การเดินทางของคชสารในสายตาของวรพจน์ พันธุ๋์พงศ์







การเดินทางของคชสาร ประกอบไปด้วย 15 บทความ ภาพประกอบเป็นการ์ตูนสามช่อง ทางถนัดของคชสาร ตั้งยามอรุณ

ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยความเพลิดเพลิน บางช่วงขำ บางตอนเศร้า บางวรรคปลุกเร้าอุดมคติที่แห้งโหยเชือดชา

ชอบ ชอบ และชอบ อ่านแล้วพยายามทบทวนความรู้สึกว่าทำไมถึงชอบ คำตอบที่นึกออกมี 3 คำที่ผุดขึ้นมาในใจคือความคิดสร้างสรรค์ ทัศนคติ และรสนิยม

หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยสามสิ่งนี้ ผสมผสานส่งเสริม เติมเต็มกันด้วยสัดส่วนพอดีๆ ตั้งแต่การเลือกใช้ช้างและควายเป็นตัวละคร

เรื่องที่เลือกมาเล่าเป็นเรื่องธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวันที่สะท้อนเรื่องใหญ่ ภาพใหญ่ในสังคมร่วมสมัย ภาษาที่พูดลื่นไหล สะอาด และไม่มีส่วนเกินสักบรรทัด

ผมไ่ม่มีข้อมูลว่าคชสาร ตั้งยามอรุณอายุเท่าไหร่ จบการศึกษาใด ให้เดาจากน้ำเสียงและเรื่องเล่า เขาน่าจะอายุระหว่าง 35-45 ปี คือมีความสงบรอบรู้แบบผู้ใหญ่ ขณะเดียวกันก็ยังตื่นเต้นเอนไหวแบบวัยรุ่น

อย่างที่กล่าวแล้ว 'การเดินทางของคชสาร' ว่าด้วยเรื่องส่วนตัว เรื่องเล็กๆ รายรอบชีวิต แต่มันแฝงและวิพากษ์วิจารณ์เรื่องประชาธิปไตย สงคราม การเมืองระหว่างประเทศ กระทั่งเรื่องเพศไว้อย่างชาญฉลาด

หีบห่อของมันคือการ์ตูน ท่าทีของมันยียวนไ่ม่ยี่หระ แต่มันตลกร้าย ดูคล้ายๆ ซื่อๆ ไม่รู้เรื่องรู้ราว หารู้ไม่ว่านั่นคือชั้นเชิงของเสือ คือนักสังเกตการณ์ชีวิตที่เปี่ยมด้วยรสนิยม

รสนิยมที่ผมพูดไม่ได้หมายถึงเรื่องเงินหรือการเลือกใช้ข้าวของหรูหรา แต่หมายถึงศิลปะการใช้ชิวิต มุมมอง การแยกแยะและการให้คุณค่ากับสิ่งที่ควรให้คุณค่า

ทัศนคติที่ผมพูดไม่ใช่การมองโลกในแง่ดี แต่ทัศนคติดีหมายถึงทรรศนะที่มีต่อเรื่องราวต่างๆ อย่างพอเหมาะพอดี มีเหตุผล มีความกล้าหาญ มีวิจารณญาณที่จะแสดงความคิด

ผมไม่รู้ว่าทุกวันนี้เขาเลือกหนังสือนอกเวลากันอย่างไร ถ้ามีใครถามผมจะเสนอเล่มนี้ใ้ห้นักเรียน นักศึกษาไทยได้อ่าน นี่ไม่ใช่หนังสือสำหรับเด็กเลยแต่เด็กอ่านได้

และคนที่ควรอ่านมากๆ คือผู้ใหญ่



วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เขียนในนิตยสาร Writer ปีที่ 1 ฉบับ ที่ 11 มกราคม 2556




 

Create Date : 28 มีนาคม 2556   
Last Update : 17 มกราคม 2561 16:00:40 น.   
Counter : 14800 Pageviews.  

เพลงรัตติกาลในอินเดีย : การสยบยอมต่อความไม่รู้





images by free.in.th

เพลงรัตติกาลในอินเดีย
Notturno indiano by Antonio Tabucchi
แปลจากต้นฉบับภาษาอิตาลี โดย นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ
คำนิยมโดย อุทิศ เหมะมูล
พิมพ์โดย บุ๊คไวรัส


อันตอนีโอ ตาบุคคีคนเขียนนวนิยายเรื่องนี้เกิดเมื่อปี 1943 ที่เมืองปิซ่า ประเทศอิตาลี อาชีพหลักของเขาคืออาจารย์สอนวิชาวรรณคดีโปรตุเกสในมหาวิทยาลัย ผลงานวรรณกรรมของเขามีกว่าสามสิบเล่ม เพลงรัตติกาลในอินเดีย (Notturno indiano) เป็นผลงานเล่มที่ 5 ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1984 เขาเขียนนวนิยายเรื่องนี้หลังการเดินทางไปอินเดียในฐานะนักนิรุกติศาสตร์ผู้ได้รับมอบหมายให้ไปศึกษาค้นคว้าเอกสารในห้องสมุดเก่าแก่แห่งหนึ่งของเมืองกัว หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติของฝรั่งเศส Prix Médicis étranger ในปี 1987 (สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ ของ อุมแบร์โต เอโค ได้รับรางวัลนี้ในปี 1982) และในปี 1989 Alain Corneau ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวฝรั่งเศสได้นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อ Nocturne Indien " (แนะนำผู้เขียนนำมาจากโน้ตของในเฟซบุ๊กของนันทธวรรณ์ ูผู้แปล )

เพลงรัตติกาลในอินเดียเป็นเรื่องการเดินทางชายชาวตะวันตกคนหนึ่ง เดินทางไปยังที่ต่างๆ ในอินเดีย จุดประสงค์ของการเดินทางครั้งนี้ในเบื้องแรกนั้นดูราวกับชายชาวตะวันตกที่เราไม่รู้ชื่อคนนี้เดินทางตามหาเพื่อนของเขาที่หายตัวไปเมื่อปีที่แล้ว มันเริ่มต้นราวกับนวนิยายสืบสวน สอบสวนชั้นดีสักเล่มหนึ่ง เขาเดินทางไปตามที่ต่าง ๆ เพื่อตามหาเพื่อนของเขา พบเห็นอินเดียทั้งจากสายตาของที่พักในโรงแรมหรู ไปจนถึงริมถนนข้างทางของอินเดีย ไปพบผู้คนอันแสนจะแปลกพิลึกพิลั่นของอินเดีย ไปพบบาทหลวงในห้องสมุดเก่าแก่ ไปพบเด็กน้อยกับพี่ชายผู้แสนอัปลักษณ์ที่ยังชีพด้วยการดูดวงชะตาให้คนผ่านทาง ฯลฯ เรื่องราว สถานที่และผู้คนในดินแดนแห่งนี้ช่างเต็มไปด้วยความย้อนแย้งเสียเหลือเกิน

การเดินทางไปยังที่ต่างๆ ของชายชาวตะวันตกคนนี้ ทำให้่เรื่องต่างๆ ดำเนินไปแบบเป็นเสี้ยวๆ เป็นชิ้นส่วนของความไม่รู้ที่กอร์ปขึ้นเป็นเรื่องราวขนาดสั้น และนี่เป็นเสน่ห์ของนวนิยายเล่มนี้ คนอ่านติดตามชายคนนี้่ไปอย่างใกล้ชิด บางทีเราก็รู้ว่าชายคนนั้นคิดอะไรอยู่ บางทีเราก็ไม่รู้ เราตกอยู่ในความคลุมเครืออันแสนหฤหรรษ์ และในตอนจบยิ่งนำพาความตื่นเต้นมาสู่คนอ่าน เมื่อเราพบว่าคนเขียนเปิดเผยความคิดบางด้านของเขาที่มีต่อนวนิยายเรื่องนี้ เป็นตอนจบของนวนิยายที่เร้าใจมากสำหรับดิฉัน


ถึงที่สุดแล้วเราพบว่านวนิยายเรื่องนี้คือการสยบยอมให้กับโลกตะวันตกที่มีต่อโลกตะวันออก ความมืดมิดของราตรีคือความไม่รู้ของชาวตะวันตกที่มีต่อชาวตะวันออก ภูมิปัญญาแห่งตะวันตกมาหมอบราบคาบแก้ว ณ ดินแดนมณีปุระแห่งนี้เอง

พออ่านถึงตอนจบของนวนิยายเล่มนี้ ดิฉันก็เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าทำไมผู้แปลถึงไม่ได้ใส่ชื่อตัวเองไว้บนหน้าปก เธอบอกว่าชื่อของเธอไม่อาจเทียบเคียงได้กับอันตอนีโอ ตาบุคคี นักเขียนอิตาลีผู้นี้ จริงๆ แล้วเราต้องขอบคุณคนแปลทีทำให้เราค้นพบนักเขียนอิตาลีผู้เก่งกาจอีกคนหนึ่ง นอกเหนือจาก อิตาโล คัลวืโน และอุมแบร์โต เอโค นักเขียนอิตาลีผู้ยิ่งใหญ่สองคนนั้น

และเพลงรัตติกาลในอินเดียก็เข้ามาอยู่หนึ่งในอันดับหนังสือในดวงใจของข้าพเจ้าเรียบร้อยแล้ว
ต้องขอบคุณคำนำสำนักพิมพ์ คำนิยม รายชื่อสถานที่ในหนังสือ ความในใจของผู้แปล เชิงอรรถ ทั้งหมดทั้งมวลของหนังสือเล่มนี้ช่วยทำให้การอ่านของดิฉันสนุกขึ้นอย่างมาก

หมายเหตุ

ณ วันนี้ หนังสือเล่มนี้มีวางจำหน่ายเพียง 3 ร้านในประเทศไทย คือร้านดวงกมล ตรงข้ามห้าง Tops RCA, ร้านคิโนะคุนิยะ สาขาพารากอน สาขาอิเซตัน สาขาเซ็นทรัลเวิล์ด และ ล่าสุด ร้านดอกหญ้าข้างโรงหนังลิโด้ สยามสแควร์





 

Create Date : 12 กันยายน 2555   
Last Update : 15 สิงหาคม 2557 19:10:28 น.   
Counter : 7639 Pageviews.  

ลักษณ์อาลัย : อำนาจของเรื่องเล่า






แค่ประโยคแรกของหนังสืออุทิศก็เริ่มแยบหมัดหนักสู่คนอ่าน

"มีคนเคยบอกว่าของขวัญที่ดีที่สุดที่พ่อจะมอบให้ลูกชายได้ คือการที่พ่อตายจากไปในช่วงที่
ลูกชายยังอยู่ในวัยหนุ่มแน่น"

แล้วอุทิศ ก็พาเรากลับไปสู่แก่งคอย พาเรากลับไปเผชิญหน้ากับครอบครัวของนายช่างแห่งโรงงานปูนนั้นอีกครั้ง (ถ้าใครอ่านลับแล,แก่งคอยมาแล้วคงนึกภาพออก) มาคราวนี้อุทิศนำตัวละครใหม่ๆ มาเล่าเรื่องของเขาให้คนอ่าน แถมอุทิศยังให้ชื่อตัวละครเอกในเรื่องนี้ว่า อุทิศ ห. ด้วย เอากับเขาสิ ชื่อตัวละครเอกในเรื่อง (และเป็นผู้เล่าเรื่องหลัก) ชื่อเดียวกับนักเขียนผู้เขียนเรื่องนี้ เอากับเขาสิ

แต่สิ่งที่แตกต่างจากลับแล,แก่งคอย อย่างเด่นชัด คือการที่อุทิศเอาพระราขพงศวดาร กรุงธนบุรี ,เอาเอกสารทางประวัติศาสตร์อีกหลายชิ้น แทรกเข้ามาในเนื่้อเรื่อง เอานวนิยายโรมานซ์พล็อดท้าทายสังคมเข้ามาในเรื่องเล่าหลักของเขาด้วย ลักษณ์อาลัยเล่มนี้ จึงประกอบไปด้วยเรื่องเล่าหลัก ครอบครัวของอุทิศ ห. เรื่องเล่าที่จะพาเราไปพบกับความขัดแย้งในครอบครัว ซึ่งมันก็จะพาให้คนอ่านกลับมาคิดถึงรอยด่างที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของแต่ละคนได้ไม่ยาก ปัญหาความไม่ลงรอยระหว่่างพี่น้อง ฯลฯ เรื่องเหล่านี้คิดว่าคนอ่านคงอินได้ไม่ยาก

แต่สิ่งที่ทำให้เรื่องนี้เหนือชั้นไปกว่าลับแล ,แก่งคอย คือมันบูชาเรื่องเล่า หรือเรื่องแต่งอย่างออกนอกหน้ามาก ค้นลึกไปถึงพระราชพงศวดาร ค้นหานิยายเล่มแรกของไทย คือสนุกน์นึก และต้องขอสารภาพว่าคนเขียนบล็อกนี้ก็รู้จักเนื้อหาของสนุกน์นึกจากลักษณ์อาลัยนี่แหละ และทำให้ตื่นเต้นมากที่พบว่าสนุกน์นึกมีกลิ่นของความขบถอยู่ในนั่น เอาละเหวย ใครบอกว่าของโบราณไม่ขบถ มันสนุกที่จะได้นึกถึงจริงๆ

นี่คือความเหนือชั้นของอุทิศ เพราะลักษณ์อาลัยนำพระราชพงศาวดาร, บันทึกเล็กๆ น้อยๆ ทางประวัติศาสตร์ ,โนเวลเรื่องแรกของไทย,นวนิยายโรมานซ์สไตล์เกาหลีของนักเขียนรุ่นหลัง,เรื่องเล่าในจอทีวี (ซึ่งเป็นเรื่องเล่าที่ตัวละครในลักษณ์อาลัยเล่าออกมา) เรื่องเล่าที่ทับซ้อนหลายๆ ชั้นอยู่ในลักษณ์อาลัยนี้ อุทิศแทรกเข้ากับโครงเรื่องหลักของครอบครัวแก่งคอยครอบครัวนั้นได้อย่างน่าตกตะลึงพรึงเพริดมาก นี่คือการค้นพบการเขียนสไตล์ใหม่ ของนักเขียนไทย ที่ทำให้คนชอบอ่านนิยายอย่างคนเขียนบล็อกนี้พบว่าโชคดีเพียงไรที่วงการวรรณกรรมมีนักเขียนอย่างอุทิศอยู่ เพราะเขาช่างบูชาเรื่องแต่ง tribute ให้กับผู้มาก่อนในวงการเรื่องเล่าของไทย สืบค้นไปตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสินกันนั่นเชียว

หลังจากที่ลักษณ์อาลัยค่อยๆ พาผู้อ่านกลับมาสู่ความสงบในบทสุดท้าย เมื่อปิดหนังสือเล่มนี้ลง คนเขียนบล็อกคนนี่ก็ค้นพบว่าตัวเองก็น้ำตาซึมไปกับอุทิศ ห. คนนั้นด้วยเหมือนกัน


ข้างล่างนี้เป็นหนึ่งในที่บางตอนที่ชอบมากของหนังสือเล่มนี้ จริงๆ ชอบหลายตอน เอาตอนนี้มาแล้วกัน

"...ชีวิตของตัวละครกำเนิดขึ้นเมือถูกอ่าน ดับไปเมื่อหนังสือถูกปิดลง
มันไม่ควรมีชีวิตก่อนหน้าจะถุกอ่าน หรือมีชีวิตต่อไปหลังจากนิยายจบลง
ตัวละครก็ควรจะเป็นตัวละครไม่ใช่มนุษย์จริงๆ แต่เมื่อตัวละครพยายามจะเป็นมนุษย์จริงๆ
ขึ้นมา มันก้าวล่วงความเป็นตัวละครออกมา รู้ทั้งรู้ว่าจะไม่มีวันเหมือนเดิม
เชื้อพันธ์ุพิสดารจึงเกิดขึ้น อากาศนั้นยังรำเพยอยู่ ใครนะเป็นคนทำให้มันเกิดขึ้นก่อน..." (หน้า 384)








 

Create Date : 26 มิถุนายน 2555   
Last Update : 23 สิงหาคม 2557 18:01:33 น.   
Counter : 4702 Pageviews.  

รีวิว ประวัติศาสตร์ของความเงียบ ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์






“รอย” ในประวัติศาสตร์ของ “ความเงียบ”
ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
 สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ประจำวันที่ 4-10 พฤษภาคม 2555 

ประวัติศาสตร์ของความเงียบ เป็นนิยายเล่มใหม่ของ อติภพ ภัทรเดชไพศาล นักประพันธ์ดนตรี กวี นักเขียน คอลัมนิสต์ และอีกสารพัดเครดิตจะนำมาอ้างอิง โดยทั่วไปแล้วงานเขียนของอติภพ มักจะเป็นบทกวี เรื่องสั้น หรือข้อเขียนในคอลัมน์ประจำต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับดนตรี ซึ่งหลายท่านอาจจะผ่านตามาบ้าง หรือบางท่านอาจจะเห็นจนชินตา แต่ “ประวัติศาสตร์ของความเงียบ” นับเป็นนิยายเรื่องแรกของอติภพ และก็เป็นนิยายที่ซับซ้อนพอดูทีเดียว 

“ประวัติศาสตร์ของความเงียบ” พูดถึงตัวละครหลักที่ชื่อ “อภิต” นักประพันธ์ดนตรีประกอบละคร (หรือ “เพลย์บอยหนุ่ม” ในอีกสถานภาพ) “อติภพ” เปิดตัว “อภิต” ด้วยฉากการเดินทางกลับบ้านเกิด ซึ่งคงเป็นชนบทที่ไหนสักแห่งหนึ่งที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก เพื่อสืบหาความจริงที่เขาค้างคาใจ 

“โกเมศ อิศรา” กวี นักเขียน และปัญญาชน ผู้ลึกลับที่ผลิตงานเขียนออกในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 - 6ตุลา 19 คือสิ่งที่อภิตค้นหา
การสืบหาโกเมศ และการปล่อยช่วงเวลาในการสืบหาให้เป็นเหมือนวันหยุดพักร้อนตลอดหนึ่งสัปดาห์ ชักนำให้อภิตถูกดึงเข้าไปอยู่ในคดีฆาตกรรมปริศนา แต่หลังการค้นพบหลักฐานสำคัญที่กำลังจะทำให้อภิตเข้าใจในเงื่อนงำของคดีที่เกิดขึ้น อยู่ๆคนทั้งชุมชนก็ดูเหมือนจะหลงลืมเรื่องราวทั้งหมดไปเสียอย่างนั้น 

ไม่มีคดีฆาตกรรม ไม่มีสถานที่ลึกลับที่อภิตไปพบเข้าโดยบังเอิญ ไม่มีแม้กระทั่งความทรงจำร่วมกันระหว่างอภิตกับเพื่อนๆ หรือคนรู้จักในชุมชนนั้น แต่จู่ๆ “อติภพ” ก็กระชากผู้อ่านออกมาจากเหตุการณ์น่าตื่นเต้นสงสัยที่ว่า ไม่มีคดีฆาตกรรม ไม่มีสถานที่ปริศนา ไม่มีแม้กระทั่งความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์สะเทือนขวัญในหัวของอภิตเอง 

ตอนท้ายของนิยาย อติภพได้สอดแทรกบทปริศนาที่มีชื่อบทว่า “ระหว่างทาง” คั่นเข้ามาในเนื้อเรื่อง ตัวละครหลักในบทนี้เปิดพื้นที่ให้ผู้อ่านตีความว่าหมายถึงใคร? แต่ก็อาจจะไม่ได้หมายถึงตัวละครใดๆ ในเนื้อเรื่องเลยก็ได้ อันที่จริงแล้วเราแทบจะไม่สามารถระบุทั้งสถานที่ และเวลาของเหตุการณ์ในท้องเรื่องของบทนี้เลยด้วยซ้ำไป 

 ตัวละครลึกลับนี้ถูกเล่าผ่านสถานภาพของสรรพนามบุรุษที่ 1 ต่างจากการดำเนินเนื้อเรื่องโดยปกติของนิยายเรื่องนี้ที่ “อภิต” มีฐานะเป็นสรรพนามบุรุษที่ 3 เพราะถูกเล่าผ่าน “อติภพ” ในฐานะผู้เล่าคือสรรพนามบุรุษที่ 1ที่จริงแล้วยังมีอีกสองบทที่ชื่อ ข้อสังเกตจากผู้เขียน (1) และข้อสังเกตจากผู้เขียน (2) ที่เล่าเรื่องผ่านสรรพนามบุรุษที่ 1 แต่ทั้งสองบทนั้นอติภพกำลังเล่าเรื่องโดยสร้างตัวตนของ “อติภพ” เองเข้าไว้ในนิยายในฐานะของ “ผู้เขียน” ต่างจากตัวละครลึกลับซึ่งอติภพไม่ได้ทิ้งร่องรอยอะไรไว้ให้สืบสาวในฐานะของตัวละครในท้องเรื่องเลย 

ตัวละครลึกลับอีกคนหนึ่งก็คือ “โกเมศ อิศรา” ที่ “อภิต” พยายามสืบหา ผู้เขียนคือ “อติภพ” จงใจแทรกบทความ “ศิลปะคืออะไร: การต่อสู้เพื่อฐานที่มั่นทางวัฒนธรรม” ไว้ในตอนท้ายๆ ของเรื่อง อติภพอ้างว่าบทความเรื่องนี้ตีพิมพ์อยู่ใน วารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 ประจำเดือนตุลาคม 2519 (?) เดือนและปีเดียวกันกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 

ในฐานะนักประวัติศาสตร์ศิลปะ ผมไม่ค่อยคุ้นทั้งชื่อบทความ และชื่อของโกเมศ สักเท่าไหร่ทั้งๆ ที่บทความของโกเมศ กำลังพูดถึงเรื่องศิลปะ น่าแปลกใจที่บทความที่โต้แย้ง อ.ศิลป์ พีระศรี และแสดงถึงหัวคิดที่ก้าวหน้าสำหรับคนในยุคนั้นจะผ่านตานักประวัติศาสตร์ศิลปะหลายๆ คนไปได้(?) อย่างไรก็ตาม ชื่อของ โกเมศ อิสรา ยังสามารถค้นหาได้ผ่านเสิร์ช เอนจิ้น ทุกเครือข่าย แม้จะมีข้อมูลอยู่ไม่มากนักก็ตาม 

 อติภพจบนิยายของเขาด้วยบทที่ชื่อ “รอย” ซึ่งย้อนเรื่องไปถึงช่วงเวลาก่อนที่อภิตจะเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดเล็กน้อย บทนี้ทั้งบทไม่มีอะไรเป็น “ร่องรอย” ให้สืบสาวถึงคดีฆาตกรรมปริศนาตามท้องเรื่องนี้ได้เลย คดีฆาตกรรมจึงอาจจะเคยเกิดขึ้นจริงหรือไม่จริงก็ได้ ตัวบทที่ชวนให้งุนงงสงสัยนี้จึงไม่สามารถอ่านตามถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในตัวบทล้วนๆ แต่จะต้องพิจารณาถึงสิ่งที่ถูกอ้างอิงถึง ทั้งที่อ้างอิงกันซึ่งๆหน้า และที่อ้างอิงอย่างไม่เปิดเผยออกมาโต้งๆ 

 ผมคิดว่าตัวผู้เขียนคือ “อติภพ” สร้างพื้นที่ไว้ในนิยายเรื่องนี้อยู่หลายพื้นที่ พื้นที่ในที่นี้ ผมไม่ได้หมายถึงตัวพื้นที่อย่าง บ้านร้างผีสิง โรงพิมพ์ของจิตติน โพรงลับใต้ดิน หรือสถานที่อื่นๆที่อภิตเดินทางไปในนิยาย แต่เป็นพื้นที่ในหัวและรอบๆ ตัวของตัวละครต่างๆ ในกรณีนี้พื้นที่ที่สำคัญที่สุดคือพื้นที่ของ “อภิต” และ “อติภพ” ในฐานะตัวละครที่เป็น “คนเขียน” นิยายเรื่องนี้ขึ้น 

 (แม้ว่า “อติภพ” จะพยายามเบลอพื้นที่ทั้งสองส่วนนี้ให้เหลื่อมซ้อนกันอยู่ เช่น การใช้ห้องส่วนตัวเดียวกันในการพูดถึง “อภิต” ในบท รอย กับบันทึกหลังการเขียนซึ่งเป็นตัว “อติภพ” เอง ในที่นี้ อติภพในบันทึกหลังการเขียนจึงมีสถานภาพเป็นตัวละคร ไม่ใช่ตัวผู้เขียนจริงๆ) 

พื้นที่แรกคือตัวของ “อภิต” เอง “อติภพ” สร้างตัวละครนี้ขึ้นมาเพื่อดำเนินเรื่องเกือบทั้งหมด พื้นที่ของอภิตจึงเป็นพื้นที่กว้างๆ ที่ทำหน้าที่ “ตบตา” ผู้อ่านให้งุนงงไปกับตัวบท และนำเสนอสัญลักษณ์ที่มีอยู่อย่างลับๆ เราจะไม่สามารถเข้าใจข้อความที่ซ่อนอยู่ได้เลยถ้าเราอินไปกับภาพกว้างของตัวอภิตเสียแล้ว แต่ตัวอภิตเองก็เป็นศูนย์กลางของพื้นที่ใช้สำหรับร้อยรัดเรื่องราวต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน 

ในขณะที่พื้นที่อีกส่วนหนึ่ง คือพื้นที่ของตัวละครที่ชื่อ “อติภพ” ซึ่งผู้เขียนคือ “อติภพ” ได้สร้างขึ้น (ที่จริงแล้วไม่มีตอนไหนในท้องเรื่องเลยที่ ตัวละครที่เรียกตัวเองว่า “ผู้เขียน” จะบอกว่าตัวเองชื่อ “อติภพ” เว้นก็แต่เครดิตที่ปกหนังสือ และหน้าเครดิต) และแสดงมันออกมาอย่างชัดเจนในบทที่ชื่อ ข้อสังเกตของผู้เขียน (1) และ (2)ซึ่งที่จริงแล้วยังมีแทรกตามบทต่างๆ อยู่เกือบจะตลอดทุกบท 

พื้นที่นี้ส่วนใหญ่แล้ว “อติภพ” จะทำหน้าที่อธิบายสิ่งต่างๆ ที่ “อภิต” คิดและแสดงออก หรือบางครั้งก็เปิดพื้นที่ในการสร้างอำนาจในการประดิษฐ์หรือจินตนาการถึงตัวละครให้กับ “ผู้อ่าน” ด้วยการแสดงออกว่าแม้แต่ตัวผู้เขียนคือ “อติภพ” เองก็ต้อง “เดา” ว่าอภิตกำลังคิดอะไรอยู่ หรืออภิตแสดงออกอย่างนั้นเพราะอะไร? ทั้งๆที่คนที่เดาอยู่คือ “อติภพ” ที่เป็นตัวละคร ไม่ใช่ “อติภพ” ที่มีตัวตนจริงๆ 

อย่าลืมนะครับว่า เราติดตามนิยายเรื่องนี้ผ่านมุมมองของสรรพนามบุรุษที่ 1 คือ “อติภพ” ในฐานะตัวละคร “ผู้เขียน” ไม่เคยมีครั้งไหนที่ “อภิต” จะออกมาสื่อสารกับเราเองเลย อภิตเป็นเพียงคนที่ถูกพูดถึงเท่านั้น พล็อตเรื่องจึงกำลังเล่าซ้อนพล็อตกันอยู่ และสิ่งที่เรากำลังอ่านคือสิ่งที่ตัวละคร “อติภพ” ที่เรียกตัวเองว่า “ผู้เขียน” เป็นคนเล่าให้เราฟัง 

 ตัวละครที่ชื่อ “อติภพ” จึงกำลังใช้ “อภิต” เพื่อพูดถึงสิ่งที่ตัวเองต้องการจะสื่อถึง ด้วยอำนาจของความเป็น “ผู้เขียน” อย่างที่ “อภิต” ในฐานะตัวละครที่ซ้อนลงไปอีกพล็อตหนึ่งไม่สามารถโต้แย้งได้เท่านั้น 

 ไม่ต่างกันกับที่ในเนื้อเรื่องมีการพูดถึงข้อความสั้นๆที่มักพบขีดเขียนอยู่ตามผนังกำแพงอย่าง “กูรู้มึงต้องอ่าน” ว่าทุกคนไม่สามารถปฏิเสธที่จะอ่านมันได้ เพราะมันเป็นประโยคสั้นๆที่สุด อย่างชนิดที่กว่าจะรู้ตัวคุณก็ต้องอ่านมันแล้ว ซ้ำยังเป็นข้อความที่ทำลายช่องว่างชนชั้นให้เหลือแค่ “มึง” กับ “กู” และกูที่ว่าก็ไม่ปรากฏกายให้สามารถเถียงกลับได้เลยไม่ว่าในกรณีใดๆ 

 “อภิต” จึงไม่มีโอกาสที่จะเถียงตอบ “อติภพ” ได้เลย 

 ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดๆ ก็คือเรื่องของ “สิน สีสมุด” ผู้เขียนมอบหมายหน้าที่เล่าเรื่องของสินให้กับบุคคลสองคนคือ “อภิต” และ “อติภพ” ในฐานะตัวละครที่เป็นผู้เขียน สินจึงไม่เคยปรากฏกายในฐานะสรรพนามบุคคลที่ 1หรือ 2 เลย ไม่ต่างไปจากอภิต 

 “สิน” เป็นนักร้องยอดนิยมชาวกัมพูชา ที่มีตัวตนอยู่จริงๆ ตามท้องเรื่อง “อภิต” กำลังทำละครเพลงเกี่ยวกับอัตตชีวประวัติของสินอยู่ อภิตทำหน้าที่เล่าถึงกระบวนการทำงานในการทำละครดังกล่าว ไม่ว่าการค้นคว้า อภิตอาจจะใช้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์เพื่อครุ่นคิดถึงอารมณ์ความรู้สึกในการทำเพลง ทำละคร 

 แต่เมื่อ “อติภพ” พูดถึงสิน (โดยเฉพาะในบท ข้อสังเกตของผู้เขียน (2)) อติภพกำลังถอดรื้อข้อมูลให้เราเห็นว่า เสียงลือเสียงเล่าอ้างที่เกี่ยวกับสิน เป็นเพียงมายาคติและละครฉากใหญ่อันเป็นผลมาจากการต่อสู้ทางการเมืองในช่วงสงครามเย็นเท่านั้น และก็ไม่ต่างกันกับที่อติภพยืมปากอภิตพูดว่า เรื่องทหารญี่ปุ่นที่หลบซ่อนอยู่ในฟิลิปปินส์และยังไม่ยอมแพ้สงครามหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านพ้นไปเป็นสามสิบปีแล้วนั้น เป็นเพียงละครฉากใหญ่ที่รัฐบาลญี่ปุ่นใช้เพื่อสร้างกระแสความรักชาติ 

 “คอนลอน แนนแคโรว์” นักประพันธ์เพลงอัจฉริยะ เป็นอีกคนที่ควรจะกล่าวถึง อภิตแค่ครุ่นคิดถึงแนนแคโรว์ในฐานะคนทำงานเพลง เรื่องของแนนแคโรล์ถูกตัวละครที่ชื่ออติภพบรรยายถึงความเกี่ยวข้องกับการเมือง การถูกเนรเทศออกนอกอเมริกาด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ 

 ทั้ง “สิน” และ “แนนแคโรว์” ก็ไม่ต่างจาก “โกเมศ อิศรา” ทั้งสามคนเป็นบุคคล ที่อยู่ในยุคของการต่อสู้ระหว่าง ประชาธิปไตย เผด็จการ และคอมมิวนิสม์ เพียงแต่แตกต่างกันไปในรายละเอียดและอุดมการณ์ของแต่ละคน แต่ “โกเมศ” ก็ยังเป็นตัวละครที่เลือนรางที่สุดในนิยายเรื่องนี้ เรียกได้ว่าเราไม่มีโอกาสได้เห็นโกเมศปรากฏตัวออกมาเลย ที่สำคัญคือมีเพียงเฉพาะ “อภิต” ที่พูดถึงโกเมศ ตัวละครที่ชื่อ “อติภพ” ไม่เคยพูดถึงโกเมศเลย 

 อติภพจะหลบซ่อนตัวเองไว้ทางด้านหลังของอภิตอยู่เสมอเมื่อพูดถึงโกเมศ นี่ไม่ต่างจากบทเจ้าปัญหาอย่าง ระหว่างทาง หรือบทความของโกเมศ ที่อติภพหายไปเฉยๆ แต่ยังมีอีกหลายต่อหลายตอนที่อติภพจะไม่ปรากฏกายออกมาอธิบาย หรือคาดเดาเอาว่าอภิตคิดอย่างไร เช่นความฝันของอภิตที่เห็น ดอน กิโฆเต้ มาปรากฏกายอยู่ที่ปลายเตียง แล้วปลุกแม่สาวข้างๆ มาถามว่าเธอเห็นรึเปล่า? 

 การหายตัวไปของปัญญาชนอย่าง “โกเมศ อิศรา” ในช่วงปี พ.ศ.2519 โดยที่แทบจะไม่มีใครในชุมชนจำเขาได้เลย ไม่ต่างไปจากการที่ผู้คนต่างกันพาลืมเหตุการณ์ฆาตกรรมที่เกิดขึ้น โดยมีเพียงอภิตที่พยายามบอกเล่าและค้นหาจนกลายเป็นเหมือนคนบ้า ความพยายามของอภิตไม่ต่างอะไรไปจากคลื่นวิทยุ Arecibo ซึ่งบรรจุเรื่องราวของโลกมนุษย์ส่งไปยังดาวคลัสเตอร์ M13 ทั้งที่ไม่มีทางที่ใครจะได้รับข้อความเพราะเป็นดาวที่แตกสลายไปแล้ว ตามข้อมูลที่เล่าอยู่ในนิยาย 

 สารของอภิตไม่มีทางสื่อถึงใครในเมื่อเป็นสารที่ไม่เข้าพวกกับคนส่วนใหญ่ อภิตเป็นเหมือนด้านที่ย้อนกลับของคลื่นวิทยุ Arecibo อภิตเป็นคนที่ตาย หรือสูญหายไปแล้วเหมือนโกเมศ แต่กลับพยายามส่งสารไปยังคนที่ยังมีชีวิตอยู่ 

 สุดท้ายอภิตเป็นคนคิดขึ้นมาเองว่า “คลื่นวิทยุ Arecibo” เป็นคู่ตรงข้ามกับประโยคสั้นๆ ที่ว่า “กูรู้มึงต้องอ่าน” เพราะในขณะที่คลื่ดังกล่าวไม่ต้องการสื่อสารกับใคร แต่ประโยคสั้นกะทัดรัดนั้นกลับเรียกร้องที่จะสื่อสารกับทุกคน เพราะ “มึง” ไม่ได้หมายถึงใครเป็นการเฉพาะเจาะจง และก็เป็นอภิตที่สุดท้ายต้องจำนนกับเสียงส่วนใหญ่ที่สื่อสารให้ “มึงต้องอ่าน” นั้น จนทำให้บทกวีแสนงดงามของโกเมศที่อภิตจำได้ไม่ลืมเพียงสองบาทต้น กลายเป็นบทกลอนชาตินิยมดาดๆ ของพวกเผด็จการ 

 อติภพเล่าให้ผมฟังว่าเดิมทีเขาตั้งชื่อนิยายเรื่องนี้ว่า “รอย” แต่ภายหลังต้องเปลี่ยนมาเป็น “ประวัติศาสตร์ของความเงียบ” ด้วยเหตุผลทางเทคนิคบางประการ ผมชอบชื่อ รอย มากกว่า เพราะ “ประวัติศาสตร์” เป็นผลจาก “จินตกรรม” ของคนในยุคปัจจุบันที่มีถึงอดีต ไม่ใช่ตัวของ “อดีต” เอง ประวัติศาสตร์จึงเป็นสิ่งที่คนในยุคปัจจุบันสร้างขึ้น และมักจะถูกสร้างโดยผู้ชนะ หรือบรรดาผู้มีอำนาจทั้งหลาย และไม่ว่าพวกเขาจะพยายามสร้างประวัติศาสตร์ให้มัน “เงียบ” สักเท่าไร มันก็มักจะมี “รอย” ปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ 




 

Create Date : 19 มิถุนายน 2555   
Last Update : 23 สิงหาคม 2557 18:02:08 น.   
Counter : 4747 Pageviews.  

โปรดจงโอบกอดฉันเอาไว้ “ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย แบบไทยๆ “




โปรดจงโอบกอดฉันเอาไว้  ปรีดี หงษ์ต้น  เขียน
แพรวสำนักพิมพ์ พิมพ์ 


นานแล้วเหมือนกันนะ ที่ไม่ได้อ่่านหนังสือแบบที่พออ่านจบแล้วพบว่าหนังสือเล่มนี้น่าสนใจมากๆ
หลังๆ มานี่ความอดทนต่ำ สมาธิสั้น การเล่นเฟชบุ้คและทวิตเตอร์ รวมทั้งโซเชียลมีเดียทั้งหลายทำให้สมาธิที่มีต่อการอ่านหนังสือน้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัด

แต่หนังสือเล่มนี้ดึงเรากลับมาได้ แม้นในช่วงแรก เกือบจะพบว่าไม่ชอบหนังสือเล่มนี้ เพราะคิดว่าตัวละครเอกในเรื่องคือผู้หญิง แล้วนักเขียนชายจะไปเล่ารายละเอียดของผู้หญิงออกมาได้อย่างไร แต่อ่านไปสักพัก ตัวละครเด่นๆ ในเรื่องก็ออกมาเล่าเรื่องของเขา หลังปกของหนังสือเล่มนี้บอกว่า “เรื่องราวที่เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ.2547 หนุ่มสาวสามคนโบยบินหาความจริงและความรัก ในยุคที่สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล และเต็มไปด้วยความจริงอันย้อนแย้ง และความรักอันหลอกหลวง “

ทำไมถึงชอบหนังสือเล่มนี้ ข้อแรกอาจเป็นเพราะฉากในหนังสือเล่มนี้คือสิ่งที่รายล้อมเราอยู่ตอนนี้ สยามสแควร์ เจอเวนิว ทองหล่อ ฯลฯ เมืองหลวง ศูนย์กลางความเจริญ เรื่องอันเว้าแหว่งของหนุ่มสาวชาวเมืองหลวง (ถ้าจะใช้สำนวนมูราคามิ) จริงๆ แล้วเราอาจจะบอกว่า เรื่องนี้มันคือ ด้วยรัก ความตายและหัวใจสลาย ฉบับเมืองไทยก็ได้นะ

เปล่า ไม่ได้หมายความว่าหนังสือเล่มนี้ นักเขียนใหม่คนนี้มีสำนวนภาษาเหมือนมูราคามิ ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย ปรีดีมีภาษาของเขาเอง มีบริบททางสังคมที่รายล้อมตัวละครในหนังสือเล่มนี้ในแบบของเขาเอง เพียงแต่ธีมของหนังสือ “โปรดจงโอบกอดฉันเอาไว้ “ทำให้คิดถึงไปหนังสือเล่มดังของมูราคามิเล่มนั้นได้ (แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าฉากเซ็กซ์ในหนังสือเล่มนี้มันมูราคามิ๊ มูราคามิ)

อย่างที่บอกไปข้างต้น จุดเด่นอย่างมากของหนังสือเล่มนี้คือบริบททางสังคมที่รายล่้อมตัวละครอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคม และเศรษฐกิจ การเมือง ของตัวละคร ฯลน บริบทอันแข็งแรงนี่คือจุดเด่นของนวนิฟังดูเหมือนนวนิยายหนักๆ เล่มหนึ่ง ใช่มันก็หนักอึ้งพอดู แต่มันไมไ่ด้ขาดอรรถรสของนวนิยายที่จะพึงมี มันเป็นเรื่องเล่าที่สนุก ที่แสนดาร์ก ถ้าคุณชอบตัวละครมืดหม่น คุณจะหลงรักตัวละครทั้งหลายของปรีดี

เขียนมากก็จะสปอยล์มาก เอาเป็นว่าถ้ากำลังมองหาความสดใหม่ พลังของวัยหนุ่มที่มีต่อการเล่าเรื่อง ตัวละครของปรีดี “เยอะ” มากในรายละเอียด เยอะในที่นี้หมายถึง ปรีดีไม่รีรอที่จะใส่บาดแผลของสังคมไปในตัวละครของเขา ตัวละครหลัก ตัวละครประกอบเล็กๆ พวกเขาล้วนแต่มีบาดแผล
โปรดจงโอบกอดฉันเอาไว้ จึงอาจจะไม่ใช่อะไรอื่น แต่มันอาจหมายถึงวรรณกรรมแห่งบาดแผล

บาดแผลทั้งหลายที่หนุ่มสาวกำลังเผชิญ ไม่ว่าพวกเขาหรือพวกเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม



ป.ล. เขียนยากมาก ที่จะไม่ให้สปอยล์เรื่อง ควรจะะเขียนตอนอ่านจบใหม่ๆ พอมีงานอื่นมาขวาง ความรู้สึกสดใหม่ทีไ่ด้จากหนังสือเล่มนี้ มันเขียนไม่ได้เสียแล้ว




 

Create Date : 06 มิถุนายน 2555   
Last Update : 23 สิงหาคม 2557 18:02:34 น.   
Counter : 4015 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  

grappa
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




New Comments
[Add grappa's blog to your web]