กระดูกพรุน กระดูกโปร่งบาง Osteoporosis

กระดูกพรุน กระดูกโปร่งบาง
โรคกระดูกพรุน หรือ กระดูกโปร่งบาง คือ ภาวะที่ปริมาณเนื้อกระดูกลดลง และ มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในของกระดูก ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลง เกิดกระดูกหักได้ง่ายขึ้น
โรคกระดูกพรุนพบบ่อยรองจากโรคข้อเสื่อม โดยที่ไม่แสดงอาการผิดปกติ การสูญเสียเนื้อกระดูกไม่สามารถเปลี่ยนกลับมาเหมือนเดิมได้ ดังนั้นจึงควรป้องกันและให้การรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกก่อนที่จะเกิดกระดูกหัก
ในวัยเด็กปริมาณเนื้อกระดูกจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจนสูงสุดเมื่ออายุ 30-35 ปี หลังจากนั้นเนื้อกระดูกจะลดลงอย่างช้า ๆ แต่ในผู้หญิงเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน ปริมาณเนื้อกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้หญิงสูญเสียปริมาณเนื้อกระดูกมากกว่าผู้ชาย 2-3 เท่า ผู้หญิงมีโอกาสเกิดโรคนี้ถึงร้อยละ30-40 แต่ผู้ชายมีโอกาสเกิดโรคนี้เพียงร้อยละ 10
พบว่าในผู้หญิงอายุ 60-70 ปีเป็นโรคนี้ ร้อยละ 40 และในผู้หญิงอายุมากว่า 80 ปี จะเป็นโรคนี้ถึงร้อยละ 60
จะเห็นว่าทุกคนมีโอกาสที่จะเป็นโรคกระดูกพรุน แต่ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงจะมีโอกาสเป็นโรคมากกว่าผู้ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน
1. ผู้หญิงหลังจากหมดประจำเดือน (ตามธรรมชาติ หรือ ผ่าตัดรังไข่ออกทั้งสองข้าง ) สาเหตุสำคัญเชื่อว่าเกิดจาก ภาวะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน
2. รับประทานอาหารที่ไม่ถูกสัดส่วน เช่น รับประทานอาหารโปรตีนสูง (เนื้อสัตว์) หรืออาหารที่มีโซเดียมสูง (รสเค็ม) แต่รับประทานอาหารที่มีแคลเซี่ยมต่ำ
3. กรรมพันธุ์ โดยเฉพาะผู้ที่มีคนในครอบครัว เป็นโรคกระดูกพรุน ก็จะมีความเสี่ยงสูงขึ้น
4. สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ดื่มกาแฟมากกว่า 4 แก้วต่อวัน ดื่มน้ำอัดลมมากกว่า 1 ลิตรต่อวัน
5. ขาดการออกกำลังกายที่มีการแบกรับน้ำหนัก
6. น้ำหนักตัว โดยเฉพาะในผู้หญิง จะพบว่าคนรูปร่างผอมมีความเสี่ยงมากกว่าคนที่มีรูปร่างอ้วน
7. เป็นโรคบางอย่าง เช่น ไตวาย เบาหวาน รูมาตอยด์ ไทรอยด์ พิษสุราเรื้อรัง ธาลัสซีเมีย โรคมะเร็งบางชนิด เป็นต้น
8. ยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาลดกรดในกระเพาะ(ยาธาตุน้ำขาว) ยากันชัก ยาขับปัสสาวะ
9. ผู้สูงอายุ เชื่อว่าสาเหตุเกิดจากการขาดแคลเซี่ยมเป็นเวลานาน เนื่องจากรับประทานอาหารที่มีแคลเซี่ยมต่ำ หรือ ลำไส้ดูดซึมแคลเซี่ยมได้น้อยลง และอาจร่วมกับการขาดวิตามินดี เพราะผู้สูงอายุมักไม่ได้ออกไปสัมผัสกับแสงแดด

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคกระดูกพรุน แพทย์สามารถบอกได้โดยอาศัยหลาย ๆ วิธีประกอบกันทั้งจาก …
• ประวัติความเจ็บป่วย แต่โดยทั่วไป ผู้ป่วยมักจะปกติดี จนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุทำให้มีกระดูกหักเกิดขึ้น ทั้ง ๆ ที่เป็นอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง เช่น ลื่นหกล้ม หรือ ตกจากเก้าอี้ เป็นต้น ตำแหน่งที่พบกระดูกหักได้บ่อยในโรคกระดูกพรุน คือบริเวณ กระดูกข้อมือ กระดูกหัวไหล่ กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก และ กระดูกส้นเท้า
• ผู้สูงอายุที่มีหลังโก่ง หรือความสูงลดลง ซึ่งเกิดจากกระดูกสันหลังค่อย ๆ ยุบตัวลง โดยความสูงลดลงมากกว่า 1.5 นิ้วเมื่อเทียบกับความสูงที่สุดช่วงอายุ 25-30 ปี ( ความสูงที่สุด มีค่าเทียบเท่ากับ ความยาวจากปลายนิ้วทั้งสองข้าง )
• แบบประเมินความเสี่ยงการเกิดกระดูกหัก FRAX ( https://www.shef.ac.uk/FRAX/tool.aspx?lang=th )
• การเอ๊กซเรย์กระดูก ในตำแหน่งต่าง ๆ เช่น กระดูกข้อมือ กระดูกสะโพก กระดูกสันหลัง เป็นต้น
• การวัดความหนาแน่นของเนื้อกระดูก เช่น การวัดด้วยคลื่นเสียงอัลตร้า หรือเอ๊กซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=29-02-2008&group=4&gblog=16
• การตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่น ๆ เช่น การตรวจปัสสาวะ การตรวจสารเคมีในเลือด เป็นต้น
• การตัดชิ้นเนื้อกระดูกเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งจะทำในรายที่จำเป็นเท่านั้น
แนวทางรักษา ปัจจุบันรักษาโดยใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกัน ได้แก่
1. การออกกำลังกาย ต้องเป็นการออกกำลังกายที่มีการแบกรับน้ำหนัก เช่น เดิน วิ่งเหยาะ ๆ เต้นแอโรบิกแบบแรง-กระแทกต่ำ (สเต็ปแอโรบิก) ลีลาศ ยกน้ำหนัก เป็นต้น จะช่วยเพิ่มเนื้อกระดูกในบริเวณที่รับน้ำหนักได้
ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ แต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 30 นาที โดยให้ชีพจรเต้นเร็วขึ้นประมาณ ร้อยละ 60-70 ของชีพจรสูงสุด ( ชีพจรสูงสุด = 220 ลบด้วยอายุของผู้ที่ออกกำลังกาย )
ออกไปสัมผัสกับแสงแดดในช่วงเช้าและเย็น อย่างสม่ำเสมอและนานเพียงพอ ( ประมาณ 15 – 20 นาที ต่อวัน )
2. ลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้สูญเสียเนื้อกระดูก เช่น
รับประทานอาหารให้เหมาะสม เช่น หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโปรตีนสูงและโซเดียมสูง แต่เพิ่มอาหารที่มีแคลเซี่ยมสูง
หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ดื่มกาแฟมากกว่า 4 แก้วต่อวัน หรือ ดื่มน้ำอัดลมมากกว่า 1 ลิตรต่อวัน
หลีกเลี่ยงยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาลดกรดในกระเพาะ(ยาธาตุน้ำขาว) ยากันชัก ยาขับปัสสาวะ
3. การรักษาด้วยยา จะมียาอยู่หลายกลุ่มซึ่งมักจะต้องใช้ร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น
-ฮอร์โมนเอสโตรเจน
ต้องได้รับฮอร์โมนภายใน 3- 5 ปีหลังเริ่มหมดประจำเดือน เป็นเวลาติดต่อกันอย่างน้อย 5-6 ปี จึงจะได้ผลดีที่สุดในการป้องกันโรคกระดูกพรุน ซึ่งแพทย์จะพิจารณาผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป เพราะต้องใช้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ทำให้มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงของยามากขึ้น และ ห้ามใช้ในผู้ที่เป็น มะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม โรคตับ หลอดเลือดดำอุดตัน
-แคลเซี่ยม
ปริมาณแคลเซี่ยมที่ควรจะได้รับในแต่ละช่วงอายุจะแตกต่างกัน เด็กและวัยรุ่นควรได้รับวันละ 800-1,200 มิลลิกรัม คนทั่วไปควรได้รับวันละ 800 มิลลิกรัม ผู้หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรควรได้รับวันละ 1,500-2,000 มิลลิกรัม ผู้หญิงช่วงหมดประจำเดือนควรได้รับวันละ 1,500 มิลลิกรัม และ ผู้สูงอายุควรได้รับวันละ 1,000 มิลลิกรัม
อาหารที่มีแคลเซี่ยมสูง เช่น น้ำนม กุ้งแห้ง กะปิ ผักใบเขียว ปลาเล็กปลาน้อยที่กินได้ทั้งตัว เต้าหู้เหลือง น้ำเต้าหูหรือ อาหารจานเดียว เช่น ข้าวขาหมู ข้าวหมูแดง ก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ้วใส่ไข่ ข้าวราดไก่ผัดกระเพรา ขนมจีนน้ำยา เป็นต้น ผู้ที่ได้รับแคลเซี่ยมจากอาหารไม่เพียงพอ อาจจำเป็นต้องได้รับ แคลเซี่ยมชนิดเม็ด เสริม
ถ้าได้รับแคลเซี่ยมอย่างเพียงพอนานประมาณ 18 เดือน จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดกระดูกหักได้บ้าง
ในผู้สูงอายุ ควรได้รับ แคลเซี่ยม ร่วมกับ ฮอร์โมนเอสโตรเจน แคลซิโทนิน หรือ วิตามินดี จึงจะได้ผลดียิ่งขึ้น
แคลเซี่ยมชนิดเม็ดฟู (ละลายในน้ำ) ก็จะถูกดูดซึมได้ดีกว่าแคลเซี่ยมชนิดอื่น ๆ แต่ก็จะมีราคาสูงกว่าด้วย
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=29-02-2008&group=4&gblog=19
-ฮอร์โมนแคลซิโตนิน มีทั้งชนิดฉีด และ ชนิดสเปรย์พ่นจมูก
สามารถเพิ่มเนื้อกระดูกได้ ร้อยละ 5-10 ใน 2 ปีแรกของการใช้ยา และลดโอกาสเกิดกระดูกหักได้ร้อยละ 30-40 ช่วยลดอาการปวดกระดูกได้ แต่มีข้อเสียคือต้องใช้ติดต่อกัน 2-3 เดือน มีค่าใช้จ่ายประมาณ 8,000–17,000 บาท
-บิสฟอสโฟเนต เช่น เอเลนโดรเนต ริสซิโดรเนต เป็นต้น
ช่วยเพิ่มเนื้อกระดูกได้ร้อยละ 5-8 ลดโอกาสเกิดกระดูกหักได้ร้อยละ 50 แต่ต้องใช้ยาติดต่อกันอย่างน้อย 3-6 เดือน มีค่าใช้จ่ายประมาณ 9,600 – 16,000 บาท ต่อ ปี ซึ่งในบางรายอาจต้องใช้ติดต่อกัน 2 - 3 ปีจึงจะได้ผลชัดเจน
3. การฉีดซีเมนต์รักษากระดูกสันหลังหักยุบ VERTEBROPLASTY ( VP ) ในผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนแล้วมีกระดูกสันหลังยุบ (แตกหัก)
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=24-06-2008&group=5&gblog=21
การเลือกวิธีการรักษาต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ความเสี่ยงที่จะเกิดโรค ความรุนแรงของโรค ผลดีผลเสียของวิธีรักษาแต่ละวิธี เศรษฐานะของผู้ป่วย รวมถึง ความสามารถของผู้ป่วยที่จะรักษาอย่างสม่ำเสมอ เพราะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และ บางทีอาจจะต้องรักษาต่อเนื่องกันนานหลายปี หรือ อาจจะต้องรักษากันตลอดชีวิต

แถม ....
มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย https://www.topf.or.th กระดูกพรุนกระดูกโปร่งบาง https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=27-02-2008&group=4&gblog=15 กระดูกพรุนกระดูกโปร่งบาง ... ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์ https://taninnit-osteoporosis.blogspot.com/
แบบทดสอบปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน https://www.topf.or.th/read_hotnews_detail.php?dID=21 การตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก(BONEDENSITOMERY) https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=29-02-2008&group=4&gblog=16 ยาเม็ดแคลเซียม https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=29-02-2008&group=4&gblog=19 การฉีดซีเมนต์รักษากระดูกสันหลังหักยุบ https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=24-06-2008&group=5&gblog=21

อาหารกับโรคกระดูกและข้อที่พบบ่อย ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ รศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ https://med.mahidol.ac.th/ortho/th/food%20ortho/patient https://drive.google.com/file/d/0BzVECrTBp1yodUFpQUNkV1RkTzg/view
วิถีชีวิตกับโรคกระดูกและข้อ รศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ https://resource.thaihealth.or.th/library/collection/14822 https://www.ebooks.in.th/ebook/31135/วิถีชีวิตกับโรคกระดูกและข้อ
แนะนำหนังสือ ดี และ ฟรี : อาหารกับโรคกระดูกและข้อที่พบบ่อย+วิถีชีวิตกับโรคกระดูกและข้อ https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=27-12-2017&group=5&gblog=55
**************************************************
 ยารักษาโรคกระดูกพรุน มีกี่ประเภท? ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักสูง ควรได้รับยารักษาโรคกระดูกพรุน ซึ่งพบว่านอกจากจะช่วยเพิ่มความหนาแน่นมวลกระดูกแล้ว ยังช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักด้วย

ข้อบ่งชี้ในการใช้ยารักษาโรคกระดูกพรุน มี 3 ข้อดังนี้ 1. มีกระดูกหักสะโพกหักหรือกระดูกสันหลังยุบ จากภยันตรายที่ไม่รุนแรง 2. ผลการตรวจความหนาแน่นมวลกระดูกพบค่า T-score < -2.5 3. ผลการคำนวณ FRAX พบโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกสะโพกหักในระยะเวลา 10 ปี สูงกว่าร้อยละ 3 หรือโอกาสเกิดกระดูกหักในตำแหน่งสำคัญ (ได้แก่ สะโพก กระดูกสันหลัง กระดูกต้นแขนและกระดูกข้อมือ) สูงกว่าร้อยละ 20
 ยารักษาโรคกระดูกพรุนมีหลายชนิด ซึ่งมีวิธีการบริหารยาและผลข้างเคียงที่แตกต่างกัน แนะนำปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาเลือกยาที่เหมาะสมและได้ประโยชน์กับผู้ป่วยมากที่สุด ชนิดของยารักษาโรคกระดูกพรุนมีดังนี้
1. ยาบิสฟอสโฟเนตชนิดรับประทาน ได้แก่ alendronate, risedronate เป็นต้น .เป็นยารักษาโรคกระดูกพรุนที่ใช้กันมากที่สุด เนื่องจากราคาไม่แพง มีประสิทธิภาพสูง ลดการหักของกระดูกได้ดี รับประทานง่าย เพียงแค่สัปดาห์ละ 1 เม็ดเท่านั้น . ข้อควรรู้สำหรับผู้ป่วย: - ต้องรับประทานยาสม่ำเสมอ จึงจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักได้ - ต้องรับประทานให้ถูกวิธีดังนี้ รับประทานตอนท้องว่างเพื่อให้ยาดูดซึมเข้าร่างกายได้ดี ดื่มน้ำเปล่า 1 แก้ว (ไม่ใช่แค่จิบ) เพื่อให้ยาลงไปถึงกระเพาะอาหาร ไม่ติดอยู่ที่หลอดอาหาร หลังรับประทานยาต้องอยู่ในท่านั่งหรือยืน (ไม่นอน) เนื่องจากถ้ายาท้นกลับมาที่หลอดอาหารจะทำให้เกิดหลอดอาหารอักเสบหรือเป็นแผลได้ แนะนำรอ 30-60 นาที ให้ยาดูดซึมก่อน จึงค่อยรับประทานอาหาร - ถ้ามีอาการแสบร้อนหรือปวด บริเวณลิ้นปี่หรือหน้าอก แนะนำหยุดรับประทานยาทันทีและปรึกษาแพทย์

2. ยาบิสฟอสโฟเนตชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำปีละ 1 ครั้ง (ยา zoledronic acid) เป็นยารักษาโรคกระดูกพรุนที่มีประสิทธิภาพสูงเช่นกัน ลดการหักของกระดูกได้ดี เหมาะกับผู้ป่วยที่มีข้อห้ามสำหรับยาชนิดรับประทาน เช่น โรคกระเพาะ กรดไหลย้อน หลอดอาหารอักเสบ เป็นต้น . ข้อควรรู้สำหรับผู้ป่วย: - อาจมีไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว ท้องเสีย หลังการฉีดยาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังการฉีดยาเข็มแรก แนะนำรับประทานยาลดไข้และพักผ่อนเยอะๆ ซึ่งอาการดังกล่าวจะค่อยๆ ดีขึ้นได้เองใน 2-5 วัน - อาการไม่สบายหลังการฉีดยาจะน้อยลง หรือไม่มีเลยสำหรับการฉีดยาครั้งต่อๆ ไป - แนะนำดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนและหลังฉีดยา

3. ยา Denosumab เป็นยารักษาโรคกระดูกพรุนชนิดฉีดเข้าชั้นไขมันทุก 6 เดือน เป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูง ลดการหักของกระดูกได้ดี และเกิดอาการข้างเคียงหลังฉีดยาน้อยมาก
ข้อควรรู้สำหรับผู้ป่วย: - จำเป็นต้องมารับยาทุก 6 เดือน อย่างสม่ำเสมอ - การขาดยามีผลทำให้สูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็วและมีโอกาสเกิดกระดูกสันหลังยุบที่รุนแรงได้
 4. ยา Teriparatide เป็นยารักษาโรคกระดูกพรุน ที่มีกลไกการออกฤทธิ์ที่แตกต่างจากยาอื่น คือมีผลกระตุ้นการสร้างมวลกระดูก จึงเพิ่มมวลกระดูกได้มากและเร็ว ลดการหักของกระดูกได้ดี เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนที่มีอาการรุนแรง ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยยานี้ก่อนจนครบ 1-2 ปีและตามด้วยยาบิสฟอสโฟเนตหรือ denosumab ต่อไป . ข้อควรรู้สำหรับผู้ป่วย: - เป็นยาชนิดฉีดเข้าชั้นไขมัน ต้องฉีดยาอย่างสม่ำเสมอทุกวัน - หลังการฉีดยาเข็มแรก อาจมีอาการมึนงง เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ความดันตกเวลาเปลี่ยนท่าทาง แนะนำฉีดยาในท่านั่งหรือนอน เพื่อลดโอกาสหกล้ม - อาการข้างเคียงน้อยลงสำหรับยาเข็มถัด ๆ ไป
 5. ยา Raloxifene เป็นยารักษาโรคกระดูกพรุนชนิดรับประทานวันละ 1 เม็ด มีผลเพิ่มมวลกระดูกและลดการยุบของกระดูกสันหลังได้ดี แต่ไม่มีข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าช่วยลดการเกิดกระดูกสะโพกหักได้ ยานี้มีประโยชน์ช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมได้ด้วย
 6. แคลเซียมและวิตามินดี การได้รับแคลเซียมและวิตามินดีที่เพียงพอช่วยลดการหักของกระดูกได้ แนะนำในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนทุกราย รวมถึงผู้ป่วยที่ได้รับยารักษาโรคกระดูกพรุนดังกล่าวข้างต้น
ขอขอบพระคุณบทความจาก รศ. พญ. ณัฏฐิณี จรัสเจริญวิทยา หน่วยต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ที่มา FB @ กระดูกกระเดี้ยว https://www.facebook.com/Lovebonethailand/posts/689447541633930
**********************************
อายุรศาสตร์ ง่ายนิดเดียว
ข้อบ่งชี้การส่งตรวจวัดมวลกระดูก (Thai osteoporosis Foundation statement)
1. หญิงอายุมากกว่า 65 หรือชายอายุมากกว่า 70 - อันนี้ไม่ว่าจะมีโรคร่วมใด ๆ ก็สามารถเข้ารับการตรวจรักษาได้
2. หมดประจำเดือนก่อนเวลา (อายุน้อยกว่า 45) ด้วยเหตุใดก็ตาม
3. ขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนต่อเนื่องกันมากกว่าหนึ่งปี ยกเว้นการตั้งครรภ์และให้นมบุตร เช่นจากการใช้ยา
4. ได้รับยากลูโคคอร์ติคอยด์มานาน คิดที่ ได้ยาเพรดนิโซโลน ขนาดตั้งแต่ 7.5 มิลลิกรัม (หรือยาอื่นที่ขนาดยาเทียบเท่ากับเพรดนิโซโลนขนาดเท่านี้) ต่อเนื่องกันอย่างน้อย 3 เดือน - พบมากในกลุ่มโรคแพ้ภูมิตัวเอง เช่น เอสแอลอี โรคไต
5. ประวัติพ่อหรือแม่กระดูกสะโพกหัก
6. หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ดัชนีมวลกายต่ำกว่า 20 - น้ำหนักตัวน้อยเกินไปเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงกระดูกพรุนและกระดูกหัก แต่ไม่ใช่ข้ออ้างการกินเยอะเพื่ออ้วน
7. หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ส่วนสูงลดลงมากกว่า 4 เซนติเมตร - ด้วยการวัดต่อเนื่อง ในท่าทางการวัดท่าเดียวกัน 8. หญิงที่ได้รับการรักษาด้วยยา aromatase inhibitors หรือชายที่ได้รับการรักษาด้วย androgen deprivation therapy - ตัวอย่างยา aromatase inhibitor ที่ใช้บ่อยคือ การใช้ยาต้านฮอร์โมนสำหรับรักษามะเร็งเต้านมในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ส่วนการรักษาเพื่อให้ขาดฮอร์โมนเพศชาย พบมากในการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ไม่ว่าการใช้ยาหรือการตัดอัณฑะ
9. ภาพเอ็กซเรย์พบกระดูกบางหรือกระดูกสันหลังผิดรูป
10. มีประวัติกระดูกหักทั้งที่บาดเจ็บไม่รุนแรง - ท่านอาจมีกระดูกผิดปรกติหรือรอยโรคที่กระดูก เรียกกระดูกหักแบบผิดปรกตินี้ว่า pathological fracture
11. ทำการตรวจแบบคัดกรองโรคกระดูกพรุน FRAX สำหรับประชากรไทยแล้วตกในกลุ่มเสี่ยงปานกลางขึ้นไป
- ระบบคะแนนคำนวณความเสี่ยงอันตรายจากกระดูกพรุนในสิบปีขององค์การอนามัยโลก มีทั้งแบบใช้มวลกระดูกและใช้ดัชนีมวลกาย แบบที่เราใช้คัดกรองก่อนคือแบบไม่ใช้มวลความหนาแน่นกระดูก (แต่ถ้ามีค่ามวลความหนาแน่นกระดูกมาแล้ว ก็มาคำนวณความเสี่ยงเพิ่มได้) https://www.sheffield.ac.uk/FRAX/tool.aspx?country=57 ต้นฉบับ //doh.hpc.go.th/bs/screenFRAX_bmd.php ฉบับแปลไทย //doh.hpc.go.th/bs/screenFRAX_bmi.php แบบที่ไม่ใช้มวลกระดูก
12 . ทำการตรวจแบบคัดกรองโรคกระดูกพรุนอย่างง่าย OSTA หรือ KKOS แล้วตกในกลุ่มเสี่ยงปานกลาง หรือคำนวณจากการ nomogram แล้วความเสี่ยงมากกว่า 0.3 //hpc5.anamai.moph.go.th/hpd/hp2/OSTA_KKOS.php
nomogram สามารถอ่านได้ที่นี่ Pongchaiyakul, C., Panichkul, S., Songpatanasilp, T. et al. A nomogram for predicting osteoporosis risk based on age, weight and quantitative ultrasound measurement. Osteoporos Int 18, 525–531 (2007). https://doi.org/10.1007/s00198-006-0279-7
แล้วจะทยอยเรื่องการวินิจฉัยและรักษากระดูกพรุนกันต่อ ๆ ไปนะครับ
https://www.facebook.com/medicine4layman/posts/2734613540187995
Create Date : 27 กุมภาพันธ์ 2551 |
Last Update : 12 ตุลาคม 2564 14:30:54 น. |
|
12 comments
|
Counter : 4730 Pageviews. |
|
 |
|