมายของปัจจัยเสี่ยงแต่ละข้อได้ในหน้าเดียวกันบริเวณด้านล่าง
.
4. การแปลผล ถ้าความน่าจะเป็นที่จะเกิดกระดูกคอสะโพกหัก >3% หรือกระดูกตำแหน่งสำคัญหัก >20% ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเพิ่มเติมและวางแผนการรักษา


2. OSTA
.
Osteoporosis Self Assessment Tool for Asians (OSTA)
เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ใช้เฉพาะอายุและน้ำหนักตัว ในการประเมินความเสี่ยงในเกิดโรคกระดูกพรุน
.
วิธีการใช้:
ให้ดูอายุและน้ำหนักตัวของผู้ที่ต้องการประเมิน แล้วดูว่าความเสี่ยงตกอยู่ที่สีใด
เช่น ป้ามวลอายุ 62 ปี น้ำหนัก 47 กก. ความเสี่ยงจะอยู่ในโซนสีเหลือง เป็นต้น

อธิบายผลลัพธ์:
.
สีเขียว คือ โอกาสจะเป็นโรคกระดูกพรุนน้อย
สีเหลือง คือ ความเสี่ยงปานกลาง
สีแดง คือ ความเสี่ยงสูง
.
แนะนำพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติมกรณีที่มีความเสี่ยงปานกลางและความเสี่ยงสูง



3. KKOS
.
Khon Kaen Osteoporosis Study Score โดย ศ.นพ. ฉัตรเลิศ พงษ์ไชยกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น การประเมินความเสี่ยงในการเกิดกระดูกพรุน ดูจากอายุและน้ำหนักตัว เช่นกัน
.
สามารถเข้าไปทำแบบประเมินได้ง่ายๆ ที่ https://www.quiz-maker.com/QTBFL85
.
วิธีการใช้:
เลือกช่วงอายุและน้ำหนักของท่าน
.
อธิบายผลลัพธ์:
ผลลัพธ์จากแบบทดสอบจะมี 2 แบบคือ
.
1. มีความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุนต่ำ
ยังไม่จำเป็นต้องได้รับการตรวจความหนาแน่นกระดูก
.
2.มีความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุนสูง
ควรไปตรวจความหนาแน่นกระดูกและรับคำแนะนำจากแพทย์
.
ลองทำดูแล้วเป็นอย่างไรกันบ้างคะ คนที่ความเสี่ยงต่ำก็อย่าลืมดูแลกระดูกกระเดี้ยวตัวเองต่อไปอย่างสม่ำเสมอนะคะ ทำอย่างไรได้บ้าง กดดูที่บทความก่อนๆ ได้เลยค่ะ





********************************************

แถม ..

มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย

https://www.topf.or.th

 

กระดูกพรุนกระดูกโปร่งบาง

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=27-02-2008&group=4&gblog=15

 

กระดูกพรุนกระดูกโปร่งบาง ... ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์

https://taninnit-osteoporosis.blogspot.com/

แบบทดสอบปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน

https://www.topf.or.th/read_hotnews_detail.php?dID=21

 

การตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก(BONEDENSITOMERY)

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=29-02-2008&group=4&gblog=16

 

ยาเม็ดแคลเซียม

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=29-02-2008&group=4&gblog=19

 

การฉีดซีเมนต์รักษากระดูกสันหลังหักยุบ

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=24-06-2008&group=5&gblog=21






 




 

Create Date : 29 กุมภาพันธ์ 2551   
Last Update : 27 มกราคม 2563 21:35:03 น.   
Counter : 3982 Pageviews.  

กระดูกพรุน กระดูกโปร่งบาง Osteoporosis

 



กระดูกพรุน กระดูกโปร่งบาง

โรคกระดูกพรุน หรือ กระดูกโปร่งบาง คือ ภาวะที่ปริมาณเนื้อกระดูกลดลง และ มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในของกระดูก ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลง เกิดกระดูกหักได้ง่ายขึ้น

โรคกระดูกพรุนพบบ่อยรองจากโรคข้อเสื่อม โดยที่ไม่แสดงอาการผิดปกติ การสูญเสียเนื้อกระดูกไม่สามารถเปลี่ยนกลับมาเหมือนเดิมได้ ดังนั้นจึงควรป้องกันและให้การรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกก่อนที่จะเกิดกระดูกหัก

ในวัยเด็กปริมาณเนื้อกระดูกจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจนสูงสุดเมื่ออายุ 30-35 ปี หลังจากนั้นเนื้อกระดูกจะลดลงอย่างช้า ๆ แต่ในผู้หญิงเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน ปริมาณเนื้อกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้หญิงสูญเสียปริมาณเนื้อกระดูกมากกว่าผู้ชาย 2-3 เท่า ผู้หญิงมีโอกาสเกิดโรคนี้ถึงร้อยละ30-40 แต่ผู้ชายมีโอกาสเกิดโรคนี้เพียงร้อยละ 10

พบว่าในผู้หญิงอายุ 60-70 ปีเป็นโรคนี้ ร้อยละ 40 และในผู้หญิงอายุมากว่า 80 ปี จะเป็นโรคนี้ถึงร้อยละ 60

จะเห็นว่าทุกคนมีโอกาสที่จะเป็นโรคกระดูกพรุน แต่ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงจะมีโอกาสเป็นโรคมากกว่าผู้ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง



ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน

1. ผู้หญิงหลังจากหมดประจำเดือน (ตามธรรมชาติ หรือ ผ่าตัดรังไข่ออกทั้งสองข้าง ) สาเหตุสำคัญเชื่อว่าเกิดจาก ภาวะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน

2. รับประทานอาหารที่ไม่ถูกสัดส่วน เช่น รับประทานอาหารโปรตีนสูง (เนื้อสัตว์) หรืออาหารที่มีโซเดียมสูง (รสเค็ม) แต่รับประทานอาหารที่มีแคลเซี่ยมต่ำ

3. กรรมพันธุ์ โดยเฉพาะผู้ที่มีคนในครอบครัว เป็นโรคกระดูกพรุน ก็จะมีความเสี่ยงสูงขึ้น

4. สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ดื่มกาแฟมากกว่า 4 แก้วต่อวัน ดื่มน้ำอัดลมมากกว่า 1 ลิตรต่อวัน

5. ขาดการออกกำลังกายที่มีการแบกรับน้ำหนัก

6. น้ำหนักตัว โดยเฉพาะในผู้หญิง จะพบว่าคนรูปร่างผอมมีความเสี่ยงมากกว่าคนที่มีรูปร่างอ้วน

7. เป็นโรคบางอย่าง เช่น ไตวาย เบาหวาน รูมาตอยด์ ไทรอยด์ พิษสุราเรื้อรัง ธาลัสซีเมีย โรคมะเร็งบางชนิด เป็นต้น

8. ยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาลดกรดในกระเพาะ(ยาธาตุน้ำขาว) ยากันชัก ยาขับปัสสาวะ

9. ผู้สูงอายุ เชื่อว่าสาเหตุเกิดจากการขาดแคลเซี่ยมเป็นเวลานาน เนื่องจากรับประทานอาหารที่มีแคลเซี่ยมต่ำ หรือ ลำไส้ดูดซึมแคลเซี่ยมได้น้อยลง และอาจร่วมกับการขาดวิตามินดี เพราะผู้สูงอายุมักไม่ได้ออกไปสัมผัสกับแสงแดด



จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคกระดูกพรุน แพทย์สามารถบอกได้โดยอาศัยหลาย ๆ วิธีประกอบกันทั้งจาก …

• ประวัติความเจ็บป่วย แต่โดยทั่วไป ผู้ป่วยมักจะปกติดี จนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุทำให้มีกระดูกหักเกิดขึ้น ทั้ง ๆ ที่เป็นอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง เช่น ลื่นหกล้ม หรือ ตกจากเก้าอี้ เป็นต้น ตำแหน่งที่พบกระดูกหักได้บ่อยในโรคกระดูกพรุน คือบริเวณ กระดูกข้อมือ กระดูกหัวไหล่ กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก และ กระดูกส้นเท้า

ผู้สูงอายุที่มีหลังโก่ง หรือความสูงลดลง ซึ่งเกิดจากกระดูกสันหลังค่อย ๆ ยุบตัวลง โดยความสูงลดลงมากกว่า 1.5 นิ้วเมื่อเทียบกับความสูงที่สุดช่วงอายุ 25-30 ปี ( ความสูงที่สุด มีค่าเทียบเท่ากับ ความยาวจากปลายนิ้วทั้งสองข้าง )

• แบบประเมินความเสี่ยงการเกิดกระดูกหัก FRAX ( https://www.shef.ac.uk/FRAX/tool.aspx?lang=th )

• การเอ๊กซเรย์กระดูก ในตำแหน่งต่าง ๆ เช่น กระดูกข้อมือ กระดูกสะโพก กระดูกสันหลัง เป็นต้น


• การวัดความหนาแน่นของเนื้อกระดูก เช่น การวัดด้วยคลื่นเสียงอัลตร้า หรือเอ๊กซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=29-02-2008&group=4&gblog=16

• การตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่น ๆ เช่น การตรวจปัสสาวะ การตรวจสารเคมีในเลือด เป็นต้น

• การตัดชิ้นเนื้อกระดูกเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งจะทำในรายที่จำเป็นเท่านั้น



แนวทางรักษา ปัจจุบันรักษาโดยใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกัน ได้แก่

1. การออกกำลังกาย ต้องเป็นการออกกำลังกายที่มีการแบกรับน้ำหนัก เช่น เดิน วิ่งเหยาะ ๆ เต้นแอโรบิกแบบแรง-กระแทกต่ำ (สเต็ปแอโรบิก) ลีลาศ ยกน้ำหนัก เป็นต้น จะช่วยเพิ่มเนื้อกระดูกในบริเวณที่รับน้ำหนักได้

ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ แต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 30 นาที โดยให้ชีพจรเต้นเร็วขึ้นประมาณ ร้อยละ 60-70 ของชีพจรสูงสุด ( ชีพจรสูงสุด = 220 ลบด้วยอายุของผู้ที่ออกกำลังกาย )

ออกไปสัมผัสกับแสงแดดในช่วงเช้าและเย็น อย่างสม่ำเสมอและนานเพียงพอ ( ประมาณ 15 – 20 นาที ต่อวัน )


2. ลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้สูญเสียเนื้อกระดูก เช่น

รับประทานอาหารให้เหมาะสม เช่น หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโปรตีนสูงและโซเดียมสูง แต่เพิ่มอาหารที่มีแคลเซี่ยมสูง

หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ดื่มกาแฟมากกว่า 4 แก้วต่อวัน หรือ ดื่มน้ำอัดลมมากกว่า 1 ลิตรต่อวัน

หลีกเลี่ยงยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาลดกรดในกระเพาะ(ยาธาตุน้ำขาว) ยากันชัก ยาขับปัสสาวะ


3. การรักษาด้วยยา จะมียาอยู่หลายกลุ่มซึ่งมักจะต้องใช้ร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น

-ฮอร์โมนเอสโตรเจน

ต้องได้รับฮอร์โมนภายใน 3- 5 ปีหลังเริ่มหมดประจำเดือน เป็นเวลาติดต่อกันอย่างน้อย 5-6 ปี จึงจะได้ผลดีที่สุดในการป้องกันโรคกระดูกพรุน ซึ่งแพทย์จะพิจารณาผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป เพราะต้องใช้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ทำให้มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงของยามากขึ้น และ ห้ามใช้ในผู้ที่เป็น มะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม โรคตับ หลอดเลือดดำอุดตัน

-แคลเซี่ยม

ปริมาณแคลเซี่ยมที่ควรจะได้รับในแต่ละช่วงอายุจะแตกต่างกัน เด็กและวัยรุ่นควรได้รับวันละ 800-1,200 มิลลิกรัม คนทั่วไปควรได้รับวันละ 800 มิลลิกรัม ผู้หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรควรได้รับวันละ 1,500-2,000 มิลลิกรัม ผู้หญิงช่วงหมดประจำเดือนควรได้รับวันละ 1,500 มิลลิกรัม และ ผู้สูงอายุควรได้รับวันละ 1,000 มิลลิกรัม

อาหารที่มีแคลเซี่ยมสูง เช่น น้ำนม กุ้งแห้ง กะปิ ผักใบเขียว ปลาเล็กปลาน้อยที่กินได้ทั้งตัว เต้าหู้เหลือง น้ำเต้าหูหรือ อาหารจานเดียว เช่น ข้าวขาหมู ข้าวหมูแดง ก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ้วใส่ไข่ ข้าวราดไก่ผัดกระเพรา ขนมจีนน้ำยา เป็นต้น
ผู้ที่ได้รับแคลเซี่ยมจากอาหารไม่เพียงพอ อาจจำเป็นต้องได้รับ แคลเซี่ยมชนิดเม็ด เสริม

ถ้าได้รับแคลเซี่ยมอย่างเพียงพอนานประมาณ 18 เดือน จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดกระดูกหักได้บ้าง

ในผู้สูงอายุ ควรได้รับ แคลเซี่ยม ร่วมกับ ฮอร์โมนเอสโตรเจน แคลซิโทนิน หรือ วิตามินดี จึงจะได้ผลดียิ่งขึ้น

แคลเซี่ยมชนิดเม็ดฟู (ละลายในน้ำ) ก็จะถูกดูดซึมได้ดีกว่าแคลเซี่ยมชนิดอื่น ๆ แต่ก็จะมีราคาสูงกว่าด้วย

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=29-02-2008&group=4&gblog=19

-ฮอร์โมนแคลซิโตนิน มีทั้งชนิดฉีด และ ชนิดสเปรย์พ่นจมูก

สามารถเพิ่มเนื้อกระดูกได้ ร้อยละ 5-10 ใน 2 ปีแรกของการใช้ยา และลดโอกาสเกิดกระดูกหักได้ร้อยละ 30-40 ช่วยลดอาการปวดกระดูกได้ แต่มีข้อเสียคือต้องใช้ติดต่อกัน 2-3 เดือน มีค่าใช้จ่ายประมาณ 8,000–17,000 บาท

-บิสฟอสโฟเนต เช่น เอเลนโดรเนต ริสซิโดรเนต เป็นต้น

ช่วยเพิ่มเนื้อกระดูกได้ร้อยละ 5-8 ลดโอกาสเกิดกระดูกหักได้ร้อยละ 50 แต่ต้องใช้ยาติดต่อกันอย่างน้อย 3-6 เดือน มีค่าใช้จ่ายประมาณ 9,600 – 16,000 บาท ต่อ ปี ซึ่งในบางรายอาจต้องใช้ติดต่อกัน 2 - 3 ปีจึงจะได้ผลชัดเจน


3. การฉีดซีเมนต์รักษากระดูกสันหลังหักยุบ
VERTEBROPLASTY ( VP )
ในผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนแล้วมีกระดูกสันหลังยุบ (แตกหัก)

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=24-06-2008&group=5&gblog=21



การเลือกวิธีการรักษาต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ความเสี่ยงที่จะเกิดโรค ความรุนแรงของโรค ผลดีผลเสียของวิธีรักษาแต่ละวิธี เศรษฐานะของผู้ป่วย รวมถึง ความสามารถของผู้ป่วยที่จะรักษาอย่างสม่ำเสมอ เพราะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และ บางทีอาจจะต้องรักษาต่อเนื่องกันนานหลายปี หรือ อาจจะต้องรักษากันตลอดชีวิต







แถม ....


มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย

https://www.topf.or.th

 

กระดูกพรุนกระดูกโปร่งบาง

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=27-02-2008&group=4&gblog=15

 

กระดูกพรุนกระดูกโปร่งบาง ... ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์

https://taninnit-osteoporosis.blogspot.com/

แบบทดสอบปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน

https://www.topf.or.th/read_hotnews_detail.php?dID=21

 

การตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก(BONEDENSITOMERY)

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=29-02-2008&group=4&gblog=16

 

ยาเม็ดแคลเซียม

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=29-02-2008&group=4&gblog=19

 

การฉีดซีเมนต์รักษากระดูกสันหลังหักยุบ

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=24-06-2008&group=5&gblog=21





อาหารกับโรคกระดูกและข้อที่พบบ่อย
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
รศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์
https://med.mahidol.ac.th/ortho/th/food%20ortho/patient
https://drive.google.com/file/d/0BzVECrTBp1yodUFpQUNkV1RkTzg/view

วิถีชีวิตกับโรคกระดูกและข้อ
รศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
https://resource.thaihealth.or.th/library/collection/14822
 https://www.ebooks.in.th/ebook/31135/วิถีชีวิตกับโรคกระดูกและข้อ

แนะนำหนังสือ ดี และ ฟรี : อาหารกับโรคกระดูกและข้อที่พบบ่อย+วิถีชีวิตกับโรคกระดูกและข้อ
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=27-12-2017&group=5&gblog=55


**************************************************


ยารักษาโรคกระดูกพรุน  มีกี่ประเภท?
ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักสูง ควรได้รับยารักษาโรคกระดูกพรุน ซึ่งพบว่านอกจากจะช่วยเพิ่มความหนาแน่นมวลกระดูกแล้ว ยังช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักด้วย



ข้อบ่งชี้ในการใช้ยารักษาโรคกระดูกพรุน มี 3 ข้อดังนี้
1. มีกระดูกหักสะโพกหักหรือกระดูกสันหลังยุบ จากภยันตรายที่ไม่รุนแรง
2. ผลการตรวจความหนาแน่นมวลกระดูกพบค่า T-score < -2.5
3. ผลการคำนวณ FRAX พบโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกสะโพกหักในระยะเวลา 10 ปี สูงกว่าร้อยละ 3 หรือโอกาสเกิดกระดูกหักในตำแหน่งสำคัญ (ได้แก่ สะโพก กระดูกสันหลัง กระดูกต้นแขนและกระดูกข้อมือ) สูงกว่าร้อยละ 20


ยารักษาโรคกระดูกพรุนมีหลายชนิด ซึ่งมีวิธีการบริหารยาและผลข้างเคียงที่แตกต่างกัน แนะนำปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาเลือกยาที่เหมาะสมและได้ประโยชน์กับผู้ป่วยมากที่สุด
ชนิดของยารักษาโรคกระดูกพรุนมีดังนี้

1. ยาบิสฟอสโฟเนตชนิดรับประทาน ได้แก่ alendronate, risedronate เป็นต้น
.เป็นยารักษาโรคกระดูกพรุนที่ใช้กันมากที่สุด เนื่องจากราคาไม่แพง มีประสิทธิภาพสูง ลดการหักของกระดูกได้ดี รับประทานง่าย เพียงแค่สัปดาห์ละ 1 เม็ดเท่านั้น
.
ข้อควรรู้สำหรับผู้ป่วย:
- ต้องรับประทานยาสม่ำเสมอ จึงจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักได้
- ต้องรับประทานให้ถูกวิธีดังนี้ รับประทานตอนท้องว่างเพื่อให้ยาดูดซึมเข้าร่างกายได้ดี ดื่มน้ำเปล่า 1 แก้ว (ไม่ใช่แค่จิบ) เพื่อให้ยาลงไปถึงกระเพาะอาหาร ไม่ติดอยู่ที่หลอดอาหาร หลังรับประทานยาต้องอยู่ในท่านั่งหรือยืน (ไม่นอน) เนื่องจากถ้ายาท้นกลับมาที่หลอดอาหารจะทำให้เกิดหลอดอาหารอักเสบหรือเป็นแผลได้ แนะนำรอ 30-60 นาที ให้ยาดูดซึมก่อน จึงค่อยรับประทานอาหาร
- ถ้ามีอาการแสบร้อนหรือปวด บริเวณลิ้นปี่หรือหน้าอก แนะนำหยุดรับประทานยาทันทีและปรึกษาแพทย์



2. ยาบิสฟอสโฟเนตชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำปีละ 1 ครั้ง (ยา zoledronic acid)
เป็นยารักษาโรคกระดูกพรุนที่มีประสิทธิภาพสูงเช่นกัน ลดการหักของกระดูกได้ดี เหมาะกับผู้ป่วยที่มีข้อห้ามสำหรับยาชนิดรับประทาน เช่น โรคกระเพาะ กรดไหลย้อน หลอดอาหารอักเสบ เป็นต้น
.
ข้อควรรู้สำหรับผู้ป่วย:
- อาจมีไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว ท้องเสีย หลังการฉีดยาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังการฉีดยาเข็มแรก แนะนำรับประทานยาลดไข้และพักผ่อนเยอะๆ ซึ่งอาการดังกล่าวจะค่อยๆ ดีขึ้นได้เองใน 2-5 วัน
- อาการไม่สบายหลังการฉีดยาจะน้อยลง หรือไม่มีเลยสำหรับการฉีดยาครั้งต่อๆ ไป
- แนะนำดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนและหลังฉีดยา



3. ยา Denosumab
เป็นยารักษาโรคกระดูกพรุนชนิดฉีดเข้าชั้นไขมันทุก 6 เดือน เป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูง ลดการหักของกระดูกได้ดี และเกิดอาการข้างเคียงหลังฉีดยาน้อยมาก

ข้อควรรู้สำหรับผู้ป่วย:
- จำเป็นต้องมารับยาทุก 6 เดือน อย่างสม่ำเสมอ
- การขาดยามีผลทำให้สูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็วและมีโอกาสเกิดกระดูกสันหลังยุบที่รุนแรงได้


4. ยา Teriparatide
เป็นยารักษาโรคกระดูกพรุน ที่มีกลไกการออกฤทธิ์ที่แตกต่างจากยาอื่น คือมีผลกระตุ้นการสร้างมวลกระดูก จึงเพิ่มมวลกระดูกได้มากและเร็ว ลดการหักของกระดูกได้ดี เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนที่มีอาการรุนแรง ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยยานี้ก่อนจนครบ 1-2 ปีและตามด้วยยาบิสฟอสโฟเนตหรือ denosumab ต่อไป
.
ข้อควรรู้สำหรับผู้ป่วย:
- เป็นยาชนิดฉีดเข้าชั้นไขมัน ต้องฉีดยาอย่างสม่ำเสมอทุกวัน
- หลังการฉีดยาเข็มแรก อาจมีอาการมึนงง เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ความดันตกเวลาเปลี่ยนท่าทาง แนะนำฉีดยาในท่านั่งหรือนอน เพื่อลดโอกาสหกล้ม
- อาการข้างเคียงน้อยลงสำหรับยาเข็มถัด ๆ ไป



5. ยา Raloxifene
เป็นยารักษาโรคกระดูกพรุนชนิดรับประทานวันละ 1 เม็ด มีผลเพิ่มมวลกระดูกและลดการยุบของกระดูกสันหลังได้ดี แต่ไม่มีข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าช่วยลดการเกิดกระดูกสะโพกหักได้ ยานี้มีประโยชน์ช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมได้ด้วย


6. แคลเซียมและวิตามินดี
การได้รับแคลเซียมและวิตามินดีที่เพียงพอช่วยลดการหักของกระดูกได้ แนะนำในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนทุกราย รวมถึงผู้ป่วยที่ได้รับยารักษาโรคกระดูกพรุนดังกล่าวข้างต้น

ขอขอบพระคุณบทความจาก รศ. พญ. ณัฏฐิณี จรัสเจริญวิทยา หน่วยต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ที่มา FB @ กระดูกกระเดี้ยว
https://www.facebook.com/Lovebonethailand/posts/689447541633930


**********************************

อายุรศาสตร์ ง่ายนิดเดียว

ข้อบ่งชี้การส่งตรวจวัดมวลกระดูก (Thai osteoporosis Foundation statement)

1. หญิงอายุมากกว่า 65 หรือชายอายุมากกว่า 70
- อันนี้ไม่ว่าจะมีโรคร่วมใด ๆ ก็สามารถเข้ารับการตรวจรักษาได้

2. หมดประจำเดือนก่อนเวลา (อายุน้อยกว่า 45) ด้วยเหตุใดก็ตาม

3. ขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนต่อเนื่องกันมากกว่าหนึ่งปี ยกเว้นการตั้งครรภ์และให้นมบุตร เช่นจากการใช้ยา

4. ได้รับยากลูโคคอร์ติคอยด์มานาน คิดที่ ได้ยาเพรดนิโซโลน ขนาดตั้งแต่ 7.5 มิลลิกรัม (หรือยาอื่นที่ขนาดยาเทียบเท่ากับเพรดนิโซโลนขนาดเท่านี้) ต่อเนื่องกันอย่างน้อย 3 เดือน
- พบมากในกลุ่มโรคแพ้ภูมิตัวเอง เช่น เอสแอลอี โรคไต

5. ประวัติพ่อหรือแม่กระดูกสะโพกหัก

6. หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ดัชนีมวลกายต่ำกว่า 20
- น้ำหนักตัวน้อยเกินไปเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงกระดูกพรุนและกระดูกหัก แต่ไม่ใช่ข้ออ้างการกินเยอะเพื่ออ้วน

7. หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ส่วนสูงลดลงมากกว่า 4 เซนติเมตร
- ด้วยการวัดต่อเนื่อง ในท่าทางการวัดท่าเดียวกัน
8. หญิงที่ได้รับการรักษาด้วยยา aromatase inhibitors หรือชายที่ได้รับการรักษาด้วย androgen deprivation therapy
- ตัวอย่างยา aromatase inhibitor ที่ใช้บ่อยคือ การใช้ยาต้านฮอร์โมนสำหรับรักษามะเร็งเต้านมในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ส่วนการรักษาเพื่อให้ขาดฮอร์โมนเพศชาย พบมากในการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ไม่ว่าการใช้ยาหรือการตัดอัณฑะ

9. ภาพเอ็กซเรย์พบกระดูกบางหรือกระดูกสันหลังผิดรูป

10. มีประวัติกระดูกหักทั้งที่บาดเจ็บไม่รุนแรง
- ท่านอาจมีกระดูกผิดปรกติหรือรอยโรคที่กระดูก เรียกกระดูกหักแบบผิดปรกตินี้ว่า pathological fracture

11. ทำการตรวจแบบคัดกรองโรคกระดูกพรุน FRAX สำหรับประชากรไทยแล้วตกในกลุ่มเสี่ยงปานกลางขึ้นไป

- ระบบคะแนนคำนวณความเสี่ยงอันตรายจากกระดูกพรุนในสิบปีขององค์การอนามัยโลก มีทั้งแบบใช้มวลกระดูกและใช้ดัชนีมวลกาย แบบที่เราใช้คัดกรองก่อนคือแบบไม่ใช้มวลความหนาแน่นกระดูก (แต่ถ้ามีค่ามวลความหนาแน่นกระดูกมาแล้ว ก็มาคำนวณความเสี่ยงเพิ่มได้)
https://www.sheffield.ac.uk/FRAX/tool.aspx?country=57 ต้นฉบับ
//doh.hpc.go.th/bs/screenFRAX_bmd.php ฉบับแปลไทย
//doh.hpc.go.th/bs/screenFRAX_bmi.php แบบที่ไม่ใช้มวลกระดูก

12 . ทำการตรวจแบบคัดกรองโรคกระดูกพรุนอย่างง่าย OSTA หรือ KKOS แล้วตกในกลุ่มเสี่ยงปานกลาง หรือคำนวณจากการ nomogram แล้วความเสี่ยงมากกว่า 0.3
//hpc5.anamai.moph.go.th/hpd/hp2/OSTA_KKOS.php

nomogram สามารถอ่านได้ที่นี่
Pongchaiyakul, C., Panichkul, S., Songpatanasilp, T. et al. A nomogram for predicting osteoporosis risk based on age, weight and quantitative ultrasound measurement. Osteoporos Int 18, 525–531 (2007). https://doi.org/10.1007/s00198-006-0279-7

แล้วจะทยอยเรื่องการวินิจฉัยและรักษากระดูกพรุนกันต่อ ๆ ไปนะครับ


https://www.facebook.com/medicine4layman/posts/2734613540187995




 

Create Date : 27 กุมภาพันธ์ 2551   
Last Update : 12 ตุลาคม 2564 14:30:54 น.   
Counter : 5752 Pageviews.  

โรครูมาตอยด์ในเด็ก

โรครูมาตอยด์ในเด็ก

ดัดแปลงจากเอกสาร ของสมาคมรูมาติซั่มแห่งประเทศไทย



โรครูมาตอยด์ในเด็กเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคข้อที่มีจำนวนกว่า 50 โรค พบได้ในเด็ก แต่เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังที่พบได้บ่อยที่สุด ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง แต่จากการศึกษาพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อบางชนิด และพันธุกรรม

โรครูมาตอยด์ในเด็กจะเป็นข้ออักเสบเรื้อรัง อาจมีข้ออักเสบอยู่นานเป็นเดือนหรือเป็นปี ในบางรายอาจเป็นไปตลอดชีวิต ในขณะที่บางรายอาจโชคดีที่โรคสามารถสงบลงได้หรือสามารถควบคุมโรคได้

อาการและอาการแสดง อาจแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ตามอาการนำเริ่มต้นของโรคดังนี้

1. กลุ่มที่มีไข้สูง พบได้น้อย เด็กจะมีข้ออักเสบร่วมด้วย อาจมีตับม้ามโต มีปอดอักเสบและหัวใจอักเสบร่วมด้วย

2. กลุ่มที่มีข้ออักเสบหลายข้อ จะมีอาการและอาการแสดงคล้ายโรครูมาตอยด์ในผู้ใหญ่

3. กลุ่มที่มีข้ออักเสบ 2-3 ข้อ ในกลุ่มนี้ถ้าเป็นเด็กหญิงอายุน้อยจะมีโอกาสเกิดตาอักเสบทำให้ตาบอดได้ ในขณะที่ถ้าเป็นเด็กชายและอายุมาก อาจมีกระดูกสันหลังอักเสบร่วมด้วยได้


การวินิจฉัยโรค

ส่วนใหญ่แพทย์มักจะวินิจฉัยได้จาก ประวัติและการตรวจร่างกายเป็นสำคัญ การตรวจทางห้องปฏิบัติการมักไม่ช่วยในการวินิจฉัย แต่ช่วยแยกโรคที่คล้ายโรครูมาตอยด์ในเด็กออกไป การตรวจหารูมาตอยด์ในเลือดจะให้ผลลบ

การตรวจทางภาพรังสีอาจช่วยบอกความรุนแรงของโรคและพยาธิสภาพที่ข้อถูกทำลาย

แนวทางรักษา

1. การรักษาทางยา เช่น แอสไพริน ยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ ในรายที่ตอบสนองต่อการรักษาไม่ดีอาจต้องพิจารณาใช้เกลือทองคำ (gold salt) ในการรักษา แต่ยานี้มีผลข้างเคียงมาก ควรใช้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

2. การบริหารร่างกาย จะช่วยให้ข้อมีการเคลื่อนไหวได้ดีไม่ติดขัด และเป็นการเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง

3. การผ่าตัด เป็นหนทางสุดท้ายที่นำมาใช้รักษา และจะพิจารณาในรายที่ข้อถูกทำลายอย่างมาก มีการผิดรูปไป หรือเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อในข้อ เป็นต้น

4. การตรวจตา เด็กโรครูมาตอยด์โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีข้ออักเสบเพียง 2-3 ข้อ อาจมีปัญหาตาอักเสบได้ ซึ่งถ้าเป็นเรื้อรังและไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ตาบอดได้ เด็กจึงควรได้รับการตรวจตาจากจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง

5. การดูแลจากครอบครัว ครอบครัวจะมีส่วนสำคัญมากในการช่วยการดูแลรักษาเด็กที่เป็นโรครูมาตอยด์ พ่อแม่ผู้ปกครองควรให้ความเห็นอกเห็นใจ ให้ความรัก ส่งเสริมให้เด็กได้รับการศึกษา ได้ออกกำลังกาย ปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง
บางครั้งเด็กอาจมีอาการซึมเศร้า เนื่องจากเขาคิดว่าเขามีร่างกายไม่สมบูรณ์เช่นเด็กคนอื่น หรือ คิดว่าเขามีความผิดอะไร ทำไมจึงต้องเป็นเขาที่เป็นโรคนี้ เป็นต้น พ่อและแม่จะต้องให้กำลังใจ ปลอบโยนให้เขายอมรับความจริง

6. การดูแลจากโรงเรียน ถึงแม้เด็กที่เป็นโรครูมาตอยด์ จะมีความผิดปกติทางร่างกาย และ อาจมีรูปร่างเล็กกว่าเด็กคนอื่นในอายุที่เท่ากัน แต่สมองของเด็กเหล่านี้จะปกติ ครูจะต้องช่วยดูแลเด็ก ให้ความอบอุ่น คอยส่งเสริมให้มีการออกกำลังกายที่ถูกต้องและเหมาะสม ควบคุมการรับประทานยา และรายงานปัญหาที่เกิดขึ้นที่โรงเรียน เพื่อให้พ่อแม่และแพทย์ทราบ เพื่อจะได้นำมาปรับปรุงและให้การดูแลรักษาที่เหมาะสมต่อไป




 

Create Date : 26 กุมภาพันธ์ 2551   
Last Update : 27 กุมภาพันธ์ 2551 18:31:46 น.   
Counter : 7231 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]