 |
|
- - -มหา'ลัยเเหมืองแร่ VS เหมืองแร่ : เกียรติยศตายไปแล้วจริงหรือ - -
 
เขียนถึงหนังสือและหนังเรื่องนี้ เพื่อต้อนรับหนังที่จะเข้าฉายจริง เมื่อวาน (26 พฤษภาคม ) ชอบหนังเรื่องนี้พอสมควร มากว่าเรื่องแรกของพี่เก้ง (ขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ) วันสองวันนี้จึงไปรื้อหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาจากชั้นหนังสือ สารภาพว่าไม่เคยอ่านหนังสือของคุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ มาก่อน ทั้งๆที่ได้ยินกิตติศัพท์มานานนักหนาแล้ว ไม่ต้องพูดว่ามีการทำวิจัย บอกว่าหนังสือเล่มนี่เป็นหนังสือ 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน แต่สิ่งที่ทำให้อยากอ่านหนังสือเล่มนี้มากคือ เสียงของพระเอกที่เป็นคนดำเนินเรื่อง และทุกประโยคที่พระเอกพูดถึงล้วนยกมาจากหนังสือเล่มนี้ทั้งสิ้น ทำให้อยากอ่าน " เหมืองแร่" เหลือเกิน ทำไมสำนวนคุณลุงอาจินต์ ช่างเท่อย่างนี้หนอ
คำนำของสำนักพิมพ์มติชนขึ้นต้นไว้ดังนี้ Go west , Go west ... ไปบุกไร่ไถนากันเถิด ไปบุกเบิกแผ่นดินใหม่ ไปเสี่ยงชะตา ไปให้ฟ้ากำหนดชีวิตเราเถิด นั่นละ อาจินต์ ปัญจพรรค์ในปี 2493 แต่เขาไม่ได้ Go west หรือบุกเบิกอะไรที่ไหนหรอก หากแต่ Go south โกทูพังงา โกทูเหมืองแร่ อันอุดมด้วยป่าแดด ป่าฝน และป่าทราย
ส่วนคำนำของผู้เขียนนั้นบอกว่า ...อันว่าผมอาจินต์ ปัญจพรรค์ ในวัย 77 ปีเห็นว่าการต่อสู้ของชีวิตมีทุคยุค ทุคสมัย คนเราสู้กับสิ่งแวดล้อม พลางสู้กับสังขารของตัวเอง ..
เด็กหนุ่มผู้รีไทร์ออกจากมหาวิทยาลัย ยากจน ไร้งาน ท้อแท้ ใกล้จะอกหัก(และต่อมาก็อกหัก ) และแหย ได้ระเห็จออกไปสู่สภาพแวดล้อมที่ ภูเขาเปียกจนละลาย ใบไม้โงหัวไม่ขึ้น ดินเละเป็นโคลน ...หนาวที่นั่นเป็นหนาวโศก และเงียบขรึม ..ถึงแดดร้อนเราก็ต้องเดินตากมันไป ตากมันไปจนในที่สุดมันก็ละอายแก่ใจแล้วจึงค่อยๆ หุบเข้าก้อนเมฆฝน...เอาอีกแล้ว ฝนตกอีกแล้ว ไปทำงานในเหมืองที่ห่างไกลจากกรุงเทพถิ่นที่เขาคุ้นเคย เขาไปเพื่อจะพบว่า เขาสามารถเรียนรู้งานและชีวิตได้จาก ยามของเหมือง คนงานระดับล่างในเหมือง และเรียนรู้งานจากอีกหลายคนที่ไม่แม้แต่จะเคยเหยียบย่างเข้าสู่มหาวิทยาลัยหรือกรุงเทพมหานคร
แรกๆ เขาทำงานได้ค่าแรงเท่ากับกรรรมกรคือได้ค่าแรงวันละหกบาท แต่ต่อมาหลังจากพิสูจน์ตัวเองได้แล้ว เขาก็ได้เลื่อนขั้นขึ้นเป็นคนสำรวจทำแผนที่ งานที่เขาต้องพิสูจน์แก่ใจตนเองว่าไม่ได้ทำให้เป็นกาฝากของเหมืองแร่แห่งนี้
ถามตัวเองว่าทำไมชอบหนังเรื่องนี้นักหนา ทั้งๆ มันก็เป็นหนังที่แสดงตัวเองง่าย ๆ ไม่ได้สลับซับซ้อน อะไรมากมาย ดำเนินเรื่องไปตามลำดับเวลา ดูง่ายแสนง่ายซ้ำหนังก็ไม่ได้ทำให้เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนการมองโลกแต่อย่างใด มันเป็นหนังธรรมดาๆ และเรียบง่ายขนาดนั้น
ตอบตัวเองได้ทันทีทันใด เพราะหนังมันแสดงถึง อุดมคติบางอย่างที่ขาดหายไปจากชีวิตคนส่วนใหญ่นานแล้ว ผู้กำกับอธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจในบทสัมภาษณ์จากนิตยสาร GM " ความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องนี้มันอยู่ในใจมานาน อย่างเรื่องที่เจอน้องๆ พูดกันแต่เรื่องงเดือน แทนที่จะพูดเรื่องงาน หรือเรื่องที่ว่า เกียรติยศ มันตายไปแล้ว ไม่มีอยู่ในพจนานุกรมของคนรุ่นเราอีกแล้ว การพิสูจน์ตัวเองด้วยการทำงานกลายเป็นเรื่องเชย เราพิสูจน์ตัวเองด้วยข้าวของเครื่องใช้ ภายนอกแทนดีกว่า เผอิญว่าเหมืองแร่มันสนุกและมันพูดถึงเรื่องนี้ได้อย่างแนบเนียน "
ตัวละครในเรื่องที่เราพบเห็นใน เหมืองแร่ จึงเป็นตัวละครที่ฆ่า ได้ แต่หยามไม่ได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นพี่จอน ที่ยอมลาออก ดีกว่าทนทำงานอยู่ผู้จัดการเหมืองคนใหม่(ซึ่งเป็นฝรั่ง ) ที่ไม่รู้งานเลย พี่ก้องที่ไม่เคยเรียนมหาวิทยาลัย แต่สอนงานและสอนชีวิตให้รุ่นน้องที่เป็นนักศึกษาอย่างจัง ตาจวน ยามแก่ๆ ที่ไม่ยอม "เก็บความเกลียดเป็นที่ระลึก " และผู้คนที่ "แมนๆ " อีกหลายชีวิต การใช้ชีวิตแบบ แบบนี้เอง ที่นำพาความอิ่มเอมมาสู่ชีวิตอีกครั้งนึง
มันได้ทำให้ คำว่า เกียรติยศ ถูกสะกดขึ้นอีกครั้งในหัวของคนดู และคนอ่านหนังสือ
และ มันได้ทำให้ คนที่ใช้ชีวิตอยู่แต่ในร่มและหน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างเจ้าของบล็อค อยากเดินออกไปสู่โลกภายนอก ออกจากโรงหนังที่มีแต่ความมืดมิด
ออกไปตั้งคำถามต่อตัวเองอย่างจริงจังว่า อะไรกัน หนอ ที่เป็น "Sunshine of my Life " และ ทำให้มันเป็นแสงสว่างแห่งชีวิตตลอดไปอย่างจริงจังเสียที
หมายเหตุ เพลงประกอบ หนังเรื่องนี้น่ารัก และสมเหตุสมผลเสียเหลือเกิน ดินแดนที่มีฝนตลอดปี อย่างในเหมืองแร่ห่างไกลในป่าทึบ วันไหนที่มีแดด จึงเป็นวันที่"พิเศษ" อย่างแท้จริง
ขอบคุณ
นิตยสาร GM ที่ชวนไปดูหนังดี ๆ สำนักพิมพ์มติชน ที่มีหนังสือดีๆ มาให้อ่านบ่อยครั้ง
Create Date : 27 พฤษภาคม 2548 |
| |
|
Last Update : 31 สิงหาคม 2557 17:27:05 น. |
| |
Counter : 4520 Pageviews. |
| |
|
|
|
- - - Sputnik Sweetheart - - - ฮารูกิ มูราคามิ - - GOD องค์ใหม่แห่งโลกโพสท์โมเดิร์น - - -

รักเร้นในโลกคู่ขนาน Sputnik Sweetherart
ฮารูกิ มูราคามิ เขียน นพดล เวชสวัสดิ์ แปล 
ชวนคุยเรื่องมูราคามิอีกครั้ง ใครอยากคุยเรื่องหนังสือเล่มไหนของมูราคามิตามสบายเลยค่ะ ขอเริ่มด้วยเล่มนี้แล้วกัน รักเร้นในโลกคู่ขนาน - - - Sputnik Sweetheart - -
หนังสือเล่มบางๆ ที่มีตัวละครหลักป็น ผู้หญิงสองคนคือ มิว สุมิเระ และผู้ชายอีกหนึ่งคน มูราคามิให้เรารู้จักเขาในนามว่า ผม สุมิเระสาวน้อยหัวกระเซิงอายุยี่สิบสองปี สูบบุหรี่จัด ไม่สนใจทักษะเชิงสังคม ความมุ่งมั่นประการเดียวในชีวิตเธอคือการเขียนนิยาย สุมิเระหลงรักมิวหญิงสาวอีกคนที่อายุมากกว่าเธอถึง 17 ปี มิวเป็นผู้หญิงทีเพียบพร้อมในทั้งวัยวุฒิ ทรัพย์สมบัติเงินทอง ความงาม และรสนิยมการใช้ชีวิต แต่มีเหตุการณ์ที่เหมือนจุดหักเหครั้งสำคัญในชีวิตมิว ที่ทำให้เธอกลายเป็นผู้หญิงผมหงอกขาวทั้งศรีษะตั้งแต่อายุ 25 ปี (บ้าดีไหม ) สุมิเระหลงรักมิวอย่างสุดจิตสุดใจ
ผม (ในเรื่อง) เป็นเพื่อนคนเดียวของสุมิเระ ผมกับสุมิเระ พูดคุยกันได้ในทุกเรื่อง สุมิเระสามารถเรียกหา ได้ในทุกเวลา (ย้ำว่าทุกเวลา ) ที่เธอต้องการ ผมหลงรักสุมิเระอย่างสุดจิตสุดใจเช่นเดียวกัน ฟังดูยุ่งยากดีไหมผู้หญิงสอง ผู้ชายหนึ่งคนทุกคนต่างพัวพันกันเพราะความรัก
นี่เป็นหนังสืออีกเล่ม(ในจำนวนไม่กี่เล่มนัก) ที่สามารถอ่านรวดเดียวจบ อ่านแบบจมหายไปในหนังสือของเขา พร้อมกับอาการหมุนวนของหัวสมอง โดนสะกดด้วยเวทมนตร์ของเขาอย่างจัง อ่านจบมีอาการนิ่ง อึ้ง ไม่อยากพูดจากับใครไปชั่วขณะ (ผิดกับเมื่ออ่านเดอะรีดเดอร์ ตอนนั้นอยากจะบอกใครต่อใครว่าทำไมหนังสือมันเศร้าอย่างนี้ (วะ) ) คำถามหลายคำถามระดมใส่สมอง ความรัก ความอ้างว้าง ความเปล่าดาย ความซ้ำซาก ชนชั้นทางสังคม ฯลฯ มีอะไรให้เราคว้าไว้ได้มั่งหนอ ทุกอย่างเปล่าดาย ทุกอย่างล้วนจับต้องไม่ได้ (โอ นี่เรากลายเป็นคนในโลกโพสโมเดิร์น ไปแล้วหรือเนี่ยะ )
เคยคุยกับเพื่อนคนนึง บอกว่าเขาใจเข้าความรู้สึกของเคนจิ (พระเอกของ เรื่องรักน้อยนิดมหาศาล) ที่อยู่มาวันนึงก็อยากตาย โดยที่ความอยากตายนั้นไม่ได้เกิดมาจากความผิดหวังในชีวิต มีปัญหาหนี้สินรุงรัง พ่อแม่ไม่รัก แฟนเลิก ไม่ใช่เหตุผลทั้งหลายเหล่านั้น เพียงแต่อยู่มาวันนึงก็คิดถึงความตาย แค่นั้นเอง ตอนที่อ่านหนังสือเล่มนี้จบก็ คิดถึงเพิ่อนคนนั้นขึ้นมาจับใจ (แต่ขี้กียจคุยกับมัน)
คัดเอาพารากราฟใกล้จบของหนังสือเล่มนี้ ที่รู้สึกว่า "จี๊ด "เหลือเกิน
นั่นละ วิถีที่เราดำเนินชีวิต ไม่ว่าความสูญเสียจะสาหัสหรือเจ็บปวดสักเท่าใด ไม่ว่าสิ่งสำคัญที่สุดจะพรากไปจากชีวิตของเรา บางคราวก็ถูกยุดยื้อกระชากไปจากมือ เราอาจเปลี่ยนเป็นอีกคนที่ยังสวมหน้ากากเค้าเดิม ชีวิตก็ยังดำเนินต่อไป ...ในความเงียบงัน เราคืบเคลื่อนเข้ามาใกล้ขอบเวลาที่จัดสรรไว้ให้หนึ่งชีวิต โบกมืออำลาอดีตที่ลาลับที่ทิ้งไว้เบื้องหลัง ทำเช่นนี้ซ้ำซาก ทำซ้ำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน หว่านโปรยปรายความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวไว้เป็นสายเส้นทางหยักคดโค้ง ...
So that's how we live our lives. No matter how deep and fatal the loss, no matter how important the thing that's stolen from us - that's snatched right out of our hands - even if we are left completely changed people with only the outer layer of skin from before, we continue to play out our lives this way, in silence. We draw ever nearer to our alloted span of time, bidding it farewell as it trails off behind. Repeating, often adoritly, the endless deeds of the eveyday. Leaving behind a feeling of immeasurable emptiness
โค้ดภาษาอังกฤษข้างบนนำมาจากที่คุณ O แห่งเว็บเฟย์ลิซิตี้โค้ดไว้ ภาษาอังกฤษเพราะดี เลยเอามาให้อ่านกัน ลิงค์แนะนำหนังสือของคุณ O อยู่ข้างล่างแล้วค่ะ
ถ้าคุณอยากเร้นหายไปจากโลกนี้สักพักนึง หนังสือเล่มนี้เหมาะกับคุณค่ะ

หนังสือเล่มล่าสุดของมูราคามิ Kafka on the shore ที่เมืองไทยหนังสือเล่มนี้ฉบับภาษาอังกฤษ มีขายแล้วแล้ว ! o_o ! รีวิวได้อย่างน่าสนใจที่นี่ //www.bloggang.com/viewblog.php?id=ioup&date=31-03-2005&group=4&blog=1
คุณ O แห่งเว็บเฟย์ลิซิตี้ แนะนำหนังสือเล่มนี้ไว้ด้วยเข้าไปอ่านได้ที่นี่ //www.faylicity.com/book/book1/sputnik.html
เท่าที่อ่านงานมูราคามิมาสี่-ห้าเล่ม ชอบเล่มนี้ที่สุดค่ะ แกะรอยแกะดาว 
หมายเหตุ บล็อกนี่พับบลิชครั้งแรกเมื่อ 10 พ.ค. 2548 เจ้าของบล็อกกลับมาอ่านอีกครั้งเมื่อต้นปี 2552 พยว่ายังมีคนเข้ามาตอบคอมเม้นต์อยู่เรื่อยๆ เลยมาอัพเดทเพิ่มเติมว่า ตอนนี้เขียนถึงหนังสือมูราคามิเพิ่มขึ้นแล้วค่ะ เข้าไปอ่านได้ที่นี่
-
ด้วยรัก ความตายและหัวใจสลาย และ Norwegian Wood ของ จอห์น เลนนอน //www.bloggang.com/mainblog.php?id=a-wild-sheep-chase&month=21-11-2006&group=1&gblog=36
- คาฟก้า วิฬาร์ นาคาตะ การเดินทางข้ามสองโลก //www.bloggang.com/mainblog.php?id=a-wild-sheep-chase&month=02-05-2006&group=1&gblog=29
Create Date : 10 พฤษภาคม 2548 |
| |
|
Last Update : 31 สิงหาคม 2557 16:30:42 น. |
| |
Counter : 8937 Pageviews. |
| |
|
|
|
ฉัน-บ้า-กาม : ศาลาคนเศร้าฉบับ คำ ผกา
ฉัน-บ้า-กาม คำ ผกา เขียน

ความเรียงร่วมสมัย หยอกเอินและหยิกกัดความสัมพันธ์หญิง-ชายของคอลัมนิสต์สาวเปรี้ยวและร้อนแรงแห่งปี คำ ผกา
วันนี้ได้ฤกษ์เขียนถึงนักเขียนที่ชอบเสียที หลังจากจดจ้องๆ มานาน ไม่ใช่อะไรหรอกค่ะ เวลาที่พูดถึงสิ่งที่ชอบมากๆ มันมักจะมีอาการพูดไม่ออกบอกไม่ถูกอยู่พักใหญ่
เชื่อว่าหลายๆ คนคงรู้จักนักเขียนคนนี้มาพอสมควรแล้ว คงไม่ต้องพูดถึงกรณีที่ถ่ายนู้ดลงนิตยสารผู้ชายเล่มนึงไป บอกคร่าวๆไว้ ณ ที่นี่ว่าเธอเป็นนักเขียนที่ใช้นามปากกาสองชื่อคือ ฮิมิโตะ ณ เกียวโต และคำผกา สำหรับฉัน-บ้า-กาม เล่มนี้เธอใช้นามปากกาว่าคำ ผกา
คนที่ซื้อหนังสือเล่มนี้เพราะชื่อหนังสือและคาดว่าจะได้อ่านบทบรรยายถึงฉากเซ็กซ์อันเร่าร้อน หรือคู่มือสร้างความชำนาญเรื่องบนเตียงอาจจะผิดหวัง--แต่ช้าก่อนเธอไม่ได้ตั้งชื่อหนังสือมาหลอกล่อผู้อ่านเพื่อกลยุทธ์ทางการขายแต่อย่างใด เพราะชื่อหนังสือฉัน-บ้า-กาม มีเหตุรองรับอย่างแข็งแรงถึงที่มาของชื่อหนังสือเล่มนี้ โปรดสังเกตว่าคำมันแยกกันหมด ฉัน (Me) คือตัวของเธอ คำ ผกา ผู้มีความคิด บ้า (madness) ไม่เหมือนชาวบ้านเท่าไรนัก กาม (lust) ที่เธอพูดถึงในหนังสือเล่มนี้มีความหมายกว้างกว่าความต้องการทางเพศ แต่มันครอบคลุมถึงความปรารถนา ความทะเยอทะยาน(ต่อความคิดบางประการ ซึ่งอันนี้โยงได้กับการคิดไม่เหมือนใครของเธอได้ดี )
หนังสือเล่มนี้เป็นการคัดสรรความเรียงจากคอลัมน์Sexter จากหนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์ คิดดูเถิดมันน่าจะเป็นความเรียงที่ ตลาดล่าง ขนาดไหนคัดสรรมาจากหนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์ หนังสือพิมพ์ที่ขายข่าวคาวๆ ของดาราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เธอเคยพูดเล่นๆ ว่าความเรียงพวกนี้เหมือน ศาลาคนเศร้า เพราะมันรวบรวมเรื่องเศร้า รักขม อกหัก รักไม่ได้อย่างใจ รักคนมีเจ้าของ รักผัวชาวบ้าน รวมปัญหาว่าด้วยความรักของเธอและปัญหาความรักที่เพื่อนๆ ของเธอชอบมาเล่าให้ฟัง
แล้ว ทำไมเธอไม่ตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า ฉัน-บ้า-ความรัก ล่ะ
โอว์ คำตอบแทบจะทำวิทยานิพนธ์ได้เล่มนึงทีเดียวเชียว
ลองมาดูคำตอบของเธอจากคำนำหนังสือของเธอกันค่ะ
เธอเกริ่นๆ ถึง ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและการแต่งงาน และสงสัยว่าความรักและการแต่งงานถูกทำให้เป็นเรื่องเดียวกันตั้งแต่เมื่อไรในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เธอไปพบคำตอบจากหนังสือที่กำลังอ่านอยู่เล่มนึงมีชื่อว่า Histry of wife และพบว่าความรักเข้ามาเทคโอเวอร์ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตคู่และการแต่งงานตั้งแต่หลังศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา ก่อนหน้านั้น ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ได้แต่งงานเพราะความรัก แต่แต่งงานด้วยด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างตระกูล หรือเพียงเพื่อจะได้เหมือนผู้หญิงคนอื่นๆ ฯลฯ (ที่จริงปัจจุบันนี้ผู้หญิงแต่งงานก็ด้วยเหตุผลเหล่านี้ก็ยังมีอยู่มาก)
"...เราอ่านเรื่องความสูงส่งและศักดิ์ศิทธิ์ของความรักมาก็มาก ฟังเพลงรัก อ่านนิยายรัก อ่านบทกวีที่พรรณาเรื่องความรัก ซาบซึ้งกับการแต่งงานของคู่ดาราหลายๆ คู่ อิจฉาก้องกับหมิว อ่านเรื่องแหวนแต่งงานคาร์เทียร์ของคู่รักไฮโซด้วยความเคลิบเคลิ้ม เราไม่ทันรู้ตัวว่านี่คือกระบวนการหนึ่งที่ทำให้ความรักที่แสนใหม่แสนแปลกหน้าค่อยๆ กลายมาเป็นความจริง และเป็นส่วนสำคัญที่สุดในชีวิตที่เราไม่พึงจะขาดมัน
ถ้า Histry of Wife อยากรู้ว่าความรักเข้ามาเทคโอเวอร์ ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตคู่และคอรบครัวตั้งแต่เมื่อไรในประวัติศาสตร์ ฉันเองอยากรู้ว่าคนเรารับมือกับความแปลกปลอมและกำกวมของความรักอย่างไร เราวางกามารมณ์ไว้ตรงไหนของความรัก และเราทำให้ความรักลงตัวกับสถานะทางเศรษฐกิจ สังคม ชนชั้น ไปจนถึงสิ่งที่เรียกว่าความมั่นคงในอนาคตอย่างไร ไปจนถึงเราต่างพยศกับความรักนั้นอย่างไรบ้าง..
...และเมื่อความรักล่องลอย เหลวไหลได้ถึงเพียงนี้ ฉันจึงไม่ลังเลที่จะตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า ฉัน-บ้า-กามแทนที่จะเป็นฉัน-บ้า-ความรัก " (บางตอนจากคำนำหนังสือเล่มนี้ )
นี่ขนาดแค่คำนำนะคะ ข้างในยังเต็มไปด้วยความเรียงที่มันส์มากๆ อย่างเรื่อง โสด, พรหมจรรย์ ,ยี้ เซ็กซ์แอนด์เดอะซิตี้ (เธอไม่ชอบซีรี่ย์ที่ครองใจสาวๆ เรื่องนี้เอามากๆ ) เซ็กซ์ฟรีๆ ไม่มีในโลก (สำหรับคนที่ชอบคำว่าฟรีเซ็กซ์ น่าอ่านความเรียงชิ้นนี้ค่ะ ) หรือ อ๊ะ อย่าตกใจกับชื่อความเรียงอันนี้ ฉันไม่อยากได้ผัวคุณ นอกจากนี้ยังมีความเรียงชื่อง่ายๆ อย่าง อกหัก บทเรียนรัก ฯลฯ
ฟังดูเป็นศาลาคนเศร้าไหมคะ แต่เตือนกันไว้ก่อนว่ามันเป็นศาลาคนเศร้าฉบับคำ ผกา เพราะฉะนั้นมันอาจจะเปลี่ยนความคิดของคุณเกี่ยวกับความรัก ความสัมพันธ์ ชีวิตคู่ การแต่งงาน ของคุณเสียใหม่หมด และเมื่อคุณอ่านหนังสือเล่มนี้จบ มันอาจจะทำให้คุณเริ่มต้นต่อการตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวคุณ ไม่ว่าจะเป็นในระดับสิ่งเล็กๆ รอบตัว ไปจนถึงสิ่งใหญ่ๆ ที่เรียกว่ารัฐชาติ
อ้าว เริ่มต้นด้วยความรักแต่กลับจบลงด้วยเรื่องการเมือง แต่หนังสือของคำผกามักจะเป็นแบบนี้ค่ะ ลองอ่านอันนี้ดู
...อันที่จริงไม่ว่ารัฐสมัยใหม่ของที่ไหน ๆ ในโลกก็ไม่ชอบให้พลเมืองมีเซ็กซ์ทั้งนั้น เพราะเชื่อกันว่า คนเป็นกำลังผลิตที่สำคัญของประเทศชาติ หากประชากรของประเทศมัวแต่หมกมุ่นเอาแต่หาความสำราญในการเล่นจ้ำจี้ ประเทศชาติก็เกรงว่าผู้คนจะไม่เป็นอันทำมาหากิน ผลผลิตโดยรวมของประเทศก็จะตกต่ำ รายได้และภาษีที่รัฐจัดเก็บจากประชากรก็จะหดหายลงไปด้วย (บางตอนจากความเรียงเรื่องความเสื่อม )
เห็นไหมว่าเธอโยงเรื่องเซ็กซ์เข้ากับการเมืองและเศรษฐกิจได้เสมอ
แต่ไม่ได้หมายความอีกเช่นกันว่าหนังสือเล่มนี้จะอ่านไม่สนุก คุณจะอ่านแบบ เอามันส์ จากหนังสือเล่มนี้ด้วยก็ได้ เพราะความเรียงส่วนใหญ่มีทีท่าราวกับว่าเรากำลังอ่านลีลาของเพื่อนผู้หญิงกำลังปลอบเพื่อนผู้หญิงผู้กำลังอกหักช้ำรัก หรือบางชิ้นก็เหมือนการเม้าส์อย่างสนุกสนานเรื่องความรักของผู้หญิงคนนึง เรียกได้ว่าปนๆ กันไปทั้งเรื่อง ความรัก ความเกลียด ความเศร้า หึงหวง เซ็กซ์ เศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ
และ ศาลาคนเศร้าฉบับคำ ผกา ก็มีรสชาติแบบนี้ หลากหลาย จัดจ้าน และชัดเจน
หมายเหตุ 1
หนังสือที่ควรอ่านคู่กับหนังสือเล่มนี้อย่างมากมีชื่อว่า รักไม่เคยชิน (มีนาคม 2547 ) ของผู้เขียนคนเดียวกัน Case study ของหนังสือเล่มนั้นหนักและรุนแรงกว่าหนังสือเล่มนี้มากนัก
หมายเหตุ 2
คุณ it ซียู พูดถึงคำ ผกา ไว้ด้วยค่ะ //www.bloggang.com/viewdiary.php?id=unit-maxx&group=3
หมายเหตุ 3
หนังสือเล่มนี้ไม่เหมาะกับคนที่กำลังมีความรักหวานชื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าทั้ง คำ ผกา และเจ้าของบล็อคปฎิเสธความรัก (อิอิ)
Create Date : 08 พฤษภาคม 2548 |
| |
|
Last Update : 31 สิงหาคม 2557 16:27:51 น. |
| |
Counter : 2446 Pageviews. |
| |
|
|
|
- - - ทัชมาฮาลบนดาวอังคาร : ความรักที่ไม่อาจดำรงอยู่บนโลกนี้- - -
ทัชมาฮาลบนดาวอังคาร ทินกร หุตางกูร : เขียน

รวมเรื่องสั้นเล่มล่าสุดของนักเขียนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยจินตนาการ และการตั้งคำถามต่อสังคม
ชื่อทินกร หุตางกูร เป็นที่รู้จักกันมากขึ้น เมื่อนวนิยาย โลกของจอม ของเขาเข้ารอบหนึ่งในห้าเล่มสุดท้ายของการประกวดวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียน(ซีไรท์ ) เมื่อปีที่แล้ว ครั้งนั้นมีการตั้งคำถามมากมายถึงรูปแบบงานเขียนของเขา เพราะนักอ่านหลายคนมองว่าวิธีการนำเสนอเขียนของเขานั้นไม่น่าจะถูกเรียกว่า "นวนิยาย " น่าจะเป็นงานเชิงความเรียงเสียมากกว่า ในขณะที่นักอ่าน นักวิจารณ์บางคนกลับเห็นว่าเขากำลังลบเลือนเส้นที่เคยมีระหว่างเรื่องแต่งและความเรียงให้หายไป และ ทัชมาฮาลบนดาวอังคาร ก็ตอกย้ำวิธีการนำเสนอแบบนี้อีกครั้งหนึ่ง นั่นคือทินกรมักจะแทรกความคิดที่เขามีต่อโลกและสังคม เข้าไปในเรื่องสั้นของเขา ประหนึ่งนำความเรียงมาซ้อนในเรื่องมากกว่าที่จะเป็นความคิดของตัวละครตัวนั้นเองตามขนบเรื่องสั้นมาตรฐานทั่วไป
หน้าปกของหนังสือเล่มนี้โปรยไว้ว่า "เรื่องสั้น 9 เรื่อง เกี่ยวกับเด็กหนุ่มและเด็กสาวผู้อยู่บนโลกที่ไม่เหมือนสวนสนุก " ส่วนหลังปกนั่นเล่า บอกว่า "ถ้าหนังสือฝันได้ หนังสือเล่มนี้ฝันอยากเป็นเครื่องบินเล็ก บินไปทำความรู้จักกับขอบฟ้าแห่งความรัก ความสุข ความเศร้า ความงาม ความฝันและความจริง " ทินกรให้ตัวละครในเรื่องสั้นทั้ง 9 เรื่องของเขาเป็นหนุ่มสาวที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมหก พวกเขาและเธอล้วนอยู่ในวัย 18 ปี วัยที่อาจพูดได้ว่าอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต ตัวละครหลักในทุกเรื่องล้วนผูกพันและโยงใยกันด้วยความรัก
...แต่ "เด็กมอหก" ของทินกรนั้นแตกต่างจาก"เด็กมอหก"ที่โลดแล่นอยู่บนชีวิตจริงมากมาย ฟ้าไร้ดาว หนึ่งในเรื่องสั้น ทินกรให้ตัวละครที่เป็นเพื่อนสนิทกันนั้นถกปัญหาทั้งการเมืองเศรษฐกิจอย่างช่ำชอง
เรื่องสั้นบางเรื่องอย่างปลาดาว นั้นผู้อ่านทราบได้ทันทีว่าทินกรคงจะสะเทือนใจกับเหตุการณ์ซึนามิ ทินกรจึงให้ตัวละครของเขาไปประสบชะตา กรรมเช่นเดียวกับที่อีกหลายคนได้รับ และเรื่องสั้น หิมะกลางแดด ก็เป็นเสมือนวิธีคิดที่ทินกรวิพากษ์วิจารณ์การจัดการปัญหาชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล โดยเฉพาะมุมมองที่มีต่อมุสลิม ทินกรเลือกให้พระเอกนางเอกหนุ่มสาวในเรื่องนี้เป็น "เด็กมอหก"ที่เคร่งศาสนา แต่งตัวตามขนบศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด และไม่หวั่นว่า "ผู้อื่น" จะมองอย่างเย้ยหยันถึงความแตกต่างนี้อย่างไร
ทินกรยังคงนำสิ่งซึ่งเขาสนใจไม่ว่าจะเป็น เพลง หนัง หนังสือ ดวงดาว จักรวาล ฯลฯ เข้ามาสอดแทรกในเรื่องสั้นของเขา เรื่องสั้นที่ชอบมากที่สุดในเล่มคือ คอนเสริ์ตฟอร์จอร์จ ที่เขานำบรรยากาศคอนเสริ์ตรำลึกถึงจอร์จ แฮริสัน แห่งวงบีทเทิ้ลส์ มาแทรกอยู่ในเนื้อเรื่อง ตอนนี้เจ้าของ บล็อคกำลังตกหลุมรักเพลงนอร์วีเจียน วูด ของ บีทเทิ้ลส์อย่างจัง หลังจากค้นพบว่าเนื้อหาในเพลงของบีทเทิ้ลส์นั้นเหมือนง่ายแต่ยากทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม ตัวละครที่ทินกรสร้างขึ้นมานั้นโดยเฉพาะตัวละครฝ่ายชาย ไม่ได้มีท่าทีแข็งกร้าว พวกเขายังคงหม่นเศร้า ซุกตัวอยุ่ในมุมเงียบ และฝันถึงความรักและความดีงามที่อาจจะก่อเกิดขึ้นบนดาวเคราะห์สีฟ้าแห่งนี้
เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบ ผู้อ่านบางคนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ความรัก ความดีงาม ที่ทินกรมักถามหาอยู่เสมอในงานเขียนของเขานั้น จะสามารถดำรงอยู่บนโลกใบนี้ได้หรือไม่ บางทีคำตอบอาจจะอยู่บนดาวดวงอื่นอย่างที่ชื่อของหนังสือเล่มนี้บอกไว้...กระมัง

Create Date : 02 พฤษภาคม 2548 |
| |
|
Last Update : 31 สิงหาคม 2557 16:16:58 น. |
| |
Counter : 1728 Pageviews. |
| |
|
|
|
| |
|
 |
grappa |
|
 |
|
|