+ + + ร้อนขนาดนี้ " แก้ผ้าอาบน้ำ" กันดีกว่า + + +





แก้ผ้าอาบน้ำ
ม.ย.ร มะลิ เขียน

สำนักพิมพ์วงกลม พิมพ์ครั้งที่ 1 (เปลี่ยนปก )
251 หน้า 190 บาท

ตั้งชื่อบล็อกเสียหวาดเสียว จะมีใครหลงมาร่วมแก้ผ้าอาบน้ำด้วยกันไหมนี่ ไม่ใช่อะไรหรอกค่ะ แก้ผ้าอาบน้ำที่ว่านี่คือ ชื่อหนังสือ ที่ว่าด้วยการแก้ผ้าอาบน้ำ ในโรงอาบน้ำสาธาระณะและไปอาบไกลถึง ประเทศญี่ปุ่นและตุรกีโน่น

นี่เป็นหนังสือเล่มแรกของม.ย.ร.มะลิ (คนเดียวกับที่เขียนโตเกียวอะโซบิ นั่นล่ะค่ะ) ผู้เขียนเล่าประสบการณ์การท่องเที่ยวที่มีธีมหลักอยู่ที่ "การอาบน้ำ" เธอบอกถึงที่มาของการอาบน้ำในที่สาธารณะของญี่ปุ่นไว้อย่างน่าสนใจ ผู้เขียนบอกว่าในสมัยเอโดะ ประเทศญี่ปุ่นยังการมีการแบ่งชั้นวรรณะ เช่นชนชั้นบุชิโด พ่อค้า ชาวนา ฯลฯ แต่ละชนชั้นจะเข้าใจวรรณะของกันและกันได้จากเสื้อผ้าที่สวมใส่ ปรกติแล้วผู้คนที่มาจากต่างวรรณะกันจะไม่พูดจากัน ยกเว้นตอนที่ละจากวรรณะชั่วคราวก็คือตอนที่อยู่ในโรงอาบน้ำนี่เอง ในที่แห่งนั้นทุกคนจะถอดเสื้อผ้าและมีเสรีภาพเท่าเทียมกัน ชาวนากับซามูไร ผู้ที่โดยปรกติไม่แม้แต่จะมองหน้ากัน ก็ได้มีโอกาสพูดคุยกันในโรงอาบน้ำนี่เอง สังคมในโรงอาบน้ำเปรียบเสมือนโลกในอุดมคติ ที่ทุกคนมีเสรีภาพเท่าเทียมกัน คนญึ่ปุ่นจับใจกับเรื่องนี้ จนมีคำพูดที่พูดกันบ่อยๆ ว่า "ความสัมพันธ์แบบเปลือยเปล่า" ซึ่งหมายถึงความจริงใจ การถอดยศฐาบรรดาศักดิ์ พอตกมาสมัยนี้การอาบน้ำรวมยังหมายถึง การอาบน้ำร่วมกับคนหมู่มากและการอาบน้ำรวมระหว่างพ่อ แม่ ลูกด้วย

ในหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนยังเน้นถึงการอาบน้ำแร่ เพราะประเทศญี่ปุ่นมีภูเขาไฟมากมาย จึงมีบ่อน้ำแร่อยู่ถึงสองหมื่นกว่าแห่งทั่วประเทศ การอาบน้ำแร่แช่น้ำร้อน ในญี่ปุ่น จึงมีจุดมุ่งหมายถึงเรื่องสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ

อ่านหนังสือเล่มนี้ไป ได้ความรู้สาระ ในเรื่องที่เรายังไม่เคยรู้ไป แถมยังได้อ่านประสบการณ์เขินอายของผูเขียนที่น่ารักดี คือผู้เขียนเคยลองอาบน้ำแต่ในห้องอาบน้ำสาธารณะ ที่เป็นโรงอาบน้ำหญิง แต่ยังไม่เคยกล้าอาบน้ำรวมในโรงอาบน้ำสาธารณะที่เป็นแบบอาบน้ำรวมแบบแยกหญิง-ชายสักที อ่านถึงตอนที่เธอกล้าๆ กลัว ว่าจะกล้าออกไปตรงส่วนอาบน้ำรวมในโรงอาบน้ำแห่งหนึ่ง แล้วต้องอมยิ้มในความเขินอายของเธอ

ถึงตรงนี้ผู้เขียนให้ข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจ เธอบอกว่าคนญึ่ปุ่นพึ่งมาต้องแยกโรงอาบน้ำออกเป็นหญิง-ชาย เมื่อหลังสงครามโลกเมื่อปี ค.ศ.1870 นี้เอง คนอเมริกันเข้ามาจัดการกฏระเบียบภายในประเทศ ห้ามมิให้ชาย-หญิงอาบน้ำรวมกัน ซึ่งเป็นที่อึดอัดแก่เจ้าของโรงอาบน้ำมาก เพราะต้องมีทุนรอนเพิ่มในการกั้นห้อง ผู้เขียนบอกว่า ตอนนี้ตามต่างจังหวัดของญี่ปุ่น ก็ยังโรงอาบน้ำสาธารณะที่ไม่แยกหญิง-ชายปรากฏอยู่ เอาเข้าจริงคนตะวันตกเองที่ ไม่เข้าใจขนบดั้งเดิม รวมไปถึงมุ่งแต่จะ "จัดระเบียบ" ในนามของ "พี่เบิ้ม" มากเกินไป แถมยังไม่เข้าใจปรัชญาของการ"เปลือยเปล่า" เสียจริงๆ

จขบ.เคยอ่านหนังสือ "จดหมายจากเกียวโต" ที่เขียนโดย
ฮิมิโตะ ณ เกียวโต เธอเคยเล่าประสบการณ์การอาบน้ำรวม เธอบอกว่าที่นี่ในโรงอาบน้ำ ทำให้เธอรู้สึกว่า หัวนมมีคุณค่าไม่ต่างกับหัวแม่เท้า คือเมื่อเปลื้องผ้า( ในโรงอาบน้ำ) อวัยวะชิ้นไหนก็มีคุณค่าเท่ากันหมด ไม่มีใครสนใจมองดู อวัยวะชิ้นไหนเป็นพิเศษ ช่างเป็นโลกในอุดมคติจริงๆ ต่างกับโลกยามที่เราสวมเสื้อผ้าอย่างสิ้นเชิง ทุกอย่างๆ มีคุณค่า "มีราคา" ด้วยกันทั้งสิ้น

หนังสือเล่มนี้เคยพิมพ์ครั้งแรก เมื่อปี 2546 โดยสำนักพิมพ์ Fullstop แต่นำมาเปลี่ยนปกใหม่โดยสำนักพิมพ์วงกลม ปกครั้งแรกคือปกนี้ค่ะ




 

Create Date : 09 พฤษภาคม 2549   
Last Update : 31 สิงหาคม 2557 15:44:00 น.   
Counter : 4201 Pageviews.  

+ + + + + คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ : การเดินทางข้ามสองโลก + + + + +





คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ
นพดล เวชสวัสดิ์ แปล
ฮารูกิ มูราคามิ เขียน
สำนักพิมพ์แม่ไก่ขยัน พิมพ์
มติชนหนุนหลัง ,544 หน้า, 280 บาท

และแล้วนวนิยายเล่มล่าสุดของมูราคามิฉบับภาษาไทยก็ออกวางแผงมาตั้งแต่เดือนมีนาคม หนังสือที่ จขบ.รอมานาน คราวนี้มูราคามิเล่าเรื่องของคนสองคน คาฟกา ทามามูระ เด็กหนุ่มอายุสิบห้าปี หนีออกจากบ้านไปอาศัยอยู่ในห้องสมุดในเมืองที่ห่างไกลจากบ้านเกิดตัวเอง นาคาตะ ชายชราอายุ 60 ปีที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ มีความสามารถพิเศษในการพูดคุยกับแมว ทั้งสองต่างเดินทางไปชิโกกุ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน คาฟกา เดินทางไปชิโกกุ เพื่อหนีออกจากบ้านไปให้ไกลจากผู้เป็นพ่อ บุคคลที่เขาไม่พึงปรารถนาเอาเสียเลย ไปเพื่อตามหาแม่และพี่สาว ในขณะที่นาคาตะ ไปชิโกกุ เพื่อตามหา "ศิลาเบิกทวาร" แต่ดูราวกับว่าทั้งสองชีวิตมีอะไรบางอย่างเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน

มูราคามินำเอาเรื่องราวของโอดิปุส เทพแห่งนิยายกรีก ผู้เกลียดพ่อและรักแม่ของตัวเอง มาเป็น Motive ตั้งต้นในการนำเสนอเรื่องราว เรื่องเริ่มด้วยการเกลียดพ่อของคาฟกา แล้วพาผู้อ่านข้ามเส้นแบ่งของความจริงไปสู่เรื่องราวแฟนตาซี เพื้ยนหลุดโลก ที่มีตั้งแต่ ชายชราที่พูดกับแมวได้ ไปจนถึงฝนที่ตกลงมาเป็นปลา และฝนที่ตกลงมาเป็นปลิง ฯลฯ

สิ่งหนึ่งที่มูราคามิสนใจอยู่เสมอ คือ ตัวละคร ของเขาไม่ได้เป็นตัวละครที่ "ปรกติ" ตรงกันข้าม ตัวละครของเขามักเป็นพวก "เว้าแหว่ง" คิดไม่เหมือนกับผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมกระแสหลัก และไม่เป็นที่ปรารถนาของสังคม นาคาตะ ตัวละครหลักอีกคนในเรื่องนี้ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ตั้งแต่อายุหกขวบเป็นต้นมา นาคาตะ ย้ำอยู่เสมอว่า เขาไม่ค่อยฉลาด (แต่เขาสุภาพและอ่อนน้อมมาก ) และการอ่านหนังสือไม่ออกในโลกปัจจุบันนี้ "ลำบาก"มาก นาคาตะเน้นย้ำถึง "ความว่างเปล่า " ในชีวิตตัวเองบ่อยครั้ง

จขบ.ชอบตัวละครสองตัวที่เป็นตัวประกอบของเรื่องนี้เป็นพิเศษคือ บรรณารักษ์ไร้เพศแห่งห้องสมุด โอชิมะ เขาเป็นเสมือนพี่เลี้ยงของหนุ่มน้อยคาฟกา อีกตัวละครคือ โฮชิโนะ หนุ่มรถบรรทุกที่เป็นเสมือนพี่เลี้ยงของชายชราอย่างนาคาตะ ทั้งสองคนต่างก็ได้ทำหน้าที่ผู้ช่วยเหลือที่ทำให้ "การเดินทาง " ( ทั้งโดยความหมายของคำและโดยอุปมา ) เป็นผลสำเร็จ ถ้าเปรียบเป็นภาพยนตร์ จขบ.คิดว่าพวกเขาต้องได้ออสการ์ Best supporting โดยไม่ต้องสงสัย

มีหลายประโยคในหนังสือเล่มนี้ที่อ่านแล้ว" จี๊ด" แต่ขอประโยคท้ายๆ เรื่องที่ชอบมาก มาให้อ่านกันส่วนหนึ่ง นี่เป็นคำพูดของโอชิมะ

" คนเราทุกคนสูญเสียสิ่งที่มีค่าในชีวิตด้วยกันทั้งนั้น โอกาสทองหลุดลอย ความเป็นไปได้เลือนลับ ความรู้สึกที่ไม่อาจเรียกกลับมาได้อีกแล้ว นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นความหมายของการมีชีวิตอยู่ แต่ในอก กลางใจเรา อย่างน้อยที่สุดก็เป็นที่ที่ฉันวาดภาพไว้...จะมีห้องเล็กๆ ที่เราใช้บันทึกความทรงจำ ห้องที่วางความทรงจำซ้อนเป็นตั้งสูงเหมือนชั้นวางหนังสือในห้องสมุด หากจะเข้าใจกลไกการทำงานของหัวใจ เราจำเป็นต้องทำบัตรรายการ ปรับปรุงบัตรรายการให้ทันสมัยเสมอ ปัดฝุ่นเป็นครั้งคราว เปิดหน้าต่างรับอากาศบริสุทธิ์บ้าง เปลี่ยนน้ำในแจกัน กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า คนเรามีชีวิตอยู่ชั่วนิรันดร์ในห้องสมุดส่วนตัว "

อันนี้เป็นคำพูดของผู้การแซนเดอร์ส (ใช่แล้วค่ะ มีผู้การแซนเดอร์ส แห่ง kfc นั่นล่ะค่ะ )

" ฟังนะ วัตถุทุกอย่างแปรปรวน โลก เวลา สำนึก ความรัก ชีวิต ศรัทธา ความยุติธรรม ความชั่วร้าย...ทุกอย่างไหลแปรเปลี่ยนทั้งนั้น ไม่มีสิ่งใดคงรูปเดิมปักหลักมั่นที่เดิมชั่วกาลนาน จักรวาลไพศาลแทบจะเหมือนกล่องบรรจุสินค้าเฟ็ดเด็กซ์ " ( ร้าย ไหมคะอารมณ์ขันของมูราคามิ โลกเหมือนกล่องสินค้าเฟ็ดเด็กซ์ ถูกส่งไปมา อารมณ์ขันร้าย จริงๆ )

นี่ดูจะเป็นหนังสือเล่มแรกของมูราคามิ ที่ จขบ.อ่านแล้วพบว่า มูรารามิมี "ทางออก" ให้ตัวละคร เรื่องอื่นๆ ที่จขบ.เคยได้อ่านนั้น มูราคามิ มักปล่อยให้ผู้อ่านเคว้งคว้างไปกับชะตากรรมของตัวละครในเรื่อง แต่สำหรับนวนิยายเรื่องนี้ ราวกับมูราคามิจะบอกกับผู้อ่านว่า ชีวิตมีทางออกอยู่เสมอ ถ้าเรากล้ากลับไป "จัดการ" กับความเว้าแหว่งของชีวิตเราเอง

จขบ.พึ่งได้อ่านหนังสือเล่มนี้อย่างจริงจังเมื่อสองสามวันที่ผ่านมา เมื่อผ่านพ้นภาระกิจต่างๆ และอย่างที่เคยมนตราของมูราคามิยังมีผลชะงัดต่อจขบ.เสมอ ยังอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างกับต้องมนต์ และแน่นอนที่สุดว่าต้องกลับไปอ่านซ้ำอีกรอบ อีกรอบ และอีกรอบ

หมายเหตุ : ขอบคุณคุณนพดล เวชสวัสดิ์ ผู้มอบหนังสือดีๆ เล่มนี้ (และเล่มอื่น ๆ ) มาให้อ่านอย่างสม่ำเสมอ




 

Create Date : 02 พฤษภาคม 2549   
Last Update : 31 สิงหาคม 2557 15:45:04 น.   
Counter : 4138 Pageviews.  

- - - - - สวรรค์ชั้นประหยัด สวรรค์ของนักเดินทาง- - - - - -





สวรรค์ชั้นประหยัด
วิทวัส โปษยะจินดา เรื่องและภาพ
สำนักพิมพ์ fullstop
ราคา 160 บาท, พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2545

สวรรค์ชั้นประหยัด เป็นหนังสือที่จัดเข้าพวกยากว่าจัดอยู่ในหนังสือประเภทใด มันอาจจะจัดอยู่ในประเภทหนังสือท่องเที่ยวได้ เพราะคนเขียนตั้งใจเล่าประสบการณ์จากการเดินทางที่คนเขียนได้ไปพบเห็นสามประเทศคือ อินเดีย เนปาลและศรีลังกา และประเทศอันเป็นที่รักของผู้เขียนคือสาธารณรัฐเซเชล (จขบ.อยากไปเที่ยวประเทศนี้มาก )

นี่เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้ จขบ.อยากไปอินเดีย (และได้ไปแล้ว-ยังอยากไปอีก )
คุณวิทวัส บอกความประทับใจ ของการได้ไปอินเดียไว้ว่า

" เมื่อยังเป็นนักศึกษาอยู่ ผมไปอินเดียครั้งแรกอย่างตีนไม่ติดดินเลย บินคลาสคลับมาจากปารีส สวมสูท ทวีด รองเท้าจอห์น ล็อบ กินนอนตามโรงแรมห้าดาว พกเงินเป็นแสน เช่ารถมีคนขับให้นั่งสง่าไปทุกที่ แล้วผมก็ป่วยได้ทุกเมือง รองเท้ากัด ท้องร่วงอย่างแรงจนเป็นลมสลบที่สนามบินบอมเบย์ จับไข้สั่นจะตายอยู่ในเลคพาเลส ไม่ได้เห็นเดือนเห็นตะวันเป็นอาทิตย์ๆ สาบานว่าชาตินี้จะไม่กลับไปอีกเลย แต่เมื่อถึงบ้านได้นาทีเดียว ผมไม่นึกถึงอะไรเลยนอกจากอินเดีย ปีต่อมาผมกลับไปใหม่ ใช้เงินน้อยกว่าครั้งแรกร้อยเท่า แบกกระเป๋าใบเล็กกระจิริด แต่งตัวโทรมๆ นั่งรถเมล์ รถไฟชั้นสาม นอนโรงแรมถูกๆ กินดื่มข้างถนน พบปะผู้คนแปลกๆ ที่ไม่เคยคิดว่าจะได้พบในชีวิต ผมไม่เคย"ป่วย" เลย ตั้งแต่นั้นมาผมมีความสุขมาก และที่สำคัญที่สุดผมได้ "เห็น" อินเดีย "

ประเด็นสำคัญที่สุดที่ทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ไม่เหมือนใครคือ มันไม่ได้บอกเราว่าประเทศนั้นควรไปพักที่ไหน กินที่ไหน เที่ยวที่ไหน ฯลฯ เหมือนที่จะพึงมีในหนังสือเล่มอื่น ไม่ได้อ่านเอาเรื่อง แต่อ่านเอารส มันเหนือชั้นยิ่งขึ้นไปกว่าหนังสือท่องเที่ยว สมควรเทียบค่าได้กับวรรณกรรม ด้วยว่าสำนวนภาษาชั้นเลิศของผู้เขียนนั่นเอง

" เธอกลับมาชิมอาหารรสเดิม มือเปื้อนหมึกหนังสือพิมพ์ภาษาคุ้นเคย แต่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่เธอไม่เข้าใจ นั่งในร้านกาแฟร้านเดิม บริกรคนเดิมทักทายราวกับว่าเธอไม่เคยจากไปไหนเลย ราวกับว่ากาลเวลาไม่เคยหมุนเวียนผ่าน แม้นเขาจะมีตีนกาเพิ่มขึ้นอีกหลายเส้นและหน้าผากของเธอกว้างขึ้นอีกสักสามเซนต์

เธอดื่มเมรัยรสประณีตยี่ห้อเก่าแก่ที่เหมือนจะรุนแรงขึ้นอีกนิด ความรู้สึกดั้งเดิมเรียงหน้ากลับมาพร้อมเพรียง ความรู้สึกที่ว่า นี่คือที่ซึ่งคนทั้งโลกห้าแสนล้านคนมาพบกัน หลงใหลรักกันชอบกันแทบเป็นแทบตาย ได้เสียกันแล้วพลัดพราก จากกันไปไกลแสนไกล นานแสนนาน แล้วจึงกลับมาพบกันใหม่ เพื่อที่จะได้รู้สึกอย่างไรเล่าว่า เราไม่รู้จักกันอีกต่อไป ..."


คงต้องพูดเหมือนคุณมนันยา ผู้เขียนคำนิยมให้หนังสือเล่มนี้ "เขียนได้อย่างไรนะคุณวิทวัส อิจฉานะจะบอกให้ "

ป.ล.ดีใจที่ได้หนังสือเล่มนี้มาครอบครองอีกครั้ง เมื่องานหนังสือที่ผ่านมา เคยมีไว้ แต่ได้ให้เพื่อนไปเสียแล้ว ใครอยากอ่านหนังสือเล่มนี้ คิดว่าคงตามหายากแล้ว รองานหนังสือครั้งหน้าก็ได้ค่ะ หรือติดต่อสำนักพิมพ์ได้โดยตรง




 

Create Date : 24 เมษายน 2549   
Last Update : 31 สิงหาคม 2557 15:46:26 น.   
Counter : 2374 Pageviews.  

- - - เก็บตก Mascot เฮฮาจากงานหนังสือค่ะ - - -



การไปงานหนังสือทุกวัน สิ่งหนึ่งที่ช่วยเอนเตอร์เทนคนเฝ้าบู้ทได้เป็นอย่างดีคือ Mascot นี่ล่ะค่ะ โดยเฉพาะเหล่าเด็กๆ และ Mascot ขบวนการนักอ่านของ สสส. เวลาเดินผ่านบู้ทเด็กๆ จะร้องเพลงที่ส่งเสริมให้คนอ่านหนังสือกันเสียงใส ร่าเริง มากๆ










อันนี้เป็น Mascot ของสำนักพิมพ์นานมี เป็นตัวละครจากแฮรี่ พอตเตอร์


โดเรมอนจากนานมีเช่นกัน

สำนักพิมพ์สกายบุ้คส์ ส่งเห้งเจียจากเรื่อง ไซอิ๋ว มาประชัน


ตามด้วยหนุมาน จากรามเกียรติ


สำนักพิมพ์แจ่มใส มีพริตตี้เป็นสาวๆ จากแดนกิมจิ




นกฮูกผู้ทรงภูมิจากสำนักพิมพ์แปลนฟอร์คิดส์


ยังมี Mascot อีกหลายตัวที่จขบ.ถ่ายไม่ทัน แต่ต้องยอมรับว่าพวกเขาสร้างสีสันให้งานหนังสือค่ะ


ป.ล. ขอบคุณ ปราบดา หยุ่น ,แทนไท ประเสริฐกุล และพิมปาย ที่ไปช่วยขายของ เอ๊ยไปช่วยแจกลายเซ็นที่บู้ท




 

Create Date : 12 เมษายน 2549   
Last Update : 31 สิงหาคม 2557 15:47:15 น.   
Counter : 3890 Pageviews.  

" คุยโทรศัพท์ให้น้อยลง เพื่ออ่านหนังสือให้ได้มากขึ้น" สโลแกนของบู้ทที่ประทับใจที่สุดในงานหนังสือ







งานหนังสือคราวนี้ จขบ.ได้หนังสือน้อยกว่าทุกปี เพราะต้องเฝ้าบู้ทของตัวเอง แต่ทุกครั้งที่แว่บได้ก็จะแว่บไปช็อปหนังสือ บู้ทแรกที่ตรงลิ่วไปคือบู้ทของสำนักพิมพ์บ้านหนังสือและสำนักพิมพ์นาคร (บู้ทเดียวกัน และเป็นบู้ทที่มีสโลแกนที่จขบ.ชอบมากที่สุด ) เพื่อไปเก็บหนังสือของกนกพงศ์ สงสมพันธ์ นักเขียนซีไรท์ที่พึ่งเสียชีวิตไปเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จขบ.มีหนังสือของกนกพงศ์ทุกเล่ม อ่าน "แผ่นดินอื่น" ตั้งแต่ก่อนได้รางวัลซีไรท์ ชอบผลงานของเขามาก งานหนังสือคราวที่แล้วซื้อหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มล่าสุดของเขา "โลกหมุนรอบตัวเอง" ไว้ 2 เล่ม งานครั้งนี้ไปซื้อ เรื่องสั้นที่มีอยู่แล้วในแผ่นดินอื่น ซื่งสำนักพิมพ์เอามาแยกพิมพ์เป็นเรื่องๆ คือ แมวแห่งบูเก๊ะกรือซอ น้ำตก บ้านเกิด และ แม่มดในหุบเขา ป่าน้ำค้าง รวมบทกวีของกนกพงศ์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 หนังสือเล่มแรกของเขา ( จขบ.มีพิมพ์ครั้งแรกแล้ว )
ที่บู้ท นี้เห็นโปสเตอร์รณรงค์ให้อ่านวรรณกรรมไทย จขบ.เลยเกิดพุทธิปัญญาว่างานหนังสือคราวนี้ ขอ มี Theme ในการซื้อหนังสือแล้วกัน คือจะเน้นซื้อวรรณกรรมไทย



งานหนังสือคราวนี้เลยได้หนังสือที่เขียนโดยคนไทยเป็นหลัก นับตั้งแต่วรรณคดีไทย ไปจนถึงการ์ตูนที่เขียนโดยคนไทย

บู้ทกรมศิลปากร ชุดวรรณคดีไทย ได้ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน ) สองเล่มจบ (จขบ.มีสามก๊กฉบับยาจก ของยาขอบ ไว้ในครอบครองมาเนิ่นนานแล้ว) อิเหนา พระราชนิพนธ์ในพระบามสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ราชาธิราช ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน ) รวมเรื่องพระลอ ฉบับของกรมศิลปากร

บู้ทของมติชนได้ชุด ไทยโมเดิร์นคลาสสิค จขบ.เลือก บึงหญ้าป่าใหญ่ ของเทพศิริ สุขโสภา คืนฟ้าหนาว ของอำนาจ เย็นสบาย คือรักและหวัง ของ วัฒน์ วรรลยางกูร ความรักของวัลยา และปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์ ห้าเล่มนี้ ได้ชั้นหนังสือสวยงามมาเป็นของแถมด้วย

ที่บู้ทมติชน จขบ.ยังหยิบ ร่างพระร่วง ของเทพศิริ สุขโสภา นวนิยายที่หยิบยกเอาธรรมะของท่านพุทธทาส มาเรียบเรียงเป็นนิยาย เทพศิริเขียนขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีชาตะกาลของท่านพุทธทาส เล่นแร่แปรธาตุ รวมบทความสำนวนกวนตีนของมุกหอม วงษ์เทศ (เล่มนี้กร๊ดมาก )

ที่บู้ทร้านนายอินทร์ ได้หนังสือ อีกหนึ่งฟางฝัน บันทึกแรมทางของชีวิต โดยพี่จี๊ด จีระนันท์ พิตรปรีชา วันที่ไปซื้อพี่จี๊ดไม่ได้มาเซ็นชื่อ แต่ได้ลายเซ็นมาวันหลัง (พี่จี๊ดมาเซ็นให้ถึงบู้ทของ จขบ. จริงๆ คือพี่จี๊ดเดินมาดูหนังสือของลูกชาย แทนไท ประเสริฐกุล เลยให้พี่จี๊ดเซ็นหนังสือให้ด้วยเลย)



ที่บู้ทนี้ยังได้ นวนิยายของศักดิ์ชัย ลัคนาวิเชียร เรื่อง นอน นักเขียนที่จขบ.ชอบมาด้วย ได้ สุภาพบุรุษไฟแช็ค ของจำลอง ฝั่งชลจิตร อีกเล่ม

ที่อัลเทอร์เนทีฟไรเตอร์ ได้ เงากระจก กระจกเงา ของอุทิศ เหมะมูล นกเพลง ของ ทินกร หุตางกูง สามก๊ก ฉบับคนกันเอง ภาคหนึ่ง หุบเขาไม่เปลี่ยน สายน้ำไม่ขาด ของเอื้อ อัญชลี

ที่สารคดีได้ นักล่าปราสาท เที่ยวโบราณสถานขอมนอกเมืองพระนคร โดยวิชชุ เวชชาชีวะ หนังสือของนักการทูตหนุ่ม จขบ.เคยอ่านความเรียงเชิงวิชาการของเขาในนิตยสารเมืองโบราณ ชอบความเป็นนักคิดของเขามาก เงาตนบนรอยซาย โดย ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ (คนม้งเรียกกวางผาว่าซาย ) จขบ.ชอบสำนวนสุภาพบุรุษของ ม.ล.ปริญญากร มาก

ที่บลูสเกลได้ เอ๋อ เหรอ เออ ใช่ เรื่องของแม่ที่มีลูกเป็นดาวน์ ซินโดรม (ได้ลายเซ็นของน้องอาร์มมี่ ที่เล่นเรื่องเอ๋อเหรอมาด้วย เรื่องนี้เขียนโดย แม่ของน้องอาร์มมี่ ) ได้การ์ตูนของโตโต้ หัวแตงโม
เล่ม 1 กับเล่ม 3
ได้ มือนั้นสีขาว พร้อมซีดี ชุดจินตนาการของศักดิ์สิริ มีสมสืบ

ที่บู้ทดวงกมล ได้ ดอนกีโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน ฉบับแปลจากภาษาสเปน และกวีพนธ์แห่งรักยี่สิบบทและบทเพลงแห่งความสิ้นหวังหนึ่งบทโดย ปาโบล เนรูด้า

นอกจากนี้ยังมีหนังสือที่มิตรรักแฟนบล็อกและเพื่อนๆ นักเขียนนักแปล รวมทั้งเพื่อนๆ สำนักพิมพ์ เอามาให้ในงานนี้ นับตั้งแต่ คู่วุ่นชุลมุนสืบ เล่ม 1-2 แปลโดย ภัทรา หงษ์พร้อมญาติ เปลี่ยนตัวเองใหม่ใน 5 นาที โดยจินนี่ สาระโกเศศ แก้ผ้าอาบน้ำ ของ ม.ย.ร. มะลิ คิดเองช้ำเอง โดยจิระ มะลิกุล สวรรค์ชั้นประหยัด โดยวิทวัส โปษยะจินดา หนังสือเรื่องท่องเที่ยวที่จขบ.ชอบมากที่สุดในโลก หมูบินได้และ ปิศ่าจหัวโต ขององอาจ ชัยชาญชีพ สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นด้วยตา ว.วชิรเมธี สนทนาธรรมกับโตมร ศุขปรีชา และวุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ แกะรอยเส้นทางค้าเด็ก โดยมูลนิธิกระจกเงา (เปิดไป) หน้าศูนย์ โดยปราบดา หยุ่น To think well is good To think right is better โดย สฤณี อาชวานันทกุล พูดถึง 12 นักคิดผู้สั่นโลกไหวด้วยแนวคิดใหม่เพื่อมนุษยชาติ

ที่กรี๊ดอีกอย่างคือ ในงานนี้ มีคนเอา hesheit ของวิศุทธิ์ พรนิมิตร ที่พิมพ์โดย Tomorrow Comix งานรวมเล่มครั้งแรกๆ ของวิศุทธิ์ หนังสือชุดนี้มี 4 เล่ม จขบ.มีไว้ในครอบครองเล่มเดียว แต่ในงานหนังสือคราวนี้มีคนเอาอีกสามเล่มมาให้ จขบ.เลยมีไว้ในครอบครองครบชุด 4 เล่ม ขอบคุณชินจัง มาไว้ ณ ที่นี้ (สี่เล่มนี้ น่าจะหายากแล้ว จขบ.เคยเห็นครั้งแรกตอนงานแฟตเฟสติวัลครั้งแรก แต่ไม่ได้ซื้อไว้)

ขอบคุณ เพื่อนๆ พี่ ๆ น้องๆ ที่เอาหนังสือมาให้ด้วยค่ะ

อ้อ ๆ ขอบคุณขนมอร่อยๆ จากเพื่อนๆ น้องๆ ด้วยค่ะ มีทั้งขนมไทย ขนมฝรั่ง มีแม้กระทั่งขนมที่ต้องไปต่อคิวยาวเหยียดอย่าง Rotti Boy ขอบคุณทุกคนเจงๆ

ป.ล.ดีใจที่ได้เจอเพื่อนๆ พี่ ๆ น้องๆ ชาวบล็อก และชาวกระทู้แห่งห้องสมุดพันทิป บางคนเคยเจอกันเมื่องานหนังสือคราวที่แล้ว บางคนมาเจอกันก็คราวนี้ อย่าง หนูฝน แห่งบล็อกสปอท (ตัวจริงน่ารักมาก ) คุณนางกอแบกเป้ ตัวจริงก็เปรี้ยวเหมือนสำนวนเขียนเลยค้า ป้ามดและย่าดา ที่ยังวัยรุ่นอยู่เลย คุณมัฌชิมา ฮันจัง ฯลฯ ดีใจที่ได้เจอค้า ฯลฯ




 

Create Date : 11 เมษายน 2549   
Last Update : 31 สิงหาคม 2557 15:48:18 น.   
Counter : 4803 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  

grappa
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




New Comments
[Add grappa's blog to your web]