Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

ทำไม ... ลูกถึงเดินขาโก่ง ... แบบนั้นละคะคุณหมอ ???


ทำไม ... ลูกถึงเดินขาโก่ง ... แบบนั้นละคะคุณหมอ ???

... เป็นคำถามที่พบบ่อย ๆ จากคุณแม่ โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ ลูกคนแรก ..

โดยส่วนใหญ่ ก็จะเป็นลักษณะปกติ เป็นพัฒนาการตามธรรมชาติ ซึ่งจะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง ..



 


ก่อนอื่น ก็มาดูคำจำกัดความกันก่อน จะได้เข้าใจตรงกัน ..


 



มีงานวิจัย ของต่างประเทศ วัดมุมของเข่า ในเด็กช่วงอายุต่าง ๆ ได้ผลมาดังรูป จะเห็นว่าตอนเด็กเข่าจะโก่งออกมาก แล้วก็ค่อย ๆ ลดลง ..


 
 
"ขาโก่ง (เข่าโก่งออก)" ทารกแรกเกิดจะมีขาโก่ง ประมาณ 15 องศา จะค่อย ๆ ตรงเมื่ออายุ 1.5 – 2 ปี

"ขาฉิ่ง (เข่าโก่งเข้า)” พบในเด็กมีอายุได้ 2-3 ปี เข่าฉิ่ง ประมาณ 10 – 12 องศา เมื่ออายุครบ 6 – 8 ปี ก็จะโก่งน้อยลงเหลือประมาณ 5-6 องศา (เท่ากับผู้ใหญ่) หลังจากอายุ 8 ปี จะไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง




เมื่อไหร่ที่ถือว่า ผิดปกติ

1. มีพัฒนาการที่ผิดปกติ เช่น เข่าโก่งเมื่ออายุมากกว่า 2-3 ปี หรือ เข่าฉิ่ง เมื่ออายุมากกว่า 7 ปี

2. มีความผิดปกติเพียงขาข้างเดียว หรือ มีเข่าโก่งมากกว่าอีกข้างอย่างมาก

3. ขาโก่ง (เข่าโก่งออก) มาก เช่น วัดระยะห่างได้มากกว่า 2 นิ้ว หรือ ระยะห่างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น มากกว่า ½ นิ้วใน 6 เดือน

4. ขาฉิ่ง (เข่าโก่งเข้า) มีมุมมากกว่า 15 องศา ซึ่งจะทำให้ปวดด้านในของเท้า ข้อเข่าอักเสบ และ ท่าทางเดินผิดปกติ

5. มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวด เดินกะเผลก แขนขาโก่งผิดปกติ


การดัดขา ไม่ได้ประโยชน์ ไม่ช่วยทำให้ขาตรงขึ้น เพราะแรงดัดจะไปที่เส้นเอ็นและกระดูกเด็กยังยืดหยุ่น ขณะดัด ก็เหมือนจะตรงขึ้น แต่พอปล่อยก็กลับมาเหมือนเดิม ...

แต่ถ้าพ่อแม่ปู่ย่าตายาย อยากจะดัด ก็ทำได้ แต่อย่ารุนแรงจนเด็กเจ็บ เนื่องจาก เป็นความเชื่อของผู้สูงอายุ (ปู่ย่าตายาย) ที่พยายามดันขา ดัดเข่า เพื่อให้เด็กขาตรง ซึ่งเป็นความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงยากมาก พูดไปก็อาจทำให้เกิดความไม่พอใจ ทะเลาะกันเปล่าๆ .. ถ้าพูดแล้วท่านยังอยากจะทำอยู่ก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้ทำเบา ๆ อย่าให้เด็กเจ็บ อย่าให้เด็กร้อง  ( ถ้าเด็กเจ็บเด็กร้องต้องหยุด )

การผ่าตัด เพื่อรักษาขาโก่งขาคด โดยส่วนใหญ่ จะรอให้เด็กอายุประมาณ 10 ปี ยกเว้นในรายที่มีความผิดปกติมาก อาจต้องรีบผ่าตัดเร็วกว่านั้น ..


อ้างอิง

https://emedicine.medscape.com/article/1259772-overview

https://www.orthoseek.com/articles/bowlegs-kk.html

https://www.connecticutchildrens.org/blank.cfm?print=yes&id=893

https://www.childrensortho.com/Page2338.aspx

https://childrensnyp.org/mschony/bowleg-knock-knees.html

https://www.gurgle.com/articles/Guide_To_Baby_/36955/Bow_legs_and_knock_knees_in_babies.aspx

https://www.ucsfchildrenshospital.org/conditions/bow_legs_and_knock_knees/

https://www.columbiaortho.org/children/BowlegandKnockKnees.html

https://www.medical-library.org/journals5a/bowlegs_knock_knees.htm

*************************************

เมื่อไหร่ที่ถือว่า ผิดปกติ (Pathologic Knee alignment)
1. outside the age เช่น Bow legs เมื่ออายุมากกว่า 3 ปี หรือ Knock knees เมื่ออายุมากกว่า 7 ปี
2. the angulation is extreme or asymmetric (only on one-side)
3. Standing inter-condylar distance>6 cm. Standing intermalleolar distance>8 cm. หรือ ระยะห่างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น มากกว่า 3 ซม.ใน 6 เดือน
4. deformities out of 2 standard deviation , >18mo without signs of gradual resolution
5. มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น stiff joints, knee pain, walking with a limp, severe intoeing
แนวทางรักษา
Physiologic Knee alignment treatment :
  • สังเกต ติดตามอาการ อาจนัดมาวัดมุม วัดระยะ ทุก 6 เดือน
  • ให้ความรู้ และ ให้ความมั่นใจ กับ พ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อลดความวิตกกังวลและการรักษาที่ไม่เหมาะสม
 
Pathologic Knee alignment treatment :
  1. วิธีไม่ผ่าตัด ( ไม่ได้แก้ปัญหาขาผิดรูป หรือ ป้องกันการผิดรูปเพิ่มมากขึ้น)
  • จำกัดกิจกรรมที่ทำให้เกิดอาการปวด (ถ้าไม่ปวด ทำได้ ไม่ห้าม)
  • ยาบรรเทาอาการ เช่น nonsteroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs)
  • bracing exercise programs and physical therapy เพื่อบรรเทาอาการปวด
 
  1. การผ่าตัด เป็นวิธีเดียวที่แก้ปัญหาขาผิดรูป
  • growth manipulation (hemiepiphysiodesis) ในเด็กหญิง อายุ<12 ปี และในเด็กชาย อายุ<14 ปี
  • corrective osteotomy
ข้อบ่งชี้ในการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด เช่น adolescent idiopathic genu valgum , Blount's Disease (abnormal growth plate in the upper tibia) genetic disorders such as Down syndrome, hereditary multiple exostoses, neurofibromatosis, vitamin D–resistant rickets , traumatic injuries cause physeal damage or overgrowth

แถมท้าย ..
  • การอุ้มเด็กแบบอ้าขาเด็กออกเพื่อเหน็บเอว ไม่ทำให้ขาโก่ง และ การดัดขา ก็ไม่ช่วยป้องกันขาโก่ง
  • การดัดขา ไม่ช่วยทำให้ขาตรงขึ้นเพราะแรงดัดจะไปที่เส้นเอ็นและกระดูกเด็กยังยืดหยุ่น ขณะดัดก็เหมือนจะตรงขึ้น เมื่อพอปล่อยก็กลับมาเหมือนเดิม ในกรณีที่พ่อแม่ ไม่อยากให้ดัด แต่ ปู่ย่าตายาย หวังดี อยากจะดัด เพราะเชื่อว่า ขาหลานจะได้ไม่โก่ง ควรให้คำแนะนำว่า ดัดได้ แต่ อย่าทำแรง อย่าให้หลานเจ็บ เนื่องจากเป็นความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงยากมาก การห้ามทำเลยก็อาจทำให้เกิดความไม่พอใจ เกิดปัญหาในครอบครัวตามมา
     
แนะนำอ่านเพิ่มเติม
https://emedicine.medscape.com/article/1259772
https://doctorlib.info/pediatric/visual-diagnosis-treatment-pediatrics/46.html
https://www.chortho.com/common-conditions/bowlegs-and-knock-knees
https://www.hkf-ortho.de/en/knee_surgery/rekonstruktion/beinachsen-korrektur/
 


**********************************
 

 


ไม่คิดว่าจะมีใครดัดขาเด็กจนทำให้กระดูกหัก แบบนี้ ..  คงทำแรงมาก  นึกภาพไม่ออกจริง ๆ ว่า แรงขนาดไหน .. สงสารเด็ก T_T
ปกติ ถ้าเป็นพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ดัดก็ด้วยความรัก พอเด็กร้องเขาก็จะหยุด ..

ที่มา Drama-addict
https://www.facebook.com/DramaAdd/photos/a.10151331013638291/10156846677888291
 


Create Date : 02 กรกฎาคม 2553
Last Update : 3 กันยายน 2563 15:31:35 น. 4 comments
Counter : 20873 Pageviews.  

 
ขออนุญาต สอบถามนะคะ ตอนนี้ลูกชาย อายุ 1.4 ปี ขามีอาการของขาโก่งแบบที่ 1 นะคะ และกระดูกช่วงเข่า ถึงช้อเท้า จับดูแล้วรู้สึก จะโค้งคะ อย่างนี้มีวิธีบำบัดยังไงบ้างคะ หรือควรปรึกษาแพทย์เลย และขอทราบวิธีรักษา(ของคุณหมอ ) แบบ คร่าว ๆ คะ เช่น ต้องเข้าเฝือกมั๊ยคะ ควรรักษาที่อายุเท่าไหร่ ขอบคุณมากคะ ที่กรุณาสละเวลา


โดย: oab_ja วันที่: 25 กันยายน 2553 เวลา:17:01:19 น.  

 
ถ้าเป็นแบบที่ ๑ อายุ ขวบครึ่ง ก็ถือว่า " ปกติ " ครับ ..

แต่ถ้าคุณแม่ ไม่แน่ใจ ก็พาไปตรวจกับหมอเด็ก หรือ หมอกระดูกและข้อ เลยครับ จะได้รู้ว่า ปกติ หรือ ผิดปกติ ..


โดย: หมอหมู วันที่: 6 ตุลาคม 2553 เวลา:19:05:34 น.  

 

หนูขาโก่งเหมือนกัน
จนตอนนี้ก็ยังไม่หาย(20 ปีแล้ว)
เเม่เคยบอกว่า เเม่ดัดให้เเล้วตอนเด็กๆ อาม่าก็บอกว่าดัดให้เหมือนกัน
ทีเเรกเข้าใจผิดคิดว่าอาม่ากับเเม่ หลอกเพราะกลัวจะเสียใจว่าไม่ดัดให้ขาหนูเลยโก่ง
มาอ่านเรื่องนี้เพิ่งเข้าใจว่ามันเป็นความเชื่อที่ผิดๆเกี่ยวกับการดัดขาให้เด็ก
ขอบคุณมากๆค่า เป็นความรู้ใหม่มากๆแลยค่ะ คุณหมอหมู
เเละเป็นเรื่องที่เชื่อว่าหลายคนก็คงสงสัยเหมือนกัน


โดย: เห็ดน้อย ทำรังแต่พอตัว วันที่: 4 มีนาคม 2555 เวลา:1:36:47 น.  

 

เขาทักว่า ลูกดิฉันขาโก่ง ...

นพ.วีระศักดิ์ ธรรมคุณานนท์ แพทย์เชี่ยวชาญด้านออร์โธปิดิกส์ และออร์โธปิดิกส์ในเด็ก
//www.vejthani.com/web-thailand/bow-legged.php


"เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ลูกอ่อนหลายๆ คู่ คงเคยได้ยินคำแนะนำจากญาติผู้ใหญ่ว่า ให้ดัดขาลูกตั้งแต่ยังเป็นทารก โตขึ้นขาลูกจะได้ไม่โก่ง ถึงแม้ไม่แน่ใจ แต่พอมีคนทักว่าลูกขาโก่ง ก็มักทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความกังวลใจไม่น้อย"

ภาวะขาโก่งในเด็ก มีหลายรูปแบบ ทั้งโก่งออกด้านนอก โก่งเข้าด้านใน โก่งมาด้านหน้า หรือด้านหลัง แต่โดยส่วนใหญ่วัยหัดเดิน หรือมากกว่า 95% จะเป็นขาโก่งออกด้านนอก คือโก่งแบบเดินขาถ่างๆ เข่าห่างจากกัน เท้าอาจจะบิดหมุนเข้าด้านใน แต่ถ้าไม่ใช่ขาโก่งแบบออกด้านนอกถึอว่าผิดธรรมชาติ

.....

ดูขาอย่างไรว่าโก่งหรือไม่โก่ง

ขาโก่งที่เห็น อาจเป็นขาโก่งจริง หรือขาไม่ได้โก่งจริงแต่ท่ายืนไม่ตรง จึงทำให้ดูภายนอกเหมือนขาโก่ง ลองสังเกตดู เมื่อเรายืนปลายเท้าชี้ออกด้านนอก งอเข่าเล็กน้อย จะดูเหมือนขาโก่งโค้งออกด้านนอก ถ้ายืนหันปลายเท้าเข้าด้านใน งอเข่าเล็กน้อยจะเหมือนขาโก่งเข้าด้านใน เพราะเด็กช่วงวัย 1-2 ปี เป็นช่วงหัดเดิน การทรงตัวยังไม่มั่นคง เด็กจะเดินขาถ่างบ้าง เข่างอเล็กน้อย และกางแขนเป็นบางครั้งเพื่อช่วยในการทรงตัว ซึ่งเป็นท่าเดินมาตรฐานในเด็กวัยนี้

ดังนั้น เวลาดูว่ากระดูกขาโก่งหรือไม่แบบง่ายๆ ต้องเหยียดเข่าให้ตรงสุด หันลูกสะบ้าตรงมาด้านหน้า นำข้อเท้ามาชิดกัน โดยช่องว่างระหว่างขอบด้านในของเข่าไม่ควรห่างเกิน 2 นิ้วของคุณพ่อคุณแม่ หรืออย่างช้าควรตรงก่อนอายุ 3 ปี หรือถ้านำข้อเท้ามาชิดกันแล้ว แต่เข่าลูกซ้อนกันหรือเกยกัน ก็ควรพาลูกมาตรวจกับแพทย์ด้วยเช่นกัน

.....

ขาโก่งแบบธรรมชาติหายเองได้ เป็นอย่างไร แล้วจะหายเมื่อไหร่

กลไกการเจริญเติบโตตามธรรมชาติของกระดูกขาคนเรา แนวกระดูกขาจะมีการเปลี่ยนแปลงปรับสมดุลตามช่วงเวลา เพื่อให้ขามาอยู่ในแนวที่รับน้ำหนักตัวได้ดีที่สุด โดยขาคนเราประกอบด้วยสามส่วน คือส่วนต้นขาเหนือเข่า ส่วนขาใต้เข่า และเท้า ถ้ามองด้วยสายตาจะเห็นส่วนต้นขาอยู่ในแนวเส้นเดียวกันกับกระดูกใต้เข่า แต่ในความเป็นจริงกระดูกต้นขากับกระดูกส่วนใต้เข่าไม่ได้อยู่ในเส้นแนวเดียวกัน แต่จะทำมุมกันประมาณ 6-7 องศา

การเจริญเติบโตของแนวขาเกิดขึ้นทั้งแนวด้านข้าง ด้านหน้า-หลัง และแนวหมุน คือเปลี่ยนแปลงทั้งสามมิติ ในบทความนี้จะกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงแนวขาด้านข้าง ซึ่งทำให้ขาดูโก่งออกด้านนอกหรือโก่งเข้าด้านใน

เมื่อแรกเกิดแนวกระดูกจะโก่งออกด้านนอก บางคนมากบางคนน้อย เชื่อว่าเกิดจากมดลูกที่มีรูปร่างเป็นถุงโค้ง และเด็กต้องขดตัวอยู่แน่นในครรภ์ เมื่อเกิดมาจะเห็นขาใต้เข่ามีลักษณะโค้งชัดเจน เมื่อเด็กเริ่มเดิน เด็กบางคนจะเดินขาถ่างมากบางคนถ่างน้อย แนวกระดูกจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นขาตรงเมื่ออายุประมาณ 18 เดือน ช่วงระยะ 3 ปีครึ่ง ขาจะโก่งเข้าด้านในเหมือนขาเป็ด เด็กบางคนเป็นมากบางคนเป็นน้อย ถ้าดูด้วยสายตาเทียบขาบนกับขาใต้เข่า มุมไม่น่าเกิน 10 - 15 องศา ถ้ามากกว่านี้ควรพาลูกไปพบแพทย์ เมื่อเด็กอายุมากขึ้น แนวขาจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นเหมือนผู้ใหญ่ คือโก่งเข้าด้านในเล็กน้อยประมาณ 7 องศา ที่อายุประมาณ 7 ปี

เป็นหลักที่ใช้ดูการเจริญเติบโตของแนวขาเทียบกับอายุที่ดี ถ้าสังเกตว่าลูกของเราแนวขาไม่เป็นไปตามนี้ ควรพาลูกมาตรวจกับแพทย์ คือถ้าเป็นแบบโก่งออกด้านนอกแบบธรรมชาติ ความโก่งจะค่อยๆ ตรงเมื่ออายุ 2 ปี อย่างช้าไม่เกิน 3 ปี แต่ถ้าเป็นแบบขาโก่งเป็นโรค แนวขาจะโก่งออกมากยิ่งขึ้น นอกจากเด็กจะเดินไม่เป็นปกติแล้ว คือตัวจะโยกเยกไปตามขาข้างที่เดิน ข้อเข่าจะเสียเร็ว เนื่องจากการกระจายน้ำหนักของข้อไม่ดีเหมือนคนปกติ ข้อเข่าจะปวดตั้งแต่อายุน้อย อักเสบ เดินไม่ได้ไกลเนื่องจากความเจ็บปวด

......................

ขาโก่งออกด้านนอก ไม่ยอมหายเองตามธรรมชาติ

เป็นสถานการณ์ที่ต้องตรวจละเอียด ว่ามีสาเหตุอะไรทำให้กระดูกไม่ปรับแนวตามที่ควรจะเป็น หากจะแบ่งกว้างๆ ให้เข้าใจง่ายคือ เป็นกลุ่มที่มีสาเหตุชัดเจน ซึ่งไปรบกวนการเจริญเติบโตของเยื่อเจริญขา กับกลุ่มที่ไม่มีสาเหตุชัดเจน ถือว่าเป็นโรคที่เยื่อเจริญทำงานไม่สมดุลเอง ซึ่งมักเกิดกับเยื่อเจริญกระดูกใต้เข่า

กลุ่มแรก คือมีโรคไปรบกวนเยื่อเจริญขาทำให้โตไม่ปกติ มีหลายโรคที่ทำแบบนี้ได้ เช่น เนื้องอกกระดูกขาไปเกิดใกล้กับเยื่อเจริญทำให้การเจริญไม่สมดุล การติดเชื้อกระดูกขาทำให้การเจริญผิดปกติ หรือโรคพันธุกรรมหลากหลายชนิด

กลุ่มที่สอง เป็นโรคขาโก่งจากเยื่อเจริญกระดูกใต้เข่าเจริญไม่สมดุล ทั้งที่ไม่พบว่ามีสิ่งใดทำลายเยื่อเจริญกระดูก โดยเยื่อเจริญด้านในของกระดูกมีการเจริญช้ากว่าเยื่อเจริญด้านนอก ทำให้ยิ่งโตขายิ่งโก่งออกด้านนอก โรคนี้ส่วนใหญ่พบในเด็กช่วงวัยหัดเดิน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโก่งออกด้านนอกแบบธรรมชาติหายเองได้ ดังนั้น จึงเกิดความสับสนระหว่างขาโก่งออกด้านนอกแบบเยื่อเจริญกระดูกใต้เข่าเจริญไม่สมดุล ซึ่งไม่สามารถหายเองได้ กับ ขาโก่งออกด้านนอกแบบธรรมชาติหายเองได้

โรคขาโก่งออกด้านนอกแบบเยื่อเจริญกระดูกใต้เข่าเจริญไม่สมดุลนั้น สาเหตุยังไม่ชัดเจน แต่มักพบได้บ่อยในเด็กที่อ้วน และเดินเร็ว อย่างไรก็ตาม เด็กผอมก็เป็นโรคนี้ได้ แต่เด็กอ้วนพบบ่อยกว่า และเด็กอ้วนที่เป็นโรคนี้ ก็มักรักษาได้ยากกว่าเด็กผอม

“ความเชื่อที่ว่า การอุ้มเด็กแบบเหน็บข้างตัวอ้าขาออกเป็นสาเหตุของโรค ไม่เป็นความจริง และการดัดขาให้ทารกหลังอาบน้ำสามารถป้องกันโรคนี้ได้ ก็ไม่เป็นความจริงเช่นกัน การดัดขาโดยใช้มือทำเป็นครั้งๆ ไม่สามารถสร้างแรงกดกับกระดูกขาได้เลย แรงจะไปบิดที่เอ็นยึดข้อ จึงไม่ได้ช่วย หรือป้องกันโรคนี้ได้แต่อย่างใด”

วิธีแยกระหว่างขาโก่งออกด้านนอกแบบธรรมชาติ กับ ขาโก่งออกด้านนอกที่เป็นโรคเยื่อเจริญขาไม่สมดุล มีวิธีที่ใช้แยกง่ายๆ คือ

สังเกตแนวขาตามช่วงเวลาที่ได้กล่าวในรูปข้างต้น หากเลย 3 ปีแล้วขายังโก่งออกด้านนอก ควรพาเด็กไปพบแพทย์

ปริมาณความโก่ง โดยจับลูกนั่งหันหน้าเข้าหาเรา เหยียดเข่าให้สุด จับข้อเท้ามาชนกัน ให้เข่าหันมาด้านหน้า โดยหันเท้าชี้ไปด้านหน้า มองดูที่เข่า ถ้าเข่าชนกันถือว่าผ่าน ระยะระหว่างเข่าถ้ามากเกินสองนิ้วของคุณพ่อคุณแม่ ถือว่าแนวกระดูกโก่งออกด้านนอก ถ้าโก่งจนระยะห่างเกินกว่าสี่นิ้วแสดงว่าโก่งมาก และมีโอกาสเป็นโรคสูงมาก

ความโก่งที่ไม่เท่ากัน ในท่าเดียวกับข้อ 2 ลองดูแนวขาส่วนเหนือเข่าเปรียบเทียบกับขาใต้เข่า จะเห็นแนวโก่ง ถ้าแนวโก่งสองข้างเป็นพอๆ กัน มีโอกาสเป็นแบบธรรมชาติสูง แต่ถ้าขาสองข้างแนวโก่งไม่เท่ากันอย่างชัดเจน ลองพาเด็กมาตรวจดู ส่วนเท้าบิดหมุนเข้าด้านในมาก ก็พบได้ทั้งขาโก่งธรรมชาติ และแบบเป็นโรค แต่เท้าจะบิดหมุนมากชัดเจนกว่าในรายที่โก่งออกด้านนอกแบบเป็นโรค

....................

รักษาอย่างไร

การดัดดาม โดยใช้อุปกรณ์ดัดขา จะใช้หลักการดัดคล้ายกับใช้มือดัด แต่มีอุปกรณ์ช่วยดามคงแรงดัดและแนวการดัดไว้ อุปกรณ์ที่ดามจะต้องยาวจากต้นขาลงมาถึงเท้า และต้องใส่นานหลายชั่วโมงต่อวัน จึงทำให้เด็กเดินลำบาก และไม่เป็นที่นิยมใช้กัน ผลการรักษาจึงไม่แน่นอน

การรักษาด้วยการผ่าตัด โดยตัดแต่งกระดูกให้ตรง ใส่เฝือกขารอกระดูกติด เป็นวิธีที่สะดวก คาดหวังผลได้ชัดเจน และในเด็กเล็กกระดูกจะติดเร็วมาก โดยทั่วไปใส่เฝือกประมาณ 1-2 เดือน หลังจากนั้น สามารถปล่อยให้เด็ก ยืน เดิน ออกกำลังกายเบาๆ ให้กล้ามเนื้อฟื้นความแข็งแรง

โรคขาโก่งออกด้านนอกในเด็กเล็ก ถ้าได้รับการรักษาที่เร็ว ผลการรักษาได้ผลดี โอกาสโก่งซ้ำน้อย อย่างไรก็ตาม บางรายที่ปล่อยขาเด็กให้โก่งไว้นาน หรือโรคเป็นมาก เยื่อเจริญด้านในกระดูกขาเสียหายมาก ทำให้มีโอกาสเกิดขาโก่งซ้ำภายหลังผ่าตัดได้ การผ่าตัดจะทำยากขึ้น และต้องทำหลายครั้ง ดังนั้น ทางที่ดี ลองสังเกตขาลูกตามคำแนะนำเบื้องต้น หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับคุณพ่อคุณแม่ และญาติๆ ได้ ปัจจุบันภาวะขาโก่งโดยส่วนใหญ่รักษาได้ผลดี อย่ารอจนเป็นมากๆ อายุมากแล้วค่อยพามาพบแพทย์



โดย: หมอหมู วันที่: 26 มิถุนายน 2558 เวลา:14:16:07 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]