- - - - - - - - ( นิยายรัก ) ฤดูร้อน และ รอยเท้าบนผืนทราย โรมานซ์แบบกนกพงศ์ - - - - - - -





สารภาพว่าเพิ่งเห็นหนังสือของนักเขียนคนโปรดเล่มนี้เป็นครั้งแรกที่บล็อกของ คนชายขอบ จริงๆ หนังสือเล่มนี้ออกมาตั้งแต่งานหนังสือที่ศูนย์สิริกิติ์เมื่อเดือนตุลาคม พอเห็นก็ร้องเฮ้ยทันที หนังสือเล่มใหม่ของกนกพงศ์ วันรุ่งขึ้นรีบไปร้านหนังสือ พอดีไปธุระแถวสยามเลยเดินหาหนังสือกนกพงศ์ ไล่มาตั้งแต่ร้ายนายอินทร์ มาบุญครอง ( พนักงานบอกว่ามีแต่รายชื่อในคอมพิวเตอร์ ไม่มีหนังสือ) เลยเดินมาร้านนายอินทร์ที่สยามพารากอน พนักงานบอกว่ามีในคอมพิวเตอร์อยู่สามเล่ม ในร้านไม่มีหนังสือ และในคอมพิวเตอร์เองก็ไม่ได้ปรากฎว่ามีการซื้อหนังสือเล่มนี้ออกไป พนักงานบอกว่าน่าจะสั่งไปแล้ว แต่ทางสายส่งไม่ได้ส่งหนังสือมา เลยมีแต่รายชื่อหนังสือ เดินไปที่ร้านคิโนคุนิยะ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกันกับร้านนายอินทร์ พนักงานคิโนคุนิยะบอกว่าหมดแล้วครับ ตัดสินโทรถามเจ้าของบล็อกคนชายขอบว่าซื้อหนังสือเล่มใหม่ของกนกพงศ์ที่ไหน เธอบอกว่าน่าจะเป็นร้านนายอินทร์สาขาทองหล่อ (ร้านนี้มักมีหนังสือที่เราหาไม่เจอในร้านอื่น) เลยคิดได้ว่าร้านหนังสือเดินทาง ที่ใกล้บ้านเราต้องมีแน่ๆ กลับบ้านก่อนดีกว่าค่อยเดินไปซื้อที่ร้านเดินทางพรุ่งนี้

แต่คิดว่าไหนๆ ก็ไหนๆ แล้วลองเดินไปร้านซีเอ็ดที่ชั้นสาม สยามเซ็นเตอร์เสียหน่อย รู้สึกว่าคาใจทำไมเราหาหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ (นี่ขนาดว่ากนกพงศ์เคยได้รางวัลซีไรท์แล้วนะ ทำไมหนังสือเขาหายากเย็นอย่างงี้ ) เดินตรงไปบอกพนักงานที่เคาน์เตอร์ พนักงานขายก็ตรงรี่ไปที่ชั้นหนังสือโรมานซ์เลย หาให้อยู่ประมาณสิบห้านาที มันถูกซุกเอาสันเข้าอยู่ในชั้นหนังสือประเภทโรมานซ์ ตอนจ่ายเงินเลยบอกน้องเค้าไปว่า อย่าเอาหนังสือเล่มนี้ไปอยู่ที่ชั้นโรมานซ์เลย มันไม่ใช่หนังสือโรมานซ์ ( หารู้ไม่ว่าดิชั้นคิดผิด) เอาไว้ตรงชั้นหนังสือใหม่ด้านหน้าๆ เลย เดินกลับออกมา นึกในใจว่าเอาเถอะอย่างน้อยตอนนี้เราก็ได้หนังสือกนกพงศ์กลับบ้านแล้ว ถึงแม้นจะต้องฝ่าดงกองทัพหนังสือความสุขของกะทิและทไวไลท์ทั้งสามสี่ภ่าค เข้าไปให้ได้ก่อน ( ช่วงนี้เวลาเข้าร้านหนังสือทุกร้าน หนังสือที่จะต้องเจอแน่ๆ แบบไม่ต้องคอยมองหาคือสองเล่มที่กล่าวมา)

พออ่าน "( นิยายรัก ) ฤดูร้อน และ รอยเท้าบนผืนทราย " ของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เล่มนี้จบก็พบว่า อ้าวนี่มัน เรื่องรักโรมานซ์นี่ แต่มันก็เป็นโรมานซ์แบบกนกพงศ์ ยังคงมีฉากของบ้านของเขาที่ตีนเขาหลวง นครศรีธรรมราช มีตัวละครและบรรยากาศของป่าฝนครบครัน แต่คราวนี้กนกพงศ์ลงรายละเอียดของหมู่บ้านอย่างละเอียดยิบ ครบจนเราได้กลื่นป่าฝน และเมฆชื้นๆ ที่ห่อหุ้มหมู่บ้านของเขาไว้

หนังสือเล่มนี้เป็น "ต้นร่าง" ของนวนิยายสองเรื่องของเขา แน่นอนมันจึงไม่ใช่นิยายที่ถูกเขียนจบจบ ประกอบไปด้วยเรื่อง (นิยายรัก) ฤดูร้อน และเรื่อง รอยเท้าบนผืนทราย เรื่องแรกเขาทำตัวเป็นนักท่องเที่ยว ( ในความหมายของนักท่องเที่ยวจริง) เข้าไปพักในรีสอร์ตเล็กๆ ของหมู่บ้านที่ไม่ได้มีชื่อเสียงนักตีนเขาหลวง และมีเค้าลางว่าเขา ( ตัวละครเอกในเรื่อง) กำลังหลงรัก หญิงสาวผู้ดูแลรีสอร์ตอันนั้น แต่นิยายเรื่องนี้มันยังไม่จบ เราเลยยังไม่รู้ว่าเหตุการณ์ต่อไปจะเป็นอย่างไร

ความไม่จบของนิยายเรื่องนี้ ไม่ได้ทำให้อรรถรสในการเสพย์ลดลง มันยังคงเคี่ยวเข้มด้วยรายละเอียดของหมู่บ้าน และด้วยสายตาอันเล็กยิบ โฟกัสเข้าไปในรายละเอียดของต้นไม้ ดอกไม้ และสถานที่ต่างๆ ของหมู่บ้านในภาคใต้ จนคนใต้อย่างดิฉันอ่านแล้วก็ได้แต่สะท้อนใจ ถ้าเขาอายุไม่สั้น คนใต้จะได้นักบันทึกประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านที่เด็มไปด้วยลีลาของวรรณกรรมชั้นดี มันน่าเสียดายแค่ไหนที่เราต้องเสียนักเขียนดีๆ ไปอย่างรวดเร็วเช่นนี้

อีกเรื่องคือ "รอยเท้าบนผืนทราย" สั้นกว่าและเข้าใจว่ายังไม่จบเหมือนกัน แต่มันเป็นเหมือนบันทึกชีวิตประจำวันจริงๆ ของนักเขียนหนุ่มที่ลงไปใช้ชีวิตในหมู่บ้านเล็ก ๆ กับคนรัก ทั้งคู่ทำงานศิลปะ ฝ่ายชายเขียนหนังสือ ฝ่ายหญิงละทิ้งงานแบงก์จากภาคเหนือมาเป็นศิลปินที่กรุงเทพ และในที่สุดก็ตัดสินใจไปใช้ชีวิตในหมู่บ้านที่ภาคใต้กับนักเขียนหนุ่ม ( หญิงสาวของเขาเป็นตัวกระตุ้นสำคัญให้ทั้งคู่ลงไปใช้ชีวิตเงียบสงบที่หมู่บ้าน ) อ่านเรื่องนี้ไปก็รู้สึกเหมือนกับอ่านบันทึกชีวิตประจำวัน การทำงานเขียน การใช้ชีวิต ( รวมถึงเรื่องเซ็กซ์) กับหญิงสาวของเขาจริงๆ

พออ่านนิยายสองเล่มนี้จนมาถึงหน้าสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ ดิฉันอยากกลับไปบอกพนักงานขายที่ร้านซีเอ็ดคนนั้นว่า น้องเข้าใจถูกแล้วแหล่ะที่เอาหนังสือเล่มนี้ไปไว้ที่หนังสือประเภทโรมาซ์

แตคนอ่านอาจต้องเข้าใจหน่อยว่า มันเป็นโรมานซ์แบบกนกพงศ์
อยากรู้ว่าโรมานซ์ของนักเขียนรางวัลซีไรท์ เป็นแบบไหน
ตรงไปร้านหนังสือเล้ย






 

Create Date : 22 มกราคม 2552   
Last Update : 28 สิงหาคม 2557 13:22:45 น.   
Counter : 2005 Pageviews.  

- - - -- - - - ไว้อาลัยปราชญ์แห่งสยาม "ไมเคิล ไรท " - - -- - --




ขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของไมเคิล ไรท
เมฆ มณีวาจา

(พ.ศ. 2483 - 2552)


"ไมเคิล ไรท" นักคิด- นักเขียนหนังสือด้านประวัติศาสตร์ไทย ประจำนิตยสารศิลปวัฒนธรรมและมติชนสุดสัปดาห์ เสียชีวิตแล้วด้วยโรคมะเร็งปอดอย่างสงบที่โรงพยาบาลกรุงเทพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 7 มกราคม นายไมเคิล ไรท์ นักคิด นักเขียน คอลัมนิสต์ชื่อดัง ซึ่งเขียนคอลัมภ์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย และลงนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เครือบริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด อย่างสงบที่โรงพยาบาลกรุงเทพ รวมอายุ 68 ปี

"ไมเคิล ไรท์" (Michael Wright) หรือ ที่รู้จักกันดีในนาม “ไมค์” มีชื่อไทยว่า นายเมฆ มณีวาจา เกิดเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2483 ที่เมืองเซาแธมตัน ทางตอนใต้ของประเทศอังกฤษ จบการศึกษาที่ St.Michaels College, Hitchin, Herts, U.K. โดยเขาเดินทางเข้ามาอยู่ประเทศไทยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1961 (พ.ศ. 2504) และสนใจเรียนภาษาไทย วัฒนธรรมไทยและโบราณคดี โดยอาศัยการศึกษางานประพันธ์ของพระยาอนุมานราชธน, ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช และหนังสือ สาส์นสมเด็จ

สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งศิลปวัฒนธรรม ได้เขียนถึง ไมเคิล ไรท์ ลงในคำนำเสนอ หนังสือ "ฝรั่งคลั่งสยาม นามไมเคิล ไรท์" ว่า ตนและไมเคิล ไรท์ รู้จักและสนิทสนมกันจากการที่นัดถกกันเรื่องแคว้นสุโขทัยและศิลาจารึก ที่ร้านเหล้าริมถนนราชดำเนินเป็นประจำ ต่อมาจึงได้ชวนไมเคิล ไรท์ ให้มาเป็นหนึ่งในผู้เขียนคอลัมน์ลงนิตยสารศิลปวัฒนธรรมฉบับปฐมฤกษ์ ซึ่งออกเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2522 โดย ไมเคิลไรท์ ได้เขียนบทความเรื่องส้วม เป็นบทความแรกในงานเขียนของเขา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ไมเคิล ไรท์ ก็กลายเป็นคอลัมนิสต์ประจำนิตยสารศิลปวัฒนธรรม มาจนถึงปัจจุบัน และมีงานเขียนลงในมติชนสุดสัปดาห์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543

สุจิตต์ เล่าถึงประวัติของไมเคิล ไรท์ ในคำนำหนังสือดังกล่าวต่อว่า ไมเคิล ไรท์ เป็นชาวอังกฤษที่ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย เพระไม่ชอบห้องเรียน แล้วหนีออกจากบ้านตามประสาลูกฝรั่งวัยรุ่น ร่อนเร่ไปรับจ้างทำงานอยู่ลังกา จนเข้ามาเผชิญโชคในกรุงเทพฯ ท้ายที่สุดก็ได้งานเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายแปลเอกสารที่ธนาคารกรุงเทพ เมื่อพ.ศ. 2513 ปัจจุบันเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างประเทศ อยู่ประจำศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ สาขาผ่านฟ้า นั่งทำงานห้องเดียวกับเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

ไมเคิล ไรท์ เป็นชาวอังกฤษที่สนใจในเรื่องประวัติศาสตร์สังคมวัฒธรรมสยามประเทศไทย ด้วยความที่เขาเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือมาก จึงมักมีข้อมูลใหม่ๆ มาเสนอ หรือความคิดเห็นกับข้อสังเกตที่น่าสนใจต่อวงวิชาการด้านประวัติศาสตร์สังคม วัฒนธรรมอยู่เสมอ บางคราวสามารถเชื่อมโยงหลักฐานทางประวัติศาสตร์เพื่อให้เห็นภาพพรวมของประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ให้เห็น แล้วนำผ่านคอลัมน์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมและมติชนสุดสัปดาห์ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากผู้อ่านเป็นจำนวนมาก ไม่ใช่แต่เฉพาะวิธีการคิดเท่านั้น แต่รวมไปถึงวิธีการเขียนที่มีใจความกระชับและสอดแทรกอารมณ์ขันได้อย่างแนบเนียน

ผลงานของไมเคิล ไรท์ที่ผ่านมาทั้งหมด มีดังนี้ ฝรั่งคลั่งสยาม (พ.ศ. 2541) ฝรั่งอุษาคเนย์ (พ.ศ. 2542) ตะวันตกวิกฤติ คริสต์ศาสนา (พ.ศ. 2542) โองการแช่งน้ำ (พ.ศ. 2543) ฝรั่งหลังตะวันตก (พ.ศ. 2547) พระพิฆเนศ (พ.ศ. 2548) แผนที่แผนทาง (พ.ศ. 2548) ไมเคิล ไรท์ มองโลก (พ.ศ. 2549) โลกนี้มีอนาคตหรือ? (พ.ศ. 2550) ฝรั่งคลั่งผี (พ.ศ. 2550) ฝรั่งหายคลั่งหรือยัง (พ.ศ. 2551) นอกจากนี้ยังมีผลงานอื่นๆ อีกมาก และ มีบทความลงในหนังสือพิมพ์ The Nation ตั้งแต่ พ.ศ. 2538 บทความภาษาอังกฤษต่างๆ ในวารสารสยามสมาคม (JSS – Journal of the Siam Society)

ไมเคิล ไรท์ ได้รับการยกย่องจากมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ให้เป็นผู้มีอุปการคุณต่อวงการไทยคดีศึกษา นอกจากนี้ ยังเป็นบุคคลผู้ได้รับการยอกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น โดยกระทรวงวัฒนธรรมอีกด้วย


//www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1231320962&grpid=03&catid=04





 

Create Date : 09 มกราคม 2552   
Last Update : 9 มกราคม 2552 14:35:19 น.   
Counter : 1762 Pageviews.  

- - - - - Book Designs of the Year from Penguin Publishing - - - - - - -



ช่วงปิดปีใหม่ได้ไปท่องเว็บหนังสือจากต่างประเทศ เพื่อดูว่าปีที่ผ่านมาพวกเขาเป็นอย่างไรกันบ้าง และกำลังจะทำอะไรต่อไป เข้าไปดูๆ อ่านๆ มาสี่ห้าเว็บ ไม่ค่อยถูกใจเท่าไรนัก ส่วนใหญ่แล้วก็บอกให้นักเขียนประจำสำนักพิมพ์ หรือไม่ก็คอลัมน์นิสต์ประจำสำนักข่าวของเขาเลือกหนังสือที่พวกเขาชอบประจำปีมาสี่ห้าเล่ม คล้่ายๆ กันหมด

มาสะดุดตรงสำนักพิมพ์เพนกวิน สำนักพิมพ์จากต่างประเทศที่ทำหนังสือปกอ่อนราคาไม่แพงนักให้เราพอซื้อหาได้นี่แหล่ะ ก็อปปี้ไรเตอร์ของสำนักพิมพ์ให้คนทำงานฝ่ายอาร์ตเลือกหนังสือดีไซน์สวยที่ตัวเองชอบกันขึ้นมา โดยมีโจทย์ไปสามข้อคือ เลือกจากงานที่ตัวเองทำ และสองเลือกจากงานของคนอื่นในฝ่ายเดียวกัน และสามเลือกหนังสือสวยจากสนพ.อื่นที่ไม่ใช่ของสนพ.เพนกวิน

มาดูตัวอย่างหนังสือดีไซน์สวยของพวกเขากัน


Coralie Bickford-Smith, Senior Designer เลือกหนังสือชุด
The horrors หนังสือดีไซน์จากผลงานของตัวเองที่ชอบมากที่สุด หนังสือชุดนี้เป็นโปรเจ็คที่เธอเป็นเจ๊ดันให้นักศึกษาจาก London College of Communication แน่นอนเธอชอบโปรเจ็ค นี้มาก


Samantha Johnson, Picture Researcher เลือก The Spook House เป็นหนังสือดีไซน์สวยจากงานของคนอื่นภายในสนพ.เดียวกัน ซาแมนธาบอกว่าเธอชอบกระบวนการอัดภาพแบบโบราณ ซึ่งเป็นเทคนิคที่นำมาใช้กับหน้าปกหนังสือเล่มนี้




Isabelle De Cat, Picture Researcher เลือกหนังสืออาร์ต Paintings in Proust เป็นหนังสือสวยจากสนพ.อื่นที่ไม่ใช่จาก สนพ.เพนกวิน

เข้าไปดูเล่มสวยๆ เล่มอื่นได้ที่นี่
//thepenguinblog.typepad.com/the_penguin_blog/2009/01/book-designs-of-the-year.html

เข้าร้านหนังสือเมื่อไหร่ ว่าจะแวะไปหยิบจับหนังสือฉบับจริงขึ้นมาเชยชม

...



เมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา JD Salinger คุณปู่ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Catcher in the Rye มีอายุครบ 90 ปีแล้ว ตอนนี้คุณปู่ก็ยังทำตัวลึกลับเหมือนเดิม คุณปู่อาจฉลองวันเกิดอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ( อ่านความเรียงถึงชีวิตลึกลับของคุณปู่ซาลิงเจอร์เพิ่มเติมได้ในหนังสือกระทบไหล่เขา โดย ปราบดา หยุ่น )

ดิฉันชอบข้อความข้างล่างนี้มาก

" So let's whisper our message and then gently leave him be.
Happy 90th birthday, Jerome David Salinger. We hope you are healthy, we hope you are writing and we hope that it's good. And fear not: there is no surprise party in the offing. The card's not even in the post"

ที่มา //www.guardian.co.uk/books/booksblog/2009/jan/01/jd-salinger

...

12 Jan.

Happy BirthDay Haruki Murakami









 

Create Date : 05 มกราคม 2552   
Last Update : 28 สิงหาคม 2557 13:25:44 น.   
Counter : 3761 Pageviews.  

- - - - - -- คำพิพากษาจากพระเจ้า An instance of the fingerpost - - - - - -





เมื่อการเมืองปั่นป่วน
ประชาชนก็ระสำ
ราชบัลลังก์จึงสั่นคลอน


...นิยายอิงประวัติศาสตร์ที่เกิดกับมหาวิทยาลัยและเมืองออกฟอร์ด เมื่อปี 1663 ต้นรัชกาลพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 มหาวิทยาลัยออกฟอร์ดกลับไปสู่ในอุปถัมภ์ของพระเจ้าแผ่นดิน บรรดาอาจารย์ต่างมองด้วยความแคลงใจและอิจฉาริษยา ใครเป็นฝ่ายไหนด้วยความสุจริตใจ และใครแสร้งแกล้งทำดีเพื่อเอาตัวรอด ? ความสนุกของนิยายเรื่องนี้มีอยู่ว่า ในที่สุดท่านผู้อ่านก็ได้ประจักษ์เหตุการณ์และตัวละครทั้งหมดในมุมต่างๆ กัน อันเป็น "คำพิพากษาจากพระเจ้า" อย่างไม่น่าเชื่อและน่าระทึก
- ไมเคิล ไรท์

นวนิยายสืบสวนสอบสวนที่เป็นคู่แข่งกับสมัญญาแห่งกุหลาบ อ่านแล้วชวนเพลิดเพลินด้วยโครงเรื่องซ้อนแง่มปมทางการเมืองในยุคฟื้นฟูประเทศอังกฤษ
- เดอะ ไทมส์

ข้างบนนั้นเป็นบางส่วนของคำโปรยปกและคำนิยมหนังสือเล่มนี้

เมื่อข้าพเจ้าอาจหาญไปเป็นบรรณาธิการหนังสือเล่มให้สนพ.มติชน แถมนวนิยายแปลเล่มที่ว่านี้ยังหนา 720 หน้า ใช้เวลาจัดทำร่วมสี่ปี แก้ไขและตรวจทานต้นฉบับไปหลายรอบ สืบค้นเชิงอรรถกันเข้มข้น ฯลฯ ในที่สุดเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว สนพ.มติชนส่งปกหนังสือเล่มนี้มาให้ชื่นชม และบอกว่าปลายเดือนนี้ ( ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด) หนังสือเล่มนี้จะวางแผงแล้ว

เห็นปกหนังสือแล้วหายเหนื่อยไปเยอะ แต่จะหายเหนื่อยยิ่งกว่าถ้าได้หยิบจับหนังสือเล่มนี้ด้วยมือตัวเอง

...

ข้อมูลหนังสือ

คำพิพากษาจากพระเจ้า
นาลันทา คุปต์และธนรรถวร จตุรงควาณิช แปล
จาก An Instance of the fingerpost ของ Iain Pears
ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง บรรณาธิการเล่ม
720 หน้า ราคา 490 บาท
วางแผงปลายเดือนนี้

ขอบคุณสนพ.มติชนและนักแปลทั้งสอง
ที่ทำให้โปรเจ็คนี้ของข้าพเจ้าเป็นรูปร่างขึ้นมา

รวมทั้งขอบคุณเพื่อนๆ จากกระทู้คุยกันเรื่องหนังสือ ณ ห้องสมุดพันทิป
( เป็นกระทู้ที่พูดคุยกันยาวนานมาก -แถมยังเป็นที่รวมของนักแปลระดับมือฉกาจหลายท่าน) โดยเฉพาะพัท ที่เห็นความสนุกของ An instance of the fingerpost รีวิวและบรรยายความสนุกเสียจนข้าพเจ้าต้องไปหาหนังสือของ Iain Pears เล่มนี้มาอ่าน และอยากเห็นมันเป็นภาษาไทย

และในที่สุด วันนี้เราก็ได้เห็นปกหนังสือฉบับภาษาไทยแล้ว

ป.ล.หนังสือเล่มนี้วางแผงเมื่อไหร่จะรีบมารีวีวโดยละเอียดอีกครั้ง
เพราะความขี้เห่อของข้าพเจ้า เลยเอาปกหนังสือมาอวดกันก่อน





 

Create Date : 08 ธันวาคม 2551   
Last Update : 28 สิงหาคม 2557 13:26:17 น.   
Counter : 3798 Pageviews.  

- - - -- - Read Camp - รำลึกความหลัง - ฟิ้วเล่มใหม่ - Moonstruck - - - - - - -




( เครดิตรูปจาก //pradt.net/ จขบ.เอาโลโก้งานมาใส่อะไรกุ๊กกิ๊กเพิ่มเติม น่ารักดี :-)

วันเสาร์ที่ผ่านมาไปงาน Read Camp มา งานน่ารักดี สบายๆ และใครอยากเสนอการอ่านอะไรให้ใครฟังก็เสนอ ใครอยากอ่านอะไรก็เอาหัวข้อที่ตัวเองสนใจไปแปะไว้ที่ผนัง คนที่ไปงานก็ไปโหวดด้วยการเอาสติกเกอร์ที่ทางผู้จัดไปแปะไว้ที่หัวข้อที่เราต้องการฟัง หัวข้อไหนมีคนโหวตมากๆ คนที่สนใจก็ร่วมกัน"อ่าน" หัวข้อนั้น ภายในงานแบ่งออกเป็นสามห้อง แถมยังมีกลุ่มเล็กๆ พูดคุยกันอีกประปราย

ตัวเองเดินไปมา เดินมาอยู่ในงานพักหนึ่ง ก็ตัดสินใจเข้าร่วมฟังหัวข้อ 94 ปี หนังสือของขบวนการนักศึกษาฟังชื่อหัวข้อการอ่าน เหมือนงานวิจัยเลยเนอะ แต่จริงๆ การร่วมวงเสวนาวันนั้นก็สบายๆ ไม่มีอะไรมาก หัวข้อกว้างไปมาก และส่วนใหญ่นำมาจากสิ่งที่ประจักษ์ ก้องกีรติ เคยเขียนถึงมาแล้วในวารสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ซึ่ง สนคนนำการอ่านหัวข้อนี้ ก็บอกว่าตัวเองอ้างมากจากงานของประจักษ์ชั้นนั้น

สนเริ่มด้วยการยกตัวอย่างและจัดประเภทหนังสือและนิตยสารที่นักศึกษาเคยทำตั้งแต่เล่มแรกๆ เรื่อยมาถึงยุคจิตร ภูมิศักดิ์ แห่งจุฬา ที่ถูกโยนบกจากการเป็นบรรณาธิการนิตยสารสำหรับนักศึกษาของสมัยนั้น เรื่อยมาจนถึงยุคพระจันทร์เสี้ยว ยุคสภาหน้าโดม ลงมาอีกเรื่อย จนถึงรุ่นที่มีชมรมวรรณศิลป์ จุฬา ธรรมศาสตร์ เกษตร และนี่เองที่ทำให้ข้าเพจ้าระลึกถึง "คำกรอง" นิตยสารที่ชมรมที่ข้าพเจ้าสังกัดจัดทำ

มันเป็นเทรดดิชั่นของ ชุมนุมวรรณศิลป์ ธรรมศาสตร์ ที่ต้องมีวารสารคำกรองออกมา น่าจะทำกันปีละเล่ม สองเล่ม จำไม่ค่อยได้แล้ส แต่ที่สนุก สำหรับพวกเราในตอนนั้นคือ ที่ผ่านๆ มารุ่นพี่มักจะเขียนกลอนแต่งกลอนกัน แต่พวกเรา เปล่าค่ะ เราเขียนบทความกันเสียส่วนใหญ่ จำได้ว่าเล่มที่ชอบมากคือ คำกรอง ฉบับ Existentialism จำได้ว่าพี่ที่เป็นประธานชมรม คลั่งไคล้ ซาร์ต และกามูส์ มาก (ทั้งสองเป็นนักปรัชญาและนักเขียนชาวฝรั่งเศส) พวกเราก็ต้องอ่าน ซาร์ตและกามูส์ ตามพี่ท่านไปด้วย แต่การอ่านตามพี่ท่านในครั้งนั้นก็สนุกดี เปิดหู เปิดตาการอ่านของเด็กปีหนึ่งอย่างเราในสมัยนั้นมาก

รู้สึกดีที่ได้รำลึกความหลังสมัยได้อ่านหนังสือเยอะๆ วรรณกรรมฝรั่งเศส วรรณกรรมรัสเซีย อ่านความเรียงดี ๆ อ่าน Text ยาก ๆ สมัยเรียนหนังสือเรามักจะชอบอ่านอะไรที่เป็นฝรั่งๆ ตอนนี้กลับมาพบว่าอยากอ่านอะไรที่เป็นเอเชียๆ และคงไม่มีแรงอ่านอะไรมากๆ เหมือนตอนเรียนหนังสืออีกแล้ว

กิจกรรมอีกอย่างที่พวกเราชาววรรณศิลป์ชอบจัด คือ ดูหนัง เสร็จแล้วมานั่งคุยกัน คุยกันเองไม่สุนุกก็ไปตามอาจารย์มาช่วยไกด์พวกเราในการดูหนังเรื่องนั้น ๆ จำได้ว่าที่สนุกที่สนุกมากคือการพูดคุยถึงหนัง The Name of The Rose หนังเราก็พยายามเลือกจากหนังที่ทำมาจากหนังสือมาพูดคุยกัน

นึกถึงความสนุกสมัยเรียนหนังสือ นึกถึงความสุขสมัยอ่านหนังสือกันจริงจัง และความสุขในการอ่านอะไร ๆ แล้วมีคนร่วมแชร์ ร่วมรับฟังความคิดเห็นด้วย จำได้ว่า เวลาที่เข้าไปในชมรม สิ่งแรกที่พวกเราจะทำเมื่อเจอกัน คือการมองหนังสือที่พวกเขาติดมือมา เผลอๆ อาจะมองหนังสือก่อนมองหน้าคนที่ถือหนังสือมาด้วยซ้ำ (ฮา) คำถามที่พวกเรามักจะถามกันตลอดเวลาคือ กำลังอ่านอะไรอยู่ มีอะไรตื่นเต้นบ้าง ( หมายถึงว่ามีหนังสือเล่มไหนน่าตื่นเต้นบ้าง )

จริงๆ โปรแกรมของ Read Camp ในวันนี้มีอีกหัวข้อที่ตัวเองสนใจคือ
อ่าน อิตาโล คาวิลโน ไปติดสติกเกอร์โหวตแปะไว้ให้หลายดวงมาก แต่เมื่อถึงเวลาที่เขาอ่านกันเลยแอบหนีไปดูหนังในเทศกาลหนังยุโรป ที่เซ็นทรัลเวิร์ลเสียอย่างนั้น

...

grappa 's recommened




นิตยสารฟิ้ว ฉบับ 23 เดือนธันวาคม 2551
Cover Story : จักรวาล นิลธำรงค์
จักรวาล เป็นคนทำหนังอิสระ ใครๆ มักจะเรียกหนังเขาว่าหนังอาร์ต จริงๆ เขาก็คิดกับหนังแบบนั้น การทำหนังคือวิธีการนำเสนองานศิลปะของเขา ตัวเองรู้จักชื่อจักรวาล ครั้งแรกจากงานหนังสั้นของมูลนิธิหนังไทยปีที่แล้ว มีหนังเรื่อง Man with a video Camera หนังสั้นที่จักรวาลทำ tribute ให้ซิก้า เวอร์ท็อฟ (คนทำหนังอาวอง การ์ด รุ่นแรกๆ ของรัสเซีย) ฉายอยู่ด้วย จำได้ว่าชอบหนังเรื่องนี้ของจักรวาลมาก มันบอกความเป็น Socialist ในตัวเขามากๆ เขาได้ทุนไปเป็น Artist in Residence อยู่ที่อัมสเตอร์ดัม ณ ตอนนี้ และกำลังมุ่งมั่นกับโปรเจ็คหนังยาวเรื่องแรกของเขา ชื่อเรื่องว่า " ตรัย" มี พิมพกา โตวีระ เป็นโปรดิวเซอร์

รู้จักเขามากกว่านี้ได้ในฟิ้ว เล่มที่อยู่บนแผง ณ ขณะนี้

ขอบคุณแอนนา เพนกวินที่ชวนไปร่วมสัมภาษณ์จักรวาล แถมยังได้ดูเบื้องหลังการถ่ายภาพปกฟิ้วฉบับนี้ด้วย การได้เดินไปตามตรอก ซอก ซอย หลังวัดราชนัดดา จนไปทะลุออกศาลาว่าการ กทม. นั้นสนุกมาก มันคือโลเกชั่นในการุถ่ายภาพปกฟิ้วฉบับนี้ ( และเป็นสถานที่ในการถ่ายทำหนังเรื่องหนึ่งของจักรวาลด้วย )

---

Moonstruck
กลางคืนวันที่ 1 ธ.ค.ทำเอาคนไทยหลายๆ คนยิ้มออกและชี้ชวนกันดูดวงจันทร์ ( กับดาวพฤหัสและดาวศุกร์)



ป.ล. มีคนเล่าภาพงาน Read Camp ได้สนุกกว่า จขบ.นี้ ตามไปอ่านได้ที่นี่

//www.bloggang.com/viewdiary.php?id=tentty&month=11-2008&group=2&date=30&gblog=11






 

Create Date : 01 ธันวาคม 2551   
Last Update : 28 สิงหาคม 2557 13:27:25 น.   
Counter : 3294 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  

grappa
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




New Comments
[Add grappa's blog to your web]