Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

เส้นเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ ( รองช้ำ )

 


เส้นเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ ( รองช้ำ )

อาการปวดบริเวณส้นเท้า อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เส้นเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ เส้นประสาทถูกกดทับที่ข้อเท้า กระดูกงอกที่ฝ่าเท้าหรือที่เส้นเอ็นร้อยหวาย กระดูกเท้าบิดผิดรูป โรครูมาตอยด์ โรคเก๊าท์ หรือ กระดูกหัก เป็นต้น

สาเหตุของการเกิดโรคที่แท้จริงยังไม่ทราบ แต่ เชื่อว่าเป็นเพราะความเสื่อมบริเวณที่เส้นเอ็นฝ่าเท้าเกาะกับกระดูก

พบมาก ในผู้หญิงวัยกลางคน ยืนหรือเดินนาน ๆ น้ำหนักตัวมาก ใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม หรือ เท้าแบน เท้าบิด

อาการที่พบได้บ่อย คือ หลังจากนอนหรือนั่งสักพักหนึ่ง เมื่อเริ่มเดินลงน้ำหนักจะรู้สึกปวดส้นเท้ามาก แต่ หลังจากที่เดินไปได้สักพัก อาการปวดก็จะทุเลาลง แต่ถ้าเดินนาน ๆ ก็อาจปวดมากขึ้นอีกได้ มักจะปวดมากในช่วงตื่นนอนตอนเช้า และจะดีขึ้นในช่วงตอนสาย หรือ ตอนบ่าย ถ้ากระดกข้อเท้าขึ้นหรือกดที่ส้นเท้า จะปวดมากขึ้น

ผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 30-70 ถ้าถ่ายภาพรังสีของเท้า จะพบว่ามีกระดูกงอกที่ไต้ฝ่าเท้าได้ ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะพบกระดูกงอกจากภาพรังสี แต่ก็อาจจะไม่เกี่ยวกับอาการปวดส้นเท้า จึงไม่จำเป็นต้องถ่ายภาพรังสีทุกคน

โดยส่วนใหญ่ ผู้ป่วยเส้นเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ รักษาให้หายขาดได้ ด้วยวิธีรักษาแบบไม่ผ่าตัด แต่อาจจะต้องใช้เวลารักษานานหลายเดือน อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ถ้ารักษาไปแล้ว 6 - 9 เดือน ก็ยังไม่ดีขึ้น อาจจะต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัด


แนวทางการรักษาด้วยตนเอง

1. ลดกิจกรรมที่ทำให้ปวด หรือ กิจกรรมที่ต้องลงน้ำหนัก เช่น การยืนหรือ เดินนาน ๆ เป็นต้น และควรออกกำลังที่ไม่ต้องมีการลงน้ำหนักที่ฝ่าเท้ามากนัก เช่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ๆ เป็นต้น

2. บริหาร เพื่อยืดกล้ามเนื้อน่อง และ เส้นเอ็นฝ่าเท้า

3. หลีกเลี่ยงการเดินด้วยเท้าเปล่า และ ใส่รองเท้าที่เหมาะสม ขนาดพอดีไม่หลวมเกินไป มีพื้นรองเท้าที่นุ่ม และมีแผ่นรองรับอุ้งเท้าให้นูนขึ้น อาจใช้แผ่นนุ่มๆ รองที่ส้นเท้า (หนา ½ นิ้ว) ใส่รองเท้าส้นสูงประมาณ 1 – 1.5 นิ้ว หรือ ใช้แผ่นยางสำหรับรองส้นเท้าโดยเฉพาะ เช่น Heel cups , Tuli cups เป็นต้น

4. ประคบด้วยความร้อนหรือความเย็น หรือ ใช้ยานวด นวดฝ่าเท้า หรือ ใช้ผ้าพันที่ฝ่าเท้าและส้นเท้า

5. ลดน้ำหนัก เพราะถ้าน้ำหนักมาก เส้นเอ็นฝ่าเท้าก็ต้องรับน้ำหนักมาก ทำให้ผลการรักษาไม่ดี และ หายช้า


แนวทางการรักษาโดยแพทย์

1. รับประทานยา เช่น ยาแก้ปวดลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาคลายกล้ามเนื้อ

2. ฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ บริเวณส้นเท้าจุดที่ปวด แต่ไม่ควรฉีดเกิน 2 ครั้งใน 1 เดือน เพราะอาจทำให้เกิดเส้นเอ็นฝ่าเท้าเปื่อยและขาดได้ ก่อนจะฉีดต้องทำความสะอาดที่ผิวหนังอย่างดี เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

ขณะฉีดยาสเตียรอยด์จะรู้สึกปวดแล้วก็จะชา แต่หลังจากยาชาหมดฤทธิ์ ( ประมาณ 1-2 ชั่วโมง ) ก็อาจเกิดอาการปวดซ้ำอีกครั้ง จึงควรรับประทานยา หรือ ประคบด้วยน้ำอุ่น กันไว้ก่อน

3. ทำกายภาพบำบัด เช่น ใช้ความร้อนลึก (อัลตร้าซาวด์) ดัดยืดเส้นเอ็นฝ่าเท้า ใช้ไม้เท้าช่วยเดิน เป็นต้น

4. ใส่เฝือกชั่วคราวให้ข้อเท้ากระดกขึ้น ในตอนกลางคืน หรือ ถ้าเป็นมาก อาจต้องใส่เฝือกตลอดทั้งวัน

5. การผ่าตัด จะทำก็ต่อเมื่อรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผล คือ อาการปวดไม่ดีขึ้นหลังรับการรักษาอย่างเต็มที่ต่อเนื่องกันอย่างน้อย 6 - 9 เดือน หรือ สาเหตุการปวดเกิดจากเส้นประสาทบริเวณฝ่าเท้าถูกกดทับ

 
 
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (official)
https://www.facebook.com/medicine.cm/posts/3433651963339802

ปวดส้นเท้า สัญญาณเตือน โรครองช้ำ

อาการเจ็บปวดจี๊ดขึ้นมาที่ส้นเท้า ในบางครั้งอาจลามไปที่อุ้งเท้าด้วย โดยเฉพาะจะมีอาการปวดมากที่สุดเมื่อลุกเดินก้าวแรกหลังตื่นนอน หรือหลังจากนั่งพักเป็นเวลานาน นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรครองช้ำ แม้จะดูเหมือนโรคนี้ไม่อันตรายร้ายแรง แต่ก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำการรักษา เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวันได้

 รศ.นพ.ธนวัฒน์ วะสีนนท์ อาจารย์ประจำหน่วยเท้าและข้อเท้า ภาควิชาออโทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวว่า

“โรครองช้ำหรือโรคที่เกิดจากการบาดเจ็บของเส้นเอ็นฝ่าเท้า ลักษณะอาการจะปวดรุนแรงที่สุดเมื่อเริ่มมีการลงน้ำหนักที่ส้นเท้าในก้าวแรก เช่น เมื่อลุกเดินก้าวแรกหลังตื่นนอน และดีขึ้นหลังจากเดินสามก้าว หรือกดเจ็บที่ใต้ส้นเท้า ในขณะที่กระดกข้อเท้าขึ้น

นอกจากนี้ อาจมีอาการปวดมากขึ้นได้ในช่วงระหว่างวันหรือหลังจากที่เท้าต้องรับน้ำหนักเป็นเวลานาน เช่น ยืนหรือเดินเป็นเวลานาน และเมื่อมีการเคลื่อนไหวมากขึ้นก็จะยิ่งมีอาการปวดมากขึ้น

 แม้จะดูเหมือนโรคนี้ไม่อันตรายร้ายแรง แต่ก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำการรักษา เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวันได้

โรครองช้ำอาจเกิดขึ้นได้ในหลายปัจจัย เช่น
- มีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ทำให้เมื่อเดิน จะทำให้เกิดแรงกดที่ฝ่าเท้ามาก จนอาจทำให้พังพืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบได้
-มีการยืนติดต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้เอ็นฝ่าเท้ารองรับน้ำหนักกดทับมากกว่าปกติ
-สวมรองเท้าที่ไม่เหมาะสมต่อสุขภาพเท้า เช่น รองเท้าส้นสูง รองเท้าที่คับแน่น บีบเท้า หรือรองเท้าที่หลวมเกินไป รองเท้าที่ไม่มีพื้นบุรองส้นเท้า หรือพื้นรองเท้าบางเกินไป  
-มีการใช้งานฝ่าเท้าหรือส้นเท้าที่มากเกินไป เช่น การฝึกวิ่งหักโหม วิ่งระยะไกล
-มีภาวะเท้าผิดรูป เช่น อุ้งเท้าแบน อุ้งเท้าสูงหรือโก่งมากเกินไป

สำหรับจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรครองช้ำ ในระยะเวลา 1 ปี พบมากถึง 1,000,000 คน 85% รักษาหายโดยไม่ต้องผ่าตัด 80% หายแล้วไม่กลับมาเป็นซ้ำอีกหากในระยะเวลา 12 เดือน

 ผู้ที่มีอาการของโรครองช้ำ จำเป็นที่จะต้องอดทนในการรักษาตนเอง งดกิจกรรมที่ต้องมีการกระแทกลงน้ำหนักที่ส้นเท้า เริ่มทำการกายภาพเองที่บ้าน

สำหรับการกายภาพเองที่บ้านมี 3 ท่าด้วยกัน ได้แก่
1.ยืดพังผืดใต้ฝ่าเท้า นวดพังผืดบริเวณฝ่าเท้าครั้งละ 1 นาที ทำทั้งหมด 3 ครั้ง โดยพัก 30 วินาที ก่อนเริ่มครั้งถัดไป
2.การยืดพังผืดกับกล้ามเนื้อน่องโดยใช้ผ้ายาง โดยการ 1.บิดข้อเท้าเข้าด้านใน 2.แล้วใช้ผ้ายืดสำหรับออกกำลังกายดีงบริเวณฝ่าเท้า 3 ครั้ง ครั้งละ 30 วินาที
3.การยันกำแพงยืดกล้ามเนื้อน่องด้านใน โดยการดันกำแพง 1.เหยียดขาข้างที่ปวดไปด้านหลัง 2.บิดข้อเท้าเข้าด้านใน 3.ทำครั้งละ 30 วินาทีทำทั้งหมดสามครั้งโดยพัก 30 วินาที ก่อนเริ่มครั้งถัดไป

นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาอีกหลายรูปแบบเช่น การปรับรองเท้าให้เหมาะสมกับรูปเท้า การทำกายภาพโดยใช้เครื่องมือทันสมัย การฉีดยาเกร็ดเลือด หากอาการไม่ดีขึ้นภายในเวลา 12 เดือน อาจได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด

แม้ว่าโรครองช้ำจะไม่ทำอันตรายถึงชีวิต แต่หากไม่หยุดพักหรือทำการรักษา อาจต้องทนทุกข์ทรมานต่ออาการปวดจนส่งผลต่อคุณภาพชีวิต และอาจทำให้อาการอักเสบเรื้อรังยุ่งยากต่อการรักษา อย่างไรก็ตามหากมีอาการปวดส้นเท้าผิดปกติควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาอย่างเหมาะสมได้ที่ หน่วยเท้าและข้อเท้า ภาควิชาออโทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มช.

ติดตามรับชมรายการ สุขภาพดีกับหมอสวนดอก ตอนปวดส้นเท้า สัญญาณเตือน โรครองช้ำ ย้อนหลังได้ที่
https://www.facebook.com/SuandokGoodHealth2018/videos/663948604233808
 



Create Date : 23 กรกฎาคม 2551
Last Update : 4 ตุลาคม 2563 13:37:07 น. 16 comments
Counter : 138081 Pageviews.  

 
รู้สึกดีจังค่ะที่พลัดหลงเข้ามาบล็อคคุณหมอ ........
ดิฉันและแม่มีปัญหาเรื่องหัวเข่า และกระดูกเท้าพอสมควร จะค่อยๆหาเวลาอ่านสาระจากบล็อคของคุณหมอย้อนหลังไปเรื่อยๆนะคะ

ข้อแรกที่ดิฉันต้องทำเลยคือ รีบลดน้ำหนักอย่างเร่งด่วน เพราะรู้ตัวว่าน้ำหนักตอนนี้เกินจนอันตรายแล้ว

เช้าๆตอนตื่นนอนใหม่ๆ ก้าวแรกที่ลงจากเตียง ดิฉันจะรู้สึกเจ็บที่ฝ่าเท้าแต่พอได้เดินไปสักพักก็จะดีขึ้น น่าจะเข้าข่ายอาการโรคนี้นะคะ

ขออนุญาต add บล็อคคุณหมอไว้เป็น VIP เลยนะคะ จะได้แวะเวียนมาขอความรู้กันได้บ่อยๆโดยไม่หลงบล็อคไปไหน

ขอบคุณค่ะ สำหรับสาระความรู้ที่ได้รับ


โดย: คุณน้ำตาล วันที่: 23 กรกฎาคม 2551 เวลา:16:44:58 น.  

 
ได้ความรู้มากครับ ผมมีอาการเจ็บฝ่าเท้ามา 3-4 เดือน หลังตื่นนอนเมื่อลุกเดินจะเจ็บฝ่ามาก หรือตอนเย็นจะเจ็บเวลาเดิน เดินนานๆ หรือนั่งนานๆแล้วเดินก็เจ็บ เช่นกัน ผมหายจากอาการดังกล่าวเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยงดอาหารสัตว์ปีกทุกชนิด เช่น เป็ด ไก่ ครับ


โดย: Insignia_Museum วันที่: 23 กรกฎาคม 2551 เวลา:21:43:10 น.  

 
มีอาการแบบนี้เลยค่ะ สังเกตุว่าถ้าใส่รองเท้าพื้นแข็งๆเดินนานๆจะปวดเพิ่มขึ้น ก็เลยใช้ฟองน้ำรองที่ส้นเท้าค่ะ หรือสลับรองเท้าคู่อื่นบ้าง ช่วยได้นะคะ


โดย: ทำไมถึงทำกับฉันได้ วันที่: 24 กรกฎาคม 2551 เวลา:17:33:37 น.  

 

ขอบคุณที่แวะมาแจม นะครับ


โดย: หมอหมู วันที่: 28 กรกฎาคม 2551 เวลา:19:35:01 น.  

 
สวัสดีค่ะคุณหมอหมู
มีเพื่อนผู้หวังดีส่งลิงค์บล็อคคุณหมอมาให้อ่านค่ะ
เพราะสองดีเพิ่งมีอาการรองช้ำไปหมาดๆ ซึ่งก็รักษาด้วยตนเองค่ะ โดยการเอารองเท้ายี่ห้อ Crocs ซึ่งเป็นยางนิ่มหนา ปกติใช้ใส่ไปเที่ยวเล่น เอามาใส่เวลาเดินในบ้านซึ่งเป็นพื้นหินแกรนิต ก็ช่วยได้เยอะค่ะ เพราะรองเท้าช่วยให้ไม่เจ็บส้นเท้ามากนัก แต่กว่าจะหายใช้เวลาหลายสัปดาห์เชียว

บล็อคคุณหมอมีประโยชน์มากค่ะ ขอเลียนแบบคุณน้ำตาลด้วยการแอดไว้ที่บล็อคของสองดีนะคะ เพราะเป็นคนมีปัญหากับข้อ/เท้าบ่อยมากเลยค่ะ นอกจากรองช้ำ อีกอาการที่สองดีเคยเป็นเมื่อหลายปีก่อน และเห็นในบล็อคคุณหมอก็มีเขียนถึง คือโรคนี้เลยค่ะ "ปลอกหุ้มเอ็นนิ้วหัวแม่มืออักเสบ (De Quervain's Disease)" ปัจจุบันหายแล้วค่ะ หลังจากฉีดยาเข้าเอ็นไปสองรอบ

ขอบคุณค่ะ


โดย: สองดี วันที่: 15 กันยายน 2551 เวลา:15:39:06 น.  

 
ขออภัย ทำไมมันขึ้นภาษาขอมก็ไม่รู้ ถามใหม่...

*************************
คุณหมอหมูคะ
จากข้อมูลที่ ...

4. ใส่เฝือกชั่วคราวให้ข้อเท้ากระดกขึ้น ในตอนกลางคืน หรือ ถ้าเป็นมาก อาจต้องใส่เฝือกตลอดทั้งวัน

ไอ้เฝือกชั่วคราหน้าตามันเป็นอย่างไรคะ หาซื้อได้ที่ไหน

ขอบคุณสำหรับความรู้ที่นำมาเผยแพร่นะคะ

นุช



โดย: gik_lo (gik_lo ) วันที่: 10 ตุลาคม 2551 เวลา:18:39:43 น.  

 
ตามมาอ่านจากในกระทู้ค่ะ รู้สึกว่าตัวเองคงเป็นโรคนี้อยู่แน่ๆ เลย ช่วงนี้กำลังลดน้ำหนักค่ะ ไม่รู้ว่ารู้สึกไปเองรึเปล่า...ตั้งแต่ออกกำลังกายได้ยังไม่ถึง 1 สัปดาห์เลย อาการก็ดีขึ้นแล้ว ^^


โดย: ขนมชั้น...เธอห้ามกิน!!! วันที่: 7 ตุลาคม 2552 เวลา:20:52:53 น.  

 
ขอบคุณมากมายครับ ทีนี้ก็รู้แล้วว่าตัวเองเป็นอะไร


โดย: คนทุ่งบางเขน วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:14:37:39 น.  

 
ขอบคุณค่ะ
ตอนี้กำลังเป็นเลยค่ะ เพราะก่อนหน้านี้ยืนทำงานเยอะแล้วรองเท้ามันแข็ง
ก็ลองบริหารแบบไม่กินยามาเกือบเดือนแล้ว
จากตื่นนอนแล้วเจ็บข้างเดียว ตอนนี้กลายเป็นเจ็บทั้ง 2 ข้างเลย

แต่เดี๋ยวจะลองไปหายากินร่วมด้วยดีกว่าค่ะ


โดย: หนูลีลี วันที่: 7 เมษายน 2555 เวลา:12:22:32 น.  

 
ขอบคุณค่ะ สำหรับข้อมูลดีๆ


โดย: pantipngon วันที่: 22 กรกฎาคม 2555 เวลา:9:30:17 น.  

 
ตามมาจาก pantip ครับ
อยากเรียนถามคุณหมอว่า
การไปตัดรองเท้า จะช่วยอะไรได้
บ้างไหมครับ
ขอบคุณครับ


โดย: dme วันที่: 22 สิงหาคม 2555 เวลา:12:44:34 น.  

 
ช่วยบรรเทาอาการได้บ้างครับ .. เพราะ ตอนใส่ก็จะรู้สึกว่าดีขึ้น แต่พอถอดออก ก็จะมีอาการอีก

ต้องอาศัยหลาย ๆ วิธีประกอบกัน สำคัญที่สุด ก็คือการดูแลตนเองบริหารครับ


โดย: หมอหมู วันที่: 22 สิงหาคม 2555 เวลา:14:30:25 น.  

 
หนูเป็นนศพ.ปี 6 ค่ะ
แม่ปรึกษาว่าเป็นรองช้ำทำยังไงดี
หนูได้ยินคำว่า "รองช้ำ" ก็อึ้งไปเลย เรียนมาตั้งนาน
เจอคนไข้ถามโรคเป็นภาษาไทยทีนี่งงเลย
เพิ่มรู้ว่ามันคือกลุ่มโรคนี้

ขอบคุณมากนะคะที่ให้ความรู้ดีๆ ว่าจะปริ๊นท์ให่แม่อ่านล่ะค่ะ ^__^


โดย: Konakaori (konakaori ) วันที่: 19 พฤศจิกายน 2555 เวลา:19:16:02 น.  

 

เท้าแบน…ทำไงดี

อ.พญ.กุลภา ศรีสวัสดิ์
ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

เท้kแบน เป็นปัญหาของเท้าที่พบบ่อยปัญหาหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นภาวะปกติหรือผิดปกติ และอาจแสดงหรือไม่แสดงอาการใด ๆ ลักษณะของภาวะเท้าแบน พบในผู้ที่มีอุ้งเท้าเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย โดยอาจเป็นอยู่เดิมหรือเกิดขึ้นใหม่ภายหลังจากที่กระดูกมีการเจริญเติบโต เต็มที่แล้ว

พัฒนาการของอุ้งเท้า

การเจริญเติบโตของโครงสร้างเท้าส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วง 7 – 8 ขวบปีแรก โดยเมื่อเด็กเริ่มตั้งไข่และเดิน เท้าของเด็กจะมีลักษณะ 3F คือ fat, flat และ floppy การ เดินจะไม่มีการถ่ายน้ำหนักจากส้นเท้าไปสู่ปลายเท้าเหมือนในผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นกลไกตามธรรมชาติที่ช่วยเพิ่มความมั่นคงในการยืนและเดิน โครงสร้างของเท้าและอุ้งเท้าจะมีลักษณะเหมือนผู้ใหญ่เมื่ออายุประมาณ 7 – 8 ปี ส่วนการเดินในลักษณะถ่ายน้ำหนักจากส้นเท้าไปสู่ปลายเท้าจะเริ่มเมื่ออายุ 3 – 4 ปี

ปัญหาเท้าแบนที่พบบ่อยในเด็ก

ส่วนใหญ่เป็นภาวะเท้าแบนชนิดไม่ติดแข็งที่คงอยู่ต่อเนื่องมาตั้งแต่วัยเด็กเล็ก อุ้งเท้าไม่สูงขึ้นแม้กระดูกจะมีการเจริญเติบโตเต็มที่แล้วก็ตาม มักจะพบทั้งสองข้าง าเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพันธุกรรม ผู้ ป่วยมักรู้สึกว่าเท้าหรือขาอ่อนล้าง่าย ร่วมกับปวดบริเวณอุ้งเท้า ส้นเท้าและเท้าด้านนอก โดยอาการเป็นมากขึ้นเมื่อมีการลงน้ำหนัก

ขณะยืนลงน้ำหนักจะพบส้นเท้าบิดออกมากกว่าปกติ ส่วนใหญ่มักจะมีกล้ามเนื้อน่องและเอ็นร้อยหวายตึงร่วมด้วย หากมีส้นเท้าบิดมากๆ เป็นเวลานาน อาจทำให้ข้อเสื่อม และเคลื่อนไหวได้น้อยลง เท้าแบนชนิดนี้ไม่ถือว่าเป็นโรค ดังนั้นหากไม่มีอาการ ไม่จำเป็นต้องทำการรักษาใดๆ เพียงติดตามความเปลี่ยนแปลงเป็นระยะๆ


การรักษา มุ่งเน้นการป้องกันไม่ให้มีการผิดรูปเกิดขึ้น ควบคุมน้ำหนัก ปรับกิจกรรม ใช้อุปกรณ์เสริมในรองเท้า และปรับรองเท้า อาจรับประทานยาหรือทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรง ส่วนการผ่าตัดจะพิจารณาเมื่อการรักษาดังกล่าวข้างต้นไม่ได้ผล


ปัญหาเท้าแบนที่พบบ่อยในผู้ใหญ่

ส่วนใหญ่เกิดจากการอักเสบหรือสูญเสียหน้าที่ของเอ็นประคองอุ้งเท้า มักเป็นเพียงข้างเดียว พบบ่อยในเพศหญิง อายุ 45 – 65 ปี ซึ่งไม่มีประวัติอุบัติเหตุนำมาก่อน อาการจะเป็นมากขึ้นเมื่อใช้งานหนัก เช่น ยืนนาน ๆ หรือเดินมาก จะรู้สึกปวดบริเวณอุ้งเท้า ส้นเท้าและข้อเท้าด้านใน หากเป็นมากขึ้นอาจยืนเขย่งปลายเท้าไม่ได้ เท้าผิดรูปจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ข้อติดแข็ง

การรักษา
คล้าย กับการรักษาเด็ก โดยกาควบคุมน้ำหนัก การใช้อุปกรณ์เสริมในรองเท้า และการปรับรองเท้า อาจรับประทานยาหรือทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรง ส่วนการผ่าตัดจะพิจารณาเมื่อการรักษาดังกล่าวข้างต้นไม่ได้ผล


การใช้อุปกรณ์เสริมและการปรับรองเท้า (Pedorthic Management)

Pedorthics เป็นศาสตร์ของการดูแลรักษาและป้องกันปัญหาต่าง ๆ ของเท้า โดยการออกแบบและผลิตอุปกรณ์เสริมภายในรองเท้า (foot orthoses) รวมทั้งการผลิตหรือปรับรองเท้า (shoe modification) อย่างเหมาะสม โดยอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการอบรมและสอบระดับมาตรฐานทาง Pedorthics เรียกว่า Certified Pedorthist (C.Ped.)

การใช้อุปกรณ์เสริมภายในรองเท้ามีเป้าหมายเพื่อปรับรูปเท้าให้อยู่ในลักษณะปกติ ที่สุดเท่าที่จะทำได้ และป้องกันไม่ให้อุ้งเท้าแบนจนเอียงล้มมากขึ้น อาจทำได้โดยใช้อุปกรณ์เสริมชนิดสำเร็จรูป หรือใช้อุปกรณ์เสริมชนิดหล่อพิเศษเฉพาะราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของปัญหาเท้าแบน อย่างไรก็ตามอุปกรณ์เสริมนั้นจะใช้ได้ประโยชน์สูงสุดก็ต่อเมื่อใช้กับ รองเท้าที่เหมาะสมเท่านั้น

รองเท้า ที่เหมาะสำหรับผู้ที่เท้าแบน ควรเป็นรองเท้าชนิดหุ้มส้น เช่น รองเท้าคัทชูส์หรือรองเท้ากีฬา และควรมีความกว้างส่วนหน้าเท้าพอสมควร ควรหลีกเลี่ยงการสวมใส่รองเท้าแตะ หรือรองเท้าชนิดที่มีสายรัดส้นเท้า นอกจากนี้พื้นรองเท้าภายในควรจะมีเนินช่วยประคองบริเวณอุ้งเท้าอีกด้วย

การ วมใส่รองเท้าที่เหมาะสมร่วมกับการใช้อุปกรณ์เสริมภายในรองเท้า จะช่วยให้ผู้ที่เท้าแบนสามารถใช้เท้าทำงานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น





โดย: หมอหมู วันที่: 13 เมษายน 2556 เวลา:0:36:46 น.  

 
ใช้แผ่นรองส้นจะช่วยให้หายได้ไหม่ค่ะ


โดย: Efilb วันที่: 8 กันยายน 2558 เวลา:13:50:51 น.  

 
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (official)
https://www.facebook.com/medicine.cm/posts/3433651963339802

ปวดส้นเท้า สัญญาณเตือน โรครองช้ำ

อาการเจ็บปวดจี๊ดขึ้นมาที่ส้นเท้า ในบางครั้งอาจลามไปที่อุ้งเท้าด้วย โดยเฉพาะจะมีอาการปวดมากที่สุดเมื่อลุกเดินก้าวแรกหลังตื่นนอน หรือหลังจากนั่งพักเป็นเวลานาน นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรครองช้ำ แม้จะดูเหมือนโรคนี้ไม่อันตรายร้ายแรง แต่ก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำการรักษา เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวันได้

รศ.นพ.ธนวัฒน์ วะสีนนท์ อาจารย์ประจำหน่วยเท้าและข้อเท้า ภาควิชาออโทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวว่า

“โรครองช้ำหรือโรคที่เกิดจากการบาดเจ็บของเส้นเอ็นฝ่าเท้า ลักษณะอาการจะปวดรุนแรงที่สุดเมื่อเริ่มมีการลงน้ำหนักที่ส้นเท้าในก้าวแรก เช่น เมื่อลุกเดินก้าวแรกหลังตื่นนอน และดีขึ้นหลังจากเดินสามก้าว หรือกดเจ็บที่ใต้ส้นเท้า ในขณะที่กระดกข้อเท้าขึ้น

นอกจากนี้ อาจมีอาการปวดมากขึ้นได้ในช่วงระหว่างวันหรือหลังจากที่เท้าต้องรับน้ำหนักเป็นเวลานาน เช่น ยืนหรือเดินเป็นเวลานาน และเมื่อมีการเคลื่อนไหวมากขึ้นก็จะยิ่งมีอาการปวดมากขึ้น

แม้จะดูเหมือนโรคนี้ไม่อันตรายร้ายแรง แต่ก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำการรักษา เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวันได้

โรครองช้ำอาจเกิดขึ้นได้ในหลายปัจจัย เช่น
- มีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ทำให้เมื่อเดิน จะทำให้เกิดแรงกดที่ฝ่าเท้ามาก จนอาจทำให้พังพืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบได้
-มีการยืนติดต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้เอ็นฝ่าเท้ารองรับน้ำหนักกดทับมากกว่าปกติ
-สวมรองเท้าที่ไม่เหมาะสมต่อสุขภาพเท้า เช่น รองเท้าส้นสูง รองเท้าที่คับแน่น บีบเท้า หรือรองเท้าที่หลวมเกินไป รองเท้าที่ไม่มีพื้นบุรองส้นเท้า หรือพื้นรองเท้าบางเกินไป
-มีการใช้งานฝ่าเท้าหรือส้นเท้าที่มากเกินไป เช่น การฝึกวิ่งหักโหม วิ่งระยะไกล
-มีภาวะเท้าผิดรูป เช่น อุ้งเท้าแบน อุ้งเท้าสูงหรือโก่งมากเกินไป

สำหรับจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรครองช้ำ ในระยะเวลา 1 ปี พบมากถึง 1,000,000 คน 85% รักษาหายโดยไม่ต้องผ่าตัด 80% หายแล้วไม่กลับมาเป็นซ้ำอีกหากในระยะเวลา 12 เดือน

ผู้ที่มีอาการของโรครองช้ำ จำเป็นที่จะต้องอดทนในการรักษาตนเอง งดกิจกรรมที่ต้องมีการกระแทกลงน้ำหนักที่ส้นเท้า เริ่มทำการกายภาพเองที่บ้าน

สำหรับการกายภาพเองที่บ้านมี 3 ท่าด้วยกัน ได้แก่
1.ยืดพังผืดใต้ฝ่าเท้า นวดพังผืดบริเวณฝ่าเท้าครั้งละ 1 นาที ทำทั้งหมด 3 ครั้ง โดยพัก 30 วินาที ก่อนเริ่มครั้งถัดไป
2.การยืดพังผืดกับกล้ามเนื้อน่องโดยใช้ผ้ายาง โดยการ 1.บิดข้อเท้าเข้าด้านใน 2.แล้วใช้ผ้ายืดสำหรับออกกำลังกายดีงบริเวณฝ่าเท้า 3 ครั้ง ครั้งละ 30 วินาที
3.การยันกำแพงยืดกล้ามเนื้อน่องด้านใน โดยการดันกำแพง 1.เหยียดขาข้างที่ปวดไปด้านหลัง 2.บิดข้อเท้าเข้าด้านใน 3.ทำครั้งละ 30 วินาทีทำทั้งหมดสามครั้งโดยพัก 30 วินาที ก่อนเริ่มครั้งถัดไป

นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาอีกหลายรูปแบบเช่น การปรับรองเท้าให้เหมาะสมกับรูปเท้า การทำกายภาพโดยใช้เครื่องมือทันสมัย การฉีดยาเกร็ดเลือด หากอาการไม่ดีขึ้นภายในเวลา 12 เดือน อาจได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด

แม้ว่าโรครองช้ำจะไม่ทำอันตรายถึงชีวิต แต่หากไม่หยุดพักหรือทำการรักษา อาจต้องทนทุกข์ทรมานต่ออาการปวดจนส่งผลต่อคุณภาพชีวิต และอาจทำให้อาการอักเสบเรื้อรังยุ่งยากต่อการรักษา อย่างไรก็ตามหากมีอาการปวดส้นเท้าผิดปกติควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาอย่างเหมาะสมได้ที่ หน่วยเท้าและข้อเท้า ภาควิชาออโทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มช.

ติดตามรับชมรายการ สุขภาพดีกับหมอสวนดอก ตอนปวดส้นเท้า สัญญาณเตือน โรครองช้ำ ย้อนหลังได้ที่
https://www.facebook.com/SuandokGoodHealth2018/videos/663948604233808



โดย: หมอหมู วันที่: 4 ตุลาคม 2563 เวลา:13:35:09 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]