Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

ปวดไหล่ ข้อไหล่ติด




ปวดไหล่

สาเหตุที่พบบ่อย

1. บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ทำให้เกิด กล้ามเนื้อฉีกขาด เส้นเอ็นขาด กระดูกหัก หรือ ข้อเคลื่อน

2. ใช้ข้อไหล่อย่างไม่เหมาะสม ทำให้เกิดการอักเสบของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ หรือ กล้ามเนื้อฉีกขาด

3. การเสื่อมตามธรรมชาติ ของกระดูก กล้ามเนื้อ และ เส้นเอ็น จะพบในผู้สูงอายุ ทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย

4. โรคข้ออักเสบ ที่มีข้อไหล่อักเสบร่วมด้วยได้ เช่น โรครูมาตอยด์ โรคเก๊าท์ แคลเซี่ยมเกาะเส้นเอ็น เป็นต้น

5. อาการปวดไหล่ ซึ่งเป็นผลของอาการปวดร้าวมาจากที่อื่น หรือ การอักเสบบริเวณใกล้เคียง เช่น กระดูกคอเสื่อม กล้ามเนื้อหลังอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ โรคของหัวใจ โรคตับ มะเร็ง เป็นต้น

6. ข้อไหล่ติด พบได้บ่อยใน ผู้สูงอายุ

เมื่อมีอาการปวดไหล่จากสาเหตุใดก็ตาม ผู้ป่วยก็จะไม่เคลื่อนไหวข้อไหล่ เมื่อข้อไหล่ไม่เคลื่อนไหว นานเข้าจะเกิดเยื่อพังผืดแทรกในข้อและเนื้อเยื่อรอบข้อไหล่ กล้ามเนื้อจะอ่อนแรงและลีบเล็กลง ทำให้เคลื่อนไหวได้ลำบาก

อาการสำคัญคือ ปวดตอนกลางคืน และ ถ้าเคลื่อนไหวข้อไหล่จะปวดมากขึ้น อยู่นิ่งๆ ไม่ปวด

//www.sportsinjuryclinic.net/sport-injuries/shoulder-pain/frozen-shoulder


วิธีรักษาอาการปวดในระยะเฉียบพลัน

1. หยุดพักการใช้ข้อไหล่ โดย งดยกของหนัก งดเคลื่อนไหวแขนหรือไหล่ในท่าที่ทำให้ปวด อาจใช้ผ้าคล้องแขนไว้ แต่ไม่ควรหยุดใช้ไหล่เกิน 2 - 3 วันเพราะจะทำให้เกิดภาวะข้อไหล่ติดแข็งได้

2. การประคบด้วยความร้อน โดยใช้ถุงน้ำร้อน ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่น หรือ ใช้ยานวดแก้ปวด

3. รับประทานยาบรรเทาอาการปวด เช่น ยาพาราเซตามอล ยาแก้ปวดลดอาการอักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ

4. ทำกายภาพบำบัด บริหารข้อไหล่ เพื่อลดอาการปวด และฟื้นฟูสภาพให้ข้อเคลื่อนไหวดีขึ้น กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น



สัญญาณอันตรายของอาการปวดไหล่มีอะไรบ้าง ?

ถ้าอาการต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์

1. มีข้อไหล่บวม หรือ มีอาการปวดร่วมกับการเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้ไม่เต็มที่ นานกว่า 2 สัปดาห์

2. มีอาการชาของแขน หรือมีอาการเย็น หรือเปลี่ยนสีของผิวหนังบริเวณแขนร่วมด้วย

3. มีอาการอื่น เช่น ไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดร่วมด้วย เป็นต้น



ข้อแนะนำการบริหารข้อไหล่

1. ควรเริ่มทำภายหลังจากอาการปวดเริ่มทุเลาลงแล้ว เริ่มด้วยจำนวนครั้งน้อย ๆ และทำในท่าแรก ๆ ก่อน เช่น ลองทำท่าที่ 1-3 ก่อนสัก 1-2 อาทิตย์ ถ้าไม่ปวดก็เพิ่มทำท่าที่ 1-5 แล้วถ้าไม่ปวดก็ค่อยทำจนครบทั้งหมด

2. ขณะออกกำลัง ถ้าปวดมากจนทนไม่ไหว ก็ให้ลดจำนวนครั้งลง หรือหยุดพักการบริหารท่านั้นไว้ก่อนจนอาการปวดดีขึ้น จึงค่อยเพิ่มจำนวนขึ้น อย่าหักโหมหรือทำอย่างรุนแรง รวดเร็ว

สำหรับผู้ที่มีเป็น โรคข้อไหล่ติดแข็ง ขณะทำการบริหารไหล่จะมีอาการปวดเพิ่มขึ้น เพราะต้องทำให้พังพืดในข้อไหล่ยืดออก ดังนั้นถึงแม้ว่าจะรู้สึกปวดก็ต้องพยายามทนให้มากที่สุด ถ้าขณะทำการบริหารแล้วไม่ปวดเลยแสดงว่าทำไม่ถูกวิธี เมื่อมีอาการดีขึ้นก็จะต้องทำกายภาพบำบัดต่อไป ซึ่งอาจจะใช้เวลานานหลายเดือน

3. ควรทำอย่างสม่ำเสมอทุกวันอย่างน้อย 2-3 รอบ เมื่อกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้นจึงเพิ่มจำนวนครั้งในแต่ละวันมากขึ้น

4. ในระหว่างการบริหารหรือการเกร็งกล้ามเนื้อ อย่ากลั้นหายใจ เพราะทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน ซึ่งสามารถป้องกันการกลั้นหายใจโดยให้ออกเสียงนับ หนึ่งถึงห้า หรือ นับหนึ่งถึงสิบ ดัง ๆ ขณะบริหาร




อาการปวดกล้ามเนื้อ ปัญหาสุขภาพจากการใช้ Smartphone ... โดยภัทริยา อินทร์โท่โล่ และคณะ //www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=17-04-2017&group=5&gblog=51

ออฟฟิศซินโดรม (office syndrome) .. นำมาฝาก //www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=17-08-2017&group=5&gblog=53

ปวดคอ //www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=26-06-2008&group=5&gblog=26

ปวดไหล่ //www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=26-06-2008&group=5&gblog=25

ปวดหลัง //www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=13-06-2008&group=5&gblog=18

เส้นเอ็นอักเสบแบบนิ้วไกปืน (โรคทริกเกอร์ฟิงเกอร์ ,TriggerFinger) //www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=16-07-2008&group=5&gblog=29

กลุ่มอาการ เส้นประสาทถูกกดทับที่ข้อมือ(ผังผืดทับเส้นประสาท) //www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=15-07-2008&group=5&gblog=28

ปลอกหุ้มเอ็นนิ้วหัวแม่มืออักเสบ (โรคเดอเกอร์แวง , De Quervain'sDisease) //www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=16-07-2008&group=5&gblog=30

เส้นเอ็นข้อศอกอักเสบ //www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=22-07-2008&group=5&gblog=32





Create Date : 26 มิถุนายน 2551
Last Update : 17 สิงหาคม 2560 23:35:15 น. 3 comments
Counter : 26378 Pageviews.  

 



เจ็บไหล่...ไหล่ติด...ข้อไหล่ติดแข็ง



ชื่อไฟล์: 281-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 281
เดือน/ปี: กันยายน 2002
คอลัมน์: เรื่องน่ารู้
นักเขียนหมอชาวบ้าน: มนูญ บัญชรเทวกุล

//www.doctor.or.th/article/detail/2351


อาการข้อไหล่ติด หรือข้อไหล่ติดแข็ง มักพบหลังจากมีการเจ็บของข้อไหล่ ซึ่งอาจเจ็บอยู่เป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน เมื่ออาการเจ็บทุเลาลง จะตามมาด้วยการยกแขนได้ไม่ดีเหมือนเดิม ซึ่งจะรบกวนการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่นหยิบของจากหิ้งสูง รูดซิปเสื้อหรือกระโปรงซึ่งอยู่ด้านหลัง หรือดึงกระเป๋าใส่เงินจากกระเป๋าหลังของกางเกง แต่ถ้าท่านได้รู้จักปฏิบัติตนตั้งแต่เริ่มมีอาการเจ็บหัวไหล่ในช่วงแรก โดยไม่ปล่อยปละละเลยจะทำให้อาการไม่ลุกลามจนเป็นมาก และเสียเวลาเพื่อรักษาอาการข้อไหล่ติดแข็ง

ขั้นตอนของการเกิดข้อไหล่ติดแข็ง

ระยะที่หนึ่ง : ระยะเจ็บไหล่มีอาการดังนี้
๑. เจ็บเมื่อมีการเคลื่อนไหวของ แขน
๒. เจ็บทั่วไปบริเวณหัวไหล่ แต่ ไม่มีจุดกดเจ็บที่แน่นอน
๓. มีกล้ามเนื้อเกร็งตัว (muscle spasm)
๔. เจ็บมากขึ้นในเวลากลางคืน หรือเมื่ออยู่นิ่งๆ

ระยะที่สอง : ระยะข้อไหล่ติด มีอาการดังนี้
๑. อาการเจ็บไหล่ เจ็บแขนลดลง
๒. เพิ่มอาการติดขัด และจำกัด การเคลื่อนไหวของหัวไหล่
๓. อาการเจ็บตอนกลางคืนและ ตอนอยู่นิ่งๆ ลดลง
๔. รู้สึกเจ็บเมื่อมีการเคลื่อนไหว ช่วงสุดท้ายของแขนข้างนั้น

ระยะที่สาม : ระยะฟื้นตัวมีอาการดังนี้
๑. อาการเจ็บลดลงเรื่อยๆ
๒. แขนข้างที่เจ็บจะเคลื่อนไหวได้มากขึ้นอย่างช้าๆ
๓. การฟื้นตัวจะหายเองได้แต่มักจะเคลื่อนไหวแขนได้ไม่สุดเหมือนที่เคยทำได้


ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับอาการข้อไหล่ติด
๑. พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายในสัดส่วน ๖๐ : ๔๐
๒. มักเป็นกับแขนที่ไม่ถนัดใช้ มากกว่าข้างที่ถนัด
๓. อาการไหล่ติด เกิดจากมีแผลเป็น มีการหนาตัว และการหดตัวของเยื่อหุ้มหัวไหล่
๔. ข้อไหล่ที่บาดเจ็บ เป็นสาเหตุให้เกิดอาการไหล่ติดได้
๕. มักจะทราบว่าเป็นข้อไหล่ติดเมื่อแพทย์ตรวจอาการและแจ้งให้ทราบ (ถ้าผู้ป่วยสังเกตตนเองจะทราบก่อนว่า ยกแขนได้ไม่สุด และมีอาการเจ็บ)
๖. จะต้องมีการเจ็บพอสมควรในการรักษา จึงจะทำให้ข้อไหล่หายติด
๗. มีมากมายหลายโรคที่เกี่ยวข้องกับอาการข้อไหล่ติด เช่น โรค เบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ ไทรอยด์ และอัมพาตครึ่งซีก แต่สาเหตุ ที่แท้จริงที่ทำให้เกิดอาการไหล่ติดยังไม่ทราบแน่นอน


การเคลื่อนไหวที่ทำแล้วเจ็บในคนไหล่ติด
๑. กางแขนออกด้านข้างแล้วหงายฝ่ามือขึ้น
๒. เหยียดแขนขึ้นไปหยิบของเหนือศีรษะ
๓. เอื้อมมือไปหยิบของซึ่งวางบนเบาะหลังของรถ
๔. ดันประตูหนักๆให้เปิดออก
๕. การขับรถในคนไหล่ติดจะมีความลำบากในการหมุนพวง มาลัยรถ
๖. เมื่อสระผมตัวเอง
๗. เมื่อถูหลังตัวเอง
๘. เมื่อสวมหรือถอดเสื้อยืดเข้าออกทางศีรษะ
๙. เมื่อติดกระดุมเม็ดล่างด้านหน้าของเสื้อเชิ้ต
๑๐. เมื่อล้วงของออกจากกระเป๋าหลังของกางเกง


บทสรุป

สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดข้อไหล่ติดยังไม่ทราบแน่ชัด การเกิด ข้อไหล่ติดมักจะเกี่ยวข้องกับโรคอื่นๆ หลายโรค ที่พบบ่อยคือ ในคน ที่มีอาการอัมพาตครึ่งซีก

อาการเจ็บข้อไหล่ (ขัดยอกหัวไหล่) ถ้ารีบแก้ไขตั้งแต่แรกเป็นจะไม่ลุกลาม แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ โดยพยายามหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหว ในทิศทางที่เจ็บ อาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดอาการไหล่ติด ไปจนถึงข้อไหล่ ติดแข็งได้ในที่สุด

การฟื้นตัวจากอาการไหล่ติด ถ้าปฏิบัติตนเองจะต้องทราบและเข้าใจหลักการ คือพยายามยืดเยื่อหุ้มข้อไหล่ และเพิ่มการเคลื่อนไหว ของข้อไหล่ ซึ่งท่าบริหารเหล่านี้จะสามารถยืดได้ด้วยตัวท่านเอง โดยใช้สภาพแวดล้อม เช่น บันได ฝาห้อง คานโหน ช่วยในการทำกายบริหาร จะต้องยืดทีละน้อยและมีอาการเจ็บบ้างเล็กน้อย และควรทำทุกวันในช่วงแรก ถ้าท่านกลัวเจ็บและไม่เข้าใจหลักการในท่าบริหารหัวไหล่ จะใช้เวลานานหลายเดือนที่จะทุเลาจากอาการไหล่ติด แต่ถ้าทำแล้วเจ็บมากติดต่อกันหลายวัน ควรได้รับการตรวจ และวินิจฉัยอย่างละเอียด จากแพทย์ด้านออร์โธปิดิกส์ ทางกระดูก)



โดย: หมอหมู วันที่: 9 กรกฎาคม 2555 เวลา:23:31:06 น.  

 
ขอบคุณสำหรับความรู้ค่ะ


โดย: น้องใหม่ขี้สงสัย (น้องใหม่ขี้สงสัย ) วันที่: 11 พฤศจิกายน 2558 เวลา:11:57:29 น.  

 
ภาวะข้อไหล่หลุด

ข้อไหล่เป็นข้อที่มีโอกาสหลุดสูงที่สุดในร่างกาย ในสหรัฐอเมริกามีอุบัติการณ์การเกิดภาวะข้อไหล่หลุด 23.9 ต่อประชากร 100,000 คนต่อปี โดยมีสาเหตุจากการล้มร้อยละ 58.8 เกิดภายในบริเวณที่พักอาศัยหรือพื้นที่เล่นกีฬาสันทนาการร้อยละ 47.7 ภาวะข้อไหล่หลุดเคลื่อนมาทางด้านหน้า (Anterior Shoulder Dislocations) พบได้บ่อยถึงร้อยละ 90 ของภาวะข้อไหล่หลุดทั้งหมด มีสาเหตุหลักคืออุบัติเหตุ กลไกการเกิดคือ การตกจากที่สูงหรือมีแรงกระทำอย่างรุนแรงต่อหัวไหล่ขณะอยู่ในท่ากางไหล่และหมุนไหล่ออก (Abducted & Externally Rotated) อัตราการเกิดข้อไหล่หลุดซ้ำหลังการหลุดครั้งแรกพบว่าสูงมากขึ้นในกลุ่มผู้ป่วยที่อายุน้อยลงและมากกว่าร้อยละ 90 – 95 ในกลุ่มผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 19 ปี

อาการข้อไหล่หลุด
ภาวะข้อไหล่หลุด คือ ภาวะที่หัวกระดูกข้อไหล่หลุดออกจากเบ้าไหล่ ซึ่งอาจจะหลุดออกทางด้านหน้า ด้านหลัง หรือหลายทิศทาง ผู้ป่วยที่ข้อไหล่หลุดจะมีอาการปวดมาก หัวไหล่ผิดรูป ขยับแขนไม่ได้ ในบางรายอาจมีอาการชาแขนจากการบาดเจ็บของเส้นประสาท คนไข้จะขยับแขนเคลื่อนไหวไม่ได้หรือลำบาก แขนจะอยู่ในท่าที่ผิดปกติ ร่วมกับอาการปวดที่รุนแรง ไม่สามารถใช้งานแขนด้านนั้ได้ และอาจเป็นอันตรายอย่างมากได้ ถ้าเกิดการหลุดขึ้นในขณะดำเนินกิจกรรมที่ต้องทำต่อเนื่อง เช่น ขับขี่ยานพาหนะหรือควบคุมเครื่องจักรกล เป็นต้น

สาเหตุข้อไหล่หลุด
สาเหตุของภาวะข้อไหล่หลุดส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุ หกล้ม หรือเล่นกีฬา เมื่อข้อไหล่ถูกกระแทกอย่างแรง หรือถูกฉุดแขนโดยแรงจะทำให้หัวกระดูกหลุดออกมานอกเบ้า หรือบางรายเกิดจากพันธุกรรมที่เส้นเอ็นและผนังหุ้มรอบข้อหลวมไปทำให้ข้อหลุดออกมาได้เช่นกัน นักกีฬาที่เล่นกีฬาปะทะ เช่น ฟุตบอล หรือกีฬาที่ต้องใช้การเคลื่อนไหวข้อไหล่สูง เช่น บาสเกตบอล ว่ายน้ำ หรือนักยิมนาสติกจะมีโอกาสข้อไหล่หลุดสูงขึ้น มักพบหลุดออกมาอยู่ทางด้านหน้าของร่างกายมากกว่าไปทางด้านหลัง

รักษาข้อไหล่หลุด
ข้อไหล่หลุดจัดเป็นหนึ่งในภาวะเร่งด่วนที่ต้องได้รับการรักษาทันที ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นควรพึ่งการประคบเย็น โดยใช้น้ำแข็งผสมน้ำห่อผ้ามาประคบครั้งละ 5 – 10 นาที ทุก 1 – 2 ชั่วโมง ร่วมกับการประคองข้อไหล่ให้อยู่นิ่งเพื่อลดอาการเจ็บปวดและรีบมาพบแพทย์ ภายหลังจากผู้ป่วยได้ยาระงับปวดแล้ว แพทย์จะดึงข้อให้เข้าที่ จากนั้นให้ใส่อุปกรณ์พยุงแขน โดยเฉพาะผู้ที่ข้อหลุดครั้งแรกควรให้ข้อไหล่อยู่นิ่ง ๆ ประมาณ 3 สัปดาห์ โดยช่วง 2 – 3 วันแรกใช้การประคบเย็นเพื่อช่วยลดอาการปวดได้ จากนั้นให้ทำกายภาพบำบัดและบริหารกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อไหล่ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่

ปัญหาที่พบบ่อย คือ การหลุดซ้ำ เป็นเพราะเส้นเอ็นภายในหัวไหล่มีการฉีกขาด บางรายเพียงถูกกระแทกเบา ๆ ขณะโหนรถเมล์ หรือนอนยกแขนก่ายหน้าผาก ข้อไหล่ก็หลุดแล้ว สำหรับผู้ป่วยที่ข้อไหล่หลุดซ้ำบ่อย ๆ การผ่าตัดสามารถช่วยได้ โดยแพทย์จะทำการซ่อมเส้นเอ็นที่ฉีกขาดให้ยึดติดกับกระดูกอย่างเดิมเพื่อป้องกันการหลุดซ้ำ

ผ่าตัดรักษาข้อไหล่หลุด
การผ่าตัดรักษาข้อไหล่หลุดทำได้หลายวิธี ในปัจจุบันมีการพัฒนาของเครื่องมือ เทคนิคการผ่าตัด การผ่าตัดผ่านกล้องส่องข้อได้รับความนิยมมากขึ้นและได้ผลดีมาก เพราะข้อไหล่เป็นข้อที่อยู่ลึก การผ่าตัดโดยวิธีเปิดจะต้องแหวกผ่านกล้ามเนื้อหลายชั้น แผลผ่าตัดจะค่อนข้างใหญ่ ส่วนการส่องกล้องจะเป็นการเจาะรู แผลผ่าตัดเล็ก มีการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อน้อย ผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

ผ่าตัดผ่านกล้องส่องข้อ
ภาวะข้อไหล่หลุดนอกจากจะมีพยาธิสภาพของเยื่อหุ้มข้อยืดหรือฉีกขาดแล้ว ยังพบพยาธิสภาพอื่น ๆ อีกหลายอย่าง เช่น เยื่อหุ้มข้อฉีกจากกระดูกต้นแขน ขอบกระดูกเบ้าด้านหน้าแตก หรือเส้นเอ็นกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่ฉีกขาดบางส่วน ดังนั้นการรักษาภาวะข้อไหล่หลุดโดยใช้กล้องส่องข้อจึงมีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากการตรวจด้วยกล้องส่องข้อ ทำให้แพทย์สามารถเห็นพยาธิสภาพต่าง ๆ ได้ชัดเจน รวมทั้งยังสามารถรักษาโดยการเย็บซ่อมผ่านทางกล้องส่องข้อ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาโดยวิธีผ่าตัดแบบเปิดอาจจะไม่เห็นพยาธิสภาพดังกล่าว หรือเห็นแต่ไม่สามารถเย็บซ่อมหรือแก้ไขได้ดี เนื่องจากการผ่าตัดแบบเปิด แพทย์จะเปิดแผลผ่าตัดเข้าไปในข้อไหล่ได้ในทิศทางเดียว คือ ด้านหน้าหรือด้านหลัง ฉะนั้นพยาธิสภาพที่เกิดร่วมกันหากอยู่ด้านตรงข้ามก็จะแก้ไขได้ยาก

นอกจากนี้การใช้กล้องส่องข้อยังมีประโยชน์ในคนไข้ที่ข้อไหล่หลวมและมีอาการปวดร่วมด้วย ตรวจร่างกายพบมีภาวะข้อไหล่เลื่อน แต่ไม่ถึงกับหลุด เมื่อทำการรักษาโดยกายภาพบำบัดระยะหนึ่งแล้วอาการไม่ดีขึ้น สามารถรักษาโดยใช้กล้องส่องข้อเข้าไปเย็บซ่อมเยื่อหุ้มข้อที่ยืด รวมถึงแก้ไขพยาธิสภาพอื่น ๆ ที่อาจเกิดร่วมด้วยได้

ปัจจุบันการผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องข้อได้พัฒนาขึ้นมาก ทำให้ผลการรักษาดีขึ้นจนใกล้เคียงกับการผ่าตัดแบบเปิด และทำให้มีการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อบริเวณผ่าตัดน้อย ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว การเคลื่อนไหวของข้อไหล่กลับมาใกล้เคียงปกติ สามารถกลับไปใช้งานหรือเล่นกีฬาได้ดังเดิม โดยมีผลข้างเคียงน้อย จึงมีแนวโน้มว่าผู้ป่วยข้อไหล่หลุดหรือหลวมจะได้รับการรักษาโดยวิธีการใหม่นี้มากขึ้นกว่าในอดีต การปล่อยให้ข้อไหล่ที่มีพยาธิสภาพไม่ได้รับการรักษา จะทำให้เกิดความเสียหายต่อหัวกระดูกไหล่ เบ้ากระดูก และเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงมากขึ้น คนไข้ดังกล่าวจึงควรได้รับการผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องข้อ ทั้งนี้ผลการผ่าตัดจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความชำนาญของแพทย์ รวมทั้งการฟื้นฟูสภาพหลังผ่าตัด ความพร้อมของเครื่องมือ และความร่วมมือของผู้ป่วย

ที่มา : https://www.bangkokhospital.com/content/shoulder-dislocations


โดย: หมอหมู วันที่: 26 เมษายน 2566 เวลา:16:19:17 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]